สวัสดีครับ สวัสดีผู้อ่านทุกคนที่ได้เปิดมาอ่านโพสต์นี้ (และเป็นโพสต์แรกของเราด้วยครับ) พอนึกถึงว่าจะต้องเลือกซีรีส์มาเขียนเป็นเรื่องแรกใน Blog เราควรเริ่มจากอะไรดี ? เลยขอเริ่มจากสิ่งที่เราดูซ้ำเกิน 3 รอบ อย่างแม่มดสาวซาบริน่า หรือชื่อเรื่อง Chilling Adventures of Sabrina ที่ลงสตรีมใน Netflix มาเป็นเรื่องแรกแล้วกันครับ
แน่นอนว่าการหยิบซาบริน่ามาเขียนในศักราชนี้คงล่าช้าอย่างถึงที่สุด แต่เรายังเห็นว่ามีแง่มุมบางอย่างที่น่าสนใจและน่าจะนำมาเล่าให้ทุกคนได้อ่านกัน เพราะซีรีส์เรื่องนี้เป็นการเล่ามุมมองเกี่ยวกับ แม่มด ที่แตกต่างออกไปจากความเชื่อช่วงยุคกลาง แตกต่างออกไปจากความเชื่อของคริสต์ศาสนา ซึ่งเป็นภาพจำของแม่มดที่เรา ๆ มักจะได้ยินมาจากนิทานในยุคเก่า ไม่ว่าจะฮันเซลเกรเทล สโนไวท์ ฯ แต่ก่อนจะเข้าถึงตัวเรื่อง เราอยากจะอินโทรเรื่องสักนิดนึงก่อน
ถ้าพูดถึงโลกตะวันตกก็คงต้องย้อนไปถึงรากวัฒนธรรมที่เก่าแก่อย่างอารยธรรม กรีก-โรมัน โดยมากแล้วแม่มดมักจะผูกอยู่กับความเชื่อทางศาสนา ซึ่งโลกตะวันตก ณ ยุคสมัยนั้นยังเป็นลักษณะของการนับถือเทพเจ้าหลายองค์ (พหุเทวนิยม) ดั่งที่เรารู้จักกันอย่าง "เทพโอลิมเปียน" ไม่ว่าจะเป็น ซุส โพไซดอน ฮาเดส ดิมีเทอร์ เฮรา ฯลฯ ถ้าพูดในภาพกว้างคือมนุษย์ในยุคนั้นนับถือธรรมชาติมากกว่าที่จะเป็นศาสนาหรือศาสดา ด้วยจะเห็นว่าเทพและเทพีเหล่านี้ก็ล้วนเป็นตัวแทนของธรรมชาติทั้งสิ้น
"ธรรมชาติ" เป็นคีย์เวิร์ดสำคัญที่ใช้ในการอธิบายความคิดเรื่องแม่มด เอาล่ะส่วนนี้อาจจะซับซ้อนสักหน่อย กล่าวคือ ในพื้นที่ทางวัฒนธรรมหรือกรอบความคิดกระแสหลักที่เกี่ยวกับ "เพศ" มักจะแปะป้าย "ความเป็นหญิง" ให้ยึดโยงกับ "ธรรมชาติ" ซึ่งหมายรวมถึงคุณสมบัติอื่น ๆ ของความเป็นธรรมชาติด้วย เช่น ความคาดเดาไม่ได้ พลังงานลึกลับ อารมณ์ ฯลฯ ซึ่งจะตรงข้ามกับผู้ชายที่ถูกมองว่าเป็น วัฒนธรรม เหตุและผล ฯลฯ การแปะป้ายเหล่านี้เกิดจากการประกอบสร้างทางวัฒนธรรมและผ่านเวลาในหลากบริบททางประวัติศาสตร์ แต่ที่เกี่ยวข้องกับแม่มดของเราที่จำเป็นต้องพูดถึงก็คือ "ความเป็นผู้หญิง"
จะเห็นว่าการสร้างภาพแทนของธรรมชาติในเรื่องเล่าก็มักจะถูกฉายออกมาเป็น "ผู้หญิง" ซะส่วนมาก ไม่ว่าจะ ดิมีเทอร์ ที่เป็นเทพีแห่งธัญญาหาร เฮรา ผู้เป็นเทพีแห่งการสมรสและการตั้งครรภ์ พระแม่คงคา พระแม่โพสพ พระแม่ธรณีของฝั่งพราหมณ์-ฮินดู ก็ออกมาในลักษณะเดียวกันทั้งหมด
กลับมาที่แม่มดของเราในอารยธรรมกรีก-โรมัน ซึ่งถ้าจะหาหลักฐานที่กล่าวอ้างอย่างชัดแจ้งของการปรากฏตัวในประวัติศาสตร์ก็อาจจะไม่มีบันทึกไว้เสียทีเดียว เราจึงคิดว่า "ปกรณัมและเรื่องเล่า" ก็สามารถแสดงภาพบางอย่างของคนยุคนั้นต่อแม่มดได้เช่นกัน
