มุมหนึ่งของถนนสายที่ไม่เคยขาดแคลนคนแปลกหน้าผู้มาเยือน
คงไม่ใช่เพราะโอโคโนมิยากิจานนั้นหรอกที่พาผมกลับมาที่นี่
ที่ร้าน "มุซาชิ"ในค่ำคืนที่ยังเย็นเยียบ
ร้าน standing bar แบบนี้ดูเหมือนจะเหมาะกับผู้คนในเมืองใหญ่ที่ยังรู้สึกมีพลังเหลือเฟือหลังจากวันที่ยาวนาน และพร้อมจะยืนสนทนาแลกเปลี่ยนความเห็นหรือประสบการณ์ในฐานะคนแปลกหน้าต่อกันได้นานนับชั่วโมง
แต่คืนนี้ดูเหมือนจะเหมาะกับคนที่อ่อนล้าด้วยเช่นกัน
.
"ทำไมถึงชอบมาญี่ปุ่นล่ะ"
ซายะตั้งคำถามขึ้นมาในวงสนทนาที่มีผม และอีกสองคนเป็นคู่หนุ่มสาววัยนักศึกษาร่วมวงอยู่ด้วย
สองเหตุผลที่คิดขึ้นมาได้ทันที และใครที่มาที่ญี่ปุ่นคงคิดแบบเดียวกัน
"ก็ญี่ปุ่นสวยและปลอดภัย"
คำตอบสั้นๆ ของผมดูเหมือนจะทำให้คนญี่ปุ่นสามคนข้างหน้ามีรอยยิ้ม
.
.
.
1.
10 ธันวาคม 2017
จากจุดปล่อยตัวของงานวิ่งรายการนาระมาราธอนที่สนามกีฬาคิโนอิเกะ ออกมาตามถนนใหญ่ผ่านด้านหน้าของสวนนาระไปจนถึงปากทางเข้าวัดโทไดจิ ก่อนจะวิ่งย้อนเส้นทางกลับมาแล้วมุ่งลงทางทิศใต้
ออกมาไม่ไกลนัก ทันทีที่เข้าสู่ชานเมืองที่เป็นเขตเกษตรกรรมของนาระ ก็สัมผัสได้ทันทีถึงวิถีชีวิตเกษตรกรรมที่นับว่าส่งกลิ่นอายรุนแรงเอาเรื่องอยู่ไม่น้อย เมื่อกลิ่นของปุ๋ยหมักและปุ๋ยคอกจากแปลงเกษตรที่เรียงรายอยู่สองข้างถนนผสมปนเปลอยมาเข้าจมูกจนเบียดบังพื้นที่ของออกซิเจนซึ่งเป็นสิ่งมีค่ามากในเวลานั้น
ปุ๋ยพวกนั้นคงใช้เพิ่มสารอาหารและรักษาโครงสร้างของดินเอาไว้เพื่อเก็บความชุ่มชื้น เตรียมตัวเพื่อจะผ่านฤดูหนาวที่แห้งแล้ง และพร้อมสำหรับฤดูกาลเพาะปลูกในช่วงใบไม้ผลิหน้าได้ทันที
เส้นทางวิ่งในครั้งนี้ทำให้ผมนึกย้อนกลับไป
...ย้อนไปเมื่อปี 2016 ในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่อากาศอบอุ่นกว่านี้ นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมมานาระ ครั้งนั้นผมมุ่งลงทางทิศใต้บนเส้นทางเดียวกับการวิ่งครั้งนี้ แต่ไกลออกไปเพื่อเดินสู่เส้นทาง Yamanobe no Michi เส้นทางเดินตามถนนลาดยางสลับคั่นด้วยเส้นทางป่าระยะทางราว 13 กิโลเมตร ผ่านแปลงเกษตรกรรมของชาวบ้าน ผ่านหมู่บ้านที่สงบเงียบ และวิถีชีวิตที่แทรกตัวอยู่กับธรรมชาติอย่างสุภาพถ่อมตน
น่าแปลกที่ความรู้สึกอิ่มเอมระหว่างการเดินครั้งนั้น ยังคงเวียนกลับมาให้รู้สึกได้อีกครั้งเมื่อนึกถึง
ไม่จำเป็นต้องแปลกหูแปลกตา ไม่ต้องสร้างตัวเองให้โดดเด่น
แต่การวางตัวเรียบง่ายและกลมกลืนแบบนั้น กลับเผยความสวยงามที่ซ่อนอยู่ได้มากกว่า
.
