เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
exhibisyeonprovdtha
(Haikyuu!!) พิธีกรรมบนสองฟากสนามของ คิตะ ชินสุเกะ และซาวามุระ ไดจิ


  • หมายเหตุ: มีการเปิดเผยเนื้อเรื่อง และศัพท์ทางเทคนิควอลเลย์บอล



    อนิเมชั่นไฮคิวดำเนินมาถึงแมตช์ โรงเรียนมัธยมปลายคาราสุโนะ (จ.มิยางิ) vs โรงเรียนมัธยมปลายอินาริซากิ (จ.เฮียวโงะ) ผู้ชมต่างก็เชื่อว่าโรงเรียนอินาริซากิคงจะเป็นตัวเต็งแชมป์วอลเลย์บอลระดับประเทศ แต่กลับถูกอีกาปีกหักกลับมาเฉือนเอาชนะได้อย่างหวุดหวิด จิ้งจอกดำจำต้องเก็บของกลับบ้าน แต่ถึงอย่างนั้น ตัวละครของโรงเรียนอินาริซากิแต่ละคนก็มีความโดดเด่นเฉพาะตัวจนทำให้แฟนการ์ตูนชื่นชอบไม่แพ้ทีมของตัวละครหลักเลย 



    แต่ละทีมในเรื่องไฮคิวมีความเฉพาะตัวสูง มีข้อดี ข้อเด่นต่างจากทีมคาราสุโนะทำให้การแข่งขันน่าตื่นเต้น เพราะทั้งสองฝั่งล้วนงัดเอาข้อดีอันแตกต่างของตัวเองมาประชันกัน ทั้งการเชื่อมต่อของผู้เล่น/เนโกะมะ กำแพงเหล็ก/ดาเตะโค ตัวเซตตาแหลม/เซย์โจ หรือกำลังความสูงคือขุมทรัพย์อันบริสุทธิ์ของวอลเลย์บอล/ชิราโทริซาวะ แต่สำหรับแมตช์ทีมคาราสุโนะ เจอกับทีมอินาริซากิกลับไม่เหมือนที่ผ่านๆ มา เพราะทั้งอีกาและจิ้งจอกต่างเป็นภาพสะท้อนของกันและกัน 



    เริ่มด้วยกัปตันผู้เป็นที่พึ่งหลัก เชื่อใจการรับได้เสมอ ตัวเช็ตระดับประเทศ บอลเร็วปีศาจของแฝดมิยะและคู่หูปีหนึ่งคาราสุโนะ ตัวบล็อกกลางมากเล่ห์เหลี่ยม ตัวตบหัวเสาซ้ายที่หุนหันพลันแล่นอย่างทานากะและกินทามะ(ที่กินทามะกระเดียดไปทาง ‘ล่ก’ เสียมากกว่า) เอซของทีมพลังตบแกร่งกล้า ลิเบอโร่สุดเหนียวไม่ปล่อยให้บอลตกลงบนคอร์ด มีตัวเสิร์ฟหวังผลที่มีปมในใจเดียวกัน สิ่งสำคัญหนึ่งของไฮคิวคือพัฒนาการของตัวละคร โดยเฉพาะซีซั่น 4 นี้ ผู้ชมจะได้เห็นพัฒนาการของฝั่งหนึ่ง ในตัวของอีกฝั่งหนึ่งอย่างชัดเจน



    กระนั้น คนที่น่าสนใจสำหรับเราที่สุดกลับกลายเป็นกัปตันทีมของโรงเรียนอินาริซากิ คิตะ ชินสุเกะ ตัวละครนี้มีความซับซ้อนน่าสนใจมากจนอดเขียนถึงไม่ได้ ซึ่งภาพสะท้อนของคิตะย่อมหนีไม่พ้น ซาวามุระ ไดจิ กัปตันทีมคาราสุโนะ อยากชี้ให้เห็นว่าตัวละครทั้งสองนี้เหมือนและต่างกันอย่างไร ท้ายที่สุดของชีวิต ทำไมทั้งคู่จึงเลือกเดือนไปในเส้นทางนั้น โดยจะพูดเน้นหนักไปทาง คิตะ ชินสุเกะ มากหน่อย



