เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
กระเตงติด กลุ่มไม้ขีดไฟOey Bharada
ผู้นำชุมชน เยาวชนคนสร้างชาติ
  • โครงการพลังรุ่นใหม่  พลังเสริมสร้างสุขภาวะ  งานนี้เป็นงานต่อเนื่องจากเมื่อต้นปีก่อนที่ฉันจะมาฝึกงานที่กลุ่มไม้ขีดไฟ  เป็นค่ายที่ให้เด็กและเยาวชนจากทั่วทุกจังหวัดในประเทศมาร่วมกันออกไอเดียคิดโครงการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขึ้นมากลุ่มละหนึ่งโครงการ  จะเป็นโครงการอะไรก็ได้ที่เขาอยากทำ  เราจะมีงบประมาณให้โดยได้รับการสนับสนุนจาก สสส.(สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ)  เพื่อส่งเสริมให้เด็กได้ลองคิดและทำสิ่งดี ๆ เพื่อสังคม  สร้างความเป็นผู้นำให้กับเด็กและเยาวชน  ผู้เข้าร่วมโครงการของเราจะมีอายุตั้งแต่ 8-23 ปี (หรือประถมศึกษาปีที่2 - ระดับชั้นปริญญาตรีเลยทีเดียว)  หัวใจสำคัญของโครงการนี้เพื่อให้เด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ  ได้คิด  ได้ลงมือทำด้วยตัวเอง  เมื่อเจอปัญหาอุปสรรค์เด็ก ๆ จึงได้เติบโตจากประสบการณ์ของตัวเองและเมื่อเขาทำโครงการนี้จนสำเร็จ  เขาจะภูมิใจในตนเองเป็นอย่างมาก

    ส่วนค่ายครั้งนี้ที่ฉันได้มีโอกาสมาเป็นสต๊าฟด้วยเป็นค่ายรวมพลปลายทางโครงการพลังรุ่นใหม่  พลังเสริมสร้างสุขภาวะ  เป็นช่วงสรุปโครงการตลอดโครงการที่ผ่านมาเป็นอย่างไร  และเด็ก ๆ ได้อะไรบ้าง
    ขั้นแรกให้ทุกคนนึกย้อนกลับไปก่อนว่าโครงการของแต่ละคนทำอะไรบ้าง  โดยเล่าออกมาเป็นภาพสี่ภาพ  เป็นการฝึกให้ลองสื่อสารโดยไม่ต้องใช้คำพูดหรือคำอธิบายตรง ๆ แต่ลองใช้จินตนาการ  สื่อสารออกมากเป็นรูปธรรม
    เสร็จแล้วเราจึงค่อย ๆ มาถอดบทเรียนสิ่งที่เราได้จากการทำโครงการของแต่ละคน  จากโครงการที่ได้ทำนี้กราฟความสุขเป็นอย่างไร  ช่วงเริ่มต้นโครงการ  ช่วงระหว่างการทำโครงการ  และหลังจากทำโครงการเสร็จแล้ว  ซึ่งกราฟที่เราพบก็จะเจออยู่สองรูปแบบคือ 1)กราฟช่วงต้นต่ำสุด  ช่วงระหว่างโครงการค่อย ๆ สูงขึ้นและตอนจบโครงการสูงที่สุด  2)กราฟช่วงต้นอยู่ระดับกลาง ๆ ช่วงระหว่างโครงการต่ำ และตอนจบโครงการกลับมาสูงที่สุด  เมื่อทุกคนเขียนกราฟเสร็จเราจะให้จับกลุ่มสองถึงสามคนแชร์กราฟของตนเองให้เพื่อนในกลุ่มฟังว่าเป็นอย่างไร  เพราะอะไร  คนที่รูปแบบกราฟเป็นประเภทที่หนึ่งจะเหมือนกันคือตอนแรกยังคิดอะไรไม่ค่อยออก  ยังไม่เห็นภาพแต่พอได้ทำไปเรื่อย ๆ ก็เข้าใจมากขึ้น  และมีความสุขกับสิ่งที่ทำมากขึ้น  ส่วนคนที่เป็นรูปแบบกราฟประเภทที่สองจะมีน้อยกว่า  ในตอนแรกที่กราฟอยู่กระดับกลางเพราะว่าตอนเริ่มต้นโครงการมีไฟมาก  อยากจะทำโครงการที่ตนเองวาดฝันไว้ให้สำเร็จ  แต่พอเริ่มทำไปได้สักระยะปัญหาต่าง ๆ ก็เริ่มเข้ามา  เป็นปัญหาที่คาดไม่ถึง  จึงทำให้เกิดความทุกข์  แต่ในตอนสุดท้ายก็สามารถฝ่าฟันปัญหาต่าง ๆ เหล่านั้นมาได้  และทำได้สำเร็จในที่สุด  แต่ละคนเมื่อได้แชร์ประสบการณ์ของตนเอง  ได้แลกเปลี่ยนกับคนอื่น ๆ ทำให้เขามองเห็นการเรียนรู้  มีประสบการณ์ชีวิตมากขึ้น
    กิจกรรมถอดบทเรียนอีกกิจกรรมหนึ่งก็คือ  ถาดพิซซ่า  ในพิซซ่าหนึ่งถาดเราเปรียบเป็นหนึ่งกลุ่ม  แต่ละกลุ่มก็จะมีจำนวนชิ้นพิซซ่าตามจำนวนโครงการย่อยที่ได้ทำ  จากนั้นให้แต่ละคนหาสัญลักษณ์ของตนเองหนึ่งรูปวาดลงไปบนพิซซ่าแต่ละชิ้น  ถ้าเราคิดว่าในโครงการนี้เรามีส่วนร่วมเยอะมาก  เป็นแกนหลักในการทำโครงการ  ก็ให้วาดสัญลักษณ์ของตนเองไว้ใกล้กับจุดศูนย์กลางของถาด  แต่ถ้าคิดว่าตัวเองมีส่วนร่วมน้อย  ไม่ค่อยได้ช่วยก็ให้วาดสัญลักษณ์ของตนเองห่างออกมาจากแกนกลาง  พร้อมเขียนเหตุผลว่าทำไม่ถึงได้ทำเยอะ  ทำไมถึงได้ทำน้อย  กิจกรรมนี้เพื่อให้เด็กทบทวนตนเองว่ามีส่วนร่วมในการเข้าร่วมโครงการมากแค่ไหน  แล้วสาเหตุอะไรที่ทำให้เราไม่ได้มีส่วนร่วมมากซึ่งจะเชื่อมโยงกับกราฟความสุขของกิจกรรมก่อนหน้านี้  เด็กบางคนเป็นเด็กในชุมชน  พึ่งได้เข้ามาทำโครงการตอนช่วงกลาง ๆ ของโครงการแล้ว  หรือ  เด็กบางคนก็ติดเรียน  ติดเล่นจึงไม่ได้มาทำมาก  แต่ละคนมีเหตุผลแตกต่างกันไป (ทางเราจะต้องประเมินว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จหรือไม่  และควรมีต่อไปมั้ย)
    อีกกิจกรรมหนึ่งซึ่งเป็นไฮไลท์ก่อนจบโครงการคือกิจกรรมวงกลม 6 ขั้น  โดยจะให้ผู้เข้าร่วมโครงการช่วยกันคิดว่าสิ่งที่ตนเองทำนั้นส่งผลอย่างไรบ้างเป็นลำดับขั้นต่อเนื่องกันไป  

