เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
การวิจารณ์เป็นมิตรกับคนทั่วไปอ่าน-คิด-เขียน
ส่งผ่านสีชมพู : บทวิจารณ์เรื่องสั้น “The Selected Color หญิงสาวกับปีศาจผมชมพู”
  •           


    ขอบคุณที่มารูปภาพ: https://twitter.com/ReaderyHQ/status/1171770632402456576

            “The Selected Color หญิงสาวกับปีศาจผมชมพู” เป็นผลงานเรื่องสั้นในหนังสือเรื่อง THE MONSTER PIECE: ไม่มีใครครบ ของฉัตรรวี เสนธนิสศักดิ์  เรื่องสั้นเรื่องนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับเด็กสาวที่รังเกียจสีชมพูเป็นอย่างมาก เนื่องมาจากการที่เธอต้องเผชิญเหตุการณ์ความรุนแรงในอดีต เธอขังเดี่ยวตัวเองไว้ในห้อง เฝ้ารอคอยวันที่ต้นตาเบบูญ่าจะผลัดดอกสีชมพูให้ร่วงจนหมดเมื่อสิ้นฤดูหนาว แต่แล้วปีศาจตนหนึ่งที่มีผมสีชมพูก็ปรากฏกายขึ้น คอยตามหลอกหลอนเธอไม่ห่าง เธอหวาดกลัวอย่างมาก แต่ก็ต้องพยายามหาวิธีที่จะอยู่ร่วมกับมันให้ได้

              จุดเด่นของเรื่องสั้นเรื่องนี้คือองค์ประกอบภายในเรื่องที่เหนือจริง เปี่ยมด้วยจินตนาการและสัญลักษณ์แฝงอีกมากมาย โดยเฉพาะการที่ "ปีศาจ" ปรากฏตัวขึ้น และเป็นต้นตอความขัดแย้งที่ขับเคลื่อนให้เรื่องดำเนินต่อพร้อมพร้อมๆ กับความหวาดกลัวและโกรธเคืองของหญิงสาวที่ต้องการกำจัดมันออกไปให้พ้น ปีศาจจึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ผู้วิจารณ์ตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ว่าปีศาจตนนั้นอาจเป็นภาพแทนของสิ่งใดได้บ้าง นำมาสู่การพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างหญิงสาวกับบุคคลรอบตัวและเหตุการณ์ต่างๆ ที่ดำเนินไปอย่างเชื่อมโยงต่อเนื่องกัน

                เริ่มแรกที่เจอกับปีศาจ หญิงสาวต้องใช้ชีวิตร่วมกับมันด้วยความจนใจ ไม่มีหนทางต่อต้านเพราะเธอไม่สามารถสัมผัสหรือทำอันตรายใดๆ แก่ตัวปีศาจได้เลย มีแต่ฝ่ายปีศาจที่ไล่ต้อนเธอจนจนมุม นี่จึงเป็นเหตุการณ์ที่แสดงถึงการใช้ชีวิตซึ่งดำเนินอยู่ภายใต้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างสองฝ่ายอย่างชัดเจน ในที่นี้ จะขอแบ่งเป็น "ผู้ที่มีอำนาจควบคุม" และ "ผู้อยู่ใต้การควบคุม" โดยคู่ความสัมพันธ์ลักษณะนี้เปรียบได้กับการชิงชัยในเกมแพ้-ชนะที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อผลักฝ่ายตรงข้ามให้ตกเป็นเบี้ยล่าง

