เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ทาสข้ามศตวรรษ...Sleeping Slave
JOJO's Bizarre Adventure: Jojolion - บทวิเคราะห์ สำรวจแนวคิด (เท่าที่นึกออก)
  • [ *คำเตือน: บทความนี้สปอยล์เนื้อหาของมังงะ และเป็นบทความที่ยาวมากก* ]

    บทความนี้คือการพูดถึง Jojolion ซึ่งเป็นมังงะ (การ์ตูนญี่ปุ่น) ที่ยังไม่จบ..

    ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรกับการเขียนวิเคราะห์การ์ตูนหรือซีรีส์ที่ยังไม่จบ เพราะหากมันดำเนินเรื่องมายาวนานจนได้เป็นภาพรวมขนาดใหญ่ มันก็มีอะไรให้สามารถวิเคราะห์ได้แล้ว ...และในกรณี Jojolion ก็มีแง่มุมมากมายให้พูดถึง ยังไงก็ต้องหาทางเขียนถึงมันแบบยาวๆซะทีให้ได้

    ในฐานะโจโจ้แฟนผู้ติดตามมังงะเรื่องนี้มานานมาก ผมคืออีกคนหนึ่งที่สนุกสนานในติดตามเรื่องราวของภาคนี้ตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน แน่นอนว่าด้วยแนวทางของการเล่าเรื่องที่แตกต่างจากภาค 1-7 อย่างสิ้นเชิง มันเลยกลายเป็นยาขมสำหรับท่านที่ชอบแนวทางแบบเก่าๆ หลายคนก็เลยสนุกกับภาคนี้ได้ยาก อันนี้เข้าใจครับ งานมันประหลาด ไม่ใช่ทุกคนที่จะสนุกได้ 555 

    แต่แนวทางของเรื่องราวของ Jojolion ที่เป็นแนวทางแบบ Drama / Thriller / Mystery มันช่างเข้าแก๊ปตัวผมเสียเหลือเกิน Jojolion เลยมีเรื่องมากมายที่ควรค่าแก่การวิเคราะห์และขยายต่อ

    ทำให้บทความนี้ กลายเป็นเขตแดนสำหรับผู้ที่ตามอ่าน Jojolion มาตลอดโดยเฉพาะเท่านั้นเลยครับ ส่วนท่านที่ยังไม่เคยอ่านมาก่อน ณ จุดนี้ ถือเป็นจุดสิ้นสุดของท่านแล้ว ต่อจากนี้จะเป็นเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของเรื่องล้วนๆครับ... 

    ฉะนั้นจะไม่มีการมาแนะนำให้อ่าน มาเล่าเรื่องย่อ มาแนะนำตัวละครอะไรทั้งนั้นครับ XD ต่อจากนี้จะเขียนแบบสปอยล์แหลกลาน ถือว่าทุกคนที่กำลังอ่านบทความนี้คือคนอ่านมังงะอยู่แล้วล้วนๆ...

    -----------------------------------------------------------------------------------------------------

    อารัมภบท (Prologue)


    นี่คือเรื่องราวของการ 'ถอนคำสาป'

    จุดเริ่มต้นของคำสาป.. บ้างก็ว่า มันคือ 'มลทิน' จากอดีต ที่บรรพบุรุษได้ก่อเอาไว้โดยที่ตนไม่รู้ตัว

    บ้างก็ว่า.. มันคือ 'ความแค้น' ที่ ซากาโนะอุเอะ โนะ ทามุระมาโระ แห่งยุคเฮอัน ได้สั่งสมเอาไว้มาตั้งแต่ยุคสงครามครองภาคเหนือ

    หรือบ้างก็ว่า.. มันคือ 'รอยด่าง' ที่เริ่มเกิดขึ้น หลังจากมนุษยชาติถือกำเนิดขึ้น และเริ่มจะแยก 'ขาว' ออกจาก 'ดำ' ได้

    แต่ไม่ว่าอย่างไร 'คำสาป' จะต้องถูกถอนซักวัน มิฉะนั้น เราจะต้องพ่ายแพ้ต่อ 'คำสาป' ตลอดไป...

    นี่คือบทบรรยาย Monologue เปิดเรื่องของ Jojolion ที่กล่าวโดยนางเอกของเรื่องอย่าง ฮิโรเสะ ยาสึโฮะ เป็นการนิยามถึง Theme ของเรื่องราวทั้งหมด ว่ามันเกี่ยวกับอะไร... แต่มันเป็นบทบรรยายที่ค่อนข้างมีความ Metaphor เปรียบเปรยพอสมควร ไม่ได้บอกแบบตรงๆ (เพราะภาคนี้เล่าเรื่องด้วยปมปริศนาเป็นหลัก การเผยอะไรออกไปมากเกินไปตั้งแต่แรก คงไม่ดีอยู่แล้ว การเล่าในเชิง metaphor ก็เป็นอะไรที่น่าสนใจดี)

