จากบทที่แล้วฉันได้เล่าไปว่าก่อนจะเป็นงานธีสิสปัจจุบันที่กำลังพัฒนาอยู่มีไอเดียใดบ้างที่ถูกตัดทิ้งไปและถูกเลือกมาใช้ ดังนั้นบทนี้ฉันจะเล่าถึงการเปลี่ยนหัวข้ออีกครั้งในช่วงเขียน Proposal ส่งอาจารย์ ซึ่งฉันมั่นใจว่าหลาย ๆ คนก็คงมีการเปลี่ยนหัวข้อชิ้นงานธีสิสในช่วงนี้ไม่ต่างกัน
เรื่องมีอยู่ว่าหลังจากนำเสนอหัวข้อไปครั้งแรก ฉันได้รับความเห็นจากอาจารย์ทั้ง 5 ท่านว่า หัวข้อน่ารักน่าสนใจแล้วก็น่าสนุกดี แต่มันก็ยังเหมือนขาดอะไรบางอย่างที่ทำให้งานน่าสนใจ แน่นอนว่าฉันก็เห็นด้วยเพราะหัวข้อที่เลือกไปนำเสนอนั้นค่อนข้างจืดสนิท ดูไม่โดดเด่นหรือแปลกใหม่อะไรเลยเมื่อเทียบกับหัวข้อของเพื่อน ๆ ฉันจึงเริ่มสืบค้นข้อมูลแล้วศึกษาตลาดใหม่ ว่าหัวข้อไหนบ้างที่เราพบไม่มากนักในตลาดหนังสือเด็กของไทย แล้วฉันก็บังเอิญไปเจอโพสต์หนึ่งบน Facebook เกี่ยวกับศูนย์จัดกิจกรรมสำหรับเด็กในต่างประเทศซึ่งมีผู้สูงอายุร่วมทำกิจกรรมด้วยภายใต้แนวคิด Intergeneration ที่ต้องการให้เด็กและผู้สูงอายุเสริมสร้างพัฒนาการด้านอารมณ์ สังคม และจิตใจร่วมกัน จากนั้นฉันจึงศึกษาเพิ่มเติมและพบว่าศูนย์จัดกิจกรรมหรือ Care Center ลักษณะนี้พบได้อย่างแพร่หลายในประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา และอังกฤษ ทั้งยังมีผลวิจัยรองรับด้วยว่าการจัดกิจกรรมให้คนสองวัยทำร่วมกันเช่นนี้ส่งผลดีต่อเด็กและผู้สูงวัย คราวนี้ฉันจึงลองหาข้อมูลและการวิจัยในประเทศไทยบ้าง แต่ผลลัพธ์ที่ได้ออกจะเป็นแง่ลบเสียมากกว่าและมักเป็นการพูดถึงความอ่อนล้า เหนื่อยใจ ของผู้สูงวัยที่ต้องดูแลเด็กเล็กในครอบครัว ฉันเลยตัดสินใจว่าจะเลือกหัวข้อนี้แหละมาประยุกต์เป็นงานธีสิสของตัวเอง
แรกเริ่มฉันคิดถึงการจัดโครงการ แต่เมื่อลองปรึกษาเพื่อน ๆ และลองหาข้อมูลเพิ่มเติมแล้วดูก็พบข้อจำกัดมากมายหลายอย่าง ทั้งสถานที่ดำเนินงาน รูปแบบกิจกรรม ไปจนถึงการประชาสัมพันธ์ให้เด็กและผู้สูงวัยมาร่วมโครงการ แนวคิดนี้จึงถูกปัดตกไปและเปลี่ยนเป็นการทำหนังสือภาพซึ่งฉันมั่นใจว่าเป็นหนทางเดียวที่ฉันสามารถทำได้ด้วยแรงใจและแรงกายที่มีในตอนนี้ หลังจากประกาศอาจารย์ที่ปรึกษาฉันจึงเริ่มเดินหน้าคิดเนื้อเรื่องและวาด story board ซึ่งฉันจะเล่าถึงการปรับปรุงเนื้อเรื่องในบทนี้
เริ่มแรกฉันเลือกต่อยอดเนื้อหาจากเค้าโครงเรื่อง ยุกยิกย้อกแย้ก โดยเลือกใช้ตัวละครเป็นคู่คุณปู่และหลาน อีกทั้งยังเลือกใช้ตัวละครเป็นแมวอีกด้วย ในช่วงเเรกพล้อตที่มีค่อนข้างหลากหลาย ทั้งที่ฉันเลือกใช้และตัดทิ้งไปดังต่อไปนี้
-พล็อตที่ 1 : หลานชายและปู่ต้องไปทำภารกิจบางอย่างด้วยกัน เล่าเรื่องผ่านจินตนาการของหลานว่าพวกเขาเป็นอัศวินสองคนที่ต้องออกไปผจญภัยด้วยกัน (พล็อตแรก ๆ ที่คิดออกแต่ไม่ได้ใช้)
- พล็อตที่ 2 : ปู่แมวที่อายุมากที่สุดในโลกอาศัยอยู่ตามลำพังในบ้านหลังน้อยบนเนินเขาโดดเดี่ยว คุณปู่มักลงจากเนินเขามานั่งดูเด็ก ๆ ในหมู่บ้านวิ่งเล่นด้วยกัน วันหนึ่งว่าวของเด็ก ๆ ขึ้นไปติดอยู่บนต้นไม้ทุกคนจึงหาทางช่วยกันนำว่าวลงมา (อ่านพล็อต https://www.shorturl.asia/hLp5q )
