เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
POPROCK ON FILMPOPROCK
Sing Street | เพราะความฝันมันสวยงามเสมอ
  • repost
    10.07.2016

    แด่

    วงดนตรีโรงเรียนมัธยมทุกวงที่เคยวุ่นวายกับการตั้งชื่อวง


    บทความนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ชมภาพยนต์มาแล้ว
    มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญ
    และเป็นบทความขนาดยาว


    Beginning of the Band

    เคยสงสัยไหมว่าทำไม วงดนตรีบางวงถึงมีสมาชิกแค่ 4 คน บางวงมี 5 บางวงมี 3 บางคนมีแมร่มเป็น 10

    กระทู้นี้อาจไม่ได้พูดถึงการตีความเนื้อหาของหนังเท่าไรนัก แต่เราจะคุยกันเรื่องของ "ดนตรี" เป็นส่วนใหญ่

    ตอนไปดู Sing Street ตามประสาคนชอบสังเกตรายละเอียดเล็กๆน้อยๆในหนัง โดยเฉพาะหนังดนตรีนี่ยิ่งสนุก กีตาร์ตัวนั้นมันยี่ห้ออะไร กลองกี่ใบ ถามว่ารู้เรื่องเครื่องดนตรีเยอะขนาดนั้นไหม ก็ยอมรับว่ารู้แบบงูๆปลาๆ แต่ก็พยายามจะศึกษา และแค่ได้สังเกตเอาก็สนุกแล้ว บางอย่างก็เป็นข้อมูลที่ไม่รู้ว่าจะต้องรู้ไปทำไม แต่ก็นั่นแหละ ไม่มีอะไรมากแค่อยากจะรู้เท่านั้นเอง

    ก่อนอื่นใน Sing Street วงของตัวพระเอกใช้กลองของชุดยี่ห้อนึงซึ่งเรายังไม่แน่ใจว่าเป็นยี่ห้ออะไร แต่ที่แน่ๆวงใช้แฉของ Zildjian ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด เพราะเป็นยี่ห้อยอดนิยมอยู่แล้ว ที่นี้ไอ้ Zildjian นี่ พอเห็นแล้วมันก็กระทบใจเรานิดหน่อย เพราะ Zildjian ยี่ห้อของ cymbals (ฉาบ) ยอดนิยมที่มีราคาจัดอยู่ในเรตปานกลางถึงสูงมาก ตอนเราเด็กๆ การได้เห็นเซตฉาบแฉของ Zilldjian นี่ก็รู้สึกกรี๊ดแล้ว เพราะถือเป็นยี่ห้อที่อยู่ในราคาสูงประมาณนึงสำหรับวงดนตรีเด็กน้อย มือกลองเยาวชนบางคน (ในยุคเรา) แค่มีปัญหาซื้อแฉ ซื้อฉาบของ Zildjian มาใส่กับกลอง Baracuda ก็เป็นอะไรที่โคตรเท่แล้ว (อย่าพึ่งด่าว่า ทำเรื่องบัดซบแบบนั้นทำไม)


    ในรีวิว Whiplash เราเคยเขียนว่า แค่ไม้กลองเองก็เป็นอะไรที่สำคัญมากกับมือกลอง มือกลองบางคนใช้แต่ไม้ตัวเองเท่านั้น ไม้คนอื่นใช้ไม่ถนัด แต่นอกจากไม้แล้ว มือกลองบางคนก็ "ไม่ใช้แฉคนอื่น" เหมือนกัน นี่เองคือความละเอียดอ่อนของนักดนตรี เราอาจเคยได้เห็นมือกลองบางคน หอบหิ้วกระเป๋าใส่แฉไปซ้อมที่นั่นที่นี่ในกรณีที่ต้องเดินทางไปหลายที่ เพราะ แฉบางที เสียงกังวานมันไม่สะใจ บางที่กลองชุดที่เตรียมให้มันเป็นชุดสำเร็จ และแฉก็กากเหลือใจ จนมือกลองที่เน้นงานละเอียดๆหน่อย ต้องเตรียมแฉไปเอง (ยังไม่นับที่ชอบขนสแนร์ไปเองอีกนะ)

    พอได้เห็นในหนังเลยรู้สึกว่า หนังมีความละเอียดมากตรงที่ ไม่ได้เลือกกลองทั้งชุดมาเป็นยี่ห้อเดียวกันหมด ซึ่งในชีวิตจริง มันก็มักไม่ใช่แบบนั้นอยู่แล้ว Drum Kit แต่ละยี่ห้อจะมีอุปกรณ์สำเร็จติดมาให้หมดก็จริง แต่อุปกรณ์บางอย่าง มันมีแค่บางยี่ห้อเท่านั้น ที่ทำได้ดีจริงๆ เช่น ใน Sing Street (ถ้ามองไม่ผิด) วงใช้กลองของ DW แฉ Zildjian ฉาบ Sabian และพอมันมาอยู่ในหนังวงดนตรีวัยรุ่น ทำให้บอกได้เลยว่า รู้สึกกรี๊ดจริงๆ

    ตอนเราเป็นวงเด็กมัธยม แค่วงเรามีกลองเซ็ตแบบนี้ก็คงกรี๊ดมากแล้ว เพราะนี่เป็นหนังวงดนตรีของเด็กมัธยม เลยอดไม่ได้ที่จะคิดถึงช่วงเวลาตอนอยู่มัธยมเหมือนกัน

    แต่ถามว่าการที่หนังมีการใช้แฉยี่ห้อนั้น ฉาบยี่ห้อนี้ กลองยี่ห้อโน้น มันสำคัญอะไรไหม ตอบเลยว่า “ไม่” (แค่รู้ไว้ให้สนองนี้ดตัวเองแค่นั้นแหละ) แต่ไอ้ "เครื่องดนตรี" นี่แหละ ที่เป็น คีย์หลักสำคัญของหนังอยู่พอสมควรเลยทีเดียว และคราวนี้ พระเอกของเรื่องก็ไม่ใช่ กีตาร์ หรือ กลองชุด แต่อย่างใด
    แต่เป็น..

    คีย์บอร์ด


  • มาอ่านเรื่องย่อกันก่อน

    ที่จริงเรื่องย่อที่เผยแพร่ตามอินเตอร์เนตของหนังเรื่อง Sing Street ถือว่าเป็นอะไรที่โคตรไม่ดึงดูดเลยสำหรับเรา เพราะการบอกว่า "นี่เป็นหนังที่เด็กหนุ่มอยากจีบหญิงเลยตั้งวงดนตรีมาจีบ" นั้นดูโคตรไม่น่าสนใจ (เออ ขอโทษ ถ้ามันเป็นแค่ที่เราคนเดียว) เพราะแม้จะเป็นเหตุผลจริงๆที่เกิดขึ้นในหนังก็ตาม แต่ประเด็นของหนังมันยิ่งใหญ่และน่าจดจำกว่านั้นมาก มันไม่ใช่แค่หนังรักแบบ Puppy Love หรือ Teenage Romance แต่เป็นหนังที่เล่าเรื่องของยุคสมัยทางดนตรีที่โคตรดีมากๆเรื่องนึง

    แต่พอเข้าใจได้ว่า ทำไมเรื่องย่อมันต้องเป็นแบบนั้น เพราะการเป็นหนังเพลงรัก มันอาจดูขายง่ายกว่าการบอกว่า นี่เป็นหนังที่พูดเรื่อง ยุคสมัยทางดนตรี นั่นเอง แต่ถามว่ามันมีมุมมองของความเป็นหนังรักอยู่มากน้อยแค่ไหน ตอบเลยว่า มันมีความเป็นหนังรักอยู่มากมายเช่นกัน รักหลายรูปแบบ ที่ทำให้ John Carney ผู้กำกับ กลายเป็นคนที่กำกับหนังแบบนี้ได้โคตรดีจริงๆ