    ทำให้พอเปิดตอนแรกมา ด้วยการเล่าเรื่องที่ชวนงงงวย ไม่รู้อะไรเป็นอะไร เราจะยังไม่เข้าใจถึงสิ่งที่ยาสึโฮะพูดในทีแรก ว่ามันหมายความว่ายังไง ยังเป็นปริศนาธรรมมึนๆอึนๆอยู่ แต่..พอเรื่องราวดำเนินไปเรื่อยๆ ปมปริศนาค่อยๆคลี่คลายทีละนิด จากภาพเล็กๆ ขยายกลายเป็นภาพใหญ่ พอย้อนกลับมาอ่าน monologue อันนี้ของยาสึโฮะอีกที เราจะสามารถเข้าใจได้ในทันทีเลย (หรือถ้ายังไม่เข้าใจก็แล้วแต่คน 555)

    ใน monologue ตอนต้นของยาสึโฮะ อ.อารากิ จะเน้นคีย์เวิร์ดตัวหนาๆ อยู่ในบทบรรยายอยู่ 4 คำ คือ

    呪い (Noroi) = คำสาป 
    穢れ (Kegare) = มลทิน 
    恨み (Urami) = ความแค้น
    摩擦 (Masatsu) = รอยด่าง

    ทั้ง 4 คีย์เวิร์ด คือ การนิยามต่อสิ่งที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ทั้งในทางดีและทางร้าย เฉกเช่นเดียวกับในโจโจ้ภาคก่อนๆ ที่คนแต่ละรุ่น จะรับเอาโชคร้ายที่เหมือนคำสาปเอาไว้ และน้อมรับมันในฐานะ ชะตาที่มิอาจเลี่ยง ..แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง ก็ต้องมีคนที่ไม่ยอมแพ้ต่อสิ่งเหล่านี้ และพยายามหาทางสิ้นสุดคำสาปลงเสียที มิฉะนั้นก็จะต้องส่งต่อคำสาปต่อไปเรื่อยๆ ตลอดไป (นึกถึงประโยค Let the past die ของ ไคโล เรน ใน Star Wars ขึ้นมาเบาๆ 555)

    -----------------------------------------------------------------------------------------------------


    WHAT IS 'JOJOLION?' 
    ความหมายของชื่อ "โจโจเลียน"

    อ.อารากิ อธิบายในคิ้วเล่มของมังงะเล่ม 2 ว่า Jojolion (โจโจเลียน) เป็นการเอาชื่อ โจโจ้ ไปสมาสกับคำว่า lion (λέων = เลียน ..ไม่ใช่ไลออนนะ XD) ซึ่ง lion เป็นคำสร้อยที่ถูกใช้มาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ มักจะใช้พ่วงข้างหลังชื่อ เพื่อสื่อความหมายถึง "ผู้ได้รับการสรรเสริญ" หรือ "สัญลักษณ์อันเป็นที่ระลึก" หรือเข้าใจแบบง่ายๆเลยคือ มันคือการระบุถึงบางสิ่งบางอย่างที่สำคัญและมีผลต่อทุกชีวิต ที่ทุกคนต้องให้ความสนใจ ไม่ว่าจะทางดีหรือร้ายก็ตาม

    ซึ่งเป็นการสื่อถึงธีมภาพรวมของภาค ที่พูดถึงตัวเอกอย่าง ฮิงาชิคาตะ โจสุเกะ ผู้เป็นดั่ง "ผู้ได้รับการสรรเสริญ ที่ถือกำเนิดใหม่ขึ้นมาบนผืนดินแห่งนี้"

    ชื่อ Jojolion นี่ก็ไม่ต่างจาก monologue ที่ยาสึโฮะพูด คือ ในตอนแรกเราจะยังไม่เข้าใจหรอกว่า มันหมายถึงอะไร จนกว่าจะตามอ่านจนเรื่องราวหลักๆ กางออกมาหมดแล้ว ...และเราจะพบเองว่า มันเป็นการตั้งชื่อภาคที่ตรงมาก ไม่ใช่การเปรียบเปรย ไม่มีการอ้อมค้อมอะไรเลย (ชื่อภาค 1-7 ผมว่ามันยังเป็นชื่อในทางเปรียบเปรยมากกว่านี้อีก) เพียงแต่เราต้องรู้เรื่องราวหลักๆในภาคนี้ก่อนเท่านั้น ถ้ายังไม่เคยอ่าน ยังไงก็คงไม่มีทางเก็ต แต่ถ้าอ่านมาจนถึงปัจจุบัน ก็คงจะเข้าใจว่าจริงๆแล้ว มันหมายถึงอะไร 

    -----------------------------------------------------------------------------------------------------


    มโนทัศน์ (Concept)

