เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ลองเขียนhowdeepisyoursea
วาสนากับปัญหามีจน
  •        ประเทศไทยมีคำสุภาษิตเกี่ยวกับวาสนามากมายและสืบต่อกันมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็น “แข่งเรือแข่งพายแข่งได้ แข่งบุญแข่งวาสนาแข่งไม่ได้” หรือ “บุญมาวาสนาส่ง” สุภาษิตทั้งสองนี้เป็นสุภาษิตที่อาจทำให้หลายคนเชื่อว่าวาสนาเป็นตัวกำหนดชะตาชีวิตของมนุษย์


            จากข้อสังเกตของผู้เขียนพบว่า คนไทยส่วนใหญ่ใช้สุภาษิตทั้งสองนี้เมื่อมีการแข่งขันประเภทต่าง ๆ แล้วไม่ชนะเพื่อเป็นการปลอบประโลมจิตใจตัวเองที่เป็นผู้แพ้ หรือเป็นการชื่นชมคนที่ชนะหรือคนที่ได้ดีว่ามีวาสนาเลยทำให้เกิดผลเช่นนี้ อีกทั้งคนไทยยังนำมาพูดกันมากในเรื่องสถานะทางเศรษฐกิจของตัวเองที่ไม่สามารถเลื่อนชั้นทางเศรษฐกิจไปได้ โดยเฉพาะกรณีการเกิดมาจน กล่าวคือ คนไทยบางส่วนมีความเชื่อว่าถึงแม้ขยันทำงานมากเท่าใดก็ไม่มีวันรวยได้ เมื่อเทียบกับคนที่มีบุญวาสนามาก่อนหรือมีต้นทุนมาดีตั้งแต่เกิด เมื่อเป็นเช่นนี้เราคงต้องจำใจยอมรับสถานะความจนนี้


    หากแนวคิดคนไทยส่วนมากเป็นดังที่กล่าวมาข้างต้น ผู้เขียนมีความคิดเห็นว่าการนำวาสนาหรือชะตาชีวิตมาเป็นตัวกำหนดชีวิตอาจจะทำให้คนไทยที่เชื่อเรื่องวาสนานั้นไม่ได้แก้ปัญหาอย่างตรงจุดและยอมรับสิ่งที่เป็นอยู่โดยปราศจากการตั้งคำถาม และเมื่อเป็นเรื่องความจนแล้วนั้น การที่เชื่อว่าวาสนาเป็นสาเหตุหลักนั้น อาจทำให้มองข้ามต้นตอของปัญหาความจน หรือความจนที่ทำให้ไม่สามารถเลื่อนสถานะทางเศรษฐกิจในสังคมได้เลย 


    จากการวิเคราะห์สภาพครอบครัวคนจนที่ผู้เขียนเคยพบเจอในสังคมไทยทำให้ผู้เขียนเห็นได้ว่า ครอบครัวคนจนมักหมดเงินไปกับค่ากิน ค่าอยู่รายวันเป็นหลัก กล่าวง่าย ๆ คือเป็นประเภทหาเช้ากินค่ำ เสียค่าแรงรายวันไปกับค่ารถโดยสารประจำทางบ้าง ค่าใช้จ่ายสินค้าทางการศึกษาของบุตรหลานบ้าง รวมทั้งค่าดูแลด้านสุขภาพของผู้สูงอายุในบ้าน เป็นต้น ค่าใช้จ่ายเหล่านี้เป็นสิ่งที่จำเป็นและเป็นสิ่งพื้นฐานของการดำรงชีวิตในสังคมทั้งสิ้น และหากคนยังเชื่อเรื่องวาสนา ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ก็จะเป็นเหมือนวิบากกรรมที่คนจนต้องเผชิญเป็นปกติ แต่คนรวยสามารถจัดการภาระนี้ได้อย่างสบาย ๆ เนื่องจากมีบุญมีวาสนามาก่อน(?) อีกทั้งคนรวยยังมีเงินไปซื้อความสุขของตัวเองเพิ่มเติมได้อีก แต่ทั้ง ๆ ที่ทั้งคนจนและคนรวยต่างก็อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐเดียวกันน่ะหรือ


             หากลองตัดเรื่องวาสนาออกไป และลองวิเคราะห์ถึงค่าใช้จ่ายข้างต้นที่เป็นอุปสรรคในการลืมตาอ้างปากของคนจนตั้งแต่กำเนิด จะทำให้เห็นว่าค่าใช้จ่ายเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ครอบครัวทุกครอบครัวต้องเผชิญ อีกทั้งเมื่อหลายคนต่างกล่าวว่า เรามีรัฐ และเราอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐ ผู้เขียนจึงมีคววามคิดว่า ปัญหาดเรื่องความจนจากค่าใช้จ่ายพื้นฐานนี้ภาครัฐไม่ควรปล่อยให้ประชาชนต้องเผชิญอยู่ลำพังโดยมีแนวคิดเรื่องบุญวาสนาเป็นเพื่อนร่วมแก้ไขปัญหา หากแต่ภาครัฐจำเป็นต้องมีหน้าที่ในการรับผิดชอบปัญหาความจนนี้ด้วย ภาครัฐจำเป็นต้องมีสวัสดิการต่าง ๆ เพื่อสร้างรากฐานและความเท่าเทียมตั้งแต่ต้นให้แก่คนในสังคม เพื่อช่วยลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจน อีกทั้งเป็นการลดบทบาทขแงวาสนาลง

    ดังนั้นผู้เขียนจึงมีความเห็นว่า ความจนไม่ได้มีวาสนาเป็นตัวกำหนดหลัก หากแต่มีปัจจัยทางโครงสร้างทางสังคมที่เป็นปัญหาและรัฐสวัสดิการที่เหลื่อมล้ำทำให้คน ๆ หนึ่งจนและยังจนอยู่ตราบชั่วชีวิต (ยังไม่นับเรื่องวิกฤตโรคระบาดที่เป็นเหมือนการฝังหลุมคนจนซ้ำอีก) และที่สำคัญหากคนไทยยังเชื่อว่าวาสนาเป็นปัจจัยหลักในการกำหนดความรวยจนก็จะส่งผลให้เกิดการปิดกั้นทางความคิด ปกปิดข้อบกพร่องการทำหน้าที่ของภาครัฐ และไม่สามารถหาสาเหตุที่แท้จริงของความจนที่คนไทยนับล้านคนต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน 


    สุดท้ายนี้ผู้เขียนคิดว่าการเชื่อเรื่องวาสนาก็ยังสามารถเชื่อได้ แต่อย่าเอาวาสนามาเป็นหลักในการวิเคราะห์สิ่งต่าง ๆ จนบดบังกลายเป็นคนปิดหูปิดตาก้มหน้ารับภาระที่สามารถแก้ไขได้เลย







    ---------------------------



    หมายเหตุ: บทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน(และผู้เขียนมือใหม่มาก) หากมีประเด็นใดในบทความนี้ทำให้ไม่สบายใจ ข้องใจ หรือหากมีใครอยากถกเถียงประเด็นต่าง ๆ ในบทความนี้ สามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้เสมอค่ะ เรายินดีรับฟังค่ะ  :-) 



     

     

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in