    ADVERTISEMENT

    ADVERTISEMENT

    ADVERTISEMENT

    ADVERTISEMENT


    คิตะ ชินสุเกะ ตำแหน่ง หัวเสาซ้าย (Outside Hitter)





    ซาวามุระ ไดจิ ตำแหน่ง หัวเสาขวา (Opposite Hitter)




    ขอทำความเข้าใจก่อนว่าตำแหน่ง “หัวเสา” คือ ผู้เล่นหันหน้าเข้าเน็ตฝั่งไหน ตำแหน่งประจำเสาก็จะอยู่ตามผู้เล่น อย่างในซีซั่น 4 อารันกับอาซาฮีซึ่งเป็นหัวเสาซ้ายหรือ Outside Hitter ยืนเยื้องกันคนละมุมคอร์ด ฉะนั้นตัวตบตำแหน่งเดียวกันจะไม่ยืนตรงกัน แต่จะหมุนเปลี่ยนตำแหน่งไปทุกครั้งที่ฝั่งตัวเองได้เสิร์ฟ จนอาจมายืนตำแหน่งตรงกันหน้าเน็ตได้ ดังที่คาราสุโนะเปลี่ยนการหมุนมาให้อาซาฮีกับอารันยืนตรงกันหน้าเน็ตในเซตที่สาม



    ส่วนชื่อตำแหน่งในภาษาอังกฤษของหัวเสาขวาคือ Opposite Hitter แปลตรงตัวคือผู้ตีตรงข้าม ตรงข้ามกับอะไร? ก็คือตรงข้ามกับหัวเสาซ้าย สังเกตจากเวลาเซตเตอร์จะเซตบอลให้หัวเสาขวา จะต้องยืนหันหลังแล้วเซตไปให้ (นักพากย์กีฬาไทยจะเรียกว่า “ไหลหลัง”) เพราะตัวเซตจะยืนหันหน้าเข้าหาตัวตบหัวเสาซ้ายเสมอ



    เส้นสามเมตรสีขาวตรงกลางคอร์ดทั้งสองฝั่งเป็นตัวแบ่ง “แดนหน้า” และ “แดนหลัง” โดยผู้เล่นที่ถูกหมุนไปอยู่แนวหลัง ถ้าเป็นตัวตบ จะไม่สามารถเข้ามาโจมตีหน้าเน็ตในแดนหน้าได้ ถ้าจะตบทำแต้ม (attack) แบบที่มืออยู่เหนือขอบตาข่าย ไม่ใช่การส่งแบบ underhand ข้ามเน็ตไปเฉยๆ นั้น ผู้เล่นต้องกระโดดตีจากนอกเส้นสามเมตรเข้ามา และห้ามเหยียบเส้นด้วย การหมุนและแบ่งแบบนี้ก็เพื่อไม่ให้ผู้เล่นอยู่แต่ตำแหน่งเดิมๆ ถ้าเป็นทีมที่แข็งแกร่งหรือได้เปรียบทางด้านสรีระ ทีมที่อ่อนกว่าก็คงไม่มีโอกาสชนะเลย 



    อย่างตอนที่มิยะ โอซามุ ลงไปอยู่แดนหลังในสองแต้มสุดท้ายของเซตที่สาม ไม่มีใครคิดว่าคู่แฝดจะเล่นบอลเร็ว เพราะกว่าโอซามุจะกระโดดเข้ามาจากเส้นสามเมตรจะใช้เวลาตั้งท่ามากกว่าบอลเร็วในแดนหน้า แต่สุดท้ายสองมิยะก็ตัดสินใจเล่น “บอลเร็วคู่แฝด-ไมนัสเทมโป-จากแดนหลัง” จนได้ ทำให้คู่หูปีหนึ่งอีกาดำวิ่งเข้ามาบล็อกได้ทันในที่สุด ถือว่าใจกล้าบ้าระห่ำพอสมควร แต่จริงๆ มันอาจจะได้ผลนะ ถ้าคู่แข่งไม่ใช่ฮินาตะกับคาเงยะมะ (ฮ่า)



