เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
What do you think?เฟย
The Wall Song ร้องข้ามกำแพง รายการน่าสนใจที่ถูกทำให้ไม่น่าสนใจ
  • รายการวาไรตี้ไทยมักเต็มไปด้วยการแข่งขันประกวดร้องเพลง ทั้งรายการร้องเพลงประกายดาวที่เคยรุ่งโรจน์เมื่อหลายปีก่อน รายการเรียลลิตี้บ้าน 2 อัลฟาเบตที่ก็เรียกเรตติ้งได้ดีเช่นกัน พัฒนามาถึงรายการร้องเพลงเก้าอี้หมุนที่เน้นขายเสียงนักร้อง จนล่าสุดที่มีรายการนักร้องหน้ากากที่ชุบชีวิตศิลปินเก่าหลายท่านเอาไว้ ทั้งหมดนี้มักจะเป็นรายการที่คนไทยให้ความสนใจและติดตามมากพอสมควร ทว่าน่าแปลกที่เราไม่ค่อยเห็นรายการวาไรตี้ไทยในสื่อหลักที่ให้นักร้องจากรายการเหล่านี้ได้สานต่อพื้นที่แสดงได้อย่างต่อเนื่อง การปรากฏของรายการ The Wall Song ร้องข้ามกำแพงจึงมีความน่าสนใจและน่าติดตาม ด้วยเนื้อหาของรายการที่มีแขกรับเชิญเป็นดารานักร้องอยู่แล้ว จึงไม่มีผู้เข้าแข่งขันคนใดเป็นที่ไม่รู้จักเลย


    รายการร้องข้ามกำแพง มีคอนเสปต์หลักคือการให้แขกรับเชิญไปร้องฟีตเจอร์ริ่งกับบุคคลปริศนาหลังกำแพง แล้วทายให้ถูกต้องว่าบุคคลปริศนานั้นคือใคร ซึ่งกำแพงที่ว่าก็จะกั้นไม่ให้แขกรับเชิญได้เห็นว่าใครกันที่อยู่หลังกำแพง โดยจะมีตัวช่วยคือคำใบ้จากแขกรับเชิญอีก 2 ท่านและพิธีกรเจ้าเก่าประจำช่อง 


    สิ่งที่น่าสนใจของรายการ คือการใช้กำแพงเป็นสัญลักษณ์เพื่อปิดกั้นไม่ให้แขกรับเชิญทายได้ถูกต้อง ซึ่งนับว่าเป็นการเลือกใช้สัญญะที่ฉลาด เพราะนอกจากแขกรับเชิญแล้ว ผู้ชมก็มีส่วนร่วมในการทายได้เช่นกัน (ในตอนต้นที่ยังไม่เฉลยบุคคลปริศนา) กำแพงนี้ ไม่ได้เป็นเพียงฉากกั้นที่เอาไว้ปิดบังภาพของบุคคลปริศนาเท่านั้น แต่ยังเป็นกำแพงที่ปิดกั้นภาพจำและอคติของผู้ชม ทำให้ผู้ชมได้รับฟังความสามารถของดารานักร้องปริศนาท่านนั้นโดยปราศจากการตัดสินไปก่อน ดั่งเช่นรายการนักร้องหน้ากากรุ่นพี่ที่เคยทำผลงานเอาไว้ค่อนข้างดีทีเดียวในซีซั่นแรก ๆ 


    ความน่าสนใจอีกอย่าง คือการให้ศิลปิน/ดารา/นักแสดงได้จับคู่ฟีตเจอร์ริ่งกันใน 1 เพลง โดยทั้งคู่จะต้องร้องสด (คาดเดา เพราะมีเสียงหัวเราะและเสียงพูดจริงหลุดมาบางช่วงในขณะร้อง) ความดีความชอบตรงนี้หลัก ๆ น่าจะต้องยกให้กับทีมงานผู้จับคู่ เพราะศิลปินดาราหลายท่านไม่ได้มีสกิลการร้องเพลงเท่ากัน ใน 1 ตอนมักจะมีทั้งดารานักแสดงและนักร้องอาชีพปะปนกันไป ทีมงานไม่ได้จับคู่ให้ดาราสกิลร้องเพลงปานกลางมาร้องคู่กับดีว่าพ่นไฟ แต่เลือกให้คนที่ความสามารถใกล้เคียงกันหรือดูแล้วเหมาะสมกันมาร้องคู่กัน คู่หนึ่งที่ดูท่าจะประสบความสำเร็จอย่างมากก็คือคู่ของตู่ภพธรกับแอลลี่ในเพลง Like I’m Gonna Lose You ที่คนวนฟังจนเจ้าตัวเอาไปโคฟเวอร์ใหม่ในช่องตัวเองอีกรอบ อีกคู่ที่ว้าวมากคือการนำอะตอม ชนกันต์ มาร้องเพลง Shallow ของเลดี้กาก้า คู่กับใบเตย อาร์สยาม ซึ่งก็คิดไม่ออกเหมือนกันว่าจะได้เห็นทั้งสองคนร้องเพลงนี้คู่กันในเวทีไหนได้อีกนอกจากรายการนี้


    อ่านมาถึงตรงนี้ เดาว่าผู้อ่านคงสนใจรายการนี้ไม่น้อย บางคนอาจจะไปเสิร์จหาคลิปในยูทูบแล้วก็เป็นได้ ทว่าความน่าสนใจทั้งหมดที่สร้างสรรค์ปั้นแต่งมาอย่างดีกลับถูกทำลายลงด้วยการดำเนินรายการที่ค่อนข้างจะมีความเป็น ‘ไทย’ สูง หากกล่าวถึงความเป็น ‘ไทย’ ในรายการวาไรตี้ คงหนีไม่พ้นการเล่นมุกตลกใต้ร่มผ้า การเล่นมุกตลกเสียดสี ซึ่งในรายการส่วนใหญ่มักจะเล่นมุกตลกเกี่ยวกับเรื่องเพศ การพูดจาและท่าทางแทะโลม ซึ่งสำหรับบางคนนั้น อาจมองว่าเป็นการ ‘คุกคาม’ เสียด้วยซ้ำ 


