เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
preview.sweetsingularity
Anatomy of a Choice: เตรียมชำแหละ The Killing of A Sacred Deer (2017)

  • "ยกโทษให้ฉันเถอะ สำหรับทุกสิ่งที่ฉันทำลงไป แต่โดยเฉพาะสำหรับสิ่งที่ฉันไม่ได้ลงมือทำ"


    "Forgive me, for all the things I did but mostly for the ones that I did not."

    -- Donna Tartt, The Secret History (1992)




    ด้วยความที่เป็นแฟนผู้กำกับตลกร้ายอย่าง ยอร์กอส ลานติมอส (Yorgos Lanthimos) จากผลงานล่าสุด The Lobster (2015) อยู่แล้ว เราอดรอหนังเรื่องล่าสุด ที่เพิ่งชนะรางวัลเขียนบทดีเด่นจากเทศกาลหนังคานส์ อย่าง The Killing of a Sacred Deer (2017) ไม่ได้ จึงคิดจะวิเคราะห์ชิ้นส่วนต่างๆที่ปล่อยออกมาเรียกน้ำย่อย ก่อนตัวหนังจะฉายจริงในไทยปลายพฤจิกายนนี้ค่ะ


    Spoiler Alert: No Deers Were Harmed

    เรื่องย่อโดยสังเขปของหนังคือ สตีเว่น เมอร์ฟี่ย์​ (Colin Farrell คอลิน ฟาร์เรล) เป็นศัลยแพทย์ผ่าตัดหัวใจในเมืองซินซินาติ โอไฮโอ้ (Cincinnati, Ohio) ในอเมริกา เขาใช้ชีวิตธรรมดากับ แอนนา (Nicole Kidman นิโคล คิดแมน) ภรรยาผู้เป็นจักษุแพทย์กับลูกสาววัยรุ่น คิม (Raffey Cassidy ราฟฟี่​​ แคสสิดี้) และ ลูกชายพรีทีน บ๊อบ (Sunny Suljic ซันนี่ ซุลจิก) กระทั่งเด็กหนุ่มแปลกหน้าอย่าง มาร์ติน (Barry Keoghan แบร์รี่ คีโอแกน) แทรกตัวเองเข้ามาในชีวิตของสตีเว่น ทำให้โรคแปลกประหลาดเกิดขึ้นกับครอบครัวเมอร์ฟี่ย์​ จนสตีเว่นต้องตัดสินใจครั้งสำคัญที่สุดที่เดิมพันด้วยความเป็นความตายของครอบครัวของเขา

    ภาพโปรโมทแรกของหนังเผยให้เห็นสตีเว่นก้าวขึ้นบันไดครุ่นคิดปัญหาหนักอึ้งในหัว

    A World, Diffused: Marmatakis' Artwork

    เราชอบโปสเตอร์หลักของหนังมาก เป็นงานของ Vasilis Marmatakis (วาสิลิส มามาร์ทากิ) ผู้ร่วมงานกับยอร์กอสเป็นครั้งที่สี่แล้ว จากผลงานครั้งแรกกับ Kynodontas (Dogtooth, 2009) หนังรางวัล Un Certain Regard เมืองคานส์ของยอร์กอส และ The Lobster (2015) ที่ชนะรางวัลโปสเตอร์ดีเด่น Best Poster ที่ UK Screen Awards  ปี 2016

    (ซ้าย) โปสเตอร์​ Kynodontas (Dogtooth, 2009) และ (ขวา) โปสเตอร์ The Lobster (2015)

    คำอธิบายโปสเตอร์ของสถาบันภาพยนตร์นานาชาติโตรอนโต (Toronto International Film Institute) ตรงใจเรามากที่สุดแล้ว: โปสเตอร์แสดงถึงคอลิน ฟาเรลล์ที่ไว้หนวด กำลังมองเตียงโรงพยาบาลที่อยู่ตรงหน้าอย่างสุขุม ขณะที่โลกรอบๆตัวเขาค่อยๆสลายไป

    ชอบการเล่นกับพื้นที่(ช่องว่าง)ของมามาร์ทากิมากๆ

    คำอธิบายนี้ตรงกับเรื่องราวที่หนังพยายามจะสื่อผ่านงานศิลป์ที่คุณแค่มองแวบเดียวก็เข้าใจ ที่ว่างที่เว้นไว้จากเพดานสูง ทำให้รู้สึกปล่าวเปลี่ยวไปกับสตีเว่น ผู้เดียวดายในโลก ส่วนสีขาว และ สีหน้าของสตีเว่น ย้ำอารมณ์ขรึม เก็บกด นิ่งเงียบของหนังเป็นอย่างดี เป็นงานที่ 'สะพรึงเงียบ' แต่สวยจับใจจริงๆ

    เมื่อคืน (มีแต่อะไรๆปล่อยออกมาระหว่างเขียนบทความนี้ แฮ่!) ทางนิตยสาร Empire ของอังกฤษก็ปล่อยโปสเตอร์ตัวล่าสุดของหนังออกมา


    โดยในอังกฤษค่าย Curzon Cinemas เป็นผู้จัดจำหน่ายค่ะ โปสเตอร์มาแนวสะพรึงอีกแล้ว แต่ก็เป็นงานที่สวยมาก สะท้อนถึงความเกี่ยวพันกันของชะตาชีวิตตัวละครหลักทั้งสาม เพียงเพราะมาร์ตินเป็นต้นเหตุ 


    Heart of the Matter: Dissecting Textbook Figures

    รูปโปรโมทที่ปล่อยมาผ่านช่องโชเชียลมีเดียช่วงปลายเดือนกันยา จริงๆแล้วสื่อธีมหลักๆของหนังได้ดี แถมเป็น Fig. 1, Fig. 2 คล้ายรูปจากหนังสือ anatomy ของแพทย์ ซึ่งตรงกับอาชีพศัลยแพทย์ผ่าตัดหัวใจของตัวเอกอย่าง สตีเว่น 

    ตกลงคุณทำตามจรรยาบรรณแพทย์หรือไม่

    จะว่าตามอาชีพแล้ว ศัลยแพทย์เป็นผู้ชี้เป็นชี้ตายความเป็นไปของคนไข้ เรียกได้ว่าคนไข้ไว้ใจฝากชีวิตและหัวใจ (Fig. 2) ไว้ในมือของแพทย์เลยทีเดียว จะเกิดอะไรผิดพลาดไปก็เป็นกรณี 'เลือดติดมือ' (blood on hands) ของศัลยแพทย์อย่างสตีเว่น ผู้กล่าวอย่างกระวนกระวาย (คล้ายแก้ตัวให้ตัวเอง - แต่เราจะพูดถึงการวิเคราะห์ตัวละครนี้ทีหลังค่ะ) กับแอนนาในหนังตัวอย่างว่า "ศัลยแพทย์จะไม่ฆ่าคนไข้ของตัวเอง" ซึ่งเป็นคำบรรยายของ 'มือแพทย์'  ใน Fig. 1 

    การนำเสนอมือในแง่นี้ ที่แสดงให้เห็นกล้ามเนื้อแดงฉานใต้ผิวหนัง กำลังถือมีดผ่าตัดอย่างนิ่มนวล ทำให้เราคิดถึงการที่สตีเว่นต้องรับบทศัลยแพทย์ในชีวิตครอบครัว รับผิดชอบการซ่อมแซม หรือ 'ผูกโยง'  (rewire) อะไรที่ผิดพลาดให้กลับมาเป็นปกติ พร้อมๆกับระลึกถึงความเปราะบางของร่างกายมนุษย์ที่ใกล้ความตายมากกว่าที่คิด

    ทวิตที่โพส Fig. 1 ตั้งคำถามว่า มือของคุณสะอาดหรือเปล่า ("Are your hands clean?") ทำให้เราแอบสงสัยพฤติกรรมของสตีเว่น ว่าจริงๆแล้วเขาทำตามจรรยาบรรณแพทย์​ที่พูดไว้ หรือตั้งใจโกหกแอนนา

    คอลิน ฟาร์เรลเองกล่าวว่า "เราทั้งหลายก็ห่างจากความตายเพียงโศกนาฏกรรมเดียวเท่านั้น" ("We're all one tragedy away from death.")


