แล้ว “เสื้อผ้าตลาดล่าง” นับว่าเป็นผลที่มาจากปรากฏการณ์ Trickle Down ใช่หรือไม่?
Trickle Down คืออะไร? Trickle Down คือรูปแบบของการยอมรับผลิตภัณฑ์ในด้านการตลาดที่มีผลต่อสินค้าและบริการต่อผู้บริโภค โดย Trickle Down เป็นลักษณะของกระแสแฟชั่นในแนวตั้ง จากชนชั้นสูงไปยังชนชั้นล่างในสังคม ซึ่งในแต่ละชนชั้นทางสังคมก็จะได้รับอิทธิพลมาจากชนชั้นทางสังคมที่สูงขึ้น โดยมีหลักการที่ขัดแย้งกันสองประการที่เป็นตัวช่วยผลักดันการแพร่กระจายแบบ Trickle Down มากขึ้น คือ กลุ่มสังคมชนชั้นล่างพยายามที่จะสร้างสถานการณ์อ้างสิทธิ์ใหม่โดยการนำแฟชั่นของกลุ่มสังคมชนชั้นสูงมาเลียนแบบ ในขณะที่กลุ่มสังคมชนชั้นสูงตอบสนองโดยการนำแฟชั่นใหม่ ๆ มาใช้เพื่อแยกตัวเองจากชนชั้นล่าง สิ่งเหล่านี้จึงกระตุ้นให้เกิดวัฏจักรของการเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีที่สิ้นสุด ขับเคลื่อนแฟชั่นไปข้างหน้า เนื่องจากแบบเริ่มแรกของแฟชั่นอาจมีราคาแพงจนมีเพียงคนรวยเท่านั้นที่สามารถซื้อได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปราคาจะลดลงจนกว่าจะมีราคาไม่แพงพอที่ประชาชนทั่วไปจะซื้อได้
“เสื้อผ้าตลาดล่าง” นับว่าเป็นผลที่มาจากปรากฏการณ์ Trickle Down หรือไม่นั้น อย่างที่เรากล่าวไปข้างต้น ว่า ปรากฏการณ์ Trickle Down เป็นลักษณะของกระแสแฟชั่นที่มีอิทธิพลมาจากชนชั้นสูงไปสู่ชนชั้นล่างของสังคม กล่าวโดยง่ายคือTrickle Down มีลักษณะที่มีเพียงคนรวยเท่านั้นที่สามารถซื้อได้ ส่วนคนธรรมดาที่มีรายได้ปานกลางไปจนถึงต่ำทำได้เพียงแค่รอให้ราคาลดลงแล้ว จึงจะสามารถซื้อได้ แต่กว่าจะซื้อได้นั้นชนชั้นสูงหรือคนรวยที่มีกำลังซื้อ ก็กำลังจะมีแฟชั่นใหม่ๆ เกิดขึ้นไปเรื่อย ๆ ส่วน “เสื้อผ้าตลาดล่าง” ตามที่ได้พูดคุยกันไปข้างต้นเกี่ยวกับคำนี้ “เสื้อผ้าตลาดล่าง” เป็นเพียงลักษณะคำนิยามที่นำมาใช้ในการเลือกซื้อเสื้อผ้า โดยการพิจารณาจากปัจจัยราคาที่แบ่งตามกลุ่มเป้าหมายการค้าของโลกธุรกิจ ซึ่งการที่เสื้อผ้าเหล่านั้นมีราคาที่แตกต่างกันออกไปอาจจะมีปัจจัยมาจากกระบวนการผลิตการเลือกใช้วัสดุ หรือแม้แต่การออกแบบความคิดสร้างสรรค์ ดังนั้น Price Tag บนเสื้อผ้าเองก็ไม่สามารถที่จะบ่งบอกว่าชิ้นไหนอยู่ในตำแหน่งและฐานะชนชั้นไหนของตลาดบน ตลาดกลาง หรือตลาดล่างได้เลย เพราะปัจจัยที่อ่อนไหวทั้งหลายนั้นขึ้นอยู่กับความชอบส่วนตัวหรือความจำเป็นในการใช้งานของบุคคลที่มีต่อเสื้อผ้าชิ้นนั้นๆ มากกว่า หากยังไม่เห็นภาพ ลองนึกถึงตัวอย่างนี้ดูค่ะ เช่น นักธุรกิจคนหนึ่งที่ชื่นชอบการสวมใส่เสื้อผ้าหรูหราทำให้เขาเลือกสวมใส่ชุดสูท ErmenegildoZegna ราคาเรือนแสนกับรองเท้าหนังชั้นยอดราคาห้าหลักอย่าง Berluti ที่สามารถตอบโจทย์การใช้ชีวิตของเขาได้อย่างไม่บกพร่องแต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไปความชื่นชอบ ความหลงใหลในความหรูหราของเขาได้ลดทอนลงไปไม่ว่าจะความสามารถในการหารายได้หรือความมัธยัสถ์เข้ามาแทนที่ นักธุรกิจคนนี้อาจจะเจียดเงินที่มีมาเลือกซื้อเสื้อผ้าระดับ Fast Fashion อย่าง Uniqlo, Muji,H&M หรือ Zara ที่ไม่ได้มีความหรูหราเท่าในอดีตแต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะต้องกลายผู้ถูกตราหน้าว่า “คุณคือคนที่ใส่เสื้อผ้าตลาดล่าง” เพราะฉะนั้นแล้วเราจึงมองว่าสิ่งที่ทำให้เสื้อผ้าดูเป็นสิ่งที่ไม่มีคุณค่าแบบตลาดล่างนั้นมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับมูลค่าของสินค้าหากแต่เป็นพฤติกรรมที่น่ารังเกียจต่างหากที่จะเป็นตัวแบ่งว่าคนคนนั้นคือคนที่มีความคิดแบบ ผู้บริโภคตลาดล่าง หรือไม่ ? ดังนั้นแล้วจึงสรุปได้ว่าคำว่า “เสื้อผ้าตลาดล่าง” นั้น ไม่ใช่ผลที่มาจากปรากฏการณ์ Trickle Down แต่เป็นเพียงคำนิยามที่มาจากพฤติกรรมที่ไม่ดีของผู้บริโภคบางกลุ่มนั่นก็คือ ผู้บริโภคแบบตลาดล่าง นั่นเอง
สำหรับพฤติกรรมที่บ่งบอกถึงความเป็นผู้บริโภคแบบตลาดล่าง โดยเราเชื่อว่าน่าจะช่วยตอบคำถามที่ค้างคาใจได้อย่างเห็นภาพมากขึ้น คือ พฤติกรรมตลาดล่างอย่างแรกที่สามารถเห็นภาพได้ชัดเจนมากคือการใช้จ่ายเกินตัวจนเป็นหนี้ ในที่นี้หมายถึงการซื้อเสื้อผ้ามาโดยที่ไม่รู้ถึงมูลค่าที่แท้จริงของสินค้าแต่อาศัยว่าอันนั้นดีอันนี้ต้องได้มา หรืออะไรที่เกี่ยวกับว่า “ของมันต้องมี” โดยที่ไม่เคยศึกษาอะไรเลย และพฤติกรรมของการบริโภคที่บ่งบอกถึงความเป็นตลาดล่างอีกประการคือ การเหยียดผู้อื่นโดยไม่ได้หันกลับมาดูตัวเองว่าเราทำได้ดีรึยัง ซึ่งแน่นอนว่าพฤติกรรมแบบนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งที่มนุษย์อย่างเรามักจะโอ้อวดถึงความโก้หรูของตนเองเพื่อบอกถึงรสนิยมและความเป็นอยู่ที่สุขสบายและแน่นอนว่าเสื้อผ้าเครื่องประดับก็เป็นหนึ่งในทางเลือกในการโอ้อวดได้ดีที่สุดทางหนึ่งเพราะการเกาะกระแส ความหายากของเสื้อผ้าชิ้นนั้นๆเป็นสิ่งที่สามารถบ่งบอกถึงความทันสมัย ไม่เหมือนหรือซ้ำกับใคร แม้แต่สิ่งที่คุณภูมิใจว่าได้ครอบครองนั้นจะมีราคาแพงหรือเรื่องราวที่มากมายกว่าจะได้มาครอบครองแค่ไหนก็ไม่ได้ช่วยให้คุณหนีจากความเป็นคนที่มีแนวคิดแบบตลาดล่างได้เลย
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องความชอบของแต่ละคนในเรื่องแฟชั่นการแต่งตัวนั้น คงจะเป็นเรื่องที่ถูกถามบ่อยครั้งไม่เคยจบสิ้นเพราะการที่เราจะเลือกหยิบจับอะไรก็ล้วนแต่เป็นเรื่องของสิทธิและความชอบส่วนตัวของเราโดยที่ไม่มีอะไรถูกหรือผิดแม้แต่น้อย ที่สำคัญเลยคือ การจะนำเอาเกณฑ์การแบ่งชนชั้นของคนอย่าง “ราคา” มาเป็นเกณฑ์วัดก็คงจะเป็นเรื่องที่ไร้เหตุผลเกินไป สุดท้ายแล้ว เราอยากจะทิ้งไว้เป็นข้อคิดสำหรับผู้ที่กำลังจะทำหรือกำลังทำพฤติกรรมเช่นนี้อยู่นั้น คือควรที่จะลด ละเลิกพฤติกรรมที่ไม่ดีแบบนั้นไปดีกว่า เพราะมันไม่ใช่ความคิดที่ดีเท่าไหร่ทางที่ดีเราควรที่จะเดินทางสายกลาง ไม่ทำให้ตัวเองและคนอื่นต้องเดือดเนื้อร้อนใจก็เป็นพอ เพียงเท่านี้ไม่ว่าเสื้อผ้าที่คุณสวมใส่อยู่จะเป็นของที่มีมูลค่าถูกหรือแพงแค่ไหน ก็สามารถทำให้คุณภาคภูมิใจและมั่นใจได้เช่นกันค่ะ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in