    ตลอดมา โจโจ้ก็เป็นผลงานที่กลั่นเอาไอเดียอันหลากหลายมาใส่รวมกันจนออกมาเป็นงานที่มีสไตล์อันจัดจ้าน มาตลอดอยู่แล้ว ที่ผ่านมาโจโจ้จะใช้แอ็คชันเป็นตัวนำ แล้วมีไอเดียกับแนวคิดเป็นพื้นหลังประกอบความหนักแน่นให้เรื่องราว (ตามสไตล์โชเนนมังงะ) แต่ Jojolion จะกลับกัน คือใช้ไอเดียและแนวคิดเป็นตัวนำ โดยมีแอ็คชันมาเป็นส่วนประกอบต่อการดำเนินเรื่องเท่านั้น ทำให้ Jojolion ไม่ใช่มังงะบู๊ดุเดือดแบบภาคก่อนๆ แต่เน้นไปในทางเล่าเรื่องแบบดราม่าทริลเลอร์อย่างเต็มตัว

    ถ้าเปรียบเทียบกันงานอื่นๆ ผมไม่รู้จะเปรียบกับมังงะเรื่องไหนดี (นึกไม่ออกว่ามีการ์ตูนญี่ปุ่นที่เป็นแนวเดียวกับ Jojolion อยู่มากแค่ไหน) แต่ถ้าเป็นหนังหรือซีรีส์ต่างประเทศ Jojolion ถือว่าเป็นแนว "เมืองพิลึก คนพิลั่น" เช่นเดียวกับ Twin Peaks ของ เดวิด ลินซ์, Wayward Pines หรือ Dark ของ Netflix ประมาณนั้น มันคือเรื่องราวความสัมพันธ์อันยุ่งเหยิงภายในครอบครัวและชาวเมือง ที่สืบเนื่องกันมาจากรุ่นสู่รุ่น โดยมีตัวแปรเป็นเรื่องเหนือธรรมชาติสุดพิศวงที่เกิดขึ้นในเมืองเล็กๆ


    และเมื่อ อ.อารากิ จับเอาสิ่งนี้มาใส่ในโลกของเหล่าผู้ใช้สแตนด์อย่างโจโจ้ มันจึงกลายเป็นงานที่มีความเฉพาะตัวสูง และน่าลิ้มลองซักครั้งอย่างมาก (โดยเฉพาะกลุ่มคนอ่านที่ชอบการ์ตูนทางเลือก และแอบเลี่ยนๆมังงะกระแสหลักแล้ว 555)

    และเหตุนี้เองทำให้ Jojolion มีแนวคิดที่น่าสนใจและน่านำมาขยายความต่อมากมายไม่แพ้ภาคก่อนๆ ฉะนั้น บทความนี้จึงเป็นการรวบรวม สำรวจ แนวความคิด ที่ปรากฏใน Jojolion เพื่อสำหรับท่านที่ตามอ่านมาตลอดเช่นผม จะได้มาลองร่วมกันวิเคราะห์ไปด้วยครับ ...ในบทความนี้ผมเลยขอคัดประเด็นที่ผมสนใจเป็นหลักไว้ก่อน (ถ้ามีอันไหนอยากเขียนเติมลงไป เดี๋ยวค่อยมาอัพเดทอีกที)

    -----------------------------------------------------------------------------------------------------


    ตากำแพง (Wall Eyes) 
    มลทินอันสูงตระหง่านแห่งเมืองโมริโอ

    ผืนดินของเมืองนี้เป็นผืนดินต้องสาป แต่เราก็เติบโตขึ้นที่นี่..

    เมืองโมริโอ เวอร์ชัน Jojolion มีความประหลาดที่ตั้งตระหง่านชัดเด่นอยู่ในเมือง คือแผ่นดินที่ยกตัวสูงขึ้นมาเป็นกำแพง ในวันที่เกิดเหตุคลื่นสึนามิ เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2011 (อ้างอิงจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงที่ประเทศญี่ปุ่นในปีเดียวกัน) ราวกับว่ามันผุดขึ้นมาเพื่อช่วยปกป้องเมืองจากคลื่นยักษ์ และกลายเป็นสิ่งที่แทบจะเปลี่ยนรูปร่างของภูมิประเทศของเมืองโมริโอไปจนแทบไม่เหลือเค้าเดิม ภายหลังถูกชาวเมืองตั้งชื่อให้ว่า ตากำแพง (เพราะรูที่อยู่บนกำแพงที่มีลักษณะเหมือนตา)

    ยังไม่มีการคอนเฟิร์มแน่ชัดว่า ตัวตนของตากำแพงจริงๆแล้วคืออะไรกันแน่ (และเชื่อว่าน่าจะไม่มีเฉลยครับ 555 แต่จริงๆผมว่า อะไรบางอย่าง ทิ้งไว้เป็นปริศนาไปเลย มันจะน่าค้นหากว่า แบบที่ในภาค 4 Diamond is Unbreakable มี ตรอกวิญญาณ กับ เจ้าเอเลียน มิกิทากะ นั่นแหละ) ..แต่หากจะสืบสาวไปถึงต้นกำเนิดของตากำแพง ความเชื่อมโยงเดียวที่สามารถสาวไปหาได้ นั่นคือ ซากศพศักดิ์สิทธิ์