    อะไรคือ 'หัวใจ' ของชีวิตคุณ หากไม่ใช่ครอบครัว

    'หัวใจ' คือ 'ศูนย์กลาง' ทั้งร่างกาย และ ชีวิต คืออวัยวะสำคัญที่สูบฉีดเลือดไปหล่อเลี้ยงร่างกาย หล่อเลี้ยงความมีชีวิตอยู่ และเชื่อมต่อกับส่วนอื่นของร่างกาย ในด้านชีวิต 'หัวใจ' เปรียบเหมือนสิ่งที่คนๆหนึ่งให้ความสำคัญมากที่สุดในชีวิต พอที่จะเป็นศูนย์กลางการตัดสินใจ ขับเคลื่อนอารมณ์ เหตุผล และการกระทำ ด้วยประโยคคำบรรยาย Fig. 2 ("ฉันไม่เข้าใจว่าทำไมลูกฉันจะต้องรับกรรมนี้ด้วย") ที่ตรงกับคำพูดของแอนนาในหนังตัวอย่าง 

    Fig. 2 เหมือนจะถามคนดูว่า ทำไมคนที่อาชีพคือการรับผิดชอบหัวใจคนไข้อย่างสตีเว่นต้องทำให้ 'หัวใจ' ดวงนี้ในชีวิตต้องเจ็บปวด หรือจริงๆแล้วครอบครัวคือ 'หัวใจ' ของชีวิตเขาหรือไม่ เขาจะตัดสินใจปกป้อง 'หัวใจ' ดวงนี้หรือเปล่า อะไรคือ 'หัวใจ' ของชีวิตเขากันแน่ และถ้าเขาไม่ปกป้องครอบครัว หรือตัดสินใจผิดพลาด เขาจะถูกตราหน้าว่าเป็นคน 'ไม่มีหัวใจ' (heartless, no heart) ใช่ไหม 

    ทวิตที่โพส Fig. 2 ตั้งคำถามว่า "หัวใจของคุณอยู่ถูกที่หรือเปล่า"  (Is your heart in the right place?) ซึ่งเราก็อยากจะถามต่อว่า มีที่อยู่ที่ 'ถูกต้อง' สำหรับหัวใจหรือไม่ (Is there a right place to place your heart?)

    กำลังเขียนบทความอยู่ ทวิตแอค #SacredDeer Movie ก็ปล่อยรูปด้านล่างมาสดๆ ร้อนๆ เมื่อคืน กรี๊ด

    คุณสูญเสียจุดศูนย์กลางในชีวิตหรือเปล่า

    'เท้า' คือ อวัยวะสำคัญต่อการเคลื่อนที่ ความอิสระในการควบคุมการเดินทางและทิศทางของร่างกาย เท้า เปรียบถึง 'ฐานหลัก' (foundation) สนับสนุนร่างกายส่วนอื่นๆ  และอาจโยงไปไกลถึงหน้าที่สามีภรรยาที่เป็น 'เท้า' อุ้มชูครอบครัวได้ ประโยคใต้ Fig. 4 (แปลว่าต้องมี Fig. 3 แต่ปล่อยออกมาไม่ตามลำดับ เดี๋ยวถ้ามีแล้วจะมาอัพเดตกันค่ะ) คือประโยคที่คิม ลูกสาวของสตีเว่นพูดในหนังตัวอย่างกับแอนนา "เดี๋ยวแม่ก็จะขยับตัวไม่ได้เหมือนกัน แต่แม่จะชินเอง" ซึ่งนางพูดถึงระดับแรกของ 'โรคร้าย' ที่มาร์ตินนำมาฝากครอบครัวนี้ -- 1. อัมพาต 2. รับประทานอะไรไม่ได้ 3. เลือดออกจากตา และตายในที่สุด

    เหมือนถูกสาป

    การที่ 'โรคร้าย' ทำให้สมาชิกครอบครัวเมอร์ฟี่ย์ขยับตัวและเดินไม่ได้ (ต้องคลานไปไหนๆ ในหนังตัวอย่าง) สะท้อนถึงตลกร้ายที่สื่อว่า สตีเว่นสูญเสียจุดศูนย์กลางในชีวิตไปแล้ว ฐานหลักครอบครัวของเขานั้นล่มสลาย และครอบครัวเป็นอัมพาต ส่วนสมาชิกในครอบครัวก็พร้อมที่จะอยู่กับ 'โรคร้าย' และความอัมพาตนี้อย่างเป็นเรื่องปกติ ในสภาพที่ตั้งใจว่า 'เดี๋ยวก็ชินเอง' 

    ทวิตที่โพส Fig. 3 ตั้งคำถามว่า "คุณสูญเสียจุดศูนย์กลางในชีวิตหรือเปล่า"​ ("Have you lost your footing?") เป็นการเล่นคำ (pun) กับคำว่า 'เท้า' หรือ foot ในภาษาอังกฤษ ที่พอแปรเป็นศัพท์เกี่ยวข้องกันอย่าง footing ก็แปลได้สองความหมายว่า การจับอะไรให้อยู่แน่นด้วยเท้า และ  ฐานหลักที่ยึดไว้ปฏิบัติตาม เหมือนจะถามสตีเว่นว่า สิ่งที่คุณทำไปในฐานะศัลยแพทย​์​ เป็นเพราะคุณสูญเสียจุดศูนย์กลางในชีวิตใช่ไหม

    ได้แต่ครุ่นคิด

    สรุปว่าตอนนี้ ต้นเดือนตุลาคม ต้นสังกัดปล่อยรูปมาทั้ง มือ (จรรยาบรรณแพทย์ -  คำพูดของสตีเว่น) หัวใจ และ เท้า (ศูนย์กลางในชีวิต - คำพูดของแอนนา และ คิม) ต่างเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกายที่ความสำคัญต่างกันไป  โดยรวมแล้ว หมายถึงการสามารถ 'ทำ' อะไรได้อย่างหนึ่ง เช่น การลงมือทำ และ กล้าก้าวเดิน กล้าหา 'หัวใจ' ของตัวเอง ทั้งสามอย่างในภาพรวมล้วนเกี่ยวกับ 'การตัดสินใจ' ครั้งใหญ่ของสตีเว่น ที่มีครอบครัว (แอนนา และ คิม ในตอนนี้) เป็นเดิมพัน และมี 'จุดศูนย์กลางในชีวิต'  (หัวใจ) เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวการเลือกศูนย์กลาง ความถูกต้อง ของการกระทำ (มือและเท้า)



    Light It Up: From The Bacchae (1993) to Burn (2012)

    ระหว่างหาข้อมูลเตรียมบทความนี้ เราพบว่ากลอนเกริ่นนำบทละคร Iphigenia At Aulis (อิฟินิไจอาที่โอลิส) ซึ่งให้เค้าโครงแก่หนัง (และจะกล่าวถึงในส่วนหน้าของบทความ) มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับเพลง Burn (2012) ของ Ellie Goulding ที่ใช้ประกอบหนังตัวอย่างแรกพอดี เลยนำมาวิเคราะห์กันแบบเจาะลึกค่ะ

    (ซ้าย) บทกลอนจาก The Bacchae ในบทนำ (Introduction) ของบทละคร Iphigenia At Aulis ที่ประพันธ์โดย Euphrides และ 
    (ขวา) เนื้อร้องเพลง Burn ส่วนที่ประกอบหนังตัวอย่างของ The Killing of a Sacred Deer (2017)
    เท้าความก่อนว่า บทกลอนด้านซ้าย ประพันธ์ในปี 1993 เพื่อละคร The Bacchae แต่ถูกคัดสรรและแปลโดย Mary-Kay Gamel มาเกริ่นนำ Iphigenia At Aulis ใน หนังสือ From Women on the Edge: Four Plays by Euripides (The New Classical Canon), (2012)  ส่วนเพลงของ Ellie Goulding ปล่อยออกมาในปี 2012 ประกอบอัลบัม Halcyon และนำทีมประพันธ์โดยนักแต่งเพลงมือดีอย่าง Ryan Tedder เพลง Burn ยังได้เสนอชื่อเข้าชิง British Single of the Year และ British Video of the Year ใน 2014 Brit Awards อีกด้วย หากนำมาประกอบหนังตัวอย่างแรกของ The Killing of a Sacred Deer​ (2017) ในเวอร์ชั่นร้องเดี่ยวแบบไร้ดนตรีประกอบ (Stripped down) โดย ราฟฟี่ แคสสิดี้ (Raffey Cassidy) ผู้รับบท คิม

    คิมกำลังร้องเพลงให้มาร์ตินฟัง ขณะแอบหนีไปเที่ยวกันสองคน

    การนำบทกลอนและเพลงมาเปรียบเทียบ ทำให้เรานึกถึงคำที่ว่า จริงๆ แล้ว การแต่งเนื้อเพลงก็เสมือนการแต่งกลอน พอใส่ดนตรีและเสียงร้องเข้าไป กลอนก็จะกลายเป็นเพลงได้ บทกลอน The Bacchae และเพลง Burn ต่างสื่อถึงการลุกลามของความรุนแรงที่ถาโถมเข้ามาอย่างห้ามไม่ได้ ไม่ว่าจะมาในรูป 'เลือดอุ่นๆ' หรือ 'เปลวไฟรุ่มร้อน' ซึ่งสื่อถึงโทนและอารมณ์ของหนังนั่นเอง