              ในตัวบท ยังสร้างให้หญิงสาวเป็นตัวละครที่มักจะระเบิดอารมณ์ออกมาได้ง่ายเมื่อพบกับสีชมพูที่เธอเกลียดชังจนฝังใจ ไม่ว่าจะจัดการกับปัญหาด้วยความรุนแรง ฟาดปีศาจด้วยเก้าอี้หรือปัดแก้วน้ำที่ปีศาจส่งให้ด้วยไมตรีทิ้ง จนดูเหมือนเธอเป็นฝ่ายผิดเสียเอง  การแสดงออกเช่นนั้นมีที่มาจากการถูกกระตุ้นความทรงจำในฐานะเหยื่อที่ถูกกดขี่ข่มเหงมาอย่างยาวนาน เหตุการณ์ ณ เวลาปัจจุบันในเรื่องยังคงมีระดับความรุนแรงเช่นเดียวกับเมื่อสองร้อยปีก่อน เพียงแต่ลดขนาดของพื้นที่ลงและเปลี่ยนลักษณะการปรากฏตัวตนของผู้กระทำ จากความรุนแรงทางตรงในสังคมวงกว้าง มีการเสียเลือดเสียเนื้อ และใช้อำนาจผ่านการทำร้ายร่างกายโดยตรง แปรเปลี่ยนเป็นความรุนแรงจากกลุ่มคนในวงชิดใกล้ในรูปแบบการกลั่นแกล้ง (bullying) ที่รับรู้ตัวตนผู้กระทำได้ชัดเจน และดำเนินต่อไปในรูปของการกลั่นแกล้งผ่านสื่อสังคมออนไลน์อย่างไม่เปิดเผยตัวตน ซึ่งหญิงสาวไม่สามารถส่งเสียงร้องขอความช่วยเหลือหรือยืนหยัดต่อต้านอำนาจเหล่านั้นได้สำเร็จสักครั้งเลย

              กล่าวได้ว่า การกลั่นแกล้งถือเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของความสัมพันธ์เชิงอำนาจ แน่นอนว่าสิ่งนี้ย่อมเกิดจากผู้ที่มีอำนาจมากกว่า สามารถควบคุมอีกฝ่ายได้ และตั้งใจใช้ความรุนแรงต่อผู้ที่อ่อนแอกว่า การทำให้ผู้อื่นได้รับความทุกข์ความเจ็บปวด ยิ่งเป็นการเสริมให้ผู้กระทำยิ่งรู้สึกมีอำนาจมากขึ้นและมักเป็นเกิดขึ้นซ้ำๆ อย่างต่อเนื่องและกินระยะเวลานาน  ผู้กลั่นแกล้งส่วนใหญ่มักรวมกลุ่มกันมุ่งเป้ากลั่นแกล้งคนเพียงคนเดียว โดยคนผู้นั้นแทบไม่มีโอกาสตอบโต้กลับได้ อาจด้วยเงื่อนไขบางอย่างที่บีบบังคับหรืออำนาจที่มีไม่มากพอ

               การกลั่นแกล้งสามารถเกิดได้ทั้งทางร่างกาย อย่างการทำร้ายร่างกายทางคำพูด หรือทางสังคม เช่น ไม่ให้เข้ากลุ่ม กดดันให้ออกจากกลุ่ม แปะป้ายระบุตัวตนให้อีกฝ่ายว่าแปลกแยก และยังรวมไปถึงการกลั่นแกล้งผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งนี้ ผู้ที่ตกเป็นเป้าหมายส่วนมากมักจะเป็นผู้ที่คนกลุ่มใหญ่มองว่ามีข้อบกพร่อง มีจุดอ่อน ที่สามารถดึงดูดให้ตกเป็นเบี้ยล่างได้ง่าย ทั้งร่างกายพิการ ตัวเล็กกว่า นิสัยเรียบร้อยไม่สู้คน เก็บตัว มีรสนิยมที่ไม่เหมือนผู้อื่นหรือมีความคิดความเชื่อที่แตกต่างออกไป