    ซากศพศักดิ์สิทธิ์ เคยเป็นไอเท็มสำคัญของภาคที่แล้วอย่าง Steel Ball Run ในฐานะซากศพนักบุญที่มีพลังแห่งปาฏิหารย์ อันมหาศาลอยู่ในแต่ละชิ้นส่วนของมันเอง และเมื่อมันมารวมกันทุกชิ้น จะนำมาซึ่งอำนาจที่ประเมินค่าไม่ได้ ..และครั้งหนึ่ง เมื่อปี 1901 โจนี่ โจสตาร์ จ๊อกกี้ผู้เคยไล่ล่าซากศพมาก่อนเมื่อครั้งวัยรุ่น ต้องการพลังของมันเพื่อช่วยชีวิตภรรยาของเขา โดยการลักลอบนำซากศพ มายังเมืองโมริโอ..

    ความเชื่อมโยงระหว่างซากศพกับตากำแพง คือพลังของมัน คือ การแลกเปลี่ยนอันเท่าเทียม (Equivalent Exchange) อำนาจของซากศพคือการสร้างความเท่าเทียม หากมีบวกย่อมมีลบ มีแสงย่อมมีเงา.. ใครเป็นแฟน แขนกลคนแปรธาตุ (Fullmetal Alchemist) ต้องคุ้นเคยกับปรัชญาข้อนี้ดีแน่ครับ มันคือปรัชญาของเหล่า Alchemy ที่มีมายาวนานเป็นพันปีแล้ว ว่าไม่มีสิ่งใดที่จะได้มาฟรีๆ ทุกอย่างมีราคาที่ต้องจ่าย

    ซึ่งในผืนดินของตากำแพงเองก็มีคุณสมบัตินี้ในตัวมันเอง คือ หากฝังวัตถุ 2 อย่าง ลงไปในดิน เมื่อขุดขึ้นมา สิ่งนั้นจะผสมรวมกันจนเท่าเทียม หากฝัง มะนาว กับ ส้ม ลงไป มันก็จะกลายเป็นผลไม้ 2 ผลที่มีเนื้อของ มะนาว และ ส้ม ผสมรวมกันอย่างเท่าเทียม ถือเป็นการแลกเปลี่ยนเท่าเทียมเช่นกัน


    ซึ่งพลังของซากศพอีกอย่างที่เราเรียนรู้มาจาก SBR คือ มันสามารถปรับสภาพของพื้นที่ (Terra-Forming) ที่มันสถิตย์อยู่ได้ เป็นกลไกการป้องกันตัวเองจากการไปตกอยู่ในมือของผู้ที่ไม่คู่ควร หากเป็นทะเลทราย พื้นที่แห่งนั้นจะเปลี่ยนสภาพตลอดเวลา จนกลายเป็นสถานที่น่ากลัวอย่าง อุ้งมือปีศาจ (Thr Devil's Palm) หากเป็นต้นไม้ใหญ่ มันจะมีกฏแลกเปลี่ยน อันเป็นค่าผ่านทางสำหรับผู้ที่จะเอาซากศพกลับไป จนกลายเป็น บ่อน้ำแห่ง ชูการ์ เมาเท่น (Sugar Mountain's Spring)

    การที่โจนี่ลักลอบนำซากศพมาไว้ยังเมืองโมริโอ และใช้พลังของมัน ก็แน่นอนว่า ซากศพ ทิ้งพลังของมันเอาไว้ที่ผืนดินของเมืองโมริโอนี้เรียบร้อย ให้กลายเป็นแบบเดียวกับอุ้งมือปีศาจ (ไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม)

    ซากศพได้ทิ้งบางสิ่งเอาไว้แก่เมืองโมริโอ แต่มันจะเป็นพร หรือมลทิน ก็ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน และนี่คือความหมายของความเท่าเทียม ในแง่ของพร ตากำแพงช่วยปกป้องเมืองจากภัยพิบัติ แต่ในแง่ของมลทิน มันก็ส่งผลให้ภูมิประเทศเมืองบิดเบี้ยว สาธารณูปโภคเป็นอัมพาตไปทั้งเมืองเช่นกัน

    สรุปได้ว่า สาระสำคัญของ Jojolion คือ "ทุกอย่างล้วนมีราคาที่ต้องจ่าย"

    -----------------------------------------------------------------------------------------------------


    โลคาคาคา (Locacaca) 
    ผลไม้แห่งนิรันดร์

    ถ้าเราเอาชนะความตายได้จริงๆ คิดว่าโลกเราจะเป็นยังไง?

