เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
จิตวิญาณและร่างกายขออุทิศแด่งานศิลป์soulju
สำรวจมุมมองในงานศิลปะ : "เวลาและประสบการณ์" ของคามิน เลิศชัยประเสริฐ
  • นิทรรศการ ปฏิบัติการศิลปะไทยร่วมสมัยใน "รอยแยก" 

          เราเคยมีโอกาสได้ไปชมงานนี้เมื่อ 19 พ.ย. 2562 ซึ่งเคยได้เขียนมุมมองที่เรามีต่องานชุดนี้ไว้นานแล้ว เลยอยากจะนำมาเผยแพร่เพื่อจะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้อื่นบ้าง เนื่องจากงานชุดนี้ไม่เพียงแค่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตและการทำงานของศิลปิน คามิน เลิศชัยประเสริฐ ยังปฏิเสธการเขียนภาพแบบขนบ ใช้มือระบายสีบนผ้าใบแล้วใช้สีที่เหลือติดมือมาทาฝ่าเท้าและพิมพ์ลงกระดาษ การสลับที่ทางของความหมายเชิงวัฒนธรรมระหว่างสิ่งที่อยู่สูงและต่ำ เราจึงคิดว่างานนี้น่าสนใจที่จะนำมาพูดถึงอีกครั้ง 

    !! WARNING !! เป็นความคิดเห็นจากมุมมองของผู้เขียนในการตีความงานศิลป์ชุดนี้ โปรดระวังในการนำข้อมูลไปใช้ต่อ 

    ตัวผู้เขียนที่เคยถ่ายกับผลงานชุดนี้เอง 555

    ชื่อผลงาน : " เวลาและประสบการณ์ " 
    เทคนิคในการสร้างสรรค์ : ระบายสีอะคริลิกลงบนผืนผ้าใบด้วยมือ และพิมพ์รอยเท้าด้วยสีอะคริลิกลงบนกระดาษ

    ชื่อเจ้าของผลงาน : คามิน เลิศชัยประเสริฐ

    สถานที่จัดนิทรรศการ : หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ (BACC) 

    วันที่ : 30 สิงหาคม 2562 - 24 พฤศจิกายน 2562 
    สถานที่: ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น 9

    รายละเอียดที่ปรากฏในงาน

              ผลงาน " เวลาและประสบการณ์ " มีการใช้มือระบายสีลงบนผืนผ้าใบแล้วใช้สีที่เหลือติดมือมาทาฝ่าเท้า จากนั้นจึงพิมพ์รอยเท้าลงบนกระดาษ ศิลปินได้จัดวางผลงานระบายสีด้วยมือจำนวน 365 ชิ้น โดยติดตั้งบนพื้นทางเดิน ขณะที่ผลงานภาพพิมพ์รอยเท้าได้ติดตั้งบนผนังกำแพงจำนวน 365 ชิ้นเท่ากัน พื้นที่จัดแสดงผลงานประกอบไปด้วย ทางเดินที่มีกำแพงขนาบอยู่ 2 ข้าง ภาพพิมพ์รอยเท้าได้ประดับเรียงรายอยู่ทั้งผนังด้านซ้ายและขวา มีการวางผลงานแนบชิดติดกัน ให้ฝ่าเท้าทั้งข้างซ้ายและขวาอยู่ในระนาบเดี๋ยวกัน ซึ่งศิลปินได้จัดวางผลงานฝ่าเท้าส่วนใหญ่เป็นคู่ (เท้าซ้ายและขวาหันเข้าหากัน) เกิดเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ เมื่อมองโดยรวมจะเกิดเป็นภาพซ้ำซ้อนกันของวัตถุ ส่วนผลงานระบายสีด้วยมือที่จัดวางบนทางเดินเท้า มีการจัดวางแบบสลับฟันปลา โดยเว้นช่องว่างสี่เหลี่ยมขนาดเท่าผืนผ้าใบไว้ เมื่อมองโดยภาพรวมจึงดูคล้ายกับตารางหมากฮอส 

