เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวหนังสือการเมืองการปกครองท้องถิ่นChaitawat Marc Seephongsai
การบริหารจัดการบนฐานความร่วมมือ: ฐานรากนวัตกรรมท้องถิ่น

  • พบสุข ช่ำชอง. (2561). การบริหารจัดการบนฐานความร่วมมือ: ฐานรากนวัตกรรมท้องถิ่น. มหาสารคาม: COPAG PRESS. ISBN: 978-616-468-475-1

     

    โดย ผศ.ดร.ปิยะพงษ์ บุษบงก์ สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ Chiang Mai University School of Public Policy 


     

    บทวิจารณ์หนังสือ

    การบริหารจัดการบนฐานความร่วมมือ: ฐานรากนวัตกรรมท้องถิ่น

    (Local Innovation through Collaborative Governance)

     

    ท่ามกลางการเผชิญกับประเด็นท้าทายและประเด็นสาธารณะที่มีความสลับซับซ้อน(wickedissues) และนับวันจะยิ่งซับซ้อนมากขึ้น จนกระทั่งอาจกล่าวได้ว่าเกินกว่าที่ตัวแสดงเดียวหรือองค์กรเพียงองค์กรเดียวจะสามารถรับมือได้เพียงลำพังด้วยการใช้เฉพาะทรัพยากรที่มีของตนเองภายใต้ขอบเขตภารกิจของตนเองหรือภายในขอบเขตพื้นที่การปกครองทางภูมิศาสตร์ของตนเองและ/หรือจะจัดการได้ด้วยวิถีปฏิบัติทางการบริหารจัดการแบบเดิมๆนั้น แนวทางหนึ่งซึ่งได้รับการยอมรับทั้งในโลกวิชาการและโลกปฏิบัติ คือแนวคิดเรื่องความร่วมมือ หรือ การบริหารจัดการแบบร่วมมือกันซึ่งมีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษว่า Collaborative Governance ทั้งนี้ เนื่องจากแนวคิดดังกล่าวให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรและระหว่างตัวแสดงภาคส่วนต่างๆในลักษณะข้ามพรมแดน (across boundaries) ทั้งพรมแดนวัฒนธรรมขององค์กรหรือพื้นที่พรมแดนทางภูมิศาสตร์ รวมไปถึงพรมแดนที่ถูกขีดขึ้นด้วยขอบเขตภารกิจขององค์กรภายใต้การบริหารจัดการแบบร่วมมือกันดังกล่าว ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน หรือการใช้ทรัพยากรที่จำเป็นในการรับมือและจัดการกับประเด็นสาธารณะแต่ละประเด็นร่วมกันระหว่างองค์กรหรือตัวแสดงที่เกี่ยวข้องเป็นการบริหารจัดการที่ไม่มีการบังคับหรือสั่งการระหว่างกัน และไม่จำเป็นต้องมีใครเป็นพระเอกทว่า เป็นความสมัครใจที่จะร่วมมือไม่ว่าจะมีเหตุจูงใจหลักเพื่อความอยู่รอดขององค์กรตนเองเป็นสำคัญหรือเพื่อประโยชน์ร่วมของสาธารณะเป็นเป้าหมายปลายทางก็ตามแนวทางนี้ได้รับการปฏิบัติมายาวนานกว่าสองทศวรรษกระทั่งกล่าวได้ว่าความร่วมมือคือแนวปฏิบัติใหม่ที่ปฏิบัติกันมาจนเสมือนเป็นเรื่องปกติ(collaborationas a new normal) ในฐานะเป็นแนวทางการบริหารจัดการของภาครัฐในหลายประเทศโดยเฉพาะในระดับท้องถิ่นทั่วโลกกระทั่งส่งผลให้เกิดผลงานวิชาการจำนวนมากในประเด็นดังกล่าวตามไปด้วย ทว่าในประเทศไทยผลงานด้านวิชาการที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ยังมีจำกัดในขณะที่พบว่าเรื่องความร่วมมือมีปฏิบัติการโลดแล่นได้ดีโดยเฉพาะในระดับท้องถิ่นไทยมามากกว่าทศวรรษ

    ในหนังสือเรื่อง“การบริหารจัดการบนฐานความร่วมมือ: ฐานรากนวัตกรรมท้องถิ่น” โดย อาจารย์ ดร.พบสุขช่ำชอง นี้ จุดเด่นสำคัญที่ผู้เขียนตั้งใจจะสื่อและผู้วิจารณ์ได้รับสื่อนั้นจากหนังสือเล่มนี้นั่นคือ การที่ผู้เขียนมีมุมมองและเสนอว่าแนวคิดเรื่องการบริหารจัดการบนฐานความร่วมมือ (collaborativegovernance) นั้น คือฐานรากของการเกิดขึ้นและการขับเคลื่อนนวัตกรรมในภาครัฐและในท้องถิ่น(public and local innovation) ซึ่งชื่อของหนังสือที่เป็นภาษาอังกฤษได้ฉายภาพดังกล่าวได้ดีนั่นคือ“LocalInnovation through Collaborative Governance หรือกล่าวได้ว่า นวัตกรรมท้องถิ่นซึ่งมักเป็นนวัตกรรมเชิงการบริหารจัดการและนวัตกรรมเชิงสังคมเพื่อแก้ไขปัญหารับมือ หรือจัดการประเด็นสาธารณะหรือประเด็นนโยบายหนึ่งๆ นั้น มักริเริ่มขึ้นและดำเนินการไปได้จากความร่วมมือในท้องถิ่น