    ไอเท็มสำคัญประจำภาคนี้คือ ผลไม้มหัศจรรย์ที่เรียกว่า โลคาคาคา ทีมีพลังในการรักษาบาดแผล หรือส่วนที่เสียหายของร่างกาย ของผู้ที่กินมันเข้าไปได้ ต่อให้แขนขาด ก็สามารถงอกกลับคืนมาได้ แต่มันก็มีสิ่งที่ต้องแลก เพราะผู้ที่กินจะต้องเสียส่วนที่ดีส่วนอื่นของร่างกายไป 1 อย่าง อย่างไม่มีทางเลี่ยงได้

    พอเห็นว่ามี ผลไม้ มามีบทบาทสำคัญในโจโจ้ ก็เป็นเรื่องที่แปลกๆดีเหมือนกันในทีแรก 555 แถมพาลทำให้นึกถึง ผลไม้ปีศาจ ในวันพีซไปอีก แต่ความจริงแล้ว นิยามของ โลคาคาคา แตกต่างจากผลไม้ปีศาจ อย่างสิ้นเชิง เพราะโลคาคาคาไม่ได้มอบพลังพิเศษให้กับคนที่กิน แต่มันคือตัวเลือกวัดใจ ว่าท่านจะยอมแลกส่วนดีในตัวไป เพื่อเอาส่วนที่เสียกลับมาหรือไม่? 

    ทำให้โลคาคาคา เป็นทั้งไอเทมหัศจรรย์ และไอเทมที่น่ากลัว ในเวลาเดียวกัน เป็นสิ่งที่อยู่ในกฏของการแลกเปลี่ยนเท่าเทียมเช่นเดียวกับตากำแพง ...ส่วนที่ได้ก็จะได้รับกลับมาเต็มหน่วย แต่ส่วนที่เสียก็จะต้องเสียไปแบบเต็มหน่วยเท่าๆกัน

    ข้อมูลเกี่ยวกับโลคาคาคานั้นมีน้อยมาก เบื้องต้นเท่าที่ปรากฏ มันมีต้นกำเนิดมาจากประเทศนิวกินี ก่อนที่เหล่า มนุษย์ก้อนหิน (Rock Human) ศัตรูหลักในภาคนี้ จะไปพบเจอและนำเข้ามาใช้ในทางธุรกิจมาอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบัน... เพราะความอัศจรรย์ของมันทำให้มนุษย์ก้อนหินสามารถขายให้กับมนุษย์ปกติ ในราคาต่อลูกที่สูงมากได้ และนี่คือหนึ่งในจุดเริ่มต้นการไล่ล่าแย่งชิงของตัวละครในภาคนี้

    แล้วทำไมต้องเป็น ผลไม้?

    ฮิงาชิคาตะ โนริสุเกะ ที่สี่ เคยบอกว่า ผลไม้คือมารยาททางสังคมอันดับหนึ่งของมนุษย์ เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย หรือคิดถึงกัน หลายคนก็จะคิดถึงผลไม้นี่แหละเป็นอันดับแรก ฉะนั้นผลไม้จึงไม่ใช่เรื่องเล่นๆ

    เหตุผลอีกข้อคือ.. เพราะ อ.อารากิ เคยใช้หน้ากากไปแล้วครับ จึงใช้อะไรที่มันดูคล้ายๆกัน คงไม่ได้ 5555+ ...เพราะว่ากันจริงๆ หน้ากากศิลา ที่ปรากฏในภาค 1-2 กับ โลคาคาคา ถือเป็นไอเท็มที่คล้ายกัน คือ มันคือสิ่งที่จะมอบความเป็นอมตะให้กับผู้ที่ใช้มัน แต่ก็มีสิ่งที่ต้องแลกกับความเป็นอมตะนั้น กรณีหน้ากากศิลาคือ เป็นอมตะ แต่ก็ต้องแลกกับการต้องกลายเป็นปีศาจแวมไพร์ ที่ไม่สามารถออกมาเจอแสงตะวันได้อีกตลอดไป


    ส่วน โลคาคาคา ...ปกติแล้วโลคาคาคาไม่ได้มีพลังถึงขั้นทำให้คนเป็นอมตะ จนกระทั่ง คิระ โยชิคาเงะ และ คูโจ โจเซฟุมิ นำเอากิ่งของต้นโลคาคาคาไปต่อเข้ากับต้นไม้ชนิดอื่นที่ปลูกในบริเวณตากำแพง จนทำให้สายพันธ์ของต้นไม้เกิดแตกสายไปเป็นผลไม้พันธ์ใหม่ ที่มีพลังถึงขั้น แลกเปลี่ยนระหว่าง "ความเป็น" กับ "ความตาย" ได้ ...และกลายเป็นผลไม้แห่งนิรันดร์ในที่สุด

    ถ้าพูดถึงตำนานของผลไม้อันโด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษย์ แน่นอนว่าต้องเป็น เรื่องของ ผลไม้ต้องห้ามแห่งสวนอีเดน (Forbidden Fruit of Eden) ในตำนานของคริสตจักรนั่นเอง


