เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
การวิจารณ์เป็นมิตรกับคนทั่วไปอ่าน-คิด-เขียน
สีชมพู.. ยังไม่วาง
  • สีชมพูยังไม่จาง เขียนโดย อาจินต์ ปัญจพรรค์ จากหนังสือ เหมืองแร่ฉบับสมบูรณ์ (เล่ม1) ตีพิมพ์เมื่อปีพ.ศ. 2536 และตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฉบับปี พ.ศ. 2492 จากส่วนหนึ่งของต้นฉบับที่อาจินต์เขียนถึงประวัติตนเองที่ยังไม่เคยตีพิมพ์ในที่ใด ได้รับการเผยแพร่ผ่านเพจ The People ทางเฟซบุ๊กความว่า

    “…ผมคับแค้นใจในงานกุลีตีเหล็กค่าแรงวันละ 6 บาทจึงเขียนเรื่อง “สีชมพูยังไม่จาง” ใช้ชื่อจริง นามสกุลจริง (อาจินต์ ปัญจพรรค์) ส่งมาลงหนังสือประจำปี 2492 ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งคุณธวัชชัย ไชยชนะ เป็นสาราณียกร ผมรู้ภายหลังว่าเรื่องนี้ ทำให้นิสิตขยันเรียนเพราะกลัวจะถูกรีไทร์ไปตกระกำลำบากอย่างผม คือ คุณวาทิน ปิ่นเฉลียว ( ต่วย) สถ.บ.จุฬาฯ อายุอ่อนกว่าผม 5 ปี เป็นผู้เล่าผลดีของเรื่องนี้ให้ผมฟังในอีกหลายปีต่อมา ขณะที่ผมได้งานทำที่ไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม พระนคร คุณต่วย เล่าว่าเมื่อนิสิตจุฬา ฯ ได้อ่านเรื่อง “สีชมพูยังไม่จาง” แล้วพากันเอาใจใส่ในการเรียน…”

    ที่มา: หนังสือภาพและประวัติเจ้าหน้าที่ ไทยทีวีช่อง 4 และ ททท.

    เมื่อฉันอ่านจบแล้วก็เต็มไปด้วยคำถามมากมายถึงตัว “ผม” และ “สีชมพู” แม้ว่าจากเนื้อความข้างต้นที่ตัดมาจากประวัติของอาจินต์และจากฉากที่ตัวละครเอกลงชื่อในบัญชีคนงานว่า “Achin Panjapan” (หน้า 161) จะทำให้เราทราบได้ว่าตัวละครเอกในเรื่องนี้คืออาจินต์ ปัญจพรรค์ กระนั้นเลยฉันก็ไม่ขอวิจารณ์ “ผม” ในฐานะของอาจินต์ แต่จะขอวิจารณ์ "ผม" ในฐานะตัวละครเอกก็แล้วกัน ฉันไม่อาจทราบได้ว่า สีชมพูยังไม่จาง”  เขียนจากมุมมองที่อาจินต์มีต่อสีชมพูจริงๆ หรือไม่ แต่ที่แน่ๆ การอ่านเรื่องสั้นเรื่องนี้ทำให้ทราบได้ว่า “ตัวละครเอก” และเพื่อนพี่น้องของเขารู้สึกเช่นไรต่อสีชมพู

    แน่นอนว่าสีชมพูในที่นี้เป็นสัญลักษณ์แทน “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เพราะเป็นสีประจำมหาวิทยาลัยที่มีประวัติการก่อตั้งมาอย่างยาวนานและทรงเกียรติอย่างสูงในสายตาของใครหลายคน เป็นมหาวิทยาลัยของตัวละครเอก เพื่อนร่วมคณะ เพื่อนร่วมมหาวิทยาลัย และเพื่อนร่วมงาน ในเรื่องสั้น “ผม” เป็นนิสิตที่ถูกรีไทร์หลังจากเรียนซ้ำชั้นปี 2 อยู่ 2 ปี  กระนั้นเลย ก็ยังมีศักดิ์เป็นสีชมพูอยู่จากใบรับรองที่มีตราพระเกี้ยวติดหราอยู่บนหัวกระดาษ  ความเป็นสีชมพูไม่ต่างอะไรกับมนต์มหาเมตตาที่แสนศักดิ์สิทธิ์ เมื่อไปถึงบ้านใครที่เป็นสีชมพูเช่นกัน คนผู้นั้นก็เชื้อเชิญและให้การต้อนรับเขาอย่างดี หยิบยื่นมิตรไมตรี ให้ที่พักอาศัย ให้ความช่วยเหลือในหน้าที่การงาน จนเขารู้สึกอิ่มเอิบในน้ำใจน้องพี่สีชมพูที่แผ่ซ่านไปทั่วทุกพื้นที่