    อาจารย์ ดร.พบสุข ช่ำชอง ถือได้ว่าเป็นผลผลิตสำคัญของสำนักเบอร์มิงแฮม(BirminghamSchool) จากที่เธอได้รับทุนรัฐบาลให้ไปศึกษาในระดับปริญญาเอกด้านการบริหารจัดการท้องถิ่นและนโยบายสาธารณะที่Institute of Local Government Studies หรือที่รู้จักกันดีในระดับสากลในชื่อ‘INLOGOV’ แห่ง University of Birmingham ซึ่งหากจะว่าไปแล้ว สถาบันระดับโลกที่มีหลักสูตรการศึกษาและทำการศึกษาวิจัยโดยตรงอย่างเข้มข้นเรื่องการบริหารจัดการท้องถิ่นค่อนข้างมีจำกัดในสหราชอาณาจักรเอง  มี 3สถาบันชั้นนำในประเด็นดังกล่าว ได้แก่ Centre for Local andRegional Government Research ที่ Cardiff University  และ Local GovernmentResearch Unit ที่ De Montfort University และโดยเฉพาะอย่างยิ่งInstitute of Local Government Studies ที่ Universityof Birmingham ซึ่งที่นี่เองที่ ดร.พบสุข มีโอกาสไปศึกษาและเป็นศิษย์ในที่ปรึกษาและผู้ช่วยวิจัยของProfessor Chris Skelcher ผู้เชี่ยวชาญด้าน Governance ซึ่งมีผลงานชิ้นสำคัญที่เป็นที่รู้จักกันดีสำหรับผู้สนใจด้าน Governance และ Collaboration นั่นคือหนังสือที่เขียนร่วมกับ Professor Helen Sullivan ในชื่อ “Working across Boundaries: Collaboration in PublicServices” และที่นี่เอง เธอได้มีโอกาสทำงานเป็นหนึ่งในทีมที่ปรึกษาของINLOGOV ในการวิจัยและให้คำปรึกษาทั้งกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้แก่ Babergh Council และ Mid Suffolk Council ประเทศอังกฤษในเรื่องการของการสร้างและขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(inter-municipal collaboration) และให้แก่กลุ่มขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในอังกฤษThe District Councils’ Network’s “New Ways of Working” steering group ในเรื่อง BuildingBetter Collaboration: Improving Collaborative Behaviours in Local Government”  ซึ่งในงานดังกล่าวเธอได้มีส่วนรับผิดชอบสำคัญทั้งการสนับสนุนทางวิชาการและการวิจัยภาคสนามสำนักเบอร์มิงแฮมจึงได้สร้างองค์ประกอบให้เธอทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติในด้านGovernanceและ Collaboration  ส่งผลให้ผลงานชิ้นต่างๆ ของเธอมักจะมาจากการถอดองค์ความรู้ร่วมด้วยประสบการณ์และมักจะมีความเป็นงานวิชาการที่ไม่หลุดลอยแยกจากปรากฏการณ์จริงของประเด็นหรือพื้นที่

    ในหนังสือเรื่อง “การบริหารจัดการบนฐานความร่วมมือ: ฐานรากนวัตกรรมท้องถิ่น” นี้ก็เช่นกัน อาจารย์ ดร.พบสุขช่ำชอง ผู้เขียน ได้พัฒนาขึ้นจากการต่อยอดจากความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากการศึกษาการสอนโดยเฉพาะในรายวิชาการจัดการนวัตกรรมท้องถิ่น การทำงานทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศดังที่กล่าวข้างต้นและการวิจัย โดยเฉพาะจากโครงการวิจัยเรื่อง “การพัฒนาความร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น:กรณีศึกษาการจัดบริการสาธารณะด้านการจัดการขยะร่วมกันในจังหวัดกาฬสินธุ์และจังหวัดหนองคาย” ซึ่งได้รับทุนอุดหนุนจากศูนย์ศึกษาการเมืองท้องถิ่นอีสานและอาเซียนมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในปี 2560 และการนำเสนอส่วนหนึ่งของงานวิจัยดังกล่าวในที่ประชุมวิชาการนานาชาติ the3rd International Conference Public Policy ณมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore: NUS) และ International Research Symposiumon Public Management in Asia: Innovation and Transformation สถาบันด้านนโยบายและอาเซียนศึกษา ฮ่องกงซึ่งผู้วิจารณ์ก็มีโอกาสได้เข้าร่วมรับฟังการนำเสนอของผู้เขียนในเวทีประชุมวิชาการนานาชาติทั้ง 2ครั้งดังกล่าวด้วย และพบว่าผู้เขียนได้นำข้อวิพากษ์และคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในเวทีมาใช้ในการสร้างสรรค์งานชิ้นนี้

    ทั้งหมดที่กล่าวมาทำให้ผู้เขียนได้วางโครงสร้างของหนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็น2ส่วนใหญ่สำคัญ โดยเฉพาะส่วนแรกซึ่งถือเป็นจุดเด่นสำคัญของหนังสือที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้ศึกษาและสนใจด้านการบริหารจัดการภาครัฐและการบริหารจัดการท้องถิ่นนั่นคือ องค์ความรู้ที่เกี่ยวกับแนวคิดความร่วมมือการบริหารจัดการบนฐานความร่วมมือ และนวัตกรรมในภาครัฐ (ซึ่งผู้เขียนเน้นย้ำว่ามักหมายถึงนวัตกรรมท้องถิ่น)และ ส่วนที่สอง ได้แก่กรณีศึกษาซึ่งฉายภาพที่สะท้อนว่านวัตกรรมในท้องถิ่นคือนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นและขับเคลื่อนไปได้จากพื้นฐานของการทำงานร่วมกันและจากการใช้ทรัพยากรร่วมกันระหว่างท้องถิ่นเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่การบริหารจัดการท้องถิ่นภายใต้เงื่อนไขของงบประมาณและทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดของแต่ละท้องถิ่น 

     

    สาระสำคัญของหนังสือ

    ความโดดเด่นที่ทำให้หนังสือเล่มนี้มีความแตกต่างจากหนังสือเล่มอื่นๆเกี่ยวกับนวัตกรรมท้องถิ่นในประเทศไทยคือส่วนแรกของหนังสือซึ่งเป็นส่วนของการเปิดมุมมองชวนคิดเรื่องฐานความรู้เกี่ยวกับแนวคิดความร่วมมือ การบริหารจัดการบนฐานความร่วมมือ และ แนวคิดนวัตกรรมภาครัฐและท้องถิ่นซึ่งในทัศนะของผู้วิจารณ์พบว่า ในขณะที่งานชิ้นอื่นมักจะหยิบยกเรื่องราวของนวัตกรรมท้องถิ่นมาเล่าเรื่องแบบกรณีศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นกรณีศึกษาที่เป็นตัวอย่างแนวปฏิบัติอันเป็นเลิศ(bestpractices) แต่ทว่าหนังสือเล่มนี้ได้ปูพื้นฐานและไล่เรียงแนวคิด ทฤษฎี ต่างๆ ข้างต้นและเชื่อมร้อยให้เห็นว่านวัตกรรมท้องถิ่นนั้นตั้งอยู่บนฐานคิดเรื่องความร่วมมือและการบริหารจัดการบนฐานความร่วมมือ(ชื่อที่ผู้เขียนใช้เรียกแนวคิด collaborative governance) ก่อนที่จะเสริมเติมแต่งด้วยตัวอย่างของกรณีที่สะท้อนให้เห็นภาพนวัตกรรมท้องถิ่นที่ริเริ่มขึ้นและขับเคลื่อนด้วยการบริหารจัดการบนฐานความร่วมมือนั้นเป็นส่วนทิ้งทาย