    ผลไม้ต้องห้าม ปรากฏในคัมภีร์ไบเบิลในส่วนของบท กำเนิด (Genesis) กล่าวถึง อดัม และ อีฟ มนุษย์เพศชายและหญิงคู่แรกที่พระเจ้าสร้างขึ้น เพื่อปกป้องสวนผลไม้อีเดน พวกเขาได้ถูก ซาตาน ศัตรูของพระเจ้า ที่แปลงร่างเป็นงู มาล่อลวงให้กิน ผลไม้จากต้นไม้แห่งความรู้ (Tree of Knowledge) อันเป็นผลไม้ต้องห้ามที่พระเจ้าห้ามมิให้อดัมและอีฟกิน เพราะมันคือผลไม้แห่งความรู้ ที่จะทำให้ตระหนักรู้ถึงความผิดชอบชั่วดี นั่นจึงเป็นเหตุให้อดัมและอีฟถูกขับไล่ออกจากสวนอีเดนในที่สุด

    โลคาคาคา จึงเปรียบเหมือนผลไม้ต้องห้ามที่มีตัวตนเป็นรูปธรรมจับต้องได้ แบบไม่ต้องตีความอะไรให้วุ่นวาย มันมีทั้งผลดีและผลร้ายในตัวมันเอง เมื่อกินเข้าไป มนุษย์เองก็ต้องเตรียมใจไว้ตั้งแต่แรกว่า จะต้องยอมละทิ้งส่วนดีไปเพื่อให้ได้ส่วนเสียกลับคืนมา มันคือสิ่งที่ผู้ใช้รู้ผลลัพท์ตั้งแต่แรกว่าจะเกิดอะไรขึ้น ไม่มีใครมาบังคับ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคนๆนั้นเอง

    -----------------------------------------------------------------------------------------------------


    ต้นสนภาวนา (Meditation Pine) 
    สัญลักษณ์แห่งความเป็นนิรันดร์

    ไม่รู้ว่าคนอ่าน Jojolion จะมีใครสังเกต "ต้นสนภาวนา" ที่ปรากฏอยู่ในเรื่องบ้างมั๊ย?

    ต้นสนภาวนา เป็นต้นไม้ที่เมื่อ 100 กว่าปีก่อน มันคือที่ที่ โจนี่ โจสตาร์ เอาซากศพศักดิ์สิทธิ์ มาซ่อนไว้ ...และร้อยปีต่อมา มันก็มาอยู่ภายในเขตบ้านฮิงาชิคาตะ และที่น่าสังเกตคือ เหตุการณ์สำคัญๆ ที่เกิดขึ้นในเรื่อง มักจะเกิดโดยวนเวียนอยู่รอบๆ ต้นสนภาวนาต้นนี้เสมอ ต่อให้จะไม่ได้ไปอยู่ใกล้ๆมัน เราก็สามารถเห็นมันได้ไกลๆ ในฉากหลัง ได้แทบจะทุกเล่ม ไม่มากก็น้อย

    เลยชวนให้สงสัยว่า มันมีความหมาย สื่อถึงอะไรหรือเปล่า? มันจะเป็นแค่ฉากหลังที่ให้คนอ่านได้เห็นเท่ห์ๆไปงั้นเองหรือ? ซึ่งส่วนตัวผมไม่คิดงั้น เลยต้องค้นคว้าเพิ่มเติม เกี่ยวกับ นิยาม ความหมาย ที่พิเศษ เกี่ยวกับต้นสน หรือผลลูกสน ว่ามีอะไรบ้าง...

    1. ผลของต้นสน มีนิยามที่หลากหลาย ในแง่ของ ศาสนา และ ประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีการตั้งทฤษฎีกันว่า ผลไม้ต้องห้ามแห่งสวนอีเดน มันคือ ผลของต้นสน

    2. ในหลายๆเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ผลลูกสน ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ทางจิตวิญญาณอยู่หลายที่ เช่น อียิปต์ มีไอเทมที่เรียกว่า ไม้เท้าแห่งโอซิริส (Staff of Osiris) ที่มีส่วนยอดสุดของไม้เท้า เป็นรูปผลของต้นสน, โรมัน ในการแข่งเกมกีฬา จะมีการมอบราลวัลให้ผู้ชนะ เป็น เหรียญตราชื่อ Rione Ix Pigna ซึ่งสลักเป็นรูปผลสน เป็นต้น

    3. ในสมองของคนเรา จะมีต่อมนึงชื่อ ต่อมไพเนียล (Pineal Gland) เป็นต่อมไร้ท่ออยู่เหนือสมอง อยู่บริเวณกึ่งกลางของสมองส่วนซีรีบรัมซ้ายและขวา มีขนาดเท่ากับเม็ดข้าวมีสีแดงปนน้ำตาล ซึ่งคล้ายกับเมล็ดของผลสน (ในไบเบิล Pineal Gland มีความหมายว่า "การเผชิญหน้ากับพระผู้เป็นเจ้า (Face to God)")