    บรรทัดแรกของกลอน "a wicked pleasure" ("ความสุขสมอันชั่วร้าย") สอดคล้องกับเนื้อร้องสองบรรทัดแรก โดยกลอนใช้วลีที่เกือบขัดแย้งในตัวเอง -- ความสุขที่ไม่ได้ดีงาม หากเกี่ยวข้องกับด้านลบ หรือ ความเลวร้าย -- สื่อถึงโทนของหนัง Yorgos Lanthimos ที่มักเป็นหนังตลกร้าย ที่ทำให้คนดูรู้สึก 'สุขสมในความชั่วร้าย' ไปตลอดเวลาที่ดู จนแทบจะถามตัวเองว่า ตกลงเรากำลังหาความบันเทิงจากความทุกข์ ความเลวร้ายในชีวิตของตัวละครหรือ วลีนี้ตรงกับบทร้อง "....we don't have to worry about nothing/'Cause we got the fire, and we're burning one hell of a something" ("เราไม่ต้องกังวลสิ่งใดๆ เพราะเราต่างมีไฟ และเรากำลังใช้มันทำสิ่งที่มีค่า") เป็นความขัดแย้งในตัว เพราะไฟ เป็นพลังงาน 'ทำลายล้าง' เผาอะไรสักอย่างให้หมอดไหม้ได้ แต่กลับถูกใช้ในแง่ดี สื่อความหวังที่ลุกโชน อะไรที่กำลังเริ่มต้น ที่ไม่น่าทำให้ผู้ร้องและผู้ตาม (ที่แทนตัวเองใช้สรรพนาม 'we' หรือ เรา) กังวล เพราะกำลังใช้ 'ไฟ' ในตัวเองทำอะไรๆที่มีค่าในชีวิต

    หากในบริบทของ The Killing of a Sacred Deer (2017) แล้ว 'ไฟ' สื่อถึงความรุนแรง อาจเป็น 'ไฟ' ในตัวของมาร์ตินที่จุดชนวน 'โรคร้าย' ในครอบครัวเมอร์ฟี่ย์​ เป็น 'ความสุขสมในความชั่วร้าย' ของเด็กหนุ่ม(และอาจลามไปที่คนดู ผู้เป็นพยานเหตุการณ์เหล่านี้ด้วย) ทั้งๆที่ตัวมาร์ตินเอง 'ไม่กังวล' อะไรในความเลวร้ายที่เกิดขึ้นเลย หรืออาจหมายถึง 'ความเคยชิน' ของสมาชิกครอบครัวเมอร์ฟี่ย์ ที่ปรับตัวกับ 'โรคร้าย' (หรือ "one hell of a something" - อะไรที่ยิ่งใหญ่นัก) จนไร้ความกังวลกับ 'ไฟ' ที่กำลังเผาไหม้ชีวิตของตัวเองก็เป็นได้

    มาร์ตินกำลังคิดอะไรอยู่นะ

    บรรทัดที่สองของกลอน "....hangs over war" ([ความสุขสมอันชั่วร้าย] เหนี่ยวอารมณ์ของสงคราม) พ้องกับบรรทัดที่สามและสี่ของเพลง ซึ่งเป็นการย้ำว่า 'ความสุขสมอันชั่วร้าย' นั้นเป็นโทนของสงคราม (war)  การต่อสู้ วัดชั้นเชิงระหว่างสตีเว่น และ มาร์ติน ในหนัง ที่ยิ่งโหญ่และรุนแรงเหมือนเห็นได้จาก 'นอกโลก' ("...they gonna see us from outer space...") และทวีคูณความรุนแรงได้อีก เมื่อจุดไฟ ("Light it up") 

    ทั้งยอร์กอส และ นิโคลเคยให้สัมภาษณ์ว่า ตัวหนังสื่อถึงธีม และ ความหมายที่ฟังดู 'แรง' ในสมัยนี้ แต่จริงๆเป็นการ 'พูดตรงๆ' ที่สมัยก่อนคนก็ยอมรับดี วลี (".... like we're the stars of the human race"; "เสมือนเราเป็นดาวเด่นของชนชาติมนุษย์") เหมือนจะสื่อว่า นอกจากการที่เรา 'ลุกเป็นไฟ' ทำให้เราเด่นขึ้นมา (ในแง่ดีของ Ellie Goulding) ครอบครัวเมอร์ฟี่ย์อาจเป็น 'ตัวแทน' ของยอร์กอสในการถกประเด็นหนักๆในชีวิตมนุษย์ อย่าง ศูนย์กลาง/หัวใจของชีวิตของผู้ชายผู้ที่มีทั้งจรรยาบรรณแพทย์และความเป็นหัวหน้าครอบครัวควบคุมการตัดสินใจของเขา

    ภาพโปรโมทที่ปล่อยมาแบบคู่ทางทวิตเตอร์ พร้อมคำบรรยาย: "เด็กสองคนที่น่ายกย่องเป็นอย่าง"

    บรรทัดที่สามถึงแปดของกลอนบรรยายถึงการกระฉอกรุนแรงของเลือด พอๆ กับท่อนฮุกของเพลงทีี่ขับเคลื่อนไปด้วยอารมณ์คึกคะนองที่คุกกรุ่นเพราะมี 'ไฟ' ในตัวเอง 

    กลอนวาดภาพถึงการหลั่งเลือดที่ 'มากเกินพอ' ("voluptuousness of blood") ที่แปลอีกความหมายถึงการกระตุ้นอารมณ์ทางโลก (sensual pleasure) จากการเห็นเลือด เหมือนที่คนชอบดูหนังสยองขวัญหรือเห็นเลือดกระฉูดๆเพื่อความสะใจ สนองความเป็น 'สัตว์ป่า' ในตัวคน พ้องกับท่องฉุกของเพลง ที่ทั้งการกระทำ 'ยกมือขึ้นสูงให้ไฟจุดประกายแก่ท้องฟ้า' ("...raising our hands, shining up to the sky") สะท้อนอารมณ์ 'ดิบเถื่อน' ดังกลุ่มคนในเผ่าอะไรสักอย่าง ที่บูชาไฟไปพร้อมๆกันเป็นหมู่คณะ 

    เลือดกระฉอก ไหลรุนแรง ("surging of the blood"/"blood surges") ถูกกล่าวถึงในบริบทของ 'ความรู้สึกที่เบ่งบาน' ("Your feelings blossom") ซึ่ง 'your' ในที่นี้ จะหมายถึงตัวละครในหนังอย่าง มาร์ติน หรือคนดูที่ปล่อยอารมณ์ไปตามเหตุการณ์โชกเลือดนี้ (ไม่ต้องบอกก็รู้ว่ายอร์กอสจะทำให้ตัวละครประสบเหตุการณ์เลวร้ายขึ้นไปเรื่อยๆในหนังอย่างแน่นอน ตามสไตล์ของเขา) ทำให้ย้อนกลับไปสู่วลีที่กล่าวถึง 'ชนเผ่า' ด้านบนได้อีก 

    "พ่อ! บ๊อบกำลังจะตาย!" คิมตะโกน

    เลือดที่ไหลผ่านทั้งร่างกาย 'เรา' และ 'พวกเขา'  ("your body"/"their bodies") ย้ำถึงการรวบคนดู มาร์ติน หรือแม้กระทั่ง สตีเว่น ในการเป็นพยานและผู้สมรู้ร่วมคิดในเหตุการณ์เลวร้ายนี้ รวมๆเป็นเผ่าเดียวกัน ยอมรับเถอะว่าเลือดคุณเองก็คงสูบฉีดเป็นบ้าเหมือนกันระหว่างดูหนังเรื่องไหนๆของยอร์กอส โดยเฉพาะช่วงท้ายๆ! 

