อาจารย์ประวัติศาสตร์ท่านหนึ่งได้กล่าวถึงคนที่เรียนประวัติศาสตร์ว่าเป็น "นักเรียนประวัติศาสตร์"
เพราะว่าสำหรับวิชาประวัติศาาสตร์ที่มีเนื้อหาความรู้มากมายแล้ว เราต่างก็เป็นเพียงนักเรียน
ที่ไม่มีวันสิ้นสุด
สำหรับการเรียนทางประวัติศาสตร์ของฉันในระดับปริญญาโท ซึ่งไม่รู้ว่าจะเอาไปทำมาหากินได้
นอกจากจะได้ทำวิทยานิพนธ์เล่มหนึ่งเพื่อเป็นเงื่อนไขการจบการศึกษา ถ้าหากวิทยานิพนธ์ที่ทำ
มีความน่าสนใจก็จะมีคนอ่านและได้รับการเผยแพร่พิมพ์เป็นหนังสือเล่มต่อไป นี่คงอาจเป็นเพียง
เป้าหมายสูงสุดแล้วที่คนเรียนประวัติศาสตร์ในระดับปริญญาโทจะบรรลุถึง ต่อจากนั้นก็แล้วแต่
เรี่ยวแรงความสนใจของตนที่จะบันดาลงานเขียนทางประวัติศาสตร์ออกมาต่อไป
แม้ว่าการเรียนประวัติศาสตร์ในระดับสูงกว่าปริญญาตรี จะเน้นไปที่การทำงานทางประวัติศาสตร์
อย่างที่เขาเรียกกันว่าการวิจัยทางประวัติศาสตร์ ซึ่งมีความแตกต่างจากการเรียนในระดับ
ปริญญาตรีที่มีลักษณะการปูพื้นฐานทางความรู้วิชาประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นวิชาการอ่านเอกสาร
วิชาประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสตร์ยุโรป ประวัติศาสตร์อินเดีย ประวัติศาสตร์จีน ประวัติศาสตร์
ท้องถิ่น ประวัติศาสตร์สังคมไทย ประวัติศาสตร์ความคิด ฯลฯ
ในส่วนวิชาปริญญาโทแล้ว เราจะคุ้นกับชื่อวิชาที่ขึ้นต้นด้วยสัมมนาทั้งหลาย ไม่ว่า สัมมนาประวัติศาสตร์นิพนธ์ สัมมนาประวัติศาสตร์ไทย สัมมนาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ฯลฯ
ความแตกต่างกันที่เห็นได้ชัดของการเรียนประวัติศาสตร์ในระดับที่สูงขึ้นคือ
การมองเห็นปัญหาทางประวัติศาสตร์ กล่าวคือ เป็นปัญหาในการอธิบายในประเด็นใดประเด็นหนึ่ง
ที่เรายังคิดว่าสมควรที่จะต้องหาวิธีการในการอธิบายใหม่ เพื่อแก้ไขความเข้าใจชุดนั้น
โดยปัญหาทางประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเสนอไม่จบไม่สิ้น มิเช่นนั้นแล้ว
เราจะไม่อาจตั้งคำถามทางประวัติศาสตร์ขึ้นมาได้ วิธีการนี้จริงๆก็สามารถเอาไป
ประยุกต์ใช้สอนในโรงเรียนชั้นประถมและมัธยมได้ แต่กลับเป็นว่าการยึดถือแต่ชุดความรู้เดียว
จากตำราเรียนนั่นแหละเป็นการบั่นทอนการเรียนประวัติศาสตร์อย่างมาก เพราะว่า
ในทางประวัติศาสตร์แล้ว ความรู้ทั้งหมดสามารถถูกตั้งคำถามได้เสมอ
ในทางประวัติศาสตร์ไทยแล้ว เรื่องราวที่ยึดถือกันจนเป็นความเชื่อต่างหากที่ควรจะถูก
ตั้งคำถาม มิใช่ว่าจะเป็นการลบหลู่ดูหมิ่น แต่เป็นการแสวงหาข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์
เพื่อคืนความเป็นมนุษย์ที่ครั้งหนึ่งเคยโลดแล่นอยู่ในช่วงเวลานั้นๆ ให้เป็นสิ่งที่สามารถ
กล่าวถึงได้ในหลายแง่มุม ่ตรงนี้จึงนับว่าเป็นความรุ่มรวยทางการศึกษาประวัติศาสตร์
หากปราศจากสิ่งนี้แล้ว วิชาประวัติศาสตร์ก็จะแห้งแล้งเหลือเกินอย่างในตำราเรียน
ประวัติศาสตร์ในโรงเรียน
ตอนต่อไป เราอยากจะเล่าถึงการผจญภัยบนเส้นทางการเรียนประวัติศาสตร์ถึงหัวข้อที่
อยากจะทำ การเขียนนี้ก็เป็นเสมือนกับการพูดคุยกับตัวเอง และอยากจะสร้างบทสนทนา
กับคนอื่นๆด้วย เพื่อว่าการเดินทางของเราจะได้ไม่โดดเดี่ยวเกินไป
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in