"คุณจะรู้สึกว่ามันใช่เองเมื่อได้ชม(ภาพยนตร์จริงๆ)สักเรื่อง"
เมื่อถูกถามว่า 'ภาพยนตร์' (Cinema) สำหรับเธอคืออะไร?
"คุณจะไม่พลาดตั้งแต่ช็อตแรกของเรื่อง คุณจะรู้สึกได้ถึงนักเขียนผู้อยู่เบื้องหลัง คุณรู้สึกได้หากมันมาจากมุมมองส่วนตัว คุณจะสัมผัสได้เลยในทุก ๆ อย่างที่ผ่านเข้ามา ทุกฉาก ทุกตอน นักแสดงทุกคน ทุกสิ่งละอันพันละน้อยจะเข้าถึงจิตใจคุณทั้งหมด ฉันไม่รู้จะอธิบายให้ดีกว่านี้ได้ยังไง แต่เราจะรู้สึกได้เองถ้ามันใช่ แค่นั้นเลยจริง ๆ"
เราเพิ่งฟังบทสัมภาษณ์นี้ก่อนไปดู 'Little Women'
และเมื่อหนังจบ คำพูดของเกรตาก็แวบขึ้นมาทันที
นั่นแหละความรู้สึกที่เรามีต่อ Little Women ฉบับรีเมคของเกรตา เกอร์วิก...ใช่เลย ความรู้สึกที่ถาโถมโหมกระหน่ำเข้าใส่จนเรียบเรียงและบรรยายออกมาเป็นคำพูดสั้น ๆ ไม่กี่คำไม่ได้ แต่ส่วนลึกในจิตใจเราเข้าถึง สัมผัสและซึมซับทุกรายละเอียดเอาไว้ได้หมด จนเราบอกได้ทันทีว่านี่แหละคือ 'ภาพยนตร์' ในความรู้สึกของเรา ในความหมายของเรา
LITTLE WOMEN : THE BOOK "Little Women" เป็นนิยายซึ่งประพันธ์โดยนักเขียนชาวอเมริกัน ลุยซา เมย์ อัลคอตต์ (Louisa May Alcott) หนังสือบอกเล่าเรื่องราวของสี่สาวพี่น้องตระกูลมาร์ช เม็ก, โจ, เบธ และเอมี่ โดยแบ่งการตีพิมพ์ออกเป็นสองเล่ม เล่มแรกในปี 1968 เป็นเรื่องราววัยเด็กซึ่งแม้ครอบครัวจะค่อนข้างจน คุณแม่ต้องลำบากเลี้ยงดูลูก ๆ เนื่องจากคุณพ่อไปออกรบ แต่ชีวิตประจำวันในบ้านของสาว ๆ ก็เต็มไปด้วยชีวิตชีวาและเสียงหัวเราะ ส่วนเล่มที่สองในปี 1969 — เป็นภาคที่อัลคอตต์เคยเรียกเล่น ๆ ว่า The Wedding Marches เนื่องจากในช่วงวัยแห่งการโตเป็นสาว เธอต้องเขียนให้สี่ดรุณีได้แต่งงานออกเหย้าออกเรือนไปทั้งหมด ตามความต้องการของตลาดสื่อสิ่งพิมพ์ในยุคนั้น— เรื่องเล่าของสี่ดรุณียังเป็นกึ่ง ๆ ชีวประวัติของอัลคอตต์อีกด้วย เพราะเหล่าสาวน้อยตระกูลมาร์ชมีที่มาจากตัวเธอและพี่น้องของเธอเอง
Little Women ได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์มาแล้ว 7 ครั้ง —รวมฉบับล่าสุดของ เกรตา เกอร์วิก (Greta Gerwig) ในปี 2019 นี้— และยังมีการดัดแปลงเป็นซีรีส์ทางโทรทัศน์อีกหลายฉบับ อาจเพราะเรื่องราวเกี่ยวกับการเลี้ยงดูเหล่าลูกสาวให้เป็นกุลสตรี มีจิตใจงดงาม กิริยาอ่อนหวาน แต่ก็ทั้งเข้มแข็ง เป็นตัวเอง ทะเยอทะยานด้วยไฟฝันและพลังแห่งการสร้างสรรค์ ในยุคที่ผู้คนยังไม่ให้คุณค่าศิลปะจากผู้หญิงด้วยซ้ำ มันช่างล้ำสมัยและมาก่อนกาลนานนัก ขนาดที่ว่า 150 ปีให้หลัง สารสำคัญของเรื่องราวก็ยังคงคุณค่า เข้ากับยุคสมัยปัจจุบัน และมีศักยภาพจะพัฒนาต่อไปได้อีก อย่างที่เกรตาได้พิสูจน์แล้วในงานกำกับและเขียนบท Little Women เวอร์ชั่นของเธอ
LITTLE WOMEN : BEHIND THE SCENES เกรตา เกอร์วิกเลือกถ่ายทำ
Little Women (2019) ด้วยกล้องฟิล์ม เพราะ
สตีเวน สปีลเบิร์กให้เธอลองดมเซลลูลอยด์(ฟิล์ม)จากกล้องที่เขาใช้ถ่ายทำ Jurassic Park และยืนยันว่า
เธอต้องถ่ายทำด้วยฟิล์มนะ กลิ่นอายมันไม่เหมือนกัน เขาไม่ยอมให้เธอถ่ายหนังยุค 1861 ด้วยกล้องดิจิตอลแน่ แถมสปีลเบิร์กยังแนะนำและเปิดเผยทุกเทคนิคการจัดแสงของยุคนั้นที่ยังใช้แสงจากเทียนอยู่ เพราะมันเป็นยุคเดียวกับในภาพยนตร์เรื่อง
Lincoln ซึ่งเขาเคยถ่ายทำมาก่อน
นอกจากการถ่ายทำด้วยฟิล์มเพื่อให้ได้ภาพบรรยากาศและมิติลึกซึ้งเข้ากับยุคสมัยเก่าแล้ว เกรตายังอยากให้หนังของเธอไม่ดูเป็นแนวพีเรียดจัดหนักจัดเต็มอลังการเกินไป อย่างที่หลายเรื่องชอบทำ จนบางครั้งเรารู้สึกอึดอัด เกรตาต้องการความงามฟุ้งแต่ไม่ยุ่งเหยิง คล้ายการเต้นรำในจังหวะกำลังพอสนุก เธอจึงเลือกทำงานกับผู้กำกับภาพโยริค เลอ โซ (Yorick Le Saux) เพราะประทับใจวิธีการเคลื่อนกล้องอันลื่นไหลของเขาในการถ่ายภาพ และเกรตารู้สึกว่าภาพจะดูสดใหม่ที่สุดเมื่อถ่ายทำอย่างคลาสสิคนี่แหละ 'ถ้าอยากให้หนังดูมีชีวิต ก็ต้องเชื่ออย่างสุดใจว่าเรากำลังอยู่ในช่วงยุคสมัยนั้น' ซึ่งภาพที่เราได้ชมบนจอภาพยนตร์ก็ออกมาพลิ้วไหว มีชีวิตชีวา เปล่งประกายความทันสมัยอยู่ภายใต้ความพีเรียดจริง ๆ
เวลาผู้กำกับบอกว่าจะสร้างหนังสงคราม พวกเขาหมายถึงงานสเกลใหญ่อลังการ ถ่ายทำในหลากหลายโลเคชั่น เทคนิคภาพตระการตา และอัดแน่นด้วยนักแสดงระดับแถวหน้ามากมาย ซึ่งเกรตา เกอร์วิกต้องการสร้าง Little Women ในแบบนั้นเช่นเดียวกัน
"ถ้าคุณบอกใครสักคนว่าจะสร้างหนังสงครามนะ พวกเขาจะเข้าใจทันที"
เกรตากล่าว "แต่ถ้าคุณบอกว่า
'ฉันจะเล่าเรื่องราวของเหล่าเด็กสาวที่กำลังก้าวข้ามพ้นวัยไปเป็นผู้ใหญ่ กับช่วงเวลาทุกข์และสุขของพวกเธอ' คนจะคิดว่ามันเป็นหนังสเกลเล็ก ๆ นั่นคือสิ่งที่พวกเราอยากระบายออกมาค่ะ เพราะสำหรับพวกเรามันไม่เล็กเลย มันคือเรื่องราวชีวิตของพวกเรา—และของผู้ชายด้วย"
ตอนที่ต้องโน้มน้าวให้ผู้บริหารโซนี่ไฟเขียวเรื่องทุนสร้าง เกรตาจำได้ว่าในห้องเต็มไปด้วยผู้ชาย และแม้ว่า Little Women จะเป็นหนังพีเรียดในช่วงศตวรรษที่ 19 แต่เธอจะเล่าเรื่องราวของ "ศิลปะ ความทะเยอทะยาน และเงินตรา" ซึ่งผู้ชายเข้าใจเรื่องพวกนี้เป็นอย่างดี หนังได้งบมา 40 ล้านเหรียญฯ ถ่ายทำใน 38 โลเคชั่น รอบบริเวณบ้านของอัลคอตต์ในแมสซาชูเซตส์ เธอและนักแสดงได้พากันไปเยี่ยมหลุมศพของอัลคอตต์ ผู้ประพันธ์หนังสือด้วย เกรตานึกถึงการตัดสินใจของอัลคอตต์ที่จะเก็บลิขสิทธิ์ในงานเขียนไว้ เป็นการประกันรายได้ของตัวเองในอนาคต สัญชาตญาณอย่างเดียวกันเติบโตในตัวเกรตา และผลักดันให้เธอกล้าทุ่มเท กล้าบอกตัวเองว่า 'เราต้องลงทุนกับหนังเรื่องนี้ มันต้องยิ่งใหญ่ ต้องได้รับการถ่ายทอดอย่างสมศักดิ์ศรี'
