ตำรวจเร่งหาตัวนักศึกษาหอบหมอนผ้าห่มนอนกลางแยกไฟแดง ไม่ก็ นักศึกษามหาลัยดังจังหวัดเชียงใหม่ถ่ายรูปนอนกลางแยกไฟแดงประชดรถติด เป็นพาดหัวข่าวที่ผมเห็นซ้ำๆเป็นร้อยรอบแล้วในไม่กี่วันที่ผ่านมา เจ้าของผลงานที่ว่า เป็นเพื่อนผมเองครับ(ที่เห็นเป็นร้อยรอบเพราะเพื่อนๆกันเองนี่แหละแชร์กันรัวๆ) ซึ่งจริงๆ มันไม่น่าจะเป็นเรื่องใหญ่แบบนี้เลย พลังของโลกสังคมออนไลน์นี่มันน่ากลัวจริงๆแต่สิ่งที่น่ากลัวกว่าน่าจะเป็นความหลากหลายของการตีความของคนเรานี่แหละ ในตอนเด็กๆ คิดว่าหลายๆคนน่าจะเคยเล่นเกมทายคำศัพท์กัน โดยคนที่ออกมาแสดงให้เพื่อนดู จะเป็นคนเดียวที่รู้เนื้อสารที่ถูกต้องส่วนคนอื่นๆที่รับสาร ก็จะรับสารและตีความสารนั้น แต่มันไม่เคยถูกต้องจริงๆเพราะคนเราตีความเนื้อสารโดยมีแนวความคิดของตนเองมาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ
เมื่อไม่นานมานี้ เพิ่งจะมีงาน TedxBankok ไป และมี speaker คนหนึ่งพูดเรื่องราวๆนี้เอาไว้เขาคนนั้นคือ คุณ เต๋อ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ในวันนั้นคุณเต๋อได้ออกมาบรรยายภาพนิ่งภาพเดียวกัน หลายครั้ง โดยในแต่ละครั้ง เนื้อสารที่คุณเต๋อให้มา จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ และเขาได้ตั้งคำถามกับคนดูว่า เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเนื้อสารไหนที่เป็นของจริง เหมือนกับคลิปเรียลๆที่เราเคยดูกันตามสื่อโซเชียล ทั้งหมดนั้นก็ผ่านการเรียบเรียง จัดมุม ตัดต่อ มาแล้วทั้งนั้น แล้วความจริงของเนื้อสารที่เราได้รับมันอยู่ที่ตรงไหน
เมื่อไม่กี่วันก่อน อาจารย์ประจำวิชาการถ่ายภาพได้สั่งงานนักเรียนให้ไปถ่ายภาพอะไรก็ได้ ที่แสดงถึงความเป็นตัวเอง โดยมีสถานที่12แห่งในเชียงใหม่เป็นฉากหลัง และไอ้ออฟเพื่อนผม ก็ได้ออกไปถ่ายภาพชุดที่กำลังเป็นข่าวกัน ทำไมจู่ๆงานเรียนของนักศึกษาคนหนึ่งถึงกลายเป็นดราม่าบนโลกสังคมออนไลน์แล้วคนที่เห็นภาพชุดนั้น เขาตีความภาพชุดนั้นอย่างไรบ้าง เขาเห็นอะไรในภาพนั้น
ด้วยความที่ว่า ผมและไอ้ออฟ เป็นเพื่อนกัน ผมจึงสามารถเข้าไปคุยกับมันเพื่อที่จะถามมันตรงๆได้เลยว่า เห้ย งานมึงอะ มึงตั้งใจให้มันมีนัยยะทางศิลปะยังไง มึงมีคอนเซปอะไร ซึ่งนักข่าวทั่วๆไป หรือว่าตำรวจ ก็คงไม่ไปถามมันแบบนี้
ออฟเล่าว่า หลังจากที่อาจารย์สั่งงาน มันก็กลับมานั่งคิดอยู่นานว่าจะถ่ายอะไรดี(การเป็นนักเรียนสาขาศิลปะการถ่ายภาพมันไม่ใช่ว่าจะกดชัตเตอร์มั่วๆไปส่งอาจารย์ได้นะครับ)ออฟได้ข้อสรุปหลังจากเกิดการตบตีในหัวของเขาเองว่า โจทย์นี้มีใจความสำคัญอยู่สองจุด จุดแรกคือ ให้ถ่ายสิ่งที่แสดงถึงความเป็นตัวเอง และจุดที่สองคือ ให้ถ่ายกับสถานที่12สถานที่ในเชียงใหม่ จริงๆแล้ว