สิ่งหนึ่งที่เราสัมผัสได้ตั้งแต่วันแรกในประเทศอินเดียคือความบ้ากล้องของคนที่นี่ โดยเฉพาะเหล่าพ่อค้าแม่ขายตามตลาดร้านรวงต่างๆ ตอนแรกงงมากว่าเขากวักมือเรียกเราทำไม ผ่านร้านนี้ก็เรียก ร้านนั้นก็เรียก หลังๆ เจอคนทั่วไปก็มีพฤติกรรมไม่ต่างกัน พอเดินเข้าไปหาถึงได้รู้ว่า…
การกวักมือเรียกนั้นไม่ได้จะขายของ ไม่ได้จะไถเงิน แต่หมายความว่า ‘ถ่ายรูปให้หน่อย’ ต่างหาก
ถ่ายรูปเสร็จเราก็ยื่นให้นางแบบและนายแบบจำเป็นดู เช็กรูปของตัวเองกันจนยิ้มน้อยยิ้มใหญ่แล้วก็แล้วกันไป ไม่มีการตามตื๊อให้ซื้อของแต่อย่างใด บางคนชอบใจหนักมากก็ชูนิ้วโป้งขึ้นมาทั้งสองข้างพร้อมกับยิ้มกว้างจนเห็นฟันครบแทบทุกซี่ เล่นเอาคนถ่ายเขินจนหน้าบานเลย
-1-
คนแรกที่ขอให้เราถ่ายรูปให้คือพ่อค้าขายน้ำผลไม้ซึ่งใส่เสื้อสีเหลืองในรูปด้านล่าง ที่สถานีขนส่งแห่งใหญ่ที่สุดในเมืองเบงกาลูรูชื่อว่า 'Kempegowda Bus Station' หรือที่คนท้องถิ่นเรียกกันสั้นๆ ว่า 'Majestic' ตอนแรกเรากะว่าจะถ่ายภาพรวมของร้านที่มีผลไม้ห้อยระโยงระยางอยู่หน้าร้าน แต่พี่เขาดันรู้ตัวเลยกวักมือเรียกให้เราเข้าไปถ่ายรูปเขาแทน
หลังจากที่ชื่นชมภาพของตัวเองแล้วถูกอกถูกใจจนเกินเบอร์ จึงลากเราไปถ่ายรูปเขาคู่กับเพื่อนซึ่งเป็นพ่อค้าร้านขายของในละแวกเดียวกัน วิ่งเข้าวิ่งออกร้านเพื่อนฝูงอยู่หลายรอบ ลูกค้ามายืนรอซื้อน้ำผลไม้ก็ไม่สนใจ "ก็พี่จะถ่ายรูป" พี่เขาไม่ได้กล่าวไว้
-2-
นอกจากการกวักมือเรียกแบบธรรมดาๆ แล้ว คุณลุงคนขับออโต้ริกชอว์ รูปแบบการคมนาคมที่เห็นได้ทั่วไปในอินเดีย ลักษณะคล้ายกับตุ๊กตุ๊กบ้านเรา ต่างกันตรงที่มีมีเตอร์ แต่ชอบปฏิเสธลูกค้าและแอบเนียนไม่กดมีเตอร์เหมือนแท็กซี่ไทยบางคัน ยิ่งตอกย้ำถึงความบ้ากล้องให้เรามั่นใจได้มากยิ่งขึ้นไปอีก
คุณลุงจะไม่ต่างอะไรกับคนอื่นๆ ที่ขอให้เราถ่ายรูปให้เลย ถ้าคุณลุงไม่มาจับแขนเราไว้ตอนที่กำลังจะข้ามถนนไปยังป้ายรถเมล์ 'State Bank' ในเมืองมังกาลอร์ เราตกใจมากเพราะสติจดจ่ออยู่กับรถที่ขับขี่กันอย่างเฟี้ยวฟ้าวบนท้องถนน แต่ดันมาถูกยั้งไว้ก่อนที่จะวิ่งข้ามตอนที่รถกำลังเริ่มชะลอตัวหลังจากที่รอมาเนิ่นนาน
"Take pic" คุณลุงพูดสั้นๆ พร้อมกับยิ้มหวาน
ก่อนที่เราจะกดปุ่มชัตเตอร์ถ่ายรูป ผู้โดยสารของคุณลุงซึ่งเป็นหญิงสาวใส่ฮิญาบสีดำก็ชะโงกหน้าออกมาจากเงาของส่วนที่นั่งผู้โดยสารเพื่อจะมีส่วนร่วมในกิจกรรมกลางถนนครั้งนี้ด้วย โอ้โห... ไม่ใช่เล่นๆ แล้ว เสียดายที่ตอนนั้นเราวัดแสงไม่ดี ภาพที่ถ่ายมาจึงดำมืดไปหมดทั้งภาพ แต่ก่อนจะทันได้บอกว่าขอใหม่อีกรอบ คุณลุงก็แล่นฉิวไปไกลแล้ว ทิ้งเราไว้กลางทางจริงๆ ค่ะ
แล้วชาติไหนหนูจะได้ข้ามถนนเนี่ยลุง!