    เมื่อ "ผม" ได้งานที่บริษัทขุดแร่ดีบุกในตำแหน่งคนงานหรือกุลี ตำแหน่งที่ต่ำที่สุดในบริษัท ต้องทำงานเช่นเดียวกับคนที่ไม่มีใบปริญญา ปัญหาก็เกิดขึ้นเพราะบรรดาเพื่อนๆ และรุ่นพี่ที่ร่วมงานเกิดทนไม่ได้ที่ชาวรั้วชมพูจะไปทำงานต่ำต้อยเช่นนั้น  เกิดความเห็นแตกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าควรลาออกเพื่อรักษาเกียรติภูมิจุฬาฯ  อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าควรสู้ต่อและทุกคนควรสนับสนุนให้เขาต่อสู้ต่อไป  ลองนึกว่าหาก "ผม" ไม่ได้เป็นนิสิตจุฬาฯ คงไม่มีใครมานั่งเถียงกันหน้าดำคร่ำเครียดเรื่องหน้าที่การงานของเขาเป็นแน่  น่าสังเกตว่าตัว “ผม” ไม่มีสิทธิ์เด็ดขาดในตัวเองเรื่องตัดสินใจทำงานต่อหรือลาออกเลย คนอื่นๆ ล้วนถือสิทธิ์ร่วมตัดสินชีวิตของ “ผม” เพราะถือว่าตนมีตำแหน่งสูงกว่าและอ้างเกียรติภูมิจุฬาฯ ทั้งนั้น  เนื่องจากกังวลใจว่า เกียรติภูมิจุฬาฯ จะถูกทำลายลง ดังคำกล่าวที่ว่า “เกียรติของจุฬาฯ สูง และไม่ควรมีใครทำลายลงเสีย”  (หน้า 163)  เห็นได้ชัดว่าผู้พูดจงใจให้ “ใคร” ซึ่งในที่นี้หมายถึงตัว “ผม” ตระหนักรู้ตัวว่าไม่ควรเป็นผู้ทำลายเกียรตินั้น  ฉะนั้น “ผม” เลยต้องพิสูจน์ตัวเองเพื่อยืนยันว่าตนว่าไม่ได้ทำลายเกียรติของจุฬาฯ  "ผม" ตัวละครเอกจึงจำต้องตั้งหน้าตั้งตาทำงานอย่างหนักจนมีความเชี่ยวชาญในการงานมากขึ้น ในท้ายสุด เขาก็ได้รับข่าวดีจากนายตรวจเหมืองว่าผู้จัดภาคต้องการให้เขาเรียนรู้งานทุกแผนก และเมื่อเขามีความสามารถพอ เขาก็จะได้เลื่อนขั้นเป็นคนคุมเรือขุดต่อไป

    หากฉันจะสรุปตอนจบบทวิจารณ์นี้ว่าท้ายสุดแล้วสีชมพูไม่ได้จางเพราะเหงื่อ แต่จางด้วยก็น้ำลายก็ใช่ที เพราะผู้เขียนได้สรุปไว้เรียบร้อยแล้วในเรื่องสั้น หน้าที่ของฉันจึงเป็นการคิดๆ เขี่ยๆ ต่อไปอีกว่าแนวคิดทั้งสองที่ปรากฏในเรื่องตั้งอยู่บนพื้นฐานความเชื่ออะไร จะเห็นว่าทั้งฝ่ายที่สนับสนุนแนวคิดสีชมพูย่อมจางด้วยเหงื่อและ “ผม” ที่มีแนวคิดว่าสีชมพูไม่ได้จางด้วยเหงื่อ แต่จางด้วยน้ำลาย ล้วนตั้งอยู่บนพื้นฐานของความคิดอย่างเดียวกัน นั่นคือทัศนคติที่มีต่อสีชมพูว่าสูงส่งและความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสีชมพูนี้

    ความรู้สึกของมนุษย์ที่เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มสังคมกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง สามารถอธิบายได้โดยใช้ความต้องการลำดับที่สามจากทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมนุษย์ 8 ประการ ก่อนที่จะลงรายละเอียดไปมากกว่านี้ ฉันขออธิบายทฤษฎีทั้งหมดเพื่อให้เห็นภาพรวมอย่างชัดเจน ดังนี้

    ทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการ (Hierarchy of needs) ที่อับราฮัม ฮาโรลด์ มาสโลว์ (Abraham Harold Maslow) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัยแบรนดิส ได้เสนอครั้งแรกในรายงานเรื่อง A Theory of Human Motivation กล่าวว่า มนุษย์มีลำดับขั้นความต้องการอยู่ 5 ลำดับ  เมื่อเวลาผ่านไปมาสโลว์ก็ได้เพิ่มลำดับความต้องการเป็น 8 ขั้น ดังจะอธิบายตามลำดับขั้นได้ดังนี้ 

    • ขั้นที่ 1 ความต้องการทางกายภาพ (Physiological Need) เป็นความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่มีต่อปัจจัยสี่ คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค 

    • ขั้นที่ 2 ความต้องการความมั่นคงปลอดภัย (Safety and security Needs) มนุษย์ต้องการความมั่นคงปลอดภัยในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการงาน สุขภาพ ชีวิต และทรัพย์สิน เช่น การมีรายได้ที่มั่นคง การเก็บเงินไว้ใช้ยามเกษียณอายุ 

    • ขั้นที่ 3 ความต้องการความรักและการเป็นส่วนหนึ่ง (Love and belonging Needs) เป็นความต้องการด้านความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัว คู่รัก เพื่อนฝูง กลุ่มคน 

    • ขั้นที่ 4 ความต้องการการยอมรับ (Esteem Need) 

    • ขั้นที่ 5 ความต้องการความรู้ (Cognitive Need) 

    • ขั้นที่ 6 ความต้องการความงดงาม (Aesthetic Need)  เมื่อเรามองเห็นความงามจากสิ่งต่างๆรอบตัวก็นำไปสู่ความต้องการความงดงามนั้น 

    • ขั้นที่ 7 ความต้องการค้นพบอัตลักษณ์แห่งตน (Self-Actualization Need) เป็นการตั้งคำถามถึงตัวเอง เราเป็นใคร เกิดมาทำไม มีความสามารถอะไร ทำอะไรเพื่อโลกนี้ได้บ้าง 

    • ขั้นที่ 8 ความต้องการอยู่เหนือสามัญสำนึก (Transcendence Need) ต้องการเข้าใจสิ่งทั่วไปได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้นและเหนือสามัญสำนึกของมนุษย์ธรรมดา หรือต้องการให้ผู้อื่นเข้าถึงการค้นพบอัตลักษณ์แห่งตนด้วย



    ที่มา: https://droidinterface.com/images/maslow_pyramid_8L.png


    ความต้องการในลำดับขั้นต่างๆ ล้วนเกี่ยวพันและส่งผลกระทบต่อกัน ดังเช่นเรื่องราวของตัวละครเอก จะเห็นว่า "ผม" ตรากตรำทำงานในตำแหน่งล่างสุดเพื่อให้ได้เรียนรู้งานในเชิงปฏิบัติและทฤษฎี เป็นความต้องการลำดับที่ 5 ความต้องการความรู้ (Cognitive Need) เมื่อเขารู้ว่าหากตนใฝ่รู้และพัฒนาตัวเองให้มากขึ้นจะสามารถเลื่อนขั้นได้อีก เขาก็ต้องการเลื่อนขั้นเพื่อให้คนรอบข้างยอมรับความสามารถของตน ย้อนกลับมาสู่ความต้องการลำดับที่ 4 ความต้องการการยอมรับ (Esteem Need) และความต้องการการยอมรับนี้เองสืบเนื่องมาจากความรู้สึกอยากเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ฉันจะอธิบายต่อโดยเจาะรายละเอียดลงในความต้องการลำดับที่ 3 นั่นคือความต้องการความรักและการเป็นส่วนหนึ่ง (Love and belonging Needs) มนุษย์ย่อมต้องการเป็นส่วนหนึ่งของอะไรสักอย่าง อาจจะเป็นครอบครัว สถานที่ทำงาน โรงเรียน คณะ หรือมหาวิทยาลัย นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมสถาบันต่างๆจึงต้องมีเพลง สี และสัญลักษณ์ประจำสถาบัน เพราะความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งนี้มาจากความรู้สึกร่วมในสิ่งสิ่งเดียวกันนั่นเอง สมดังที่ตัวละครเอกกล่าวว่า เพราะเราถูกฉาบด้วยการศึกษามาเพียงคนละครึ่งตัว แต่กระนั้นเราก็ยังถูกฉาบด้วยสีชมพูทุกขุมขนเช่นเดียวกับทุกๆ เด็กหนุ่มหรือเด็กสาวที่ก้าวล่วงเข้าไปในประตูจุฬาฯ มาแล้ว” (หน้า159)

    จากความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์ทำให้เข้าใจได้ไม่ยากว่า  ความเป็นจุฬาฯ ทำให้ "ผม" ได้รับการต้อนรับอย่างดีจากเพื่อนร่วมคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่ทำงานบริษัทเดียวกันในตำแหน่ง Chief foreman และได้รับการเชื้อเชิญให้พักอาศัยอยู่ที่บ้านของเพื่อนคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีที่เป็นเสมียน ความเป็นจุฬาฯ นี้เองก็ทำให้ชาวสีชมพูอีก 4 คนที่ทำงานในบริษัทขุดเหมืองแร่จำต้องประชุมกันเพื่อตัดสินใจว่า ตัวละครเอกควรลาออกจากงานหรือไม่  ทั้งที่จริงแล้วก็ใช่เรื่องที่บุคคลอื่นจะมานั่งขบคิดกันเรื่องอนาคตของใครคนใดคนหนึ่ง  หากไม่ได้นับเขาว่าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มด้วย  

    ฉันจะขอเล่านิทานเพื่อเปรียบเทียบให้เห็นภาพให้ชัดเจนขึ้น มีกลุ่มลูกเป็ด 5 ตัว กลุ่มลูกเป็ดนี้ได้รับการขนานนามว่าเป็นกลุ่มลูกเป็ดผู้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยที่สุดในหนองน้ำ แต่เกิดปัญหาขึ้นเมื่อลูกเป็ดตัวหนึ่งไม่สามารถเดินเรียงแถวเหมือนอย่างเพื่อนๆ ได้ ลูกเป็ด 4 ตัวที่เหลือจึงต้องปรึกษากันเพื่อแก้ปัญหา เหตุที่ลูกเป็ดที่เหลือต้องแก้ปัญหาเรื่องลูกเป็ดตัวแรกก็เพราะ ประการแรก ลูกเป็ดมองว่าการเดินแตกแถวไม่เป็นเรื่องที่ดี ประการที่สอง หากมีใครสักคนแตกแถว กลุ่มลูกเป็ดก็คงไม่ได้ชื่อว่าเป็นลูกเป็ดที่มีความเป็นระเบียบที่สุดในหนองน้ำ จึงต้องรักษาความเป็นลูกเป็ดที่มีระเบียบที่สุดเอาไว้ ประการที่สาม ลูกเป็ดต่างยึดโยงสิ่งสมมตินี้กับตัวลูกเป็ดเอง คือการรู้สึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มลูกเป็ดผู้มีระเบียบเรียบร้อย ประการสุดท้าย ลูกเป็ดมองว่าสิ่งสมมติที่เรียกว่ากลุ่มลูกเป็ดผู้มีระเบียบเรียบร้อยนี้เป็นสิ่งที่มีเกียรติ และท้ายสุด ลูกเป็ดตัวแรกก็อยากแก้ปัญหาของตนเพราะอยากรักษาเกียรติของกลุ่มลูกเป็ดผู้มีระเบียบเรียบร้อยเอาไว้ 