    ผู้เขียนได้แบ่งส่วนแรกของหนังสือที่ว่าด้วยแนวคิดและทฤษฎีดังกล่าวข้างต้นออกเป็น2ส่วนใหญ่ คือ ส่วนที่ 1 เพื่อสร้างความเข้าใจกับผู้อ่านเรื่องแนวคิดความร่วมมือและการบริหารจัดการบนฐานความร่วมมือและ ส่วนที่ 2 เพื่อสร้างความเข้าใจกับผู้อ่านในเรื่องแนวคิดนวัตกรรมในภาครัฐหรือนวัตกรรมท้องถิ่นโดยมีสาระสำคัญดังนี้

    สวนที่ 1 การบริหารจัดการบนฐานความรวมมือ

    ในส่วนนี้ผู้เขียนพยายามชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างแนวคิดความร่วมมือ (collaboration)’ ‘การบริหารจัดการ (governance)’ และ การบริหารจัดการบนฐานความร่วมมือ (collaborativegovernance) โดยชวนให้ผู้อ่านคิดตามว่านวัตกรรมภาครัฐและนวัตกรรมท้องถิ่นนั้นมักเกิดขึ้นได้และดำเนินการไปได้ก็ด้วยการมีฐานคิดเหล่านี้รองรับและผลักดันโดยผู้เขียนเริ่มต้นด้วยการชี้ให้เห็นภาพกว้างของแนวคิดการบริหารจัดการ (governance)ว่ามีอยู่หลากหลายรูปแบบหรือแนวทาง (modes of governance) เช่น การบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมอย่างเสริมพลัง (empoweredparticipatory governance) และ การบริหารจัดการแบบปรึกษาหารือ (deliberativegovernance) โดยที่การบริหารจัดการบนฐานความร่วมมือ (collaborativegovernance) นั้นถือเป็นหนึ่งในรูปแบบการบริหารจัดการที่ได้รับการเสนอและนำไปใช้อย่างกว้างขวางเพื่อจัดการกับประเด็นท้าทายในการบริหารจัดการภาครัฐในศตวรรษที่21  ทั้งนี้ ผู้เขียนได้อ้างถึงนักวิชาการสำคัญในเรื่องcollaborative governance หลายคน รวมถึงผู้ที่ชี้ให้เห็นว่า ความร่วมมือ’ นั้นเป็นฐานสำคัญหรือเงื่อนไขหลักของการเกิดขึ้นของ นวัตกรรมในภาครัฐ ทำให้ผู้เขียนเสนอว่าการจะทำความเข้าใจนวัตกรรมภาครัฐและนวัตกรรมท้องถิ่นจึงจำเป็นต้องย้อนกลับไปเริ่มต้นทำความเข้าใจตั้งแต่แนวคิดความร่วมมือ

    แนวคิดความร่วมมือ(collaboration)

    ผู้เขียนตั้งต้นจากการชี้ว่าความร่วมมือ(collaboration)เป็นคำหรือแนวคิดที่ไม่มีฉันทามติในหมู่นักวิชาการและนักปฏิบัติถึงนิยามที่ชัดเจนและตายตัวรวมทั้งถูกเรียกในชื่อที่หลากหลายหรือมีคำศัพท์จำนวนมากที่ถูกนำมาใช้เพื่อหมายถึงความร่วมมือระหว่างองค์กรโดยขึ้นอยู่กับบริบทในการนำไปใช้ของนักวิชาการแต่ละคน หรือของรัฐแต่ละแห่งดังเช่นคำว่า ความเป็นหุ้นส่วน (partnership), การดำเนินการร่วม(co-operation), เครือข่าย (network), การประสานงานกัน(co-ordination), ความเป็นพันธมิตร (alliance), สัมพันธมิตร (coalition), สหภาพหรือกลุ่มการรวมตัว (federation)และ การร่วมทุน (joint venture) และแม้แต่นวัตกรรมการทำงานร่วมกันระหว่างองค์กร(inter-organisational innovation)

     อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนได้วิเคราะห์และสังเคราะห์งานชิ้นสำคัญด้านความร่วมมือโดยเฉพาะในด้านการบริหารจัดการและเสนอไว้อย่างน่าสนใจว่า “แนวคิดความร่วมมือ (collaboration) เมื่อใช้ในมิติของการบริหารจัดการในภาครัฐนั้นไม่ควรให้นิยามว่าหมายถึงรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งหรือวิธีการใดวิธีการหนึ่งอย่างเฉพาะเจาะจงที่มองความร่วมมือเสมือนว่าเป็นเทคนิคหรือเครื่องมือ(tools) หากแต่ควรให้ความสนใจว่าความร่วมมือเป็นแนวคิดหรือแนวนโยบาย ที่อาจมีรูปแบบและวิธีการนำไปใช้ที่หลากหลายตามนวัตกรรมในการบริหารจัดการของแต่ละประเด็นหรือแต่ละพื้นที่ ดังนั้น ความร่วมมือจึงควรหมายถึง การทำงานในรูปแบบใหม่ที่มุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรตั้งแต่2 แห่งขึ้นไป หรือเป็นความร่วมมือระหว่างหลายตัวแสดงซึ่งทำให้เกิดการออกแบบกระบวนการในการตัดสินใจและ/หรือการจัดบริการสาธารณะใหม่จากเดิมที่เน้นการทำงานตามภารกิจขององค์กรแต่ละแห่งด้วยทรัพยากรของตนเองมาสู่การแลกเปลี่ยนหรือใช้ทรัพยากรร่วมกัน และตัดสินใจร่วมกันมากขึ้น ทั้งนี้โดยที่ความร่วมมืออาจเป็นได้ทั้งระยะสั้น/เฉพาะกิจ หรือระยะยาวอาจเป็นความร่วมมือที่ไม่เป็นทางการกล่าวคือไม่มีเอกสารที่เป็นลายลักษณ์เพื่อควบคุมจัดการความร่วมมือหรือเป็นทางการคือมีเอกสารที่เป็นลายลักษณ์อักษรควบคุมจัดการความร่วมมือ” ข้อเสนอการให้คำจำกัดความความร่วมมือแบบกว้างนี้มาจากประสบการณ์การทำวิจัยของผู้เขียนที่พบว่าในการจะทำความเข้าใจความร่วมมือในโลกปฏิบัติการจริงได้อย่างลึกซึ้งนั้นไม่ควรถูกจำกัดมุมมองด้วยนิยามแบบแคบในการทำความเข้าใจเรื่องดังกล่าวอาทิ หากจะสำรวจและวิเคราะห์ความร่วมมือที่เกิดขึ้นระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ไม่ควรจำกัดความตั้งแต่ต้นว่าความร่วมมือหมายถึงต้องมีการทำMOUร่วมกันเท่านั้นเพราะอาจทำให้ละเลยความร่วมมือที่เกิดขึ้นจริงในอีกหลายรูปแบบที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้พยายามใช้เพื่อการบริหารจัดการท้องถิ่นเช่นกัน