-3-
ตลาดดูจะเป็นสถานที่ที่ถ่ายรูปคนอินเดียได้เป็นอย่างดี เพื่อนเราที่ไปด้วยกันถึงกับบอกว่า "นี่ถ้ามาเดินตลาดทุกวันคงทำอัลบั้ม 'People of Bangaluru' ได้เลยนะ" เพราะตลาดที่อินเดียคึกคักมาก คนเดินกันขวักไขว่
เราเจอพี่ผู้ชายคนหนึ่งที่ตลาดแห่งใหญ่ของเมืองเบงกาลูรูอย่าง 'KR Market' อายุไม่น่าเกิน 30 นั่งขายรองเท้าอยู่ใต้ร่มเงาของผ้าใบสีชมพูแปร๋น เช่นเคย พี่เขาต้องการถ่ายรูป ซึ่งหลังจากดูรูปเสร็จก็ดูท่าจะชอบรูปของตัวเองมากอีกเช่นกัน ก่อนที่เราจะจากไปจึงรีบมารั้งตัวเอาไว้พร้อมพ่นภาษาอังกฤษสำเนียงอินเดียใส่ จับใจความได้แค่ "My love"
เดี๋ยวนะ... แค่ถ่ายรูปให้พี่เลื่อนสถานะให้เลยเหรอ
เดินตามพี่เขาไปสักพักถึงได้เข้าใจว่า อ๋อ ที่เขาพูดคงจะหมายความว่า จะพาไปเจอ "My love" ของเขา นั่นก็คือภรรยาที่กำลังเล่นกับลูกสาววัยไม่น่าเกิน 4 ขวบอยู่ ซึ่งนั่งขายรองเท้าอยู่ร้านถัดกันไปไม่กี่เมตร
โถ่... นึกว่าจะเจอ My love ที่อินเดียแล้วเชียว
-4-
ในขณะที่เรากำลังเดินไปขึ้นรถเมล์กลับที่พัก หลังจากไปเดินดูวัดฮินดูแห่งหนึ่งย่าน 'Kudroli' ในเมืองมังกาลอร์ ก็ได้เจอกับผู้ชายคนหนึ่งนั่งเล่นกับลูกชายอยู่บนมอเตอร์ไซค์หน้าบ้าน พอเห็นพวกเราปุ๊บก็ตามสเต็ปเดิม
''Take pic, take pic"
เนื่องจากตอนนั้นมืดแล้ว ถ่ายไปก็คงไม่สวย ใช้แฟลชก็คงไม่น่าดู เราก็เลยพยายามสื่อสารให้พี่เขารู้ว่ามันไม่เวิร์กหรอก แต่ก่อนจะทันพูดจบพี่เขาก็เดินนำหน้าเข้าไปในบ้าน พร้อมกับชะโงกหัวออกมาเรียกเรากับเพื่อนให้ตามเข้าไป
"Come, come"
กรี๊ด! เอาไงดี ให้เข้าไปในบ้านเลยเหรอ
ณ ตอนนั้นเหมือนโดนป้ายยา ใจง่ายเดินตามพี่เขาเข้าบ้านไปเฉยเลย ซึ่งเราไม่ขอแนะนำให้ทำตามละกัน โชคดีที่คนที่เราเจอไม่ได้มีเจตนาร้ายแต่อย่างใด ในบ้านมีสมาชิกของครอบครัวอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา นับรวมกันได้ 7 คนถ้วน นั่งเรียงกันอยู่บนม้านั่งไม้ขัดเงาดูมีราคาให้พวกเราถ่ายรูป แต่ถามว่าภาพที่ถ่ายมาใช้ได้ไหม ...ไม่ได้ค่า นอยส์กระจาย
-5-
ส่วนคนสุดท้ายคือชายหนุ่มชาวประมงที่ชายหาด 'Ullal' ใกล้ๆ กับเมืองมังกาลอร์ เขาดูจะชื่นชอบการถ่ายรูปมากกว่าใครๆ ที่เราเคยเจอมา มีช่วยคิดมุม ช่วยคิดองศากล้องอย่างดิบดี แต่ก่อนที่เราจะจากไป นายแบบร้อยโพสคนนี้ไม่ยอมปล่อยให้รูปของตัวเองหลุดมือ ซึ่งต่างจากคนอื่นๆ ที่ผ่านมาที่เพียงแค่ต้อง การเช็กดูความเรียบร้อยของรูปเท่านั้น
"Give me your WhatsApp"
ขอมาขนาดนี้ก็คงต้องจัดให้สักหน่อย บอกนางกันไว้ก่อนว่า "I will send when I'm free na" ซึ่งก็ดูทำท่าเหมือนจะเข้าใจ แต่หลังจากนั้นไม่ถึงวัน พี่แกก็วอตส์แอปป์รัวๆ ใส่เรา โทรบ้าง พิมพ์ข้อความบ้าง
"Send pic bro"
"Please bro"
ค่ะ ถ้าพี่จะทวงหนูขนาดนี้ หนูปิดวายฟายหนีเลยละกันค่ะ เอาจริงคือโกรธตรงที่เรียกว่า bro! แต่สุดท้ายพอกลับมาไทยเราก็ส่งรูปให้นางตามคำสัญญา แฮปปี้กันทั้งสองฝ่าย ล่าสุดเอาตั้งเป็นรูปโปรไฟล์เรียบร้อย
---
สำหรับใครที่อยากลองพิสูจน์ว่าคนอินเดียบ้ากล้องจริงอย่างที่เราเล่าหรือเปล่า ลองเอากล้องห้อยคอเดินไปเดินมาตามตรอกซอกซอยดูสิ แล้วจะรู้ว่าจริงหรือไม่จริง
คลิกอ่าน Episode 2 - สวัสดี...คนหน้าแปลก ได้ที่นี่
คลิกอ่าน Episode 3 - สวัสดี...คนหน้าแปลก (2) ได้ที่นี่
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in