“ทุกคนรู้สึกเหงาเท่าๆ กัน อยากให้โลกเห็นใจ อยากให้คนสงสาร ทุกคนก็ต้องการเหมือนๆ กัน” ท่อนหนึ่งที่สวยงามจากเพลง ‘เหงา’ ของนักร้องแนวเพลงเพื่อชีวิต ‘พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์’ ทำให้นึกถึงเนื้อหาในบทความหนึ่งที่กล่าวถึงนักภาษาศาสตร์บางกลุ่มที่เชื่อว่า ‘ภาษา’ ได้พัฒนาขึ้นมาเพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการร้อยประสานความสัมพันธ์ที่เปราะบางของมนุษย์ เพราะมนุษย์มีความสัมพันธ์ทางกายภาพที่อ่อนแอ บอบบางต่างจากสัตว์ ดังนั้น ‘ภาษา’ ในความหมายข้างต้นจึงทำให้สัตว์กับมนุษย์ต่างกันไปโดยปริยาย มากไปกว่านั้นนักภาษาศาสตร์กลุ่มนี้ยังตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมด้วยว่า การที่เราร้องงอแงด้วยอารมณ์หยาบกระด้าง จนไปถึงใช้นิ้วสางผมของคนข้างๆ อย่างอ่อนโยนสะท้อนให้เห็นถึงความหวาดกลัวที่จะสูญเสียการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน
.
เมื่อพิจารณาลึกลงไปถึงหน้าที่ของบทเพลงนอกจากจะเป็นพื้นที่สำหรับบรรจุอุดมการณ์ วาดเขียนค่านิยม หรือขับร้องความหมายของสิ่งต่าง ๆ ที่คนในสังคมร่วมกันสร้างขึ้นมาแล้ว อีกนัยหนึ่งยังแสดงให้เห็นถึงสัญลักษณ์หรือรหัสที่เป็นตัวกลางในการถ่ายทอดถึงการปฏิเสธชีวิตที่สันโดษของมนุษย์
.
เพราะบทเพลงทุกบทเพลงไม่เคยเขียนถึงบริบทที่ว่าด้วยมนุษย์เพียงคนเดียว ถึงแม้ว่าบทเพลงนั้นจะถูกเรียบเรียงออกมาเพื่อต้องการสะท้อนชีวิตเพียงหนึ่งชีวิต แต่เมื่อเผยแพร่ออกมาแล้วมันมักจะเรียกร้องอะไรบางอย่างกับคนอีกคน หรือดึงหนึ่งชีวิตที่ขับเอ่ยอยู่นั้นย้อนกลับไปค้นหาถึงบุคคลที่ผ่านมาในอดีตเสมอ ดังนั้นมัดม้วนแห่งภาษาที่ถูกเติมแต่งทำนองจึงเป็นผลผลิตหนึ่งจากความกลัวที่จะสูญเสียการปฏิสัมพันธ์ หรือต้องการเชื่อมต่อให้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ไม่ดูเปราะบางจนเกินไปดังที่กล่าวมา
.
ภาษาไม่เคยใสซื่อบริสุทธ์ ความหมายเบื้องลึกเบื้องหลังของภาษามีลักษณะเหมือนท่อนหนึ่งของ ‘เพลงกฎธรรมดา’ ของไอออนเนี่ยนที่ว่า “ความจริงว่าในทุกสิ่ง มีการเคลื่อนไหว ไม่อยู่กับที่” นอกจากความจริงของภาษาที่มักจะปนเปื้อนความหมายที่คนร่วมกันสร้างขึ้นแล้ว มันยังเป็นรหัสที่ปรากฏทำนองชีวิตของมนุษย์ที่ผ่านการมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างไม่อยู่กับที่โดยมีภาษาเป็นสื่อกลางอีกด้วย ท่วงทำนองที่มนุษย์ประสานร้องร่วมกันมา ภาษาที่ถูกขับหวน บรรจงเขียนด้วยความคิดเบื้องหลังที่ถูกประกอบสร้างขึ้น สะท้อนถึงความสลับซับซ้อนของมนุษย์ได้อย่างชัดเจน
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in