เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
การวิจารณ์เป็นมิตรกับคนทั่วไปอ่าน-คิด-เขียน
"ร่มไทร...ร่มไม้ให้คุณหรือเงาร้ายคุกคาม" บทวิจารณ์เรื่องสั้น "ร่มไทร"
  •         เมื่อกล่าวถึงคำว่า ร่มไทร” นอกจากเงาของไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ลำต้นตรงแตกกิ่งก้านเป็นพุ่มทึบ บ้างก็พุ่มโปร่ง มีรากอากาศห้อยตามกิ่งก้านและลำต้นแล้ว เรายังมักจะนึกถึงสำนวนไทยที่ว่า ร่มโพธิ์ร่มไทร ซึ่งหมายถึงความสามารถในการเป็นที่พึ่งพิง หรือเป็นผู้ให้ความอบอุ่นใจ ให้ความปลอดภัย รวมถึงการเป็นผู้ปกป้อง ไม่ว่าจะความหมายใดก็ดูจะสื่อไปทางแง่บวกและการให้คุณประโยชน์ทั้งสิ้น อย่างไรก็ดี บทบาทของ ร่มไทรในเรื่องสั้นที่กำลังจะกล่าวถึงนี้ออกจะน่าพรั่นพรึงอยู่ไม่น้อย ผู้วิจารณ์จึงอยากเชิญชวนผู้อ่านมาร่วมกันวิเคราะห์ค้นหาความหมายของ ร่มไทร” ในเรื่องสั้นเรื่องนี้ไปพร้อมๆ กัน


    ADVERTISEMENT

    ADVERTISEMENT

    ต้นไทร
    ที่มา https://pixabay.com/th/photos/%E0%B8%A3 %E0%B9%B9%8C-1166220/

    "ร่มไทร" เป็นเรื่องสั้นลำดับที่สิบ จาก หญิงเสาและเรื่องราวอื่น ผลงานรวมเรื่องสั้นจากปลายปากกาของกล้า สมุทวาณิช จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชนเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๗ ว่าด้วยเรื่องราวของเด็กสาวคนหนึ่ง เธอเกิดและเติบโตมาในหมู่บ้านประหลาดที่มีต้นไทรขนาดใหญ่ตั้งตระหง่านอยู่กลางหมู่บ้าน ชาวบ้านในหมู่บ้านมีแต่สตรีเพศ เด็กแต่ละคนในหมู่บ้านไม่รู้ว่าพ่อของตนเป็นใคร แม้จะมีบุรุษเพศแวะเวียนมาบ้าง ก็เป็นเพียงเหล่าพ่อค้าเร่หรือคนสอนหนังสือที่ไม่ได้อยู่ประจำทั้งนั้น  ในวัยเด็กเธอเพียรถามแม่เสมอว่าพ่อของเธอเป็นใคร คำตอบของแม่มีเพียงนิ้วที่ชี้ไปยังต้นไทรกลางหมู่บ้านเท่านั้นจนเธอเลิกตั้งคำถามไปเอง คำตอบได้รับการเปิดเผยเมื่อเธอเติบโตและแตกเนื้อสาวในวันหนึ่งระหว่างเดินทางกลับจากโรงเรียน เธอสังเกตเห็นเพื่อนหญิงร่วมชั้นแสดงอากัปกิริยาคล้ายกำลังมีเพศสัมพันธ์กับส่วนหนึ่งของรากไทร จากนั้นเพื่อนของเธอก็ตั้งครรภ์และคลอดทารกหญิงโดยไม่มีชาวบ้านคนใดแปลกใจหรือตั้งคำถามกับเหตุการณ์นี้เลยตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เด็กสาวก็รู้สึกหวาดกลัวและหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ต้นไทรต้นนั้นทว่าในคืนหนึ่ง แม่ของเธอก็ได้เข้ามาเปิดหน้าต่างในห้องพร้อมเลิกกระโปรงเธอขึ้นสูงถึงเอวเด็กสาวรู้ดีว่าถึงเวลาแล้วที่เธอต้องสังเวยความบริสุทธิ์ให้แก่ต้นไทรเธอทำได้เพียงกอดแม่ไว้แน่นยามที่รากไทรค่อยๆเลื้อยเข้ามาในห้องของเธอผ่านหน้าต่าง แล้วชำแรกเข้าไปในอวัยวะเพศของเธอ เมื่อคืนนั้นผ่านพ้นไป เด็กสาวก็รู้สึกได้ว่ากำลังตั้งครรภ์ลูกแฝด เธอตัดสินใจเก็บข้าวของเพื่อเดินทางออกจากหมู่บ้าน พร้อมภาวนาขอให้ทารกหนึ่งในนั้นเป็นบุตรชาย