    กลับมาพูดถึงทั้งชินสุเกะกับไดจิบ้าง ดูจากตำแหน่งแล้ว ชินสุเกะเล่นตำแหน่งเดียวกับอารัน ตอนที่ได้ลงสนามก็เปลี่ยนตัวกับเอซของทีมด้วย เขาไม่ปรากฏตัวในวิดีโอที่คาราสุโนะใช้ศึกษาก่อนเล่นกับคู่แข่ง แสดงว่าคงเป็นคนที่จะลงสนามก็ต่อเมื่อทีมเริ่มระส่ำระสาย



    “ทุกคน ไม่ต้องระแวงขนาดนั้นก็ได้ ผมเป็นแค่ตัวสำรองที่ลงมาประคองทีมเท่านั้น ไม่มีอะไรต้องกลัว” - คิตะ ชินสุเกะ (ปี 3)



    ประโยคเปิดตัวของชินสุเกะบอกได้ดีถึงตำแหน่ง หน้าที่ และบุคลิกของเขา แม้ว่าจะเป็นกัปตันที่ไม่ได้ยืนเป็นผู้เล่นหลักแบบไดจิก็ตาม ซึ่งตลอดมาไดจิก็ไม่มีภาพของการตบได้แต้มมากเท่าเป็นบทบาทคอยรับลูกเช่นเดียวกัน ทว่าพวกเขามีหน้าที่อย่างเดียวกันคือ เป็นคนคอยประคองทีมทั้งทางเทคนิคและจิตใจ 



    ในทำนองเดียวกัน ชินสุเกะไม่ได้ลงมาเพื่อทำแต้ม แต่ส่งเสริมการรับของทีมให้ยิ่งแน่นหนา บอลแรกที่เขากระโดดเสิร์ฟบอลลอย ก็ได้ไดจิเป็นคนรับไว้ จากนั้นอาซาฮีตี touch block หวังให้ลูกกระเด็นออก แต่ชินสุเกะก็ตามไปเอาบอลกลับมาได้ พอบอลกลับมาฝั่งคาราสุโนะ คาเงยามะเซตไหลหลังให้ไดจิ กลับถูกชินสุเกะงัดบอลขึ้นมาได้อีก เป็นสัญญะของการโต้กันระหว่างสองกัปตันเป็นสิ่งที่เราชอบมากๆ



    “ผู้เล่นอย่างชินสุเกะน่ะ นานๆ จะเจอสักทีหนึ่ง เป็นคนที่ไม่ได้โดดเด่ดอะไร แต่ทำให้บรรยากาศเปลี่ยนได้ ไม่ทำอะไรที่ไม่จำเป็น คำพูดชัดเจน แม้จะขาดทักษะก็ละเอียดรอบคอบ และตอนนี้ชินสุเกะก็เปี่ยมไปด้วยความมั่นใจ ไม่ใช่มั่นใจว่าเก่งกว่าคนอื่น แต่เป็นความมั่นใจว่าตัวเองจะไม่มีวันทำพลาด” - โนริมุเนะ คุโรสุ (โค้ชอินาริซากิ) 




    คิตะ ชินสุเกะ จึงเป็นภาพตัวแทนของสังคมญี่ปุ่น

    ด้วยตัวเขาเองคนเดียวเลยด้วยซ้ำ




    ชินสุเกะโตมากับคุณย่า (หรือยาย) ที่เชื่อในเทพเจ้า ความเชื่อของชินโตเชื่อว่ามีวิญญาณและเทพเจ้าสิงสถิตอยู่ในทุกสรรพสิ่ง รอบตัวเราจะมีสายตาจากคนที่มองไม่เห็นคอยจับจ้องอยู่เสมอ เพราะฉะนั้น เราจึงต้องหมั่นบำรุงรักษาข้าวของเครื่องใช้ เรือนพำนักอาศัย หรือธรรมชาติรอบตัวไม่ให้เสื่อมโทรม ชินสุเกะจึงหมั่นตะไบเล็บให้สั้นมนทั้งๆ ที่ไม่ค่อยได้ลงแข่ง หมั่นฝึกซ้อมการรับลูกของตัวเองให้เชี่ยวชาญเหมือนการใช้ตะเกียบกินข้าว คอยสังเกตความเป็นไปในทีมจนกระทั่งมีโค้ชไปพบเพชรในตมเม็ดนี้ในที่สุด



