เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
มะระเล่าเรื่องether srikulwong
พงสาลี จังหวัดเหนือสุดของลาว

  • อาจารย์พาไปพงสาลี(๐)
    27 กรกฎาคม 
    ทำอะไรครั้งแรกๆมักจะมีข้อผิดพลาดเสมอ

    เรานั่งรถตู้คณะออกจากเชียงใหม่ตอนกลางดึก หรือเอาละเอียดกว่านั้นคือราวๆตี1 ของวันที่27 เพื่อไปข้ามฝั่งที่ด่านเชียงของ จังหวัดเชียงรายในตอนเช้า เราใช้พาสปอร์ตในการผ่านแดน เลยไม่ต้องกรอกเอกสารอะไรมากมาย ผมถูกชวนมาด้วยเฉยๆ เลยไม่รู้กำหนดการอะไรทั้งสิ้น รู้แค่ว่า จะไปจังหวัดพงสาลี จังหวัดเหนือสุดของลาว ชายแดนติดกับจีน ซึ่งคำชวนแค่นี้ ก็มากพอจะลากเราออกจากหอได้ในทันทีอยู่แล้ว
    ในใบผ่านแดน มีช่องให้ระบุที่พัก ว่าเราพักที่ไหนในลาว ซึ่งผมก็ไม่รู้ไง ก็หันไปถามอาจารย์ อาจารย์ก็บอกว่า เราไม่ได้จองที่พักไว้ ค่ำไหนนอนนั่น เขียนไปมั่วๆละกัน เขาไม่รู้หรอก เลยเขียนกันไปมั่วๆ ว่า Pongsali hotel เป็นการมั่วที่ไม่เนียนเหี้ยๆ ฮ่าๆ เอาชื่อจังหวัดมาเขียน แล้วตามด้วย hotel แล้วเราก็ผ่านแดนมาได้ โดยที่ไม่มีใครรู้หรอก ว่าไอ้ Pongsali hotel นี่น่ะ มันมีจริงรึป่าว หลังจากข้ามแม่น้ำโขงผ่านสะพานมิตรภาพหมายเลข4 ด้วยรถบัส เราก็เปลี่ยนไปนั่งรถตู้ที่อาจารย์เหมามาจากบริษัททัวร์ในเมืองบ่อแก้ว เพราะเอารถคณะข้ามประเทศไม่ได้ โดยปกติ เราค่อนข้างไม่มีปัญหาในการนั่งรถเที่ยว ทริปที่นั่งรถไวท์คณะไปปายเมื่อเดือนมกราก็ไม่มีปัญหาอะไร ในชีวิตนี้ก็เมารถแทบจะนับครั้งได้ แต่เหมือนว่าเราจะคิดง่ายเกินไป นี่เป็นครั้งแรกที่เราได้มาลาวเหนือ และก็เป็นครั้งแรก ที่ได้นั่งรถตู้ขึ้นเขา จริงๆใช้คำว่าขึ้นเขาก็ไม่ถูกนัก เพราะลาวเหนือเกือบทั้งหมดมีลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสลับเนินเขา ดังนั้น การมาลาวเหนือครั้งนี้ จะวิ่งอยู่บนเขาตลอดทริป 
    เราเริ่มต้นในเมืองลาวด้วยการแวะตลาด และกินข้าว เฝ๋อใส่ผงชูรสเยอะๆนี่ ไม่อร่อยเหมือนก๋วยเตี๋ยวที่บ้านเราเลยจริงๆ เท่าที่ถามอาจารย์คร่าวๆ จังหวัดพงสาลีเป็นจังหวัดที่อยู่เหนือสุดของลาว และเราจะนั่งรถไปให้ถึงพงสาลีภายในคืนนี้ และไล่เที่ยวลงมาเรื่อยๆ และกลับมาถึงจังหวัดบ่อแก้วพอดีกับวันเดินทางกลับ เราจึงเริ่มนั่งรถตู้ตะลุยทิวเขาแดนลาวแบบมาราทอน ขอออกตัวก่อนเลยว่า วิวข้างทางสวยมากๆ เป็นหมู่บ้านชาวลาว ทุ่งนาสีเขียวยอดข้าว ลำธาร และภูเขาสลับกันไปตลอดทาง กลับมาเรื่องเดิม ถนนในลาวไม่ได้สภาพดีเหมือนไทย มีถนนลูกรังและถนนราดยางสลับกันไป และถนนส่วนที่ราดยาง ก็มีผิวถนนที่เก่า ขรุขระ เป็นหลุมเป็นบ่อ บวกกับทางเป็นทางคดเคี้ยวตามแนวเขา ทำให้เวียนหัวได้ง่ายๆ ซึ่งร่างกายของผมก็มาถึงจุดที่ทนไม่ไหวในช่วงบ่ายแก่ นี่น่าจะเป็นครั้งที่สองในชีวิต ที่เมารถจนทนไม่ไหว และต้องอ้วกออกมา เวลานั้นเราไม่เสียดายต้มเนื้องัว หรือว่าข้าวเหนียวไส้อั่วที่กินไปเมื่อตอนเที่ยงหรอกนะ แต่เพราะข้าวเที่ยงที่กินไป มันไหลย้อนออกมาหมด ทำให้ร่างกายมันเพลียสุดๆ บวกกับทางคดเคี้ยวตามแนวเขาที่ดูไม่สิ้นสุด ทำให้มึนหัวไม่หายไปตลอดทาง ขอสารภาพว่าในวันแรกนี้ เราไม่ได้ถ่ายรูปเลยซักรูป ทั้งๆที่รับปากเพื่อนเอาไว้แล้วว่าจะถ่ายรูปกลับมาให้เขาดู แต่เราก็มีเรื่องมาเล่าให้ฟังแล้วนี่ไง ไม่ว่ากันเนาะ ต่อๆ ในตอนนั้น เราจำอะไรได้ไม่มาก เพราะมึนหัวมากๆ แต่จำได้ว่า ในตอนเย็น เราแวะจอดพักรถที่หมู่บ้านอะไรซักอย่าง ที่กลางหมู่บ้าน ถนนถูกแยกออกเป็นสองทาง ถ้าไปทางซ้าย จะไปพงสาลี และต่อไปยังจีน ถ้าไปทางขวา จะไปที่ชายแดนไปเวียดนาม เราไม่แน่ใจเรื่องข้อมูลตรงนี้ซักเท่าไหร่ อย่างว่า จะเอาอะไรกับคนเมา ถึงจะแค่เมารถก็เถอะ หลังจากนั้นก็เดินทางต่อไปอีกหลายชั่วโมง ก่อนจะแวะพักอีกครั้งเพื่อกินข้าวเย็นในหมู่บ้านของชาวเวียดนาม(เราแน่ใจแล้วนะ ว่าตรงหมู่บ้านเมื่อกี้ เราเลี้ยวซ้ายมาทางพงสาลี ไม่ใช่เลี้ยวขวาไปทางเวียดนาม) ในหมู่บ้านนั้น เต็มไปด้วยคนเวียดนาม ป้ายภาษาเวียดนาม และร้านอาหารเวียดนาม ซึ่งพวกเขาพูดและฟังภาษาลาวไม่ได้ โชคดีที่มีคนลาวปะปนอยู่ในหมู่คนเวียดนามบ้าง เลยรอดตัวไป เกือบได้ใช้สกิลภาษามือที่ซุ่มฝึกมา เพราะยังอึนๆอยู่ เราเลยเลือกที่จะกินข้าวให้น้อยและเลือกกินเฉพาะอาหารย่อยง่าย เช่นพวกปลานึ่ง สิ่งที่เห็นได้ชัดในร้านนั้นคือ เวลากินข้าว เขาจะนั่งแบบปกตินี่แหละ แต่พอคนเวียดนามจะดื่มเหล้าหรือเบียร์ เขาจะลุกขึ้นยืน และจะไม่นั่งลงจนกว่าจะกินหมดแก้ว เราจึงได้เห็นคนในร้านลุกๆนั่งๆอยู่เรื่อยๆ หลังจากนั้นจึงเดินทางต่อ(ยังไม่ถึงพงสาลีเลย ไกลชิบหาย) อ่อ อีกเรื่อง ลาวไม่ได้มีห้องน้ำที่ดีเท่าไหร่นัก ส่วนมาก ถ้าจะเข้าห้องน้ำ จะต้องเสียเงินค่าเข้า และบางที่ก็ไม่มีห้องน้ำสำหรับนักท่องเที่ยวหรือลูกค้า การเห็นคนยืนฉี่ที่ท่อระบายน้ำตามมุมมืดๆจึงเป็นเรื่องปกติ หลังจากขึ้นรถ ด้วยความเพลีย ผมหลับยาวจนรู้สึกตัวอีกที ก็ถึงพงสาลีในเวลาราวๆ 5ทุ่มครึ่ง ผมไม่ทำอะไรทั้งนั้น ทิ้งตัวลงนอนตั้งแต่ที่คนอื่นๆยังถามหาไวไฟจากโรงแรมอยู่เลย น้ำอะไรไม่อาบมันแล้ว เพลียมาก จะนอน แค่วันแรกก็โดนเล่นซะแล้ว อย่างว่า ทำอะไรครั้งแรกๆมักจะมีข้อผิดพลาดเสมอ
  • อาจารย์พาไปพงสาลี(๑)
    27 กรกฎาคม 
    ขอเริ่มต้นใหม่แบบมีสติ

    วันแรกของการเดินทาง จริงๆมันมีอะไรเกิดขึ้นหลายอย่าง แต่เพราะเมารถ เลยขาดสติ ขาดการคิด วิเคราะห์ แยกแยะ และเราก็ได้เล่าเรื่องของวันแรกไปหมดแล้ว เท่าที่คนเมาคนนี้จะรับรู้ได้ แต่ว่าโพสพวกนี้ เราไม่ได้เขียนวันต่อวันไง เราจะรออย่างน้อย1วัน ให้เรื่องราวของวันนั้น มันจบลงแล้วจริงๆ ให้หัวสมองมันได้เรียบเรียงคำพูดก่อนจะเอามาเล่า ดังนั้น เราสามารถเล่าเรื่องราวของวันแรก แบบไม่เมาก็ได้ เลยตั้งใจจะเล่าเรื่องของวันแรกออกมาทั้ง2แบบ ให้แบบเมาเป็นตอนศูนย์(๐) และแบบไม่เมาเป็นตอนที่หนึ่ง(๑) เอาง่ายๆก็คือ โพสนี้ จะขอเริ่มต้นใหม่แบบมีสติ
    โดยปกติ เรามักจะคุ้นเคยกับการแบ่งประเทศลาวออกเป็นสองส่วน คือลาวเหนือ และลาวใต้ แต่ความจริง ลาวแบ่งออกเป็น4ภาค ได้แก่ภาคเหนือตอนบน ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคใต้ โดยทริปนี้ เราจะต้องผ่านครบทั้ง4จังหวัดของลาวเหนือตอนบน ได้แก่ บ่อแก้ว หลวงน้ำทา อุดมไชย และพงสาลี โดยลาวเหนือตอนบน มีลักษณะภูมิประเทศที่พิเศษคือมีพื้นที่เกือบทั้งหมดเป็นภูเขาซึ่งสูงกว่า2000 เมตรจากน้ำทะเล(ดอยอินทนนท์สูง2565เมตร) เอาง่ายๆคือ มันสูงมาก การนั่งรถคดเคี้ยวไปตามหุบเขาในอัลติจูดสูงๆเป็นเวลานาน ไม่ใช่เรื่องดีสำหรับระบบเลือดลมเลย อาจทำให้เมารถได้ง่ายๆ โดยคำแนะนำในการท่องเที่ยวลาวเหนือตอนบนจากแผ่นพับที่หยิบมาบอกไว้ว่า ลาวเหนือตอนบนมีแหล่งธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การเดินชมธรรมชาติ และซึมซับวิถีชีวิตชนบท จ่ะ โอเค อ่ะ ต่อเลยละกัน ก็เหมือนที่บอกไปแล้ว หลังจากข้ามด่านมา เราเริ่มต้นด้วยการแวะหาอะไรกินที่ตลาดในจังหวัดบ่อแก้ว อาหารที่ลาวจะปรุงรสด้วยผงชูรส และจะค่อนข้างมัน ซึ่งไม่ถูกปากเราเท่าไหร่ สิ่งที่เราประทับใจมากๆในลาว คือธรรมชาติที่สมบูรณ์เหมือนที่แผ่นพับนำเที่ยวโม้ไว้ ป่าเป็นป่า ภูเขาเป็นภูเขา แม่น้ำเป็นแม่น้ำ ด้วยลักษณะภูมิประเทศด้วยแล้ว อากาศจึงเย็นแทบจะตลอดวัน มีฝนตกลงมาบ้าง อากาศดีสุดๆ เพราะรถราในบ้านเขายังไม่เยอะด้วย มลพิษทางอากาศจึงน้อยกว่าบ้านเรามาก เส้นทางจากบ่อแก้วไปหลวงน้ำทานั้นถือว่าสภาพค่อนข้างดี เมื่อเทียบกับเส้นทางหลังจากนั้น ตัวเมืองหรือแหล่งความเจริญของลาวถือว่าแคบมาก ถ้าเทียบกับจังหวัดในไทย นั่งรถตู้ออกไปได้ไม่ไกล ภาพข้างทางก็จะถูกแทนที่ด้วยทุ่งนาและป่าเขา ถนนที่เราที่เราเคยบอกไปเมื่อตอนก่อนว่ามันมีทั้งถนนลูกรังและถนนลาดยาง สลับกันไป ซึ่งเอาจริงๆมันไม่ค่อยถูกนะ(ตอนนั้นเมาอยู่) เอาจริงๆคือ เมื่อออกมานอกเมืองแล้ว ถนนลาดยางน้อยมากๆ ส่วนมากจะเป็นถนนคอนกรีตสลับกับถนนลูกรัง ถนนคอนกรีตมักจะมีอยู่เป็นช่วงสั้นๆ ตามหมู่บ้านต่างๆ(คนที่นี่จะตั้งบ้านเรือนชิดถนน ลักษณะหมู่บ้านเลยจะเป็นเส้นตรงยาวๆ โดยมีถนนแบ่งกลางหมู่บ้าน