    ทั้งหมดนี้คืออุปมาของตัวละครทั้ง 5 ตัวในเรื่องสั้น เมื่อตัวละครทั้ง 5 เกิดความรู้สึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอันทรงเกียรติ ความเป็นจุฬาฯ นั้นยึดโยงไว้กับความเป็นตัวพวกเขา จึงเป็นหน้าที่ที่จะรักษาความเป็นจุฬาฯไว้มิให้ด่างพร้อย ด้วยเพราะมองว่า “ผม” เป็นจุฬาฯ จึงเป็นภาระหน้าที่ที่ต้องหาทางแก้ปัญหาให้ “ผม” ด้วย เพื่อที่ความเป็นจุฬาฯ จะได้ไม่เสื่อมเสียไป แต่ความเชื่อที่มีพื้นฐานอยู่บนความคิดอย่างเดียวกันนั้นก็ได้แตกออกเป็น 2 ฝั่ง เพราะต่างฝ่ายต่างมองสิ่งที่ทำให้จุฬาฯ ด่างพร้อยไม่ใช่สิ่งเดียวกัน ฝ่ายตัว “ผม” เพื่อนร่วมคณะวิศวกรรมศาสตร์ผู้อยูในตำแหน่ง Chief foreman และเพื่อนคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีผู้อยู่ในตำแหน่งเสมียน มองว่าควรสู้กับงานที่ลำบากยากเข็ญต่อไป เพราะ "เกียรติของจุฬาฯ อยู่ที่การแสดงออกมาให้ได้ไม่ว่าจะอยู่ในงานต่ำหรือสูง”  (หน้า163) ฝ่ายรุ่นพี่คณะวิศวกรรมศาสตร์ผู้อยู่ในตำแหน่ง Chief foreman เช่นเดียวกับเพื่อนของตัวละครเอก และรุ่นพี่เดียวกันผู้อยู่ในตำแหน่งนายตรวจเหมือง มองว่าควรลาออก เพราะ คนที่มาจากจุฬาฯ จะได้รับเงินเดือนต่ำๆ และมีงานต่ำๆ อย่างนี้ไม่ได้” (หน้า163) ฉะนั้นตัวละครเอกจึงต้องพิสูจน์ตัวเองเพื่อให้เห็นว่าตนไม่ใช่ผู้ที่ทำลายเกียรติของสถาบัน ซึ่งการกระทำนี้ก็เป็นการกระทำที่มีแรงผลักดันมาจากความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของจุฬาฯ และความเป็นจุฬานั้นสูงส่งด้วยเช่นเดียวกัน



    "เกียรติของจุฬาฯ อยู่ที่การแสดงออกมาให้ได้ไม่ว่าจะอยู่ในงานต่ำหรือสูง”  
    คนที่มาจากจุฬาฯ จะได้รับเงินเดือนต่ำๆ และมีงานต่ำๆ อย่างนี้ไม่ได้”



    มาถึงตรงนี้ คงเห็นแล้วใช่ไหมว่าทั้งสองฝ่ายต่างไม่ได้ “วาง” ความเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยลงเลย หากคนทั้ง 5 วางความเป็นสีชมพูลงสักนิดก็คงไม่ต้องมาประชุมกันว่าตัวละครเอกควรทำงานตำแหน่งนี้ต่อหรือควรลาออกไปเสียเพื่อรักษาเกียรติภูมิสีชมพูเอาไว้  หากรุ่นพี่ทั้งสองวางความเป็นสีชมพูลงสักนิด จะไม่ตัดสินให้ตัวละครเอกต้องลาออกจากงาน จะไม่บอกว่าคนที่เรียนจุฬาฯ ไม่สมควรทำงานต่ำๆ  จริงอยู่ที่งานกุลีเป็นงานที่ลำดับขั้นต่ำที่สุด ได้เงินเดือนน้อยที่สุดในบริษัทขุดแร่  แต่งานทุกงานก็มีเกียรติมิใช่หรือ ภายใต้บริษัทขุดแร่นี้ ทุกหน่วยงาน ทุกตำแหน่ง ล้วนแล้วแต่มีส่วนให้บริษัทคงอยู่ต่อไปได้ หากปราศจากตำแหน่งกุลี ใครจะรับหน้าที่ตัดเหล็กเล่า และหากตัว “ผม” วางความเป็นสีชมพูลงสักนิด เขาคงไม่มองว่าใบรับรองการเข้าศึกษาในคณะวิศวกรรมศาสตร์ชั้นปีที่ 2 ว่าเป็นสมบัติที่มีค่าที่สุดในบรรดาสมบัติที่ไม่มีค่าเลย คงไม่มองว่านิสิตทุกคนถูกฉาบด้วยสีชมพูทุกขุมขน คงไม่เปรยว่าแม้จุฬาฯ จะไม่มีเขาในบัญชีมหาวิทยาลัย แต่เขาก็ยังสวามิภักดิ์ต่อจุฬา คงไม่พยายามพิสูจน์ตัวเองว่าไม่ได้เป็นผู้ทำลายเกียรติของจุฬาฯ การที่เขายึดโยงตัวเองไว้กับความเป็นจุฬาฯ อยู่เช่นนี้ ทำให้สิ่งมีค่าเดียวในชีวิตของเขาคือการได้เรียนที่จุฬาฯ  

    หากฉันลองสมมติ ให้ย้อนเวลากลับไปได้แล้วเขาสอบเข้าจุฬาฯ ไม่ติด เขาจะเหลือความภาคภูมิใจอะไรในตัวเองอีก...?

