การทำงานในช่วง 10% สุดท้าย ในความเห็นของฉันขั้นตอนนี้นี่แหละยากที่สุด
สิ่งที่ทุกคนไม่ว่าจะทำหนังสือภาพหรือวรรรกรรมต้องทำในช่วงนี้คือ ออกแบบและแก้ไขหน้าปกผลงานของตนเอง จากใจฉันที่แก้ปกมาตลอดตั้งแต่เริ่มทำผลงาน พอจะจับทางได้แล้วว่าหากเนื้อหาด้านในยังไม่เรียบร้อยการออกแบบหน้าปกจะไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสักนิด เพราะหน้าปกไม่เพียงแต่ต้องสื่อถึงเนื้อหา ยังต้องดึงดูดสายตามากที่สุดอีกด้วย คราวนี้ฉันจึงลองออกแบบปกใหม่เป็นครั้งสุดท้าย ผลออกมาว่ามันน่ารักถูกใจชนิดที่ฉันไม่อยากวาดใหม่แล้ว จึงส่งให้อาจารย์ที่ปรึกษาช่วยดูซึ่งผลตอบรับก็ดีเกินคาด เพราะอาจารย์ก็ชอบเช่นกันติดก็แค่โทนสีเท่านั้น ที่จากเดิมฉันใช้โทนม่วง อาจารย์ก็แนะนำว่าอาจเป็นโทนสีที่ใกล้เคียงกับตัวหนังสือชื่อเรื่องจะยิ่งสวย และเมื่อลองปรับสีแล้วก็ดูน่ารักสดใสมากขึ้นจริง โทนสีของภาพก็ดูหวานละมุนเข้ากับเนื้อเรื่องมากขึ้นอีกด้วย
(ซ้าย ปกก่อนปรับสี ขวา ปกหลังปรับสี) (ปกหน้า/หลัง สำเร็จ)
ขั้นตอนต่อมาคือการเตรียมไฟล์และพิมพ์เล่ม แม้ว่าเราจะเรียนวิชาออกแบบกราฟิกและสิ่งพิมพ์ตอนปี 2 และเรียนวิชาบรรณาธิการกิจตอนปี 4 แต่งานส่วนใหญ่มักทำเป็นกลุ่มหรือไม่ก็ส่งพิมพ์ในแบบที่ไม่ต้องจริงจังในขั้นตอนของการเตรียมไฟล์มากขนาดนั้น ดังนั้นเมื่อเทียบกันแล้วการส่งไฟล์งานธีสิสให้ร้านพิมพ์จึงมีเรื่องให้กังวลใจหลายอย่างทีเดียว
ฉันกับเพื่อน ๆ ที่ทำหนังสือภาพพยายามร้านพิมพ์ที่รู้จักและใกล้บ้านหรือมหาวิทยาลัยที่สุดเพื่อความสะดวกในการเดินทางไปรับ และสอบถามราคาการพิมพ์ต่อเล่มเพื่อให้แน่ใจว่าคุ้มที่จะลงทุนและพอดีกับงบของเรา แผนเดิมของฉันคือ ต้องการพิมพ์เล่มผลงานด้วยกระดาษอาร์ตด้านและเข้าเล่มปกแข็งแบบจั่วปัง แต่ร้านพิมพ์หลายที่ไม่รับเข้าเล่มแบบนี้ด้วยเงื่อนไขว่า ทางร้านไม่ได้เข้าเล่มแบบนี้เองต้องส่งต่อให้เจ้าอื่นทำบ้าง ไม่รับเพราะจำนวนเล่มี่พิมพ์น้อยบ้าง ส่วนร้านที่รับเข้าเล่มก็ให้ราคาเล่มละ 400-800 บาท หากต้องการพิมพ์หลายเล่มแน่นอนว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ดังนั้นฉันจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนแผนแล้วเลือกพิมพ์เนื้อในด้วยกระดาษปอนด์ 70 แกรม หน้าปกกระดาษอาร์ตด้าน และเข้าเล่มแบบไสกาว โดยเลือกร้านพิมพ์แถวมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ร้านนี้รุ่นน้องแนะนำฉันมาอีกที แอดมินร้านน่ารักและพิมพ์เร็วมาก) เพราะใกล้บ้านและเมื่อประเมิณราคาออกมาแล้วอยู่ที่เล่มละ 306 บาท ก็ถือว่าเป็นราคาที่ไม่แพงเกินไปในความรู้สึกของฉัน
