สวัสดีค่ะ วันนี้เราจะมารีวิวหนังสือที่เพิ่งอ่านจบไปหมาด ๆ หลังจากห่างหายไปนานจากการอ่านผลงานของปราปต์ (ผู้เขียนนิยายเรื่องนี้) เราก็ได้ฤกษ์กลับมาอ่านอีกครั้งโดยเล่มที่เลือกก็คือ ลิงพาดกลอน
เราตัดสินใจเลือกเล่มนี้เพราะเป็นนิยายแนวสืบสวนที่ดูแหวกแนวดีคือมีการนำโทษประหาร 21 ประการจากกฎหมายตราสามดวงมาผูกกับเรื่อง อ่านไปเรื่อย ๆ ก็รู้เลยว่าการใช้โทษประหาร 21 ประการมาดำเนินสอดแทรกไปในเรื่
ที่น่าสนใจที่สุดคือเนื้อเรื่องต่างหาก
ไตรตรึงษ์ ตำรวจหนุ่มผู้มีฐานะได้ทราบข่าวจากเพื่อนรุ่นน้องที่รู้จักตั้งแต่ยังเด็กว่าพี่ชายของเธอ ซึ่งมีสถานะเป็นเพื่อนสนิทของไตรตรึงษ์หรือก็คือ ไอ้โคร่ง ถูกฆ่าตาย ไตรตรึงษ์รีบกลับไปยังบ้านเกิดของตนที่ภาคใต้ก่อนจะถลำลงไปในการไขปริศนาการฆาตกรรมของไอ้โคร่งและศพอื่นๆ ที่ถูกฆ่าโดยการใช้โทษประหาร 21 ประการจากกฎหมายตราสามดวงของไทย
...
ถ้าใครเคยอ่านนิยายของปราปต์น่าจะรู้สึกได้เหมือนเราว่าปราปต์ใช้ภาษาได้สวย อีกทั้งยังมีคลังคำศัพท์เยอะมาก บางคำเรายังไม่เคยได้ยินเลย555 (เช่น พิพักพิพ่วน แปลประมาณว่ากระอักกระอ่วน) ถึงอย่างนั้นในก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการอ่าน เราจะเดาได้เองว่าแปลว่าอะไร
นอกจากนี้ปราปต์ยังคงบรรยายเรื่องได้ลื่นไหลเหมือนเดิมและอาจจะด้วยคลังคำศัพท์ของเขาที่เยอะ มันเลยทำให้เขาสามารถบรรยายรายละเอียดของสิ่งต่าง ๆ ได้ดี ทำให้ผู้อ่านสามารถจินตนาการภาพตามได้ง่ายขึ้น
สำหรับการดำเนินเรื่อง ส่วนตัวเราว่ามันไม่ได้เร็วเกินไปหรือช้าไป เราว่าไทม์ไลน์ของเหตุการณ์ต่าง ๆที่เกิดขึ้นก็สมเหตุสมผลอยู่ แถมถ้าใครกลัวลืมไทม์ไลน์เหตุการณ์ ปราปต์ก็ใจดีมีตารางไทม์ไลน์มาให้ด้วย อีกอย่างนึงคือสำหรับฉากไหนที่ต้องมีรายละเอียดที่บรรยายไปอาจจะไม่เห็นภาพเช่นคำใบ้บางอย่าง ในเล่มนี้ก็จะมีภาพประกอบให้เช่นกัน
ตอนเราเลือกเล่มนี้มาอ่าน ต้องยอมรับเลยว่าไม่ได้หวังอะไรมากมาย คิดว่าคงแนว ๆ กาหลมหรทึกที่จะเป็นสืบสวนแล้วก็มีเรื่องแรงจูงใจของตัวละครที่เข้มข้น แต่สำหรับลิงพาดกลอนแล้วนอกจากจะเป็นเรื่องคล้าย ๆ กาหลมหรทึกที่มีเบื้องหลังตัวละครที่น่าสนใจอย่างยิ่ง แต่ที่ต่างและทำให้เราประทับใจมากคือมีการผูกปัญหาสังคมลงไปด้วย...ปัญหาสังคมที่เริ่มจากระดับเล็ก ๆ จนลามไปใหญ่โต แน่นอนว่ามันส่งผลต่อจิตใจรวมทั้งชีวิตของตัวละครในนิยายและตัวละครในโลกแห่งความเป็นจริงด้วย จนสุดท้ายเขาจึงลุกขึ้นมาสร้างความยุติธรรมและความชอบธรรมให้ตัวเอง
ก็ในเมื่อสังคมให้ความยุติธรรมกับเขาไม่ได้ เขาก็จะสร้างความยุติธรรมขึ้นมาโดยตัวเขาเอง...