ปกรณัมกรีกที่มีการปรากฏตัวของแม่มด (หรือเข้าข่าย) อย่าง "เซอร์ซีย์" ซึ่งเราคิดว่าทุกคนน่าจะเคยได้ยินชื่อนี้ผ่านหูมาบ้างแน่นอน เพราะล่าสุดก็ได้ปรากฏตัวละครนี้ใน Eternals เหมือนกัน (หนังเรื่องนี้ใช้ elements ของตำนานทั่วโลกเยอะมาก ๆ เลยครับ) จะเห็นในเรื่องว่าเธอสามารถใช้เพียงสัมผัสของมือเพื่อเปลี่ยนแปลงวัตถุได้ ความสามารถนี้ก็ได้รับอิทธิพลจากเรื่องเล่าของกรีกที่นางเปลี่ยนพวกพ้องของโอดิสซิอุสให้กลายเป็นหมูเสียหมด หรืออย่าง "มีเดีย" ลูกสาวของราชาเมืองโครคิส ผู้ที่คอยช่วยวีรบุรุษอย่าง "เจสัน" ในการพิชิตขนแกะทองคำ จากเรื่องเล่าคือเธอมีความสามารถในการ "ปรุงยา" หรือใช้เวทมนตร์เพื่อทำให้เจสันผ่านภารกิจต่าง ๆ มีเดียเป็นหญิงสาวที่น่าสนใจในด้านภาวะจิตใจ เธอมีความรักต่อเจสันอย่างถึงที่สุดเท่าที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะมีให้สามี เธอยอมฆ่าน้องชายตัวเองเพื่อถ่วงเวลาให้ตนกับสามีหนีได้สำเร็จ แต่ด้วยจิตใจที่มีความรู้สึกรุนแรงเช่นนี้ เมื่อเจสันทรยศเธอโดยการไปรักหญิงอื่น มีเดียทำเพียงส่งชุดเจ้าสาวที่อาบยาพิษโดยให้ลูกชายทั้งสองของตนนำไปให้ หญิงสาวคนนั้นตาย ลูกชายของเธอกลายเป็นผู้ต้องหา ท้ายที่สุดด้วยความรักและความแค้นเธอฆ่าลูกชายทั้งสองด้วยมือของตนเอง
Circe and her swines
Medea & Jason
แม่มดที่เกิดขึ้นในยุคกลางจึงเป็นภาพจำสำคัญที่ส่งต่อมาถึงยุคสมัยใหม่ จะเห็นงานเขียน นวนิยาย ตลอดจนภาพยนตร์คลาสสิกก็ยังนำเสนอภาพของแม่มดตามแบบฉบับของยุคกลาง ซึ่งเป็นการผลิตซ้ำอคติทางเพศของ "ผู้หญิง" ว่าเป็นสิ่งที่เป็นปรปักษ์กับศาสนา สิ่งเหล่านี้จะถูกโต้กลับเมื่อกระแสสตรีนิยม (Feminism) เริ่มมีบทบาทมากขึ้น แม่มดถูกตีความใหม่และถูกผลักเข้าสู่โลกของ "เรื่องแต่ง" อย่างสมบูรณ์แบบ ด้วยเป็นยุคสมัยของเหตุผลที่รุ่งเรืองขึ้น
คอสมอส. (2562). ตำนานเทพเจ้าไวกิ้ง. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: ยิปซี กรุ๊ป.
ปรานี วงษ์เทศ. (2534). เอกสารประกอบวิชาเพศและวัฒนธรรม: ทฤษฎีเกี่ยวกับผู้หญิง วัฒนธรรมและสังคม
โดย มิเชล ซิมบาลิส โรซัลโด. นครปฐม: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร.
อัคนี มูลเมฆ. (2562). แม่มด: ประวัติศาสตร์แห่งไสยเวท. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: ยิปซี กรุ๊ป.
อนุสรณ์ ติปยานนท์. (2564). “แม่มด” : การจำกัดสิทธิเสรีภาพของสตรี โดยเอกเทวนิยมและสังคมชายเป็นใหญ่.
สืบค้นจาก: https://www.silpa-mag.com/history/article_64038
เอดิธ แฮมิลตัน. (2562). ปกรณัมปรัมปรา ตำนานเทพและวีรบุรุษกรีก-โรมัน-นอร์ส. (นพมาศ แววหงส์, แปล).
พิมพ์ครั้งที่ 16.กรุงเทพฯ: อมรินทร์.
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in