    ...สรุปคือ ต้นสนภาวนา เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงเข้ากันได้กับ แนวคิดหลายอย่าง ที่ อ.อารากิ เอามาใช้ใน Jojolion ซึ่งมันอาจจะไม่ได้มีบทบาทอะไรพิเศษอย่างเป็นรูปธรรมก็ได้ แต่มันคือสัญลักษณ์อะไรบางอย่างที่สำคัญ เกี่ยวพันกับโชคชะตา ที่เหล่าตัวละครต้องพบเจอ ถ้าเปรียบเทียบ คงเทียบได้กับ รูปปั้นเทพธิดา (Statue of the Godess) ที่ปรากฏในภาค 1 Phantom Blood นั่นเอง

    -----------------------------------------------------------------------------------------------------


    มนุษย์ก้อนหิน (Rock Human) 
    เมื่อจุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหารไม่ได้มีแค่มนุษย์

    นี่ก็เป็นโจโจ้อีกภาค ที่ศัตรูหลักของภาคเป็นสิ่งมีชีวิตอื่น ที่ไม่ใช่มนุษย์... 

    ซึ่งก็ชัดเจนว่า มนุษย์ก้อนหิน ก็คือเหล่า บุรุษเสาหิน (Pillar Men) จาก Battle Tendency ในเวอร์ชันตีความใหม่ของจักรวาลรีบู้ทนี่เอง ในขณะที่บุรุษเสาหิน จะถูกวาดออกมาเป็นสิ่งมีชีวิตที่แข็งแกร่ง ทั้งพละกำลังและพลังชีวิต จนได้ชื่อว่าเป็น สุดยอดสิ่งมีชีวิต (Ultimate Being) แต่เพราะเปราะบางต่อแสงอาทิตย์ ทำให้พวกเขายังไม่สามารถพิชิตโลกได้ แม้จะมีพลังมากมาย อัจฉริยะของเผ่าพันธ์อย่าง คาร์ซ จึงสร้าง หน้ากากศิลา ขึ้นมา เพื่อต้องการเอาชนะจุดอ่อนนี้


    แต่มนุษย์ก้อนหินนั้น จะเป็นสิ่งมีชีวิตที่เปราะบางและแตกสลายง่าย ส่วนที่มนุษย์ก้อนหินมีเหมือนบุรุษเสาหิน คือเป็นสิ่งชีวิตที่มีอายุยืนยาว แต่จำเป็นต้องจำศีลในทุกๆระยะของชีวิตในรูปแบบของอนินทรียวัตถุ แต่มนุษย์ก้อนหินไม่ได้แพ้แสงอาทิตย์แบบบุรุษเสาหิน ทำให้สามารถใช้ชีวิตปะปนกับมนุษย์ได้ แต่เพราะความอ่อนแอ และรูปแบบชีวิตที่ต่างกับมนุษย์อย่างสิ้นเชิง ทำให้ไม่สามารถอยู่กับมนุษย์อย่างปรองดองได้

    ส่วนที่น่าสนใจของมนุษย์ก้อนหินคือ ความที่ อ.อารากิ พยายามจะเอาสิ่งชีวิตที่ไม่ใช่มนุษย์ แต่มีระดับวิวัฒนาการเทียบเท่ามนุษย์ มาตีความในทางที่สมจริงกว่าเดิม เพราะพวกเขาไม่มีพลังอำนาจจะไปใช้ครอบครองโลก ทำให้แผนการการเอาชนะมนุษย์ของมนุษย์ก้อนหิน คือ ผลไม้มหัศจรรย์อย่าง โลคาคาคา

    มนุษย์ก้อนหินจะแบ่งกันเป็น 2 สายงาน คือ หน่วยขาย (Dealer) ที่ทำหน้าที่ขายโลคาคาคาต่อลูกในราคาที่สูงมาก ซึ่งเงินทั้งหมดก็ถูกนำมาใช้กับ หน่วยวิจัย (Researcher) ที่มีฉากหน้าเป็นนายแพทย์ในโรงพยาบาล แต่เป้าหมายที่แท้จริงคือ การวิจัยโลคาคาคา เพื่อหาทางเพิ่มศักยภาพ และลบจุดอ่อนการแลกเปลี่ยนเท่าเทียมให้หายไป ถ้าสำเร็จ เหล่ามนุษย์ก้อนหินก็จะกลายเป็นเผ่าพันธ์ที่ครอบครอง "อำนาจความเป็นอมตะ" เอาไว้ในมือ


    มันคือแผนการของตัวร้ายที่เข้ากับโลกปัจจุบันมาก พวกมนุษย์ก้อนหินไม่ได้ต้องการจะครองโลกหรือทำลายเผ่าพันธ์มนุษย์แต่อย่างใด ตรงกันข้าม พวกเขายังต้องการศักยภาพจากมนุษย์อยู่ แต่สิ่งที่จะทำให้มนุษย์ก้อนหิน สามารถควบคุมมนุษย์ให้ไปในทิศทางที่ตนต้องการได้ดีที่สุด สิ่งนั้นก็คือ "อำนาจทางธุรกิจ" กับ "อำนาจทางสังคม" 

