เก็บสะสมเทปและซีดีของหินเหล็กไฟไว้หลายชุด รวมทั้งงานรีมาสเตอร์ (หรือเปล่า?) 15 ปีหินเหล็กไฟ - The Legend of SMF
แต่พอเปิดปกซีดีดูเกิดสงสัยขึ้นมารำไร อาร์เอสทำกับวงดนตรีที่บอกว่าเป็นตำนานแบบนี้หรือ
สารภาพตามตรงว่าส่วนหนึ่งชอบซื้อซีดีเพราะการออกแบบปก แต่พอเปิดปกออกมาเป็นแบบสามพับ ด้านในมีเนื้อเพลงให้อ่าน
เฮ้ย ไม่มีเครดิตคนทำงานเลย!
พลิกซ้าย ตะแคงขวา หรี่ตาก็แล้ว ไม่เห็นชื่อคนทำงาน โปรดิวเซอร์ ซาวนด์เอนจิเนียร์ สถานที่บันทึกเสียง ไม่มีแม้แต่แนะนำว่าสมาชิกวงหินเหล็กไฟคือใครเล่นตำแหน่งอะไร
ทำกับคนที่คุณเรียกว่า “ตำนาน” แบบนี้นะหรืออาร์เอส? ช่างเป็นการทำอาร์ตเวิร์คที่ไม่ให้เกียรติคนทำงานเลยแม้แต่น้อย ทุเรศมากถึงมากที่สุด
หินเหล็กไฟเป็นตำนานแน่นอน ทุกวันนี้ถ้านึกถึงวงร็อกของไทยที่ทำงานออกมาได้ยอดเยี่ยม ก็คงมีชื่อวงหินเหล็กไฟรวมอยู่ด้วยแน่นอน
ปฐมพงศ์ สมบัติพิบูลย์และณรงค์ ศิริสารสุนทร อดีตนักร้องนำและมือเบสวงดิโอฬารโปรเจ็คท์ตกลงปลงใจจะมาตั้งวงใหม่ด้วยกัน ร่วมด้วย นำพล รักษาพงษ์ มือกีตาร์เพื่อนเก่าของปฐมพงศ์ที่สร้างสมประสบการณ์ตามผับมายาวนาน คู่กับจักรรินทร์ ดวงมณีรัตนชัย มือกีตาร์รุ่นใหม่ไฟแรง โดยมีสมาน ยวนเพ็ มือกลองรุ่นเก๋าจากยุคแคมป์จีไอสมัยสงครามเวียดนามมาเป็นมือกลองของวง ใช้ชื่อวงเป็นภาษาไทยว่าหินเหล็กไฟจากการตั้งชื่อของทิวา สาระจูฑะ บรรณาธิการนิตยสารสีสัน โดยให้นิยามดนตรีว่า แข็งปานหินผา แกร่งดังเหล็กกล้า เร่าร้อนดังไฟ
อัลบั้มแรกของหินเหล็กไฟวางจากหน่ายเมื่อปีพ.ศ. 2536 ช่วงเวลานั้นเป็นขาขึ้นของดนตรีร็อกหลากหลายสายพันธุ์ ค่อนข้างแปลกใจอยู่บ้าง (ในฐานะคนที่ฟังร็อกและเมทัลเป็นหลัก) นั่นคือพวกเขาเปิดอัลบั้มด้วยเพลงช้า “ยอม” แถมยังตามด้วยเพลงช้าอีกเพลงคือ “เพื่อเธอ” เพราะเท่าที่เคยฟังอัลบั้มในสายร็อก/เมทัล ส่วนใหญ่มักจะขึ้นต้นอัลบั้มด้วยความหนักแน่น เร้าใจ น่าจะเป็นเหตุผลด้านการตลาดที่ต้องการโปรโมทเพลงก็เป็นได้ สมัยนั้นมีคำว่า เพลงหัวม้วน หมายถึงเพลงที่อยู่เพลงแรกของอัลบั้มจะเป็นเพลงโปรโมทให้เป็นจุดขาย ซึ่งคงจะคิดกันว่าขายเพลงช้ามันง่ายกว่าขายเพลงแรง เลยเอาเพลงช้ามาขึ้นเป็นสองเพลงแรกของอัลบั้ม
ไม่ชอบการเรียงเพลงในงานชุดนี้เอาเสียเลย มันทำให้อารมณ์สะดุด อย่างไรก็ตามต้องบอกว่าลีลาการทำเพลงบัลลาดของหินเหล็กไฟออกมายอดเยี่ยม ทั้งการเขียนเนื้อเพลงและการทำดนตรีที่ละเอียดมีลูกเล่น จักรรินทร์วางทางกีตาร์ไว้สวยงาม ส่วนทำนองเพลงใน “เพื่อเธอ” การร้องที่ดูเหมือนจะยืดเล็กน้อยในท่อนเมโลดีทำให้รู้สึกอึดอัดในบางครั้ง แต่การวางเสียงประสานของพวกเขาทำออกมาได้ยอดเยี่ยมสมกับที่แฟนเพลงคาดหวัง
