เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
CAMBODIAN CULTURE JOURNALlinwawrites
สัปดาห์ที่ 6: อมฤตาลัย ความเป็นอื่นของชาติพันธุ์กัมพูชาในไทย
  • คำเตือน: มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วน

    นวนิยายเรื่อง "อมฤตาลัย" ของจินตวีร์ วิวัธน์ (จินตนา ภักดีชายแดน) ได้ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2519

    เวลานั้น การสู้รบระหว่างค่ายเสรีนิยมประชาธิปไตยและคอมมิวนิสต์กำลังเข้มข้นรุนแรงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กัมพูชาเพิ่งแตกไปเมื่อเมษายน 2518 
    หากว่ากันตามทฤษฎีโดมิโน โดมิโนตัวต่อไปที่สุ่มเสี่ยงจะล้ม คือ ประเทศไทย

    ความหวาดกลัวลัทธิคอมมิวนิสต์ได้ปรากฏในหลากหลายรูปแบบ
    รวมถึงงานเขียน "อมฤตาลัย" เริ่มเรื่องด้วยการตายและหายตัวไปอย่างประหลาด
    ของชายหนุ่มในวงสังคม ซึ่งร่างเหล่านั้นมีลักษณะร่วมกัน คือ รอยเขี้ยวแหลมคม 
    และบุคคลสุดท้ายที่ชายเหล่านั้นอยู่ด้วย คือ "พินทุวดี วงศ์ยโสธร" สาวสังคมประวัติลึกลับ

    พินทุวดีมักถูกสังคมคาดเดาว่า เป็น "เจ้าหญิงเขมร" ที่หลบหนีออกมา
    หลังจากที่สถาบันกษัตริย์ในกัมพูชาถูกล้มล้างจากการตั้งสาธารณรัฐของลอน นอล
    แต่เธอมักนิยามตนเองว่า เธอคือเชื้อพระวงศ์คนสุดท้ายของ "วงศ์ยโสธร" 
    ซึ่งเป็นตัวแทนของอารยธรรมกัมพูชาดั้งเดิม
    เธอครอบครองทรัพย์สินมหาศาล และวัตถุโบราณในอารยธรรมเขมร 
    ซึ่งเป็นที่ปรารถนาของนักโบราณคดีที่กำลังศึกษาเกี่ยวกับอาณาจักร "อมฤตาลัย" ซึ่งสาบสูญไป

    นอกจากนี้ พินทุวดียังภาคภูมิใจในอารยธรรมของเธอ จากการใช้ผ้าทอแบบเขมรโบราณ ว่านยาที่สามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ ปฏิเสธการแพทย์แผนปัจจุบันและผ้าจากอุตสาหกรรมสิ่งทออันทันสมัย รวมถึงรูปหน้า "สวยแบบแปลก ๆ" ของเธอที่เป็นใบหน้ารูปสี่เหลี่ยม คล้ายภาพนางอัปสราในปราสาทหินนครวัด

    เราอาจคะเนว่า ความแปลก ความภูมิใจ และความน่ากลัวของพินทุวดี เป็นสิ่งที่ "ศูนย์กลาง" อย่างไทยกำลังมองประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา

    แท้จริงแล้ว พินทุวดีคือ "พันธุมเทวี" ราชินีหนึ่งเดียวแห่งอาณาจักรอมฤตาลัยที่สาบสูญไปจากประวัติศาสตร์กัมพูชา ผู้เอาชนะความตายด้วยการร่อนเร่ไปตามอาณาจักรที่รุ่งเรืองต่าง ๆ ก่อนจะลงหลักสร้าง "อมฤตาลัยที่ 2" ในกรุงเทพมหานคร หากอมฤตาลัยคือดินแดนที่สาบสูญ แต่จำเป็นต่อการรวมกันของกลุ่มชายผู้ "ปราบ" พินทุวดีมากเท่าใด ประวัติศาสตร์ที่ยึดโยงกับอารยธรรมกัมพูชาของไทยก็จำเป็นต่อการนิยามตัวตนของ "ความเป็นไทย" ไม่แพ้กัน 

    สุดท้ายที่สุด เราไม่สามารถปฏิเสธความเป็นไทยที่ประกอบขึ้นจากความหลากหลายทางวัฒนธรรม อันมีส่วนผสมสำคัญคืออารยธรรมเขมรไปได้ การมองความเป็นกัมพูชาเป็นความเป็นอื่นและถูกกำจัดออกจากประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมกระแสหลักจึงเป็นความจริงที่สะท้อนผ่านนวนิยายเรื่องนี้ ไม่ต่างกันกับชาติพันธุ์ที่แตกต่างจากความเป็นไทย 

    กัมพูชาคือ "ความเป็นอื่น"​ ที่ชิดใกล้กับความเป็นไทยสูงสุด มีการรับ-ส่งวัฒนธรรมระหว่างกันอย่างเข้มข้น แต่ในขณะเดียวกัน ประวัติศาสตร์บาดแผลระหว่างสองชนชาติก็บาดลึกลงไปด้วย ซ้ำด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองของทั้งสองชาติที่แตกต่างกัน ก็ยิ่งทำให้ต่างฝ่ายต่าง "เป็นอื่น" สูงขึ้นไปอีก 

    หากถามผู้เขียนว่าในโลกนี้มีอะไรเป็นไทยแท้บ้าง คำตอบคือ แล้วที่ว่าแท้ วัดกันที่ตรงไหน
    อมฤตาลัยไม่ได้เป็นนวนิยายแฟนตาซีของการต่อสู้ระหว่างชายและหญิง ความรู้และความลับ 
    หรือแม้กระทั่งความเป็นสมัยใหม่กับจารีตเท่านั้น หากแต่ยังเป็นการยื้อยุดกันระหว่าง
    "ความเป็นเรา" ที่หมายถึงความเป็นไทย และความเป็น "เขา" คือความเป็นอื่นด้วย

    เพราะการ exclude อะไรออกไป ก็ไม่ต่างอะไรกับการหั่นแบ่งตัวตนออกไปนั่นแล


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in