เป็น2ฝั่งของถนน) พอออกจากหมู่บ้านไปยังไม่ถึง20เมตร ถนนก็จะกลับมาเป็นถนนลูกรังอีกรอบ และจะเจอถนนคอนกรีตอีกทีก็ตอนที่จะขึ้นเขาชันๆ หรือโค้งที่อันตราย เขาก็จะเทพื้นถนนไว้ให้ แต่สภาพก็ไม่ได้ดีหรอกนะ อีกสิ่งที่เจอบ่อยมากๆคือ สะพาน ตลอดวัน เราข้ามสะพานหลายที่มากๆ จนสงสัยว่า เราขับรถข้ามแม่น้ำไปมา หรือว่าแม่น้ำในลาวเหนือมันมีหลายสายมากๆ และสะพานพวกนี้ ก็ไม่ใช่สะพานข้ามคูน้ำเล็กๆแบบชนบทบ้านเรา มันคือสะพานข้ามแม่น้ำจริงๆ บางที่ก็เป็นสะพานตัดข้ามช่องเขา ด้านล่างเป็นแม่น้ำสีลูกรังไหลเชี่ยว จากสภาพถนน เขาสร้างสะพานพวกนี้ได้อย่างไรกัน หรือว่าฝรั่งเศสเป็นคนสร้างให้ก็ไม่รู้ ช่างเถอะ ลาวเหนือถือว่าอุดมสมบูรณ์มาก เขียวสบายตาตลอดสองข้างทาง พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเขาสูงชันที่ทำการเกษตรได้ลำบาก เขาก็ปล่อยมันไว้แบบนั้น ให้เป็นป่าต่อไป รู้สึกอบอุ่นเวลาได้เห็นธรรมชาติที่ยังไม่ถูกทำลาย พื้นที่ที่เป็นที่ราบเกือบทั้งหมด จะเป็นทุ่งนา หมู่บ้านต่างๆจะอยู่แค่ริมถนนเท่านั้น สมัยก่อน เราเคยตั้งคำถามกับพ่อเราเล่นๆว่า คิดว่าในไทยกับที่ลาว ถ้าเทียบอัตราส่วนประชากร คิดว่าที่ไหน คนไม่ใส่หมวกกันน็อคมากกว่ากัน เป็นคำถามที่ดูธรรมดาแต่ก็ไม่ธรรมดาจริงๆ ซึ่งคำตอบของคำถามนี้ เราก็ตอบไม่ได้หรอก เราไม่เคยทำแบบสอบถาม หรือว่าลงพื้นที่วิจัยอย่างจริงจัง แต่ขอบอกเท่าที่ตาเห็นว่า ถ้าเป็นในเมือง ในตัวจังหวัดของลาว คนเขาใส่หมวกกันนะ(แต่ไม่เห็นด่านเลยซักที่) แต่ถ้าออกมานอกเมืองนี่คือ ไม่มีใครใส่หมวกเลย ไม่เห็นเลยซักคน ฮ่าๆ หลังจากช่วงบ่ายไป ก็นั่งรถยาวๆ ซึ่งก็จะคล้ายๆตอนที่แล้ว แค่นี้ละกัน บาย

  • อาจารย์พาไปพงสาลี(๒)
    28 กรกฎาคม เช้า
    สายลับจากบริษัทอะเมซซิ่ง

    หลังจากนอยชีวิตเรื่องเมารถเมื่อวาน เราตื่นขึ้นมาในเช้าวันใหม่ของเมืองพงสาลี(สำเนียงลาวออกเสียงว่า พงซ่าหลี) เราตื่นตอนประมาณหกโมงครึ่ง เสียงไก่ขันดังมาก นอนหลับต่อไม่ไหวจริงๆ เมืองพงสาลีตั้งอยู่ตามแนวสันเขา ถนนในเมืองเดี๋ยวขึ้นเนินลงเนิน หลังคาบ้านหลังหนึ่งอาจสูงเท่ากับพื้นบ้านอีกหลังก็ได้ นี่สินะที่เรียกว่า เมืองมีระดับ นึกถึงฉากในหนังที่มีตำรวจกับโจรวิ่งฟรีรันนิ่งไล่จับกันข้ามเมือง ไต่ไปตามหลังคาตึก แล้วก็ทำข้าวของเสียหาย เรามาถึงพงสาลีในตอนกลางดึก จึงเพิ่งจะมาเห็นตัวเมืองจริงๆในตอนเช้า เมืองพงสาลีเป็นเมืองในหุบเขา เป็นหุบเขาที่ลึกมากๆ เพราะความลึกนี่แหละที่กันพงสาลีออกจากสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความเจริญ นักท่องเที่ยว หรือแม้แต่ความวุ่นวาย เรายืนชมทะเลหมอกแบบ360องศาได้ไม่นาน อาจารย์ก็ถามว่า มึงจะยืนถ่ายMV อีกนานไหม ความจริงอาจารย์ไม่ได้พูดแบบนั้น แต่ความหมายก็ราวๆนั้นแหละ เราจึงกลับไปขึ้นรถและเข้าไปที่ตลาดเพื่อกินเฝ๋อ(อีกแล้ว) ในตลาดสดของลาว เราสามารถเห็นคนนำของป่าจำพวกพืชและสัตว์มาขายได้เป็นปกติ เช่นหนังสัตว์หรือว่าพืชแปลกๆ การเห็นอวัยวะสัตว์ที่ยังคงสภาพเหมือนตอนมีชีวิตวางขายเกลื่อนกลาดนี่ก็สยองดีนะ อยู่ที่ลาวนิยมทานเนื้อวัวเนื้อควายกัน ซึ่งเนื้อควายของลาวจะนุ่มละมุนกว่าเนื้อวัว อร่อยทีเดียว และเรายังมีโอกาสได้ชิมเหล้าต้มสูตรพงสาลีที่ขึ้นชื่ออีกด้วย มันถูกบรรจุอยู่ในขวดน้ำเปล่าพลาสติกธรรมดาที่ถูกฉีกฉลากออก พอไปถามยายแกว่าน้ำข้างในคืออะไร แกก็เทให้คนละฝาซะงั้น ลองชิมเพียวไปฝานึง แรงทีเดียว แรงกว่าเหล้าขาวบ้านเราอีก คนบนเขาคงกินเหล้าดีกรีสูงๆเพื่อให้ความอบอุ่น หลังจากกินเฝ๋อเสร็จ นั่นแหละคือตอนที่สายลับจากบริษัทอะเมซซิ่งปรากฏตัวขึ้น ขออธิบายให้เข้าใจตรงกันก่อนว่า ลาวใช้การปกครองแบบสังคมนิยม(ทุน) คือเอกชนเป็นใหญ่ การท่องเที่ยวต่างๆจะถูกจัดการโดยบริษัทเอกชน และเอกชนพวกนี้ ใหญ่กว่าตำรวจซะอีก หลังจากเรากินข้าวเสร็จ มีชายหญิงใส่ชุดข้าราชการสีเขียวขี้นกเดินมาโวยวายอะไรซักอย่างที่รถตู้ของเรา ซึ่งจากการแต่งตัว พวกเขาน่าจะเป็นตำรวจท่องเที่ยว(ตำรวจที่คอยจัดการเรื่องการท่องเที่ยว) เขามีข้อมูลของเราด้วยว่าเราเข้าเมืองมาตอนกลางดึก