เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เป็นพ่องงง ได้อะไรมากกว่าที่คิดพรี่หนอม
09 : เปลี่ยนแปลง?
  • สิ่งที่เปลี่ยนแปลงยากที่สุด คือ ตัวของเราเอง
    - นิรนาม


    ---


    ผมไม่รู้หรอกว่าประโยคข้างต้นนี้ใครเป็นคนคิด แน่ล่ะ!! ก็เค้าบอกอยู่ว่านิรนาม (สัส) แต่สิ่งที่ผมคิดว่ามันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงที่สุด นั่นคือตัวของผมเอง

    หลายคนบอกว่ามีลูกแล้วจะใจเย็นลง มีลูกแล้วจะเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น จะเข้าใจอะไรมากขึ้น เข้าใจโลก มองอะไรชัดเจน บลาๆๆ แล้วแต่บรรดาคุณพ่อทั้งหลายจะหยิบยกมาอธิบายให้ฟัง

    แต่อย่างที่ว่านั่นแหละครับ มันเป็นแค่คำของคนอื่นพูด มันเป็นสิ่งที่คนอื่นบอก เราไม่มีทางที่จะสัมผัสมันได้หรอก ถ้าหากเราไม่เคยเจอมันด้วยตัวเอง

    ผมเคยเขียนไว้ในตอน “ครอบครัว” เอาไว้ว่า “ตั้งแต่รู้ตัวว่ามีลูก ผมรู้สึกมีความสุขได้ง่ายขึ้น” มันเห็นอะไรก็เริ่มจะรู้สึกว่าความสุขนั้นจริงๆมันอยู่ใกล้ตัว

    แต่พอมีลูกแล้ว วินาทีที่สบตาเขา สัมผัสและความรู้สึกที่อยู่ด้วยกัน สายตาของเขาที่ค่อยๆลืมตาขึ้นมามองผมอย่างช้าๆ ในตอนกลางคืนนั้น มันทำให้ผมรู้สึกว่า มันช่างเป็นชีวิตที่มีคุณค่าเสียเหลือเกิน

    ไม่ว่าจะดึกตื่นแค่ไหน… ต้องตื่นอีกกี่ครั้ง
    ผมพร้อมจะดูแลเขาไปตลอดชีวิต

    ผ่านไป 10 กว่าวันหลังจากนั้น
    “สัส เมื่อไรมึงจะหยุดร้องซักที กูอยากนอนแล้วโว้ย #จบ


    ---


    อย่างที่เคยบอกครับว่า ธรรมชาติของเด็กทารกนั้น มักจะตื่นทุกๆ 2-3 ชั่วโมง เพื่อกินนม นั่นแปลว่าในช่วงกลางคืนนั้น เราต้องตื่นประมาณ 2-3 ครั้ง เพื่อจะให้นมเขาตามเวลา หรือถ้าหากไม่ตั้งเวลาไว้ก็ต้องให้ทุกครั้งที่ร้องหิวอยากจะกินนมทุกๆครั้ง


    แต่ผู้ใหญ่อย่างเรานั้น การนอนหลับแล้วต้องตื่นทุกๆ 2-3 ชั่วโมง คือ การฆ่ากันทางอ้อมนี่แหละ เพราะว่าร่างกายคนเราต้องการการพักผ่อน 6-8 ชั่วโมงต่อวัน แต่การถูกกระตุ้นให้ตื่นทุกๆ 2-3 ชั่วโมงนั้น มันไม่ได้แปลว่า กูจะนอนหลับต่อได้ เพราะบางทีตื่นมาตีสามกว่าจะหลับก็เกือบๆตีสี่ ชิบหายตีห้าร้องอีกแล้วครับผม!!!!

