เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
คัด(ไม่ลอก)เฉพาะบางเรื่องช. ช่างชม
เพจเจอร์เธอรู้จักไหม?
  • ย้อนเวลากลับไปช่วงประมาณ 20 ปีก่อน ในช่วงที่ข้าพเจ้ามีอายุประมาณครึ่งหนึ่งของปัจจุบัน (พ.ศ. 2561) ในช่วงที่ยุคการสื่อสารผ่านโทรศัพท์มือถือเพิ่งเริ่มต้น และไม่ได้เป็น 4จี เหมือนอย่างปัจจุบัน รวมถึงราคาค่าเครื่องก็สูงลิบลิ่ว ผู้ที่มีฐานะอันจะกินเท่านั้น จึงมีสิทธิ์จะได้ครอบครอง

    แต่ก็มีทางเลือกให้สำหรับผู้ที่ยังต้องการสื่อสารอีกหนึ่งช่องทาง นั่นคืออุปกรณ์ที่เรียกว่า "เพจเจอร์"..
    หากคุณลองได้ถามเด็กๆ น้องๆ ที่มีอายุประมาณสิบห้าสิบหกลงมา ว่ารู้จักเพจเจอร์กันหรือไม่ เช่ื่อขนมกินได้เลยว่า เกือบทุกคนจะต้องทำหน้าฉงน และเอ่ยปากตอบว่าไม่รู้จักอย่างแน่นอน..

    ในช่วงห้วงเวลาแห่งยุคนั้น มีผู้ให้บริการจำหน่ายเครื่องเพจเจอร์หลายราย และด้วยความที่เพจเจอร์มีราคาที่ไม่สูงมากนัก โดยประมาณการสองพันบาทขึ้นไป ก็สามารถหามาครอบครอง จับจองเป็นเจ้าของได้ไม่ยาก 

    และตัวข้าพเจ้าก็ได้ซื้อหามาไว้ใช้งานเครื่องหนึ่ง จากเงินเดือนของงานพิเศษ

    การใช้งานของเพจเจอร์ ไม่ได้เหมือนกับโทรศัพท์มือถือแต่ประการใด แต่สิ่งที่เหมือนกันกับโทรศัพท์มือถือในขณะนั้นก็คือ ต้องเสียค่าบริการรายเดือน 

    เพจเจอร์ คืออุปกรณ์สำหรับใช้รับข้อความจากผู้ส่ง คล้ายกับการส่งข้อความสั้น หรือ SMS ของโทรศัพท์มือถือในปัจจุบัน เพียงแต่ผู้ที่ต้องการส่งข้อความนั้น จะต้องโทรศัพท์ไปยังศูนย์รับฝากข้อความ หรือ Call Center ของแต่ละค่ายผู้ให้บริการ ซึ่งให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง โดยหมายเลขของศูนย์รับฝากข้อความก็จะแตกต่างกันไป 

    เมื่อเจ้าหน้าที่ของศูนย์รับฝากข้อความ รับสายของผู้ฝากข้อความแล้ว ผู้ส่งข้อความก็จะต้องบอกหมายเลขของเพจเจอร์ ที่ได้รับจากเจ้าของเครื่อง จากนั้นก็จะพูดข้อความ หรือประโยคที่ต้องการให้กับเจ้าหน้าที่รับฝากข้อความ เพื่อพิมพ์ข้อความดังกล่าวอีกครา.. 

    และหลังจากบอกข้อความที่ต้องการไปแล้ว ก็คือการบอกชื่อของผู้ส่งข้อความ ซึ่งตรงส่วนนี้ก็นับได้ว่ามีความสำคัญเช่นกัน เพราะผู้รับข้อความผ่านเครื่องเพจเจอร์นั้น จะไม่สามารถรับรู้เบอร์โทรศัพท์ของผู้ส่งข้อความได้ เหมือนอย่างเช่นการส่งข้อความผ่านโทรศัพท์มือถือในปัจจุบัน 

    เพราะฉะนั้นแล้ว การบอกเพียงชื่อของผู้ส่งข้อความอาจยังไม่เพียงพอ ยังต้องเพิ่มองค์ประกอบอื่นที่แสดงตัวตนของผู้ส่งสารเติมเสริมเข้าไปด้วยอีก เช่น ชื่อบริษัท, ชื่อโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัย จะเป็นอักษรย่อก็ย่อมได้ อาจพ่วงชั้นเรียนเข้าไปด้วยอีกยิ่งดี หรืออาจพ่วงตามด้วยอาชีพ หลังชื่อของผู้ส่งข้อความก็มิผิดแต่ประการใด ยกตัวอย่างเช่น "หมี ขายหวย" หรือ "ปวย ขายโค้ก" เป็นต้น

    การส่งข้อความไปยังเครื่องเพจเจอร์ของผู้รับนั้น อาจถือได้ว่าเป็นทั้งศาสตร์ และศิลป์ประเภทหนึ่งเกี่ยวกับการใช้ภาษาก็ว่าได้ เพราะผู้ที่จะส่งข้อความ หรือส่งสารนั้น จะต้องคิดคำ หรือประโยคที่คิดว่า เมื่อผู้อ่านได้รับข้อความ หรือสารดังกล่าวแล้วนั้น จะเข้าใจในความหมาย..

    ในบางครั้งบางครา ผู้อ่านข้อความจากเครื่องเพจเจอร์ของตนเองนั้น อาจได้รับข้อความที่ไม่ตรงกับคำพูดทุกคำที่ผู้ส่งสารต้องการจะส่งให้ เพราะอาจจะถูกตัดทอน หรือแก้ไขคำที่ไม่สุภาพบางคำ จากเจ้าหน้าที่ผู้พิมพ์ข้อความดังกล่าว รวมไปถึงข้อความที่ยาว และเยิ่นเย้อจนเกินไป ก็อาจจะถูกปรับให้สั้น และกระชับลงมา.. 

    การคิดคำพูด และประโยคต่างๆ ที่ส่งให้กับผู้รับนั้นจึงถือเป็นเสน่ห์ประการหนึ่ง...

    ..."รักคนอ่านข้อความนี้"

    ..."ส่งมาให้คนน่ารัก นอนหลับฝันดี ราตรีสวัสดิ์"

    และในหลายๆ ประโยคข้อความที่ใช้ส่งถึงกัน ก็อาจจะสร้างความเข้าใจกันเฉพาะกลุ่ม ประดุจดังรหัสลับศูนย์ศูนย์เจ็ด..

    "ถ้ามา ไม่ต้องมา.. ถ้าไม่มา ให้รีบมา.."

    ช่วงเวลาการใช้งานของเพจเจอร์เริ่มสร่างซาลงเพียงไม่กี่ปี เจ้าหน้าที่รับฝากข้อความเริ่มตกงาน เพราะการปิดตัวลงของผู้ให้บริการเพจเจอร์บางราย.. ผนวกกับการรุกคืบของค่ายโทรศัพท์มือถือที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ โทรศัพท์มือถือเริ่มมีราคาที่ถูกลง และสามารถจะเติมเงินใช้งานได้อีกด้วย

    และจวบจนในที่สุด ผู้ให้บริการเพจเจอร์ก็ต้องปิดตัวเองลงไป..

    และฉันยังคงไม่เคยลืมเธอ.. เพจเจอร์..

    จาก: https://arndd.blogspot.com/2018/07/blog-post_6.html

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in