    Band

    มาทำความเข้าใจกับวง 5 ชิ้นกันก่อน

    ตอนคอเนอร์ (พระเอก-ร้องนำ) ไปขอคำแนะนำเพื่อตั้งวงดนตรีกับ เอมอน (มือกีตาร์) นั้นตัวเอมอน นั้นเป็นคนที่ "Cool" อยู่แล้ว เพราะหมอนี่เป็นลูกชายของนักดนตรีวง Cover Band (วงดนตรีที่เล่นเพลงของคนอื่นในการออกงาน) เพราะงั้นที่บ้านเลยมีเครื่องดนตรีมันทุกอย่าง ที่บ้าคือ เอมอนเล่นเครื่องดนตรีเป็น "ทุกชิ้น" หมอนี่เลยเป็นที่ปรึกษาทุกอย่างของ คอเนอร์ ในการตั้งวง และเพราะงั้น การตั้งวงเลยเป็นวงที่มีสมาชิกตามมาตรฐานคือ 5 Parts Band ร้องนำ,กีตาร์,เบส,กลอง,คีย์บอร์ด

    คีย์บอร์ด เป็นตำแหน่งที่มาเป็นลำดับสุดท้าย เพราะมันสำคัญน้อยที่สุดเหรอ?

    อาจจะใช่สำหรับยุคอื่นๆ
    แต่ไม่ใช่ในยุค 80’s เพราะนี่คือยุคต้นกำเนิดของ Synth Pop

    Synth Wizard, Nick Rhodes (หัวหน้าวง Duran Duran)

    ซินธ์ป็อป คืออะไร? คือ ไม่รู้เหมือนกัน (อ้าวเห้ย) จริงๆแล้วแนวดนตรีบางอย่างมันก็อธิบายมาเป็นกรอบคำพูดสั้นๆไม่ได้ เพราะบางอย่างมันแตกแขนงไปมากกว่านั้น สิ่งที่เราจะอธิบาย Synth Pop ได้อาจจะเป็น เพลงที่เริ่มใช้เสียงสังเคราะห์จากคีย์บอร์ดเข้ามามีส่วนสำคัญ และเป็นจุดเด่นในเพลง


    จากเดิมที่ในยุคก่อนหน้านี้ ความเป็น Band ที่ได้รับความนิยม มักเป็นวง 4 ชิ้นคือ ร้องนำ,กีตาร์,เบส,กลอง (วงร็อค,วงพังก์ ช่วงยุค 70’s ลองไปไล่รายชื่อดู) เมื่อก่อนมือคีย์บอร์ดอาจเป็นแค่วงแบ็คอัพ พวกเขามักไม่ได้สปอร์ตไลท์บนเวทีนัก จนเมื่อเข้าสู่ยุค 80’s คีย์บอร์ดได้เข้ามาสร้างสีสันมากขึ้นในวงการดนตรี มือคีย์บอร์ดเริ่มได้มีชื่อมีเสียง มีบทบาทในวง สปอต์ไลท์ฉายส่องไปที่พวกเขามากขึ้น วงขนาด 5 ชิ้นเลยเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย
    (ที่จริงวง 5 คนยอดนิยมไม่ได้พึ่งมามีตอนช่วงปี 70’s / 80’s เพราะวงระดับตำนานอย่าง The beach boys และ  Rolling Stones ที่โด่งดังมาตั้งแต่ช่วง 60’s ก็เป็นวง 5 คนมาตั้งแต่แรกแล้ว ต่อมาจึงมาสมาชิกเข้าๆออกๆ จนสมาชิกวงเพิ่มๆลดๆภายหลังนั่นเอง และมีวงสมาชิก 5 คนอีกมากมายที่มีสมาชิกเป็นมือคีย์บอร์ดมาตั้งแต่เริ่มต้น แต่การใช้คีย์บอร์ดเป็นส่วนผสมสำคัญในเพลงและการแสดงสดพึ่งจะมาได้รับความนิยมในยุค 80's นี่เอง)

    พูดแบบนี้อาจดูเหมารวมไปหน่อยเรื่องจำนวนสมาชิก เพราะจริงๆ การตั้งวงดนตรี สมาชิกวงจะมีกี่คน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่า แนวเพลงแบบไหนกำลังได้รับความนิยมเสียหน่อย ซึ่งนั่นก็จริง เพราะ วง Synth อย่าง Duran Duran ที่เป็นวงที่ใช้เป็น Inspriration หลักๆในหนัง ก็เป็นวงที่มีสมาชิก 3-4-5 คน (คือ เดี๋ยวเพิ่ม เดี๋ยวลด) แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้คือ เครื่องดนตรีชิ้นหลักของ Duran Duran เป็นคีย์บอร์ด แบบไม่ต้องสงสัย (Nick Rhodes ผู้ก่อตั้งวงเป็นมือคีย์บอร์ด โน๊ตเพลงหลายๆเพลงของวงจึงเริ่มต้นด้วยโน๊ตคีย์บอร์ด) แม้ฝีมือการเล่นเบสของ John Taylor จะเจ๋งมากๆจนถูกเอาไปใส่เป็นไดอะล็อคชื่นชมในหนังก็ตาม

    จะพูดให้กว้างกว่านั้น คือ ตอนที่ดนตรีเริ่มมีการแตกแขนงไปในแนวทางต่างๆมากขึ้น จนคนฟังเพลงหรือสื่อไม่รู้จะเรียกเพลงเหล่านั้นว่าอะไร ก็จะโยนไปอยู่ในกลุ่มแนวเพลงที่เราคุ้นหูกันมากกว่า นั่นคือ "New Wave" นั่นเอง (เช่น Synth pop, Glam rock, Mod, Punk rock ก็เรียกว่าเป็น พวกวง New Wave ก็ได้ ในยุคนั้น)

    Duran Duran 5 คนในปี 1985

    ที่เราเล่าเรื่องวง 5 ชิ้นให้ฟัง เพราะวง Sing Street คือวง 5 ชิ้น และหลายคนอาจมองว่า คีย์บอร์ดไม่ใช่เครื่องดนตรีที่สำคัญที่สุด แต่ใน Sing Street มือคีย์บอร์ดคือส่วนที่จำเป็นต้องมี และคุณจะมีวง Synth Pop เป็นไอดอลได้ยังไง ถ้าวงของคุณไม่มีมือคีย์บอร์ด (ในหนังยังไม่มีการระบุแนวเพลงแบบนี้ไว้ชัดเจนว่าเป็นแนวเพลงแบบไหน รู้แค่ว่าเป็นแนวเพลงที่แปลกใหม่มากในยุคนั้น) และช่วงเวลาในหนัง ก็เป็นช่วงที่วง 5 ชิ้นกำลังมาแรงอย่างมากจริงๆ Sing Street ไม่ใช่วงร็อค ไม่ใช่วงพังก์ แต่พวกเขาคือวงป็อปที่แต่งเพลงอ้อนสาว เพ้อฝันถึงอนาคตที่สวยงาม ก่อตั้งโดยเด็กหนุ่มคลั่งรักวัย 15 ปี กับเพื่อนที่เล่นดนตรีเป็นทุกอย่าง แต่ยังไม่เคยมีเพลงของตัวเอง 