- พล็อตที่ 3 : เด็กชายคนหนึ่งย้ายบ้านมาใหม่และรู้สึกผิดหวังที่มีเพื่อนบ้านเป็นคนแก่ เด็กชายไม่เคยสนใจเพื่อนบ้านสูงวัยคนนี้เลยจนกระทั่งวันหนึ่งทั้งสองก็มีโอกาสได้เรียนและพูดคุยกันจนสามารถสนิทกันได้ในท้ายที่สุด (อ่านพล็อต https://shorturl.asia/DFX40 )
ทั้งสามพล็อตนั้นผ่านการเขียนและปรับปรุงมาเรื่อย ๆ แต่ก็ไม่ลงตัวเสียที จนกระทั่งฉันคิดพล็อตใหม่ขึ้นมาได้อีกหนึ่งพล็อตซึ่งฉันก็เรียกมันอย่างตลก ๆ ว่า “พล็อตผีบอก” เนื่องจากจู่ ๆ ก็คิดออกแถมยังเขียนได้ไหลลื่นยิ่งกว่าพล็อตอื่นที่คิดและเขียนในเวลาเดียวกัน (แถมในทีเเรกยังเขียนเป็นภาษาอังกฤษเสียด้วยแต่พอเขียนไปสักพักจากภาษาอังกฤษก็กลายเป็นภาษาไทย ฉันจึงต้องย้อนกลับไปแปลส่วนต้นของเนื้อเรื่องให้กลายเป็นภาษาไทยด้วย) ไม่เพียงเท่านั้นยังเป็นพล็อตที่อาจารย์ที่ปรึกษาปรับแก้น้อยที่สุดอีกด้วย ฉันจึงตัดสินใจใช้พล็อตนี้เป็นพล็อตหลักในการทำชิ้นงานธีสิส โดยมีชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า “คุณยายของหนูเป็นผู้วิศษ”
คุณยายของหนูเป็นผู้วิเศษ เกี่ยวกับเด็กหญิงคนหนึ่งซึ่งเชื่อว่าโลกใบนี้มีเวทมนตร์อยู่จริงและเชื่อว่าคุณยายของเธอนี่แหละคือ ผู้วิเศษ แม้ว่าสิ่งที่คุณยายทำจะเป็นเรื่องธรรมดาทั่วไปก็ตาม ทั้งนี้ฉันมีความตั้งใจที่จะสื่อว่า บางสิ่งแม้ดูธรรมดาสามัญแต่หากการกระทำเหล่านั้นทำด้วยความรัก ความเอาใจใส่ มันก็สามารถกลายเป็นสิ่งพิเศษสำหรับใครอีกคนได้เหมือนกัน ไม่เพียงเท่านั้นฉันยังมีโอกาสได้ถามตนเองถึงสาเหตแท้จริงที่ทำให้สามารถเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับยายหลานออกมาได้ดีที่สุดก็คงเป็นเพราะประสบการณ์ส่วนตัวกระมัง ในบรรดาญาติผู้ใหญ่คนที่ฉันสนิทที่สุดคือ คุณยาย ส่วนคุณย่าก็เสียไปตั้งแต่ฉันอนุบาล คุณปู่และคุณตายิ่งไม่ต้องพูดถึง ฉันไม่มีความทรงจำเกี่ยวกับพวกท่านด้วยซ้ำ เนื่องจากคุณปู่เสียชีวิตตั้งแต่พ่อฉันยังเด็ก ส่วนคุณตาก็หย่ากับคุณยายไปตั้งแต่แม่ยังเด็ก ดังนั้นพอลองย้อนกลับไปอ่านพล็อตก่อนหน้าที่มีตัละครหลักเป็นคู่หลานกับปู่หรือตา ฉันจึงไม่สามารถเขียนให้ออกมาดีได้เลยสักพล็อต
บางทีมันคงเป็นโชคชะตาแล้วกระมัง ฉันก็เลยตั้งใจว่าอยากทำผลงานธีสิสเรื่องนี้ให้คุณยายของฉัน ฉันอยากบอกยายว่าฉันรักท่านมากแค่ไหนและมีท่านเป็นต้นแบบในหลาย ๆ ด้าน (ขณะที่กำลังพิมพ์ประโยคนี้ฉันก็ร้องไห้ไปด้วยเพราะคิดถึงยาย แต่ท่านยังสบายดีนะแค่ช่วงหลังฉันไม่ค่อยมีโอกาสได้ไปเยี่ยมท่านที่ต่างจังหวัดเท่านั้นเอง ฮา)
โอเค กลับมาที่เนื้อหาและการดำเนินงาน 30% หลังจากได้พล็อตแล้วเรียบร้อย ฉันก็ดำเนินการปรับแก้เนื้อหามาโดยตลอดพร้อมกับวาด Thumbnail Storyboard และออกแบบตัวละครควบคู่ไปด้วย เริ่มแรกฉันวางเนื้อหาและภาพเอาไว้ที่ 24 หน้า แต่หลังจากหารือกับอาจารย์ที่ปรึกษาแล้วจึงตัดสินใจเพิ่มเป็น 32-36 หน้า เพื่อให้สามารถใส่รายละเอียดเพิ่มเติมได้และเสริมให้เนื้อเรื่องกลมกล่อม สมบูรณ์มากขึ้น และพร้อมนำเสนอความคืบหน้าในชั้นเรียนเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา
อ่านพล็อต “คุณยายของหนูเป็นผู้วิเศษ”
ฉบับแรกสุด https://shorturl.asia/BzsH3
ฉบับปรับแก้ล่าสุด (ครั้งที่ 4) https://shorturl.asia/3ITvJ
Thumbnail Storyboard และ Character Design
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in