     

    แนวคิดการบริหารจัดการบนฐานความร่วมมือ(collaborativegovernance)

    ผู้เขียนได้ร้อยเรียงต่อมาว่าเมื่อความร่วมมือที่กล่าวถึงข้างต้นมิใช่รูปแบบของการจัดองค์กร ทว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการบริหารจัดการ(aform of governance) จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจเริ่มต้นที่แนวคิดการบริหารจัดการ(governance)และได้ยกงานของ Stoker (1998) ที่ได้อธิบายถึงการบริหารจัดการไว้ว่าเนื่องจากในการจัดการกับประเด็นปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและสังคมนั้นไม่สามารถระบุได้ชัดว่าขอบเขตและหน้าที่ความรับผิดชอบของใครอยู่ตรงไหนอย่างชัดเจนและสถาบันหรือตัวแสดงต่างๆ นั้นพึ่งพิงกันและกันทั้งในเชิงอำนาจและทรัพยากรซึ่งทำให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือที่มีความเป็นอิสระในการบริหารจัดการในสถานการณ์ดังกล่าวนั้นรัฐจึงไม่สามารถสั่งการและควบคุมแนวทางการบริหารจัดการดังกล่าวได้หากแต่ต้องใช้เทคนิคและกลวิธีแบบใหม่ๆในการชี้แนะทิศทางและเนื้อหาของนโยบายสาธารณะ ดังนั้น ความต้องการแนวทางความร่วมมือจึงเกิดขึ้นจากการที่ผู้กำหนดนโยบายและผู้ปฏิบัติงานในภาครัฐต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนและสถานการณ์ที่ผันผวน(turbulence) ดังกล่าวที่เพิ่มมากขึ้นทุกขณะหรือกล่าวได้ว่าแทบจะเป็นภาวะปกติ

    ผู้เขียนเชื่อมโยงต่อว่านักวิชาการกลุ่มหนึ่งได้ต่อยอดฐานคิดการบริหารจัดการดังกล่าวและเสนอแนวคิดที่เรียกว่า ‘collaborative governance’โดยในไทยนั้นได้มีการแปลแนวคิดดังกล่าวอย่างหลากหลาย อาทิการบริหารกิจการบ้านเมืองแบบร่วมมือกัน หรือ การบริหารจัดการแบบร่วมมือกัน ซึ่งในหนังสือเล่มนี้ผู้เขียนได้แปลว่าเป็นการบริหารจัดการบนฐานความร่วมมือซึ่งผู้วิจารณ์เข้าใจว่าเป็นความพยายามของผู้เขียนที่จะชี้ให้เห็นชัดว่าแนวทางนี้คือแนวทางหนึ่งของการบริหารจัดการ (a mode of governance) ที่พัฒนาขึ้นจากฐานคิดเรื่องความร่วมมือ (collaboration) ดังที่ได้ร้อยเรียงมานั่นเอง

    จากนั้น ผู้เขียนได้ยกงานชิ้นสำคัญคืองานของ Ansell and Gash (2008) ในชื่อ ‘CollaborativeGovernance in Theory and Practice’ ซึ่งอธิบายแนวคิดการบริหารจัดการบนฐานความร่วมมือเป็นแนวคิดที่มีปฏิบัติการจริงจำนวนมากในระดับท้องถิ่นโดยเกิดขึ้นเนื่องจากความพยายามในการแก้ไขความล้มเหลวของการบริหารจัดการที่เน้นการควบคุมสั่งการและมีต้นทุนสูงรวมถึงเป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นเนื่องจากการที่องค์ความรู้ไม่ได้ถูกผูกขาดอีกต่อไปหากแต่เติบโตและกระจายไปที่ภาคส่วนต่างๆ ดังนั้นจึงเป็นแนวคิดที่เหมาะสมกับการตอบสนองต่อสังคมพหุนิยมที่สนใจตัวแสดงที่หลากหลายทั้งนี้ ผู้เขียนเสริมว่าเนื่องจากแนวคิดการบริหารจัดการบนฐานความร่วมมือนั้นต่อยอดมาจากแนวคิดการบริหารจัดการ(governance) ดังนั้น สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่นักวิชาการหลายคนเห็นร่วมกันคือการเน้นว่าต้องให้ความสำคัญกับการตัดสินใจร่วมกัน(collective decision making)ระหว่างภาคส่วนต่างๆ ในกระบวนการนโยบายและกิจกรรมสาธารณะ

    อย่างไรก็ตามผู้เขียนได้เสนอไว้ว่า การอธิบายแนวคิดการบริหารจัดการบนฐานความร่วมมือโดยEmerson, Nabatchi andBalogh (2012) ซึ่งให้คำจำกัดความแนวคิดดังกล่าวแบบกว้างจะเกิดประโยชน์ทั้งต่อนักวิชาการในการนำไปเป็นกรอบในการวิเคราะห์และทำความเข้าใจเรื่องการบริหารจัดการแบบร่วมมือกันได้ลึกซึ้งยิ่งกว่าและเป็นประโยชน์ต่อผู้ปฏิบัติที่จะทำให้เรื่องการบริหารจัดการบนฐานความร่วมมือขยายไปครอบคลุมแนวทางต่างๆมากขึ้น เช่น การจัดการภาครัฐแบบร่วมมือกัน (collaborative public management) การบริหารจัดการแบบหลายพันธมิตร (multipartner governance) การปกครองแบบเครือข่ายหรือแบบร่วมกัน (joined-up and network government) และการจัดการแบบผสมผสาน (hybrid arrangements) เป็นต้นซึ่งล้วนแต่มีคุณลักษณะบางอย่างร่วมกันกับแนวคิดการบริหารจัดการบนฐานความร่วมมือทั้งสิ้น