.
.
2.
ผมแปลกใจเล็กน้อยเมื่อรู้ว่าทั้งสองคนไม่ใช่คู่รัก
ในวงสนทนา ชายหนุ่มนักศึกษามาจากนาระ กับเพื่อนหญิงสาวที่มาจากเกียวโต ทั้งสองคนเป็นเพื่อนสนิทกันมาตั้งแต่ชั้นประถม และยังคงเป็นเพื่อนสนิทกันจนทุกวันนี้ ทั้งสองคนดูเหมือนจะสนใจเกียวกับเมืองไทย และการมาวิ่งมาราธอนของผม ก็แน่ล่ะ เมื่อซายะช่างกระตือรือร้นที่จะบอกคนในร้านให้รู้จักว่า ผมเป็นคนไทยที่มาวิ่งนาระมาราธอน จนผมกลายเป็น "มิสเตอร์นาระมาราธอน" ไปเสียอย่างนั้น
"แล้วประเทศไทยดีหรือเปล่า" คำถามจากคู่หนุ่มสาวเพื่อนสนิท (จำไม่ได้ว่าจากฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิง)
ดูเหมือนจะเป็นคำถามง่ายๆ แต่แฝงความกดดันสำหรับผู้ตอบอยู่ไม่น้อยเลย
ผมควรจะตอบในฐานะตัวแทนประเทศผู้มาประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยดินแดนแห่งรอยยิ้ม(?) หรือควรจะตอบในฐานะเพื่อนชาวไทยคนหนึ่งผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่กับสภาพปัญหาที่มากมายในสังคมไทยมาตลอดชีวิต
"ประเทศไทยก็สวยนะ" ผมตอบในฐานะตัวแทนประเทศ
"แต่.... ไม่ค่อยปลอดภัย" ผมตอบในฐานะเพื่อน
"เอ๋.." คนญี่ปุ่นสามคนอุทานเบาๆ ท่าทางแปลกใจ
"คนไทยขับรถเร็วมาก"
ผมพูดถึงปัจจัยแรกที่สร้างให้คนไทยขึ้นไปยืนอยู่อันดับต้น ๆ ของโลกอย่างไม่น่าภูมิใจ ในเรื่องสถิติการเสียชีวิตบนท้องถนน และจากสภาพปัจจุบันก็ดูสิ้นหวังที่จะแก้ปัญหาได้
คนญี่ปุ่นสามคนอุทานอีกครั้งด้วยเสียงที่ชัดขึ้น สีหน้าดูเป็นกังวลอย่างเห็นได้ชัด
"และคนไทยไม่จอดรถให้คนข้ามถนน" ผมขยี้ซ้ำ
เป็นไปอย่างที่คาด
คนญี่ปุ่นสามคนดูจะแย่แล้วตอนนี้ อุทานเสียงดังขึ้นอีก มองหน้ากันเลิ่กลั่ก คงไม่คิดว่านี่จะเป็นเรื่องจริงไปได้ เมื่อสิ่งนี้คือพื้นฐานแรกๆ ที่ทำให้สังคมญี่ปุ่นอยู่กันได้อย่างปลอดภัยจนสามารถวางใจให้ลูกหลานตัวเล็กเด็กแดง เดินไปไหนมาไหนเองได้อย่างไม่ต้องกังวลนัก
นึกถึงครั้งแรกที่มาญี่ปุ่น ผมเองก็แปลกใจจนไม่คิดว่าจะเป็นไปได้ขนาดนี้ เมื่อผมกำลังเดินบนถนนย่านชานเมืองโตเกียว ขณะที่กำลังจะเดินข้ามทางสามแยก พร้อมกับที่มีแท็กซี่คันหนึ่งขับมาช้าๆ ตอนนั้นมีเพียงผมคนเดียวกับแท็กซี่หนึ่งคันบนถนนเล็กๆ ที่เงียบสงบ ยังไม่ทันที่จะเดินไปถึงจุดข้าม แท็กซี่ก็ทำท่าจะจอดเพื่อที่จะให้ผมข้ามไปอย่างใจเย็น แต่แน่ล่ะว่าความคุ้นชินจากชีวิตในเมืองไทยที่ฝ่ายคนเดินต้องหยุดให้รถยนต์ไปก่อนเสมอเพื่อรักษาชีวิต ผมเลือกที่จะเป็นฝ่ายหยุด
ราวสิบวินาทีแห่งความเงียบที่ต่างฝ่ายต่างจดๆ จ่อๆ อยู่ตรงนั้น ประสบการณ์ชีวิตจากคนละสังคมทำให้เกิดความไม่เข้าใจกัน
เป็นฝ่ายแท็กซี่ที่หมดความอดทนไปก่อน ลดกระจกลงมา และโบกมือบอกให้ผมเดินข้ามถนนไปเสียที
...อย่าให้พูดถึงบ้านเราเลย
.