    การคุกคามทางเพศนี้ไม่ใช่การลุกขึ้นไปข่มขืนหรือพูดคำคุกคามตรงๆ แต่ความหมายของการคุกคามทางเพศนั้นรวมไปถึงการแสดงออกทางเพศโดยอ้อม ผ่านสายตา ท่าทาง การพูด แซว หรือทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัย กลัว หรืออึดอัด ดังที่ปรากฏในรายการหลายครั้งด้วยกัน เช่น การพูดว่า ‘ตัวงอ’ เมื่อเห็นบุคคลปริศนาที่แต่งตัวเซ็กซี่ การอธิบายการแต่งตัวโดยละเอียดว่า ‘ไม่มีสายชั้นใน เปิดหลังคว้านถึงแก้ม__(เซ็นเซอร์โดยรายการ)’ มุกตลกเหล่านี้ ไม่ต้องคิดให้ถี่ถ้วนก็ทราบได้ว่าผู้พูดกำลังตั้งใจพูดถึงอะไร โดยเฉพาะเมื่อคำพูดเหล่านี้ถูกพูดโดยผู้พูดที่มีภาพสรีระเป็นเพศชาย และผู้ถูกพูดถึงมีภาพสรีระเป็นเพศหญิงแล้วนั้น ทำให้เห็นชัดซึ่งอำนาจในมือเพศ ’ชาย’ ที่มีมากจนกล้าเอ่ยคำพูดแสนอึดอัดพวกนี้ขึ้นได้ในรายการฟรีทีวีที่น่าจะมีผู้ชมหลากเพศหลากวัย 


    นอกจากคำพูดแทะโลมที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ แล้ว สิ่งที่ไม่น่าเกิดขึ้นที่สุดคือเหตุการณ์ในรายการที่ให้บุคคลปริศนาหญิงสอดมือผ่านกำแพงคั่นกลาง และนำกล้วยขึ้นมาป้อนให้แขกรับเชิญชาย พร้อมเสียงร้องแซวจากพิธีกรและแขกรับเชิญอยู่เนือง ๆ พิจารณาจากเนื้อหาที่เคยเอ่ยแซว หากกล่าวว่านี่คือการกินกล้วยเพื่อสุขภาพ ก็คงจะเป็นข้อแก้ตัวที่ตลกและไร้สาระพอตัว ถึงแม้ตัวบุคคลปริศนาฝ่ายหญิงจะเป็นคนเอ่ยปากเองว่าจะป้อนให้ แต่การฉายภาพแบบนี้ออกสื่อหลักนั้นถือว่าเป็นการกระทำที่สมควรแล้วหรือ นี่คือการสนับสนุนให้เพศหญิงตกเป็นวัตถุทางเพศในพื้นที่สื่อสาธารณะใช่หรือไม่ 


    อีกไม่กี่ช่วงโฆษณาถัดมา รายการก็ยังคงดำเนินมุกเหล่านี้ต่อด้วยการให้คนที่มีสรีระเป็นเพศหญิงใส่ชุดเซ็กซี่โชว์หน้าอกถือพร็อบออกมาให้แขกรับเชิญ พร้อมกับพูดจาแทะโลมอย่างเคย นอกจากนั้นยังขอร้องให้พวกเธอปัดฝุ่นบนชุดของแขกรับเชิญชาย พร้อมบอกอีกว่าให้ปัดต่ำลงและต่ำลงอีก โดยที่เราก็ไม่อาจทราบเช่นกันว่าเธอผู้ถือพร็อบเหล่านั้นได้ตกลงกับทางทีมงานก่อนหรือไม่ว่าจะต้องมาทำอะไรแบบนี้ หากไม่ได้ตกลงกันแต่แรก เท่ากับว่าพวกเธอเหล่านั้นก็เจอการ ‘คุกคาม’ เช่นเดียวกับที่บุคคลปริศนาหญิงท่านนั้นได้เจอ สิ่งที่แย่กว่าคืออำนาจในมือของพวกเธอเมื่อเทียบกับบุคคลปริศนาหญิงผู้เป็นคนมีชื่อเสียงนั้น อำนาจและเสียงของพวกเธอไม่ดังเท่าดารานักร้องแน่นอน หากเธอจะโต้แย้ง ใครเล่าจะได้ยิน


    หากท่านจะมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงเครื่องมือเอนเตอร์เทนที่วงการบันเทิงใช้สำหรับเพิ่มยอดเรตติ้งนั้นก็ย่อมได้ เพราะเรตติ้งที่ดีอาจจะเป็นต้นทุนในการสร้างรายการเนื้อหาคุณภาพน่าสนใจแบบที่หลายคนต้องการรับชม อย่างไรก็ดี สื่อคือเครื่องมือในการสร้างสังคมเช่นเดียวกัน ดังนั้นสื่อควรจะให้ค่าและให้เวลาในการศึกษาแนวคิดและค่านิยมที่จะนำไปพูดออกอากาศ เพราะในโลกศตวรรษที่21 ผู้ชมหลายท่านก็มีสิทธิ์เลือกกดปิดรายการร้องเพลงที่ให้พื้นที่ยืนแก่คนในวงการบันเทิง แต่ลดทอนคุณค่าของเพศบางเพศลงไปเช่นกัน


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in