    Sing Street จะมีกี่คนก็ได้ แต่พวกเขาจะขาดมือคีย์บอร์ดไม่ได้

    ต่อให้เป็นมือคีย์บอร์ดที่พึ่งหัดเล่นก็ตามที



  • Sing Street

    Eamon เป็นลูกชายของนักดนตรี (ที่เราไม่เคยเห็นหน้าเลยในหนัง) เขาเล่นดนตรีเป็นทุกชิ้น อาจเรียกได้ว่าเป็นอัจฉริยะทางดนตรีก็ได้ พ่อของเขาถูกส่งไปบำบัดอาการติดเหล้าและการใช้ความรุนแรงกับลูกเมีย เขาจึงต้องอยู่บ้านกับแม่ ที่ไม่ได้ห้ามปรามเขาในการเล่นดนตรี วันหนึ่ง เพื่อนที่โรงเรียนเดินมาเคาะประตูบ้านแล้วบอกว่า พวกเราจะตั้งวงดนตรีกัน แนวดนตรี เท่าที่รู้ก็มีแค่ "แนวอนาคต" นั่นคือ ยังไม่รู้ว่าจะเรียกมันว่าอะไร เป็นแนวทางในอนาคต เอมอนเลยตกลง

    ขอแค่ได้เล่นดนตรี จะยังไงก็ได้

    Conor เป็นลูกชายคนรองของบ้าน เขามีพี่ชายที่คลั่งดนตรี ฟังเพลงหลากหลาย แต่ตัวคอเนอร์เองกลับไม่ค่อยได้สนใจเรื่องการเล่นดนตรีจริงจังนัก แต่เขาก็ได้รับอิทธิพลจากพี่ชาย ในการเป็นคอเพลง เขาฟังเพลงใหม่ๆกับพี่ รับฟังแนวทางดนตรีที่เจ๋ง ดนตรีที่ห่วยจากพี่ พ่อและแม่ของพวกเขากำลังจะแยกทางกัน เขาถูกย้ายโรงเรียนเพราะครอบครัวไม่มีเงินส่งเสียให้เรียนโรงเรียนดีๆแล้ว คอร์เนอร์ถูกย้ายไปเรียนโรงเรียนคาธอลิค เจอสาวที่ถูกใจ ไม่รู้จะจีบยังไง เลยกุเรื่องมีวงดนตรีขึ้นมา เพราะจากมุมมองของคอเนอร์ การเป็นนักดนตรี มันเท่สุดๆแล้ว 

    ดนตรีแก้ปัญหาได้ทุกเรื่องนั่นแหละ


    นอกจาก Sing Street จะพูดเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ในครอบครัว ชีวิตวัยเรียน และ การเป็น "หนังเพลง" แล้ว ส่วนที่สำคัญมากๆที่หนังพยายามเน้นย้ำคือ "การตั้งวงดนตรี" เมื่อเรารู้จักวงดนตรีวงหนึ่ง สิ่งแรกที่เราอยากรู้คือ มันเป็นวงแนวอะไร ความสงสัยที่ว่า "มันตั้งวงกันมาได้อย่างไร" อาจเป็นเรื่องที่คนอยากรู้เป็นลำดับท้ายๆ จนกว่าเราจะชอบวงนั้นมากพอที่จะอยากรู้นั่นแหละ เพราะมันไม่ได้มีผลอะไรกับคนฟัง เราฟังแค่เพลง ไม่ได้อยากรู้ประวัติชีวิตนักดนตรีสักหน่อย

    แม้แต่ชื่อวง ถ้าไม่ได้ชอบวงนั้นๆมากพอ ก็ไม่รู้ว่าจะต้องรู้เรื่องเหล่านั้นไปทำไม ทั้งที่จริงๆแล้ว ชื่อวงมันก็อธิบายความเป็น “วง” ของบรรดาวงดนตรีเหล่านี่ได้อยู่พอสมควร บางครั้งมันเกิดขึ้นเพราะความภาคภูมิใจ แต่บางครั้งพวกเขาก็รู้สึกอับอายกับการตั้งชื่อวงแบบนั้น

    Two door cinema club เป็นชื่อที่แปลกและดูเหมือนจะเท่ดี แต่มันก็ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการเล่นคำเก๋ๆของ โรงหนังประจำเมืองที่สมาชิกวงชอบใช้เวลาไป hang out กันตอนเป็นวัยรุ่น มันคือโรงหนัง Tudor (ธิวดอร์)

    Bombay bicycle club  ก็ดูจะเป็นอีกชื่อที่ฟังแล้วดูเจ๋งชะมัด แต่ที่จริงแล้ว สมาชิกวงล้วนพบว่า มันเสร่อมากในภายหลัง เพราะตอนตั้งวงเห็นป้ายชื่อ ร้านอาหารอินเดียร้านนี้เข้าพอดี และชื่อมันก็คุ้นหูมาก เวลาสั่งอาหารอินเดียจะต้องพูดว่า สั่งจากบอมเบย์ฯสิ เลยหยิบมาตั้งมันซะเลย (อารมณ์เดียวกับ วงอพาทเมนต์คุณป้า ตุลย์ไปนั่งกินข้าว เหลือบเห็นป้าย อพาร์ทเมนต์คุณป้า แล้วรู้สึกว่าเจ๋งดี เลยเอามาตั้งเป็นชื่อวง)

    สวัสดี พวกเราคือ Bombay bicycle club วงบริทร็อคสุดเท่ อยากเปลี่ยนชื่อวงอยู่นะ แต่ดูเหมือนจะไม่ทันแล้ว

    ตอน Snow Patrol ตั้งวง จริงๆแกรี่อยากได้ชื่อวงเป็น Polar Bear เพราะมันน่ารักดี อยู่มาวันนึงเพื่อนมาทักในงานบอกว่าชื่อวง Snow Patrol เจ๋งดี (แปลว่าหมีขาวเหมือนกัน) แกรี่เลยเถียงกลับไปว่า เห้ย วงชื่อ Polar Bear เว้ย ต่อมาภายหลัง แกรี่พบว่าชื่อวง PolarBear มีคนใช้อยู่แล้ว เลยต้องกลับมาใช้ชื่อวง Snow Patrol แทน (น่าสงสารแกรี่เขานะคะ)

    หรือแม้แต่ชื่อวง Arctic Monkeys จนถึงวันนี้สมาชิกวงยังไม่รู้เลยว่า จาก Aertex Monkeys ที่พูดมั่วๆขึ้นมาตอนแรกในห้องซ้อม กลายเป็น Arctics Monkeys ไปได้ไง เพราะเจมี่ คนเสนอชื่อนี้แต่แรกแม่มไม่ยอมบอก (เดี๋ยวนะ)

    นี่เองคือเรื่องราวความตลก ความเป็นมา สายสัมพันธ์ ที่ผูกพันธ์ของสมาชิกอยู่ในการตั้งชื่อวง และหนังก็ไม่ลืมที่จะใส่ฉากนี้เข้ามาด้วย เหตุใด พวกเขาถึงมีชื่อวงว่า Sing Street ซึ่งก็เป็นภาพจำลองของการตั้งวงที่ทำให้เราได้รู้สึกอมยิ้มจริงๆ เรื่องจริงๆมันก็คงเป็นอารมณ์นี้แหละ



  • เพราะแบบนี้ Sing Street จึงพยายาม "เน้นย้ำ" และถ่ายทอดให้เห็นว่า "การตั้งวง" และ "การรวมวง" มันสำคัญและมีสเน่ห์ยังไง ในยุคนี้ที่นักดนตรีแจ้งเกิดในฐานะศิลปินเดี่ยวเยอะแยะ ผ่านหลายช่องทาง ทั้งรายการประกวดค้นหานักร้อง การร้องเพลง Cover อยู่ที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ เราไม่ต้องมีวง เราก็โด่งดัง มีอัลบั้มได้ หรือต่อให้คุณมีวงมา แต่ถ้ามีแค่นักร้องนำที่โด่งดัง เราจะตัดสมาชิกคนที่เหลือทิ้งไปก็ได้ เพราะมันไม่ทำเงิน

