เราคิดว่าการจดทะเบียนสมรสระหว่างคนไทยด้วยกันนั้นง่ายที่สุดแล้วแต่พอมาเจอการจดทะเบียนสมรสกับชาวต่างชาติก็รู้สึกได้ถึงความยุ่งยากวุ่นวายและความท้อถอย เพราะต้องเตรียมเอกสารหลายสิ่งหลายอย่างอีกทั้งยังต้องเดินทางไปรับตราประทับจากกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ (ตั้งอยู่ที่ถนนแจ้งวัฒนะ) เพื่อรับรองเอกสารที่เกี่ยวข้อง เรียกได้ว่าเป็นความรู้ใหม่สำหรับเราที่จะต้องเรียนรู้เพื่อทำการจดทะเบียนสมรส
สำหรับขั้นตอนต่อไปนี้เป็นการจดทะเบียนสมรสระหว่างคนไทย(หญิง)กับคนญี่ปุ่น(ชาย)ตามลำดับที่เราได้ดำเนินเรื่องไว้
1. จดทะเบียนสมรสที่ประเทศญี่ปุ่น
2. จดทะเบียนสมรสในประเทศไทย
3. ยื่นเรื่องขอใบสถานภาพการพำนัก (สำหรับคู่สมรส)
4. ยื่นขอวีซ่าสำหรับผู้ที่ได้รับใบสถานภาพการพำนัก
ส่วนรายละเอียดในแต่ละขั้นตอน เราจะขอชี้แจงเฉพาะเอกสารที่คู่สมรสฝ่ายไทย(หญิง) ต้องเตรียมเอาไว้นะคะ
1. การจดทะเบียนสมรสที่ประเทศญี่ปุ่น(กรณีฝ่ายชายเป็นคนดำเนินเรื่องที่ประเทศญี่ปุ่น)
1.1 คัดสำเนาทะเบียนบ้าน (ใบท.ร.14/1) ขอคัดที่ทำการเขต โดยสิ่งที่ต้องเตรียมมีดังนี้
- ทะเบียนบ้านตัวจริง
- บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง
1.2 หนังสือรับรองความเป็นโสด (ขอที่ทำการเขตที่ตนมีทะเบียนอยู่) โดยสิ่งที่ต้องเตรียมมีดังนี้
- ใบท.ร.14/1
- บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงพร้อมสำเนา
- พยาน 2 คน (เราเป็นคนพาพ่อแม่ไป) ซึ่งพยานจะต้องเตรียมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านไปด้วย
นำเอกสารข้อ 1.1 และ 1.2 ไปแปลเป็นภาษาอังกฤษแล้วนำทั้งฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษไปยื่นที่กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศเพื่อขอรับรองเอกสารและรับตราประทับ จากนั้นก็นำไปแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นซึ่งคนที่แปลนั้นต้องลงชื่อกำกับเอาไว้ด้วย (ฉบับภาษาญี่ปุ่นไม่จำเป็นต้องผ่านการรับรองจากกระทรวงการต่างประเทศ)
1.3 หนังสือปฏิญานตน (ทำทั้งฉบับภาษาไทยและภาษาญี่ปุ่น) ฉบับภาษาญี่ปุ่นไม่จำเป็นต้องผ่านการรับรองจากกระทรวงการต่างประเทศ
1.4 สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาหนังสือเดินทางของเรา (เอกสารตัวนี้เราไม่ได้ลงชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง แต่จะลงชื่อเผื่อเอาไว้ก็ได้)
เมื่อได้เตรียมเอกสารข้างต้นครบแล้วก็ส่งไปให้แฟนดำเนินเรื่องที่ญี่ปุ่น หลังจากที่แฟนทำเรื่องให้ประมาณ 1 อาทิตย์ ก็จะได้รับทะเบียนครอบครัวญี่ปุ่น (โคะเซกิโทฮ่ง) ที่ระบุว่าเรากับแฟนได้จดทะเบียนสมรสอย่างเป็นทางการแล้วที่ญี่ปุ่น และเราก็ขอให้แฟนส่ง "ทะเบียนครอบครัวญี่ปุ่น (โคะเซกิโทฮ่ง)" มาให้เพื่อทำเรื่องจดทะเบียนสมรสในประเทศไทยต่อไป
2. การจดทะเบียนสมรสในประเทศไทย (ทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชายมาด้วยกันที่ทำการเขต)
ก่อนที่จะจดทะเบียนสมรสที่ทำการเขตนั้น จะต้องมี "ใบรับรองการสมรส" ซึ่งทางสถานทูตญี่ปุ่นจะออกเอกสารให้เป็นภาษาอังกฤษดังนั้นเอกสารจำเป็นที่จะต้องนำมายื่นขอกับทางสถานทูตญี่ปุ่นมีดังนี้
- ใบคำร้องขอหนังสือรับรอง (ตัวอย่าง)
- สำเนาทะเบียนครอบครัวญี่ปุ่น (โคะเซกิโทฮ่ง) เขียนคำอ่านด้วยภาษาอังกฤษหรือฟุริกานากำกับชื่อและนามสกุลของคู่สมรสทั้งสอง, ภูมิลำเนา, ที่ที่ทำการจดทะเบียนสมรสมาด้วย