การแบ่งแยกว่าเธอไม่เหมือนฉันไม่ว่าจะด้านรูปร่าง ศาสนา เชื้อชาติ ในกลุ่มคนกลุ่มเดียว ดูเหมือนจะจบแค่นั้น
แต่ไม่
ความเกลียดชังเพียงเล็กน้อยเปรียบเสมือนไฟที่แม้เริ่มไหม้เพียงจุดเล็กๆ แต่ถ้ามีเชื้อไฟมาก มันยิ่งจะลามไปได้เร็วขึ้นและเป็นวงกว้างมากขึ้น
ความเกลียดชังสร้างได้อย่างง่ายดาย ยิ่งเป็นการสร้างโดยผู้มีอำนาจ เชื้อไฟย่อมเร่งให้ไฟลามไปเร็วขึ้น
จากเรื่องลิงพาดกลอน ชาวรากษะซึ่งเป็นชาติพันธุ์เล็ก ๆ ในมาตุภูมิที่ตนอาศัยถูกรัฐขับไล่ ถูกปฏิบัติอย่างไม่ใช่คนเพียงเพราะเป็นคนต่างศาสนา ต่างเชื้อชาติ
แค่คนในมาตุภูมิทำกับชาวรากษะก็แย่มากเกินพอแล้ว แต่ระหว่างการหลบหนีจนถึงการหนีมาอยู่ที่ภาคใต้ของไทยอันเป็นสถานที่หลักของเรื่อง ชาวรากษะยังถูกปฏิบัติอย่างเลวร้ายกว่าเดิม (เหตุการณ์ฟังดูคุ้นไหมคะ ถ้าคุ้นก็ใช่ค่ะ มีเคสแบบนี้เกิดขึ้นจริงมากมายบนโลกของเรา รวมถึงสังคมไทยด้วย)
โดยปกติคนเราชี้ถูกผิดต่อสถานการณ์ต่างๆ ได้เสมอ แต่จริง ๆ แล้ว อะไรคือถูกอะไรคือผิด หรือเป็นถูกผิดจากมุมมองของใครกัน
ตัวละคนจากลิงพาดกลอนสะท้อนว่าทุกคนมีเหตุผลเป็นของตัวเองและจากสิ่งที่เขาประสบมาตลอดชีวิตมันอาจจะทำให้บางคนยังมั่นคง เชื่อมั่นในความยุติธรรม แต่กับบางคน เหตุการณ์ที่เขาเจอมันทำให้เขารู้สึกว่าโลกช่างผลักไสเขาเหลือเกิน
ทำดีไปเท่าไหร่ พยายามมากสักแค่ไหนเพื่อตัวเองและครอบครัว แต่ไหนล่ะคือความยุติธรรมหรือความถูกต้องที่เขาควรได้รับ ดังนั้นมันจึงไม่ยากเลยที่จะทำให้คนบางคนเปลี่ยนตัวตนของเขาไปอย่างสิ้นเชิง..
สิ่งหนึ่งที่เราเห็นได้จากเรื่องนี้อันเป็นต้นเหตุของปัญหาทั้งหมดคือ ระบบสังคม
เป็นความจรืงที่ถ้าจะแก้ต้องแก้ที่ระบบ เพราะถ้ารากฐานไม่ดีแล้วจะเอาอะไรมาดีล่ะ และสิ่งที่ทำให้เรากลับมาคิดคือ ด้วยสังคมที่บิดเบี้ยว ระบบสังคมที่แย่ขนาดนี้ ย่อมทำให้คนบิดเบี้ยวตามไปด้วย แน่นอนว่าทุกคนอยากเป็นคนดี แต่ถ้าสังคมมันทำร้ายเราขนาดนี้ถึงตอนนั้นเราจะสูญเสียตัวตนและความหวังของเราไหมนะ...