              ความรุนแรงแรกที่เป็นตัวจุดชนวนความเกลียดชังของหญิงสาวเริ่มต้นจากอดีตชาติเมื่อสองร้อยปีก่อน ในหมู่บ้านเล็กๆ อันสงบสุขที่เธออาศัยอยู่ ชาวบ้านที่นั่นเชื่อกันว่ากลุ่มคนที่ใช้สีชมพูเป็นสัญลักษณ์ประจำกลุ่มเพื่อแทนความหวังและอิสรภาพซึ่งเรียกตนเองว่า ‘นักเดินทาง’ นั้นเป็นลัทธินอกรีตที่เดินทางออกจากหมู่บ้านเพราะปฏิเสธความสุขจากการใช้ชีวิตตามอัตภาพ ซึ่งเป็นวิถีที่หมู่บ้านเฝ้ารักษามายาวนาน  กลุ่มนักเดินทางนิยามวีถีแห่งหมู่บ้านว่า เป็นการอยู่ในกะลา พวกเขาเรียกความยึดมั่นในรากเหง้าดั้งเดิมว่าเป็นความดักดาน  สำหรับพวกเขา การเดินทางคือเสรีภาพ  เขานิยามตนว่าเป็นผู้บูชาความถูกต้องและความเสมอภาค  ชาวบ้านกลุ่มดั้งเดิมในหมู่บ้านรู้สึกหวาดเกรงจนถึงขั้นทำลายทุกสิ่งที่มีสีชมพู ไม่ว่าจะต้นตาเบบูญ่าตามราวป่า หรือแม้แต่สิ่งของทุกๆ ชิ้น เพราะเชื่อว่าถ้าหากผู้ใดไม่ยอมรับฟังอุดมการณ์ของกลุ่มนักเดินทางแล้ว จะถูกจับไปทรมาน  ในท้ายที่สุด ก็เกิดเหตุปะทะกันของคนสองกลุ่ม ชนวนของการปะทะรุนแรงเกิดขึ้นเมื่อชาวบ้านคนหนึ่งพลั้งมือสับขวานคมกริบลงยังหัวของนักเดินทางคนหนึ่งที่ยื้อยุดมือของแม่เพื่อให้มาเข้ากลุ่ม เหตุการณ์ทวีความรุนแรงขึ้นจนกลายเป็นสมรภูมิขนาดย่อม ทั้งสองฝ่ายต่างลงมือเข่นฆ่าฝ่ายตรงข้ามแม้กระทั่งเด็กน้อยที่ไม่รู้เรื่องราวก็จับอาวุธที่หาได้เข้าไปร่วมด้วย

    “พวกมันปิดฉากด้วยการเทสีชมพูราดศพของทุกคนเพื่อประกาศชัยชนะ”(21)

              และการต่อสู้ก็จบลงด้วยความปราชัยของฝั่งชาวบ้าน ภาพความทรงจำสุดท้ายที่หญิงสาวเห็นก่อนตายคือพ่อของเธอถูกฆ่าอย่างโหดเหี้ยมทารุณ ก่อนที่คนกลุ่มนั้นจะเทสีชมพูราดศพของผู้เสียชีวิตเพื่อประกาศชัยชนะ  จากเหตุการณ์การปะทะที่เกิดขึ้น เห็นได้ชัดว่าผู้คนต่างฝ่ายต่างมีความต้องการแสดงอำนาจของกลุ่มซึ่งยึดมั่นในอุดมการณ์ของตน เข้าประหัตประหารฝ่ายตรงข้ามที่คิดต่างเพื่อประกาศความคิดความเชื่อจนเกิดการเสียเลือดเสียเนื้อเป็นอันมาก นี้จึงเป็นบาดแผลที่ฝังลึกในความทรงจำของหญิงสาว เธอมองเห็นความตายอย่างแจ่มชัด เธอรับรู้ว่าสีชมพูนี้เป็นภาพแทนแห่งโศกนาฏกรรมอันน่ารังเกียจสำหรับเธอ และกลายมาเป็นปมแห่งความกลัวที่ทำให้เธอโดดเดี่ยว แปลกแยกจากสังคมที่เต็มไปด้วยสีชมพู เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตอาจเป็นส่วนหนึ่งให้เธอซึมซับความรุนแรงในฐานะที่เคยเป็นผู้อยู่ใต้การควบคุมของอำนาจ ด้วยความคับแค้นใจที่ไม่สามารถทำสิ่งใดโต้ตอบกลับไปได้  เธอจึงกักเก็บความรู้สึกนั้นไว้เพื่อรอวันที่จะได้ระบายออกมา