    หนังสือ หญิงเสาและเรื่องราวอื่น
    ที่มา https://m.se-ed.com/Detail/%E0%B8%AB%E0%B8%8D-(PDF)/5522300013399

    จริงอยู่ที่ว่า ช่วงเริ่มเรื่องนั้น ความทรงจำในวัยเด็กที่เธอรวมถึงเด็กผู้หญิงคนอื่นๆ ในหมู่บ้านมีต่อร่มไทรและต้นไทรเก่าแก่นี้ดูจะเอนเอียงไปทางแง่บวก เห็นได้จาก

    “เด็กๆอย่างพวกฉันอาศัยลานต้นไทรใหญ่เป็นที่เล่น เงาของไทรแผ่กว้างเป็นลานร่มๆ ให้เด็กร่วมห้าสิบคนทั้งหมู่บ้านสามารถตั้งวงเล่นกันได้แบบว่างๆ สบายๆ แสงแดดลอดผ่านตามช่องใบมาเป็นลำน้อยๆ พอเพียงให้สว่างเห็นหน้าเห็นตากันใต้ร่มไทรนั้นเย็นสบายมาตลอดวันตลอดปี

    ในอีกมุมหนึ่งของร่มไทรเป็นตลาดเล็กๆ ให้คนในหมู่บ้านได้จับจ่ายซื้อของกันตั้งแต่รุ่งเช้าจนคล้อยบ่าย เลยจากเวลานั้นก็เป็นลานพักผ่อนของแม่บ้านที่ว่างจากการหุงหาอาหารและเลี้ยงลูก ส่วนเยื้องเลยออกไปอีกหน่อยกิ่งและใบของต้นไทรก็ปกคลุมโรงเรียนอาคารไม้หลังเดียวของเราให้อากาศเย็นสบายตลอดปี ไม่ร้อนเกินไป ไม่หนาวเกินไป เมื่อมีพายุ ต้นไทรยักษ์ก็เหมือนเป็นปราการยืนต้านไว้ ลดความเร็วลมที่เข้าปะทะบ้านเรือนด้านหลังได้จนเกือบไม่ต้องกลัวว่าหลังคาบ้านใครจะปลิวหาย

    อาจกล่าวได้ว่าไทรใหญ่เป็นศูนย์รวมของทุกอย่างของหมู่บ้านเราจริงๆ”(หน้า ๑๓๐-๑๓๑)

    อย่างไรก็ดี หากพิจารณาในแง่ความหมายแล้ว ความหมายแง่บวกอย่างที่กล่าวมาตั้งแต่ต้นเห็นจะไม่สอดคล้องกับเนื้อเรื่องในช่วงกลางและช่วงท้ายนัก  ผู้วิจารณ์มองว่า ร่มไทร ในที่นี้น่าจะเป็นตัวแทนของแนวคิดปิตาธิปไตย (Patriarchy) ที่ครอบคลุมสังคมอยู่ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน

    แนวคิดปิตาธิปไตย (Patriarchy) แต่เดิมหมายถึง “อำนาจของบิดา” แต่ในปัจจุบันหมายถึง “ระบบชายเป็นใหญ่”โดยอาศัยอำนาจของบิดาเป็นรากฐานของเพศชาย โดยรวมปิตาธิปไตยเป็นอำนาจที่แฝงเร้นอยู่กับสิ่งอื่นๆ เช่น การเมือง เศรษฐกิจ หรือกฎหมายมีอำนาจครอบคลุมบทบาท พฤติกรรม วิธีคิดของเพศหญิง เพศชาย และเพศอื่นๆ (เสนาะ เจริญพร, ๒๕๔๘, หน้า ๒๙๘-๒๙๙)