             ผลงานทั้งบนกระดาษและผืนผ้าใบจะมีตัวเลขไทยเขียนกำกับอยู่ในภาพ (๑ - ๓๖๕) ซึ่งตัวเลขบนผืนผ้าใบจะใช้สีเทาเมทัลลิกพิมพ์ ต่างกับบนกระดาษที่จะใช้สีอะคริลิกกลืนไปกับเท้า เนื่องจากศิลปินอธิบายว่าใช้สีที่เหลือจากการใช้มือระบายสีลงบนผืนผ้าใบ มาสร้างผลงานพิมพ์ฝ่าเท้าลงกระดาษ โทนสีที่ปรากฏบนผลงานทั้งสองอย่างนี้จึงคล้ายคลึงกัน ต่างกันเพียงเทคนิคสีบนผืนผ้าใบที่ระบายด้วยมือมีลักษณะการกระจายตัวเป็นวงกลม

    ความรู้สึกที่ได้รับ (ความรู้สึกส่วนตัวของผู้เขียน)

             ยิ่งเข้าใกล้พื้นที่จัดแสดงผลงาน ยิ่งรู้สึกอึดอัด อาจเป็นเพราะการจัดแสดงผลงานที่แนบชิดติดกันทั้งบนผนังด้านซ้าย ขวา และพื้นทางเดินเกิดความกดดันมากยิ่งขึ้นเมื่อก้าวเท้าเข้าไปผลงาน เมื่อเท้าเหยียบบนพื้นที่ว่างหรือตัวผลงานผ้าใบตรงพื้นด้านล่างแล้วมองดูภาพพิมพ์รอยเท้าที่ติดตั้งอยู่บนกำแพงทั้งสองด้าน จะเกิดอารมณ์ความรู้สึกเหมือนว่ากำลังโดนบีบจากมือที่มองไม่เห็น หากตัวเราคำนึงถึงระยะการก้าวเดิน พยายามที่จะไม่ให้เท้าไปเหยียบลงบนงาน พยายามที่จะเดินแค่ในช่องว่างจะประหม่ากลัวก้าวพลาด แตกต่างจากตอนที่ไม่ต้องคำนึงถึงสิ่งใดเพียงแค่เหยียบไปบนพื้นที่ใดก็ได้ จะเกิดความรู้สึกสนุกไปกับงานศิลป์ ราวกับกำลังเล่นก้าวกระโดดเหมือนเด็ก ๆ 
          เมื่อมองพื้นที่การแสดงผลงานทั้ง 2 นี้จากระยะไกลด้วยความจดจ่อจะเริ่มลายตา  แต่หากมองจากระยะสายตา จะสังเกตเห็นโทนสีที่ต่างกันของงานภาพพิมพ์รอยเท้าบนกำแพง 2 ด้าน งานบนผนังด้านซ้ายจะมีโทนสีหม่น ๆ เหมือนกัน จึงเกิดความรู้สึกขนลุกเล็กน้อย ประกอบกับภาพฝ่าเท้าและเลขไทยที่อยู่ติดกันในลักษณะซ้ำ ๆ แตกต่างจากงานบนผนังด้านขวาที่มีสีโทนสดใส มองแล้วเพลิดเพลินอารมณ์ เหมือนเห็นเยลลี่หลากสี

    ความหมายของภาพที่เราเข้าใจ

          เนื่องจากศิลปินได้อธิบายผลงานชุดนี้ว่า เป็นการจัดวางสลับที่ทางของความหมายเชิงวัฒนธรรมระหว่างสิ่งที่อยู่สูงและต่ำ นั้นหมายถึง ภาพพิมพ์ด้วยฝ่าเท้าที่ติดอยู่บนผนังกำแพงและภาพระบายสีด้วยมือที่ติดตั้งอยู่บนพื้นด้านล่าง การที่เราก้าวเดินลงบนพื้นศิลปินได้ชักชวนให้เราสำรวจหลักฐานทางเวลาในห้วงปัจจุบัน คิดคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างพื้นและผลงานศิลปะ ชวนให้ผู้ชมได้ฉุกคิดถึงกาลเวลาที่หมุนผ่านไปแล้วตัวเรายืนอยู่ที่ใดในโลกนี้ ...