.
.
3.
42 กิโลเมตรของเส้นทางวิ่งนาระมาราธอน ทำให้วันนี้ของผมเหมือนจะยาวนานเป็นพิเศษ
ระยะทางไม่ได้ไกลกว่าเส้นทางอื่น
ไม่ได้ใช้เวลานานไปกว่าการวิ่งครั้งก่อนๆ
แต่สิ่งที่ทำให้มันแตกต่างคือความชันที่สลับขึ้นลงไปเกือบตลอดเส้นทางในแนวเขาที่ทอดตัวยาวไปทางทิศใต้ของจังหวัดนาระ เนินชันน้อยใหญ่ที่ดูเหมือนจะหมุนเวียนกันเรียงหน้าเข้ามาส่งเสียงท้าทายเย้ยหยันอย่างไม่หยุดหย่อน ว่านักวิ่งจอมขี้เกียจอย่างผมถ้าไม่ไปจบอยู่ที่เต้นท์ปฐมพยาบาลก็คงวิ่งจบไม่ทันเวลาหรอก
...ความจริงก็คือมีโอกาสเป็นแบบนั้นอยู่ไม่น้อย
ผมเริ่มกังวลว่าภูเขาจะเอาชนะผมได้เมื่อผ่านมาถึงราวกิโลเมตรที่ยี่สิบห้า เมื่อตะคริวเริ่มจะมาเยือนถี่ขึ้นจนแทบจะทุกครั้งที่วิ่งขึ้นทางชัน จากที่เป็นที่ข้างเดียวก็เริ่มลามมาอีกข้างพร้อมกัน ....และเริ่มมองเห็นรถบัสที่วิ่งตามหลังขบวนคอยเก็บกวาดนักวิ่งที่ทำท่าจะวิ่งต่อไม่จบหรือไม่ทันเวลาที่กำหนดหกชั่วโมง
ผมเริ่มมองเห็นมันตามมาแล้วอยู่ไกลๆ
เรี่ยวแรงยังมีเหลือ กล้ามเนื้อต่างหากที่มันทำท่าจะไม่ไหว แต่ยังไงเสียก็ต้องกัดฟันวิ่งต่อ ประคองขาที่ทำท่าจะเป็นตะคริวอยู่ตลอดเวลามาจนถึงกิโลเมตรที่สามสิบ ซึ่งเป็นจุดที่เป็นเต้นท์แจกโซเม็งอุ่นๆ ในถ้วยกระดาษขนาดพอดีอุ้งมือ แม้จะไม่ได้ทำให้อิ่มท้องแต่ก็รู้สึกมีแรงขึ้นมาได้บ้าง และทันทีที่กินหมดอย่างรวดเร็ว ผมก็ตัดสินใจ....
นอน!!