    ในส่วนสุดท้ายของส่วนแรกนี้ผู้เขียนได้ขมวดประเด็นเพื่อเชื่อมโยงแนวคิดการบริหารจัดการบนฐานความร่วมมือต่อไปกับแนวคิดนวัตกรรมภาครัฐและนวัตกรรมท้องถิ่นไว้อย่างน่าสนใจว่าการบริหารจัดการบนฐานความร่วมมือเป็นการบริหารจัดการในแนวทางใหม่ที่รัฐใส่ใจกับการดึงดูดตัวแสดงภาคส่วนต่างๆมาใช้ทรัพยากรร่วมกันหรือแลกเปลี่ยนกัน มากไปกว่าการที่องค์กรภาครัฐมองตนเองว่าเป็นพระเอกในการรับผิดชอบต่อการบริหารจัดการประเด็นสาธารณะเพียงลำพังดังนั้นผู้เขียนได้เสนอว่า ความร่วมมือนี่เองจึงถือเป็นฐานของการทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆจากตัวแสดงที่เกี่ยวข้องที่นำความเชี่ยวชาญ หรือองค์ความรู้รวมทั้งฐานทรัพยากรของตนเองมาใช้และคิดร่วมกันและพัฒนาเป็นนวัตกรรมเพื่อรับมือกับประเด็นสาธารณะที่เผชิญร่วมกันหรือเพื่อบรรลุเป้าหมายที่มีร่วมกันซึ่งสอดรับกับที่ Ansell andGash (2008:3) ได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของความร่วมมือที่ถือว่าเป็นฐานของการริเริ่มนวัตกรรมในภาครัฐไว้ว่า“ความร่วมมือระหว่างตัวแสดงที่หลากหลายส่งผลให้เกิดนวัตกรรมในภาครัฐ (Multi-actor collaboration can spur public innovation)

     

              ส่วนที่ 2แนวคิดนวัตกรรมภาครัฐและนวัตกรรมท้องถิ่น

              ในส่วนนี้ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญที่ชวนคิดตามว่าในขณะที่ปัจจุบันนั้นคำว่านวัตกรรมเป็นคำที่ใช้กันโดยทั่วไปจนเสมือนเป็นความปกติใหม่(newnormal) ทว่าเมื่อถามถึงนิยามกลับพบว่าแต่ละคนแต่ละตัวแสดงหรือแต่ละภาคส่วนมีมุมมองต่อคำแนวคิดนวัตกรรมต่างกันผู้เขียนเริ่มที่การทบทวนแนวคิดนวัตกรรมในระดับสากลและพบว่ามักเกี่ยวข้องกับมิติวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรวมไปถึงการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจซึ่งความเข้าใจดังกล่าวอาจถูกต้องเหมาะสมเมื่อกล่าวถึงนวัตกรรมในเชิงวิทยาศาสตร์(scientific innovation) อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนได้อ้างงานของLundvall (1992) ที่พบว่าจุดเริ่มต้นของความสนใจเรื่องนวัตกรรมในภาครัฐ(public innovation) ในระดับสากลโดยเฉพาะประเทศในยุโรปอยู่ในช่วงทศวรรษที่1980ซึ่งช่วงนั้นมีการกล่าวอ้างว่าการแข่งขันของเศรษฐกิจระดับชาตินั้นจะได้เกิดขึ้นได้ก็จากการพัฒนาและการถ่ายทอดจากเทคโนโลยีและงานวิจัยที่สร้างสรรค์ขึ้นโดยภาครัฐไปสู่ภาคเอกชนโดยผ่านทางระบบของนวัตกรรมแห่งชาติ ดังนั้น ในช่วงเริ่มแรกนวัตกรรมในภาครัฐจึงถูกมองว่าเป็นเครื่องมือในการสร้างประโยชน์ให้แก่ภาคเอกชนมากกว่าภาคสาธารณะ 

    จากนั้นผู้เขียนอิงงานของAnsell and Torfing (2016) ในการชี้ให้เห็นพัฒนาการต่อมาว่าเนื่องด้วยการพัฒนาองค์ความรู้ว่าด้วยนวัตกรรมเชิงสังคม(social innovation) ทำให้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของนวัตกรรมในภาครัฐจึงถูกปรับเปลี่ยนไปโดยที่นวัตกรรมเชิงสังคมนั้นได้รับการนิยามว่าเป็นการสร้างสรรค์ขึ้นของโครงการและบริการใหม่ๆที่มีเป้าหมายเพื่อเติมเต็มความต้องการที่ขาดหายของสังคมซึ่งอาจอยู่ภายในหรือภายนอกภาครัฐดังนั้นจึงถือว่าเป็นการเปลี่ยนจุดมุ่งเน้นของนวัตกรรมภาครัฐที่จากการสร้างสรรค์คุณค่าให้แก่ภาคเอกชนมาสู่การสร้างสรรค์คุณค่าให้แก่ภาครัฐหรือสาธารณะดังนั้น นวัตกรรมภาครัฐจึงครอบคลุมถึงการปรับเปลี่ยนหรือรื้อปรับนโยบายกระบวนการบริหารจัดการองค์กร การจัดและส่งมอบบริการสาธารณะหรือแม้แต่การแปรรูปเปลี่ยนร่างฐานคิดหรือมุมมองเกี่ยวกับสถานะและบทบาทของภาครัฐที่มีต่อเศรษฐกิจและสังคมรวมไปถึง วิถีทางใหม่ๆ ในการปฏิสัมพันธ์หรือร่วมมือกับองค์กรอื่นหรือตัวแสดงอื่นในประเด็นต่างๆที่กล่าวมา

    ผู้เขียนอ้างว่าปฏิบัติการเรื่องนวัตกรรมภาครัฐในหลายแห่งสะท้อนถึงนวัตกรรมท้องถิ่นหรือกล่าวได้ว่าแนวคิดนวัตกรรมในภาครัฐโลดแล่นและปฏิบัติการได้ดีในสเกลของท้องถิ่นซึ่งผู้เขียนได้สำรวจและสังเคราะห์นิยามเกี่ยวกับกับนวัตกรรมในท้องถิ่นทั้งที่มีการให้ความหมายไว้ในระดับสากลและงานชิ้นสำคัญในไทยและได้เสนอไว้อย่างน่าสนใจอันจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาเรื่องนวัตกรรมท้องถิ่นต่อไปโดยเสนอว่านวัตกรรมท้องถิ่นนั้นมีคุณลักษณะที่สำคัญดังนี้