และไม่ได้ติดต่อผ่านบริษัทท่องเที่ยวของพงสาลี ทั้งๆที่เราไม่ได้แจ้งอะไรทั้งนั้น สายสืบมีอยู่ทุกที่จริงๆ ไม่แน่ว่าเจ้าของโรงแรมก็อาจจะเป็นสายสืบด้วยก็ได้ ข้าราชการ2คนนั้นพยายามบังคับให้เราเอาเอกสารไปติดต่อกับบริษัทชื่อ อะเมซซิ่งทัวร์ อะไรซักอย่าง ซึ่งน่าจะกำลังผูกขาดการท่องเที่ยวในพงสาลีอยู่ ซึ่งเป็นโชคดีของเราที่เรามีคุณลุง(ขอไม่เขียนชื่อ ไม่แน่ตอนนี้ คุณลุงอาจจะโดนคนจากบริษัทอะเมซซิ่งสะกดรอยตามอยู่ แต่เอาง่ายๆ คุณลุงคือคนขับรถของเรา) คุณลุงพยายามแถไฟแล่บระดับแร็บเอก จนข้าราชการ2คนนั้นตามไม่ทัน และยอมปล่อยตัวเรามาได้ง่ายๆ คุณลุงแม่งเจ๋งสัส โดยคุณลุงอ้างกับข้าราชการสองคนนั้นว่า เราไม่ได้มาเที่ยวพงสาลี แค่มาพักเฉยๆและกำลังจะเดินทางต่อ เลยไม่ได้ติดต่อกับบริษัทท่องเที่ยวระดับท้องถิ่นอย่างบริษัทอะเมซซิ่ง ส่วนถ้าจะขอดูเอกสาร ให้ติดต่อไปที่บริษัทแม่ที่บ่อแก้วนู่น ซึ่งจริงๆคือมันไม่เนียนนะ ถนนที่เข้าออกจังหวัดพงสาลีมีเส้นเดียว เพราะโดนภูเขาปิดล้อมไว้ จะมาพักแล้วเดินทางต่อนี่ มันก็ไปไหนต่อไม่ได้แล้วนะ นี่มันจะสุดประเทศละ ทุกอย่างเหมือนจะผ่านไปได้ด้วยดี ตามแผนการเราเดินทางไปยังเมืองอูเหนือ หมู่บ้านสุดท้ายทางตอนเหนือของพงสาลี ก่อนถึงด่านข้ามไปจีน แต่ปัญหาก็เกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อรถเราส่งเสียงแปลกๆกลางทางและต้องหันหัวรถกลับเข้าพงสาลีอีกรอบเพื่อซ่อมหม้อน้ำ หลังจากวนรถหาอู่ซ่อมรถที่มีอะไหล่ที่ใช้กับรถตู้ของเราได้ เราก็ได้นำรถเข้าซ่อมที่ กาหล่าหนองเขียว ซึ่งการซ่อมรถก็กินเวลาไปจนถึงบ่าย ทำให้แผนการไปเมืองอูเหนือต้องยกเลิก (กาหล่า เป็นสำเนียงลาว มาจากคำว่า การาจ ที่แปลว่าโรงรถนั่นแหละ ทับศัพท์กันอย่างนี้เลย) หลังจากซ่อมรถเสร็จ นายช่างของอู่แนะนำให้เราขี่รถขึ้นไปที่ ภูฟ้า ยอดเขาที่สูงที่สุดในพงสาลี เพื่อเช็คว่ารถพร้อมไปต่อหรือไม่ ภูฟ้าเป็นเหมือนยอดนึงของภูเขาแถวนี้ แถมทางขึ้นก็อยู่สุดถนนเมืองนี่เอง ถ้ารถเสียอีก ก็ให้ช่างไปลากกลับมาได้ ทางขึ้นภูฟ้าเป็นถนนชัน แต่ผิวถนนค่อนข้างดี สงสัยเพราะเป็นจุดชมวิวของเมือง บริษัทอะเมซซิ่งเลยให้งบมาทำถนน หลังจากขี่ผ่านถนน1เลนที่รถไม่มีทางสวนกันได้เลยและเต็มไปด้วยกิ่งไม้ ราวกับว่าไม่มีรถขึ้นมานานนับปี เราก็ขึ้นไปถึงยอดภูฟ้า ที่นั่นมีมอเตอร์ไซค์จอดอยู่คันหนึ่ง และมีวัยรุ่นชาย2คน ให้ตายเหอะ เขาต้องเป็นสายลับจากบริษัทอะเมซซิ่งแน่ๆ ถูกส่งมาสะกดรอย ถ้ารถตู้คันนี้ขึ้นไปเที่ยวภูฟ้าเมื่อไหร่ เก็บตังมันเลยนะ อะไรทำนองนั้น

  • อาจารย์พาไปพงสาลี(๓)
    28 กรกฎาคม
    เมืองที่ไม่ต้องการสิ่งใด

    หลังจากลงมาจากภูฟ้า เราก็เตรียมตัวลงใต้ไปทางอุดมไชย และพักค้างคืนที่หลวงน้ำทาก่อน ค่อยเดินทางกลับไทยในวันถัดไป เห้ย เพิ่งมาถึงพงสาลีเมื่อคืน วันนี้ก็ตีรถจะกลับแล้ว ยังไม่ได้ทำอะไรเลยนี่หว่า แล้วตอนชวนผมมา บอกว่า อาจารย์จะไปทำวิจัย ไปด้วยกันไหม เอ๋า งงเลย เราก็เลยไปถามอาจารย์ว่า ที่อาจารย์ตั้งใจนั่งรถขึ้นมาจนเกือบถึงประเทศจีนนี่ อาจารย์ตั้งใจจะมาทำอะไร อาจารย์ตอบกลับมาง่ายๆว่า คณะเราน่ะมีไปทำวิจัยหลายที่มากๆ หลวงพระบาง เชียงตุง นครวัด บลาๆ แต่ว่า ยังไม่เคยมีอาจารย์คนไหนขึ้นมาไกลถึงพงสาลี แล้วก็ไม่มีงานวิจัยเกี่ยวกับพงสาลี อาจารย์ก็เลยอยากมาดูบ้านดูเมืองนี้ซักครั้ง อยากรู้ว่ามันเป็นยังไง คนที่นี่อยู่กินยังไง ศิลปวัฒนธรรมเป็นแบบไหน(ก็แหม คณะศิลปะนี่นะ) เรียกง่ายๆว่า เป็นครั้งแรกของคณะเรา ที่มาเมืองพงสาลี มาสำรวจเส้นทาง มาดูลาดเลาเฉยๆ เอาง่ายๆกว่านั้นก็คือหาเรื่องมาเที่ยวล่ะมั้ง ฮ่าๆ เหมือนที่บอกไปแล้ว พงสาลีเป็นเมืองในหุบเขา ซึ่งห่างไกลจากความเจริญและความวุ่นวาย เรียกได้ว่าเป็นเมืองที่ชนบทมากๆ แต่เห็นอย่างนี้ เมืองนี้มีสนามบินนะ เพราะทางมาพงสาลีมีแค่เส้นทางเดียว(ระบบถนนทางหลวงในลาวแย่มากเมื่อเทียบกับไทย) ถนนทางหลวงที่เข้ามายังเมืองนี้มีแค่เส้นเดียว แล้วก็ขรุขระและเป็นถนนลูกรังอยู่มาก ส่วนถนนที่ไม่ใช่ถนนทางหลวง ก็มีอยู่อีกเส้นหนึ่ง แต่มันเป็นถนนลูกรังตลอดเส้น ตัดผ่านหุบเขาสูงของลาว ห่างไกลตัวเมืองขนาดที่ว่า ร้านรับจ้างปะยาง24ชม.