เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
A Little Story of My LifeSorawit Pakdeeasa
ชุดครุย: เกียรติภูมิ สังคม และอำนาจ
  • พิธีพระราชทานปริญญาบัตร หรืองานรับปริญญา เป็นพิธีพระราชทานปริญญาบัตรให้แก่บัณฑิตที่จบการศึกษาในปีนั้นๆ เพื่อแสดงความยินดีอย่างเป็นทางการจากมหาวิทยาลัย นอกจากนั้นแล้วหลังจากที่บัณฑิตเข้าพิธีฯ เรียบร้อยก็จะมีการถ่ายภาพแสดงความยินดีกับญาติสนิทมิตรสหายที่มาจากหลายที่ นับว่าเป็นวันที่บัณฑิตพบปะผู้คนที่สำคัญในชีวิตมากที่สุดวันหนึ่ง และในขณะเดียวกันก็เป็นวันที่กินพลังงานชีวิตมากที่สุดวันหนึ่งเช่นเดียวกัน

    ในวันนั้นเอง บัณฑิตที่ทั้งเข้าและไม่เข้าพิธีพระราชทานปริญญาบัตรต้องสวมชุดครุยอันแสดงถึงการจบการศึกษา ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นการแสดงออกถึงการเป็นปัญญาชนและความภาคภูมิใจในสถาบันที่ตนเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษา ที่ไม่ใช่แค่ตัวบัณฑิตเองที่ภูมิใจ แต่บรรดาคนรอบข้างก็พลอยรู้สึกเช่นนั้นไปด้วย

    แล้วในยุคที่ผู้คนเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับ "ความภาคภูมิใจ" และ "เกียรติภูมิ" ที่ทางมหาวิทยาลัยและสังคมได้ปลูกฝังไว้จากรุ่นสู่รุ่น งานรับปริญญายังจำเป็นอยู่หรือไม่?

    เพราะอีกนัยหนึ่ง นอกจากที่งานรับปริญญาจะเป็นการแสดงความยินดีแก่บัณฑิตแล้วนั้น งานนี้ยังแฝงไปด้วยเกียรติภูมิและกฎระเบียบต่างๆ ที่บัณฑิตต้องปฏิบัติตาม ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่าง "ชุดครุย" ที่ถูกกล่าวอ้างว่าศักดิ์สิทธิ์ มีเกียรติ เป็นเครื่องแสดงความเป็นปัญญาชน ฯลฯ เพราะฉะนั้นแล้วบัณฑิต "ไม่สมควร" ใส่ชุดครุยโดยพลการ จะต้องใส่ในโอกาสพิเศษเท่านั้น

    แล้วการออกไปกินหมูกระทะกับเพื่อนนับว่าเป็นโอกาสพิเศษหรือไม่?

    กล่าวคือในตอนนี้ความคิดเรื่องชุดครุยแตกออกเป็น 2 ความคิดหลักๆ ที่ค่อนข้างมีส่วนเกี่ยวข้องกับรุ่นในสังคม อันได้แก่

    1. ชุดครุยเป็นชุดทรงเกียรติ—นำโดยบัณฑิตที่จบการศึกษาไปนานพอสมควร เรียกง่ายๆ คือเหล่าคุณลุงคุณป้าวัย 40-50 ที่เคยเป็นศิษย์เก่า เติบโตมาในยุคสมัยที่วาทกรรมเหล่านี้รุ่งเรือง มองว่าชุดครุยเป็นชุดที่สูงส่ง ไม่ควรนำมาใส่เล่น เพราะได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ เป็นเครื่องแสดงความเป็นปัญญาชน จึงมีเกียรติและศักดิ์สิทธิ์เป็นอย่างมาก

    2. ชุดครุยเป็นชุดธรรมดาสามัญ—นำโดยบัณฑิตที่เพิ่งจบการศึกษาและจบการศึกษาได้ไม่นานมานี้ ตื่นรู้และรู้เท่าทันวาทกรรม และไม่ตกอยู่ใต้อำนาจ อีกทั้งยังตั้งคำถามเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง มองว่าชุดครุยคือชุดชุดหนึ่งที่ใช้ใส่เข้าพิธีพระราชทานฯ สามารถนำมาใส่เล่นได้เพราะเป็นเพียงอาภรณ์ประดับร่างกาย และซื้อมาด้วยเงินของตนเอง ไม่ใช่ของพระราชทานจากใคร ดังนั้นเจ้าของจึงมีอำนาจสูงสุด