    (หมายเหตุ : ผู้เขียนไม่มีอคติอะไรกับนักร้องที่โด่งดังจากรายการประกวดร้องเพลงหรือโด่งดังจาก Youtube เป็นการเปรียบเทียบให้เห็นถึงความแตกต่างในการโด่งดังของนักดนตรีในยุคสมัยที่ต่างกันเท่านั้น)

    แล้วคำว่า "วงดนตรี" มันจะมีค่าอะไร
    ถ้าสมาชิกคนอื่นๆ และ ส่วนประกอบในการกลายเป็นเพลง 1 เพลง ถูกตัดทิ้งไปได้ง่ายๆแบบนั้น

    หากเราไปรื้อดูประวัติการก่อตั้งวงดนตรีชื่อดังหลายๆวง จะพบว่า การพบกันของพวกเขามันเป็นเรื่องที่ทำให้เราเข้าใจว่า ทำไมเพลงหรือดนตรีของพวกเขาจึงออกมาในลักษณะนั้น Sing Street จึงให้ความสำคัญถึงจุดเริ่มต้นการ "การตั้งวง"

    มันมักเริ่มจากเพื่อน 2 คน (หรือพี่น้อง) ที่ชอบอะไรเหมือนๆกัน แล้วไปหาสมาชิกอีกคนมาเพิ่ม สมาชิกคนที่ 3 มักเป็นเพื่อนห้องอื่น หรือ นักดนตรีอีกคนที่เจอตอนไปเที่ยวผับ รวมทั้ง นักดนตรีคนอื่นที่เพื่อนแนะนำมา สมาชิกคนที่ 3 นี้อาจจะเป็นคนเดียวกับที่แนะนำว่า ทำไมไม่ลองไปชวนหมอนั่นมาด้วยหล่ะ เคยเจอตอนไปเล่นอีกที่ หมอนั่นเจ๋งมากเลย แล้วสมาชิกคนที่ 4 ก็ตามมา

    อีกแบบก็คือการเปิดออดิชั่น ประกาศตามหาสมาชิกวง -- เล่นให้เราดูสิ แล้วดูว่าเราเข้ากันได้มั้ย


    Sing Street ใช้วิธีตั้งวงทั้ง 2 แบบนั้น การตั้งวงที่เริ่มจากคนที่น่าจะเข้ากันได้ และ เราชอบอะไรเหมือนกัน ในขณะที่เมื่อตั้งวงได้แล้ว วงดนตรีวัยรุ่นส่วนใหญ่ มักเริ่มต้นด้วยการเล่นเพลง Cover นำมาซึ่งขั้นตอนการ "แกะเพลง" มีวงแล้ว เราต้องมีเพลงที่อยากเล่น สมาชิกทุกคนแยกย้ายกันไปแกะเพลง แล้วกลับมาซ้อมด้วยกัน เป้าหมายอาจเป็นแค่งานโรงเรียน งานประกวดระดับจังหวัด งานประกวดระดับประเทศ ที่ยังคง..

    "เล่นเพลงคนอื่น"


  • Song Writer & Composer

    สมัยก่อนตอนเราซื้อเทป รายละเอียดเล็กๆที่เราชอบนั่งไล่อ่านมากๆคือ คำร้อง / ทำนอง ที่จะขึ้นชื่อคนแต่งเพลง เพราะสิ่งนี้ตอนเด็กมากๆ เราเลยได้รู้ว่า คนแต่งเพลง กับ คนใส่ดนตรีลงในเพลงเป็นคนละคนกันนะจ๊ะ (ตอนแรกคิดว่าคนแต่งเพลงคือทำทุกอย่าง) หรือบางครั้ง คนเดียวก็อาจทำหน้าที่เหล่านั้นได้ทั้งหมด

    หนังได้พยายามโยนเรื่อง "การแต่งเพลง" เข้ามาด้วย เพราะนี่เป็นสิ่งสำคัญที่จอห์นเองอยากจะเล่า ในฐานะที่เขาเป็น Songwriter แต่ก็อาจจะไม่สามารถทำหน้าที่ Composer ที่ดีได้คนหนึ่ง

    จุดสำคัญที่ จอห์น คาร์นี่ย์ ใส่มาในหนัง คือ การเล่นเพลงคนอื่นจะต่างอะไรจากวงงานแต่ง (วงงานแต่งไม่ผิดอะไร แต่ผู้กำกับน่าจะพยายามบอกว่า เป้าหมายของการเป็นนักดนตรีที่ยิ่งใหญ่ ไม่ควรหยุดตัวเองไว้แค่การเล่นเพลงของคนอื่น) Sing Street จึงไม่ใช่วงที่ทำได้แค่เล่นเพลงของวงดังวงอื่นๆ แต่พวกเขาเริ่มแต่งเพลงของตัวเอง

    และเพราะนี่มันเป็น "หนัง" นักร้องนำก็เลยเป็นคนที่เก่งมากพอที่จะแต่งเพลงที่โคตรดีได้ด้วยตัวเองตั้งแต่ยังเป็นแค่เด็กวัยรุ่น ซึ่งที่จริงแล้ว ในชีวิตจริงมันก็มีนักดนตรีแบบนั้นอยู่มากมาย แม้จะหาไม่ง่าย แต่ก็มีอยู่เยอะ ซึ่งพอมันมาปรากฏในหนังเลยเป็นขั้นตอนที่ทำให้เราได้เห็นความงดงามที่เรียบง่ายของการทำเพลงมาก

    "ฉันเขียนเนื้อมา มันอาจจะดี หรือ ห่วยแตกก็ได้ นายช่วยลองใส่ดนตรีดูหน่อย"
    "ฉันชอบเนื้อนายนะ อืม..  ช่วงนี้แบบนี้เป็นไง ตรงนี้เราควรจะหยุดก่อน แล้วท่อนต่อไปค่อยเร่งตรงนี้อีกหน่อย"
    "เออ ฉันว่าเจ๋งดี"
    "เออ ฉันก็ว่างั้น"


    และสิ่งที่โดดเด่นในหนังเรื่องนี้ก็คือ เนื้อเพลง นั่นเอง ตัวเอกอย่าง คอเนอร์ นั้นแต่งเพลงจากปัญหาที่เจอในชีวิตประจำวัน เริ่มต้นจากเรื่องรัก ไปสู่เรื่องปัญหาในโรงเรียน รวมไปถึงมุมมองในการใช้ชีวิต ซึ่งก็เป็นธรรมดาของนักแต่งเพลง ว่ากันว่า "คนไม่เคยอกหัก แต่งเพลงรักซึ้งๆไม่ได้" เพราะพวกเขายังไม่เคยสัมผัสถึงความเจ็บปวดจากความรักได้จริงๆ มันอาจเป็นความเชื่อที่ไม่มีบทพิสูจน์ที่แน่ชัด หนังได้มีไดอะล็อคที่พูดถึงเรื่องนี้มาด้วย เพราะ มันเป็นปัญหาสำคัญของนักแต่งเพลง รวมทั้งนักเขียน เหตุการณ์ไม่เคยพบเจอ เราจะจินตนาการถึงความรู้สึกถึงมันได้ยาก