บรรยากาศเบื้องหลังการถ่ายทำ Little Women (2019) ที่อัดแน่นไปด้วยนักแสดงคุณภาพ : VIDEO
เกรตายังเขียนบทให้ทันสมัยมากขึ้นด้วยการแต่งแต้มไอเดียซึ่งได้จากจดหมายและไดอารี่ส่วนตัวของอัลคอตต์ลงไปด้วย แต่สิ่งที่ได้ผลมากที่สุดในการเล่าเรื่องด้วยสไตล์ของเธอเองนั้น สำหรับเราคือการวางโครงสร้างและลำดับการเล่าเรื่องเสียใหม่ เกรตารู้จัก Little Women ครั้งแรกตั้งแต่ยังเด็ก โดยแม่เป็นคนอ่านให้ฟัง และสี่พี่น้องมาร์ชก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเธอมาตั้งแต่นั้นจนโต เมื่อเกรตาอ่านหนังสืออีกครั้งในวัย 30 ปี ประสบการณ์ที่ได้กลับแตกต่างออกไปจากที่เธอเคยรับรู้อย่างสิ้นเชิง นอกจากนี้เธอยังพบว่าเรื่องราวของสาว ๆ ในหนังสือทั้งสองช่วงนั้นมีส่วนสะท้อนหากันไปมา เธอจึงอยากเล่าตัดสลับไปมาระหว่างช่วงวัยทำงานและมีคู่ครอง กับ ช่วงความทรงจำในวัยเด็กของทั้งสี่ คล้ายการเล่านิทานสลับกับชีวิตจริง เหตุผลหนึ่งก็เพราะผู้หญิงมักมีความรู้สึกว่า 'ช่วงเวลาแห่งการผจญภัยและความสนุกเป็นเรื่องของเด็กสาววัยรุ่นเท่านั้น เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ ชีวิตก็ไม่มีอะไรน่าสนใจอีกแล้ว' เกรตาคิดว่าเราจะส่งต่อความคิดเดิม ๆ นั่นออกไปให้เด็กผู้หญิงรุ่นใหม่ไม่ได้ การคืนความสุขวัยเด็กให้กับสี่พี่น้องมาร์ชจึงเป็นภารกิจสำคัญของหนังเรื่องนี้สำหรับเธอ
"มีผู้หญิงมากมายอ่านแค่ภาคแรกของหนังสือ ถ้าสิ่งที่เรากำลังบอกเหล่าเด็กสาว คือ 'ทุกอย่างจบลงเมื่อเราเข้าสู่วัยผู้ใหญ่' นั่นก็ไม่ดีพอค่ะ เพราะมันหมายถึงว่าชีวิตไม่มีอะไรให้ปรารถนาหรือไขว่คว้าอีกต่อไป ถ้าการโตเป็นผู้ใหญ่มันไร้ซึ่งความกล้า ความทะเยอทะยาน ความเป็นไปได้อื่น ๆ ถ้าสิ่งเหล่านั้นมีอยู่แค่ในวัยเด็กและเราต้องโยนมันทิ้งไป คงฟังดูไม่ถูกต้องเท่าไร ฉันเลยยืนพื้นด้วยเส้นเรื่องในตอนโตค่ะ" —
เกรตา เกอร์วิก
หนังไม่ได้มีตัวอักษรกำกับช่วงเวลาว่าฉากไหนมาจากช่วงเวลาไหนให้คนดูรู้แน่ชัด แต่เราสามารถสังเกตได้จากการบอกใบ้ในโทนสีของภาพ 'ช่วงวัยเด็ก' ของสี่พี่น้องมาร์ชเจิดจรัสด้วยสีสันอบอุ่นสดใส พวกเธอร่าเริงสมวัยเหมือนดอกไม้แรกแย้มกำลังผลิบาน แม้แต่แสงตะวันที่สาดไล้หิมะในยามกลางวันหรือแสงจากเปลวเทียนในยามค่ำคืนก็ให้ความรู้สึกสุกสว่าง บรรยากาศในบ้านไม่เคยขาดเสียงหัวเราะหรือรอยยิ้ม แม้พวกเธอจะไม่ได้ร่ำรวย อีกทั้งพ่อก็ออกรบและมีแม่เหนื่อยทำงานเลี้ยงดูอยู่คนเดียวก็ตาม ส่วน 'ช่วงวัยผู้ใหญ่' นั้น โทนสีของภาพกลับอึมครึมครึ้มหม่น เยือกเย็นกว่า และหิมะสีขาวก็พลันดูเหน็บหนาวจับขั้วหัวใจ บ้านหลังเดิมดูเงียบเหงาเมื่อต่างคนต่างแยกย้ายไปอยู่ต่างที่ เม็กแต่งงานมีครอบครัว เบธป่วยหนัก โจดิ้นรนขายเรื่องสั้นอยู่นิวยอร์กเพียงลำพังเพื่อหาเงินรักษาน้อง เอมี่ได้ติดตามป้ามาร์ชไปยุโรป
พอนึกเทียบกันแบบนี้แล้ว จะเข้าใจแจ่มแจ้งเลยว่าทำไมเกรตาจึงเลือกเรียงลำดับเรื่องราวเสียใหม่ ถ่ายทอดชีวิตของพวกเธอในสองช่วงวัยสลับกัน แต่ละฉากเหมือนเป็นบทสั้น ๆ ในนิยายที่ถูกจับแยกส่วน ก่อนนำมาถักทอเข้าด้วยกันอย่างพิถีพิถันเป็นผ้าสวยผืนใหม่ เธอค่อย ๆ บรรจงเรียงร้อยมันเพื่อเกลี่ยความสนุกสนานและเหงาเศร้าให้ผลัดกันเข้ามาระเริงเล่นกับเรา ทำให้ทุกฉากเพลินตาไม่น่าเบื่อ (ซึ่งถ้าเรียงตามเส้นเวลาปกติเหมือนหนังสือ ช่วงหลังของเรื่องจะต้องเฉาแน่ ๆ) วิธีนี้สร้างอารมณ์ร่วมให้คนดูอินไปกับตัวละครโดยไม่รู้ตัว เล่นเอาเราเริ่มน้ำตาไหลตั้งแต่กลางเรื่อง แล้วก็บีบหัวใจจนมันรินไหลเรื่อยลงมาเป็นพัก ๆ ไปจนจบเลยทีเดียว
LITTLE WOMEN : FOR ALL WOMEN IN THE WORLD Little Women เป็นเรื่องราวที่ดำเนินด้วยตัวละครหลักผู้หญิงเต็มไปหมด และนั่นไม่ใช่สิ่งที่ฮอลลีวูดคุ้นเคยหรือนิยมชมชอบที่จะผลิตกันเท่าไร เพราะคิดว่าคงขายไม่ได้ ไม่ทำเงิน อันที่จริงก่อนหนังสือ Little Women จะตีพิมพ์ สำนักพิมพ์ก็ไม่ได้คิดว่ามันจะขายดีและขายหมดด้วยซ้ำไป แต่อัลคอตต์ (ผู้หญิงที่มาก่อนกาลโดยแท้จริง) เลือกเก็บลิขสิทธิ์งานเขียนของตนไว้ ไม่ขายขาดให้กับสำนักพิมพ์ ทำให้เธอได้ส่วนแบ่งกำไรจากการขายหนังสือในการตีพิมพ์ซ้ำต่อมา จนสามารถเลี้ยงชีพตัวเองด้วยการเขียนหนังสือเล่มต่อ ๆ มาได้
(อย่างไรก็ตาม การที่
Little Women ถูกนำกลับมาทำเป็นหนังซ้ำในทุกยุค มาจนถึงหนที่ 7 ในยุคของเรา ก็ไม่ได้แปลว่าการนำเสนอผู้หญิงในสื่อบันเทิงจะมากเพียงพอแล้ว ตรงกันข้าม ไหนล่ะความหลากหลาย? ทำไมฮอลลีวูดสร้างหนังออริจินัลใหม่ ๆ ที่ตัวเอกเป็นผู้หญิงมากกว่านี้ไม่ได้? ที่จริงวงการภาพยนตร์ในสหรัฐฯ เพิ่งจะตื่นตัวกับเรื่องความเท่าเทียมระหว่างชายและหญิงกันอย่างกว้างขวางเมื่อไม่กี่ปีมานี้ด้วยซ้ำ เช่น
Pacific Rim (2013) ทำให้เกิด
"Moki Mori Test" เป็นมาตรฐานวัด หนังเรื่องหนึ่งจะผ่านเกณฑ์นี้ได้ต่อเมื่อมีตัวละครหลักหญิงอย่างน้อย 1 ตัว และตัวละครหญิงนั้นมีเส้นเรื่องเป็นของตัวเอง ซึ่งไม่ใช่เส้นเรื่องที่มีขึ้นเพียงเพื่อเสริมเส้นเรื่องของตัวละครชาย ---โอ๊ย นอกเรื่อง กลับมา ๆ)
ในเรื่อง Little Women สี่ศรีพี่น้องมาร์ชมีความชอบความสนใจในศิลปะต่างแขนงต่างกันไป แต่ทั้งสี่สาวก็รักกันดี แม้จะมีกระทบกระทั่งตามประสาพี่น้องบ้าง, ในฉบับของเกรตานี้ เอมี่เองก็ได้รับการปรับบทให้มีมิติมากขึ้น ไม่ใช่เพียงไม้เบื่อไม้เมาของโจอย่างเดียว, เรารักในความหลากหลายและมีจุดเด่นของแต่ละตัวละคร รวมถึงคุณแม่ (หรือที่เด็ก ๆ เรียกกัน "มาร์มี") และป้ามาร์ชด้วย (ไอดอลค่ะ ความโสดเพราะรวยนี้) ชอบที่หนังนำเสนอภาพผู้หญิงแต่ละคนมีนิสัย เป้าหมาย แรงผลักดัน และความฝันที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งโลกจริงผู้หญิงก็เป็นแบบนั้น และตัวหนังละเมียดละไมในการสื่อสารเรื่องนี้