    สองชุดความคิดนี้กำลังโต้เถียงอยู่ภายใต้สังคมเดียวกัน ฝั่งแรกยืนหยัดในความคิดของตนเองว่าชุดความคิดนี้จริงแท้แน่นอน ผู้ใดที่เห็นต่างก็ไม่ควรมายุ่ง ในขณะที่อีกฝั่งพยายามตั้งคำถามถึงความคิดความเชื่อของฝั่งตรงข้าม อีกทั้งแสดงจุดยืนของตนว่าชุดครุยมิได้เป็นชุดอันทรงเกียรติและศักดิ์สิทธิ์ แต่ความรู้ต่างหากที่เป็นสิ่งแสดงความเป็นปัญญาชนและมีเกียรติสูงสุด ถ้าคุณเชื่อว่าชุดครุยเป็นเครื่องแสดงความเป็นปัญญาชนจริงแสดงว่าคุณกำลังลดทอนคุณค่าของความรู้ให้กลายเป็นเพียงเครื่องประดับร่างกายเพียงเท่านั้นหรือ?

    หากถามความเห็นส่วนตัวแล้ว ในฐานะที่ตนเองโตมากับแนวคิดทั้งสองแนวคิดตั้งแต่เด็กๆ การเข้าใจ การประนีประนอม และการเคารพกันและกันดูเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุด คนรุ่นเก่าควรทำความเข้าใจว่าเกียรติภูมิและความศักดิ์สิทธิ์ในชุดครุยเป็นการประกอบสร้างทางสังคมที่มีผลเพียงช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น เมื่อมันเดินทางผ่านกาลเวลาแล้วเกิดมีคนตั้งคำถามและหาคำตอบได้ เมื่อนั้นสิ่งที่สังคมให้คุณค่าก็จะหมดหน้าที่ไป ในขณะเดียวกันคนรุ่นใหม่ก็ควรทำความเข้าใจบริบทว่าคนรุ่นเก่าถูกปลูกฝังให้เชื่อแบบนั้นจากผู้มีอำนาจซึ่งก็คือมหาวิทยาลัยและระบบโซตัส นั่นคือที่มาว่าเพราะเหตุใดคนรุ่นลุงป้ามีความรักและเทิดทูนสถาบันยิ่งกว่าสิ่งใด และภาคภูมิใจที่ตนจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยนั้นๆ 

    ทั้งนี้ หากคนรุ่นใหม่ต้องการการเปลี่ยนแปลงก็อาจเป็นไปได้ แต่คิดว่าต้องใช้เวลาพอสมควร เพราะอย่าลืมว่าเรากำลังอยู่ในสังคมที่ไม่ได้มีแค่ชุดความคิดเดียว ยังมีความคิดที่แตกต่างอีกมากมาย และบางทีคนที่มีความคิดเห็นต่างกับเราอาจมาในรูปแบบของครอบครัว แบบนั้นยิ่งทำให้เราต้องกลับมาทบทวนและตระหนักถึงความสัมพันธ์ที่ยังสานกันอยู่อย่างแยกขาดไม่ได้ พวกเขายังมองว่าชุดครุยเป็นชุดอันทรงเกียรติและผู้ที่สวมชุดอันทรงเกียรตินี้ไม่สมควรประพฤติผิดแปลกหรือบั่นทอนความศักดิ์สิทธิ์ของชุด แต่หากใครที่สามารถตัดสายสัมพันธ์ครอบครัวได้คือไม่แคร์ว่าใครจะคิดอย่างไร หรือครอบครัวเองก็ไม่แคร์เรื่องชุดครุยและความศักดิ์สิทธิ์ ก็ขอแสดงความดีใจด้วย

    ประเด็นเรื่องชุดครุยเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องความแตกต่างทางความคิดในสังคม ความเห็นต่างไม่ได้มีแค่ประเด็นนี้ประเด็นเดียว แต่ยังมีประเด็นอีกมากมายที่ความเห็นต่างระหว่างรุ่นยังคงดำเนินอยู่ เมื่อเราทำความเข้าใจและมองภาพกว้างๆ ให้เห็นสาเหตุของความเห็นต่างแล้ว เมื่อนั้นเราก็จะแสดงความคิดเห็นระหว่างกันด้วยความเคารพและไม่นำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้ง
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in