              ทุกครั้งที่หญิงสาวกลับมาเกิดใหม่ เธอไม่อาจลบเลือนความทรงจำนั้นออกไปได้ ความทรงจำบาดแผลถูกกระตุ้นอีกครั้งด้วยเหตุการณ์เมื่อสิบปีก่อน วันน้ั้นเป็นวันคริสต์มาส เธอได้รับของขวัญจากเด็กๆ ข้างบ้าน หญิงสาวดีใจมากที่ยังมีคนจดจำเธอได้ แม้จะเอาแต่หมกตัวอยู่ในห้อง เธอหวังว่าจะได้รับขนมที่ชอบ แต่นั่นกลับกลายเป็นการใช้อำนาจกลั่นแกล้งจากคนใกล้ตัว เมื่อเปิดกล่องออกมา เธอพบไส้เดือนนับร้อยที่ถูกราดรดด้วยสีชมพู ปมฝังใจในอดีตทำให้เธอทำร้ายเพื่อนที่แกล้งจนบาดเจ็บ พวกเขาวิ่งออกมาจากห้องนอนด้วยใบหน้าโชกเลือด แล้วเธอก็ถูกสังคมรอบข้างตราหน้าว่าเป็นเด็กประหลาดจนไม่มีใครคบหา เธอถูกกล่าวหาว่าเป็นฝ่ายผิดที่ลงมือใช้ความรุนแรงกับผู้อื่นโดยไม่มีการสืบสาวถึงต้นตอปัญหาที่เป็นตัวกระตุ้นให้เธอเกิดระเบิดอารมณ์ออกมา ผู้คนตัดสินเธอจากมุมมองเพียงด้านเดียวโดยเข้าข้างเด็กที่ถูกทำร้าย



              ความรุนแรงโดยคนใกล้ตัวนี้ ก็เป็นทำนองเดียวกันกับเมื่อสองร้อยปีก่อน เพียงแต่ขยับพื้นที่เข้ามาหาหญิงสาวให้แคบลงอีกขั้น  ผู้ที่ทำร้ายเธอก็ไม่ได้กระทำรุนแรงจนถึงแก่ชีวิตชัดเจนเหมือนเช่นกลุ่มนักเดินทางแต่ก่อน พวกเขาเข้าโจมตีจิตใจแทนที่ร่างกายโดยขยับเข้ามาแทรกซึมรุกล้ำ "พื้นที่ส่วนตัว" อย่างห้องนอน เมื่อประกอบกับเงื่อนไขที่เธอไม่มีทางหนี เธอจึงทำได้แต่เพียงโต้ตอบกลับด้วยการทำร้ายร่างกายเพื่อนๆ  ไล่ตะเพิดพวกเขาไปให้พ้นพื้นที่ส่วนตัว แล้วกักขังตัวเธอเองอยู่ในนั้นเพื่อปิดกั้นการรุกล้ำอย่างยาวนาน จนผู้คนเชื่อว่าเธอโดดเดี่ยวและแปลกแยก ครั้งนี้เธอก็ยังคงเป็นเหยื่อผู้อยู่ใต้การควบคุม ต้องยอมรับความพ่ายแพ้ทางอำนาจที่ไม่สามารถพลิกผันมาอยู่เหนือผู้กระทำได้อีกเช่นเคย  นี่เป็นข้อพิสูจน์ว่า การกลั่นแกล้งเป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ยึดโยงเข้ากับสถานะ "ผู้กระทำ"​ และ "ผู้ถูกกระทำ"