ส่วนตัวเราว่าหนังฉบับเกรตาเลือกนักแสดงมาได้เข้าขากันดีมาก เหมือนนั่งดูชีวิตของครอบครัวหนึ่งจริง ๆ มีความอลเวงแต่ก็อบอุ่นอย่างน่าประหลาด ยิ่งเวลาสี่พี่น้องพูดแทรกกันไปมา มันสมจริงมาก ขำ ทั้งน่าปวดหัวแต่ก็น่าเอ็นดู (น่ารัก ดูแล้วอยากมีพี่น้องผู้หญิงบ้างเลยอะ) แล้วไอ้ฉากที่พูดพร้อมกัน พูดสอด พูดต่อกันรัว ๆ คนหนึ่งยังพูดไม่จบ อีกคนต้องเริ่มพูดแล้วนี่ต้องอาศัยความสามารถและการประสานกันระหว่างนักแสดงหนักมาก เกรตาเขียนบทด้วยเทคนิคเหมือนเวลาเขียนบทละครเวที
และต้องซ้อมกันหลายรอบ เริ่มจากช้า ๆ แล้วค่อยเร็วขึ้น แถมบางทียังต้องเดินเปลี่ยนห้อง กล้องก็ต้องเคลื่อนตามอีก จังหวะต้องดีมาก งานกำกับต้องใจเย็นและละเอียดอ่อนสุด ๆ ไปเลยด้วย
ตัวอย่างบทพูดที่เกรตาเขียนให้ตัวละครพูดพร้อมกัน (โดยใช้ / แสดงการพูดแทรก) : (ข้างบนคือฉากเช้าวันคริสต์มาสในวัยเด็กของพี่น้องมาร์ชนั่นเอง / เป็นฉากแรกในหนังสือด้วย) Download บทภาพยนตร์ Little Women (2019) ฉบับเต็มได้ที่นี่
ต่อไปเข้าสู่ช่วงสปอยล์เนื้อหาของภาพยนตร์ (ใครยังไม่ดูอาจไม่ควรอ่าน)
"Just because my dreams are not the same as yours doesn’t mean they’re unimportant" - Meg March - มาที่พี่คนโตกันก่อน "เม็ก" สาวสวยของบ้าน แม้เอ็มม่า วัตสัน (Emma Watson) จะแสดงได้เรียบนิ่งและจืดจางในเส้นเรื่องของตัวเองไปหน่อย แต่เวลาเข้าบทกับพี่น้องก็ยังใช้ได้ ที่สำคัญบทของเม็กแม้จะเป็นหญิงสาวผู้ใฝ่ฝันจะแต่งงาน มีลูก สร้างครอบครัว และยินดีจะยอมกัดก้อนเกลือกิน—เอ้อ ลำบากดิ้นรนไปกับผู้ชายที่เธอรัก —ซึ่งเป็นไปตามค่านิยมของสังคมตั้งแต่โบราณที่กำหนดบทบาทผู้หญิงไว้— แต่คำพูดของเธอก็เตือนใจน้องสาวอย่างโจ, ผู้หวงพี่สาวและอยากให้พี่น้องทุกคนอยู่ด้วยกันตลอดไปเหมือนวัยเด็ก, ว่าความฝันของเธออาจไม่ได้ยิ่งใหญ่เหมือนของโจ เป็นแค่ฝันธรรมดาของผู้หญิงทั่วไป แต่นั่นไม่ได้แปลว่ามันไม่สำคัญ ตราบใดที่เธอเต็มใจเลือกเดินทางนั้น คนอื่นก็ควรเคารพในสิทธิของเธอ เช่นเดียวกับที่โจอยากให้ลอรี่เข้าใจว่าเธอไม่ต้องการแต่งงานเลยตลอดชีวิตนั่นแหละ
"Do what Marmee taught us to do. Do it for someone else." - Beth March - "เบธ" น่าจะเป็นสาวบ้านมาร์ชที่พูดน้อยที่สุดแล้ว แต่อไลซ่า สกันเลน (Eliza Scanlen) กลับเล่นเป็นตัวละครนี้ได้ลึกซึ้งและงดงามยิ่งนัก แม้ในความเงียบงัน ไร้บทพูด มีเพียงเสียงเปียโนจากปลายนิ้วของเธอล่องลอยไปในบรรยากาศ นักแสดงสาวน้อยมากพรสวรรค์คนนี้ก็ทำให้เราสัมผัสถึงความหลงใหลทางดนตรีของตัวละครและรับรู้ถึงตัวตนข้างในของเบธได้แล้ว คือพรรณนาเป็นคำพูดยากยิ่ง น้องเล่นน้อยแต่ได้มาก ทำให้รู้สึกว่าตัวเบธเป็นเด็กที่ใจสวยมากจริง ๆ (ใครชอบน้องจากบทนี้ แนะนำให้หาดูซีรีส์ Sharp Objects ที่น้องเล่นกับเอมี่ อดัมส์เลย พลิกบทบาท 180 องศาสุด น้องเก่งมาก)
คือเบธไม่ค่อยพูด แต่พูดทีหนึ่งก็มักจะเป็นการทำเพื่อคนอื่นเสมอเลยน่ะ เช่นตอนที่เอมี่บอกว่าจมูกตัวเองไม่สวย เบธก็บอกน้องว่าเธอชอบจมูกเอมี่นะ ซึ่งมันน่ารักมาก หรือตอนที่แม่ไม่อยู่ เธอก็ชวนทุกคนให้ไปดูแลบ้านฮัมเมล(ซึ่งยากจนกว่ามากและมีเด็ก ๆ ถึงห้าคน)ตามที่แม่บอก พอไม่มีใครสนใจไปด้วย เธอก็เอาอาหารไปให้บ้านฮัมเมลคนเดียว อ่อนโยนที่สุด ; - ; เธอเล่นเปียโนเก่งที่สุด แต่ไม่ได้ฝันจะเป็นนักดนตรีที่มีชื่อเสียงอะไร เธอแค่อยากเล่นให้ครอบครัวของเธอ รวมถึงคุณปู่เพื่อนบ้านอย่างคุณลอเรนซ์ฟังเท่านั้น เบธเกิดมาเพื่อมอบความสุขให้ผู้อื่นโดยแท้จริง
และเธอมักชื่นชมงานเขียนของโจเสมอ ช่วงไปพักฟื้นที่ชายหาด เบธบอกให้โจเขียนอะไรสักอย่างให้เธอ (ซึ่งขณะนั้นโจโดนเฟรดดิกวิจารณ์ตรงไปตรงมาจนหมดกำลังใจจะเขียนอะไรแล้ว) โดยบอกโจว่า "ทำเพื่อคนอื่นเหมือนที่แม่สอนสิ" แม้เป็นการอ้างแกมบังคับ ตามด้วยเหตุผลว่าเธอป่วย ต้องตามใจเธอนะ แต่แท้จริงแล้วเราว่าประโยคนี้คือตัวตนและหัวใจสำคัญของตัวละครเบธเลย เธอสัมผัสได้ว่าพี่สาวหมดไฟ แม้ไม่รู้ว่าเพราะอะไรก็ตาม เธอพูดไปอย่างนั้นก็เพื่อโจ...เพื่อให้โจกลับมาเขียนงานได้อีกครั้งนั่นเอง ลึก ๆ แล้วเธอเป็นเด็กสาวจิตใจดีผู้ไม่เคยลังเลที่จะคิดหรือทำเพื่อคนอื่นเลย
สิ่งที่เธอปรารถนาในวันคริสต์มาสก็แค่ได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากับพี่น้องและพ่อกับแม่
แต่แล้วครอบครัวกลับต้องสูญเสียเธอไป
สวรรค์เลือกเด็ดดอกไม้ที่งดงามที่สุดเสมอ
"I want to be great, or nothing." - Amy March -
หากพูดถึงนักแสดงรุ่นใหม่ไฟแรงในขณะนี้ย่อมหนีไม่พ้น ฟลอเรนซ์ พิว (Florence Pugh) ซึ่งในปี 2019 ที่ผ่านมาเธอก็ได้โชว์ของทั้งใน Fighting With My Family กับบทแชมป์มวยปล้ำหญิง และในหนังสยองขวัญสีสันสว่างสดใสอย่าง Midsommar สำหรับเรื่อง Little Women เธอก็โดดเด่นเป็นดาวฉายแสงมากล้นด้วยเสน่ห์ไม่แพ้กัน กับบทน้องเล็กบ้านมาร์ชอย่าง "เอมี่" ในหนังสือน่าจะเป็นตัวละครซึ่งคนอ่านเกลียดมากที่สุด แต่บทเอมี่ที่เกรตาเขียนและการแสดงของฟลอเรนซ์กลับทำให้ผู้คนหลงรักเธอได้อย่างจัง (แม้ว่าเธอจะเผางานเขียนของโจก็ตาม กรี๊ด เป็นโจฉันก็ไม่ทนนะน้องน่าตีแบบนี้)