เมื่อตกลงเลือกร้านได้แล้วคราวนี้ก็มาถึงขั้นตอนการเตรียมไฟล์ เนื่องจากอาจารย์ที่ปรึกษาไม่สั่งแก้รายละเอียดเนื้อหาด้านในฉันจึงสบายใจได้ว่าอย่างไรก็ส่งเล่มพิมพ์ทันส่งวันที่ 16 พฤษภาคมแน่นอน (แม้ว่าช่วงนั้นฉันกับเพื่อนบางส่วนที่ทำหน้าที่ฝ่ายกราฟิกจะต้องเข้าไปทำงานที่มหาวิทยาลัยตลอดก็ตาม) เนื่องด้วยงานนิทรรศการปีนี้จัดระบบไฮบริด คือ จัดนิทรรศการจริงที่อุทยานการเรียนรู้ TK park และจัดเว็บไซต์ออนไลน์ด้วย คนที่ทำผลงานหนังสือภาพจึงต้องมีไฟล์ 2 แบบด้วยกันคือ ไฟล์ผลงานสี RGB สำหรับเว็บและไฟล์ผลงาน CMYK สำหรับสั่งพิมพ์ สำหรับฉันที่ตั้งใจวาดภาพและลงสีเป็น RGB ก่อนยอมรับว่าแอบเซ็งไม่น้อยที่ต้องปรับเป็น CMYK เพื่อส่งพิมพ์เพราะเมื่อเป็นโหมดสีแบบนี้แล้วภาพจะดูหม่นและทึม ไม่สดใสเท่าภาพโหมด RGB ที่สีสดกว่าและดูใสกว่า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับการตั้งค่าสี CMYK ด้วยเช่นกันว่าจะทำให้พิมพ์ออกมาได้โทนสีประมาณไหน (แนะนำ FORGRA 39 เพราะสีที่พิมพ์ออกมาจะไม่หม่นขนาดนั้น) ซึ่งารปรับดหมดสีนี้ เราสามารถทำได้ในขั้นตอนการ export file ในโปรแกรม InDesign ได้เลย ถือว่าสะดวกมาก ๆ และอย่าลืมเปิด crop mark เอาไว้ด้วยนะ
หลังจากส่งไฟล์เนื้อหาและหน้าปกให้ทางร้านไปแล้ว ไม่กี่วันหลังจากนั้นฉํนกับเพื่อน ๆ ก็ไปรับตัวเล่ม แต่พอเห็นเล่มจริงเท่านั้นแหละฉันก็เริ่มกังวล เนื่องจากภาพหน้าปกของฉันเมื่อลองมองให้ดี ๆ จะเห็นว่าภาไม่คมชัดเท่าที่ควร ทั้งที่เมื่อเปรียบเทียบกับเนื้อหาด้านในแล้วภาพที่พิมพ์นั้นคมชัดมาก ๆ แต่เเน่นอนว่าพอถ่ายภาพหรือมองรวม ๆ แทบจะดูไม่ออกเลย ทีแรกฉันเข้าใจว่าคงเป็นเพราะร้านพิมพ์ย่อขนาดเล่ม (จากเดิมคือ 8.5x8.5 นิ้ว แต่ร้านแนะนำเป็นขนาด 8.3x8.3 เพื่อให้ไดราคาพิมพ์ A4) แต่ถ้าเป็นเพราะการย่อ ภาพก็ควรจะไม่คมชัดทั้งเล่มไม่ใช่หรือ คราวนี้ฉันก็เลยมานั่งตีลังกาคิด ว่าเอ เราพลาดตรงไหนไปนะ ตอนนั้นแหละถึงได้นึกออกว่าไฟล์ภาพปกฉันจัดไว้ในคอมพิวเตอร์คนละเครื่องกับไฟล์เนื้อหา (ช่วงนั้นคอมพิวเตอร์ของฉันเสีย จึงต้องยืมคอมพิวเตอร์ของหลายคนเพื่อใช้ทำงาน) แล้วฉันก็อัพไฟลืภาพปกขึ้นไดรืฟเอาไว้ แล้วโหลดมาลงคอมเครื่องเดียวกับไฟล์เนื้อหาก่อนส่งให้ร้าน จึงสรุปได้ว่ามันผิดพลาดที่ขั้นตอนนี้นี่แหละที่ทำให้หน้าปกมีความผิดพลาด
แต่มันก็แค่นิดเดียว ไม่มีใครมองออกด้วยซ้ำยกเว้นฉันเอง (เจ็บใจจัง) ถึงอย่างนั้นเล่มผลงานก็สวยน่ารักถูกใจฉันเหลือเกินชนิดที่ว่านั่งเปิดเล่มดูตลอดทางกลับบ้านก็ว่าได้ ฉันภูมิใจในตัวเองจังที่สามารถทำทุกอย่างให้เสร็จทันเวลาและออกมาในมาตรฐานที่ตัวเองรับได้แล้วในระยะเวลาเท่านี้
แต่มันก็มีเรื่องไม่คาดคิดอยู่เหมือนกัน นั่นก็คือ…. ฉันพิมพ์ผิดไปหนึ่งตัวอักษรและมารู้เรื่องนี้ 1 วันก่อนนำผลงานจริงไปส่งอาจารย์
จุดนี้ถือเป็นความสะเพร่าของฉันเองที่ไม่ดูหน้าเครดิตให้ละเอียดก่อนส่งพิมพ์ แต่โชคยังดีที่อาจารย์บอกว่าสามารถพิมพ์แก้คำที่ถูกแล้วตัดแปะทับได้ ฉันก็เลยต้องทำวิธีนั้นอย่างไม่อาจเลี่ยงได้ ถึงกระนั้นก็ถือว่าผลงานธีสิสของฉันก็เสร็จสมบูรณ์ได้ในที่สุด เย่
นิทานเรื่องนี้จึงสอนให้รู้ว่า ตั้งสติก่อนสตาร์ท ไม่อย่างนั้นจะมาเจ็บใจกับจุดผิดพลาดเล็ก ๆ ในผลงานของเรา ฮือ ฮือ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in