พวกเขาสร้างจุดเด่นที่เสียงร้องของปฐมพงศ์ที่หนักแน่นทรงพลังหาคนเทียบยาก และใช้กีตาร์คู่ของนำพลกับจักรรินทร์ทำหน้าที่เป็นทัพหน้าเรียกศรัทธาจากแฟนเพลง โดยนำพลจะทำหน้าที่เป็นมือริธึม ส่วนจักรรินทร์วาดลวดลายโซโลพลิ้วไหวงดงาม
หลังจากเพลงช้าผ่านไปสองเพลง หินเหล็กไฟก็ส่งเพลงจังหวะชวนโยก “นางแมว” ออกมาทักทายแฟนเพลงและเพลงนี้กลายเป็นฮิตที่แฟนเพลงชื่นชอบตลอดกาลด้วยท่อนริฟฟ์ติดหูชวนโยก เนื้อหาไม่ซีเรียส ทำให้หินเหล็กไฟกลายเป็นชื่อติดปากคนฟังเพลงทั่วไป
แล้วก็กลับมาเป็นเพลงช้าอีก! (ขอบ่นอีกครั้งเรื่องการเรียงลำดับเพลงในงานชุดนี้ไม่ดีเอาเสียเลย) เพลง “ความหวัง” เพลงช้าสไตล์หินเหล็กไฟ เนื้อหาเด่น ดนตรีเยี่ยม จากนั้นก็แก้เลี่ยนกันด้วยเพลงที่มีจังหวะพอสมควรใน “ก่อนจะสาย” ที่ได้เสียงยืนยง โอภากุลมาพูดเกริ่นนำเข้าเพลงแล้วดนตรีหนักแน่นและท่อนริฟฟ์ติดหูก็เข้ามากระแทกโสตประสาท แบบนี้สิถึงจะสาแก่ใจคนพันธุ์ร็อก
ฝีไม้ลายมือของสมาชิกแต่ละคนเป็นจุดขายหลักของหินเหล็กไฟที่ยังหาคนมาเทียบได้ยาก (แต่โดยส่วนตัวไม่ค่อยประทับใจการตีกลองของสมานเท่าไหร่ คือฝีมือดีแต่ลูกเล่นออกจะเรียบไปนิดหน่อย ความหนักแน่นและแม่นยำในเรื่องจังหวะก็คงต้องยกให้ว่าไม่เป็นรองใคร แถมตีกลองสดในสตูดิโอ ซึ่งหาวงดนตรีในสมัยนั้นแทบจะมีไม่กี่วงที่ใช้มือกลองตีสดจริง
เพลงที่นำเสนอความแรงแบบเมทัลอย่าง “สู้” และ “ร็อกเกอร์” แสดงทักษะเฉพาะตัวด้วยไลน์ดนตรีที่ยากและซับซ้อน เสียงร้องแบบฟอลเซตโต (falsetto – เสียงหลบโหนสูง) ในเพลง “ร็อกเกอร์” ทำออกมาได้เด็ดขาดบาดใจ และเขาก็พิสูจน์ตัวเองในตอนแสดงสดว่ามันมาจากความสามารถเฉพาะตัวของเขาจริง ไม่ใช่แค่การใช้เทคนิคในห้องบันทึกเสียง
ข้อด้อยของงานชุดนี้อยู่ที่การมิกซ์เสียงไม่ค่อยดี เสียงกีตาร์ที่ควรจะกระหึ่ม ทรงพลัง โดนกดเอาไว้จนน่าใจหาย กับรอยมลทินที่ว่าเพลง “สองคน” มีดนตรีบางส่วนคล้าย “อิส ดิส เลิฟ” และ “พลังรัก” มีบางส่วนทำให้นึกถึง “เดอะ ดีปเปอร์ เดอะ เลิฟ” ของไวท์สเนคทั้งสองเพลง
ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม อัลบั้มหินเหล็กไฟเป็นอัลบั้มตอกย้ำกระแสความนิยมในดนตรีร็อกที่พุ่งขึ้นจนถึงจุดสูงสุดในปีพ.ศ. 2536 และเป็นปีทองของบริษัทอาร์เอสด้วยเช่นกัน
(อาร์เอส, พ.ศ. 2536)
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in