ฟลอเรนซ์แสดงได้ดีทั้งในโหมดสดใสร่าเริง น่าหมั่นเขี้ยวในวัยเด็ก และโหมดสาวฉลาด มั่นใจในตัวเองของเอมี่ตอนโต พัฒนาการตัวละครของเธอระหว่างสองช่วงวัยค่อนข้างเด่นชัด ความมุ่งมั่นจริงจังของเอมี่อาจมองได้ว่าเป็นจุดแข็งของการเป็นสาวยุคใหม่เลยทีเดียว ทว่าความฝันในการเป็นจิตรกรของเธอเริ่มมอดดับเมื่อได้เห็นผลงานศิลปะคนอื่นในยุโรป และค้นพบว่าตัวเองไม่ได้เก่งขั้นอัจฉริยะอย่างที่คิด แต่เอมี่ไม่ปล่อยให้ตัวเองใจสลายหรือดันทุรัง "ฉันอยากเก่ง ไม่รุ่งก็เลิก" นี่มันฟังแล้วฮึกเหิมในใจดีพิลึก อารมณ์แบบ 'ถ้าต้องไล่ตามสิ่งที่รักไปเรื่อย ๆ ทั้งรู้ว่าไม่มีวันเป็นที่หนึ่ง ฉันมูฟออนไปทำอย่างอื่นที่หากินได้ดีกว่า' ประทับใจความแน่วแน่นี้ เราว่าน้อยคนจะเด็ดเดี่ยวได้แบบนั้น ไม่ว่าหญิงหรือชาย คนทั่วไปแม้รู้ตัวว่าทำอะไร(ที่ต่อให้ชอบ)ได้แค่ครึ่ง ๆ กลาง ๆ ก็ยังดิ้นรนก้มหน้าทำกันไป แต่เอมี่นางยอมรับความเป็นจริงได้ไวมาก
มันเลยทั้งน่าชื่นชมแต่ก็น่าเศร้าใจในเวลาเดียวกัน ตอนที่เธอพูดออกมาตรง ๆ ว่าสุดท้ายเธอก็ต้องแต่งงานกับผู้ชายฐานะดี ๆ เพราะผู้หญิงยุคนั้น(—หรือแม้แต่ในหลายสังคมของยุคปัจจุบัน !) ไม่มีวันหาเงินได้มากพอจะเลี้ยงตัวเองหรือครอบครัว แถมพอแต่งงานเงินก็กลายเป็นของสามีไปอีก ถ้ามีลูก ลูกก็เป็นสมบัติของสามี อันที่จริงแนวความคิดว่าผู้หญิงควรมีสิทธิในความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกับผู้ชาย ไม่ใช่แค่ทรัพย์สินของสามีมันก็ยังไม่ได้แข็งแรง มั่นคงอะไรเลย หันมาดูทุกวันนี้ผู้หญิงก็ยังต้องประท้วง ผลักดัน เรียกร้องค่าจ้างที่เท่ากันในตำแหน่งงานเดียวกับผู้ชายอยู่... เอาแค่วงการบันเทิงเนี่ย ค่าตัวนักแสดงนำหญิง กับนักแสดงนำชาย ทั้งที่เป็นบทตัวเอกเท่า ๆ กัน อะไรงี้ก็ไม่เท่ากันละ
"เพราะงั้นอย่ามาบอกฉันว่าการแต่งงานไม่ใช่การวางแผนทางการเงินย่ะ" — เอมี่ มาร์ช
VIDEO
"I intend to make my own way in the world" - Jo March -
มาถึงตัวเอกของเรื่อง ซึ่งนักแสดงขวัญใจเราอย่าง เซอร์ช่า โรแนน (Saoirse Ronan) ไม่เคยทำให้ผิดหวังเลย ถ่ายทอดความเป็น "โจ" ออกมาอย่างเป็นธรรมชาติ มีมิติ กลมกล่อม จับต้องได้ เธอเข้าถึงจิตวิญญาณของผู้หญิงที่กล้าหาญแต่อ่อนโยน ทะเยอทะยานทว่าพร้อมประนีประนอม อ่อนไหวหากก็ทรงพลังในขณะเดียวกัน โจมีกิริยาไม่ค่อยเรียบร้อย พูดจาโผงผาง ชอบแต่งตัวเหมือนผู้ชาย ไม่รักสวยรักงามเหมือนพี่น้องคนอื่น ทำให้เธอเป็นผู้หญิงที่แตกต่างและค่อนข้างแหกขนบในยุคสมัยนั้นเอามาก ๆ แต่ภายใต้ภาพลักษณ์ภายนอกอันแกร่งกล้าเหมือนพ่อ เธอกลับมีจิตใจที่เสียสละและโอบอ้อมอารีเหมือนแม่อยู่ด้วย เมื่อพ่อไม่สบายและแม่ต้องหาเงินเดินทางไปดูแลพ่อนั้น เธอตัดสินใจขาย "ผม" ยาวสลวยเป็นลอนของเธอ และปั้นหน้ายิ้มอย่างเด็กสาวผู้เข้มแข็ง ทำเหมือนว่ามันไม่เป็นไร เพื่อให้แม่และทุกคนสบายใจ ก่อนจะแอบมานั่งร้องไห้กับน้องสาวเพราะยังอดเสียดายผมไม่ได้อยู่ด่ี
เราชอบเคมีของเซอร์ช่ากับทิมมี่ - ทิโมธี ชาลาเมต์ (Timothee Chalamet) ทั้งใน Lady Bird และชีวิตจริง สองคนนี้ดูเป็นเพื่อนต่างเพศที่สนิทกันดี เอเนอร์จี้การกลั่นแกล้ง ยีหัว ต่อยแขนอะไรแบบในเรื่องนี่ก็ติดมาจากความสนิทสนมในชีวิตจริงทั้งนั้น (ฮาาา) แน่นอนว่าเกรตาก็ชอบเห็นทั้งคู่แสดงด้วยกันนั่นแหละ ถึงได้จับมาประกบคู่ใน Little Women อีก ซึ่งทิมมี่ก็เหมาะกับบท "ลอรี่" ด้วยภาพลักษณ์คุณชายนุ่มนวล ที่มีความคอนทราสต์กับโจผู้หญิงห่าม ๆ ได้ดีนัก (และคราวนี้เซอร์ช่าได้เป็นฝ่ายหักอกทิมมี่แทนบ้าง กลับกันกับใน Lady Bird ) ความสัมพันธ์ของโจกับลอรี่ เป็นอะไรที่น่าดูชม และจุดติดไวมาก เราอินกับทั้งคู่ตั้งแต่ฉากแรกที่เจอกัน และในทุก ๆ ฉากที่อยู่ด้วยกันเลย
ตอนที่โจปฏิเสธจะแต่งงานกับลอรี่ มันเจ็บปวด แต่ให้บทเรียนสำคัญกับทั้งหญิงและชาย ซึ่งตอนหนึ่งในบทความ Little Women Is A Big, Important American Masterpiece. Let's Treat It Like One ของ ELLE พูดถึงเรื่องนี้ไว้ดีมาก "แนวคิด Toxic Masculinity และวัฒนธรรมการข่มขืนในอเมริกาอาจได้รับการเยียวยาด้วยการสอนวรรณกรรม Little Women ในชั้นเรียนก็ได้ เมื่อโจปฏิเสธการแต่งงานกับลอรี่ เธอได้สอนบทเรียนสำคัญให้กับเด็ก ๆ คือ เด็กสาวเอ่ยปฏิเสธผู้ชายได้ และเด็กหนุ่มสามารถแสดงความเสียใจออกมาได้ ก่อนจะก้าวผ่านการถูกปฏิเสธไป" — เราเห็นด้วยมาก ๆ และรู้สึกว่าด้วยเหตุผลเดียวกันนี้เอง Little Women จึงเป็นหนังที่ไม่ได้มีไว้เพื่อผู้ชมหญิงเท่านั้น เด็กผู้ชายก็ควรดู ควรได้เรียนรู้เกี่ยวกับชีวิต ความต้องการ และความฝันของผู้หญิงบ้าง การเรียนรู้มันต้องเกิดจากฝั่งเด็กผู้ชายด้วย เราจึงจะสร้างสังคมในอุดมคติที่ทุกเพศได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาคกันได้
ถึงแม้ฉากปฏิเสธการขอแต่งงานจะขยี้หัวใจเรา แต่เราว่าเราเข้าใจความรู้สึกโจ (ขอโทษนะลอรี่...) อาจเพราะในบรรดาพี่น้องมาร์ชทั้งสี่ เรารู้สึกเชื่อมโยงกับตัวละคร "โจ" มากที่สุด นอกจากความห้าวห่ามประหนึ่งเด็กผู้ชายและความรักในการเขียนแล้ว ความใฝ่ฝันมุ่งมั่นว่าจะดำเนินชีวิตบนเส้นทางที่เธอเลือกเองนั้น ช่างตรงกับตัวเราจนเหมือนกำลังนั่งมองเงาสะท้อนในกระจก (ยกเว้นเรื่องหน้าตา—) สำหรับโจแล้ว, รักหรือไม่รัก, ไม่สำคัญเท่าเธอไม่ได้อยากแต่งงาน ไม่ได้อยากแชร์ชีวิตร่วมกับใคร เธอรักอิสระ และชีวิตก็มีสิ่งอื่นที่เธอใฝ่ฝันจะไขว่คว้ามากกว่าความรัก
การแต่งงานไม่ใช่ปลายทางหนึ่งเดียวของชีวิตผู้หญิง
มันไม่จำเป็น และไม่ควรจะเป็นด้วย เพราะ...