             เมื่อดอกตาเบบูญ่าดอกสุดท้ายร่วงโรยจากต้น ปีศาจผมสีชมพูก็เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเธอ คอยติดตามไปทุกๆ ที่ โดยพยายามแสดงมิตรไมตรีออกมาเพื่อให้เธอยอมเข้าหามัน แม้เธอจะต้องการตอบโต้กลับเพียงใด แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรมันได้ ปีศาจยื่นข้อเสนอว่า ถ้าเธออยากสัมผัสตัวมัน เธอจะต้องพูดว่า "ยอมให้อยู่ด้วย" เท่านั้น เธอจึงต้องจำใจอยู่กับปีศาจไปสักพักจนถึงเวลาที่ต้องไปโรงเรียน ปีศาจในฐานะนักเรียนใหม่ได้รับความนิยมจากเพื่อนๆ ในห้องอย่างรวดเร็วจนเธอรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ เธอยิ่งรู้สึกโดดเดี่ยวและแปลกแยกมากยิ่งขึ้น  และแล้วจุดผกผันก็เกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อเธอตั้งใจลงมือฆ่าสิ่งมีชีวิตทั้งสุนัขและแมวเพื่อใส่ร้ายปีศาจผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยปิดบังตัวตนของเธอไว้ แผนการเหมือนจะดำเนินไปได้ด้วยดี แต่สุดท้ายเมื่อเธอเดินเข้าห้องเรียนในวันแรกของสัปดาห์ ก็กลับไม่มีใครแสดงท่าทีเกลียดเจ้าปีศาจนั้น ซ้ำร้ายเจ้าปีศาจยังบอกความจริงว่าเธอเป็นคนทำ ทุกคนในชั้นเรียนพากันเชื่อและขว้างปาข้าวของใส่เธอ เธอถูกเพื่อนๆ มองว่าแปลกแยกมากขึ้นไปอีกจนต้องจมดิ่งกับความโดดเดี่ยว ผู้เขียนบรรยายว่า มีแวบหนึ่งที่เธอเหมือนจะมองเห็นว่าปีศาจได้ยิ้มเยาะเธอ

             เมื่อลองพิจารณาถึงองค์ประกอบต่างๆ หลังจากการปรากฏตัวของปีศาจ อาจตีความได้ว่า ปีศาจเป็นตัวแทนของ "การกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์"  (cyber bullying) เนื่องจากลักษณะของการกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์จะต่างออกไปจากการกลั่นแกล้งโดยตรง การกลั่นแกล้งออนไลน์แทบจะไม่สามารถบอกได้เลยว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ ทั้งไม่ทราบจำนวนคนที่แน่ชัดได้ง่ายๆ  ไม่ทราบหลักแหล่งแน่ชัดว่ามาจากไหน ไม่ทราบว่าใครมีส่วนร่วมในการกลั่นแกล้ง แทบจะไม่สามารถหาหลักฐานเพื่อนำมาลงโทษได้เนื่องจากการปิดบังตัวตนแม้ผู้กระทำอาจอยู่ใกล้ตัวมากก็ตาม แตกต่างจากการ กลั่นแกล้งซึ่งหน้า ทำร้ายกันแบบเห็นด้วยตาซึ่งรู้ต้นตอชัดเจน  ฝ่ายผู้ถูกกลั่นแกล้งจะรู้สึกเหมือนถูกติดตามตลอดเวลา ในการกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์ แม้จะอยู่ในพื้นที่ส่วนตัวก็ยังรู้สึกไม่ปลอดภัย ทั้งยังสามารถถูกกลั่นแกล้งคุกคามเมื่อใดก็ได้ ยิ่งหาตัวตนยาก ยิ่งมีอำนาจในการส่งเสริมให้คนกลุ่มใหญ่เข้ามามีส่วนร่วมได้ง่ายขึ้นโดยไม่ต้องคอยกังวลว่าจะถูกตามตัวได้ และมีอานุภาพสามารถพัดพาให้คนกลุ่มใหญ่สามารถ "ไหลตามๆ กันไป" ได้อย่างรวดเร็ว ความรวดเร็วของการแพร่กระจาย ความรุนแรงของการกระทำจึงยิ่งเพิ่มขึ้นหลายเท่าทวีคูณ และการปรับความเข้าใจร่วมกันให้ถูกต้องก็เป็นเรื่องยาก