ออฟเป็นคนน่าค้นหา เขามีอะไรในตัวเยอะมาก ผมรู้จักเขาดี แล้วแต่ว่าเขาจะเอาอะไรในตัวออกมาเล่า แต่เมื่อโจทย์มีการบังคับให้ถ่ายกับสถานที่ พวกเรานักศึกษาศิลปะก็จะเล่นกับสถานที่ครับ ออฟเลือก”การนอน”ให้เป็นสิ่งที่แสดงถึงตัวตนของเขา ถึงแม้ว่าจริงๆแล้วเขาจะไม่ได้เป็นคนขี้เซาขนาดนั้น ออฟบอกว่า ไอ้การนอนเนี่ยมันมีมิติของมันอยู่ ลองคิดว่า คนคนนึงมีการนอนเป็นสิ่งแสดงตัวตน หมายความว่า ไม่ว่าเขาจะไปอยู่ที่ไหน ทำอะไร เขาก็ต้องนอน เพราะนั่นคือตัวตนของเขา คนเราแสดงตัวตนของตัวเองออกมาตลอดเวลาแม้จะอยู่ในสังคมหรือพื้นที่สาธารณะ เราสามารถแสดงออกว่าตัวตนของเราคือการนอนเหมือนเวลาที่เราบอกคนอื่นว่าเราชอบสีฟ้าผ่านการแต่งตัวสีฟ้าทั้งชุดได้ไหม และเมื่อนำมารวมกับโจทย์ที่ว่า ต้องถ่ายในสถานที่ถึง12ที่อะไรๆมันก็ลงตัวไปหมด มันดูเป็นภาพชุดที่น่าสนุกมาก ออฟเริ่มได้ภาพร่างแล้วว่างานในครั้งนี้ของเขา จะเป็นการถ่ายคนนอนตามสถานที่ต่างๆในเชียงใหม่ สำหรับรายละเอียดอื่นๆของงานผมจะไม่ขอพูดละกัน มันจะยาวถ้าจะให้อธิบาย เช่น จะถ่ายคนนอนตามถนนยังไงไม่ให้มองว่าเป็นคอนเซปคนไร้บ้าน หรือว่าเขาจะแสดงออกถึงการนอนอย่างไร ต้องมีหมอน ผ้าห่ม ฟูกครบชุดไหม หรือว่าต้องใช้เสื่อและกางมุ้งกันยุงด้วยรึปล่าว
งานของออฟเจาะลึกมากขึ้นเมื่อเขาต้องการสร้างความขัดแย้งในงานมากขึ้นไปอีก สถานที่ทั้ง 12 แห่งที่ออฟเลือกล้วนแต่เป็นสถานที่ที่มีชื่อเสียง เป็นแลนด์มาร์คเป็นพื้นที่สาธารณะที่มีคนพลุกพล่าน ออฟต้องการโยนคำถามให้ผู้รับสื่อของเขา ออฟต้องการสร้างความน่าสนใจให้งานของเขาด้วยความขัดแย้งในภาพ ออฟเริ่มออกถ่ายภาพตนเองนอนตามสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น อาคารเรียนรวมของมหาลัย วัด สี่แยกไฟแดง สะพาน วัด ห้างสรรพสินค้า ถนนคนเดิน อ่างเก็บน้ำ เมื่อออฟถ่ายงานครบทั้ง 12 ภาพออฟปล่อยภาพออกมายั่วเพื่อนๆด้วยการลงภาพ ส่วนหนึ่งของงานในสื่อโซเชียล งานของออฟดีมาก ทั้งในเรื่องคอนเซป และการจัดองค์ประกอบภาพที่เขาปล่อยออกมาให้เพื่อนกันดูเล่นๆจึงถูกแชร์ต่อๆไป และเรื่องก็เกิดขึ้นเมื่อมีคนตีความงานของเขาผิด คิดว่าเขาต้องการประชดเรื่องปัญหาการจราจรในจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการแคปภาพของออฟพร้อมแคปชั่นใต้ภาพ “หาที่นอนใหม่ๆให้ตัวเอง”แล้วนำไปเขียนข่าวใหม่ตามเว็ปไซต์ต่างๆ พร้อมกับการตีความสื่อที่ผิดไปจากเดิม และเมื่อเรื่องไปถึงตำรวจ เรื่องก็ใหญ่ขึ้นไปอีก ในขั้นตอนการถ่ายงาน ออฟใช้เวลาในการถ่ายงานสั้นมากในแต่ละรูป กว่าจะเป็นรูปแต่ละรูปที่เราเห็นกันออฟต้องเดินสำรวจโลเคชั่น หามุม จัดแสง เตรียมการทุกอย่างให้พร้อม ออฟรอให้ถึงเวลาไฟแดง รอให้คนอื่นเดินข้ามถนนให้หมดก่อน