เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
non-private diarysunny.day.summer
บทเพลง: หลุมหลบภัยทางความรู้สึก
  • “ปล่อยใจฝันสักครั้ง เสียงเพลงดังจะดังเท่าไหร่ หากมันคอยชโลมดวงใจปล่อยมันไปสักวัน สู่สวรรค์น้อยน้อยปล่อยให้ลอยไปสู่วิมาน ทิ้งอารมณ์ในใจเมื่อวานไม่ต้องคิดถึงใคร” ท่อนหนึ่งจากเพลง ‘ปล่อยใจฝัน’ เพลงฮิตติดหูในอัลบั้มหน้าต่างของความรู้สึกของวิยะดา โกมารกุล ณ นคร สามารถสะท้อนภาพความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสื่อได้เป็นอย่างดีเพราะนอกจากในแง่มุมของความบันเทิงแล้ว บทเพลง (ในที่นี้ให้ความหมายว่าเป็นสื่อชนิดหนึ่ง) ก็ยังสามารถพามนุษย์หลบหนี (escapism) กับความจำเจของภาวะที่ “เหนื่อยเกินไปดวงใจที่มันเป็นอยู่ ไม่อยากรับรู้เรื่องราวใด” ได้อีกด้วย ซึ่งถ้าพิจารณาให้ลึกซึ้งลงไปอีก โดยใช้เนื้อเพลงปล่อยใจฝันเป็นหน่วยในการศึกษาความหมายจะสามารถแบ่งแยกระดับของการหลบหนีได้ 2 ระดับ
    .
    ระดับแรกคือ “การหลบหนีในตัวมันเอง” ชวนให้เห็นถึงภาพการหลบหนีของตัวละครในบทเพลงนั้น แม้ว่าในเนื้อเพลงจะไม่สามารถบ่งชี้ตัวละครได้ลึกซึ้งหรือชัดเจนเท่ากับในวรรณกรรม ละคร หรือภาพยนตร์ แต่วิธีใช้ภาษา การกระทำ และเรื่องราวในบทเพลงได้ถูกถักทอขึ้นจากวัฒนธรรมและประสบการณ์จริงของมนุษย์ ดังนั้นในขั้นการอ่านความหมายจึงทำให้เห็นภาพชีวิต หรืออารมณ์ที่สามารถเกิดขึ้นจริง (แต่บรรจุอยู่ในรูปแบบเสมือน) ของมนุษย์ข้างในบทเพลง เช่น ในเพลงปล่อยใจฝันเราจะตีความถึงมนุษย์คนหนึ่งที่กำลังเบื่อหน่ายและเจ็บปวดกับความรักครั้งเก่าและก็กำลังค้าหาวิธีการหลบหนีสิ่งเหล่านั้นด้วยเสียงเพลง (”เสียงเพลงดังจะดังเท่าไหร่หากมันคอยชโลมดวงใจปล่อยมันไปสักวัน”)
    .
    ระดับต่อมา คือ “การซักซ้อมการหลบหนี” เป็นผลเกี่ยวเนื่องจากการหลบหนีของตัวละครที่มีลักษณะสมจริงในบทเพลงดังที่กล่าวไปข้างต้นแต่ในขั้นนี้จะเพิ่มตัวละครขึ้นมาอีก 1 ตัวละครนั่นก็คือ ‘ผู้ฟัง’ ที่อยู่บนโลกจริงนั่นเอง กล่าวคือการหลบหนีของตัวละครนั้นเปรียบเสมือนเป็น ‘คู่มือแห่งการหลบหนี’ ให้แก่ผู้ฟังโดยคู่มือนี้ได้มาจากภาพการหลบหนีของตัวละครในขณะที่ผู้ฟังอ่านค่าความหมายได้จากบทเพลงนั่นเอง หากจะพิจารณาเรื่องการอ่านความหมายร่วมด้วย เราก็คงจะทราบกันดีว่าการอ่านความหมายของแต่ละคนมีลักษณะแบบ “ต่างคนต่างคิด” หรือ “ลางเนื้อชอบลางยา” (the laws of its own freedom) ดังนั้นบทเพลงจึงมีคุณสมบัติเป็น ‘หลุมหลบภัยทางความรู้สึก’ ที่เราสามารถออกแบบหลุม (อ่านความหมาย) เหล่านั้นได้ตามความคิดสร้างสรรค์ ประสบการณ์ หรือแม้กระทั่งระดับความบอบช้ำของอารมณ์ที่เกิดจากเรื่องราวในชีวิตประจำวัน และใช้ประโยชน์จากการขลุกตัวอยู่ในหลุมนั้นได้ตามความต้องการ
    .
    หากจะสรุประดับของการหลบหนีเข้าไปในหลุมหลบภัยทางความรู้สึกที่มีลักษณะเป็นอัตวิสัยของมนุษย์ที่สัมพันธ์กับบทเพลงแล้วคงจะต้องยกท่อนหนึ่งของเพลง ‘หลับตา’ ของชรัส เฟื่องอารมณ์ ที่ร้องว่า “หลับตาซิที่รักในวงแขนของฉัน จะไม่มีผู้ใดคิดทำร้ายเธอได้ หลับตาซิที่รักขอเธอนอนหลับฝัน เพื่อพรุ่งนี้ได้พบวันใหม่กับฉัน” เพื่อประกอบการอธิบาย เมื่อเราตีความเราจะเห็นภาพการหลบหนีในตัวมันเองของมนุษย์ในบทเพลงนั่นคือภาพนามธรรมของตัวละครที่กำลังโอบกอดกันก่อนนอนซึ่งเป็นภาพจำลอง จากนั้นเมื่อขยายภาพออกมาดูความสัมพันธ์ของมนุษย์กับบทเพลง ภาพที่ปรากฎต่อหน้าคือภาพของบทเพลงที่กำลังโอบกอดส่วนความรู้สึกของมนุษย์เอาไว้อย่างอบอุ่นและแนบแน่น ซึ่งในส่วนนี้ถือว่าเป็นระดับการซักซ้อมการหลบหนีที่มนุษย์ปล่อยความรู้สึกไปกับบทเพลงและเลียนแบบคู่มือของตัวละครในเพลงที่อ่านความหมายออกมาได้นั่นเอง
    .
    หากเรามองบทเพลงด้วยสายตาของวัฒนธรรมศึกษาที่สนใจศึกษาผลผลิตของวัฒนธรรมประชานิยม (popular culture) บทเพลงก็ถือว่าเป็นผลผลิตหนึ่งที่ถูกผลิตออกมามากมายส่วนหนึ่งก็เพื่อให้ผู้รับสาร/ผู้ฟังได้เข้ามาหลบหนีในหลุมหลบภัยที่ตนเองสร้างดังที่ได้กล่าวไปทั้งหมด และสำหรับในแง่ของการหลบหนีนี้เราก็ยังสามารถถกเถียงกันได้ต่อถึงความสัมพันธ์ของการหลบหนีกับชนชั้น เพศ หรือเวลาได้ต่ออีกด้วย
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in