ร้านไหนก็เข้าไปไม่ถึง ส่วนของใช้ต่างๆ จะถูกนำเข้าจากประเทศอื่น เช่น ถ้าเป็นเครื่องมือ อุปกรณ์ อะไหล่รถ เครื่องจักรต่างๆ จะถูกนำเข้าจากจีน(ดูง่ายๆ ฉลากทั้งหมดเป็นภาษาจีน) ส่วนของใช้ในชีวิตประจำวัน พวกผงซักฟอง อุปกรณ์อาบน้ำเครื่องปรุงรส ขนมและน้ำดื่ม จะน้ำเข้าจากไทย น่าแปลกที่ไม่ค่อยเห็นการน้ำเข้าสินค้าจากเวียดนาม หรือแค่เพราะเราไม่เห็นเฉยๆก็ไม่รู้ ส่วนมาก วัฒนธรรมเวียดนามในพงสาลี เราจะเห็นมันในรูปของการใช้ชีวิต มารยาทบนโต๊ะอาหาร หรือว่าชนิดอาหารมากกว่า อีกเรื่องนึงที่เราชอบมากๆคือ พงสาลีเป็นเมืองที่ธรรมชาติอุดมสมบูรณ์มากๆ แต่ก็อยู่ร่วมกับผู้คนและตัวเมืองได้อย่างลงตัว บ้านเกือบทุกหลังสามารถมองเห็นทะเลหมอกได้เกือบจะตลอดวัน(ในแผ่นพับนำเที่ยวก็บอกว่าไฮไลต์ของพงสาลีคือทะเลหมอก) ป่าไม้ก็แทบจะไม่โดนบุกรุก ภูเขายังคงมีป่าไม้ปกคลุม และไม่มีรีสอร์ท บ้านพัก หรือร้านอาหารไปสร้างอยู่บนนั้น แน่นอน รวมถึงห้องน้ำด้วย ตอนที่ขึ้นไปบนภูฟ้า เราจะได้กลิ่นหอมที่ไม่ใช่โคโลญหรือน้ำหอมใดๆ อาจารย์บอกว่า มันเป็นกลิ่นของไม้กฤษณา ซึ่งเป็นไม้เนื้อหอม เสียดายชะมัด เพราะสายสืบจากบริษัทอะเมซซิ่งและอุบัติเหตุรถเสีย ทำให้เวลาในพงสาลีของเราครึ่งวันต้องไปอยู่ที่หนองเขียวเพื่อรอรถซ่อมหม้อน้ำ หนองเขียวเป็นหนองเล็กๆ ในตัวเมืองพงสาลี ซึ่งสามารถมองเห็นได้จากยอดภูฟ้า หนองเขียวไม่ได้รับการดูแลซักเท่าไหร่ มีการเทปูนทำทางเดินรอบหนอง แต่ก็มีหญ้าขึ้นสูงไปหมด เราเห็นเด็กน้อย3คนมาปั่นจักรยานด้วย เท่าที่ถามมา เหมือนว่าที่ลาว โรงเรียนเพิ่งจะปิดเทอมไปไม่นาน ที่กาหล่าหนองเขียว เรารอรถซ่อมอยู่นาน จนนายช่างให้เราเข้าไปดูทีวีรอในบ้านเขาได้ ช่องโทรทัศน์ส่วนมากก็มากจากไทยนี่แหละ สุดท้ายอาจารย์เลือกดูช่องหนังฝรั่งพากษ์ไทย เป็นหนังเกี่ยวกับเอเลี่ยนปลิงต่างดาวที่จะมุดเข้าไปในปากคนแล้วก็ล้างสมอง พอมันเข้าไปในตัวคนได้ มันก็จะวางไข่ในท้องคนคนนั้นจนตัวอ้วนกลม เหมือนงานอนิเมชั่นของ ROLLIN' WILD ที่ชื่อ ROLLIN' SAFARI ไปหาดูได้ในกูเกิล อะต่อๆ หลังจากที่มันว่างไข่เสร็จ พอไข่จะฟัก คนคนนั้นก็จะระเบิดออก แล้วลูกปลิงนับพันตัวก็จะกระจายออกมา น่ากลัวชะมัด ทำไมต้องมาดูหนังแบบนี้ก่อนกินข้าวเที่ยงด้วยนะ นายช่างของกาหล่าหนองเขียวบอกเราว่า ถัดไปนี่ก็มีร้านอาหารหลายร้าน ลองเดินไปดูสิ ซึ่งก็มีจริงๆ ไม่ได้โม้ ถัดจากกาหล่าหนองเขียว มีร้านเนื้อย่างและร้านเสริมสวย พวกผมเดินเข้าร้านเสริมสวยโดยไม่ลังเล ไม่ใช่สิ เราไม่อยากกินเนื้อย่างหมูกระทะน้ำจิ้มรสเด็ดตอนนี้ เพราะกลัวจะเสียเวลา จึงเลือกที่จะเดินผ่านร้าน2ร้านนี้ไป ถัดไปหน่อยมีร้านอาหารที่มีป้ายรูปโลโก้บริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร้านปิดล้อมด้วยกระจกสีดำหม่นไม่ให้เห็นภายในร้าน แต่มีเสียงเพลงเพื่อชีวิตดังออกมาจากข้างในร้านราวกับว่ากระจกสีดำนี้ไม่ได้ช่วยเก็บเสียงแต่อย่างใด ถ้ามาเจอร้านแบบนี้ที่ไทย เราก็คงรู้ๆกันอยู่ว่ามันคือร้านอะไร แต่นี่มันไม่ใช่เมืองไทยนี่หว่า รู้ตัวอีกที อาจารย์เดินนำเข้าไปก่อนแล้วตั้งแต่ผมกำลังวิเคราะห์ว่ามันจะขายอะไรในร้านแบบนี้ ภายในร้านดูธรรมดามากๆ เหมือนร้านอาหารทั่วไปตามชนบทที่มักจะขายข้าวราดแกงจานละ30บาท ให้ตายเหอะ อย่าตัดสินหนังสือจากปกสินะ กลายเป็นว่าร้านนี้เป็นภัตตาคารธรรมดาๆ ที่เปิดเพลงเสียงดังไปหน่อยเท่านั้นเอง เจ้าของร้านเป็นคนหลวงพระบาง ซึ่งมาเปิดร้านที่พงสาลี รสชาติอาหารจึงจะไม่มันๆเลี่ยนๆแบบพงสาลี แต่จะเป็นรสชาติแบบหลวงพระบางซึ่งน่าจะถูกปากคนไทยมากกว่า พอดีกับที่ทานข้าวเสร็จ รถเราก็พร้อมออกเดินทางต่อ เราได้ยินคุณลุงกับนายช่างคุยกันเรื่องค่าซ่อมรถ แค่เปลี่ยนอะไหล่หม้อน้ำรถตู้ มีค่าใช้จ่ายเสร็จสับอยู่ที่ หนึ่งล้านสี่แสนกีบ ซึ่งตีเป็นเงินไทยก็ราวๆ หกพันบาท แต่รู้ไหม ว่าหนึ่งล้านสี่แสนกีบนี่นะ คือเงินเดือนมาตรฐานของเด็ก ป.