เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
READ OUT LOUD!tidachan
ประวัติศาสตร์กระดาษโลก
  • ใครจะรู้ว่ากระดาษแผ่นบางๆ รองรับอารยธรรมนับพันปีของมนุษย์เอาไว้?

    ชีวิตของเราผูกพันกับกระดาษตั้งแต่เกิดจนตาย ทั้งสูติบัตร มรณบัตร บัตรประชาชน ทะเบียนสมรส โฉนดที่ดิน พาสปอร์ต ฯลฯ จินตนาการของเราถูกสร้าง “บน” กระดาษ “ผ่าน” กระดาษ “ด้วย” กระดาษ เหมือนที่ยอดจิตรกร เลโอนาร์โด ดาวินชี สร้างงานผ่านกระดาษนับพัน และหากไม่มีป้ายฉลากยาขัดรองเท้าก็คงไม่มี ชาร์ลส์ ดิกเกนส์ นักเขียนนวนิยายก้องโลก อีกทั้งกระดาษยังเปลี่ยนแปลงโลกมหาศาลทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม ดังที่เงินกระดาษปฏิวัติระบบเศรษฐกิจโลก หรือหนังสือกระดาษปฏิวัติวัฒนธรรมการอ่าน

    ประวัติศาสตร์กระดาษโลก เล่มนี้เป็นเสมือนพิพิธภัณฑ์กระดาษที่คัดสรรและถ่ายทอดเรื่องราวมหัศจรรย์ของกระดาษ รวมถึงชวนขบคิดว่าในยุคที่อวสานของกระดาษกำลังก้าวมาถึง กระดาษจะยังคงบทบาทที่มีต่ออารยธรรมมนุษย์ต่อไปอย่างไร

    — คำโปรยปกหลัง.
    ประวัติศาสตร์กระดาษโลก (Paper: An Elegy)
    ผู้เขียน: Ian Sansom
    ผู้แปล: พลอยแสง เอกญาติ
    สำนักพิมพ์: โอเพ่นเวิลด์ส (openworlds)
    จำนวนหน้า: 304 หน้า
  • เราอยากอ่านเล่มนี้มานานแล้ว ตอนงานหนังสือปีที่แล้วเลยฝากเพื่อนซื้อ แต่กว่าจะได้อ่านก็ดองทิ้งไว้ข้ามปีเลย

    หนังสือเล่มนี้มี 2 ปก คือปกสีขาวและปกสีดำแบบของเรา ขอเล่าย้อนไปตอนได้หนังสือเล่มนี้มา เราย้ำกับเพื่อนไปว่าอยากได้ปกสีดำ ถ้าไม่มีค่อยเอาปกสีขาวนะ เพื่อนบอกว่าตอนไปที่บูธ พนักงานใช้เวลาสักพักหาให้ และเล่มที่เราได้คือปกสีดำเล่มสุดท้าย! โอ้โห ดีใจที่ได้มา 555 แต่ในเว็บ Readery ยังมีขายทั้งปกสีขาวและปกสีดำนะ
    ประวัติศาสตร์กระดาษโลก (ปกสีขาว)
    ภาพจาก readery.co
    หนังสือเล่มนี้เล่าเรื่องกระดาษในรูปแบบต่าง ๆ ที่อยู่ในชีวิตเรา โดยแบ่งเรื่องออกเป็นบท เราชอบหน้าเปิดของแต่ละบทที่เริ่มด้วย Quote เกี่ยวกับกระดาษและพื้นหลังเป็นรูปกระดาษประเภทต่าง ๆ แถมยังมีภาพประกอบแทรกในเนื้อหาเป็นระยะ น่าเสียดายที่บางภาพไม่มีคำอธิบาย ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าเป็นแบบนี้มาตั้งแต่ต้นฉบับเลยหรือเปล่า

    อย่างที่บอกไปว่าหนังสือเล่มนี้แบ่งเป็นบท บทที่เราชอบมากที่สุด คือ บทที่ 3: กระดาษเดินทาง (แผนที่) กับบทที่ 10: การบำบัดกายและใจแสนวิเศษ (โอริงามิและศิลปะกระดาษ) แต่เนื้อหาบทอื่นก็สนุกและน่าสนใจ มีการเชื่อมโยงเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของกระดาษเข้ากับเหตุการณ์สำคัญและประวัติศาสตร์โลก

    ส่วนที่อ่านแล้วรู้สึกคาใจ คือ เวลากล่าวถึงชื่อบุคคล บางชื่อจะมีวงเล็บชื่อภาษาอังกฤษ (หรือฝรั่งเศสหรือเยอรมันหรืออะไรก็ตามแต่) ต่อท้าย ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดีนะ เผื่อคนอ่านอยากเอาชื่อไปค้นต่อ แต่บางชื่อก็มีแต่คำแปลไทย ไม่มีวงเล็บน่ะสิ อีกกรณีที่คล้ายกัน คือ เวลากล่าวถึงชื่อหนังสือหรือชื่อผลงาน บางทีก็มีทั้งคำแปลไทยและวงเล็บชื่อภาษาอังกฤษไว้ แต่บางทีก็มีแต่ชื่อภาษาอังกฤษ ไม่มีคำแปลแฮะ สำหรับคนไม่ถนัดอ่านภาษาอังกฤษก็อาจจะติดขัดหน่อย

    ถึงจะมีหลายจุดที่รู้สึกติดขัดบ้าง แต่ถือว่าเล็กน้อยมากๆ ไม่ได้กระทบต่อเนื้อหาโดยรวม เป็นเกร็ดความรู้ที่อ่านได้เพลินๆ เลย
  • Favorite Quote

    “ศิลปะกระดาษเป็นเรื่องเสียเวลาหรือเปล่า? ใช่อย่างแน่นอน ก็แล้วมีอะไรบ้างเล่าที่ทำแล้วไม่เสียเวลา?”

    — บทที่ 10: การบำบัดกายและใจแสนวิเศษ, หน้า 215.
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
Lucreazia (@Lucreazia)
เราได้รับเล่มนี้เป็นของขวัญวันเกิดปีที่เเล้วล่ะค่ะ แต่ได้เล่มปกสีขาวมา ยังไม่ได้เริ่มอ่านเลยค่ะ แต่พออ่านของจขบ.แล้ว ท่าทางต้องรีบอ่านบ้างค่ะ ^^ ปกสีดำสวยค่ะ จขบ.โชคดีมาก ๆ เลย
tidachan (@tidachan)
@Lucreazia อยากได้ของขวัญแบบนี้บ้างจังค่ะ 555 ที่จริงปกสีขาวก็สวยนะคะ แต่เรากลัวเลอะง่าย เลยเอาปกสีดำดีกว่า
ลองอ่านดูนะคะ ค่อยๆอ่านวันละบทก็ได้