    ยังไม่พอ วลี "Torrents tumbling together" ("กระแสเลือดไหลไปด้วยกัน") สะท้อนความรู้สึกหมดหวัง ที่เลือดไหลกระฉอกออกมาจากทุกฝ่ายในเหตุการณ์ การสัมผัสอักษร (alliteration) ตัว 't' ซึ่งอ่านออกเสียงจะได้ยินเสียงเหมือนจังหวะ 'tuh tuh' แรง (force) และ การกระทบ (impact) ของเลือดขณะไหลออกอย่างไม่สามารถควบคุมได้ ช่างขัดกับอารมณ์คึกคะนองและการย้ำคำว่า 'เผา เผา เผา'  ("burn burn burn") ให้พ้องกับ 'ไฟ ไฟ ไฟ' ("fire fire fire") อย่างน้อยสามครั้งแต่ละที (เท่ากันกับวลี torrents เลย) เหมือนคำสวดของชนเผ่าในเพลง ที่เริงร่าในการครอบครอง 'ไฟ' ของตัวเองพอที่จะประกาศให้โลกรู้ ("...we got the fire...") พร้อมยินยอมและยินดีให้ 'ไฟ' (ในตัวเอง) จุดประกายอะไรๆขึ้นมา ("And we gonna let it burn...") แต่กลับหมายถึงการทำลายล้างที่ห้ามไม่ได้ใน The Killing of a Sacred Deer (2017) ซึ่งย่อมนำมาสู่ความเสียหายเช่นกระแสเลือดที่ไหลไม่หยุด

    คิมกำลังจุดไฟเพื่ออะไรกัน

    พร้อมๆกับวลี "Torrents" วลีในบรรทัดสุดท้ายของกลอน "Blood bubbling in our hearts like fire" ("เลือดเดือดเป็นฟองฟุ้งในหัวใจดังไฟ") เพิ่มเติมคำอธิบายของกระแสเลือดว่าเดือดดังไฟ เป็นหมัดหนักสุดท้ายของกลอนที่ทำให้เรานึกถึงเพลง Burn ได้ไอเดียวิเคราะห์เปรียบเทียบกลอนกับเพลงเลย แถมการสัมผัสอักษร 'b' อ่านออกเสียงจะได้ยินเสียง 'buh buh' เหมือนฟองน้ำสีแดง กำลังเดือดบนพื้นผิวหัวใจ ความเดือดที่ไม่สามารถควบคุมได้เหมือนไฟป่าที่ลุกลามอย่างรวดเร็ว ซึ่งพ้องกับสองบรรทัดท่อน Bridge ที่สองของเพลง ("We can light it up up up/So they can't put it out out out"; "เราจะจุดมันให้ลุกโชน จนไม่มีใครสามารถดับมันได้") ในหนังตัวอย่างนั้น ใช้ประกอบฉากท้ายๆปิดคลิปพอดี เสียงเด็กสาวคนร้องค่อยๆแผ่วลงตามคลิปที่จบ คล้ายอารมณ์เยือกเย็น เปล่าเปลี่ยว ใกล้ตายของหนัง ซึ่งขัดกับประโยคปลุกใจให้ไฟลุกโชน ช่างเป็นที่น่าขนลุกของคนฟัง

    สิ่งเดียวของทั้งกลอนและเพลงที่ไม่สอดคล้องกับหนังคือ อารมณ์ที่พลุ่งพล่านจากเลือด (กลอน) และไฟ (เพลง) อันขัดกับโทน 'เชือดเงียบ' ของหนังยอร์กอส 


    มาฟังเสียงหวานๆปนหลอนของน้องราฟฟี่กันค่ะ
    (วิเคราะห์ตัวหนังตัวอย่างจะตามมาในส่วนต่อไป)

    คำอธิบายความรู้สึกต่อเลือดของกลอนในบรรทัดที่สิบ และ สิบเอ็ด ("more passionate and more furious"; "ทวีความรุ่มร้อนและกราดเกรี้ยวขึ้นไป") ซึ่งอธิบายอารมณ์ชนเผ่าในเพลง Burn ต่อ 'ไฟ' ของพวกเขา แต่อย่างที่รู้กันดี หนังของยอร์กอสพาคนดูเข้าไปอีกโลกหนึ่งที่คนพูดในเสียงเนิบๆ ไร้อารมณ์ (monotone) ทำให้เราสามารถโฟกัสประเด็นอื่นๆที่หนังพยายามจะสื่อได้ดีขึ้น (เราจะวกกลับมากล่าวถึงเรื่องนี้อีกครั้งค่ะ) ตรงนี้เห็นได้ชัดจากการนำเพลงสไตล์ electro-pop มีจังหวะร่าเริง และ ปลุกใจคนฟัง ของ Ellie Goulding มาปอกเปลือกจนเหลือแต่เนื้อร้อง (หรือกลอน!) อัดแน่นด้วยเนื้อหาที่หนังพยายามจะสื่อ จากเสียงเดี่ยวสั่นๆ ระดับโซปราโนที่ค่อนข้างสูง ของราฟฟี่ ให้อารมณ์ที่ใครๆก็บอกกันว่า 'หลอน' มาก ทำเอาเครียดไปตามตัวละคร นิ่งจนไม่รู้จะรู้สึกยังไง กับเพลงที่ถูกนำมาแปรสภาพจนคนดูจำไม่ได้อย่างนี้ เหมือนยอร์กอสจะบอกใบ้ถึงโทนของหนังผ่านการเสพความขัดแย้ง


    มาแค่เสียงฮัม แต่ทำคนฟังขนลุกได้ทวีคูณ

    ส่วนเสียงฮัมในคีย์​ Minor ของราฟฟี่ที่ประกอบหนังตัวอย่างที่สอง เป็นลางสื่อเหตุการณ์น่าขนลุกที่กำลังจะเกิดขึ้นกับครอบครัวของเธอ (ปกติคนเค้าวอร์มเสียงร้องเพลงก็พ่วงคีย์อื่นที่มันสดใสกว่านี้ด้วยไม่ใช่เรอะ!!) ตามปกติแล้ว ทางด้านดนตรี คีย์ Minor จะฟังดูแปลกประหลาด ไม่เข้าหู คล้ายดนตรีผิดเพี้ยนไป และมักถูกใช้ในเหตุการณ์ร้ายๆในทางเดียวกัน ตรงข้ามกับคีย์สื่ออารมณ์สดใส อย่าง Major พอเราฟังคีย์ Minor โดดๆต่อเนื่องกันซ้ำๆนาทีกว่าๆแล้วขนลุกไปเลย


    An Unavoidable Trap:  A Brief Recap of Events In Iphinegia

    ก่อนจะวิเคราะห์เชื่อมโยงบทละคร Iphinegia At Aulis (ประพันธ์โดย Euphrides นักประพันธ์ชาวกรีก ระหว่างปี 408 - 406 ก่อนคริสตกาล) กับ The Killing of a Sacred Deer (2017) เราจะเกริ่นถึงเหตุการณ์ที่เกิดก่อนจะเริ่มละครค่ะ

                        การลักพาตัวเฮเลน (The Abduction of Helen, 1784) ภาพวาดสีน้ำมันโดยจิตรกรกาวิน แฮมิลตัน

    เหตุการณ์ที่ว่าก็คือ สงครามเมืองทรอย (Trojan War) ที่รู้จักกันดีนั่นเอง ว่าปารีส (Paris) ลักพาตัวเฮเลน (Helen) คนสวยที่สุดในโลกจาก เมเนเลอุส (Menelaus) สามีชาวกรีก ของเธอ ทำให้เหล่านักรบที่เคยสาบานตอนเข้าชิงตัวเฮเลนว่าจะปกป้องเธอเพื่อความถูกต้องไม่ว่ากรณีใดๆ ต้องรวมตัวกันสู้สงครามระหว่างกรีก กับ ทรอย เพื่อแย่งชิงเฮเลนกลับมาให้ได้

    โดยเมเนเลอุสนั้นเป็นพี่ชายของอกาเม็มนอน (Agamemnon) พ่อของอิฟินิไจอา (Iphinegia) นี่เอง

    ครอบครัวของอกาเม็มนอนประกอบไปด้วย ตัวอกาเม็มนอน ผู้เป็นพระราชาแห่งอาร์กอส (Argos) กุมอำนาจและเป็นเสาหลักของครอบครัว ราชินีไคเทมเนสตรา (Clytemnestra บ้างก็สะกดด้วยตัว K; Klytemnestra) เจ้าหญิงอิฟินิไจอา ลูกสาวคนโต ผู้เพิ่งแตกเนื้อสาว และ เจ้าชายออสเตส (Orestes) ผู้ยังเป็นเด็กชายตัวน้อยเมื่อพ่อออกไปรบ

    ฟังดูคุ้นๆกับอีกครอบครัวนึงมั้ยคะ

    บทละครกล่าวถึงความสับสนกระวนกระวายใจของอกาเม็มนอนที่ต้องส่งสารจากกองทัพกรีก กลับไปบ้านเมืองของตน เพื่อล่อลูกสาวออกมาฆ่า สังเวยชีวิตแด่เทพีแห่งการล่า หรือ อาร์ทีมิส (Artemis ในนามกรีก ชาวโรมันจะเรียกนางว่า Diana, ไดอาน่าค่ะ) ก่อนที่เรือของกองทัพกรีก จะออกล่องทะเลไปทรอยได้ เพราะก่อนหน้านี้ ว่ากันว่า อกาเม็มนอนได้ฆ่า 'กวางศักดิ์สิทธิ์' (Sacred Deer) ของเทพีไประหว่างออกล่าสัตว์ นางจึงขอชีวิตลูกสาวคนโตของอกาเม็มนอนมาแทนที่ 

    ฝ่ายอกาเม็มนอนนั้นออกอุบายล่อลูกสาวว่า นางจะได้แต่งงานกับอคิลลีส (Achilles) นักรบครึ่งมนุษย์ครึ่งเทพเจ้าผู้โด่งดัง หากยอมออกมาหาพ่อที่เรือ