ตรี จบใหม่ในลาวเชียวนะ ในช่วงบ่าย เรานั่งรถกลับด้วยเส้นทางเดิมที่เราใช้เดินทางมาพงสาลี(เพราะมันมีถนนเส้นเดียว) แต่รอบนี้เราไม่เมารถแล้วเว้ย ถึงจะมีอาการมึนๆอึนๆนิดหน่อย ราวๆหกโมงครึ่ง เราแวะที่วัดแห่งหนึ่ง ซึ่งผมไม่รู้ว่านี่คือหมู่บ้านอะไร เมืองอะไร แต่น่าจะอยู่ในเขตจังหวัดอุดมไช วัดนี้เป็นวัดแบบชนบทโดยแท้ รายล้อมไปด้วยทุ่งนาและหุบเขา อาจารย์แต่ละคนดูกระตือรือร้นในการศึกษาพุทธศิลป์ของลาว รวมถึงขอหนังสือหรือรูปถ่ายเท่าที่ขอกลับมาได้ ส่วนเราไม่ค่อยอินกับเรื่องศาสนาเท่าไหร่ จึงชอบที่จะเดินแล่นอยู่ที่ลานวัดมากกว่า ฝนเพิ่งจะหยุดตกไป นาข้าวดูชุ่มชื้นดี ลานวัดมีน้ำขังหน่อยๆ อยู่ที่นี่ น่าจะมืดตอนทุ่มกว่าๆ บรรยากาศตอนนั้นน่าจะเรียกว่าเป็นแสงสุดท้ายของวัน แต่มองไม่เห็นพระอาทิตย์ตกหรอก เพราะหมู่บ้านนี้อยู่ที่ตีนเขา ไม่ใช่สันเขาแบบพงสาลี เราเห็นเณรสูบยาและเล่นมือถือหลายคน สมัยนี้คงเป็นเรื่องปกติมั้ง เขาไม่ได้เคร่งแบบสมัยก่อน หลังจากนั้นจึงเดินทางต่อไปยังหลวงน้ำทา แวะกินข้าวขาหมู และเข้าพักโรงแรมซึงอยู่ฝั่งตรงข้าม สองข้างทางระหว่างพงสาลีกลับไปหลวงน้ำทาก็สวยงามเหมือนในวันแรก รายล้อมด้วยหุบเขาและทะเลหมอก เห็นหมู่บ้านชาวเขาเป็นระยะๆ ชาวเขาที่นี่มักจะเลี้ยงสัตว์ มีไก่ หมู ไม่ก็แพะภูเขามาเดินกลางถนนโดยไม่กลัวรถเลย สงสัยว่าถนนสายนี้ ปกติจะไม่ค่อยมีรถผ่าน รู้สึกตัวอีกที เราก็มาถึงเป้าหมายของการเดินทางแบบเมาๆ และเดินทางกลับออกมาโดยยังไม่รู้สึกว่าได้ทำความเข้าใจกับพงสาลีซักเท่าไหร่ พงสาลีเป็นเมืองเงียบๆ ผู้คนอยู่กันเงียบๆ ไม่วุ่นวาย แต่ก็ไม่ได้เจริญนัก แต่มันก็ดูสมบูรณ์ดีในแบบของมัน ตอนคุยกับคุณยายขายขนมครกที่ตลาด แกบอกว่า แกมาอยู่ที่นี่หลังจากเกษียณออกจากราชการ เมืองนี้ไม่ได้เจริญ แต่ก็อยู่ได้ ไม่ได้ขัดสน แกมีความสุขดีกับการขายขนมครกของแก และเลี้ยงเหลนที่เพิ่งคลอด ถึงแกจะบ่นเหงานิดหน่อยที่คุณตาเสียไปหลายปีแล้ว สำหรับยายแก เมืองนี้คงเป็นเมืองที่ไม่ต้องการสิ่งใดแล้ว

  • อาจารย์พาไปพงสาลี(๔)
    29 กรกฎาคม
    ทำให้นึกถึงไทยสมัยก่อน

    เราตื่นแต่เช้า พร้อมกับเช้าอันสดใสของเมืองหลวงน้ำทา (ล้อเล่น) ตื่นเช้ามาราวๆ6โมง ง่วงสัส คือโรงแรมมันมีไวไฟกับทีวีไง เล่นมือถือจนดึก ตอนจะนอนก็เปิดไปเจอรายการสารคดีชีวิตชาวเรือของมาเลเซียอีก กว่าจะได้นอนก็ตี3 สรุปได้นอนจริงๆราวๆ3ชั่วโมงเอง ถึงหลวงน้ำทาจะไม่ได้อยู่บนยอดเขาแบบพงสาลี แต่ก็ถือว่าอยู่บนที่ราบสูง อากาศในตอนเช้าดีมาก มองไปไกลๆ เห็นหมอกปกคลุมบนถนน ถ้าเทียบปริมาณรถราบนท้องถนนของลาวกับไทย ปริมาณรถลาวถือว่าน้อยกว่ามากๆ ทำให้มลพิษจากท่อไอเสียรถน้อยตามไปด้วย อากาศจึงถือว่าดี แม้จะอยู่ในเมือง เราออกไปหาข้าวเช้ากิน ซึ่งก็ไปร้านเฝ๋อ(อีกแล้ว มากี่วัน มื้อเช้าก็กินเฝ๋อตลอดเลย ให้ตายสิ) แต่ที่ร้านนี้เขาไม่ได้ขายเฝ๋ออย่างเดียว ก็เลยตั้งใจจะสั่งอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่เฝ๋อ เช้าวันนั้น เรากินข้าวเปียกเส้นแบบลาวเป็นอาหารเช้า ซึ่งมันไม่ใช่ข้าวเปียกเส้นแบบที่เราคุ้นเคยนะ ถ้าจะให้อธิบายแบบเข้าใจง่ายๆ ข้าวเปียกเส้นลาว คือก๊วยจั๊บของบ้านเรา เส้นจะหน้าตาคล้ายๆข้าวเปียกนี่แหละ แต่ทำจากแป้งของเส้นก๊วยจั๊บ ส่วนเครื่องและน้ำซุป จะเป็นแบบก๊วยจั๊บหมดเลย และคงคอนเซปอาหารลาวคือใส่ผงชูรสเยอะๆ(ฮา) ซึ่งเราก็มาสังเกตในวันนี้แหละว่า ในตอนเช้า(เช้าจริงๆ ก่อน7โมง)ร้านอาหารเช้าที่เปิด ส่วนมากจะเป็นร้านเฝ๋อหมดเลย เหมือนค่านิยมของอาหารเช้าเขาจะมีแค่เฝ๋ออย่างเดียว(แต่จริงๆ เฝ๋อเป็นอาหารเวียดนามนะ) แตกต่างจากบ้านเราที่มีอาหารเช้าหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นข้าวเหนียวหมูปิ้ง ไข่กระทะ ข้าวเปียก แกงเส้น โจ๊ก ข้าวต้ม เกาเหลา ซึ่งที่ไล่ๆมานี่ มันก็เป็นวัฒนธรรมที่รับมาเกือบทั้งหมด อีกเรื่องของอาหารลาวซึ่งน่าจะเป็นข้อดีที่สุด คืออาหารพวกนี้ เป็นแบบแฮนด์เมดเกือบทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น ร้านก๋วยเตี๋ยวในบ้านเรา จะสั่งเส้นเป็นแพ็คจากโรงงาน สั่งลูกชิ้นจากโรงงาน ซึ่งเป็นสินค้าที่ผ่านระบบอุตสาหกรรม และมักจะมีการผสมสารกันบูด แตกต่างกับของลาว ตรงที่เขายังไม่เจริญพอที่จะมีระบบอุตสาหกรรมที่กว้างขวางในด้านนี้ ร้านเฝ๋อในลาว มักจะหมักแป้ง และทำเส้นเฝ๋อเอง ไม่ก็จะมีครอบครัวที่รับทำเส้นเฝ๋อเป็นอาชีพหลัก ซึ่งจะทำทุกวัน เพราะเส้นเฝ๋อแบบแฮนด์เมดนี้ ปลอดสารเคมีทุกอย่าง เก็บได้ไม่กี่วันก็เสียแล้ว แต่ข้อดีคือเส้นจะเหนียวนุ่ม อร่อย(ในแบบที่ถูกปากคนลาว) และเส้นจะไม่อืด ทิ้งไว้ก็ไม่อืด มันทำให้เรานึกถึงคนสมัยก่อน ที่ครอบครัวแต่ละครอบครัว จะมีอาชีพของตนเอง บ้านนี้ทำเส้น บ้านนี้ทำแกง บ้านนี้ทำไห บ้านนี้จับปลา แล้วก็มาแลกเปลี่ยนกัน แต่ปัจจุบัน ระบบอุตสาหกรรมมันเข้ามาแทนที่หมดแล้ว ต่อให้บ้านเรารับราชการ บ้านเราก็หาปลา ซื้อไห ซื้อแกงได้ ไม่ต้องไปถามแลกเอากับคนอื่น ระบบอุตสาหกรรมทำให้การเข้าถึงสินค้าต่างๆง่ายขึ้น แต่ก็มาพร้อมกับข้อเสียบางข้อเช่นกัน เรียกว่าได้อย่างเสียอย่างแหละ การได้มาลาวครั้งนี้ จึงทำให้เราได้เห็นอีกมุมมองนึง คนรู้จักของเราคนหนึ่งบอกว่า การไปลาว จะทำให้เรานึกถึงไทยสมัยก่อน ซึ่งมันก็เป็นแบบนั้นจริงๆ หลังจากเขียนเรื่องมื้อเช้ามาซะยาว ขอข้ามเลยละกัน ฮ่าๆ หลังจากกินมื้อเช้าเสร็จ เราก็นั่งรถยิงยาวไปบ่อแก้ว เพื่อเตรียมกลับไทย ระหว่างทางยังคงถนนไม่ดี วิวสวย และวินรถหน่อยๆแบบวันแรก ระหว่างทางที่จอดพักรถ ดื่มน้ำปัสสาวะ เราเห็นแม่ไก่และลูกไก่แถวนึง โดนรถเหยียบดังกร๊อบ! ต่อหน้าต่อตาเลย แล้วหลังจากที่ตัวแม่กับตัวลูกอีกตัวหนึ่งถูกเหยียบแบนกับพื้นถนนไป ลูกไก่ตัวอื่นๆก็ยังเดินเล่นอยู่บนถนนหน้าตาเฉยเลย จนคุณยายต้องเอาหินมาปาใส่ เพื่อให้มันเดินออกจากถนน ไหนๆก็ไม่มีเรื่องจะเล่าแล้ว เราขอเล่าเรื่องสัตว์ที่เจอในลาวละกัน ระหว่างการเดินทาง เราเห็นวัฒนธรรมการเลี้ยงสัตว์ของคนลาวเยอะมาก ในตัวเมืองใหญ่ คนลาวจะเลี้ยงหมา ไม่ต่างจากไทยหรอก แต่จะไม่นิยมหมาพันธุ์เล็ก หรือว่าหมาพันธุ์สวยงาม จะเน้นเลี้ยงไว้เฝ้าบ้านมากกว่า หน้าตาคล้ายหมาไทยหลังอานนี่แหละ(ไม่ค่อยเห็นหมาพันธุ์ฝรั่งด้วย) ส่วนถ้าออกไปนอกเมืองหน่อย จะเริ่มเห็นเป็ดและไก่บ้าง ซึ่งโดยส่วนใหญ่ก็เดินแบบไม่กลัวรถเลย สงสารตัวที่โดนเหยียบ T__T ถ้าออกไปยังเขตชนบทจริงๆ เราจะเห็นได้ตั้งแต่ ไก่ป่า หมู หมูป่า ม้า ไปจนถึงแพะภูเขา(ไม่ได้โม้นะ แม่งมีจริงๆ) และสิ่งที่น่าสนใจคือ ในชนบท แทบจะทุกบ้านจะเลี้ยงสัตว์ไว้ ไม่ชนิดใดก็ชนิดหนึ่ง และในเขตชนบท สัตว์พวกนี้ไม่ใช่แค่ไม่กลัวรถ แต่ทำเหมือนไม่รู้จักรถเลย ไอ้พวกแพะภูเขานี่แหละตัวดี ไม่รู้หรอกนะว่าแต่ละปีมีรถขึ้นเขาไปที่หมู่บ้านกี่คัน เพราะมันชนบทมาก แต่ขอล่ะ อย่ามานั่งๆนอนๆบนถนนเลย เกรงกลัวรถบ้างเถอะ สงสารจริงๆนะ เวลาพวกแกโดนเหยียบ อีกเรื่องที่อยากพูดถึงคือเรื่องงานก่อสร้างอาคาร ตึกบางตึกสร้างโครงด้วยเศษเหล็กท่อนเล็กๆเอามาต่อกัน พัดลมที่ห้อยลงมาจากเพดานก็ห้อยต่องแต่งอยู่อย่างนั้น โดยมีสายไฟและเส้นลวดขึงอยู่ นี่สินะ คุณภาพงานก่อสร้างแบบจีน เรื่องราวในวันสุดท้ายมันไม่ค่อยมีอะไร ขอตัดจบตอนตรงนี้แหละ บาย

  • อาจารย์พาไปพงสาลี(๕)(จบ)
    29 กรกฎาคม บ่าย
    คอมดับไปแล้ว2รอบ อันนี้พิมพ์เป็นรอบที่3 กูไหว้ล่ะ อย่าดับเลย พิมพ์ไปนี่ยาวชิบหาย คอมดับแล้วก็ต้องพิมพ์ใหม่ เห้อ