    หากเขาวางความเป็นจุฬาฯ ลงสักหน่อย เขาจะได้มองเห็นคุณค่าในตัวเองว่าเกิดจากตัวเขาเองจริงๆ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอะไรภายนอกเลย เขาจะทำงานอย่างเต็มความสามารถเพราะงานทุกประเภทมีเกียรติ มิใช่ทำงานเพราะรักษาเกียรติความเป็นจุฬาฯ ของตัวเอง หรือมิได้ขยันทำงานเพราะต้องการพิสูจน์ว่าตนไม่ได้เป็นผู้ทำลายเกียรติของจุฬาฯ เขาจะมองจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าเป็นสถาบันการศึกษาที่ดีและมีคุณภาพ ที่ซึ่งทำให้เขาได้พัฒนาตัวเองและเปิดมุมมองให้กว้างไกลมากที่สุดเท่าที่เวลาในรั้วสีชมพูจะอำนวยให้ได้  เขาจะเห็นศาสตร์ที่ได้ร่ำเรียนจากคณะในมหาวิทยาลัยสีชมพูว่าสำคัญกว่าความเป็นสีชมพูเป็นไหนๆ จะไปไต่สวนถึงเกียรติภูมิสีชมพูให้ได้อะไร ในเมื่อเราก็อุปโลกน์กันขึ้นมาทั้งนั้น เขาอาจเกิดความต้องการค้นพบอัตลักษณ์แห่งตนที่เป็นความต้องการลำดับที่ 7 ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น เขาอาจจะตั้งคำถามในความเป็นตัวเอง รู้จักตัวเองได้ถ่องแท้มากขึ้น เห็นคุณค่าความเป็นตัวเองที่ไม่ใช่มีคุณค่าแค่เพราะเป็นนิสิตจุฬาฯ หากทุกคนที่เป็นสีชมพูวางความเป็นสีชมพูลงสักนิด เราจะไม่มัวมาเถียงกันว่าอะไรทำลายเกียรติของจุฬาฯ ลง คำว่า "จุฬาฯ" ในประโยค เกียรติของจุฬาฯ ไม่ได้อยู่ที่การไม่ยอมทำงานต่ำและได้ค่าแรงต่ำ ผมคิดว่าเกียรติของจุฬาฯ อยู่ที่การแสดงออกมาให้ได้ไม่ว่าจะอยู่ในงานต่ำหรือสูง” (หน้า163) ก็จะถูกแทนที่ด้วยคำว่า “คน” 

    เราทุกคนจะเห็นอะไรได้ไกลกว่าที่เคยเห็น และย้อนกลับมามองตัวเองได้ลึกกว่าที่เคยมอง

    ฉันล่ะสงสัยเหลือเกินว่าสีชมพูยังไม่จางเพราะอะไร

    ไม่จางเพราะน้ำลาย

    ไม่จางเพราะเหงื่อ

    หรือไม่จางเพราะสีชมพูฝังแน่นอยู่ทุกรูขุมขนกันแน่




    ที่มา: https://unsplash.com/s/photos/pink


    หากเขาวางความเป็นจุฬาฯ ลงสักหน่อย เขาจะได้มองเห็นคุณค่าในตัวเอง

    ว่าเกิดจากตัวเขาเองจริงๆ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอะไรภายนอกเลย   

    เขาจะทำงานอย่างเต็มความสามารถ เพราะงานทุกประเภทมีเกียรติ                     

    มิใช่ทำงานเพราะรักษาเกียรติความเป็นจุฬาฯ ของตัวเอง                                     

    หรือมิได้ขยันทำงานเพราะต้องการพิสูจน์ว่า                                                             

    ตนไม่ได้เป็นผู้ทำลายเกียรติของจุฬาฯ





    © สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับเพิ่มเติม) พ.ศ. 2558 
    ผู้เขียน: พราว พริมา นิสิตเอกภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

    บทวิจารณ์นี้เป็นผลงานจากรายวิชา “วรรรกรรมวิจารณ์” ปีการศึกษา 2563 เผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางวิชาการเท่านั้น  ไม่อนุญาตให้ทำซ้ำหรือดัดแปลง

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in