    แนวคิดนี้ยึดโยงอยู่กับเพศชายเป็นหลัก ในเรื่องสั้นเองก็ปรากฏสัญลักษณ์ที่สื่อถึงอวัยวะเพศชายซึ่งก็คือรากไทรรูปทรงคล้ายลึงค์ที่กระทำกามกิจกับหญิงสาวในหมู่บ้าน

    “รากไทรที่โผล่พ้นพื้นดินลำอวบหนาเท่าเท่าผลกล้วยใบเขื่องชำแรกพื้นขึ้นมาเกือบสองคืบ ที่ปลายของมันกลมมนเกือบเท่ามะนาวผลเล็กๆ มีเมือกคาวเปียกเยิ้มตลอดราก” (หน้า ๑๓๓)


    รากไทร
    ที่มา https://pixabay.com/th/photos/ราก-ต้นไม้-ไทร-ต้นไม้ที่มีราก-1701081/

    จุดสังเกตอีกประการที่น่าสนใจคือการออกแบบลักษณะและที่ตั้งของต้นไทรต้นไทรในเรื่องนี้ตั้งอยู่ที่จุดศูนย์กลางของหมู่บ้าน สามารถมองเห็นได้จากทุกมุมมันมีขนาดใหญ่มากเสียจนแผ่กิ่งก้านสาขาไปทั่ว สร้างร่มเงาให้เกือบทั่วทุกพื้นที่ในหมู่บ้าน

    “ต้นไทรขนาดสิบสองคนโอบไม่น่าจะมีที่ไหนอีกในโลก ต้นไทรใหญ่ที่มองเห็นได้จากทุกมุมของหมู่บ้าน สูงท่วมฟ้าเราไม่เคยมองได้ถึงยอดของมัน เพราะถ้าหากเป็นวันฟ้าแจ้ง เมื่อมองสูงขึ้นไปหา ยอด แสงอาทิตย์ก็จะแทงแยงตาจนเรากะพริบยิบหยี หรือถ้าเป็นวันฟ้าหม่นเมฆหมอกก็จะห่มคลุมยอดไทรใหญ่ไว้จากสายตาเรา” (หน้า ๑๓๐)

    ฟังเผินๆดูเหมือนคุณลักษณะเช่นนี้จะเป็นเรื่องธรรมดาและสมจริงตามธรรมชาติ แต่ถ้าพิจารณาอย่างถี่ถ้วนว่าหมู่บ้านในเรื่องนี้มีคุณลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งคือสมาชิกทุกคนล้วนเป็นเพศหญิงแล้ว การที่ผู้เขียนบรรยายว่าร่มไทรแผ่กิ่งก้านสาขาครอบคลุมเกือบทั้งหมู่บ้านอาจสื่อนัยยะว่า แนวคิดปิตาธิปไตยนี้ได้ปกคลุม ชอนไช และแทรกซึมเป็นรากฐานสังคมที่คอยกำหนดบทบาทของเพศหญิงอย่างเหนียวแน่น อีกทั้งการที่ต้นไทรเป็นศูนย์กลางของหมู่บ้านก็อาจสื่อว่า แนวคิดนี้อยู่ในชีวิตของเราอย่างชัดเจน แต่ทุกคนกลับมองผ่านเลยไปโดยไม่คิดจะกำจัดรากร้ายหรือแก้ไขปัญหา ผลคือแนวคิดนี้ได้ตั้งตระหง่านโดดเด่นและกลายมาเป็นแบบแผนที่สังคมยึดถือ ซ้ำยังคิดว่ามันคือเรื่องธรรมดา นอกจากนี้ การระบุว่าต้นไทรสูงเทียมฟ้าเสียจนแทบมองไม่เห็นยอดก็เป็นการเน้นย้ำถึงความยิ่งใหญ่ไร้จุดสิ้นสุดของตัวระบบเข้าไปอีก ว่าระบบนี้มีบทบาทเหนือสตรีเพศและสามารถครอบงำความคิดของผู้คนได้มากเพียงใด