    ถ้าเราอยากจะรวบรัดตัดตอนให้มันสั้น ก็คงจะได้ว่า เรามาถึงบ่อแก้วในตอนเที่ยง แวะกินข้าวที่ร้านริมแม่น้ำโขงร้านหนึ่ง รอรถบัสข้ามแดนตอนบ่าย ขึ้นรถคณะกลับมอ จบ แต่เราไม่ใช่คนชอบพิมพ์อะไรสั้นๆน่ะสิ ไม่เข้าใจจริงๆว่าเวลาพิมพ์อะไรสั้นๆ จับใจความไม่ได้ มันเท่ตรงไหน เราขอเล่าเรื่องในแบบเราดีกว่า เรามาถึงบ่อแก้วในตอนเที่ยง(ไอ้สัส เหมือนเมื่อกี้เป๊ะ) การจะข้ามแดน เราต้องรอรถบัสข้ามแดน ซึ่งมีเป็นรอบๆ รถที่ใกล้ที่สุดในตอนนั้นคือรอบบ่าย เราจึงมีเวลามากพอจะกินข้าวมื้อสุดท้ายในแดนลาว ไปพงสาลี อยู่แต่บนภูเขา กินเฝอทุกวัน มื้อนี้เลยจัดเต็มมื้อใหญ่ กินปลาน้ำจืดจากแม่น้ำโขง สลัดผลักสูตรลาว ต้มยำอะไรมาเต็ม อิ่มหนำสำราญมาก(ส่วนนึงคือ เงินกีบที่แลกมามันเหลือเยอะ แล้วถ้าแลกคืนจะไม่คุ้มเท่ากับเอาไปใช้จ่ายในลาว แต่ก็ใช้ไม่หมดหรอก สุดท้ายก็เอาไปแลกคืนแหละ) ถึงจะอยู่ฝั่งลาว แต่ถ้าอยู่ริมแม่น้ำแบบนี้ โทรศัพท์มือถือก็มีคลื่นจากฝั่งไทยนะ โทรกลับไทยได้ ไม่มีปัญหา ไหนๆก็จะกลับไทยแล้ว รุ่นพี่ที่ไปด้วยก็เลยว่าจะซื้อของฝาก ซึ่งของฝากขึ้นชื่อของลาว ก็คงหนีไม่พ้นเบียร์ลาว ซึ่งก็มีอยู่แค่ยี่ห้อเดียว ข้างขวดเขียนว่า ເບຍລາວ กระป๋องทองๆ น่าจะเคยเห็นกัน ลาวเป็นประเทศปกครองแบบสังคมนิยม(ทุน) ด้วยช่องว่างของระบบแบบนี้ เอกชนสามารถผูกขาดสินค้าได้ ในลาวจึงมีเบียร์อยู่แค่ยี่ห้อเดียวทั้งประเทศ แต่พักหลังมานี้ มีการอนุญาตให้นำเข้าเบียร์ไฮเนเก้นได้ แต่ก็มีน้อยมากๆ ขอย้อนกลับไปนิดนึง ตั้งแต่วันแรกที่มา ในกลุ่มของเรามีการดื่มเบียร์ในมื้ออาหารแทบจะทุกมื้อ เบียร์ลาวหาซื้อง่ายมาก หาได้ตามร้านอาหาร ตลาด ร้านขายของ ร้านของชำต่างๆ(ลาวไม่มีเซเว่นเด้อ) ที่เบียร์ลาวหาซื้อง่ายขนาดนี้ก็เพราะว่า ลาวไม่มีกฎหมายควบคุมการบริโภคแอลกอฮอล์(อาจารย์บอกแบบนั้น ไม่รู้จริงป่าว) หรือก็คือ ไม่กำหนดอายุในการดื่มเบียร์ คนลาวจึงดื่มเบียร์ราวกับน้ำอัดลม เราสามารถเห็นเด็กนักเรียนลาวนั่งล้อมวงดื่มเบียร์ในสวนสาธารณะตอนกลางวันแสกๆได้อย่างถูกกฎหมาย แต่เพราะคนดื่มเบียร์กันเป็นปกติแบบนี้ เบียร์ลาวจึงมีดีกรีไม่สูง เท่ากับ SPY บ้านเราเองนะ กลับมาเรื่องของเราต่อ เราซื้อเบียร์มา2ลัง หอบเบียร์ขึ้นรถบัสข้ามแดน หอบผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองโดยไม่ต้องแสกนสัมภาระอะไรเลย หอบเบียร์2ลังนั้นใส่หลังรถตู้ที่แปะชื่อคณะไว้ รู้สึกเลวชะมัด ฮ่าๆๆ จริงเขามีสายตรวจนะ ใครจะขนอะไรข้ามแดน เขารู้หมดแหละ ถ้ามันไม่ได้มีอะไรมาก เขาก็ปล่อยไปแบบนี้แหละ แต่เรื่องสายสืบนี่มีจริงๆนะ แม่เราเล่าว่า มันมีเคสที่โดนตรวจสัมภาระคนเดียวในรถ เพราะสายแจ้งว่าคนคนนั้นแอบลักลอบขนยา ซึ่งก็ติดคุกไปตามระเบียบ ดังนั้น อย่าทำอะไรไม่ดีเด้อล่ะ ระหว่างทางที่เราเดินทางกลับมอผ่านถนนเส้นบายพาส เชียงราย-เชียงใหม่ เราก็นั่งคิดไปเรื่อยเปื่อยว่า ตลอดเวลาที่อยู่ที่ลาว เราพบเจออะไรบ้าง เราเรียนรู้อะไรบ้าง เราว่าเสน่ห์ของพงสาลีมีอยู่สองข้อหลักๆ ข้อแรกคือ พงสาลีมีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ หลากหลายวัฒนธรรม มาอยู่รวมกัน แต่ว่าคนแต่ละกลุ่ม ก็ยังรักษาเอกลักษณ์ คงวัฒนธรรมของกลุ่มตัวเองไว้ได้ เราสามารถเห็นชาวเขา ที่ยังใช้ชีวิตแบบชาวเขา เก็บของป่า เลี้ยงแพะภูเขา สามารถเห็นชาวเวียดนาม ที่ถึงแม้จะอาศัยในลาว แต่ก็อยู่แบบคนเวียดนาม พูดภาษาเวียดนาม กินอาหารเวียดนาม ใช้มารยาทแบบเวียดนาม สามารถเห็นคนเมือง ที่ใช้ชีวิตเหมือนเราๆ แต่ก็อยู่ร่วมกับชาวเขาได้ แต่ละกลุ่มยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ไม่ทำลายเอกลักษณ์ของชนกลุ่มอื่น ซึ่งที่มันเป็นแบบนี้ได้ ก็เป็นเพราะเหตุผลข้อที่สอง คือความชนบทของพงสาลี พงสาลีเปลี่ยนนิยามคำว่าชนบทของเราไป เราเกิดในชุมชนที่เป็นชนบทของจังหวัดหนองบัวลำภู เรียนโรงเรียนวัด นั่นคืออดีตที่เราได้ผ่านมา และเป็นชนบทในความเข้าใจของเรามาตลอด แต่พงสาลีเปลี่ยนความคิดนั้นไปหมดเลย พงสาลีชนบทกว่านั้นมาก ชนบทซะจนความเจริญเข้าไม่ถึง และเพราะความเจริญเข้าไม่ถึงนี่แหละ วัฒนธรรมดั้งเดิมของกลุ่มคนจึงยังไม่ถูกทำลาย หวังว่าจะมีโอกาสกลับไปอีก เราชอบความชนบทของพงสาลี คราวหน้าอาจจะลองเที่ยวโดยผ่านบริษัทอะเมซซิ่งก็ได้นะ ถ้าได้มาอีกครั้ง จะไปเมืองอูเหนือให้ได้ รอบนี้รถเสีย อดไป คราวหน้าจะไม่กินเฝอทุกเช้าแบบนี้แล้ว ขอให้มีคราวหน้า ขอบคุณ

    เย้ คอมไม่ดับเว้ย น้ำตาจะไหล
    สายไฟที่ต่อไฟเข้าเครื่องมันไม่ดี บางทีไฟไม่เข้า

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in