               ที่เปรียบเช่นนั้นเพราะตัวตนของปีศาจสอดคล้องกับลักษณะของการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ในหลายองค์ประกอบ ทั้งการตอบโต้กลับไม่เป็นผลเพราะสัมผัสตัวไม่ได้ ดังเช่นผู้กระทำที่คอยติดตามอยู่ใกล้ตัว แต่ไม่สามารถพิสูจน์หรือระบุตัวตนได้เลย อีกทั้งการที่เพื่อนในห้องที่ไม่ยอมฟังเสียงของเธอนั้น แม้กรณีนี้เธอจะมีความผิดจริงที่ฆ่าสัตว์ต่างๆ จริง แต่สิ่งที่เพื่อนปฏิบัติต่อเธอก็เป็นผลเกี่ยวเนื่องมาจากการที่เธอถูกตราหน้าว่าแปลกแยกอยู่แล้วตั้งแต่แรก เธอพยายามหาวิธีกลั่นแกล้งกลับแต่กลับไม่เป็นผลเพราะเธอไม่มีอิทธิพลทางความคิดมากเพียงพอ และไม่สามารถรู้ได้ว่าเลยปีศาจได้พูดคุยอะไรกับเพื่อนในห้องลับหลังเธออีกหรือไม่ ทั้งหมดนี้ จึงตรงกับลักษณะของการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ที่ผู้ถูกกระทำจะไม่สามารถส่งเสียงเพื่อพิสูจน์ความจริงออกไปหรือตอบโต้อะไรได้ เป็นอำนาจที่ไม่อาจมองเห็นต้นตอได้ด้วยตา ไม่สามารถจับต้อง หาหลักฐานได้ง่ายๆ ทั้งยังแฝงฝังตัวอยู่ใต้ฉากหน้าที่เป็นมิตร  ไม่มีข้อเสียเปรียบทางบุคลิกภาพ ไม่มีปัญหาของความสัมพันธ์กับคนรอบตัวมาก่อนดังเช่นปีศาจสีชมพู



              ปีศาจเข้าหาเพื่อนๆ ในห้องด้วยภาพลักษณ์ "สีชมพู" ตามความรับรู้ของคนทั่วไป  สีชมพูของปีศาจอาจหมายถึง "ความรักสิ่ง" "ที่น่าชื่นชม" หรือเป็นตามความหมายดังแต่เติมเมื่อสองร้อยปีที่แล้วอย่าง "ความเท่าเทียมเสรีภาพ ความหวัง"  แต่สิ่งเหล่านั้น กลับเป็นเพียงเปลือกนอกเพื่อดึงดูดให้ผู้อื่นเข้าหาแล้วรวมตัวกันเป็นกลุ่มใหม่ที่ยังมีตัวเธออยู่นอกกลุ่มในฐานะคนนอก ด้วยวิธีนี้เอง อาจเป็นจุดที่ดึงดูดให้คนอื่นเลือกจะเชื่อปีศาจมากกว่าที่เชื่อเธอเมื่อเธอใส่ร้ายปีศาจในโลกออนไลน์ นอกจากนี้ การที่ปีศาจยังสามารถเข้ามารุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวได้ทุกเมื่อ ยังสัมพันธ์กับความไม่ปลอดภัยจากการถูกกลั่นแกล้งที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาแม้จะอยู่ในพื้นที่ที่เชื่อว่าปลอดภัยแล้วก็ตาม  กล่าวได้ว่า ความรุนแรงได้บีบอัดขอบเขตจากสังคมวงกว้างเข้ามาในพื้นที่ห้องนอนโดยไม่รู้ตัวตนผู้กระทำดัง 

