เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ทาสข้ามศตวรรษ...Sleeping Slave
5 เหตุผลว่าทำไม Steel Ball Run จึงเป็นงานที่ 'รีบู้ท' ซีรีส์ได้อย่างถูกต้อง
  • *บทความชิ้นนี้ลงครั้งแรกในเพจ ทาสผู้หลับไหล*

    เป็นเวลา 10 กว่าปีมาแล้วที่คำว่า รีบู้ท (Reboot) ถูกเอามาใช้จำกัดความ การสร้างสรรค์ผลงานแบบเหล้าเก่าในขวดใหม่ สำหรับวงการศิลปะบันเทิงในยุคปัจจุบัน เคียงข้างไปกับคำว่า รีเมค (Remake) และ รีอิมเมจิน (Reimagine)

    และในฐานะโจโจ้แฟน ผมสามารถบอกได้ว่า สตีล บอล รัน (Steel Ball Run) ผลงานลำดับที่ 7 ของมังงะ โจโจ้ ล่าข้ามศตวรรษ (JOJO no Kimyou na Bouken) แต่เป็นภาคที่ 1 ของเรื่องราวในจักรวาลคู่ขนาน ภาคนี้ คืองานที่ถูกต้องในการที่ใช้คำจำกัดความว่าเป็นงานรีบู้ท และเป็นตัวอย่างที่ดีว่า รีบู้ทที่ดี ต้องเป็นอย่างไร

    และผมมีเหตุผล 5 ข้อที่จะอธิบายว่าเพราะอะไร มันจึงเป็นการรีบู้ทที่ควรทำ (ทั้งหมดนี้เป็นความเห็นส่วนตัวล้วนๆนะครับ)

    -----------------------------------------------------------------------

    1) มันเดินไปในทิศทางที่สดใหม่ ไม่ซ้ำซาก ไม่วนกับอะไรเดิมๆ

    หลายๆงานที่บอกว่าตัวเองกำลังรีบู้ทแฟรนไชส์ แต่เอาเข้าจริง มันก็กลายเป็นงานรีเมค ที่หยิบของเดิมมาใช้แทบทั้งหมด ไม่ได้นำเสนออะไรที่ใหม่จริงๆ ...แต่ SBR ไม่เป็นแบบนั้น SBR คือการเอาจิตวิญญาณเดิมของโจโจ้ภาคแรกอย่าง Phantom Blood มาตีความในมิติใหม่ๆ โดยไม่ซ้ำซากกับภาคก่อนๆ ทำให้ SBR เป็นงานที่ทำในสิ่งที่รีบู้ทดีๆควรทำ คือการ "คิดใหม่ ทำใหม่ ภายใต้จิตวิญญาณเดิม" โดยไม่ต้องไปแตะต้องงานภาคก่อนๆ แยกให้ขาดจากกันไปเลย

    (เพราะการทำภาคต่อ แล้วเอาตัวละครเก่ามาฆ่าทิ้งเนี่ย เสี่ยงโดนด่ามากกว่ามากอยู่แล้ว XD แบบที่ Star Wars ไตรภาคใหม่ กำลังโดนอยู่.. ฉะนั้น ตัดพันธะผูกพันจากภาคก่อนๆไปเลย เป็นดีที่สุด)

    -----------------------------------------------------------------------

    2) ขณะเดียวกัน ก็หยิบเอาองค์ประกอบเดิมๆ จากภาคก่อนๆ มาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆได้

    รีบู้ทไม่ใช่รีเมค รีเมคคือการเอาของเก่ามาสร้างใหม่ แต่เนื้อหาโดยรวมยังเหมือน แต่รีบู้ทที่ดี จะต้องมองสิ่งเดิมในมิติใหม่ๆได้ และกล้าที่จะสร้างความแตกต่าง ซึ่ง อ.อารากิ ฮิโรฮิโรโกะ ไม่ใช่คนที่จะทอดทิ้งผลงานเก่าไปไปได้โดยสิ้นเชิงอยู่แล้ว (ในภาคก่อนๆ อ.อารากิ ก็เอาองค์ประกอบจากมังงะเรื่องเก่าๆของตัวเอง เอามาใช้ใหม่แบบเนียนๆ อยู่ตลอดอยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร) แต่ก็ไม่ได้หยิบมาใช้แบบง่ายๆโง่ๆ แต่แทรกมันลงไปในเส้นเรื่องใหม่อย่างเนียนสนิท