    การเป็นอมตะ คือสิ่งที่มนุษย์เกือบทุกคนฝันถึงอยู่แล้ว และถ้ามันคือสิ่งที่สามารถขายได้ และมีแต่มนุษย์ก้อนหินเท่านั้นที่มีวิทยาการนี้ในครอบครอง บางคนอาจจะยอมเสียทุกอย่างเพื่อมันเลยก็ได้ ...มนุษย์ก้อนหินไม่ได้สนใจสิ่งนี้ (เพราะพวกเขาอายุยืนยาวกันอยู่แล้ว) จึงมองเห็นหนทางที่ควบคุมมนุษย์ โดยการพยายามจะขึ้นไปอยู่บนยอดพีระมิดของสังคม และถ้าพวกเขาทำสำเร็จ มนุษย์ก็จะกลายเป็นชนชั้นสองของสังคมไปโดยที่ตัวเองอาจจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ

    นึกถึงหนังเรื่อง They Live ของ จอห์น คาร์เพนเตอร์ ครับ ..เอเลียนที่ลงมาควบคุมมนุษย์โดยการแทรกซึมเข้าไปในบริบทสังคม จนมนุษย์ตกเป็นชนชั้นรองของพวกมันโดยไม่รู้ตัว แบบที่ไม่ต้องใช้ปืนเลเซอร์หรือ UFO มาทำสงครามให้เสียเวลาเลย ...นิยามของ มนุษย์ก้อนหิน ใน Jojolion จะเป็นแนวๆนั้น ...มันหมดสมัยที่ตัวร้ายจะมาโชวพาวเวอร์ แล้วขู่ว่าจะยึดครองโลก แล้วแหละ (ฮาา)


    -----------------------------------------------------------------------------------------------------

    การแสวงหาความสุขชั่วนิรันดร์ 
    (The Pursuit of Eternal Happyness)


    เขียนมาซะยืดยาว และประกอบด้วยข้อมูลประกอบมากมาย จนเหมือนกับว่านี่เป็นมังงะที่เข้าใจยากชิบหายอะไรปานนั้น 55555+ ก็จริงที่ Jojolion มีวิธีการนำเสนอและการเล่าเรื่องที่ตามยากกว่าผลงานที่ผ่านๆมาของ อ.อารากิ อยู่มาก แต่จริงๆแล้ว ใจความสำคัญของภาคนี้ ไม่ได้เข้าใจยากอะไรขนาดนั้นครับ เพราะสุดท้ายแล้ว มันก็คืองานที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับ ความสัมพันธ์ภายในครอบครัว และ การแสวงหาความสุขในฐานะมนุษย์ เท่านั้น

    ในภาคนี้ จะเล่าเรื่องผ่านความสัมพันธ์ภายในครอบครัวเป็นหลัก ทั้งครอบครัวใหญ่อย่าง ครอบครัวฮิงาชิคาตะ ที่เดินอยู่บนธรรมเนียมที่ส่งผ่านกันมาจากรุ่นสู่รุ่น และครอบครัวเล็กๆอย่าง ครอบครัวคิระ (ที่เป็นรุ่นล่าสุดของ ตระกูลโจสตาร์ ในจักรวาลนี้ แบบเดียวกับที่ ครอบครัวคูโจ เป็นรุ่นล่าสุดของโจสตาร์ ในจักรวาลดั้งเดิม) ที่แม้จะเป็นครอบครัวเล็ก แต่ก็มีความรักที่ยิ่งใหญ่ให้กันและกัน (ซึ่งจะกลับกันเลย ในจักรวาลดั้งเดิม โจสตาร์จะเป็นครอบครัวใหญ่ ส่วนฮิงาชิคาตะเป็นครอบครัวเล็กๆ)

    เรื่องราวทั้งหมดล้วนเกี่ยวข้องกับการเอาชนะชะตากรรมของทั้งสองครอบครัว จนนำพาพวกเขาไปสู่การต่อสู้แย่งชิงโลคาคาคาในที่สุด

    ในฝั่งศัตรูอย่างพวกมนุษย์ก้อนหินเองก็เช่นกัน ...เอาเข้าจริง เป้าหมายของพวกเขาก็แค่ ต้องการอยู่ในสังคมมนุษย์ให้ได้ ก็เท่านั้น ...ไม่ว่าจะเรื่องอะไรที่เกิดขึ้นในเรื่องก็ตาม ท้ายที่สุด ทุกอย่างก็สามารถตอบด้วยคำตอบง่ายๆข้อเดียว นั่นคือ "พวกเขาแค่ต้องการจะมีความสุขชั่วนิรันดร์"

    ฉะนั้น Jojolion จะยังคงจบลงไม่ได้ง่ายๆ หากตัวละครยังไม่ได้ค้นพบ ความหมายที่แท้จริงของ "การมีความสุขชั่วนิรันดร์" เสียก่อน... 

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in