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และหนังสือเดินทางของเรา
- หนังสือมอบอำนาจจากแฟน (ตัวอย่าง)
ค่าธรรมเนียม 380 บาทต่อ 1 ชุด (อัพเดทปี 2017)
2.1 เมื่อได้รับ "ใบรับรองการสมรส" จากสถานทูตญี่ปุ่นแล้วนำไปแปลเป็นภาษาไทย (เราแปลเองพร้อมลงชื่อเอาไว้ในนามผู้แปล) จากนั้นนำเอกสารทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษไปยื่นที่กรมการกงสุลกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อขอรับรองเอกสารและรับตราประทับ
2.2 หากต้องการเปลี่ยนนามสกุล ต้องมี "หนังสือยินยอมการใช้ชื่อสกุล" จากฝ่ายชายประกอบการจดทะเบียนสมรสในไทยเราจึงให้แฟนขอเอกสารตัวนี้ซึ่งเขาไปติดต่อที่สถานทูตไทยในโอซาก้าเพราะอยู่ใกล้บ้านแฟนที่สุด (อีกที่หนึ่งคือสถานทูตไทยในโตเกียว) ซึ่งเราได้ส่ง "ใบรับรองการสมรส" ทั้งสองภาษาที่ได้รับตราประทับแล้วไปให้แฟนเพื่อให้เขาไปประกอบการยื่นเรื่องขอ "หนังสือยินยอมการใช้ชื่อสกุล"
2.3 จากนั้นแฟนเราก็ได้มาไทยพร้อมกับเอกสารดังต่อไปนี้
- สำเนาหนังสือเดินทางของแฟน
- ใบรับรองการสมรส (ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษที่เราได้ส่งไปให้แฟนในตอนแรก)
- หนังสือยินยอมการใช้ชื่อสกุล (ที่แฟนได้รับจากสถานทูตไทยในโอซาก้า)
2.4 ที่ทำการเขตของเราแจ้งว่าต้องการสำเนาหนังสือเดินทางของแฟนพร้อมฉบับแปลภาษาไทยด้วย ซึ่งก่อนที่จะนำไปแปลนั้นต้องให้แฟนไปติดต่อที่สถานทูตญี่ปุ่น (กรุงเทพฯ) ด้วยตัวเองเพื่อขอรับรองหนังสือเดินทางจากนั้นจึงเอาสำเนาหนังสือเดินทางที่มีการรับรองจากสถานทูตญี่ปุ่นไปแปลไทยและยื่นที่กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อขอรับรองเอกสารและรับตราประทับ
2.5 ทะเบียนครอบครัวญี่ปุ่น (โคะเซกิโทฮ่ง) ฉบับแปลภาษาไทย
2.6 เตรียมบัตรประจำตัวประชาชนของเรา
2.7 พยาน 2 คน (เราพาพ่อแม่ไปเหมือนเดิม) ซึ่งพยานก็ต้องเตรียมบัตรประชาชนไปด้วย
2.8 ล่าม (กรณีที่คู่สมรสเป็นคนต่างชาติ) ที่ทำการเขตของเราแจ้งว่าไม่อนุญาตให้เราเป็นล่ามสำหรับกรณีนี้ ต้องใช้ล่ามแยกต่างหาก
เตรียมเอกสารทั้งหมดพร้อมพยานและล่ามไปที่ทำการเขตเพื่อทำการจดทะเบียนสมรส จากนั้นก็จะได้รับเอกสารดังต่อไปนี้
- ใบทะเบียนฐานะแห่งครอบครัว (เราได้มา 1 ใบซึ่งจะมีอยู่ 2 หน้า)
- ใบเปลี่ยนนามสกุล (กรณีเปลี่ยนนามสกุลตามสามี)
เมื่อได้เปลี่ยนนามสกุล (หรือคำนำหน้าชื่อ) เรียบร้อยแล้ว จะต้องทำบัตรประจำตัวประชาชน และหนังสือเดินทางใหม่ด้วย
หากต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องการจดทะเบียนสมรสระหว่างคนไทยกับคนญี่ปุ่น สามารถเข้าไปอ่านได้ที่เว็บนี้ค่ะ >> ระเบียบการสมรสระหว่างชาวไทยกับชาวญี่ปุ่น <<
ถ้ามีข้อสงสัยเรื่องการเตรียมเอกสาร เราแนะนำให้สอบถามกับเจ้าหน้าที่ที่ทำการเขตที่ตนเองมีทะเบียนอยู่เพื่อที่จะได้เตรียมเอกสารครบตามที่เขตกำหนดไว้นะคะ
นี่เป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น ซึ่งเราเพิ่งทำเสร็จสิ้นเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เป็นด่านที่ต้องทำทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฎหมาย และสำหรับด่านต่อไปจะเป็นการขอใบสถานภาพการพำนักและการขอวีซ่า กรณีต้องการย้ายไปอาศัยอยู่ที่ญี่ปุ่น ถือเป็นอีกด่านที่จะต้องเตรียมเอกสารและหลักฐานต่างๆอีกมากมาย ยังไงก็คอยติดตามอ่านกันด้วยนะคะ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in