เมื่อได้ฟัง podcast เรื่อง ส่องปีศาจ “ดอย” ที่วิเคราะห์เรื่องสั้น "ดอยรวก" ของนทธี ศศิวิมลจนจบแล้ว ภายในสมองของผมก็มีหลอดไฟผุดขึ้นมาอย่างน่าอัศจรรย์ แล้วส่องแสงสว่างจ้าเหมือนอย่างการ์ตูนฝรั่ง ผมนิยามปรากฏการณ์นี้ว่า Enlightenment เพราะการวิเคราะห์ของเพื่อนทำให้ผมได้ตระหนักว่า ผีในวรรณกรรมอาจไม่ได้ปรากฏตัวในรูปร่างของวิญญาณเสมอ ในเมื่อนิยามของผีคือทุกสิ่งที่มีตัวตน แต่กลับถูกมองข้ามไป
ตลอดเรื่อง "ดอยรวก" มักปรากฏสารพัดผีที่ยังคงวนเวียนอยู่ในโลกหลังความตายบริเวณดอยรวก จังหวัดตาก สถานที่ที่ได้รับการขนานนามกันว่า "โค้งร้อยศพ" ผืนป่าเบื้องล่างหุบเหวแห่งดอยรวกนี้เป็นสุสานของรถเสียหลักนับร้อยคันและผู้ประสบอุบัติเหตุนับหลายพันศพ อีกทั้งสภาพของเหวที่ลึกมากเสียจน “เหมือนไม่มีก้น” ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่อาจเก็บกู้ศพได้อย่างครบถ้วนและบางร่างก็ยังคงถูกทอดทิ้งอยู่กับผืนแผ่นดินดอยรวกแห่งนี้ จึงไม่ใช่เรื่องผิดแปลกแต่อย่างใดที่คนไทยจะนำเอาเรื่องเล่าสยองขวัญมาผสมโรงเข้ากับเรื่องน่าเศร้าใจของกลุ่มคนเหล่านั้น ดังที่สุภัทรา ครูโรงเรียนเอกชนในกรุงเทพฯ ซึ่งมาลงเครื่องที่แม่สอดเพื่อกลับไปเยี่ยมบ้าน ได้บรรยายถึงความเชื่อของชาวบ้านที่มีต่อความเฮี้ยนของเหล่าวิญญาณในดอยรวกแห่งนี้ว่า
ทั้งยังมีกลุ่มวิญญาณ “เด็กนักเรียนมัธยมหน้าตาซีดเซียว” และวิญญาณ “ผู้หญิงวัยสาวกับเด็ก” ที่รอคอยวันจะได้กลับบ้านรวมอยู่ด้วย เรื่องราวน่าสะพรึงกลัวเหล่านี้คือเรื่องของผีที่เป็นวิญญาณจริง ๆ ในเรื่อง "ดอยรวก" ทว่า เรื่องนี้ก็ยังมีผีอีกจำพวกหนึ่งที่เป็นกึ่งคนกึ่งผีเพราะสถานภาพทางสังคม คนกลุ่มนั้นคือแรงงานข้ามชาติที่ต้องลักลอบเข้าประเทศไทยเพื่อมาทำงานเลี้ยงชีพ กลุ่มคนเหล่านี้มีความคล้ายคลึงกับผีอยู่มาก สังเกตได้จากฉากที่เด็กสาวจำนวนห้าคน (กลายเป็นวิญญาณเสียก่อนที่เท้าจะเหยียบแผ่นดินไทยแล้วหนึ่งคน) ถูกนำเข้ามาเพื่อค้าประเวณี พวกเธอต้องหลบซ่อนอยู่ใต้พื้นรถกระบะที่ดัดแปลงแบบพิเศษเพื่อหลบเร้นตัวตนจากสายตาของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง จะเห็นได้ว่า การต้องหลบตัวอยู่ภายใต้ความมืดนี้ทำให้พวกเธอมีลักษณะไม่ต่างอะไรกับผีที่แฝงกายอยู่ในความมืดเช่นกัน