    “อย่าทำร้ายเพื่อนฉันเลย เธอไม่ได้ตั้งใจหรอก” คำพูดมันบ่งบอกชัดเจนว่าหญิงสาวคือฆาตรกร (23)

              เรื่องดำเนินมาถึงจุดแตกหักในตอนจบอันเกิดจากปีศาจแสร้งว่า เห็นใจเธอแต่คำพูดให้กำลังใจกลับเต็มไปด้วยน้ำเสียงที่ชี้ตัวว่า เธอเป็นผู้กระทำผิดอย่างตรงไปตรงมา ปีศาจที่อยู่ใกล้ชิดเธอและอาจรับรู้ความจริงกำลังแสดงอำนาจที่มีเหนือกว่าตัวเธออย่างชัดเจน แม้ตอนแรกจะแสดงไมตรีว่าพร้อมจะเป็นมิตรกับเธอเสมอ แม้จะโดนทำร้ายก็ตาม แท้จริงภายใต้ภาพลักษณ์ที่น่าเข้าหานี้ ก็ยังคงความต้องการแสดงอำนาจกดขี่เพื่อประกาศชัยชนะเช่นเดียวกับเมื่อสองร้อยปีหรือสิบปีก่อน ไม่ว่าอย่างไร "สีชมพู" ก็ยังเป็นสีของการแสดงอำนาจด้วยความรุนแรงตามความรับรู้ของเธอ ไม่มีทางแปรเปลี่ยนเป็นความรักความเท่าเทียม หรือเป็นอะไรที่เธอต้องพยายามปรับตัวเข้าหา เมื่อถึงจุดที่หมดความอดทน เธอจึงต้องการหักดิบกำจัดปีศาจออกไปให้พ้นตัวโดยยอมให้มันเข้ามาอยู่ด้วย นี่อาจเป็นการพยายามลบล้างความกลัวที่มีต่อสีชมพู เผชิญหน้ากับต้นตอปัญหาทั้งหมดอย่างตรงไปตรงมา เป็นอุบายแสร้งว่ายอมรับให้ปีศาจปรากฏขึ้นมามีตัวตนจับต้องได้ในโลกความเป็นจริง    

       

    เธอก็ได้ยินเสียงใสลอยมากับสายลมพร้อมดอกตาเบบูญ่าลึกลับมากมายที่ปลิวเข้ามาทางหน้าต่าง” (25)


               เรื่องทั้งหมดดูเหมือนจะจบลงเมื่อหญิงสาวได้ระบายความคับแค้นที่สั่งสมมาทั้งหมดโดยการลงมือจัดการฆ่าปีศาจอันเป็นตัวแทนของอำนาจซึ่งปรากฏตัวตนต่อหน้า แต่แล้ว เธอในภพปัจจุบันก็พบว่า ตัวตนของมันจริงๆ กลับไม่ได้มีพลังอำนาจอะไรให้เธอต้องหวาดกลัวเหมือนตอนแรกที่มันคอยตามติดไปทุกที่ด้วยสภาวะจับต้องไม่ได้ เรื่องราวตอนนี้อาจแสดงให้เห็นถึงสภาวะของการปิดบังตัวตนที่ใช้กลั่นแกล้งผู้อื่นของผู้กระทำผิดในโลกออนไลน์ เพราะเอาเข้าจริง เมื่อเผชิญหน้ากันตัวต่อตัว ผู้กลั่นแกล้งเหล่านั้นกลับไม่ได้มีอำนาจมากเท่าที่เรารู้สึกหวาดกลัว เริ่มแรกที่เธอจัดการไม่ได้เพราะไม่ยอมลุกขึ้นมาจัดการรับมือกับความรู้สึกในจิตใจเอง และสุดท้ายแม้เธอจะกำจัดปีศาจออกไปได้แล้ว แต่ก็ยังมีสีชมพูหลงเหลือจากดอกตาเบบูญ่าถูกลมพัดเข้ามาทางหน้าต่าง ฉากจบตอนนี้ทำให้เราตีความได้ว่า  จำนวนของผู้กลั่นแกล้งผู้อื่นในโลกออนไลน์มีจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม อิทธิพลของโลกออนไลน์ได้แบ่งอำนาจให้แก่ผู้คนรอบตัวอย่างเท่าๆ กันโดยไม่ได้จำกัดอยู่เพียงที่ปีศาจตัวเดียวเท่านั้น