    (ธีมเรื่องราวที่เกี่ยวกับ มิตรภาพและความผูกพันในครอบครัว / การต่อสู้โดยใช้กลยุทธ์ห้ำหั่นกันมากกว่ากำลัง / การดีไซน์ตัวละครอันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว / การเล่าเรื่องที่ดำเนินไปด้วยการเดินทาง ฯลฯ)

    -----------------------------------------------------------------------

    3) ไม่ได้ใช้ Nostalgia ตีหัวเข้าบ้าน เอาใจแฟนหน้าเก่า แต่ทำเพื่อดึงดูดแฟนหน้าใหม่ไปพร้อมกัน

    วิธีการตีหัวแฟนเก่าเข้าพงที่งานภาคต่อ หรืองานรีบู้ท รีเมค หลายๆเรื่อง ชอบใช้คือ การเอา Nostalgia ความประทับใจเมื่อครั้งอดีต กลับมาเล่นใหม่อีกที (หรือที่คนไทยเรียกว่า "บุญเก่า") หลายๆคนใจอ่อนให้กับลูกเล่นแบบนี้ เพราะมันคือวิธีซื้อใจแฟนหน้าเก่าที่ได้ผลดีมาตลอด... ซึ่งไม่ใช่ว่ามันไม่ดีนะครับ แต่ถ้าเยอะเกินไป มันจะทำให้งานชิ้นนั้นสูญเสียความเป็นตัวเอง ซึ่งโชคดีที่ อ.อารากิ ไม่ได้ทำแบบนั้นกับ SBR แต่ตั้งใจจะเบนเข็มไปหากลุ่มคนอ่านหน้าใหม่ๆมากกว่า

    อ.อารากิ ย้ำเสมอว่า "นี่คือผลงานที่นับหนึ่งใหม่ หากท่านไม่เคยอ่านผลงานก่อนๆมาก่อนเลย ก็สามารถอ่านมันได้ทันที" แปลว่า อ.อารากิ ไม่ได้คิดจะเอา Nostalgia มาเรียกให้แฟนหน้าเก่ากลับมาชอบ แต่ตั้งใจสร้างงานใหม่ เพื่อคนอ่านหน้าใหม่ เป็นหลัก (คือไม่ใช่ว่าไม่แคร์ แค่ไม่ได้แคร์มากซะจนไม่กล้าทำอะไรใหม่ๆเลย)

    -----------------------------------------------------------------------

    4) รู้ตัวว่าตัวเองเป็นงานที่ต้องนับหนึ่งใหม่ และไม่ได้คิดจะไปวัดรอยเท้าดำเนินตามความสำเร็จของภาคเก่าๆ

    หนึ่งในส่วนที่ดีที่สุดของ อ.อารากิ ในการสร้างสรรค์ SBR และ Jojolion (ภาคที่ 8 ซึ่งเป็นภาคที่ 2 ของเรื่องในราวจักรวาลคู่ขนาน ซึ่งมาในแนวทาง ไขปริศนาลึกลับในเมืองพิลึกพิลั่นเต็มรูปแบบ เหมือนซีรีส์อย่าง Twin Peaks หรือ Wayward Pines) คือ แกไม่ยี่หระกับความสำเร็จในอดีตครับ.. แกไม่ได้วาดงานใหม่เพื่อจะให้มันไปเทียบชั้นกับงานเก่า ซึ่งอยู่บนหิ้งไปแล้ว หลายๆการรีบู้ท ตกม้าตาย เพราะเชื่อว่าตัวเองกำลังจะสร้างในสิ่งที่ เหนือกว่า หรือจะทำให้งานเก่าดีขึ้น (ซึ่งเป็นอะไรที่ไม่มีใครคอนเฟิร์มได้ ด้วยยุคสมัยที่ต่างกัน ทิศทางของผู้อ่าน ผู้ชม ที่เปลี่ยนไป ตามกาลเวลา คนเราไม่ได้ชอบเหมือนกันทุกคน)