ใช่แล้ว การนอนคือการพักผ่อนที่ดีที่สุด
ทิ้งตัวลงราบลงไปบนพื้นหญ้าแห้งท่ามกลางธรรมชาติที่โอบล้อม ใช้สองมือประสานเป็นหมอนหนุน หลับตาลงไปพร้อมกับนกน้อยที่ร้องประชันเสียงเพลงแห่งฤดูหนาว ลมเอื่อยแหวกกิ่งไม้ให้เคลื่อนไหวกระทบกัน เสียงกริ่งจักรยานของหญิงสาวที่สวมหมวกไหมพรมบนถนนสายเล็กที่ล้อมด้วยต้นซีดาร์สูงชัน ภาพของชีวิตเรียบง่ายเหมือนในหนังเรื่อง Little Forrest คล้ายจะเป็นภาพความฝันในตอนนั้น
...ใช่เวลามาฝันโรแมนติคแบบนี้เมื่อไหร่กันเล่า!
ผมลุกขึ้นและวิ่งต่อไป
.
.
.
4.
ซายะแนะนำให้ผมรู้จักพนักงานของร้านอีกคนหนึ่ง
ฮารุเป็นหญิงสาวผมยาว ดวงตากลมโต มีนัยน์ตาแจ่มชัดที่แฝงอารมณ์ดีเอาไว้ ปากกว้างที่ดูเหมือนจะยิ้มอยู่ตลอดเวลา ท่าทางกระฉับกระเฉงมีพลังงานเหลือเฟือ พูดจาเสียงดังฉะฉานเกือบจะถึงขั้นโวยวายเช่นเดียวกันกับซายะ และเธอเคยวิ่งมาราธอนจบมาแล้ว!
"เอ๋.. สุโก้ย!" คราวนี้ผมเป็นฝ่ายพูดคำนี้บ้าง เมื่อรู้ว่าฮารุเคยวิ่งรายการ Osaka Marathon 2015 ซึ่งนั่นเป็นปีเดียวกันกับที่ผมมาวิ่งรายการนี้
"วิ่งมาราธอนสำหรับฉันแล้วแค่ครั้งเดียวในชีวิตก็พอ เพราะมันเหนื่อยเกินไป" ฮารุพูดพลางหัวเราะ
ฟังดูเป็นเรื่องขำแต่ก็เข้าใจความรู้สึก และเข้าใจด้วยที่ว่าเหนื่อยเกินไปคือช่วงซ้อมเพื่อที่จะวิ่งให้จบฟูลมาราธอนได้ นั่นหมายถึงการวิ่งเก็บระยะทางอย่างน้อย 300 - 400 กิโลเมตร ในช่วงสามสี่เดือน เพื่อที่จะวิ่งให้ได้จบ 42 กิโลเมตรในวันแข่ง ไม่ใช่แต่ฮารุหรอกที่คิดแบบนั้น ผมเองก็รู้สึกไม่ต่างกันซักเท่าไหร่
แต่ก็เพราะระหว่างเส้นทางของการวิ่งมาราธอนแต่ละครั้ง มันมีเสน่ห์พอที่จะทำให้ผมกัดฟันผ่านช่วงเวลาของการซ้อมที่แสนเหนื่อยและน่าเบื่อไปได้
.
.
"กัมบัตเตะ!"
"Fighto!"
เสียงตะโกนเชียร์ดังลั่นจากบรรดาสต๊าฟของงานวัยมัธยมปลายที่ดูมีพลังเหลือเฟือ ปะปนกับเสียงตะโกนให้กำลังใจของชาวบ้านที่อยู่ละแวกนั้น ทำเอาผมและกลุ่มบรรดานักวิ่งแถวหลังที่กำลังวิ่งอืดอาดใกล้จะหมดแรงรู้สึกเกรงใจในความทุ่มเทจริงจังของเหล่ากองเชียร์สองข้างทาง
ถ้าจะทุ่มเทเชียร์กันขนาดนี้ ลองฮึดดูอีกสักหน่อยจะเป็นไร
ผมรู้ดีว่าเสียงเชียร์มักจะได้ผลกับการวิ่งของผมเสมอ หลายครั้งที่เริ่มจะหมดแรงผมมักจะวิ่งหลบออกไปด้านข้างของถนนเพื่อเข้าไปใกล้กับบรรดาผู้คนที่มายืนเชียร์ให้กำลังใจ แม้จะฟังดูไม่น่าเชื่อ แต่ทุกครั้งที่ผมได้ตีมือแรงๆ กับกองเชียร์ข้างทางผมจะมีแรงฮึดวิ่งต่อไปได้ไกลขึ้นและเร็วขึ้น มันเหมือนจะมีพลังงานถูกส่งผ่านมาด้วยเสมอ ....หรือฝ่ามืออรหันต์ในหนังกำลังภายในจะเป็นเรื่องจริง
.