             กล่าวได้ว่าเรื่องสั้นเรื่องนี้ขับเคลื่อนด้วยการส่งต่อความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่คนรอบตัวล้วนกระทำต่อหญิงสาว และการพยายามแสดงอำนาจเหนือผู้คนรอบข้างเพื่อตอบโต้กลับของเธอก็เป็นเพียงการใช้ความรุนแรงตอบโต้ความรุนแรง รังแต่จะสร้างความขัดแย้งเพิ่มขึ้น เมื่อเราพิจารณาเรื่องราวที่ผ่านมาจะพบว่า ในความรุนแรงที่สะสมมาเป็นระยะเวลานานที่ถูกส่งผ่านสีชมพูหรือความคับแค้นของเธอตลอดเรื่องนั้น ไม่มีครั้งไหนที่เธอเป็นฝ่ายกุมอำนาจเลย  เรื่องสั้นเรื่องนี้แสดงให้เราเห็นว่า การแสดงออกทางอำนาจผ่านความรุนแรงโดยคนทั้งสองฝ่ายไม่ได้หายไปไหน แต่แทรกซึมอยู่อย่างเนียบเนียนโดยใช้โลกออนไลน์เป็นที่กำบัง ผู้กระทำปกปิดตัวตนและดำรงอยู่ได้ในทุกพื้นที่โดยหลบซ่อนตัวอยู่ใต้ฉากหน้าอุดมการณ์ความเชื่อของฝ่ายตน แฝงอยู่ในฉากหน้าของกล่องของขวัญหรืออยู่หลังฉากหน้าความเป็นมิตรของปีศาจ  ยิ่งเราตอบโต้กลับด้วยความรุนแรง ปีศาจเหล่านั้นก็ยิ่งมีจำนวนมากขึ้น และพวกมันจะไม่เพียงปรากฏตัวในรูปปีศาจแห่งดินแดนสมมติในเรื่องนี้เท่านั้น แต่ยังดำรงอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง ที่ไม่ว่าใครๆก็รับบทปีศาจในคราบมนุษย์สีชมพูได้.




    แหล่งอ้างอิง

    วงศกร ยี่ดวง,วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ. (2561). bullying และปรากฏการณ์ร่วมสมัยทางสังคมในโรงเรียนที่ทำงาน และโลกออนไลน์.(ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก : https://adaybulletin.com/talk-guest-athapol-anunthavorasakul/18142.

    มูลนิธิยุวพัฒน์.(2562). การกลั่นแกล้ง (Bullying) ความรุนแรงในสังคม.(ออนไลน์).เข้าถึงได้จาก : https://www.yuvabadhanafoundation.org/th/ข่าวสาร/บทความทั่วไป/การกลั่นแกล้ง-bullying-วัยรุ่น/.


    ที่มารูปภาพ: https://unsplash.com/

    © สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับเพิ่มเติม) พ.ศ. 2558 

    ผู้เขียน : จณิศา ชาญวุฒิ นิสิตเอกภาษาไทย โทภาษาญี่ปุ่น ชั้นปีที่ 3 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

    บทวิจารณ์นี้เป็นผลงานจากรายวิชา“วรรรกรรมวิจารณ์”ปีการศึกษา 2563 เผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางวิชาการเท่านั้นไม่อนุญาตให้ทำซ้ำหรือดัดแปลง


     

     

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in