    “ไม่เข้าใจเลย ทำไมต้องประหม่าด้วย เพราะอยากแสดงให้เห็นว่าตัวเองทำได้มากกว่านี้ ถึงได้ประหม่าใช่ไหมล่ะ คิดดูสิ เวลากินข้าว เข้าห้องน้ำ หรือทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ ใครเขาประหม่ากันบ้าง วอลเลย์บอลก็เหมือนกัน ถ้าทำสิ่งที่ทำตอนซ้อมได้ก็ไม่เห็นต้องประหม่า” - คิตะ ชินสุเกะ (ปี 3) 



    ความสามารถเหนือมาตรฐานแต่ไม่ได้โดดเด่นอะไร ก็เพราะทำตอนแข่งให้เหมือนกันตอนซ้อม การรับลูกนั้นต่างจากการตีลูกให้ได้แต้ม ถึงลูกบอลในสนามพุ่งไปมาเร็วจนมองไม่ทันก็จริง แต่ไม่ใช่ทุกแรลลี่หรือทุกจังหวะที่บอลจะเร็วไปเสียหมด ลูกบอลจะลอยไปทางไหนขึ้นอยู่กับตัวเซตและจังหวะของเกม บอลที่ค้างอยู่บนอากาศนานๆ จะทำให้ผู้เล่นมีเวลาคิด มีเวลาหายใจ ถือเป็นบอลที่ใจดีและทำให้แรลลี่ราบรื่นที่สุด เพราะฉะนั้น ชินสุเกะต้องฝึกการดูทิศทางของการเซตบอล การเดาทิศทางของบอลหลังจากตัวตบตีมาแล้ว ฝึกการพุ่งตัวลงไปกับพื้นเพื่องัดบอลขึ้นมา ลูกยางจะกระเด็นไปทางไหน ก็ต้องกัดฟันไปเอากลับมาให้ได้ 



    การตบยังมีหลายเทคนิคให้ได้แต้ม จะตีตรงลงเส้น ตีครอสเฉียงหนีบล็อก ตีหนักอัดบล็อกให้ตกลงในสนามฝั่งคู่แข่ง ตีทัชบล็อกให้ออก การรีบาวด์เอาบอลกลับมาเล่นใหม่ การใช้บอลเร็ว การกระโดดดึงจังหวะตี มีกลยุทธ์การวิ่งหลอกตัวบล็อกของฝั่งตรงข้าม ฯลฯ แต่การตั้งรับมีเพียงวิ่งตามลูกบอลที่ไม่อาจบังคับทิศทางได้ เขาเพียงต้องฝึกการรับซ้ำไปซ้ำมา การรับมีแค่การช้อน underhand หรือชูมือขึ้นเป็น overhand อาจนับการพุ่งไถลไปกับพื้นเพื่องัดบอลขึ้นมาด้วยก็ได้ 



    ชินสุเกะฝึกการรับอยู่อย่างนั้นกระทั่งแน่ใจได้ว่าทุกครั้งที่ตัวเองลงแข่งจะไม่มีทางทำให้บอลตกลงพื้น เช่นเดียวกับการที่เขาหมั่นใส่ใจเพื่อนร่วมทีม มาถึงเป็นคนแรกของชมรม ขัดห้องน้ำให้เรี่ยม วิ่งออกกำลังกายประจำ อ่านหนังสือจนสอบได้เกรดดีๆ ทุกอย่างที่เขาทำกลายเป็นกิจวัตรที่ดูไม่น่าตื่นเต้นอะไร แต่ได้ผลที่แน่นอน ถึงเพื่อร่วมทีมจะชอบคิดว่าเขากลายเป็นหุ่นยนต์ไปแล้วก็เถอะ ทั้งหมดนี้เป็น “พิธีกรรม” ของคิตะ ชินสุเกะ