           การที่ศิลปินเลือกใช้ภาพพิมพ์รอยเท้าไปติดตั้งอยู่บนผนังกำแพงนั้นแสดงถึงการขัดหลักความเป็นจริงที่เท้าเป็นอวัยวะที่อยู่ต่ำสุดของร่างกาย เป็นสิ่งที่ผู้คนมักจะมองข้าม มองว่าสกปรก (โดยเฉพาะวัฒนธรรมไทย) ทั้ง ๆ ที่เท้าเป็นอวัยวะสำคัญที่ทำให้ผู้คนก้าวเดินไปข้างหน้าได้ ผู้เขียนจึงตีความว่าศิลปินอาจต้องการจะสื่อว่า 

    อยากให้ผู้คนมองทุกอย่างเท่าเทียมกัน ไม่มีสิ่งใดสูงต่ำกว่ากัน และเนื่องจากเรามักจะสนใจแค่สิ่งที่ปรากฏอยู่ในระดับสายตา อาจทำให้เราพลาดสิ่งสำคัญบางอย่างไประหว่างการใช้ชีวิตก็เป็นได้ 

             ผนวกกับความหมายเชิงวัฒนธรรมที่ศิลปินได้นำมาผูกรวมกัน ก็จะอธิบายได้ว่า การใช้มือระบายสีลงบนผืนผ้าใบ โดยส่วนใหญ่ผลงานนั้นก็มักจะนำไปติดตั้งบนผนังหรือพื้นที่ที่ตาสังเกตเห็นได้ง่าย ซึ่งการที่นิทรรศการนี้ศิลปินเลือกที่จะนำผลงานผืนผ้าใบมาวางไว้ตรงพื้นด้านล่างนี้เองทำให้ผู้เข้าชมงานโดยมากต้องหยุดยืนดู หรือให้ความสนใจว่าจะก้าวเท้าลงไปเหยียบที่ใดดี ต่างกับกรณีในการนำผลงานรอยเท้ามาวางบนพื้น เราก็คงแค่เหยียบและเดินผ่านไป ซึ่งเป็นผลมาจากความเคยชินของประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมา เนื่องจากเท้าเป็นสัญลักษณ์ที่มักจะปรากฏให้เห็นอยู่บนพื้นเสมอ
             ตัวเลข ๑ - ๓๖๕ อนุมานได้ว่าเป็นการแสดงถึงจำนวนวันใน 1 ปีที่มี 365 วัน สีที่ใช้ในงานแต่ละชิ้นอาจสื่อแทนอารมณ์ในแต่ล่ะวันของศิลปิน ตัวอย่างเช่น วันที่ ๙๘ อารมณ์ไม่ดีในผลงานจึงใช้สีดำ หรือ วันที่ ๒๐๔ อารมณ์สดใสร่าเริงจึงใช้สีเหลือง เนื่องจากเราจะสังเกตว่างผลงานบางชิ้นจะมีสี่ที่ใช้เหมือนกัน งานทุกชิ้นจึงอาจเปรียบได้กับไดอารี่บันทึกอารมณ์ในแต่ละวัน นอกจากนี้การที่ศิลปินติดตั้งงานผ้าใบบนพื้นแบบสลับช่องว่างไปมาบนพื้น ช่องว่างนั้นอาจเป็นช่วงเวลาหยุดเดิน คือ การที่ทุกสิ่งหยุดนิ่ง หรือ รอยต่อระหว่างช่วงเข้าวันใหม่ข้ามพ้นวันเก่า

    ปล. ผู้เขียนเพียงอธิบายจากมุมมองที่ผู้เขียนมีต่อผลงานนิทรรศการชุดนี้ หากใครใคร่จะอ่านบทความที่ทางหอศิลป์ BACC ได้รวบรวมขึ้น สามารถอ่านได้ที่ https://www.bacc.or.th/upload/RIFTS_Caption_B8_final.pdf จะมีการอธิบายถึงผลงานชุดอื่นใน

     นิทรรศการ ปฏิบัติการศิลปะไทยร่วมสมัยใน "รอยแยก"

    ส่วนข้อมูลอื่น ๆ ในงานนิทรรศการนี้ อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.bacc.or.th/event/2390.html

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in