อีกอย่างที่เห็นได้ชัดและเรารู้สึกว่าจริงคือ สังคมเรานอกจากเรื่องชนชั้นแล้ว สังคมไทย (รวมถึงสังคมอื่น ๆ บนโลก) สามารถแบ่งคนได้เป็นสองกลุ่มคือกลุ่มผู้เลือกกับกลุ่มที่ถูกเลือก-- อีกนัยหนึ่งคือเลือกไม่ได้จนถึงไม่มีสิทธิ์ที่จะเลือก
คนที่เป็นผู้เลือกมาตลอด บางคนอาจจะไม่เข้าใจคนที่เป็นผู้ถูกเลือกหรือผู้ไม่มีสิทธิ์เลือก กลุ่มที่เลือกได้มีโอกาสมากมายหลายทาง หากล้มก็สามารถลุกขึ้นมาเลือกทางอื่น ๆ ได้อีก แต่กับบางคน เช่น ไอ้โคร่ง อรชุน จันอับ (ขอยกตัวอย่างแค่นี้) เขาไม่ได้เกิดมาเป็นผู้เลือก หรือถ้าเลือกได้ ทางของพวกเขาก็น้อยเหลือเกิน เมื่อตัวเลือกน้อยขนาดที่เหลือเพียงทางเดียว จึงทำให้พวกเขาไม่อาจมีสิทธิ์เลือกทางอื่นได้
ถึงสุดท้ายคนที่เป็นฝ่ายเลือกจะไม่ได้มีแต่ข้อได้เปรียบเสมอไป แต่แค่มีทางเลือกมากมาย นั่นก็เป็นใบเบิกทางสู่โอกาสต่าง ๆ แล้ว ดังนั้นเราว่ามันจะดีมากนะคะ ถ้าผู้มีสิทธิ์เลือกจะตระหนักถึงข้อได้เปรียบที่ตัวเองมีและใช้มันในทางที่ถูกต้อง
(ถ้าใครอ่านจะสัมผัสได้ถึงความแตกต่างของผู้เป็นฝ่ายเลือกอย่างไตรตรึงษ์และพี่วราห์ สองคนนี้เป็นผู้เลือกมาตลอด แต่การเลือกนั้นต่างกันอย่างมาก)
นอกจากนี้เรื่องประสิทธิภาพของการใช้กฎหมายค่อนข้างทำให้เราอิน แม่งโคตรจริงเลยที่กฎหมายเอื้อมไม่ถึงคนชนชั้นบน ในเรื่องนี้คือเห็นได้ชัดมาก ขนาดค้ามนุษย์ที่เป็นสิ่งที่ผิดมากๆๆ ระดับสากลด้วยซ้ำเพราะเป็นการลดคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คนที่มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องนี้ซึ่งเป็นพวกตำแหน่งใหญ่ ๆ กลับไม่รู้สึกรู้สาอะไร เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ไม่มีใครสาวไปถึงได้...อ่านแล้วรู้สึกหดหู่และเจ็บใจนะคะ
...
สำหรับความประทับใจของเรา เราประทับใจฉากที่หมวดตรึงใจ เอ๊ย! ไตรตรึงษ์คุยกับจันอับ เสือโคร่งคุยกับสารวัตพรตในโกดัง บทที่24 และบทสุดท้ายหรือบทที่25 นั่นเอง ขอไม่พูดถึงเนื้อหาในบทดังกล่าวนะ เพราะถ้าพูดมันจะเฉลยมากเกินไป แต่ขอบอกเลยว่าทุกอย่างในเรื่องเชื่อมโยงกันแถมยังทำเราขนลุกมากด้วยในบางฉาก (
แล้วเราก็ชอบมากที่เวลามีบทเครียด ๆ ติดกันปราปต์จะใส่ความน่ารักและทะเล้นของไตรตรึงษ์และไอ้โคร่งเพื่อให้คนอ่านรีเฟรชสมองพร้อมเข้าสู่เรื่องหนักต่อไป
อันนี้เราอาจจะอินหน่อยเพราะเราอ่านกาหลมหรทึกมาก่อน ถ้าคิดว่า #แชนกบี่ ทำเราอมยิ้มแล้ว
#โคร่งไตร ทำให้เราหลุดกรี๊ดเลย555
สุดท้ายขอทิ้งท้ายไว้นิดนึงว่า สำหรับเรา ความเห็นอกเห็นใจและการมองคนให้เป็นคนเพราะทุกคนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มันเป็นสิ่งที่สำคัญนะ
และขอเพิ่มเติมว่า ส่วนตัว เราคิดว่าฆาตกรที่ฆ่าคนในเรื่องทำไม่ถูก แต่นิยายเรื่องนี้ก็หยอดทั้งคำถามและข้อเท็จจริงที่ค่อนข้าง emotional
...
จบแล้วสำหรับรีวิวนะคะ สามารถติชมและแลกเปลี่ยนความเห็นกันได้นะคะ
ป.ล. ตั้งตารอ ลิงพาดกลอน2 มากๆ ค่ะ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in