    คอเนอร์เองที่ไม่เคยเจอความยากลำบากจริงๆจังๆมาก่อน จึงต้องเจอกับอุปสรรคในการเขียนถึงเพลงที่ "มีความสุขทั้งๆที่เศร้า" แต่สุดท้ายคอเนอร์ก็ได้สัมผัสประสบการณ์เหล่านั้น แม้จะไม่ใช่ความเจ็บปวดแบบรวดร้าวรุนแรง แต่เขาก็พยายามจะรับมือกับมัน และสัมผัสถึงมัน "ความสุขในความเศร้า"


    เพลงหลักที่หนังใช้เป็นเพลง Promote มีอยู่ 2 เพลงคือ Go Now และ Drive it like you stole it. ที่จอห์นบอกว่า ถ้าให้เลือกเขาชอบ Drive it like you stole it มากที่สุดและคิดว่ามันเล่าเรื่องของ Sing Street ได้ดีที่สุด (และอาจเป็นอะไรที่ตัวจอห์นเองไม่เคยได้ทำตอนยังเป็นเด็กด้วย วีรกรรมบ้าระห่ำและความใจกล้าหน้าด้านแบบที่คอเนอร์ทำ) ขณะที่อีกเพลงอย่าง Go Now นั้น จอห์นได้ตามมือดีจากพระนครอย่าง Glen Hansard มาแต่งร่วมกับ Adam Levine เลยออกมาเศร้า หนาวเยือก และ จับใจอย่างที่ได้ฟังกัน



  • Before Sing Street

    เราพูดเรื่องเครื่องดนตรี รวมทั้งยี่ห้อกลองไปแล้ว ซึ่งอ่านมาถึงตรงนี้ บางคนอาจยังคิดไม่ออกว่า มันเกี่ยวกับเนื้อเรื่ิองยังไง ที่จริงมันเกี่ยวกันพอสมควร เพราะนี่เป็นหนังที่สร้างจากประสบการณ์จริงๆของผู้กำกับอย่าง John Carney แม้วงของเขาอาจจะไม่เจ๋งเท่า Sing Street แบบในหนัง แต่เรงบรรดาลใจและบทเพลง รวมทั้งทุกสิ่งทุกอย่าง มันเริ่มต้นที่ "ดนตรี" ทั้งสิ้น ทำไมเราต้องพูดเรื่องสมาชิก ทำไมต้องพูดเรื่อง synth pop ทำไมต้องพูดเรื่องคีย์บอร์ด นั่นก็เพราะว่า คนที่คุณสามารถให้เครดิตได้เทียบเคียงกับ John Carney เลย (ซึ่งจอห์นก็ทำแบบนั้น) คือ Gary Clark คนที่จอห์น (ผู้กำกับที่โคตรเรื่องมากกกับเรื่องดนตรีประกอบ) สรรเสริญและยอมรับในตัวเขาที่สุด


    Gary Clark คือใคร?

    เขาคือหัวหน้าวง, นักร้องนำ วง Danny Wilson วงสก็อตที่ จอห์น คลั่งมากตอนเป็นวัยรุ่น ตอนซิงเกิ้ล Mary’s Prayer ออกปี 1987 จอห์นอายุ 15 (เท่าๆกับช่วงเวลาของวง Sing Street ในหนัง) Danny Wilson เป็นวง 100% made in Scotland แต่ก็โด่งดังไปทั่วทั้ง UK สำหรับเด็กไอริชที่อยู่ในโรงเรียนคาธอลิคอันเข้มงวด ดนตรีเป็นทางออกที่ดีมากสำหรับเขา และเพราะนี้เป็นหนังที่ "ดำเนินเนื้อเรื่องด้วยบทเพลง" การทำเพลง Soundtrack จึงเริ่มตอนหนังเสร็จไม่ได้ มันต้องเลือกและแต่งเพลงไปพร้อมๆกับบท และการทำงานของ John Carney และ Gary Clark เลยเป็นแบบนั้น บทมาพร้อมกับเพลงและเนื้อเพลงทั้งหมด


    แรกเริ่มเดิมทีโปรเจ็คหนังเรื่องนี้ของ จอห์น จะเล่าเรื่องของ U2 วงร็อคที่มีต้นกำเนิดใน Dublin แต่ด้วยเพราะตารางงานที่ยุ่งยากของ Bono ทำให้เขาไม่สามารถสานต่อโปรเจ็คนี้กับจอห์นได้ เมื่อได้ปรึกษากัน โบโน่มีส่วนในการช่วยพิชไอเดีย เลยแนะนำว่า เขาพูดถึงวงดนตรียุค 80's พูดถึงวัยรุ่น คนหนึ่มสาว หรือ "ถ้าวงดนตรีเด็กนักเรียนประสบความสำเร็จ มันจะออกมาเป็นยังไงล่ะ?" นั่นเป็นไอเดียที่ไม่เลว เพราะตัวจอห์นเอง ก็มีประสบการณ์ตรงกับเรื่องราวแบบนั้น จอห์นจึงเริ่มร่างโครงบท โดย เอาเรื่องราววัยรุ่นของตัวเอง "ผู้ที่มองเห็นการเปลี่ยนแปลงทางดนตรีของบริเตน" มาตั้งแต่เด็กเนี่ยแหละมาทำ โดยเขาได้ใช้เหตุการจริงๆ โรงเรียนจริงๆอย่าง Synge Street โรงเรียนคาธอลิคที่เขาเรียนตอนเด็กมาเป็นเนื้อเรื่องหลักของหนังด้วย

    "มันคือส่วนที่ดูเบาที่สุดแล้วที่ผมสามารถใส่ลงไปในหนังได้ เกรงว่าคนดูคงรับไม่ไหวหากผมใส่เรื่องจริงๆทั้งหมดที่เกิดขึ้นใน Synge Street ลงไปในหนัง เพราะที่นั่นมันเหมือนกับคุก" นั่นคือสิ่งที่จอห์นเล่า

    หลังจากบทส่วนใหญ่เสร็จเรียบร้อยแล้ว Gary Clark ก็เข้ามา


    จอห์น ไปขอคำปรึกษาแกรี่ เพราะอยากให้เขามาทำเพลงประกอบให้ จอห์นบอกว่า แกรี่เป็นคนที่โคตรสุดยอด จอห์นบอกว่า แกรี่เอาบทไป และแต่งเพลงต่างๆจากตัวละครคร่าวๆที่มี รวมทั้งได้ปรับปรุงคาแร็คเตอร์ของบางตัวละครด้วย เขาแต่งเพลงเพื่อให้โอบอุ้มตัวละครไว้ ซึ่งมันออกมายอดเยี่ยมมากๆ จอห์นอาจเป็น นักแต่งเพลงที่ดี แต่เมื่อถึงเวลาการใส่ท่วงทำนองแกรี่ก็ต้องเข้ามาช่วยทำส่วนนั้น นี่จึงออกมาเป็นหนังที่สมบูรณ์แบบอย่าง Sing Street


  • Band Members

    ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสร้างกระแส หรือ เป็นอะไรที่ "นึกขึ้นได้พอดี" ว่าต้องพูดออกไป ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ข่าวที่ จอห์นพึ่งออกมาให้สัมภาษณ์ว่า "จะไม่ทำไงานกับซุปเปอร์โมเดล (เคียร่า ไนท์ลี่ย์) อีก" ก่อนหน้าที่ Sing Street จะเข้าฉายไม่กี่เดือน ก็ทำให้หนังเรื่องใหม่อย่าง Sing Street ของเขาได้พื้นที่สื่อไปพอสมควร