             อย่างไรก็ดีความยิ่งใหญ่ของต้นไทรนี้กลับไม่ได้นำพาซึ่งความน่าเคารพนับถือหรือความน่าเกรงขามเลย เมื่อตัวเอกของเรื่องเติบโตขึ้น เธอก็ได้พบเห็นสิ่งที่ต้นไทรกระทำต่อเพื่อนของเธอและสามารถปะติดปะต่อได้ว่า เหตุการณ์นี้คงเกิดขึ้นกับผู้หญิงคนอื่นๆ ในหมู่บ้านรวมถึงจะเกิดขึ้นกับตัวเธอด้วย เธอตระหนักได้ว่าร่มไทรร่มนี้ไม่สามารถสร้างความเย็นสบายกายหรือความอบอุ่นปลอดภัยทางใจแก่เธออีกต่อไป มิหนำซ้ำ การแผ่ร่มเงาของมันกลับมีจุดประสงค์เพื่อครอบงำและรุกรานเธอต่างหาก หลังจากนั้นเธอก็เริ่มมองต้นไทรด้วยสายตาที่แปลกไป เธอหวาดกลัวและพยายามหลีกเลี่ยงการเดินผ่านต้นไทรหากไม่จำเป็น ความหวาดระแวงเกาะกินใจจนเธอถึงขั้นยอมปิดหน้าต่างในห้องนอนที่มองออกไปเห็นต้นไทรพอดี แม้หน้าต่างบานนั้นจะเป็นด้านรับลมก็ตาม

    การที่หญิงสาวในหมู่บ้านทุกคนตั้งครรภ์หลังถูกกระทำโดยต้นไทรนั้น ก็อาจมองได้ว่าแนวคิดนี้มีการปลูกฝังบทบาทของผู้หญิงว่า เป็นเครื่องผลิตทายาทให้แก่สังคมเท่านั้น โดยที่พวกเธอแทบไม่มีสิทธิ์ขัดขืนหรือเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ตนเองแม้แต่น้อย อย่างตอนที่เด็กสาวถูกกระทำโดยรากไทรที่เลื้อยเข้ามาในห้อง สิ่งที่เธอทำได้ก็มีเพียงกอดผู้เป็นแม่ไว้แน่นและยอมจำนนต่อชะตากรรมเท่านั้น สังเกตได้ว่าแม้แต่แม่ของเธอยังไม่สามารถปกป้องหรือเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่เธอได้เลย จุดนี้ตอกย้ำว่า เหตุการณ์เช่นนี้ถือเป็นเรื่องปกติและไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้  ในพื้นที่เรื่องสั้นยังปรากฏข้อความที่แสดงถึงการยอมจำนนต่อวัฏจักรดังกล่าวของเด็กสาวอยู่กลายๆ ด้วยคือ

     “จากนี้ฉันจะให้กำเนิดทารกขึ้นมาหนึ่งคนเดาไม่ยากว่าต้องเป็นเพศหญิง และฉันจะต้องเลี้ยงเขาให้โต รอวันแรกที่จะต้องตอบคำถามของเขา คำถามที่ฉันเคยถาม และวันหนึ่งลูกของฉันก็อาจจะได้พบคำตอบโดยบังเอิญเหมือนฉันและอีกไม่นานวันที่คำตอบของเธอจะกลายเป็นคำถามก็จะมาถึงเหมือนเช่นวันนี้ของฉัน” (หน้า ๑๓๕)