    (1) การเกิดแนวคิดใหม่เชิงสร้างสรรค์ (new creative ideas)โดยมีจุดเน้นว่าการจะสร้างนวัตกรรมได้นั้นจุดเริ่มต้นมักอยู่ที่ การเปลี่ยนแนวทางการตั้งคำถามต่อตนเอง” ตัวอย่างเช่นหากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะจัดบริการสาธารณะด้านผู้สูงอายุ แทนที่จะถามตัวเองแบบเดิมว่าเราจะจัดและส่งมอบบริการอะไรให้ผู้สูงอายุ?” ควรตั้งคำถามกับตัวเองด้วยคำถามแบบใหม่ว่า “ทำอย่างไรเราจึงจะสามารถช่วยเหลือสนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น?” ซึ่งคำถามแบบหลังนี่เองที่สอดคล้องกับแนวคิดการบริหารจัดการบนฐานความร่วมมือ นั่นคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องเลิกมองตัวเองว่าเป็นพระเอกที่จะต้องจัดบริการสาธารณะหรือแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองลำพังแต่ต้องลดบทบาทตัวเองด้วยการเปลี่ยนมาแสดงบทบาทหน้าที่ในการสนับสนุน (facilitator) ให้ตัวแสดงอื่นหรือภาคส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องและมีศักยภาพรวมทั้งทรัพยากรที่จำเป็นในการจัดบริการสาธารณะในแต่ละประเภทนั้นๆได้เข้าร่วมรับผิดชอบในการจัดบริการสาธารณะซึ่งเป็นการพลิกโฉมความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับผู้รับบริการรวมทั้งตัวแสดงที่หลากหลายในท้องถิ่น

    (2) การหยิบยืมแนวปฏิบัติจากที่อื่น (adoption and adaption) โดยจุดเน้นคือนวัตกรรมภาครัฐหรือท้องถิ่นอาจเป็นการหยิบยืมหรือเอาของที่ผู้อื่นพัฒนาไว้แล้วมาปรับปรุงใช้ในพื้นที่ตนอาทิกรณีการแพร่กระจายแนวปฏิบัติเรื่องการจัดบริการสาธารณะร่วมกัน (sharedservices) ในอังกฤษซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เรียนรู้และหยิบยืมแนวปฏิบัติของพื้นที่อื่นมาใช้ในพื้นที่ตนเองกระทั่งปัจจุบันกว่า90% ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในอังกฤษได้ใช้นวัตกรรมนี้ในการจัดบริการสาธารณะ 

    (3)การนำแนวคิดใหม่หรือแนวคิดที่หยิบยืมจากที่อื่นมาลงมือทำและประสบผลสำเร็จ (successful implementation)การเกิดแนวคิดใหม่หรือความคิดสร้างสรรค์เท่านั้นไม่เพียงพอที่จะมีความเป็นนวัตกรรมหากแต่ความคิดใหม่เชิงสรรค์นั้นซึ่งไม่ว่าจะมีแหล่งกำเนิดคือเกิดขึ้นครั้งแรกในพื้นที่นี้หรือหยิบยืมมาจากพื้นที่อื่นจะกลายเป็นนวัตกรรมก็ต่อเมื่อได้รับการนำมาใช้ปฏิบัติจริง

    (4) ไม่เป็นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสมอไป (not scientific innovation) นวัตกรรมท้องถิ่นโดยมากมักเป็นนวัตกรรมสังคม และนวัตกรรมในการบริหารจัดการซึ่งเน้นที่การเปลี่ยนแปลงมุมมองแนวคิดใหม่ และการออกแบบใหม่ซึ่งกระบวนการตัดสินใจและวิธีการในการจัดบริการสาธารณะรวมไปถึงกระบวนการนโยบายสาธารณะ อย่างไรก็ตามอาจมีปรากฏการณ์ที่นวัตกรรมในท้องถิ่นเป็นนวัตกรรมในเชิงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหากแต่ที่น่าสนใจคือในการริเริ่มและขับเคลื่อนนวัตกรรมดังกล่าวมิได้เกิดจากผู้คนหรือตัวแสดงในท้องถิ่นเพียงลำพังหากแต่เป็นนวัตกรรมบนฐานของการบริหารจัดการบนฐานความร่วมมือที่เกิดจากตัวแสดงในพื้นที่ได้แสวงหาความร่วมมือกับองค์กรหรือตัวแสดงภายนอกที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาช่วยริเริ่มนวัตกรรมเช่น นวัตกรรมเรื่องการทำก๊าซชีวภาพจากมูลสุกร เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในชุมชน โดยให้ตัวแสดงภายนอกคือปตท.นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการผลิตก๊าซจากโรงเลี้ยงหมูเอกชนผลิตแจกจ่ายให้แก่ครัวเรือนซึ่งเกิดจากความร่วมมือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาชน เอกชนในพื้นที่และความรู้และเทคโนโลยีจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นต้น

    (5) จุดเน้นการเป็นนวัตกรรมบนฐานความร่วมมือ (innovation through collaboration) ตัวอย่างการปฏิบัติการเรื่องนวัตกรรมในท้องถิ่นในหลายพื้นที่ทั้งในระดับสากลและในไทยแสดงให้เห็นว่าเมื่อกล่าวถึงนวัตกรรมท้องถิ่นย่อมแสดงนัยถึงการมีตัวแสดงมากกว่าหนึ่งและมากไปกว่าแค่องค์กรภาครัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการริเริ่มรวมไปถึงการขับเคลื่อนนวัตกรรม

     

    ส่วนที่ 3 ภาคปฏิบัติการของนวัตกรรมท้องถิ่นบนฐานคิดการบริหารจัดการบนฐานความร่วมมือในไทย