    พิธีกรรมที่ทำสิ่งเดิมซ้ำๆ จนมั่นใจกับมันว่าผลลัพธ์จะออกมาดี



    ในแง่นี้ คำว่า “การขัดเกลา” จึงนิยามตัวละครชินสุเกะผู้แอบอิงกับความเชื่อของญี่ปุ่นได้อย่างชัดเจน จากพื้นฐานลัทธิชินโตและพุทธศาสนานิกายเซน แผ่อิทธิพลไปถึงรากเหง้าธรรมเนียมการใช้ชีวิตของชาวญี่ปุ่น การฝึกซ้อมและบำรุงดูแลตัวเองของชินสุเกะอาจเทียบได้กับพิธีชงชาหรือการจัดสวน สิ่งเหล่านี้คือพิธีกรรมวิปัสสนากรรมฐานเพื่อขัดเกลาจิตใจให้สมบูรณ์บริสุทธิ์ หากในทางศาสนาเรียกว่าการกำจัดกิเลส แต่สำหรับชินสุเกะ มันคือการกำจัดความกลัว เมื่อไร้ความประหม่าแล้วจึงกระทำต่อไปอย่างมั่นคง  



    ชินสุเกะในที่นี้จึงเป็นผู้ขัดเกลาตัวเองจนถึงระดับไร้ความกลัว มีแต่ความตื่นเต้นที่ได้ลงแข่ง มีสติรู้สำนึกความคิดตัวเองและเพื่อนร่วมทีมอยู่ตลอดเวลา จากการสังเกตข้างสนาม 



    “ถึงผู้ใหญ่จะชอบพูดว่าวิธีการสำคัญกว่าผลลัพธ์ แต่เด็กไม่เข้าใจหรอก แต่ว่า...ฉันเห็นด้วยกับผู้ใหญ่นะ สิ่งที่ฉันทำทุกวัน ทำให้ฉันเป็นอย่างทุกวันนี้ ผลลัพธ์มันก็แค่ผลพลอยได้” - คิตะ ชินสุเกะ (ปี 3) 



    ถ้าเทียบเคียงระหว่างพิธีกรรมขัดเกลาจิตใจให้ปราศจากความกลัวเป็นวิธีการ ส่วนชัยชนะหรือการได้เป็นผู้เล่นตัวจริงคือผลลัพธ์ ชินสุเกะจึงไม่โศกเศร้าฟูมฟายเลยที่อินาริซากิแพ้ไปตั้งแต่รอบแรก เขากลับภูมิใจที่มีเพื่อนร่วมทีมเก่งๆ รวมถึงติเตียนคู่แฝดด้วยว่าชอบเล่นอะไรที่ไม่อยู่ในการซ้อม (หรือไม่อยู่ในพิธีกรรมของทีม) เมื่อผลลัพธ์ออกมาอย่างนี้ก็มีเพียงต้องทำใจยอมรับ ไม่มีสิ่งใดเป็นไปอย่างใจ เป็นสัจธรรมของความไม่แน่นอน 



    ในตอนท้ายที่เปิดใจกับทีมอินาริซากิหลังจบเกม เขาบอกว่าไม่เสียใจ และผลลัพธ์ก็ยังเป็นผลพลอยได้อยู่เหมือนเดิม ฉะนั้นแล้ว วิธีการกับผลลัพธ์กลับเป็นสิ่งเดียวกัน ไม่อาจแยกขาด เพียงแต่เขาให้ความสำคัญกับกระบวนการมากกว่าเท่านั้น เหมือนกับดวงอาทิตย์ที่ขึ้นยามอรุณรุ่ง แผดแสงตรงศีรษะยามเที่ยงวัน แล้วอัสดงไปตามกิจวัตร เขาแค่เวียนวนทำไปเรื่อยๆ 