    อุดมคติที่สร้างมาเริ่มถูกทำลาย การตื่นกลางดึกเพื่อจ้องสองตาของทารกนั้นอาจจะไม่ใช่ความฝันของพ่อลูกอ่อนสักเท่าไร ผมเริ่มมองหาที่ปรึกษาจากคุณพ่อวัยเก๋าหลายๆท่าน ถามถึงหนทางที่จะจัดการเรื่องนี้ได้อย่างไร


    “กูไม่เคยมีปัญหาเรื่องการตื่นกลางดึกเลยนะ”
    “ลูกมึงฝึกได้ใช่ป่ะ นอนเป็นเวลา”

    “เปล่า กูให้เมียกูตื่นแทน”
    “สัส”


    สรุปคือคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญบอกว่าให้ผลัดกันเป็นกะ ระหว่างผู้ดูแล เช่น สามีดูตอนกลางคืน ส่วนภรรยาดูตอนกลางวัน หรือสลับกันตามอัธยาศัย โถ… นี่กูกับเมียกลายเป็นยามแล้วสินะ ผลัดกันคนละกะ เอ้า!

    ดูเหมือนว่าจะได้ผลดี
    แต่การเปลี่ยนแปลงจริงๆ มันเริ่มหลังจากนี้ต่างหากครับ!!


    ---


    การตื่นกลางดึก ไม่มีปัญหา เท่ากับตื่นแล้วไม่รู้ว่า “ลูกร้องเพราะอะไร” ปวดท้อง ถ่าย หนาว ร้อน หิวนม หรืออะไรกันแน่? บางทีเราเข้าใจว่าลูกเราหิวนม แต่เอาเข้าจริงกินเสร็จมันก็ไม่หยุดร้องนี่หว่า อุ้มก็แล้ว เดินก็แล้ว เปลี่ยนแพมเพิส

    วันก่อนผมตื่นตีสามมาทำทุกอย่างที่ว่ามาแล้ว ก็ลูกยังนอนไม่หลับ จนถึงเวลาตีห้าที่เมียต้องมาเปลียนผลัดลุกขึ้นมาดูว่า “ตกลงลูกยังไม่นอนอีกเหรอ” แล้วเธอก็มารับช่วงต่อ หรืออีกวันกว่าจะได้นอนก็หกโมง สลบแบบวูปไปจนถึงเก้าโมงเช้า #หลับทั้งพ่อหลับทั้งลูก

    จากความรัก… ความพยายาม เริ่มแปรเปลี่ยนกลายเป็นความกังวล หรือว่ามันมีอะไรเกิดขึ้นกับลูกเราวะ จนต้องปรึกษามิตรสหายเหมือนเช่นเคย


    “ลูกกูหลับแบบนี้ มันมีอะไรป่ะวะ กูเริ่มกังวล”
    “กูเคยเป็น มึงไม่ต้องเครียด กูหนักกว่ามึง”


    “ลูกร้องจนมึงไม่ได้นอนทั้งคืนเหรอ”
    “ป่าว ลูกกูร้องจนกูหงุดหงิดว่าทำไมเมียกูไม่ตื่นมาดูสักที”

    “สัส”


    ความกังวลไม่หยุดแค่นัน เมื่อสังเกตเห็นว่าลูกเริ่มมีปัญหามากขึ้น แหวะนมบ่อยขึ้น เรอแล้วมีแต่ลมนานมากๆ บางครั้งหน้าก็มีผื่นเล็กน้อย บางทีก็เหมือนเขาจะร้องโยเยผิดปกติ ความรู้สึกพวกนี้มันค่อยๆสะสมและถาโถมเข้ามาราวกับขอนไม้ที่ถูกคลื่นซัดมาใส่ฝั่งอย่างต่อเนื่อง #เกี่ยวกันตรงไหนวะมึง

    ทุกๆวัน มีเรื่องให้ผมต้องเปิดอินเตอร์เน็ตหาดู ส่องนู่นนี่นั่น สังเกตอาการ แต่ดูไปดูมาก็เริ่มจากเครียดกว่าเก่า ลูกเรามันจะเป็นไรป่ะวะ เมียเรามีน้ำนมพอไหม เราดูแลเขาขาดอะไรไปหรือเปล่า ฯลฯ