    จากที่ในส่วนก่อนหน้าได้ฉายภาพบทวิเคราะห์ว่าด้วยแนวคิดทฤษฎี เกี่ยวกับนวัตกรรมท้องถิ่นซึ่งตั้งอยู่บนฐานคิดเรื่องการบริหารจัดการบนฐานความร่วมมือนั้นในส่วนนี้ผู้เขียนได้นำเสนอภาคปฏิบัติการจริงของแนวคิดดังกล่าวจากกรณีศึกษาด้านนวัตกรรมความร่วมมือในการจัดบริการสาธารณะด้านการจัดการขยะซึ่งถือว่าเป็นการริเริ่มนวัตกรรมความร่วมมือเพื่อรับมือและจัดการกับประเด็นสาธารณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นองค์กรเดียวหรือ ตัวแสดงของรัฐเพียงอย่างเดียวไม่สามารถจัดการได้ดีเพียงลำพังรวมถึงเป็นการพยายามแก้ไขปัญหาการขาดแคลนทรัพยากร คือ งบประมาณ แลบ่อกำจัดขยะซึ่งเป็นประเด็นท้าทายหลักขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็ก ดังนั้นในส่วนนี้จะได้นำเสนอผลการวิเคราะห์ 2 กรณี ได้แก่กรณีเทศบาลเมืองท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย และ กรณีเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งพัฒนาต่อยอดมาจากงานวิจัย ของผู้เขียนเองในเรื่องการพัฒนาความร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น:กรณีศึกษาการจัดบริการสาธารณะด้านการจัดการขยะร่วมกันขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

    ผู้เขียนได้สรุปให้เห็นว่าปรากฏการณ์นวัตกรรมความร่วมมือในการจัดบริการสาธารณะด้านการจัดการขยะจากกรณีศึกษาได้แสดงให้เห็นว่า นวัตกรรมความร่วมมือในท้องถิ่นมีทั้งในส่วนที่เป็นความร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกันเองและที่พัฒนาไปสู่ความร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับตัวแสดงอื่นๆทั้งภาครัฐอื่น ภาคเอกชน และชุมชน ประชาชนในท้องถิ่น  ในส่วนของความร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกันเองนั้นพบว่า เป็นความร่วมมือแบบที่ค่อนข้างเป็นทางการ กล่าวคือมีการจัดทำข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษร หรือการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (Memorandum of Understanding – MOU) เพื่อจัดการความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรมีการตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการความร่วมมือเป็นการเฉพาะ มีการใช้ทรัพยากรร่วมกันไม่ว่าจะเป็นบ่อฝังกลบและการหยิบยืมรถเก็บขยะและมีการแบ่งงานกันทำโดยแต่ละองค์กรไปขับเคลื่อนแนวทางการลดปริมาณขยะตั้งแต่ต้นทางในพื้นที่ของตน(aligning activities)

    ที่น่าสนใจคือ ผู้เขียนพบว่าความร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกันเองสามารถแบ่งได้เป็น 2 ระดับ คือความร่วมมือแนวระนาบซึ่งเกิดขึ้นด้วยความสมัครใจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับล่างด้วยกันเองในการรับมือกับการจัดการขยะในขณะที่ขาดแคลนทรัพยากรคือบ่อขยะและงบประมาณและ ความร่วมมือแนวดิ่งซึ่งเกิดขึ้นแบบสั่งการ คือความร่วมมือที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันจากการสั่งการของรัฐส่วนกลางที่ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดจัดทำข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นชั้นล่างเพื่อจัดการขยะในแนวทางที่เป็นกรอบการดำเนินการที่กำหนดไว้แล้วของรัฐส่วนกลางนั้นอย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมความร่วมมือระดับใดล้วนเกิดขึ้นจากความพยายามในการแก้ไขปัญหาการจัดบริการสาธารณะด้านการจัดการขยะที่องค์กรองค์กรเดียวไม่สามารถรับมือหรือจัดการได้ดีเพียงลำพังอีกต่อไปทั้งนี้ เพราะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมิใช่องค์กรระบบปิดที่ไร้สภาวะแวดล้อม (hermetically sealed organisation) ที่สามารถใช้ทรัพยากรของตนเองได้เท่านั้นในการบริหารจัดการหากแต่ความอยู่รอดขององค์กรและความสามารถในการขับเคลื่อนภารกิจของตนอาจอาศัยทรัพยากรภายนอกองค์กรอาทิ การแก้ปัญหาเรื่องการไม่มีบ่อกำจัดขยะเป็นของตนเองด้วยการทำความร่วมมือกับองค์กรที่เป็นเจ้าของบ่อกำจัดขยะเป็นต้น

    นอกจากนี้ กรณีศึกษายังแสดงให้เห็นว่าความร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกิดขึ้นแบบสมัครใจจากองค์กรที่มีอาณาเขตติดกันหรือใกล้เคียงกันในการใช้บ่อกำจัดขยะร่วมกันนั้นได้เป็นจุดตั้งต้นหรือเป็นแกนกลางในการขยายความร่วมมือไปสู่ตัวแสดงอื่นๆในการจัดการเรื่องขยะด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือกับชุมชน ทั้งนี้เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อยู่ในความร่วมมือนั้นได้เล็งเห็นร่วมกันว่าการที่ต่างองค์กรต่างนำขยะสู่บ่อกำจัดโดยไม่มีการลดปริมาณมาจากต้นทางย่อมทำให้โอกาสที่บ่อขยะจะเต็มและล้นในเวลาอันใกล้มีสูง ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้ครัวเรือนและชุมชนร่วมรับผิดชอบหรือร่วมจัดบริการสาธารณะนี้ตั้งแต่ต้นทาง(coproduce services) กระทั่งกล่าวได้ว่าความสำเร็จในการจัดบริการสาธารณะร่วมกันขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดังกล่าวจะเกิดขึ้นไม่ได้หากปราศจากการแสวงหาความร่วมมือและการเล็งเห็นถึงศักยภาพของชุมชนในการเข้ามาร่วมรับผิดชอบในการจัดการขยะกระทั่งเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของประชาชน

    ในส่วนของเงื่อนไขที่ส่งผลต่อการขับเคลื่อนนวัตกรรมความร่วมมือพบว่า การมีผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งที่เป็นฝ่ายการเมืองและฝ่ายราชการที่มีคุณลักษณะของการเป็นผู้ทำงานข้ามพรมแดน คือเห็นประโยชน์ของความร่วมมือและสามารถโน้มน้าวให้ผู้อื่นเข้ามาร่วมมือได้คือเงื่อนไขสำคัญนอกจากเงื่อนไขด้านปัจเจกบุคคลดังกล่าว ยังพบอีกว่า การมีวัฒนธรรมความร่วมมือคือการที่บุคลากรในองค์กรเห็นคุณค่าของตัวแสดงอื่นและสามารถทำงานร่วมกันตัวแสดงอื่นได้ดีคือเงื่อนไขสนับสนุนการขับเคลื่อนนวัตกรรมความร่วมมืออีกด้วย

     