    เหตุผลที่จอห์นอ้างในการบอกว่าจะไม่ทำงานกับซุปเปอร์โมเดล (หรือ ดาราที่เล่นดนตรีไม่เป็นจริงๆ) อีก คือ พวกเขาเหล่านั้นไม่เข้าใจการเล่นดนตรีจริงๆ และการให้คนเล่นดนตรีไม่เป็น มาทำท่าทางเหมือนว่าเล่นดนตรีเป็น หรือ แต่งเพลงได้ในหนัง มันทำให้เขารู้สึกแย่มาก แน่นอนว่าเขากำลังหมายถึงหนัง Begin Again ที่ดังโคตรๆ หนังที่ติดลิสต์หนังรัก/หนังเพลงที่คนจะแนะนำให้ไปดูกัน และคนที่โดนโจมตีเต็มๆคือดารานำอย่าง เคียร่า ไนท์ลี่ เธอเล่นดนตรีไม่เป็น ไม่ใช่นักแต่งเพลง ไม่ได้เป็นนักร้อง แต่ต้องมาแสดงเป็นตัวละครที่สามารถทำเรื่องทั้งหมดนั่นได้ ซึ่งในสายตาคนดูแบบเรา ถือว่าเธอทำมันได้ดีทีเดียว แต่ในสายตาผู้กำกับที่บ้าความเพอร์เฟ็คและจริงจังแบบจอห์น ดูจะขัดใจกับผลงานตัวเองอยู่พอสมควร สตูดิโอพอใจ แต่เขาเซ็ง อะไรประมาณนั้น

    ว่าแล้วก็บอกลาสตูดิโอยักษ์ใหญ่ ขอกลับมาทำอะไรที่มัน "อินดี้ๆ" เหมือนเดิมแล้วกัน

    จอห์นบอกว่า เขาชอบที่ได้ทำงานกับนักแสดงเด็ก โดยเฉพาะ "นักแสดงที่เคยไม่แสดงมาก่อน" เพราะมันดิบและคาดเดาไม่ได้ นักแสดงนำในวง Sing Street ทั้งหมดจึงเป็นเด็กที่ ออดิชั่นมาใหม่ทั้งหมด ซึ่งจากที่เห็นในหนังก็แทบไม่อยากเชื่อเลยว่า พวกเขาจะแสดงหนังเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก ซึ่งแน่นอนว่า นักแสดงเหล่านั้นพวกเขาต้อง "เล่นดนตรีเป็น"




    Ferdia Walsh-Peelo รับบทเป็น Conor "Cosmo" Lalor นักร้องนำและคนก่อตั้งวง ซึ่งก่อนที่จะมารับงานแสดงเรื่องแรกใน Sing Street เขาเป็นนักร้องมาก่อน และไม่ใช่นักร้องธรรมดาแต่เป็น นักร้องเพลงประสานเสียง และมีชื่อเสียงอยู่พอสมควรในไอร์แลนด์ นอกจากจะหน้าตาหล่อจนเป็นดาราหนังได้สบายๆแล้ว การได้พบเฟอร์เดีย ที่ "หล่อและมาพร้อมสกิลนักดนตรี" อาจจะยังไม่ใช่ รางวัลแจ็คพอตที่สุดของ จอห์น


    เพราะแจ็คพอร์ตที่สุดของเขาน่าจะเป็นการได้เจอกับ Mark McKenna เด็กหนุ่มวัย 20 ปีผู้รับบทเป็น Eamon เจ้าของห้องซ้อมและเครื่องดนตรีทุกชิ้นของ Sing Street ควบตำแหน่ง มือกีตาร์และนักแต่งเพลง รวมทั้งนักร้องคอรัสด้วยอีกตำแหน่ง ซึ่งจะว่าไปแล้ว บทเอมอนนั้น น่าจะไม่ได้ยากอะไรนักสำหรับมาร์ค เพราะ เขาแค่ก็ต้องแสดงเป็น "ตัวเอง" เท่านั้นแหละ


    หลังจากได้นักแสดงมาครบแล้ว นักแสดงนำทั้งสองคนอย่าง เฟอร์เดีย และ มาร์ค ถูกจอห์นเรียกมาเพื่อสั่งการบ้าน เฟอร์เดียนั้นแม้จะมีพื้นฐานด้านดนตรีในระดับนึง แต่เขากลับไม่ค่อยรู้จักวงจากยุค 80’s นัก จอห์นจึงส่งลิสต์หนังและเพลงรวมทั้งมิวสิควิดิโอที่ เฟอร์เดีย ต้องไปศึกษา แต่นั่นไม่ใช่กับ มาร์ค

    จอห์นแจกโจทย์เดียวกันให้กับมาร์ค คำตอบที่ได้รับคือ ผมเคยดูหมดแล้ว หรือแม้แต่หนังก็ตาม ทุกเรื่อง มาร์คล้วนเคยดูหมดแล้ว จอห์นแทบไม่ต้องพยายามให้ข้อมูลอะไรเกี่ยวกับยุค 80’s กับมาร์คเลย เพราะเขา คลั่งไคล้มันอยู่แล้ว สกิลทางการเล่นดนตรีก็เช่นกัน มาร์คเล่นเป็นเกือบทุกอย่าง รวมทั้งเรื่อง กระต่ายด้วย

    "มาร์ค เอมอนตัวจริงเลี้ยงกระต่าย บ้านเขามีกระต่ายเยอะมาก และผมก็คิดว่า ไม่น่าจะเป็นไร ถ้าจะให้ เอมอนในหนังเลี้ยงกระต่ายด้วยเหมือนกัน"


    จอห์นบอกว่า เขาชอบฟังความเห็นจากนักแสดง Jack Reynor เป็นนักแสดงที่ชอบแสดงความเห็นในเรื่องต่างๆ และจอห์นก็ชอบฟัง คำแนะนำที่สำคัญที่สุดที่จอห์นเชื่อแจ็คคือ การให้ Maria Doyle Kennedy มารับบทเป็นแม่ของ แบรนดอน (ตัวแจ็คเอง) และ คอเนอร์ในหนัง มาเรียเป็นนักร้องและนักแสดงสาวชาวไอริช และท่ามกลางนักแสดงนำเกือบทุกคนที่เป็นชาวไอริช และเกิดที่ดับลิน มีเพียง Lucy Boynton นางเอกของเรื่อง เป็นนักแสดงอังกฤษ ที่เกิดที่อเมริกา แต่มาโตที่ลอนดอน (และเธอก็เล่นบทเป็นคนที่อยากไปอยู่ลอนดอน)

    และพอเป็นหนังที่อุดมไปด้วยนักแสดงไอริช นักดนตรีมากความสามารถ จอห์น คาร์นี่ย์เลยสนุกกับมันได้เต็มที่ การแสดงต่างๆออกมาดูสมจริงและน่าประทับใจ และสิ่งที่ดูเหมือนจอห์นจะยิ้มไม่หุบเลย คือ การที่เขาได้เอาหนังไปฉายที่ Sundance อีกครั้ง พร้อมด้วยโชว์ดนตรีสดจากนักแสดงด้วย (ที่เคยทำได้ตอน Once แต่ทำไม่ได้ตอน Begin Again

    ดูโอเฟอร์เดีย-มาร์ค 2 นักแสดงนำ เรียกเสียงกรี๊ดได้ทุกเวที กับภาพเด็กหนุ่ม 2 คนแต่งตัวมีสไตล์ ผมยาวประบ่า พร้อมสะพายกีตาร์เล่นเพลงอคูสติคจากหนัง ในเวอร์ชั่นที่สดใหม่ในทุกเวที และยังสามารถให้สัมภาษณ์เรื่องมุมมองทางดนตรีได้อย่างน่าประทับใจ นี่คงเป็นสิ่งที่ ผู้กำกับแบบจอห์น คาร์นี่ย์หวัง และเขาก็ชื่นชอบให้ตัวเองแวดล้อมไปด้วยบรรยากาศเหล่านี้ แม้จะได้รับเสียงชื่นชมมากมาย สตูดิโอได้เงินเป็นกอบเป็นกำตอนทำ Begin Again แต่ดูเหมือน จอห์นจะไม่มีความสุขกับมันเท่าไหร่ เพราะงั้น Sing Street จึงเป็นหนังฟอร์มเล็กๆ ธรรมดาๆ ไม่มีดาราใหญ่ รายได้ไม่มากมาย แต่คุณภาพคับแก้ว และจอห์นก็มีอิสระเต็มที่ในการถ่ายทอดเรื่องราว