    การเสียสละของอิฟินิไจอา (The Sacrifice of Iphinegia, 1623) ภาพวาดสีน้ำมันโดยจิตรกรลีโอเนริด์​ บราเมอร์

    อิฟินิไจอาจึงมาปรากฎตัวที่เรือของพวกกรีก พร้อมราชินีไคเทมเนสตรา และ เจ้าชายออสเตส เมื่อทั้งหมดรู้ความจริงก็ต่างด่าทออกาเม็มนอนต่างๆนานา จนอิฟินิไจอาตัดสินใจเด็ดเดี่ยว ยอมที่จะตายเพื่อชาวกรีก เพื่อความถูกต้อง (ผู้แปลอย่าง Mary-Kay Gamel แมรี่ เคย์​ กาเมล วิเคราะห์ว่าเป็นการเติบโตจากเด็กหญิงเป็นหญิงสาวของนาง ท่ามกลางสงครามและหมู่นักรบ)

    บทละครจบที่การแห่อิฟินิไจอาไปที่บริเวณสังเวย แต่อะไรเกิดขึ้นหลังจากนั้นก็ไม่แน่ชัด บ้างก็ว่านางรอดตาย เทพีเสกให้ร่างหายไปแล้วรับนางเป็นผู้รับใช้ในวิหารอาร์ทีมืสสักแห่งแทน แล้วเสกกวางให้อกาเม็มนอนฆ่าไถ่บาป บ้างก็ว่า นางถูกฆ่าจริง แต่อิฟินิไจอาก็กลายเป็น สัญลักษณ์แห่งศาสนาของบางลัทธิ (cult figure) ทีเดียว

    สมัยเด็กเราเริ่มอ่าน อิลเลียด จากเล่มนี้ เข้าใจง่ายดี แต่ยังไม่เคยอ่านฉบับจริงแบบละเอียดค่ะ

    ไม่ว่าจะโดยวิธีใดก็แล้วแต่ การสังเวยไถ่บาปผ่านไปด้วยดี และเรือของพวกกรีกก็แล่นไปถึงทรอย ส่วนเหตุการณ์หลังจากนั้น .... เรื่องราวของสงครามกรุงทรอย หรือ มหากาพย์​ อิลเลียด ที่รจนาโดยกวีตาบอด โฮเมอร์​ นี่สนุกยุ่งเหยิงเน้นๆเลยละ


    Fragility of Life: Debating One's Moral Dilemma

    ยอร์กอสประยุกต์เค้าโครง The Killing of a Sacred Deer (2017) จากบทละคร Iphigenia At Aulis เราจึงวิเคราะห์จากภาพ และ หนังตัวอย่างที่ปล่อยออกมาได้ว่ามีส่วนคล้ายกับบทละครในหลายด้าน โดยเฉพาะปัญหาหลักของตัวละครเอก (Protagonist's Central Conflict) และธีม (อรรถบท) หลักของหนัง (ซึ่งตรงกับที่ยอร์กอสพูดไว้ในหลายบทสัมภาษณ์) คือ ค่าของชีวิตคนๆหนึ่ง (Value of an individual life) และ กรณีที่ควรจะคร่าชีวิตนั้นไปจากเจ้าของ (circumstances life can be taken)

    ปัญหาหลักของตัวเอกอย่าง สตีเว่น คือ การตัดสินใจการ 'สังเวย' ครอบครัวของตัวเอง ก่อนที่แต่ละคนจะจบชีวิตอย่างทรมานด้วย 'โรคร้าย' ของมาร์ติน ตอนนี้เราก็เทียบได้ว่า สตีเว่น เป็นตัวแทนของอกาเม็มนอน แอนนาคือราชินีไคเทมเนสตรา และลูกชายหญิงของสตีเว่นก็แทนเจ้าชายเจ้าหญิงเมืองอาร์กอส ส่วนบทของมาร์ตินนั้นไม่แน่ชัด อาจจะเป็นกึ่งๆ อคิลลีสที่มาเกี่ยวข้องกับอิฟินิไจอา และสตีเว่นเองก็มีเพื่อนสนิท ที่อาจเป็นเมเนเลอุสของยอร์กอส

    จู่ๆมีผู้ชายคนนี้มาจีบลูกสาว... ทำไงดี

    สตีเว่นก็มีเพื่อนกับเขาด้วย

    ในบทละคร Gamel กาเมล ผู้แปลสังเกตว่า อกาเม็มนอน มักจะกล่าวถึงการสังเวยโดยใช้คำ 'ทางโลก' เกี่ยวกับการ 'ฆาตกรรม'  ("secular terms for murder") แทนที่จะใช้คำเกี่ยวกับ 'พิธีกรรม' ("ritual terms")  อกาเม็มนอนเรียกปัญหาการตัดสินใจของตัวเองนี้ว่า 'an unavoidable trap' (วรรค 444) หรือ กับดักที่เลี่ยงไม่ได้

    ธีมหลักของบทละคร ค่าของชีวิต แตกเป็นธีมย่อยได้ดังนี้: 

    เครียดทั้งเรื่อง

    • การขัดแย้งในตัวเองเรื่องความถูกต้องอันนำมาสู่ความลังเลในการตัดสินใจ (Internal Struggles of Morality -- Right/Wrong -- as related to Indecisiveness)

    • เส้นแบ่งระหว่างชีวิตส่วนตัวกับชีวิตในวิชาชีพ และ การเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ฉันสามี - ภรรยา ในการเป็นหัวหน้าครอบครัว ทำหน้าที่พ่อ และ แม่ ในการดูแลลูกและครอบครัว (Line between Public vs. Private Lives as related to Husband-Wife relationship and Male vs. Female positions as Head of the Household/Family)

    • ความเปราะบางของชีวิต ความฉับไวของความตาย และ โศกนาฏกรรมที่ซ่อนเร้นอยู่ในชีวิตประจำวันใต้อำนาจของโชคชะตา (Fragility of Life and Immediacy of Death, alongside Life's Inherent Tragedies and Fate's Control)


    Closest to Justice: Internal Struggles of Morality

    สตีเว่นนิยามมาร์ตินว่า เป็นเด็กที่ 'มีปัญหาทางจิตรุนแรง' ("He's got issues. Serious psychological issues." - Trailer 2) แต่ตัวเองกลับครุ่นคิด ลังเลในการตัดสินใจใน 'บางสิ่งบางอย่าง' ที่ตัวหนังตัวอย่างไม่ยอมเผย (เราเดาว่าต้องเลือกว่าจะสังเวยสมาชิกครอบครัวคนไหน) ฝ่ายมาร์ตินเหตุผลของการแพร่โรคร้ายว่า "เป็นสิ่งเดียวที่ผมคิดได้ว่าใกล้เคียงความยุติธรรมมากที่สุดแล้ว" ("It's the only thing I can think of that's close to justice." - Trailer 1)  

    เด็กมีปัญหาๆๆ... ช่วยไม่ได้เลยเธอ

    อกาเม็มนอนโอดครวญถึงโชคร้ายและความไม่ยุติธรรมในชีวิตของตน ที่ต้องมาตกหลุมปัญหาอันเลี่ยงไม่ได้ ในละคร เขาโทษ 'บางสิ่ง' ที่ทวยเทพส่งมาที่ทำให้ชีวิตตน 'กลับหัวกลับหาง' ("upside down") และ ว่าบางทีความคิดของคนอื่น ("men's ideas") นั่นละ ที่เอาใจยาก ทำให้ตัวเองแทบแตกเป็นเสี่ยงๆ                                                           

    “Sometimes something sent by the gods goes astray and turns your life upside down. 
    Other times men’s ideas—various, hard to satisfy—tear you to pieces.”
     (วรรค 21-27)


    อกาเม็มนอนอ้างอิงถึงความยุติธรรมอีก เมื่อกล่าวว่า "ข้าจะไม่ฆ่าลูกตัวเอง เพราะจะเป็นความไม่ยุติธรรม" ("I will not kill my children. It would be unjust." วรรค 395) คล้ายสตีเว่น ที่จากประโยคเบื้องต้นแล้ว พยายามที่จะตัดสินใจให้ใกล้เคียงความยุติธรรมมากที่สุด 

    ส่วน Old Man หรือผู้เฒ่า คนสนิทของอกาเม็มนอน ผู้รับหน้าที่ส่งสารกลับไปอาร์กอส ก็มักจะกล่าวคำเตือน คำตอบสนองต่อคำบ่นต่างๆของอกาเม็มนอน โดยกล่าวปลอบพระราชาว่า 

    "ท่านต้องมีทั้งความสุขและความเจ็บปวด ท่านเกิดมาเป็นมนุษย์​ ถึงแม้ท่านจะไม่ชอบ 
    ทวยเทพก็กำหนดไว้แล้ว และนั่นคือความจริง" 

      “You have to have both happiness and pain; you were born mortal, and even if you don’t like it, that’s what the gods decided, and it stands.” 