ลักษณะอีกประการที่แรงงานเหล่านี้มีร่วมกับผีคือ "การไร้ตัวตนในสายตาคนทั่วไป" ทำให้พวกเขาไม่ได้รับความใส่ใจมากนักและถูกปฏิบัติเหมือนไม่ใช่มนุษย์ จะเห็นว่า พวกเขาเป็นเหยื่อของการค้าประเวณีและการล่วงละเมิดทางเพศในเด็ก ไม่ได้รับความใส่ใจแม้จะป่วยเป็นวัณโรคอยู่ก็ตาม ซ้ำร้ายยังถูกเจ้าหน้าที่และอำนาจรัฐทำให้กลายเป็นคนชายขอบ หรือจะกล่าวให้ถูกต้องคือ ถูกทำให้กลายเป็นอื่น ด้วยเหตุนี้ เหล่าผู้มีอำนาจทั้งหลายในเรื่องจึงปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างใดก็ได้ แม้จะเป็นมนุษย์ แต่กลับมีสถานะไม่ต่างจากสัตว์ สิ่งของ หรือวัตถุทางเพศ สถานภาพทางสังคมของคนชายขอบเช่นนี้จึงเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า ผีอาจไม่ใช่คนที่ตายแล้วเสมอไป เพราะ "คนเป็น" ก็อาจไร้ตัวตนไม่ต่างจาก "ผี" และจำต้องทนทุกข์ทรมานใน "นรกบนดิน" ที่ไม่ได้เลือก
ในเรื่องสั้น "ดอยรวก" ยังมีผีอีกจำพวกหนึ่งที่มีอิทธิฤทธิ์มากและโหดเหี้ยมเสียยิ่งกว่าผีตนใด เป็น "ปีศาจ" หรือนายแห่งผี ผู้หลงระเริงอยู่ในอำนาจหน้าที่แห่งรัฐ หลงใหลในอำนาจอันหอมหวานจนเที่ยวระรานประชาชนไปทั่ว โดยปราศจากความตระหนักรู้ในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ บางที เราอาจจะมีผีร้ายที่เป็นลูกสมุนของปีศาจตนนี้ซ่อนเร้นอยู่ภายในตัวเราและรอคอยวันที่จะเปิดเผยตนออกมาก็เป็นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราต้องอยู่ในสังคมที่มีแต่ "จุลินทรีย์อะมีบา เชิดหน้าได้ดิบได้ดี" ตามคำของอังคาร กัลยาณพงศ์
แม้ในเรื่องสั้น "ดอยรวก" จะมีวิญญาณจริง ๆ ที่ปรากฏกายหลอกหลอนคนเป็นอยู่ แต่วิญญาณจำพวกนี้ก็ไม่ได้น่ากลัวเทียบเท่ากับ "ปีศาจ" (ขั้นสุดของผี) และ "ลูกสมุนแห่งปีศาจ" ที่หลงระเริงอยู่ในอำนาจหน้าที่ เพราะเมื่อปล่อยให้มันหลอกหลอนภาคประชาชนคนเดินดินแล้ว ก็ยากที่จะปราบผีเหล่านี้ให้สิ้นฤทธิ์ลงได้
ในขณะที่นักเขียนใช้กำลังในการสร้างสรรค์นัยแห่ง "ผี" และ "ปีศาจ" นักอ่านก็มีหน้าที่ "ไข" ความหมายแห่งภูตผีปีศาจนั้นด้วยเช่นกัน การร่วมสาดแสงไปยังมุมมืดเพื่อจับตาดูความเคลื่อนไหวของ "ผี" และ"ปีศาจ" เหล่านั้นไม่ให้คลาดสายตา อาจเป็นอำนาจหนึ่งเดียวเท่านั้นที่เราจะทำได้.
เรื่อง : อิศรา ว. (นามปากกา)
เผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางวิชาการเท่านั้น ไม่อนุญาตให้ทำซ้ำหรือดัดแปลง
© สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับเพิ่มเติม) พ.ศ. 2558
บรรณาธิกรต้นฉบับ: aree.n
กองบรรณาธิการ: J P M T
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in