"หนูแค่รู้สึกว่า...ผู้หญิงก็มีความคิด มีจิตวิญญาณ พอ ๆ กับที่มีหัวใจ และผู้หญิงก็มีความใฝ่ฝัน มีพรสวรรค์ พอ ๆ กับความสวย หนูเบื่อกับคำพูดของใคร ๆ ที่ว่าผู้หญิงมีไว้เพื่อรักเท่านั้น หนูเบื่อเต็มทน ! ..."
คำพูดของโจ มาร์ชข้างบนนั้นไม่ได้มาจากหนังสือ
Little Women แต่มาจากหนังสืออีกเล่มของอัลคอตต์อย่าง
Rose in Bloom ซึ่งเกรตาหยิบยืมมาใส่ไว้ในหนัง โดยเธอเติม
"...แต่หนูก็เหงาเหลือเกิน" เข้าไปในตอนท้าย
ประโยคหลังนั้นมาจากตัวเกรตาเอง เธอเขียนบทหนัง
Little Women ก่อนสร้าง
Lady Bird เมื่อเธอถ่ายทำ ตัดต่อ และ
Lady Bird ได้ออกฉายแล้ว เกรตาเอางานค้นคว้าของเธอเกี่ยวกับ
Little Women ทั้งหมดใส่ท้ายรถและขับไปยังกระท่อมกลางป่า การเป็นทั้งผู้เขียนบทและผู้กำกับทำให้เธอรู้สึกว่าเธอต้องรู้ทุกอย่างทะลุปรุโปร่ง ภาพหนังต้องสมจริงในหัวของเธอที่สุด ก่อนคนอื่นจะมโนภาพฝันเรื่องเดียวกันนั้นได้ เกรตาต้องอยู่คนเดียวเพื่อโฟกัสกับมัน และเธอก็รู้สึกโดดเดี่ยวขึ้นมา... เธอเหมือนได้ยินเสียงเซอร์ช่าพูดว่า
"But I'm so alone" พร้อมกับสะอื้นไห้ เกรตาจำความรู้สึกตอนถ่ายทำฉากนี้ได้ดี เธอร้องไห้ตามเลยด้วย เพราะเซอร์ช่าแสดงความรู้สึกของโจในตอนนั้นออกมาได้เป๊ะมาก
โจรู้ตัวเองแต่แรกว่าโลกทั้งใบของเธอมันอัดแน่นด้วยความทะเยอทะยานและความใฝ่ฝัน จนไม่อาจเหลือที่ว่างให้ใครก้าวเข้ามา การแต่งงานกับใครสักคนจะผูกมัดเธอไว้ไม่ให้โบยบินไปไหนได้ สมัยนี้ผู้ชายบางคนยัง "คาดหวัง" ให้ภรรยาอยู่บ้าน ทำงานบ้าน เลี้ยงลูกให้อยู่เลย (โดยที่ฝ่ายหญิงอาจไม่ได้ต้องการใช้ชีวิตแบบนั้น —ต่างจากเม็ก มาร์ชเพราะเธอเลือกเอง ) บางคนฝ่ายหญิงทำงานเก่งกว่า เงินเดือนสูงกว่ายังรับไม่ได้ด้วยซ้ำเอ้า จะนับประสาอะไรกับสมัยก่อน ดังนั้นโจจึงไม่มีทางเลือกมากนักหรอกนอกจากตัดไฟตั้งแต่ต้นลม เพื่อไม่ให้เปลวไฟนั้นเผาทำลายลอรี่ไปมากกว่านี้ เพราะเธอรู้ว่าสักวันมันจะต้องเป็นอย่างนั้น
ภายหลังโจบอกแม่ว่าเธออาจเปลี่ยนใจตอบรับลอรี่ เพราะเธอชอบเป็นที่รัก การแต่งงานกับคนที่รักเราก็ฟังดูเป็นตัวเลือกที่ดี พอแม่แย้งว่ามันไม่เหมือนการได้ 'รัก' โจก็จุกไปเหมือนกัน แต่โดยส่วนตัวแล้ว สำหรับเรา โจรักลอรี่นั่นแหละ แค่อาจไม่ใช่ในแบบที่เขาต้องการ และบางครั้งการรักหรือใส่ใจใครสักคนหนึ่งมาก ๆ ไม่ได้แปลว่าเราจะอยากลงเอยอยู่กับเขาไปตลอด โจจึงติดอยู่ระหว่างการเดินทางไล่ตามความฝันในยุคที่ผู้หญิงคนอื่น ๆ ยังไม่กล้าฝัน และการต่อสู้กับความโดดเดี่ยวอ้างว้างในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ที่อยากมีคนคอยอยู่เคียงข้างปลอบประโลมบ้าง ช่วงเวลานั้นจึงเป็นสภาวะกลับตัวก็ไม่ได้ ให้เดินต่อไปก็ไปไม่ถึงสำหรับเธอจริง ๆ
และการแต่งงานระหว่างลอรี่กับเอมี่ก็ปลดปล่อยโจจากความทรมานนั้นโดยไม่ทันให้เธอตั้งตัว สีหน้าไม่รู้จะอิจฉาหรือว่าสุขใจน้ำตาที่ไหลนั้นไหลมาจากจุดไหนของโจ ตอนกอดน้องสาวและบอกว่าเธอไม่ได้โกรธนั้นเป็นอะไรที่ทั้งเจ็บปวดรวดร้าวแต่ก็อดยิ้มให้ไม่ได้ น้ำตาเราไหลตามไม่ใช่เพราะเสียใจหรือเสียดาย แต่เพราะภูมิใจในตัวโจมากกว่า เธอเติบโตขึ้นมากจริง ๆ ส่วนหนึ่งคงต้องขอบคุณเบธที่เพิ่งจากไป และทำให้โจคิดได้ว่าไม่อยากเสียใครไปอีกแล้ว ไม่, โดยเฉพาะพี่น้องเท่าที่ยังเหลือ
WOMEN, ART AND MONEY สำหรับเกรตาแล้ว เธอมองว่าหนังสือ
Little Women เป็นเรื่องราวของผู้หญิง ศิลปะ และเงินตรา ประโยคแรกของนิยาย คือ
"คริสต์มาสจะเป็นคริสต์มาสได้ไงถ้าไม่มีของขวัญ เป็นคนจนนี่มันเลวร้ายที่สุด ไม่ยุติธรรมเลยที่เด็กผู้หญิงบางคนมีของสวยงามมากมาย แต่บางคนไม่มีอะไรเลย" เกรตารู้สึกทันทีว่า
หนังสือมันเกี่ยวกับเรื่องเงินนี่นา ! และเมื่อเธอค้นคว้าลงลึกไปถึงชีวประวัติของลุยซา เมย์ อัลคอตต์ ผู้เขียน เธอก็พบว่ามันมาจากชีวิตจริงของอัลคอตต์เช่นกัน ประโยคในหนังของเกรตาที่โจพูดว่า
"ฉันกินคำชมแทนข้าวไม่ได้หรอกนะ" ( I can’t afford to starve on praise.) นั้นเป็นคำพูดของอัลคอตต์ เกรตาดึงมาจากจดหมายหรือไดอารี่ของเธอจริง ๆ เธอตัดสินใจทุกอย่างโดยคำนึงถึงปากท้องเป็นหลัก นั่นเป็นสาเหตุที่อัลคอตต์ยอมเปลี่ยนตอนจบของนิยายตามใจบรรณาธิการ เพื่อให้มันขายได้นั่นเอง เกรตายังมองว่าอาชีพที่สาว ๆ แต่ละคนใฝ่ฝันในเชิงศิลปะนั้นไม่ได้หยุมหยิมน่ารักน่าเอ็นดู มันยิ่งใหญ่และจริงจังมาก เรื่องราวการไปยุโรปของเอมี่และค้นพบว่าเธอไม่ใช่ศิลปินที่เก่งกาจกว่าใครเขามันน่าสนใจมาก
เกรตารวบรวมความคิดเหล่านั้น และคิดว่าเรื่องราวที่เรียงร้อยประเด็นเกี่ยวกับผู้หญิง ศิลปะ และเงินตราเอาไว้ได้ดีที่สุด คือ A Room of One's Own ของเวอร์จิเนีย วูล์ฟ (งานเขียนที่ ท้าทายความเชื่อในยุคที่ผู้หญิงถูกตีกรอบ ไว้ในค่านิยมแบบวิกตอเรียน) ซึ่งวูล์ฟตั้งใจบอกว่า 'จะเขียนงานได้ ผู้หญิงต้องมีห้องส่วนตัวและมีเงิน เป็นของตัวเอง' เพราะมีคนถามวูล์ฟว่า ทำไมนักเขียนหญิงดี ๆ จึงมีน้อยนัก? เธอย้อนว่า 'คำถามไม่ใช่ทำไมไม่มีนักเขียนหญิงดี ๆ เลย คำถามคือ ทำไมผู้หญิงถึงยากจนมาตลอดต่างหาก?' ผู้หญิงไม่ได้เพิ่งเริ่มจนเมื่อ 200 ปีที่ผ่านมานะ แต่จนมาตั้งแต่ยุคแรกเริ่มของกาลเวลาเลย วูล์ฟกล่าวไว้ว่า 'งานประพันธ์จะเกิดขึ้นได้เมื่อมีเสรีภาพทางปัญญา และเสรีภาพทางปัญญาจะเกิดได้เมื่อมีพร้อมสรรพสิ่ง ดังนั้น ผู้หญิงจึงแทบไม่มีโอกาสเขียนงานได้เลย' เกรตาสำทับเพิ่มเติม "จะทำได้ยังไงล่ะ? ถ้าเราจน เราจะเขียนบทประพันธ์เหรอ?"