    ขั้นที่ 1 ต่อตนเอง

    ขั้นที่ 2 ต่อโรงเรียน

    ขั้นที่ 3 ต่อชุมชน

    ขั้นที่ 4 ต่อจังหวัด

    ขั้นที่ 5 ต่อประเทศ

    ขั้นที่ 6 ต่อโลก

    กิจกรรมนี้ทำให้เห็นว่าสิ่งที่เราทำอาจเป็นแค่โครงการเล็ก ๆ ในชุมชน  แต่จริง ๆ แล้วกลับส่งผลต่อผู้อื่น ต่อประเทศชาติได้เลยทีเดียว  ทุกอย่างเชื่อมโยงกันเป็นลูกโซ่เหมือนกับทฤษฎีผีเสื้อขยับปีก (Butterfly Effect) ของ Edward N. Lorenz  เขาเป็นนักคณิตศาสตร์และนักอุตุนิยมวิทยา  เขาค้นพบทฤษฎีนี้จากการคำนวนข้อมูลพยากรณ์อากาศ  ซึ่งเขาจะต้องกรอกตัวเลขใหม่ทุกครั้งเมื่อต้องการดูข้อมูลซ้ำ  เขาจึงลองใส่ตัวเลขที่บันทึกไว้โดยตัดเศษทศนิยมให้เหลือเพียงตัวเลขสั้น ๆ จาก 0.506127 เป็น 0.506  ผลปรากฏว่าสภาพอากาศที่ออกมาครั้งแรกกับครั้งที่สองมีความเเตกต่างกันสูงมาก  ทำให้พบว่าตัวเลขที่ผิดเพี้ยนไปแม้เพียงเล็กน้อยแต่ก็สามารถส่งผลกระทบใหญ่หลวงได้เหมือกับแรงกระพือปีกของผีเสื้อก็อาจส่งผลให้เกิดพายุธอร์นาโดได้เลยทีเดียว (พี่มิ้นท์ : dek-d)

    หลังจากจบค่ายนี้  หลายคนได้บทเรียน  หลายคนได้ฝึกประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับผู้อื่น  และที่สำคัญคือความภาคภูมิใจในผลงานของตนเองกลับบ้านไป

    แหล่งข้อมูล https://www.dek-d.com/education/34159/

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in