เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
READ OUT LOUD!tidachan
เงินไม่ใช่พระเจ้า: ขีดจำกัดทางศีลธรรมของตลาด
    • ให้เช่าพื้นที่บนหน้าผากเพื่อแสดงโฆษณา: 777 เหรียญสหรัฐ
    • บริการอุ้มบุญของมารดาชาวอินเดีย: 6,250 เหรียญสหรัฐ
    • สิทธิยิงแรดดำใกล้สูญพันธุ์: 150,000 เหรียญสหรัฐ
    • สิทธิปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ: 18 เหรียญสหรัฐต่อตัน
    • ยกระดับห้องขัง: 82 เหรียญสหรัฐต่อคืน
    • ยืนต่อคิวในสภาคองเกรสข้ามคืนเพื่อจองที่ให้กับนักล็อบบี้: 15-20 เหรียญสหรัฐต่อชั่วโมง
    • เป็นหนูทดลองยาให้กับบริษัทยา: 7,500 เหรียญสหรัฐ
    • ออกรบภายใต้สังกัดบริษัททหารรับจ้าง: 250 เหรียญสหรัฐต่อเดือน ถึง 1,000 เหรียญสหรัฐต่อวัน
    • จ้างคนอ้วนลดน้ำหนักสิบสี่ปอนด์ในสี่เดือน: 387 เหรียญสหรัฐ
    • จ้างเด็กอ่านหนังสือ: 2 เหรียญสหรัฐ

    ในยุคที่ “ลัทธิบูชาตลาด” แทรกซึมเข้าไปในทุกมิติของสังคม ไมเคิล แซนเดล นักปรัชญาเศรษฐศาสตร์การเมืองจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดชี้ให้เห็นขีดจำกัดทางศีลธรรมของตลาด และการที่ตลาดเบียดขับคุณค่าทางสังคมนอกตลาด เช่น สำนึกพลเมือง ความมีวินัย ความรัก ความเท่าเทียม ฯลฯ

    หนังสือเล่มนี้จุดประกายคำถามสำคัญในยุคตลาดเสรีเฟื่องฟูว่า “เราอยากได้สังคมที่ทุกส่ิงซื้อได้หรือเปล่า? หรือว่าสังคมมีคุณค่าทางศีลธรรมและคุณค่าทางพลเมืองบางอย่างที่ตลาดไม่ให้ความสำคัญ และเงินก็ซื้อไม่ได้?”

    — คำโปรยปกหลัง.
    เงินไม่ใช่พระเจ้า: ขีดจำกัดทางศีลธรรมของตลาด (What Money Can't Buy: The Moral Limits of Markets)
    ผู้เขียน: ไมเคิล แซนเดล
    ผู้แปล: สฤณี อาชวานันทกุล
    สำนักพิมพ์: โอเพ่นเวิลด์ส (openworlds)
    จำนวนหน้า: 272 หน้า
  • เราเคยอ่านหนังสือของนักนักเขียนคนนี้มาก่อน คือ เรื่อง "ความยุติธรรม" ซึ่งอ่านแล้วชอบ ถูกจริตมาก เลยหาต่อว่ามีหนังสือเล่มอื่นอีกที่แปลเป็นภาษาไทยแล้ว จนเพิ่งจะได้มีโอกาสซื้อมาอ่านเมืื่อไม่นานนี้เอง

    เรื่องนี้มี 2 ปก ปกดำแบบที่เรามีเป็นฉบับพิมพ์ครั้งแรก ไม่รู้ว่ายังหาซื้อได้อยู่ไหม เราเองก็ได้แบบมือสองมา ส่วนปกเขียว ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ยังมีขายที่ Readery นะ
    ปกฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2

    ภาพจาก readery.co
    รูปแบบการเขียนเรื่องนี้คล้ายเรื่อง "ความยุติธรรม" คือแบ่งเป็นบท แล้วแต่ละบทก็แบ่งหัวข้อ/ประเด็นย่อยๆ อีก มีตัวอย่างประกอบ ซึ่งแต่หัวข้อ/ประเด็นย่อยในแต่ละบทก็จะเชื่อมกันอีก สำหรับเราถือว่าทำให้อ่านง่าย ถึงตัวอย่างส่วนใหญ่จะเป็นเหตุการณ์ในสหรัฐฯ หรือประเทศแถบตะวันตก แต่ก็สามารถเข้าใจและเชื่อมโยงกับชีวิตได้ไม่ยาก

    โดยพื้นฐานส่วนตัว เศรษฐศาสตร์เป็นสิ่งที่เราไม่ค่อยเข้าใจอยู่แล้ว ต้องขอบคุณหนังสือเล่มนี้ที่ทำให้โลกเศรษฐศาสตร์ใกล้ตัวเรามากขึ้น ถึงจะบอกว่าอ่านง่าย แต่มันก็มีบางช่วงที่เราอ่านแล้วเบลอ ๆ เหมือนกัน คือ 2 บทสุดท้าย (เรื่องเกี่ยวกับประกันและสิทธิการตั้งชื่อ) ซึ่งคนอื่นอ่านแล้วอาจจะเข้าใจกว่าเราก็ได้นะ

    อีกอย่างที่ทำให้เรารู้สึกติดขัดเวลาอ่าน คือ คำว่า 'ปทัสถาน' เจอครั้งแรกตอนอ่านคำนำผู้แปลก็งงเลย 555 พอเจออีกทีในบทนำ พร้อมวงเล็บคำภาษาอังกฤษว่า 'norms' ก็เลยเข้าใจมากขึ้น ตอนเราเรียนมานุษยวิทยา เราจะคุ้นกับการแปลคำว่า 'norm' ว่า 'บรรทัดฐาน' มากกว่า ทุกครั้งที่อ่านเจอคำว่า 'ปทัสถาน' ก็เลยต้องคำว่า 'norm' ไว้ในหัว (แต่ก็เราไปค้นเจอมาว่า norm แปลเป็นไทยได้ว่า บรรทัดฐาน/ปทัสถาน/ปทัฏฐาน) นอกนั้นก็ไม่ติดขัดอะไร แปลดี อ่านได้อย่างลื่นไหล
  • Favorite Quote

    “นักเศรษฐศาสตร์มักจะคิดเอาเองว่าตลาดนั้นไร้ชีวิต ไม่ส่งผลใดๆ ต่อสินค้าที่มันแลกเปลี่ยน แต่นั่นเป็นความคิดที่ผิด ตลาดทิ้งร่องรอยของมันเอาไว้ บางครั้งคุณค่าของตลาดก็เบียดขับคุณค่านอกตลาดที่ควรค่าแก่การใส่ใจ”

    — บทนำ: ตลาดกับศีลธรรม, หน้า 20.
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in