นอกจากนี้ ความแตกต่างระหว่างในนิยายกับชีวิตจริงของลุยซา เมย์ อัลคอตต์ยังน่าสะเทือนใจมากด้วย ครอบครัวมาร์ชแค่จนประมาณหนึ่ง แต่บ้านอัลคอตต์นั้นแทบไม่มีอันจะกินเลย พวกเขาต้องย้ายบ้านประมาณ 30 รอบได้ เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าที่ซุกหัวนอน ลุยซากับพี่น้องและแม่ต้องทำงานหลังขดหลังแข็ง และในนิยายของเธอไม่ได้แตะเรื่องนั้น เพราะมันขายไม่ได้หรอก หนังสือจึงมีแต่ช่วงเวลาดี ๆ ในครอบครัว ผสานรวมเข้ากับสิ่งที่เธอหวังว่าตนจะมี
(นึกย้อนกลับไปถึงคำพูดของเอมี่อีกครั้ง สมัยนั้นผู้หญิงไม่ได้มีทางเลือกมากนักหรอก ถ้าจะแต่งกับผู้ชายที่ตัวเองรักอย่างเม็ก แต่เขาจน ก็ต้องกัดก้อนเกลือกินกันไป อย่างน้อยแต่งกับผู้ชายรวย ก็สุขสบาย และอยู่บ้านสวย ๆ สร้างสรรค์งานศิลปะเป็นงานอดิเรกก็ได้เปล่าวะ (ฮา) ซึ่งสุดท้ายเอมี่ยังโชคดี ได้แต่งกับลอรี่คนที่เธอรัก และเขาดันรวย — ที่สุดแล้วเราอยากเป็นอย่างป้ามาร์ชมากกว่า รวยแล้ว ไม่ต้องแต่งงานก็ได้ )
ในบทสัมภาษณ์กับ
Film Comment ผู้สัมภาษณ์กล่าวถึงข้อสังเกตว่า ภาพยนตร์ที่เกรตา เกอร์วิกเขียนบท ทั้ง
Frances Ha ,
Lady Bird จนมาถึง
Little Women ต่างเป็นเรื่องราวของความปรารถนาอย่างแรงกล้า เพียงแต่ตัวละครยังไม่รู้แน่ชัดว่าพวกเธอปรารถนาสิ่งใด ซึ่งเกรตาก็พูดถึงประเด็นนี้ได้อย่างน่าสนใจว่า
"ความปรารถนาที่เพิ่งลุกไหม้ หรือความปรารถนาที่ยังไม่ทันเป็นรูปเป็นร่าง เป็นคอนเซปต์ที่ฉันสนใจค่ะ สำหรับฉันมันคือมิติของการเป็นผู้หญิงทะเยอทะยาน เพราะในแง่ของประวัติศาสตร์มนุษยชาติแล้ว ความทะเยอทะยาน[ของผู้หญิง]นั้นมักจะลงเอยอย่างสูญเปล่า และเราเพิ่งเริ่มมีโอกาสจะพามันไปสู่จุดหมายปลายทางอื่นที่ไม่ใช่การแต่งงานเอง..." ตอนท้ายของหนังสือสี่ดรุณี โจ มาร์ช แต่งงานกับ ศาลตราจารย์เฟรดดิก เบเออร์ และหยุดเขียนหนังสือ
ชีวิตจริงของลุยซา เมย์ อัลคอตต์ เธอครองโสดตลอดชีวิต เก็บลิขสิทธิ์ไว้ และเขียนหนังสืออีกหลายเล่ม
ซึ่งข้อเท็จจริงจาก
คำพูดของอัลคอตต์เอง ปรากฏว่า เธอไม่เคยอยากเขียนให้โจแต่งงาน ตอนจบที่เธอวางไว้สำหรับโจแต่แรก คือโจเป็นโสดไปตลอดชีวิต อยู่กับงานเขียนหนังสือสำหรับเด็ก ๆ ทว่าเนื่องจากมีแฟนหนังสือหลายคนเขียนจดหมายหาเธอ อยากให้สาว ๆ บ้านมาร์ชได้แต่งงาน และแม้เธอจะไม่อยากเขียนแบบนั้น แต่สุดท้ายทางสำนักพิมพ์ก็โน้มน้าวให้เธอยอมเปลี่ยนใจจนได้ แน่นอน ส่วนหนึ่งเพราะเธอไม่อาจขัดใจเด็กสาวผู้อ่านทั้งหลาย แต่...หนังสือต้องขายได้เธอจึงจะมีรายได้ การตัดสินใจของผู้หญิงคนนี้ต้องคำนึงถึงเรื่องปากท้อง--เรื่องเงิน
อีกแล้ว
"พวกเด็กสาวเขียนจดหมายมาถามว่าสี่ดรุณีจะได้แต่งงานกับใคร ราวกับการแต่งงานเป็นจุดหมายและปลายทางเดียวของชีวิตผู้หญิงอย่างนั้นละ ฉันจะไม่เขียนให้โจแต่งกับลอรี่เพื่อเอาใจใครหรอกนะ!"
นอกจากไม่ให้โจแต่งงานกับลอรี่แล้ว อัลคอตต์ยังเขียนให้โจได้คู่ครองที่ดูไม่เข้ากันอย่างศาสตราจารย์เบเออร์ด้วย คือเป็นตัวละครที่เธอนึกเพี้ยน(อย่างจงใจ)สร้างขึ้นมาเลย และอัลคอตต์เองก็ไม่ใช่คนเดียวที่ไม่พอใจกับตอนจบในนิยายของเธอหรอก ผู้หญิงหลายคนอ่านแล้วก็ไม่ได้ชอบที่โจแต่งงานกับเขาเช่นกัน เช่นเดียวกับเกรตาซึ่งคิดหนักเรื่องบทสรุปของหนัง Little Women อยู่ตลอดเวลาที่สร้าง แต่เธอรู้ตัวมาตลอดแหละว่ายังไงตัวเองก็คงไม่ยอมจบหนังฉบับของเธอเหมือนในนิยายได้
" — เพราะลุยซาไม่เคยอยากให้เรื่องราวจบแบบนั้นค่ะ เธอคิดว่าชะตาชีวิตของโจคือ 'การครองโสดและเป็นนักเขียนหนังสือสำหรับเด็ก' ฉันเลยคิดว่าฉันไม่อาจทำหนังที่จบแบบในหนังสือได้ เหตุผลหนึ่งเพราะมันไม่ใช่สำหรับฉัน และอีกเหตุผลคือลุยซาไม่ได้ชอบมันเลย และถ้าเราสร้างตอนจบอย่างที่เธอจะชอบไม่ได้ ทั้งที่ผ่านมาแล้ว 150 ปีให้หลัง เราจะทำไปเพื่ออะไร มันเท่ากับเราไม่ได้ก้าวหน้าไปไหนเลย"
THE NEW ENDING JO DESERVES
ในช่วงท้ายของภาพยนตร์ Little Women ฉบับของเกอร์วิก เราได้เห็นศาสตราจารย์เฟรดดิก เบเออร์ มาหาโจที่บ้าน (มาทำไม lol — ในหนังสืออยู่ๆ เขาก็โผล่มาแบบนี้แหละ ทั้งที่ไม่จำเป็นด้วยซ้ำ) เราเห็นว่าสีหน้าของโจดูมีความสุขที่ได้พบเขาอีกครั้ง มองเขาด้วยสายตาที่ทำให้เอมี่และคนในครอบครัวตัดสินในทันทีว่า "เธอรักเขา!" แล้วจู่ ๆ เอมี่และทุกคนก็จัดแจงให้เธอขึ้นรถม้า ไล่ตามเขาไปท่ามกลางสายฝน และจบด้วยทั้งคู่จูบกันใต้ร่ม
"ชอบมากเลย โรแมนติกจัง!"