    (วรรค 31-34)

    ซึ่งเป็นประโยคตอบสนองการถกกับตัวเองของอกาเม็มนอนที่สอดคล้องกับธีมย่อยที่สามด้าน โศกนาฏกรรมที่ซ่อนเร้นอยู่ในชีวิตประจำวันใต้อำนาจของโชคชะตา พูดง่ายๆแล้ว เป็นมนุษย์​ก็ต้องมีทั้งทุกข์และสุขเป็นธรรมดา ต่อมา ผู้เฒ่าก็ยังถามอกาเม็มนอนอีกว่า "ท่านมีอาการทุกอย่างของคนใกล้บ้า ท่านกำลังต่อสู้อะไรอยู่รึ"  (“You give every sign of going mad; What are you struggling with?” วรรค 41-42) ซึ่งอกาเม็มนอนคงสีหน้าไม่ต่างจากสตีเว่นในหนังตัวอย่างทั้งสองนัก เมื่อเหตุการณ์เลวร้ายขึ้นเรื่อยๆกับครอบครัวของเขา

    อย่าคบเด็กแว๊น
    ผู้เฒ่ากล่าวหาอกาเม็มนอนด้วยประโยคสรุปสั้นๆ: "ท่านล่อเธอมาให้กองทัพกรีกชำแหละ"                   ( “You’ve brought her to the Greeks to beslaughtered.”  วรรค 134-135) ซึ่งเหมือนจะเป็นคำตอบต่อคำถามที่สตีเว่นซักมาร์ตินอย่างร้อนใจในหนังตัวอย่างว่า "เธออยู่ไหน? แกทำอะไรกับเธอ?" ("Where is she? What did you do to her?" - Trailer 1)

    แท้จริงแล้ว การสังเวยเป็น 'เรื่องปกติ' ในตำนานกรีกสมัยนั้น เป็นความรุนแรงอันสงบและมีระเบียบเรียบร้อย ผู้แปลอย่างกาเมล อ้างอิงถึงไฮริกส์ (Heinrichs, 1980) ที่กล่าวว่าการรักษาการสังเวย (ritual remedies) ที่แปลกๆนั้น นำมาสู่ความตึงเครียดทางจิตและอาจคุกคามต่อชีวิต การตายในบทละครโศกนาฏกรรมกรีกมักเกี่ยวข้องกับสงคราม และเป็นการยินยอมเสียสละชีวิต (Voluntary Self-Sacrifice) โดยเฉพาะการเสียสละสาวบริสุทธิ์อย่าง คิม ผู้เพิ่งเริ่มมีประจำเดือน ก็เปรียบถึงการเสียสละของนักรบที่อาจไม่ได้แต่งงาน ร่วมรัก หรือมีลูกสืบตระกูลอีก 

    กาเมลชี้อีกว่า อาร์ทีมีสไม่ได้สั่งบังคับให้อกาเม็มนอนฆ่าอิฟินิไจอาสังเวยแก่ตน หากมอบ 'อำนาจการตัดสินใจ' ให้อกาเม็มนอน เช่นกับการคำพยากรณ์ในตำนานกรีกเรื่องอื่นๆ ที่มี 'การตัดสินใจ' ของ 'ทางเลือก' มาเกี่ยวข้องทั้งสิ้น รูปโปรโมทที่ทวิตเตอร์ #Sacred Deer Movie เพิ่งปล่อยมาเร็วๆนี้ นิยามสตีเว่นว่า "เขาติดอยู่ระหว่างทางเลือก กับ ผลที่จะตามมา"  ("He's stuck between a choice and a consequence.")


    คล้ายอกาเม็มนอน สตีเว่นต้องเลือกระหว่างบทบาทหัวหน้าครอบครัวในชีวิตส่วนตัว และ บทบาทศัลยแพทย์ในวิชาชีพของตน เป็นการขัดแย้งด้านจริยธรรมและอารมณ์ (ethical and emotional conflict) ซึ่งตามหลัก อริสโตเตล (Aristotle) แล้วทำให้เกิดการตอบสนองตามสไตล์โศกนาฎกรรมคือ ความสงสาร และ ความหวาดกลัว จากคนดู -- สองอารมณ์ที่คุณอาจรู้สึกตอนดูคลิปหนังตัวอย่างของ The Killing of a Sacred Deer (2017)

    ว่ากันว่า การสังเวยคือการเลือกสิ่งที่เลวร้ายน้อยกว่า (the lesser of two evils) จากคำถามที่ตรงกับธีมหลักของหนัง: คุณจะเสียสละ หรือ ทำอะไร มากแค่ไหนเพื่อรักษาชีวิตของคนๆหนึ่งไว้ (How far would you go to save a life?)

    Two Lives: Family Dynamics & Relationship Ties

    ตามธรรมเนียมกรีก ครอบครัวนั้นสำคัญกว่าบุคคลเสมอ และผู้ชาย ในฐานะหัวหน้าครอบครัว ก็สลับหน้าที่ในสองชีวิตส่วนตัวและวิชาชีพ ระหว่างปกป้องทรัพย์สมบัติและครอบครัว (philoi ในภาษากรีก) หากการสังเวยทำให้เส้นแบ่งระหว่างสองชีวิตนี้พร่ามัว จนอกาเม็มนอนออกปากถาม "ข้าไม่มีสิทธิ์เป็นหัวหน้าครอบครัวของข้าเองแล้วหรือ" ("Am I not allowed to be head of my own household?" วรรค 331) ซึ่งเป็นคำถามที่เราอาจเห็นสะท้อนในสีหน้ากลุ้มใจ เคร่งเครียดของสตีเว่น ในภาพ และ หนังตัวอย่างที่ปล่อยออกมา เมื่อรู้สึกว่าหน้าที่หัวหน้าครอบครัวของตนถูกคุกคาม

    ก็คนในครอบครัวเดียวกันแท้ๆ

    บทสนทนาระหว่างอกาเม็มนอน (A) และน้องชายเมเนเลอุส (M) ก็สื่อความคิดของคนใน 'ครอบครัวเดียวกัน' ต่อปัญหาที่กำลังเผชิญได้ดี

    A: I want to be sensible together with you, not share your sickness.
    M: Family members ought to share each other's sufferings.
    A: Call on me when you're helping me, not when you're trying to hurt me.

    A: ข้าต้องการพูดกับเจ้าอย่างมีเหตุผล ไม่ใช่แบ่งบรรเทาความป่วยกับเจ้า
    M: คนในครอบครัวเดียวกันควรร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน
    A: เรียกข้าเมื่อเจ้ากำลังช่วยข้า ไม่ใช่ยามเจ้ากำลังทำให้ข้าเจ็บปวด

    (วรรค 407 - 409)

    อกาเม็มนอนไม่ยอมฟังน้องชาย ในหนังตัวอย่างจะเห็นว่าสตีเว่น พยายามขบคิดหาทางออก ขณะที่แอนนาก็ดูเจ็บปวดตามความทุกข์ทรมานของลูกๆ ตอนนี้ยังเร็วไปที่จะตัดสินว่าสตีเว่นเป็นแบบอกาเม็มนอนที่ต้องการแต่ความช่วยเหลือ ไม่ต้องการแบ่งบรรเทาความเจ็บปวดของสมาชิกในครอบครัวหรือไม่

     "ศัลยแพทย์ไม่ฆ่าคนไข้ตัวเองหรอก" สตีเว่นพูดเร็วๆ

    ในบทละคร กาเมลสังเกตว่า อกาเม็มนอนเปลี่ยนไปขณะพยายามตัดสินใจหาทางเลือก เขาไม่มีสติมั่นคง ใจโลเล และ พยายามที่จะโกหกปิดบังครอบครัวตัวเอง เพราะมองตัวเองว่าไร้ทางเลือก และถูกคนรอบข้างกดดันให้ตัดสินใจ ในสิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ อกาเม็มนอนโอดครวญอีกว่า "ข้าใช้คำโกหกเหล่านี้กับภรรยา!" ("I used these lies on my wife." วรรค 104)  แม้แต่เมเนเลอุสก็ติใจอันโลเลของพี่ชายว่า "หัวใจที่โลเล ดวงที่มิตรสหายไม่สามารถพึ่งพาได้ ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่สมควรมี" ("A fickle heart, one that your friends can't depend on, is an unworthy thing to have." วรรค 333-334) ทำให้เรานึกถึง Fig. 2  ภาพโปรโมทรูปกายวิภาคของหัวใจ

    ในคลิปที่ปล่อยออกมาระหว่างเทศกาลหนังคานส์​ สตีเว่นโกหกแอนนาด้วยพูดเร็วๆว่า พ่อของมาร์ติน ตายเพราะถูกรถชน ทั้งๆที่ชายคนนั้นเคยเป็นคนไข้ของตัวเอง โดยปิดบังความจริงของความสัมพันธ์ระหว่างเขากับมาร์ตินกับภรรยา คนที่จริงๆควรจะใกล้ชิดเขามากที่สุดในชีวิต