    ส่วนแสงของตัวเองจะไปบันดาลให้เกิดผลหมากรากไม้ใดๆ ก็เป็นเรื่องของผลพลอยได้เสียมากกว่า ดวงอาทิตย์ไม่รู้ตัวหรอกว่าตนได้สร้างคุณงามความดีอะไรไว้จนกว่าจะมีคนสรรเสริญเยินยอ เพราะมันก็แค่ขึ้นและลงไปตามปกติอย่างนั้น ส่วนสำหรับชินสุเกะผู้สม่ำเสมอก็ไม่ต้องการคำชื่นชมใดๆ เลยเช่นกัน ถ้ามีใครประหลาดใจกับการรับลูกอันดีเยี่ยมของเขา...เขาคงคิดว่า “พวกนายจะตกใจเวลาดวงอาทิตย์ขึ้นทำไม?”  ก็ได้ 



    เขายังยิ้มระหว่างเกมแข่งขัน มองดูคนสองฟากสนามเล่นวอลเลย์บอลในแบบที่เขาอยากจะเห็น ต่างฝ่ายต่างดำเนินพิธีกรรมในแบบของตัวเองโดยปราศจากความกลัว สังเกตได้ว่าซีซั่นนี้เล่นประเด็นกับความกลัวไว้มาก เช่น ความกลัวว่าตัวเองธรรมดาเกินไปของทานากะและคิโนะชิตะ ความกลัวจะรับลูกไม่ได้ของนิชิโนยะ ความกลัวการเสิร์ฟหวังผลผิดพลาดของริเซกิซึ่งถูกกดดันโดยเสียงโห่ของผู้ชมฝั่งตัวเอง ความกลัวของอินาริซากิอันถูกขจัดด้วยข้อความบนป้ายผ้าว่า “อย่ายึดติดกับอดีต” ความกลัวไม่มีคุณค่าต่อทีมของฮินาตะ ความกลัวแพ้ลึกๆ ของไดจิ จนโค้ชอุไคกล่าวเตือนสติว่า “ไม่ต้องพึ่งปาฏิหาริย์เพียงทำอย่างที่เคยทำมา ท้ายที่สุดแล้ว ทุกคนก็เอาชนะความกลัวในใจของตัวเองได้ นี่เป็นหนึ่งในไม่กี่แมตช์ที่ชินสุเกะบอกว่าน่าตื่นเต้น เป็นพิธีกรรมขัดเกลาทั้งสองทีมที่นำไปสู่ความมั่นใจในการเล่นมากขึ้นอีก



    นอกจากนี้ คำญี่ปุ่นยังมี “กิริ (義理)” และ “นินโจ (人情)” หมายถึง หน้าที่ กับ ความรู้สึก โดยมากแล้วสองอย่างนี้มักขัดแย้งกันเอง แน่นอนว่าความต้องการในจิตใจมักสวนทางกับภารกิจที่สังคมมอบหมายให้มา และระหว่างกัปตันทีมทั้งสองคนยังเชื่อมต่อกันด้วยสองคำนี้เช่นเดียวกัน



    “ไม่ยอมให้จบแบบนี้หรอก-ทำไมถึงคิดแต่อะไรอ่อนหัดแบบนี้ จะแพ้หรือชนะก็เป็นแค่ผลลัพธ์” - ซาวามุระ ไดจิ (ปี 3) 



    “ทิ้งหน้าที่สนับสนุนเพื่อนแล้วไปร่วมโจมตีด้วย มันจะไปมีความหมายอะไร” / “ถึงเราจะไม่ใช่ผู้เล่นที่เปลี่ยนกระแสเกมได้ แต่ก็รู้สึกว่าต้องคอยระวังหลังให้เจ้าพวกที่เอาแต่มองไปข้างหน้าอย่างเดียว ฉันแน่ใจว่านายเองก็รู้สึกเหมือนกัน”- คิตะ ชินสุเกะ (ปี 3) 



    “เราไม่ได้มาที่นี่เพื่อปกป้องเพื่อนร่วมทีม พวกเราทุกคนอยู่ตรงนี้ก็เพื่อทำคะแนน!” - ซาวามุระ ไดจิ (ปี 3) 