    ทั้งนี้ จากที่กล่าวไปทั้งหมด หากจะต้องสรุปเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ความโดดเด่นที่น่าสนใจที่ทำให้หนังสือเล่มนี้ต่างไปจากหนังสือเล่มอื่นๆด้านนวัตกรรมท้องถิ่นคือการนำเสนอฐานแนวคิดและทฤษฎี โดยชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงของแนวคิดการบริหารจัดการบนฐานความร่วมมือเข้ากับแนวคิดและภาคปฏิบัติการของนวัตกรรมท้องถิ่น ผู้เขียนชี้ให้เห็นชัดว่าการบริหารจัดการบนฐานความร่วมมือซึ่งเป็นแนวทางที่รัฐใส่ใจกับการดึงดูดตัวแสดงภาคส่วนต่างๆมาใช้ทรัพยากรร่วมกันหรือแลกเปลี่ยนกันมากไปกว่าการที่องค์กรภาครัฐมองตนเองว่าเป็นตัวหลักหรือพระเอกในการรับผิดชอบต่อการบริหารจัดการประเด็นสาธารณะเพียงลำพังดังนั้น แนวทางนี้เองจึงถือเป็นฐานของการเกิดนวัตกรรมท้องถิ่นซึ่งเกิดจากการที่ตัวแสดงที่เกี่ยวข้องได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆได้นำความเชี่ยวชาญ หรือองค์ความรู้รวมทั้งฐานทรัพยากรของตนเองมาใช้และคิดร่วมกันและพัฒนาเป็นนวัตกรรมเพื่อรับมือกับประเด็นสาธารณะที่เผชิญร่วมกันหรือเพื่อบรรลุเป้าหมายที่มีร่วมกัน

    จุดเด่นสำคัญอีกประการคือ การชี้ให้เห็นว่านวัตกรรมท้องถิ่นนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นครั้งแรกในโลกไม่จำเป็นต้องแพงหรือเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความรู้เฉพาะทางทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและไม่จำเป็นต้องนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉมหรือถอนรากถอนโคนหากแต่มักหมายถึงแนวคิดและวิธีการใหม่ๆ ที่นำมาใช้เพื่อการบริหารจัดการและการจัดบริการสาธารณะ นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญอีกประการคือการริเริ่มนวัตกรรมและการขับเคลื่อนนวัตกรรมให้ประสบผลสำเร็จนั้นต้องตั้งอยู่บนแนวคิดของการบริหารจัดการบนฐานความร่วมมือ กล่าวคือภาครัฐหรือองค์กรภาครัฐต้องปรับบทบาทใหม่ในการสร้างบรรยากาศหรือวัฒนธรรมในองค์กรและในชุมชนให้เอื้อต่อการสร้างสรรค์แนวคิดและวิธีการใหม่ๆในการบริหารจัดการท้องถิ่น โดยการร่วมมืออย่างมีนัยสำคัญของภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้นวัตกรรมที่เกิดขึ้นนั้น มิใช่การเอาสิ่งใหม่มาติดตั้ง (installation) โดยที่ขาดความยึดโยงกับความรู้สึกเป็นเจ้าของนวัตกรรมนั้นๆ ของผู้คนจากภาคส่วนต่างๆในพื้นที่

    นอกจากการนำเสนอภาคทฤษฎี ผู้เขียนยังได้นำเสนอภาพการโลดแล่นของแนวคิดนวัตกรรมท้องถิ่นบนฐานคิดการบริหารจัดการบนฐานความร่วมมือในสองกรณีศึกษาซึ่งทำให้เห็นถึงความพยายามขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการสร้างนวัตกรรมความร่วมมือเพื่อรับมือกับประเด็นปัญหาสาธารณะที่เผชิญร่วมกันคือขาดทรัพยากรในการจัดการกับปัญหาขยะอย่างไรก็ตามกรณีศึกษาได้ฉายภาพให้เห็นว่าการขับเคลื่อนนวัตกรรมท้องถิ่นบนฐานความร่วมมือนั้นมิใช่เป็นเพียงเรื่องที่มีแต่ด้านของความสวยงามในนัยที่ว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปรารถนาที่จะทำงานร่วมกันหรือรวมไปถึงการทำงานร่วมกับตัวแสดงอื่นๆด้วยความสมัครใจเพื่อมุ่งประโยชน์สาธารณะเป็นเป้าหมายหลักเท่านั้นหากแต่หลายครั้งนวัตกรรมท้องถิ่นบนฐานความร่วมมือที่เกิดขึ้นอาจเป็นนวัตกรรมความร่วมมือที่เกิดจากการสั่งการของส่วนกลางหรือเป็นการบังคับร่วมมือหรือแม้กระทั่งบ่อยครั้งที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องริเริ่มนวัตกรรมความร่วมมือก็ด้วยเหตุที่ไม่สามารถทัดทานประเด็นท้าทายต่างๆที่เผชิญได้ด้วยการทำงานเพียงลำพัง รวมไปถึงเป็นเพราะความต้องการอยู่รอดของตัวเองด้วยการเข้าถึงทรัพยากรที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นหรือตัวแสดงอื่นครอบครองเป็นต้น

              ดังนั้น สาระสำคัญๆ ดังกล่าวจึงนับเป็นคุณค่าของหนังสือเล่มนี้ที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจศึกษาด้านการบริหารจัดการภาครัฐและการบริหารจัดการท้องถิ่นรวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการท้องถิ่นทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติที่จะนำไปพิจารณาปรับใช้และพัฒนาต่อยอดเพื่อเป็นทางเลือกในการแก้ไขปัญหาและข้อจำกัดของการบริหารจัดการท้องถิ่นและพัฒนานวัตกรรมการบริหารจัดการท้องถิ่นต่อไปในอนาคต

     

    เอกสารอ้างอิง

    Ansell, C. andGash, A. (2008). Collaborative Governance in Theory and Practice. Journalof

    Public Administration Research and Theory, 8, 543-571.

    Ansell, C. andTorfing, J. (2016). Public Innovation through Collaboration and Design.New York: Routledge.

    Emerson,K., Nabatchi, T. and Balogh, S. (2012). An Integrative Framework forCollaborative Governance. Journal of Public Administration Research andTheory, 22 (1), 1–29. 

    Lundvall,B.A. (1992). National Systems of Innovation: Towards a Theory of Innovationand Interactive Learning. London: Pinter Publishers.

    Stoker, G.(1998). Governance as Theory: Five Propositions. InternationalSocial Science Journal, 50(155): 1728.

     

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in