    คำแนะนำในการเป็นนักแต่งเพลงที่ดีคืออะไรรู้ไหม
    "เป็นตัวเองน่ะดีที่สุด"

    (แนะนำโดย Adam Young แห่ง Owl City)


  • Now or Never

    จอห์น คานี่ย์บอกว่า เขาไม่ได้ทำหนัง coming of age หรือเล่าเรื่องราวการเติบโตไปตามช่วงวัยอะไร แต่ Sing Street เป็นหนังที่บอกเล่าเรื่องราวทางดนตรีที่ผันแปรไปในทิศทางที่แปลกประหลาด ซึ่งนอกเหนือไปจากรายละเอียดอันสมจริงเล็กๆน้อยๆที่หนังใส่มาตลอดทั้งเรื่อง โดยเฉพาะที่เราโฟกัสเป็นพิเศษกับเรื่องเครื่องดนตรี และการเน้นย้ำไปที่ "คีย์บอร์ด" ด้วยการให้มือคีย์บอร์ดเป็นเด็กผิวสี แถมยังเป็นบทที่แอบขโมยซีนเกือบทุกครั้งเวลาแสดงมิวสิควิดิโอด้วย ซึ่งความเนี้ยบคือ ในหนังใช้ คีย์บอร์ดของ Roland รุ่น Juno-6 ซึ่งเป็นคีย์บอร์ดรุ่นแรกในซีรีส์ Juno ที่ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม ซึ่งในปัจจุบันเกือบจะเป็นแรร์ไอเทมไปแล้ว (Juno-6 หรือ Juno-60 ที่ออกมาตามๆกัน วางขายในช่วงปลายๆยุค 70’s พอดี ช่วงยุค 80’s เป็นช่วงที่วงดนตรีแนวที่ต้องใช้ Synthesizer กำลังมาแรง คีย์บอร์ดยี่ห้อดังเลยๆพยายามพัฒนาเทคโนโลยีกันสุดฤทธิ์ ตอนนั้น Roland และ KORG เป็นคู่แข่งอันดับบนของวงการที่ห้ำหั่นกันพัฒนาคีย์บอร์ดให้มีคุณภาพที่สุด) 


    และการที่วง Sing Street พยายามปรับภาพลักษณ์ (และการแต่งตัว) ของสมาชิกวงไปตามเพลงฮิตที่ออกในยุคนั้นแล้ว ก็สื่อถึงช่วงชีวิตวัยรุ่นที่เรามักยังไม่พบความชอบจริงๆของตัวเอง เราฟังเพลงหลายแนว มีวงที่ชอบหลายวง แต่ยังตัดสินใจเลือกทางใดทางหนึ่งที่ชัดเจนไม่ได้ ส่วนที่ชอบมากคือ ฉากที่ ภารดาเรียก คอเนอร์ให้ไปล้างเครื่องสำอางออก แต่คอเนอร์ไม่ยอมทำตาม สุดท้ายเขาก็ถูกบังคับให้ล้างออกด้วยการใช้ความรุนแรง ฉากนี้นอกจากจะเป็นฉากที่ผู้กำกับพยายามจะบอกเล่าบรรยากาศของโรงเรียนที่เขาอยู่ในวัยเด็กแล้ว มันยังอาจสื่อถึง การที่นักดนตรีต้องผลิตผลงานอยู่ภายใต้กรอบแนวทางของค่ายเพลงด้วย

    มีวงดนตรีหลายวงที่ต้องปรับเปลี่ยนแนวทาง เพราะเหตุผลด้านการตลาดของค่ายเพลง เมื่อต้องปรับเปลี่ยนเพื่อความอยู่รอด ทั้งของวงและของค่ายเพลง ที่สุดแล้วบางวง ก็ได้เปลี่ยนไปเป็นคนละวงจากที่เคยเป็นอย่างสิ้นเชิง นักดนตรีบางวงเปลี่ยนไปจน มีสิ่งเดียวที่เหมือนเดิมคือชื่อวง นอกนั้นไม่มีอะไรที่เหมือนเดิมเลย

    สิ่งที่จอห์น คานี่ย์ ทำได้ดีมากๆคือ การเกลี่ยและบาลานซ์บท แม้หนังพยายามแสดงตัวว่าเป็นหนังเพลงมากแค่ไหน แต่จอห์นก็ยังไม่ลืมว่า ในช่วงปี 80’s บนแผ่นดินไอร์แลนด์ ไม่ได้มีแค่การเริ่มต้นของแนวทางดนตรีที่หลากหลาย แต่ยังเป็นที่มีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆอย่างสภาพเศรษฐกิจที่เลวร้ายด้วย ความเลวร้ายที่ส่งผลให้เด็กบางคนต้องย้ายโรงเรียน เด็กบางคนไม่ได้เรียนหนังสือ เด็กบางคนเลิกทำตามฝันตัวเองแล้วเลือกเส้นทางที่คิดว่าน่าจะอยู่รอดได้มากกว่า บางครอบครัวต้องหย่าร้างเพราะปัญหาการว่างงานและไม่มีเงิน มันคือปัญหาใหญ่ที่ทุกคนต้องเผชิญ และท่ามกลางความเศร้าเหล่านั้น ดนตรีคือสิ่งที่ช่วยปลอบประโลมพวกเขา



    มันคือความสุขเล็กน้อย ท่ามกลางความเศร้าอันยิ่งใหญ่

    และนอกจากบทความรักวัยรุ่นของ 2 พระนางบนหน้าหนังแล้ว ยังมีอีกพลอตและอีกตัวละครที่เป็นตัวขับเคลื่อนหนังทั้งเรื่องคือ บทของ แบรนดอน พี่ชายของคอเนอร์ (Jack Reynor) ตัวละครที่มีความรู้ด้านดนตรีหลากหลาย ในระดับแฟนพันธ์แท้ และเขานี่เองเป็นคนให้คำแนะนำเรื่องแนวทางที่เหมาะสมสำหรับเส้นทางการเป็นนักดนตรีของคอเนอร์ นี่เป็นตัวละครที่มีสเน่ห์ด้วยบทพูดและความเฉลียวฉลาดรอบรู้ทางดนตรี และหนังยังเพิ่มเลือดเนื้อให้กับตัวละครนี้ด้วยการสร้าง "ปม" ในใจของเขา ในฐานะพี่คนโตของบ้าน พี่คนโตที่เป็นผู้ใหญ่ แต่ไม่มีงานทำ ในช่วงที่คนไอริชตกงานกันครึ่งค่อนประเทศ