    ไดจิโบยบินจากแดนหลัง ตบลูกยางไปกระทบป้ายอย่านึกถึงอดีต เหนือความคาดหมายอย่างน่าประทับใจในความรู้สึกของชินสุเกะมากเหลือเกิน



    กิริ (หน้าที่) ของชินสุเกะคือการรับลูก แม้ว่าเขาจะอยู่ในตัวแหน่งหัวเสาซ้ายซึ่งเป็นตัวทำแต้ม แต่ก็ถูกฝึกให้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกัน ชินสุเกะไม่เคยทำตัวโดดเด่นเกินหน้าที่หลักที่ได้รับมอบหมาย โค้ชของทีมยังยืนยันว่าตัวเขาไม่โดดเด่นเลย ซึ่งในเรื่องเราไม่อาจรู้ได้ว่าความต้องการแท้จริงของชินสุเกะ (นินโจ) คืออะไร แต่อย่างน้อยเขาก็แสดงให้เห็นว่าเขาเต็มที่กับสิ่งที่ทำ นินโจของเขาอาจพ้องไปกับกิริด้วยก็ได้



    สำหรับไดจิ ถึงแม้จะมีบางส่วนที่เขาคิดเหมือนชินสุเกะว่าผลลัพธ์ก็แค่ผลพลอยได้ แต่ต้องเต็มที่กับการเล่นในสนามให้ได้มากที่สุด ทว่ากิริและนินโจของเขาขัดแย้งกันชัดเจนในซีซั่นนี้ ภาพของไดจิคือกัปตันทีมผู้แข็งแกร่งด้านการรับ เป็นผู้พิทักษ์แดนหลังของทีมมาโดยตลอด แต่ครั้งนี้นินโจของเขาทุบทำลายหน้าที่หลักเสียยับ โดยการกระโดดตีจากนอกเส้นสามเมตรทำแต้มให้ทีม ในมุมหนึ่ง ไดจิสามารถทุบความคิดของชินสุเกะที่ว่า “เราคิดเหมือนกัน” ได้ ไดจิทำสิ่งที่ชินสุเกะไม่คิดจะทำเพราะขัดกับกิริของตัวเอง 



    ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะตำแหน่งของชินสุเกะ มีทั้งอารันและกินทามะเป็นตัวหลักทำแต้มที่หัวเสาซ้ายอยู่แล้ว (เหมือนกับอาซาฮีและทานากะ) เขาเป็นแค่ตัวสำรองด้วย จึงไม่จำเป็นต้องเอาตัวไปแทรกหรือทำอะไรเกินสิ่งที่ซักซ้อมมา แต่ตำแหน่งหัวเสาขวาของไดจินั้นยังไม่มีใครมาสานต่อ ไม่มีรุ่นน้องตัวสำรองปีสองคนไหนที่เป็นหัวเสาขวาแบบเขา อีกทั้งตลอดทั้งการ์ตูนเรื่องนี้ ทีมคาราสุโนะไม่มีหัวเสาขวาคนใดปรากฏตัวในซีซั่นนี้และในอนาคตอีกเลยนอกจากซาวามุระ ไดจิ เขายืนเป็นตัวหลักตลอดเกมทุกครั้งที่ลงแข่ง รูปแบบการเล่นของทีมอีกาดำก็เน้นการรุกอีกด้วย ดังนั้น ความโดดเด่นโดยตำแหน่งนี้ทำให้เขาแสดงความต้องการแท้จริงออกมาได้ง่ายกว่าชินสุเกะ