แล้วจึงนอนไปนอนและให้เพื่อนอีกคนกดชัตเตอร์ให้ เวลาที่ออฟใช้ในการถ่ายนั้นสั้นมาก สั้นกว่าเวลาที่คนบางคนใช้ในการเซลฟี่ซะอีก ออฟไม่ต้องการสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นในพื้นที่สาธารณะจนเกินไป แต่สิ่งที่ออฟพลาดไปคือออฟไม่ได้ติดต่อเจ้าของสถานที่ก่อน ซึ่งออฟบอกว่า ถ้าจะเอาผิดเรื่องนี้ก็ว่ากันไปตามตรง แต่เขาไม่ได้ถ่ายงานชุดนี้เพื่อประชดอะไรแน่นอน
เราเห็นอะไรจากการถ่ายงานครั้งนี้ของออฟ เราเห็นได้ชัดเจนว่าคนเราแต่ละคน ตีความสารของออฟแตกต่างกันไป หากเป็นเพื่อนๆที่เรียนศิลปะของออฟแบบผม ก็คงจะบอกว่า เห้ย ออฟ งานมึงรอบนี้โคตรกวน โคตรจี้เลยว่ะ ถ้าเป็นอาจารย์ ก็คงจะบอกว่างานนี้ถือว่าประสบความสำเร็จนะ ดีมาก ถ้าเป็นคนทั่วไปที่ไม่ได้เรียนศิลปะก็อาจจะตีความว่า เห้ย ถ่ายรูปเก๋ๆ แนวๆ เท่จัง คนบางคนที่รับสารมาไม่สมบูรณ์(ดูงานออฟแค่รูปเดียวที่มีโลเคชั่นเป็นแยกไฟแดง)อาจจะบอกว่า เป็นการถ่ายประชดการจราจรแน่ๆ ซึ่งไม่จริงหรอก(ถ้าดูงานออฟครบ12ชิ้นคงไม่มีใครตีความแบบนี้นะ ถ้าออฟมีคอนเซปว่าจะประชดการจราจร ออฟจะไปถ่ายในวัดทำไม)แต่นอกเหนือว่าคนที่ตีความเนื้องานออฟว่าดี เท่ เจ๋ง หรือประชดการจราจร ยังมีคนอีกกลุ่ม ที่เมื่อรับสารไปแล้ว ไม่ได้พยายามจะตีความเนื่อสารเลย พวกเขากลับไปสนใจอย่างอื่นแทน ซึ่งก็มีทั้งด้านดีและไม่ดีนะ บางคนตั้งคำถามว่าอยากดังหรอ อยากเป็นกระแสหรอ ผมรู้สึกเสียดายอย่างสุดซึ้งกับคนที่คิดแบบนี้ครับ ไม่ใช่ทุกวันที่เมืองไทยจะมีคนทำงานโฟโต้อาร์ทเจ๋งๆแบบชิ้นนี้มาให้เราชม แต่คุณกลับมองข้ามโอกาสนั้น และมองงานชิ้นนี้ในด้านอื่นแทน การตั้งคำถามมันก็ดีครับ จริงๆงานของออฟอาจจะไม่เหมาะสมก็ได้ ถ้าคุณบอกว่า ออฟคุณไม่ควรไปถ่ายแบบนี้ที่วัดนะ พร้อมเหตุผลประกอบที่สมเหตุสมผลซักสองหรือสามข้อ และเราก็มาเสวนากันด้วยเหตุผล คงจะเป็นอะไรที่พัฒนาแนวคิดอย่างมาก แต่คนเรามักไม่ทำแบบนั้นและถกเถียงอย่างไม่เกิดประโยชน์จนกลายเป็นดราม่าไป
คนเราตีความสารแตกต่างกันครับ เรารับสารเดียวกัน แต่ด้วยวิธีคิด สภาพแวดล้อมทางสังคม ประสบการณ์ เราจึงตีความสารแตกต่างกัน ซึ่งผมไม่ได้จะบอกว่าคุณตีความไม่ดี ผมตีความดีกว่า แต่ผมจะบอกว่า ให้คุณคิดให้ดีก่อนครับ ทุกวันนี้เรารับสารในปริมาณที่มากขึ้น แต่ใส่ใจรายละเอียดน้อยลง เราตีความสารต่างๆอย่างฉาบฉวย และส่งต่อสารนั้นต่อไปยังคนอื่น แล้วแบบนี้เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเนื้อสารไหนที่เป็นของจริง
สามารถเข้าไปดูงานทั้งหมดของออฟได้ที่นี่ครับ
https://www.flickr.com/photos/144692765@N08/albums/72157672946875705
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in