วรรณกรรมอมตะต่อจาก #คุณพ่อขายาว
คิดว่าใครหลาย ๆ คนที่เคยอ่านคุณพ่อขายาว ต่างก็ประทับใจและเพลิดเพลินไปกับวิธีการเล่าเรื่องที่จีนเว็บสเต้อร์เลือกใช้ เช่นเดียวกันกับคู่อริที่รัก เอกลักษณ์และเสน่ห์ในงานเขียนทั้งสองเรื่องของจีนก็คือนวนิยายที่เขียนในรูปแบบของจดหมายโต้ตอบกัน
หากเคยอ่านคุณพ่อขายาวมาก่อนแล้วก็จะทราบว่าจูดี้นั้นมีเพื่อนสนิทที่รักมากอยู่คนหนึ่งในสมัยที่เรียนวิทยาลัยด้วยกัน คือ แซลลี่ แมคไบรด์ สาวผมแดงสีโดดเด่น เติบโตมาจากครอบครัวที่ดีและอบอุ่น
คู่อริที่รักเป็นภาคต่อจากคุณพ่อขายาว ซึ่งยังคงความสนุกและน่าสนใจในรูปแบบของนวนิยายจดหมายไว้ได้อย่างดีเยี่ยม ทั้งสำนวนการแปลของคุณสังวรณ์ ไกรฤกษ์ที่แปลได้สละสลวย มีชีวิตชีวา น่าติดตามเหมือนเคย โดยจะเล่าในมุมมองของแซลลี่ ผ่านจดหมายที่ส่วนมากแล้วเธอจะใช้คุยโต้ตอบกับจูดี้ เพื่อนรัก ถึงชีวิตในฐานะผู้ดูแลสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าจอห์น เกรีย
แซลลี่ แมคไบรด์ ไม่เคยคิดว่าตนเองจะทำหน้าที่ของผู้ดูแลซึ่งวันหนึ่งจะสามารถผูกพัน นึกรัก และรับผิดชอบดูแลความเป็นอยู่ของเด็กกำพร้าจำนวนนับร้อยได้ ที่นี่เธอมีคู่อริอยู่หลายคนเลยทีเดียว เนื่องจากการเป็นผู้ดูแลทำให้เธอมองเห็นความสำคัญในคุณภาพชีวิตของเด็ก ๆ มาเป็นอันดับหนึ่ง ทั้งการปฏิรูปบ้านจอห์น เกรียก็ยังเป็นเรื่องที่ยาก ใหม่ และต้องเรียนรู้เพิ่มในทุก ๆ วัน ทำให้อาจจะมีเรื่องกระทบกระทั่งกับผู้คนรอบข้างบ้าง แต่จะมีคู่อริอยู่คนหนึ่งที่แซลลี่ต้องพึ่งพาและขอคำปรึกษาในฐานะคุณหมอประจำสถานเด็กกำพร้า นั่นก็คือคุณหมอชาวสก็อต โรบิน แม็คเร ชื่อเรื่อง “คู่อริที่รัก” นี้ก็มีที่มาจากการที่แซลลี่มักเขียนจดหมายถึงเขา และคำขึ้นต้นจดหมายก็คือ “คุณคู่อริ” ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าแม้ทั้งสองจะมีทรรศนะความเห็นที่ไม่ตรงกันและทำให้เกิดเรื่องทะเลาะเบาะแว้งอยู่บ้าง แต่ระหว่างคนทั้งคู่ต่างก็มีความเห็นอกเห็นใจ ความผูกพัน และมีสิ่งที่เชื่อมให้แซลลี่และแม็คเรสามารถมีชีวิตการงานและชีวิตรักควบคู่กันไปได้อย่างการดูแลสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าจอห์น เกรีย
ความรู้สึกของเราที่มีต่อเรื่องนี้ — ยังรู้สึกเหมือนเดิมว่าผลงานของจีน เว็บสเต้อร์ ไม่ได้เน้นที่เรื่องของความรักเป็นหลัก ตั้งแต่จากเรื่องของคุณพ่อขายาว แต่เพราะเราอ่านฉบับการ์ตูนของเรื่องนั้นมาก่อน จึงมองเห็นภาพถึงความรักของตัวละครหลัก แต่เรื่องนี้ที่อ่านจากตัวนิยายโดยตรง เราเลยมองไม่ค่อยเห็นในความรักของแซลลี่กับหมอแม็คเร แต่ก็ชอบที่เน้นไปที่การเล่าเรื่องชีวิตประจำวัน เรารู้สึกว่าทั้งสองเรื่องที่เป็นภาคต่อกันของจีน เว็บสเต้อร์ก็ไม่ได้เน้นในด้านความรักมากนัก ภาษาและวิธีการดำเนินเรื่องต่างหากที่ทำให้ทั้งสองเรื่องนี้สนุกและมีชีวิตชีวา ขณะที่คุณพ่อขายาวเล่าถึงเรื่องของชีวิตในวิทยาลัย เรื่องคู่อริที่รักกลับเป็นเรื่องราวในวัยทำงาน เป็นช่วงชีวิตที่โตขึ้น มุมมองของแซลลี่บางครั้งเหมือนจูดี้มาก ๆ เหมือนเรากำลังอ่านไดอารี่ของจูดี้อยู่เลย คงเพราะคุณพ่อขายาวเป็นเรื่องที่เราชอบมาก ๆ เมื่อวัยเด็กจากภาพจำของการอ่านการ์ตูน พอมาอ่านฉบับนิยายแล้วจึงรู้สึกเนือย ๆ และไม่ค่อยน่าติดตามสักเท่าไร แต่เราก็ยอมรับในความอมตะของทั้งสองเรื่อง เพราะสำนวนภาษาของจีน เว็บสเต้อร์ดีมาก ๆ เพลิดเพลินและอ่านได้ไม่มีเบื่อ ดังนั้นสำหรับเราก็เลยถือว่าตามเก็บนวนิยายอมตะที่อยากอ่านได้ครบชุดแล้ว เป็นการเสพความงามของภาษาและสร้างความบันเทิงใจให้ตัวเองที่ดีอีกเรื่องหนึ่ง
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in