    หากเกมรับและเกมรุกคือหยินกับหยาง ชินสุเกะเชื่อว่าเขาเป็นหยิน หรือฝ่ายผู้รับ เยือกเย็นเป็นผู้อภิบาลจากข้างหลัง ส่วนเกมรุกอันดุเดือดราวรัศมีดวงตะวันของเพื่อนร่วมทีมคือหยาง ทั้งหยินและหยางต้องสอดรับประสานกันจึงจะทำให้ทีมสมดุลมั่นคง แต่สำหรับคาราสุโนะในแต้มนั้นกัปตันผู้เป็น “หยิน” ของอีกาดำเช่นเดียวกับเขากลับทะลุไปเป็นหยาง ร่วมบุกอย่างร้อนแรงจนทำแต้มให้ทีมสำเร็จ ชินสุเกะจึงเพิ่งตระหนักได้เดี๋ยวนั้นว่า ในสัญลักษณ์ของหยินกับหยาง สีขาวกับสีดำครึ่งเสี้ยวนั้นยังมีจุดสีตรงข้ามอยู่ในตัวมันเองอีก ฉะนั้นแล้วเขาควรจะคำนึงถึงหัวใจตัวเองมากขึ้นด้วยหรือเปล่า? ในเมื่อไดจิสามารถรักษาสมดุลระหว่างกิริกับนินโจของตัวเองไว้ได้ให้เขาเห็น รอยยิ้มของชินสุเกะบอกว่ายอมรับในตัวกัปตันทีมฝ่ายตรงข้าม ตอนสุดท้ายที่แม้จะแพ้ เขาก็ยังชื่นชมการเล่นของทีมจากจังหวัดมิยางิด้วย



    ถ้าคุณสมบัติเด่นของผู้นำทีมอินาริซากิและคาราสุโนะคือ ความเที่ยงตรงต่อหน้าที่และความรู้สึกตัวเอง จึงไม่แปลกเลยถ้าอาชีพในอนาคตของชินสุเกะจะเป็นชาวนา และของไดจิคือตำรวจ



    ชื่อ “อินาริ” จากโรงเรียนมัธยมปลายมาจากชื่อเทพเจ้าอินาริของลัทธิชินโต เป็นเทพเจ้าแห่งการกสิกรรม พืชผลธัญญาหาร โดยผู้นำสาส์นจากเทพเจ้าองค์นี้คือสุนัขจิ้งจอก ชินสุเกะมีพิธีกรรมใหม่คือการปลูกข้าวเพื่อ “ส่งลูกบอล” ไปให้โอซามุใช้ทำโอนิกิริ การทำนานั้นขึ้นอยู่กับธรรมชาติเป็นหลัก ทั้งสภาพอากาศ ดิน น้ำ ลม ความอบอุ่น รวมถึงความหมั่นเพียรในการปลูกข้าวและเก็บเกี่ยว ทั้งหมดนี้ต้องใช้วินัยควบคู่ไปกับการอยู่ร่วมกับธรรมชาติที่ไม่แน่นอน เหมือนที่เขาเป็นตัวรับที่ต้องฝึกกับตัวบุกซึ่งคาดเดาได้ยากอย่างแฝดมิยะ ทั้งหมดนี้เชื่อมโยงกันหมดอย่างน่าอัศจรรย์ และไม่รู้ว่าประจวบเหมาะดีหรืออย่างไรที่ชื่อของไดจิ (大地) แปลว่า ผืนดิน ความมั่นคงเป็นปึกแผ่นของอดีตกัปตันทีมคาราสุโนะทำให้เขาเลือกทางเดินอาชีพที่ต้องใช้ความยุติธรรมเป็นหลัก 



    ผืนดินและความเที่ยงตรงของดวงอาทิตย์ คือสองในสิ่งสำคัญที่สุดของการเกษตรกรรม 



    อาจกล่าวได้ว่าไดจิเป็นหนึ่งในกระบวนการเติบโตทางความคิดของชินสุเกะก็เป็นได้ ดังที่กล่าวไว้ในตอนต้นว่าอินาริซากิและคาราสุโนะต่างเป็นภาพสะท้อนของกันและกัน แต่ก็เป็นคู่แข่งที่ส่งเสริมกันและกันด้วย



    เหนือไปกว่านั้น หากทั้งสองทีมต่างก็มีอาทิตย์เป็นของตัวเองเหมือนกัน ฝ่ายหนึ่งคือชินสุเกะผู้สม่ำเสมอเคร่งวินัยราวดวงสุริยะ อีกฝ่ายหนึ่งจึงเป็นฮินาตะผู้เปี่ยมไปด้วยพลังดั่งแสงตะวันนั่นเอง 




    ✳✳✳

       


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in