  • เมื่อดูหนังจบและได้รับรู้ "ปูมหลัง" ของ จอห์น คานีย์แล้ว ก็อดคิดไม่ได้ว่า บางทีตัวละครที่เป็นจอห์นจริงๆ อาจจะไม่ใช่คอเนอร์ แต่เป็น แบรนดอน นี่แหละ จอห์นบอกว่า เขาไม่ได้เท่หรือคูลแบบ คอเนอร์ เขาเป็นพวกเงียบๆเก็บตัว แต่ก็มีความรู้เรื่องดนตรีอยู่เต็มหัว ซึ่ง ณ ตอนนั้น จอห์นไม่ได้ไล่ตามฝันตัวเองแบบที่ คอเนอร์ทำ ฉากจบในหนัง จึงอาจเป็นสิ่งที่จอห์นอยากทำมาตลอดก็เป็นได้ ความกดดันอัดอั้นในวัยเด็ก ถูกระเบิดมาเป็นบทพูดอันรุนแรงของแบรนดอนต่อคอเนอร์ในช่วงท้ายๆของหนัง แต่ที่สุดแล้ว หนังก็เลือกดำเนินไปในแนวทางที่ดำเนินมาตั้งแต่เริ่มต้น คือ เปลี่ยนแปลง เปิดรับ พลิกผัน ร้าวราน และ บทสรุปที่สวยงาม


    หนังมักมีฉากใหญ่ๆที่เกี่ยวกับความฝันที่สวยงามอยู่เสมอ ทั้งตอนที่คอเนอร์ถ่ายทำมิวสิควิดิโอเพลง Drive it like you stole it ที่ได้เห็นครอบครัวมาดูการแสดงของตัวเอง, ความฝันของราฟีน่าที่อยากเป็นนางแบบและคิดว่าการได้ไปลอนดอนจะต้องสวยงาม, ความฝันของแบรนดอนที่อยากออกไปมีชีวิตของตัวเองที่เยอรมัน, ความฝันของแอน (น้องคนเล็ก) ที่เคยอยากเป็นศิลปิน, ความฝันของแม่ที่อยากไปเที่ยวสเปน, ความฝันของเอมอนที่อยากเรียนจบปริญญาให้แม่ภูมิใจ หรือแม้แต่ความฝันของวง Sing Street ที่จะไม่ใช้ชีวิตนักเรียนไปอย่างสูญเปล่า มันต้องมีความหมายอะไรมากกว่าแค่อยู่ไปวันๆเพื่อให้เรียบจบไป


    และหนึ่งในความฝันที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ ฝันของจอห์น คาร์นี่ย์

    จอห์นคือแบรนดอน ที่มองคอเนอร์หรือซึ่งก็คือฝันของตัวเอง เดินทางไปสู่จุดหมายที่ไม่มีใครรู้ตอนจบ
    ความฝันนั้นอาจไม่สมหวังก็ได้ (นายอาจจะตายก็ได้)
    แต่อย่างน้อย ก็ยังได้ลองทำ (ฉันดีใจที่ได้ทำแบบนี้)



    ความเห็นของ จอห์น คาร์นีย์ อาจตีกรอบความคิดคนดูไปบ้าง
    แต่เขาก็มอบบทเฉลยของหนังไว้แล้วว่า
    ที่สุดแล้ว ตอนจบของเรื่องมันเป็นยังไง



    "รู้อะไรไหม นี่เป็นหนังที่ไม่ได้พยายามจะสมจริงอะไรหรอก
    มันเป็นหนังที่สวยงามและเพ้อฝันเหมือนเทพนิยายนั่นแหละ..."

    เพราะความฝัน...
    มันสวยงามเสมอ

    end.
  • จบแล้วค่ะ ตอนโพสต์คือเหนื่อยกว่าตอนเขียน มีความยาวมาก 5555
    ใครอ่านมาถึงตรงนี้ขอบคุณมากๆเลยค่ะ แล้วก็เหมือนเดิมนะคะ
    มีข้อผิดพลาดตรงไหนช่วยกันแก้ไขได้เลย ที่จริงเราก็ค่อนข้างกาก
    อาจจะมีเข้าใจผิดหรือแปลผิดอะไรไปบ้าง

    พูดถึงสมัยเรียน เราเล่นดนตรีไม่เป็น ร้องเพลงไม่ได้ แต่ฟังเพลงเยอะมากค่ะ
    ตำแหน่งในวงเลยเป็นแบบน้องเบน คือ ประมาณโปรดิวเซอร์ แต่จริงๆทำมันทุกอย่างในวง 555555


    ง้อว รูปนี้อย่างหล่อ

    สำคัญคือชอบ Sing Street มาก ตอนแรกกะจะไม่ไปดู สุดท้ายเลยไปดูจนได้ แล้วไม่ผิดหวังจริงๆ
    คือดีมากๆ ฉากที่คอเนอร์มาให้เอมอนช่วยแต่งเพลงครั้งแรก ริมหน้าต่างนี่ร้องไห้เลยนะ
    บอกไม่ถูก แต่ประทับใจมากจริงๆ

    อีกอย่างนึงของจอห์น คานี่ย์ คือเป็นที่มีลายเซ็นชัดเจนมากในงาน คือ ลายเซ็นซ้ำๆ 55555
    ชอบใช้ ฉากเดิมๆ ซีนเดิมๆ
    แบบซีนคอนเสิร์ตบนเวทีงี้ ซีนมองประตูที่เปิดรอคนเดินเข้ามา
    ซีนพบรักที่บันได ซีนตัวละครเดินคุยกันในสวนแล้วทะเลาะกัน
    ซีนการขี่จักรยาน


    แต่ถึงจะชอบใช้อะไรเดิมๆ แต่ไม่มีอะไรน่าเบื่อเลย ซึ่งเจ๋งมากๆ
    ส่วนเรื่องเทสต์การฟังเพลงนี่ยอมจริงๆค่ะ ทำหนังเพลงได้ดีมากๆจริงๆ ชอบมันทุกเพลงเลย
    ตอน Stay Clean ขึ้นนี่มีความงง เห้ย เดี๋ยวๆๆๆ หนังเพลงป็อปมุ้งมิ้งไม่ใช่เหรอ 5555

    สุดท้ายนี้ ยังมีอีกหลายประเด็นที่ไม่ได้เขียนถึง แต่คิดว่าคงเยอะเกินไปและไม่เกี่ยวกับหนังเท่าไหร่
    แค่นี้ก็น่าจะยาวเกินไปแล้วววว

    ขอบคุณที่ยังตามทวงรีวิวกันอย่างต่อเนื่อง
    แด่ นักทวงรีวิวทุกคน
    5555555

    bottom line _____________________________

    โพสต์เดิมคือที่พันทิบค่ะ https://pantip.com/topic/35366259
    โพสต์นี้จำได้ว่าเขียนรวดเดียวจบหลังจากดูมาเลยค่อนข้างยาวเว่อร์ และตอนเขียนฟังเพลง Drive It Like You Stole It ประมาณแสนรอบ ยอมใจคนที่อ่านจบค่ะ เขียนยาวมากจริงๆ ?
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
thefirstofmine (@thefirstofmine)
อ่าว เรานึกว่าลุงซาโม่ (เดิมชื่อเอม่อน) คนที่เป็นต้นแบบของตัวละครเอม่อนเป็นคนที่เลี้ยงกระต่าย ไม่ใช่มาร์ค อ้างอิง http://minimore.com/b/jO30W/1
POPROCK (@alfredpoprock)
@thefirstofmine โอ้ว พึ่งเคยเห็นเหมือนกันค่ะ ขอบคุณมากเลย เราอ่านจากบทสัมภาษณ์จอห์น คาร์นี่ค่ะ ในบทสัมภาษณณ์เขาใช้คำว่า He'd เราเลยเข้าใจว่าเป็นมาร์ค ไปลองอ่านเพิ่มแล้ว คาร์นี่ย์หมายถึง เรียล เอมอน ค่ะ ตรงนี้เราผิดพลาดเอง ขอบคุณที่ช่วยทักท่วงนะคะ
thefirstofmine (@thefirstofmine)
@alfredpoprock ยินดีค่า