    บทสนทนาระหว่างแอนนา และ สตีเว่น ค่ำหลังจากที่แอนนาเจอมาร์ตินเป็นครั้งแรก

    ฝ่ายไคเทมเนสตราก็สงสัยอุบายของอกาเม็มนอน และกลัวความปลอดภัยของลูกๆตัวเอง คำพูดของแอนนา ในหนังตัวอย่างที่ปล่อยมา ตรงกับบทพูดของไคเทมเนสตราในละคร 

    ทั้งความระทมของไคเทมเนสตราที่ลูกของเธอและอกาเม็มนอนต้องมาถูกฆ่า "เด็กคนนั้น--ลูกของข้าและเจ้า--เจ้าตั้งใจจะฆ่าเธอลงหรือ" ("That child, yours and mine--do you intend to kill her?" วรรค 1131) คล้ายคำถามของแอนนาใน Fig. 2  (หัวใจ) และคลิปหนังตัวอย่าง ว่า "ฉันไม่เข้าใจว่าทำไมฉันต้องชดใช้ ทำไมลูกๆของฉันต้องชดใช้" ("I don't understand why I should have to pay the price. Why my children should have to pay the price." - Trailer 1) และความปวดร้าวใจของไคเทมเนสตราที่ต้องติดกับสถานการณ์เลวร้ายนี้ "ข้ามีเหตุผลอันน่าสะเทือนขวัญที่ทำให้ข้าปวดร้าวใจ" 
    ("I have a dreadful reason to feel anguish in my heart." วรรค 1434)

    เธอจะฆ่าลูกของเราลงหรือ

    ไคเทมเนสตราเป็นคนเจ้าความคิด และ ขู่สามีไม่ให้ทำให้เธอกลายจากผู้หญิงที่ทำตามหน้าที่ภรรยาถูกต้องตามธรรมเนียมกรีกทุกอย่างเป็น 'ผู้หญิงไม่ดี - Bad Woman'  หากเธอลุกขึ้นมาใช้พรสวรรค์ตัวเองเพื่อทำลายล้าง เมื่อระบบครอบครัวและความถูกต้องหักหลังเธอ ไคเทมเนสตรานั้นร้อนรนขนาดยอมอ่อนข้อ ขอร้องให้อคีลลิสเพื่อช่วยลูกสาวตัวเอง ซึ่ง (สปอยส์เล็กน้อย: แอนนาก็ยอมทำกับเพื่อนสนิทของสตีเว่น

    ยูพรีดีส (Euphrides) ผู้ประพันธ์บทละครเขียนให้ไคเทมเนสตราเป็นหญิงที่ทั้งแข็งแกร่ง และ กล้าหาญกว่าผู้ชายใดๆในชีวิตของเธอ ซึ่งเป็นบทที่เราเชื่อว่าแม่นิโคลจะสื่อผ่านแอนนาได้เกินร้อย แค่สังเกตสายตาแข็งกร้าว ราวแม่เสือปกป้องลูกในหนังตัวอย่างนั่นสิ 

    อย่ามาทำลูกชั้น!

    ภายหลังในบางตำนานกล่าวว่า ไคเทมเนสตราฆาตกรรมอกาเม็มนอนเพื่อล้างแค้นแทนลูกสาว สวมบทบาทผู้นำ 'คำสาป' มาสู่ความหายนะของอกาเม็มนอน

    เราคงยังต้องรอดูว่าในหนัง สตีเว่นจะประพฤติตัว 'เป็นศัตรู' ตั้งป้อมกับคนในครอบครัวตัวเองเหมือนอกาเม็มนอนที่ประพฤติตัวกับราชินีและลูกๆ ดังเป็น ศัตรูส่วนตัว (ekhthros, personal enemy) หรืออาจถึงขั้น ศัตรูทางการสู้รบ (polemios, military enemy) เพียงเพราะอกาเม็มนอนมองว่าผู้หญิง และ ลูกๆ ไม่ควรมาก้าวก่ายในกองทัพที่เต็มไปด้วยฝูงชาย

    Death's Certainty: Life As a Tragedy

    ดังที่ผู้เฒ่าได้กล่าวกับอกาเม็มนอน ความเชื่อตามธรรมเนียมกรีก คือ ทวยเทพล้วนบงการและกำหนดเหตุการณ์ต่างๆในชีวิตของมนุษย์​ บางตำนานที่กล่าวถึงปฏิหารย์ที่เทพีอาร์ทีิมิสเสกให้อิฟินิไจอารอดการสังเวย เป็นการตายที่สะท้อนถึงการที่เทพเจ้าควบคุมเหตุการณ์ยุ่งเหยิงในชีวิตของมนุษย์

    กาเมล กล่าวว่า โศกนาฏกรรมนั้นไม่ใช่พิธีกรรม หากเป็นเหตุการณ์ในที่ๆพิเศษ ในเวลาที่เจาะจง พิธีกรรมนั้นพยายามควมคุมและทำให้ความไม่แน่นอนเป็นความแน่นอน ซึ่งตรงข้ามกับโศกนาฏกรรมอย่างสิ้นเชิง

    ชะตาทำให้สถานการณ์บีบคั้น

    ธีมหลักอย่างความเปราะบางของชีวิตที่ตัวละครในหนังเพิ่งตระหนักได้ ก็ต่อเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์เลวร้าย ทำให้เรานึกถึงคำคมจาก เรื่อง Heart of Darkness (1899) ของ Joseph Conrad ที่เกี่ยวกับประเด็นคล้ายๆ กัน (ความตาย การเอาชีวิตรอด ด้านมืดของมนุษย์เมื่ออยู่ในสถานะอับจน)

    “Like a running blaze on a plain, like a flash of lightning in the clouds. We live in the flicker.” 

    "เหมือนเปลวไฟที่วิ่งผ่านทุ่งราบ เหมือนสายฟ้าแลบท่ามกลางหมู่เมฆ 
    เราใช้ชีวิตอยู่เพียงวูบเดียวเท่านั้น"


    Blood Under the Surface: #Deer Interviews

    บทความส่วนนี้จะนำเสนอบทสัมภาษณ์ของผู้กำกับ ยอร์กอส ลานติมอส์​ และทีมนักแสดง คอลิน ฟาร์เรล นิโคล คิดแมน และแบร์รี่ คีโอแกน เพื่อเพิ่มเข้าใจในโลกของหนังเรื่องนี้มากขึ้นค่ะ


    Understanding Ambiguity: On Martin

    ในส่วนของตัวละคร มาร์ติน ยอร์กอสให้สัมภาษณ์ว่า เราไม่ได้ตั้งใจจะสร้างการเชื่อมโยงเจาะจง หรือ บรรยากาศอะไร โดยรวม เราต้องการที่จะสร้างตัวละครเด็กหนุ่ม เด็กวัยรุ่น คนนี้ ให้ความรู้สึกเป็นเด็กที่อ่อนต่อโลก และ มีความเป็นผู้ใหญ่ กับ อำนาจควบคุมคนในชีวิต ในเวลาเดียวกัน เราพยายามจะสร้างความสมดุล ซึ่งคุณไม่อาจพบเจอในทุกวันของชีวิต


    ผมก็เป็นตัวละครสีเทา

    เราไม่ต้องการให้เขาเป็นคนดี หรือ คนร้าย ชัดๆ หากต้องการให้เขาเป็นตัวละครที่คลุมเคลือ มีแรงโน้มนำใจที่คุณก็เข้าใจ จนคุณเอาใจช่วยเขา และ ความเจ็บปวดของเขา

    ตัวแบร์รี่ คีโอแกน ผู้รับบทมาร์ตินเองกล่าวว่า มาร์ติน เป็นตัวละครที่น่าขนลุก (creepiest) ที่สุดที่เขาเคยเล่นมา


    คลิปสัมภาษณ์จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติในกรุงโตรอนโต ประเทศแคนาดา 
    (Toronto International Film Festival, TIFF) เมื่อต้นกันยายนที่ผ่านมา

    หากหนังที่มาร์ตินโปรดปรานคือเรื่อง Groundhog Day (1993) แบร์รี่ก็ต้องการใช้ชั่วนิรันดร์อย่างเป็นอมตะ แต่คอลิน ฟาร์เรลแก้ให้ว่า จริงๆแล้ว แบร์รี่คงอยากใช้ชั่วนิรันดร์นั้นเพื่อเรียนรู้ว่าควรจะใช้ชีวิตอยู่ยังไง


    Directing a Stilted World: On Yorgos' Style

    คอลินกล่าวว่า สไตล์การกำกับของยอร์กอสนั้น แปลกใหม่ มีชีวิตชีวา และ ทำให้รู้สึกมีอิสระ แต่ก็​น่าตกใจในเวลาเดียวกัน จนเกือบทำให้รู้สึกเสียตัวเองไป พร้อมๆ กับพบ 'ความจริง'  อะไรๆที่เขาอาจอยากให้คุณพบ