    ซึ่ง อ.อารากิ ไม่ได้คิดแบบนั้น SBR เลยมีความเป็นตัวของตัวเองสูง ตั้งแต่กลุ่มเป้าหมายที่เปลี่ยนไป สู่สายเซย์เนนอย่างอัลตร้าจัมป์ ซึ่งมีกลุ่มคนอ่านที่แตกต่างจากโชเนนจัมป์มาก และมันเปิดโอกาสให้ อ.อารากิ มีอิสระที่จะทำอะไรก็ได้ โดยไม่ต้องไปแคร์ว่า มันจะสำเร็จเทียบเท่างานในอดีตหรือเปล่า

    -----------------------------------------------------------------------

    5) ทุกอย่างยังคงอยู่ในกรอบของอัตลักษณ์ทางการสร้างสรรค์ที่ชัดเจน ของ อ.อารากิ ไม่มีเปลี่ยนแปลง

    เหนือสิ่งอื่นใด ที่ว่าไปทั้งหมด เป็นเรื่องดีที่ การสร้างสรรค์ทุกอย่าง ยังคงอยู่ในสไตล์ วิสัยทัศน์ และอัตลักษณ์ดั้งเดิมของ อ.อารากิ เองท้้งหมด ไม่ว่าเนื้อข้างในมันจะเป็นอย่างไร แต่บรรจุภัณฑ์ข้างนอกก็ยังคงแปะหน้า อารากิ ฮิโรฮิโกะ อยู่ 100% ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี เพราะงานรีบู้ทหลายๆงาน พอผู้ให้กำเนิด ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือขาดผู้ที่รักและเข้าใจในงานชิ้นนี้จริงๆไป มันก็ทำให้วิสัยทัศน์ที่ออกมาอาจจะยังไม่ตรงเป้ามากนัก

    สำหรับข้อนี้ ผมถือว่าโชคดีครับ ที่ อ.อารากิ ยังคงอยู่เพื่อเฝ้าดูลูกๆของตัวเองทุกคนอยู่ แต่งานไหนที่ไม่มี เขาก็ต้องพยายามที่จะสร้างหัวใจของงานขึ้นมา ให้เหมาะสมกับสิ่งที่กำลังจะทำให้ได้ดีที่สุด

    -----------------------------------------------------------------------

    ข้อคิดที่ได้จากการมองเห็น หนัง การ์ตูน เกม พยายามจะรีบู้ทแฟรนไชส์ก็คือ "หากคุณคิดจะสร้างสิ่งใหม่ ภายใต้ชื่อเก่า อย่างแรกที่ต้องเจอ คือคุณจะต้องโดนด่า ไม่ว่ามันจะออกมาดีหรือไม่ดี"

    คุณโดนด่าอยู่แล้ว ไม่ต้องห่วงหรอก 5555 เพราะสิ่งนั้นมันคือสิ่งที่มีคนรักเยอะ ชอบเยอะ และเขาก็หวงแหนในสิ่งที่เขาชอบ และมองว่ามันเป็นสิ่งที่อยู่บนหิ้ง แต่การลองอะไรใหม่ๆ มันคือการทดลอง และการทดลองก็สามารถเกิดได้ทั้งผลลัพท์ที่ดีและผลลัพท์ที่ไม่ดี ฉะนั้นการทำอะไรเดิมๆซ้ำๆ มันไม่มีทางเจอผลลัพท์ที่แตกต่าง หากไม่กล้าเสี่ยง ก็คงไม่มีทางได้เจออะไรใหม่ๆแน่นอน

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in