.
และผมก็วิ่งมาจนถึงเส้นชัยทันเวลา
ไม่แปลกใจนักที่จะจำความรู้สึกตอนเข้าเส้นชัยได้น้อยกว่าความทรงจำระหว่างเส้นทาง
แน่ล่ะ ก็เส้นชัยทุกที่มันก็ดูเหมือนๆ กัน
แต่ระหว่างทางมันไม่เหมือน
.
.
.
5.
เนื้อไก่บดโรยเกลือเสียบไม้ย่าง กับเนื้อวัวเสียบไม้ย่างราดด้วยซอสวาซาบิ เป็นอาหารทานแกล้มเบียร์สองแก้วที่พึ่งหมดไป
"เหนื่อยมากเลยนะวันนี้" ผมบ่นกับตัวเองเบาๆ แต่ดังพอที่จะทำให้ซายะได้ยิน
"แล้ววันนี้อยากไปกินอะไรต่อ" ซายะคงอยากแนะนำร้านให้อีกเมื่อรู้ว่าผมประทับใจร้านเกี๊ยวซ่าที่แนะนำไปวันก่อน
"Omurice แล้วกัน" ผมใช้ความคิดไม่นานก่อนจะนึกถึงข้าวห่อไข่แบบญี่ปุ่น
อีกครั้งที่คนญี่ปุ่นสามคนช่วยระดมความคิด แต่คราวนี้ดูเหมือนจะใช้เวลาไม่นาน เพราะซายะเองก็นึกไม่ค่อยออก ส่วนชายหนุ่มจากนาระดูจะนึกไม่ออกยิ่งกว่า โชคดีว่าคราวนี้หญิงสาวจากเกียวโตคนนั้นดูจะเชียวชาญเรื่องร้านอาหารในละแวกนี้อยู่พอสมควร
"ร้าน Pomme no Ki ไง อยู่ตรง Namba Parks แต่ตอนนี้ไปไม่ทันแล้วล่ะ" หญิงสาวเสนอขึ้นมาพร้อมกับยื่นโทรศัพท์มือถือให้ผมดูรูปร้าน
ผมรับข้อเสนอโดยไม่มีข้อโต้แย้ง(แน่ล่ะจะเอาอะไรไปแย้งได้) และตั้งใจจะไปตามคำแนะนำในวันหลัง
.
ในดึกคืนนั้นที่ผู้คนบนถนนเริ่มบางตา ผมเดินออกจากร้านมุซาชิด้วยขาที่อ่อนล้า
ร้าน standing bar แห่งนี้ดูเหมือนยังมีผู้คนในเมืองใหญ่ที่ยังมีพลังเหลือเฟือหลังจากวันที่ยาวนาน และพร้อมจะยืนสนทนาแลกเปลี่ยนความเห็นหรือประสบการณ์ในฐานะคนแปลกหน้าต่อกันได้นานนับชั่วโมง ต่างเปลี่ยนหน้าแวะเวียนเข้ามาอยู่เรื่อยๆ
ซายะและฮารุออกมายืนส่งที่หน้าร้าน และกล่าวคำขอบคุณเสียงดังตามปกติ
.
.
ทำไมถึงชอบมาญี่ปุ่นน่ะเหรอ
คงไม่ใช่แค่เรื่องที่ญี่ปุ่นสวยและปลอดภัยแล้วล่ะ
ผมคิดว่าอย่างนั้นนะ
ตอนอื่นๆ
Nara Marathon Diary – Part1 : โอโคโนมิยากิ และ เกี๊ยวซ่า
Nara Marathon Diary – Epilogue : บทส่งท้าย ยินดีที่ได้รู้จัก
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in