    คอลินเสริมอีกว่า ยอร์กอสคงเบื่อกับการเสแสร้งในสังคม และต้องการเสนอ 'ความเก้กังที่แสนอึดอัด' พร้อมๆกับ 'พฤติกรรมแปลกประหลาด' ทั้งนี้เขาเชื่อว่า เทคนิคการทำหนังของยอร์กอสไม่ใช่กล ไม่ใช่กิมมิก (gimmick) แต่เป็น การนำเสนอที่เน้น 'เนื้อหา' จริงๆภายใต้พล๊อตเรื่อง ("trying to get beneath the story")


    คลิปสัมภาษณ์ที่น่ารักที่สุดและที่เราชอบมากที่สุด จากเทศกาลภาพยนตร์ในเมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส 
    (Cannes International Film Festival) เมื่อพฤษภาคมที่ผ่านมา


    บทของยอร์กอสมีความชัดเจน มีการตัดสินใจมาก่อนแล้ว ทำให้คนแสดงไม่ต้องคิดตัดสินใจมาก ทั้ง 'ตัวโน้ต' และ 'ดนตรี' อยู่ในบทแล้ว คุณแค่พยายามที่จะเข้าถึง (get beneath) บทให้มากขึ้น (ยอร์กอสเขียนบทร่วมกับ อิฟทิมิส ฟิลิปปู (Efthymis Filippou) ผู้เคยร่วมงานกันมาก่อนแล้ว)

    ตรงข้ามจากชีวิตจริง และ ความเป็นมนุษย์ที่ถูกขับเคลื่อนด้วยอารมณ์ความรู้สึก ยอร์กอสสร้างโลกที่ 'เป็นอยู่' ในตัวเอง และปล่อยให้ความอึดอัดในสถานการณ์ออกมา เพื่อทำให้คนดูรู้สึกความอึดอัดได้เต็มที่

    คอลินชมยอร์กอสว่าเป็นผู้กำกับที่ใจกว้าง ไม่พยายามบอกคนดูตรงๆให้คิด หรือ รู้สึกอะไร แค่นำเสนอสถานการณ์ให้ไปขบคิด (และทรมานใจ) กันเอาเอง ทำให้ตัวเขาเองได้หยุดคิดเยอะเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์​ และ ความเปราะบางของชีวิต เขาคิดว่าธีมหนักๆของหนังแทบจะถามคนดูว่า คุณจะทำอย่างไร หากตกอยู่ในสถานการณ์นี้?

    'เดี๋ยว.... ผู้ชายที่แก่กว่ามากๆงั้นหรอ' ทุกคนหัวเราะคอลินระหว่างการสัมภาษณ์กับ The Hollywood Reporter ที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติในกรุงโตรอนโต ประเทศแคนาดา (Toronto International Film Festival, TIFF) 

    นิโคล คิดแมน เสริมว่า ธีม (บริบท) โดยรวมของหนัง เป็นเรื่องมืดมัว ซึ่งคนไม่กล้าที่จะถกกันในชีวิตประจำวัน The Killing of a Sacred Deer (2017) ผลักดันให้คนดูกล้าออกมาพูดคุยกันเรื่องประเด็นหนักๆของหนัง และเริ่มถามคำถามเยอะๆ ยอร์กอสชอบบอกเธอว่าเรื่องนี้เป็นหนังตลก (Comedy) และตัวบทมีจังหวะของมันเอง ซึ่งเป็นจังหวะที่แปลกมาก เพราะต้องแสดงโดยให้บททำหน้าที่ของมัน โดยไม่ได้เพิ่มเติม หรือ ลดส่วนเกิน อะไรจากบท


    (จากซ้าย) ยอร์กอส นิโคล และแบร์รี่ ให้สัมภาษณ์ระหว่างถ่ายรูปที่เทศกาลภาพยนตร์ในเมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส 
    (Cannes International Film Festival) เมื่อพฤษภาคมที่ผ่านมา

    ยอร์กอสกล่าวถึงตัวหนังว่า เป็นการนำเสนอเหตุการณ์ต่างๆที่สำแดงความเป็นมนุษย์ (human nature) และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ที่อาจดูสมบูรณ์แบบโดยผิวเผิน แต่ย่อมมีจุดอ่อนในวิธีที่เราใช้ชีวิต และ สร้างความสัมพันธ์ เขากำกับโดยการสังเกตนักแสดง และ ความเป็นไปในกองถ่าย จะออกมาพูด หรือ พยายามแก้อะไร พยายามช่วยนักแสดงทำงาน ก็ต่อเมื่อเห็นสิ่งที่ไม่ควรอยู่ในโลกของเขา 

    ยอร์กอสพยายามกำกับหนังที่เขาอยากดูเอง หนังที่ต้องการให้คนดู 'ทำงาน' ระหว่างดูไปด้วย เพื่อให้เข้าใจและตัดสินบางอย่างในหนัง ได้ขบคิดหลายๆอย่างจากธีมของหนัง


    Deery There: Wait for It

    ขอจบด้วยรูปเบื้องหลังกองถ่าย และตามเทศกาลหนังต่างๆ ซึ่งรวมเคมีน่ารักๆ ระหว่างคอลิน ฟาร์เรล และแบร์รี่ คีโอแกน สองหนุ่มไอริช ต่างวัย ที่ดูเข้ากัน และ สนิทกันมากจริงๆเลยค่ะ 

    รูปถ่ายรวมหมู่หนุ่มๆ วันปิดกล้องของหนังจากทวิตเตอร์ของแบรรี่

    แลกหมัดกันบนพรมแดงที่คานส์

    นอกจอนี่รักกันแบบน่ารักมากๆ


    ระหว่างการให้สัมภาษณ์ที่คานส์ คอลินเลียนแบบท่าเขินอายของแบร์รี่ได้แบบเป๊ะๆ

    นิโคลเอ็นดูแบร์รี่เหมือนลูก ถึงออกปากว่าไม่อยากให้เด็กหนุ่มชกมวย เพราะเป็นห่วงการกระทบกระเทือนต่อศีรษะ

    ดูเป็นครอบครัวเดียวกัน ;__; 

    คอลินถ่ายทำ The Beguiled (2017) กับ The Killing of a Sacred Deer (2017) ห่างกันแค่สามอาทิตย์ 
    โดยร่วมงานกับนิโคลทั้งสองเรื่อง

    ครอบครัวมารวมตัวกันอีกครั้งที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติในกรุงโตรอนโต ประเทศแคนาดา 
    (Toronto International Film Festival, TIFF) เมื่อต้นกันยายนที่ผ่านมา


    ในคืนวันที่ 12 ตุลานี้ (ประมาณห้าทุ่มตามเวลาไทย) The Killing of a Sacred Deer (2017) จะพรีเมียร์ที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษค่ะ


    (เกาะติดรอรูปเลยเรา)




    --------



    ขอบคุณที่อ่านและสนใจมากๆค่ะ

     --> เบื้องหลังการวิเคราะห์




    มาคุย / ทักทายกันได้ที่ทวิต

    @_XDolan

    นะคะ <3


    x

    ข้าวเอง.



Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
Mujalin Prathummas (@fb1724758124264)
เขียนดีมากจริงๆค่ะ เเต่สงสัยหน่อยหลังจากที่ได้ดู คือ ในหนังนี่ปูให้มาร์ตินสามารถควบคุมการเกิดโรคร้ายในครอบครัวได้เหมือนเทพเจ้าหรอคะ เเบบว่าอยู่ดีๆนึกอยากให้เป็นก็เป็น แบบนี้หรอคะ พอจะมีสัญลักษณ์อะไรในหนังที่สื่ออีกไหมคะ ขอบคุณมากค่า
sweetsingularity (@sweetsingularity)
@fb1724758124264 เราไม่ค่อยเห็นอะไรที่บอกว่าทำไมมาร์ตินถึงมีอำนาจนี้โดยตรงค่ะ คาดว่ายอร์กอสอยากทิ้งให้คนดูไปตีความกันเอง เป็น magical realism เหมือนที่คนโสดกลายเป็นสัตว์ใน The Lobster น่ะค่ะ // ดีใจที่ชอบและขอบคุณนะคะ :)
Jariya Shunacho Skulpakdee (@fb1519000314814)
เพิ่งไปดูมาวันนี้ค่ะ วิเคราะห์ได้สุดยอดมากๆค่ะ ขนาดวิเคราะห์จากแค่ตัวอย่างหนัง รู้สึกทึ่งจนต้อง log in เข้ามาชื่นชม
sweetsingularity (@sweetsingularity)
@fb1519000314814 ขอบคุณมากๆเลยค่า <3