    ถ้าเรื่องของใครสักคนอยู่ในความคิดของเราตลอดเวลา มันคงกำลังตอกย้ำว่าเขาเป็นคนที่สำคัญกับเราขนาดไหน

    “เด็กมันเปลี่ยนทุกวันแหละคุณ อย่าไปคิดมาก” ผู้มีประสบการณ์อีกท่านหนึ่งได้ให้ความเห็นไว้ บอกให้ผมทำใจสบายๆ เลี่ยงไป เอาเป็นว่าถ้าน้ำหนักขึ้นตามปกติ กินอิ่ม นอนหลับ ขับถ่ายไม่มีปัญหา ก็สบายใจเถอะ อย่าเยอะนักเลยน่ะมึง

    โอเค… งั้นคงไม่มีปัญหาอะไรแล้วล่ะ #นี่มึงก็เชื่อง่ายไปนะ


    ---


    ก่อนมีลูก ความสุขของผมคือการได้กินของอร่อย อาหารญี่ปุ่นดีๆ บุฟเฟต์นานาชาติ หรืออะไรต่างๆที่ทำให้เรารู้สึกถึงคุณค่าของรสชาต ….


    หลังจากมีลูก ความสุขของผมมีแค่การเดินไปเซเว่นแล้วหาอะไรกินเล่นสักพัก ก่อนกลับมาดูลูกต่อเพื่อผลัดเวรกับเมีย

    “เราไม่ได้กินข้าวด้วยกันเลยนะ”
    “นั่นสิ เราคงต้องผลัดเวรกันแบบนี้ไปอีกนาน”

    “แปลกดีเหมือนกันนะ”
    “นั่นสิ”

    บางครั้งแล้วสถานการณ์นี่แหละที่ทำให้เราเปลี่ยนแปลงตัวเองไปโดยที่ไม่รู้ตัว เอาจริงๆผมว่า คนทุกคนก็ไม่ได้อยากจะเปลี่ยนแปลงอะไรหรอกถ้าหากชีวิตที่ผ่านมาของเรามันดีอยู่แล้ว

    แต่ถ้าหากการเปลี่ยนแปลงนั้นทำให้รู้สึกว่าชีวิตของเรามีอะไรดีขึ้น แม้ว่าจะเสี่ยง แม้ว่าจะเหนื่อย หรือมีช่วงที่ต้องเรียนรู้อะไรบ้าง มันก็คงเป็นอีกหนึ่งรสชาตของความสุขที่เรามีสิทธิได้สัมผัส

    ทุกวันนี้ ผมตื่นกลางดึกบ้าง ไม่ตื่นบ้าง แต่ทุกครั้งที่ตื่นมา เราต้องทำความเข้าใจว่าเขาพูดไม่ได้ ต่อให้มันจะร้องเสียงด้งและงี่เง่าโวยวายแค่ไหน มันก็แค่อยากจะบอกให้เราช่วยเหลืออะไรเขาสักอย่างนี่แหละ

    “มันเกิดมาแล้ว เรามีหน้าที่ต้องเลี้ยงมันให้ดีที่สุด” คำพูดของแม่ ที่เคยพูดถึงตอนที่ผมยังเด็กๆ ลอยเข้ามาในหัวระหว่างที่กำลังเขียนเรื่องนี้ มันเป็นคำพูดที่ดีที่ผมจำไว้เสมอ เพื่อตอกย้ำว่า เรามีหน้าที่รับผิดชอบในทุกๆสิ่งที่เราทำ

    ท้ายที่สุด เมื่อเขียนมาถึงบรรทัดนี้
    (หลังจากที่เพิ่งเห่กล่อมนอนไป พร้อมคอมโบนมไปสามรอบ) 

    อยู่ๆผมก็นึกขึ้นมาได้ว่า... การที่เราบอกว่าตัวเรานั้นเปลี่ยนแปลงยากอย่างนั้น อย่างนู้น อย่างนี้

    มันอาจเป็นเพราะเรากำลังรอให้มีใครสักคนมาช่วยเปลี่ยนเราอยู่ก็ได้นะ :)


เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in