/ฉับ/ ภาพตัดมาที่สำนักพิมพ์ บรรณาธิการหนังสือชมเปาะกับตอนจบที่โจยอมเปลี่ยนเพื่อให้แน่ใจว่ามันจะขายได้ ตอนนั้นประโยคที่เขาพูดใส่เธอในฉากเปิดเรื่องแวบกลับเข้ามาในหัวเราทันที
"ถ้าตัวเอกเป็นผู้หญิง ตอนจบเธอต้องได้แต่งงานนะ ไม่งั้นก็ตาย เลือกเอา"
(ฉัน: บ้าเอ๊ย อยากกรี๊ดใส่หน้าตั้งแต่ต้นเรื่องแล้วตานี่น่ะ ) แนวความคิดที่ลดทอนคุณค่าผู้หญิงโสดจนถึงขนาดว่า 'ไม่แต่งงานก็ตายตอนจบ' มันควรจะตายไปได้แล้วจริง ๆ นั่นแหละ เราจึงประทับใจกับการตัดสินใจของเกรตามาก หนังของเธอออกแบบการเล่าเรื่องตอนสุดท้ายให้กำกวมอย่างมีชั้นเชิงและชาญฉลาด (เทียบง่าย ๆ ก็คล้ายการปล่อยลูกข่างหมุนแล้วตัดฉับในฉากจบ Inception ) คือแพรวพราวซ่อนเหลี่ยมเล็กน้อย ล่อหลอกให้ผู้ชมลังเลว่าฉากไหนเรื่องจริง ฉากไหนเรื่องแต่งกันแน่ — แต่สำหรับเรามันชัดเจนนะว่าโจไม่ได้แต่งงาน โจบอกกับบก.แต่แรกแล้วว่าตัวเอกหญิงในหนังสือของเธอ "ไม่ได้แต่งงานกับใครเลย" ฉากนั่งรถม้า(ที่ลอรี่ให้ยืม)ไปไล่ตามผู้ชายของโจไปจนถึงฉาก 'รักใต้ร่ม' คือตอนจบที่โจกลับไปเขียนมาใหม่ล้วน ๆ ยอมรับเถอะว่าบรรยากาศมันผิดที่ผิดทางมาก เหมือนจงใจทำล้อเลียนฉากโรแมนติกในหนังฮอลลีวูดยุคเก่าด้วยซ้ำ แม้แต่ฉากต่อจากนั้นที่ทุกคนพร้อมหน้าพร้อมตาในบริเวณโรงเรียนของโจ แล้วโจเดินผ่านเฟรดดิก เราก็ไม่คิดว่าเป็นเพราะเขาแต่งเข้ามาในครอบครัวเธออยู่ดี อาจจะแค่คงมิตรภาพเป็นเพื่อนเลยมาร่วมงาน หรือฉากนั้นก็อาจเป็นแค่ตอนจบในหนังสือของโจและมันไม่ได้เกิดขึ้นจริงเลยด้วยซ้ำ
สิ่งยืนยันคือบทสัมภาษณ์ของเกรตาที่เราแปลมาข้างต้นนั่นเอง เธอยอมให้มันจบแบบในหนังสือไม่ได้ หลังจากผ่านมา 150 ปี ไม่อย่างนั้นการดัดแปลงครั้งที่ 7 นี้ก็จะสูญเปล่ามาก ๆ โจ มาร์ชสมควรได้ใช้ชีวิตอย่างที่เธอตั้งใจไว้แต่แรก...อย่างที่อัลคอตต์อยากให้โจได้ใช้ และตัวเธอได้ใช้จริง ๆ — ไม่ใช่แต่งงาน หยุดเขียนหนังสือ เพราะคิดว่างานเขียนของเธอไม่ดีพอ อย่างที่อัลคอตต์จำใจเขียนให้โจเป็นใน Little Women
อีกข้อยืนยันหนึ่ง: เกรตาให้สัมภาษณ์กับ LA Times ไว้ชัด ๆ เลยว่า ในการฉายหนังรอบปฐมทัศน์ หลายคนก็สงสัยเรื่องตอนจบของโจนี่แหละ "ข้อโต้แย้งของฉันคือ ไม่ใช่ว่าฉันไม่อยากให้มันโรแมนติกนะคะ! ฉันไม่ได้บอกว่า 'พวกคุณเป็นอะไรกันมากไหมที่อยากได้ฉากพลอดรักจังฮึ?' เสียหน่อย ฉันก็อยากได้ค่ะ ฉันก็อยากเห็นพวกเขาจูบกัน และถึงแม้ว่าในหนังมันจะถูกวางไว้ให้เป็นภาพในนิยายเท่านั้น แต่ตอนเขาได้จูบกันฉันก็ดี๊ด๊าอะ"
สารภาพเลยว่าตอนดูน่ะ ตลอดทางตั้งแต่ศาสตราจารย์โผล่มา โจยิ้มแย้มแจ่มใส แล้วทุกคนในบ้านบอกว่าเธอรักเขาชัด ๆ เชียร์ให้ไล่ตาม นั่งรถม้าฝ่าฝน โผเข้าหา จูบกันใต้ร่ม ใจเราคือแบบ อิหลักอิเหลื่อไปหมดเลย คือเชื่อไม่ลงจริง ๆ ภาวนาตลอดทางว่าอันนี้ภาพมโนนะ...ภาพมโนแน่ ๆ พอเฉลยว่าเป็นแค่ฉากในนิยายจริง ๆ คือโคตรสบายใจ — แต่ลึก ๆ เรารู้ว่าอย่างเกรตาน่ะไม่ทำหรอก ไม่ทรยศตัวละครโจแบบนั้นหรอก ซึ่งท้ายที่สุดก็อยากยืนขึ้นปรบมือให้เลย ร้อยห้าสิบปีผ่านไป โจได้รับความยุติธรรมแล้ว
"...มีผู้หญิงยุคใหม่มากมาย(ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากนิยายสี่ดรุณี) ไม่ชอบที่ตอนจบโจแต่งงานกับศาสตราจารย์ เบเออร์ค่ะ ฉันอยากวางโครงสร้างหนังออกมาให้ฉากจบที่โจได้สัมผัสหนังสือของตัวเองและกอดมันไว้ เป็นฉากที่คนดูจะรู้สึกพอใจโดยไม่รู้ตัวมาก่อนว่าพวกเขาอยากเห็นอะไรแบบนี้ แต่พอโจได้หนังสือมา คุณจะคิดเลยว่า 'ฉันอยากเห็นแบบนี้แหละ ฉันแค่คิดไม่ถึงมาก่อน' สำหรับฉันแล้วนั่นละคือความปรารถนาที่กลายเป็นรูปเป็นร่างในที่สุด...ความปรารถนาที่ได้รับการเติมเต็ม " - เกรตาอธิบาย "ลุยซา เมย์ อัลคอตต์ ยังเขียนหนังสือภาคต่อ ๆ มาอย่าง Jo's Boys และ Little Men ซึ่งตัวละครโจเริ่มเข้าใกล้ความเป็นลุยซาจริง ๆ มากขึ้น โรงเรียนที่โจเปิด(กับศาสตราจารย์เบเออร์) รับเด็กผู้หญิงเข้าเรียน โจเริ่มกลับมาเขียนหนังสืออีกครั้ง และได้เขียนนิยายเรื่อง Little Women ฉันจึงผสานตอนจบเข้าด้วยกันเป็นแบบในหนังค่ะ"
"Perhaps writing will make them more important." - Amy March to Jo March -
Little Women ของเกรตาเปิดเรื่องด้วยฉากที่โจเข้าไปในสำนักพิมพ์อย่างเคอะเขินและพยายามขายเรื่องสั้นที่เธอเขียนเอง โดยอ้างว่าเป็นงานเขียนของ "เพื่อน" ฝากมา
"ฉันเอาประโยคมาจากหนังสือเสีย 90% ค่ะ แต่บางส่วนอย่างสำนวนของโจ ความลังเลของเธอ ความอยากเปลี่ยนงานเพื่อหาเงินให้ได้มากขึ้นอะไรแบบนั้น ฉันเข้าใจความรู้สึกเธอเป็นอย่างดี" เกรตากล่าว "นั่นอาจจะเป็นฉันเองตอนที่คุยกับประธานสตูดิโอค่ะ น่าจะเป็นฉันเลยแหละ" บทสนทนาเพื่อขออนุมัติงานสร้างหนังที่เกรตาพูดถึง สะท้อนอยู่ในบทสนทนาระหว่างเอมี่และโจตอนท้ายเรื่อง
Little Women มันคือหัวใจสำคัญที่ตอบคำถามว่าทำไมเธออยากสร้างหนังเรื่องนี้ เมื่อเอมี่ถามพี่สาวของเธอว่า ตอนนี้เธอเขียนเรื่องอะไรอยู่ โจบอกว่าเธอกำลังเขียนบางอย่าง แต่คิดว่ามันยังไม่ดีเท่าไร
"เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของพวกเราเฉย ๆ แหละ" "แล้ว?" "ใครจะสนใจเรื่องชีวิตในบ้านที่สุขปนเศร้าของพวกเรากันล่ะ มันไม่ได้สำคัญอะไรสักหน่อย"
"มันอาจดูไม่สำคัญเพราะไม่มีใครเขียนถึงก็ได้... บางทีถ้ามีคนเขียนมันอาจจะสำคัญขึ้นมา" อืม...น่าคิดนะ? ไม่มีใครเขียนถึง เพราะมันไม่สำคัญ? หรือมันไม่สำคัญ เพราะไม่มีใครเคยเขียนถึง? ทำไมเรื่องราวชีวิตของผู้หญิงไม่ว่าในหนังสือ ภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ ถึงได้มีน้อย ถูกตีกรอบและผลิตซ้ำค่านิยมที่กดทับผู้หญิงอยู่ตลอด? สิทธิเสรีภาพของผู้หญิงมันไม่สำคัญจริงหรือ? หรือเพราะใครไม่อยากให้มันสำคัญขึ้นมากันแน่? ผู้หญิงเลือกที่จะเงียบเอง หรือใครปิดปากพวกเธอไม่ให้ส่งเสียง?
ทำไมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ขนาดใหญ่ในโลกอย่างฮอลลีวูดจึงมีแต่เรื่องราวของผู้ชาย มีแต่ตัวละครหลักผู้ชายเต็มแน่น พร้อมเส้นเรื่องความสัมพันธ์ซับซ้อน ถ่ายทอดโดยนักแสดงชายที่เคมีเข้ากันเยี่ยมยอด จนเกิดวัฒนธรรมชิปตัวละครชายสองตัวด้วยกัน และตัวละครหญิงที่บางครั้งเป็นภรรยาหรือคนรักแท้ ๆ กลับถูกปล่อยเบลอไว้ข้างหลัง ผู้หญิงไม่สำคัญเองหรือ? ไม่ใช่เพราะวัฒนธรรมการเขียนบทให้ตัวละครหญิงเป็นแค่ตัวประกอบเลือนรางอยู่ในพื้นหลังของเรื่องหรอกหรือ? แล้วใครเขียนบทเหล่านั้น? ใครรับผิดชอบการนำเสนอภาพตัวละครหญิงที่ตกเข้าสเตอริโอไทป์ แบน ไร้มิติ ทำให้ความสัมพันธ์กับตัวละครหลักชายไม่น่าสนใจเท่า หรือไม่มีแม้แต่เส้นเรื่องเป็นของตัวเอง? ผู้หญิงหรือ? ผู้หญิงมีที่ยืนหรือบทบาทอำนาจในวงการภาพยนตร์มากพอจะกำหนดทิศทางของผู้หญิงด้วยกันเองขนาดนั้น?
ในประวัติศาสตร์วงการภาพยนตร์ เวทีรางวัลใหญ่ที่สุดอย่าง
Oscar (Academy Awards) ซึ่งกรรมการผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียง ได้แก่ เหล่าสมาชิกซึ่งเป็นคนทำงานในวงการภาพยนตร์แต่ละสาขา สิ่งที่น่าสนใจคือ ตั้งแต่ปี 1929 จนถึง 2019 (และกำลังจะประกาศรายชื่อผู้เข้าชิงสำหรับงานประจำปี 2020 ในวันที่ 13 มกราคม 2020 นี้) มี
ผู้กำกับหญิงเคยชนะรางวัลออสการ์ สาขาผู้กำกับเพียง 1 คน เท่านั้น คือ
แคทเธอรีน บิเกอโลว์ ในปี 2010 และภาพยนตร์ที่เธอกำกับจนได้รางวัล คือ
Hurt Locker (2008) ภาพยนตร์เกี่ยวกับหน่วยทหารท่ามกลางสงครามอิรัก ที่มีตัวละครหลักเป็นผู้ชายเต็มไปหมด (
อีกแล้ว )
— นอกจากบิเกอโลว์แล้ว 1 ใน 5 ผู้กำกับหญิงที่เคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ในสาขาผู้กำกับ ก็คือ เกรตา เกอร์วิก เมื่อปี 2018 จากภาพยนตร์ที่เธอเขียนบทและกำกับเดี่ยวเป็นเรื่องแรกอย่าง Lady Bird (2017) นี่เอง
คำถามคือทำไมคนสร้างหนังสรรเสริญเยินยอวีรกรรมของผู้ชายในการออกไปสงครามกันมากมาย? แต่ชีวิตของผู้หญิงที่อยู่เบื้องหลัง ต้องคอยทำงานบ้าน เลี้ยงดูลูก ๆ ไม่สำคัญพอให้พูดถึง? การต่อสู้ดิ้นรนเอาชีวิตในโลกใบเดียวกัน หรือไล่ตามความฝันของผู้หญิงมันมีค่าความเป็นมนุษย์น้อยกว่าจนไม่น่าได้รับการนำเสนอดี ๆ ในสเกลที่ยิ่งใหญ่เหมือนเรื่องของผู้ชายเลยหรือ? มันยังไม่ถึงเวลาเปลี่ยนความคิดเรื่องนั้นกันอีกหรือ? แล้วถ้าเราไม่เริ่มตอนนี้ จะต้องเริ่มเมื่อไร? — ต้องถามย้ำอีกครั้งเลย ว่าเรื่องราวของผู้หญิงมันไม่สำคัญเอง หรือมัน 'ถูกทำให้ดูเหมือน' ไม่สำคัญด้วยความคิดของผู้ชายกันแน่
"เรื่องที่เราเลือกจะเล่าและวิธีการเล่าของเราจะทำให้ผู้ชมเห็นเองค่ะว่าสิ่งใดสำคัญ"
เกรตาเชื่ออย่างนั้น "ฉันตั้งใจจะสร้าง 'Little Women' ฉบับนี้อย่างยิ่งใหญ่ ฉันอยากใช้ฟิล์มในการถ่ายทำ ฉันอยากได้ทีมนักแสดงและผู้ร่วมงานคุณภาพคับคั่ง ฉันอยากทุ่มเทให้มากที่สุดเพื่อป่าวประกาศว่ามันสำคัญแค่ไหน"
เพราะผู้หญิงก็มีเรื่องเล่า
และการเล่าจากมุมมองของผู้หญิงเราเอง ไม่ว่าด้วยงานเขียน งานวาด งานเพลง งานกำกับภาพยนตร์ หรืองานศิลปะแขนงใด ๆ ก็สำคัญ เรื่องราวของผู้หญิงถูกลดทอนคุณค่าในฐานะศิลปะชั้นสูงมาเนิ่นนานพอกันกับประวัติศาสตร์ของมวลมนุษย์นั่นแหละ ถ้าผู้หญิงไม่ลุกขึ้นมาเล่าเรื่องราวของตัวเองเองแล้วใครจะเล่า? ถ้าเราไม่เห็นความสำคัญของเราเองแล้วจะรอให้ใครมาเห็น? ผู้ชายหรือ? เราต่างก็รู้คำตอบอยู่แก่ใจดีจนไม่จำเป็นต้องพูดมันออกมา
ถ้าโจ มาร์ชไม่เขียนนิยายและสู้เพื่อลิขสิทธิ์ในหนังสือของเธอเองแล้วใครจะทำ?
ถ้าลุยซา เมย์ อัลคอตต์ ไม่แต่งนิยายเกี่ยวกับเสียงของความฝันในตัวเธอเอง แล้วใครจะเขียน?
ถ้าเกรตา เกอร์วิก ไม่สู้เพื่อโอกาสในการสร้างภาพยนตร์ Little Women ให้ยิ่งใหญ่อย่างที่เธอต้องการ แล้วเธอจะได้เห็นมันบอกเล่าเรื่องราวของฮีโร่หญิงในใจเธออย่างโจและอัลคอตต์ได้ยังไง?
เพราะผู้หญิงมีเรื่องมากมายจะเล่า
และบางทีมันอาจเป็นแค่เรื่องราวสั้น ๆ
ว่าสิ่งที่พวกเธอใฝ่ฝัน, ก็สำคัญเหมือนกัน.
______________________________________________
Credit : คำพูดต่าง ๆ จากเกรตา/อัลคอตต์ สามารถตามไปอ่านฉบับเต็มภาษาอังกฤษได้จากบทความตามที่ link ไว้ ในแต่ละช่วงเลยค่ะ แต่ส่วนใหญ่แล้วมันจะ link ไปที่บทสัมภาษณ์ของ Film Comment ซึ่งยาวมาก(รัวแป้น ก.ไก่สิบบรรทัด) รายละเอียดเยอะกว่าที่เราหยิบมาแปลและเรียบเรียงตามประเด็นที่เราลำดับไว้ในบทความนี้ ถ้าใครสนใจแนวคิดเบื้องหลังการเขียนบทและสร้างภาพยนตร์ Little Women ของเกรตา เกอร์วิก แนะนำให้ไปอ่านฉบับเต็มค่ะ ! :
https://www.filmcomment.com/article/lifes-work/ (แต่มันจะเป็นการคุยไปเรื่อย ๆ แบบ Interview นะ)
อยากดูตอนเป็นภาพยนต์มาก
ตอนอ่านก็คิดว่าจะอ่านจบมั้ยนะ
พออ่านจริงๆมันละมุนละไมมากค่ะ
ฟีลกู๊ดเลยอ่ะ