             อีกข้อสังเกตเกี่ยวกับผู้เป็นแม่คือ ตัวละครนี้เป็นผู้เปิดหน้าต่างให้รากต้นไทรเข้ามาในห้องของลูกสาว เธอตรึงให้เด็กหญิงนอนนิ่งเพื่อให้รากไทรข่มขืนได้สำเร็จ การกระทำของแม่จึงเป็นส่วนสนับสนุนให้การคุกคามทางเพศลุล่วง (แม้ตัวละครจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม) หากวิเคราะห์ให้ลึกลงไปอาจจะกล่าวได้ว่า ผู้หญิงด้วยกันเอง เมื่อถูกครอบงำด้วยวาทกรรมปิตาธิปไตยแล้วก็อาจหลงลืมที่จะใส่ใจการแก้ปัญหา หากแต่ยอมจำนน ก่อนจะกลายเป็นเครื่องมือของระบบในการส่งต่อความรุนแรงและการกดขี่ข่มเหงจากรุ่นสู่รุ่น

             ยิ่งไปกว่านั้น เรื่องสั้น “ร่มไทร” อาจสะท้อนภาพปัญหาครอบครัวในสังคมไทย ว่าด้วยอาชญากรรมทางเพศและความรุนแรงภายในครอบครัวซึ่งเห็นได้ผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ในคดีบิดาล่วงละเมิดทางเพศบุตร (อาจเป็นบุตรโดยสายเลือดหรือบุตรบุญธรรมโดยมารดาเองก็รับรู้แต่ต้องยินยอมเพราะเกรงกลัวสามี (หรือเลวร้ายไปกว่านั้นคือเลือกที่จะสนับสนุนสามีหรือเลือกที่จะเพิกเฉยต่อความรุนแรง) การยินยอมหรือเพิกเฉยเมื่อคู่ครองของตนมีความสัมพันธ์กับหญิงอื่น โดยเฉพาะเมื่อหญิงนั้นผูกพันกับตนทางสายเลือดนั้น สะท้อนอำนาจของวาทกรรมปิตาธิปไตยที่กล่อมเกลาให้คนเราเชื่อ (ง) และทำตามโดยปราศจากการตั้งคำถาม

            กระนั้น เมื่อเรื่องดำเนินมาถึงบทสรุปแล้ว ผู้วิจารณ์ก็พอจะสัมผัสได้ถึงประกายความหวังเล็กๆ ในจิตใจของเด็กสาว การเดินทางออกจากหมู่บ้านของเธอในตอนท้ายของเรื่องนั้นเปรียบได้กับความพยายามที่จะหลบหนีออกจากชีวิตและสังคมเดิมเพื่อเดินหน้าหาอนาคตใหม่ที่ดีกว่า อีกทั้งการที่เธออธิษฐานขอให้หนึ่งในเด็กแฝดที่อยู่ในครรภ์เป็นเพศชายก็อาจอนุมานได้ว่า เธอปรารถนาให้บุตรของเธอสักคนหลุดพ้นจากวังวนนี้ ไม่ต้องทนทุกข์เป็นเครื่องสนองความใคร่หรือถูกกดขี่อย่างที่เธอหรือหญิงสาวคนใดเคยโดยกระทำนั่นเอง อย่างไรก็ดี ผู้วิจารณ์มีความเห็นว่า การภาวนาให้ตนมีบุตรชายไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืนเพราะสตรีในสังคมก็ยังต้องเผชิญกับระบบที่เป็นปัญหาอยู่ดี หากอยากแก้ปัญหาแบบถอนรากถอนโคนไทรต้นนี้ ก็ต้องทำลายวาทกรรมปิตาธิปไตยให้หมดไป แต่ก็คงจะเป็นเรื่องอันยากยิ่ง เห็นได้จากบทสรุปของเรื่องสั้นที่ไม่ได้สวยงามสำหรับเด็กสาว สภาพความเป็นจริงยังคงโหดร้าย และตัวเธอเองก็ไม่สามารถทำอะไรไปได้มากกว่านี้.



    ที่มา https://pixabay.com/th/illustrations/8%B2%E%80%E0%B8%94%B8%A7-5850628/


    เมื่อได้ลองวิเคราะห์หาความหมายของ “ร่มไทร” เรียบร้อยแล้ว จึงพอจะสรุปได้ว่าร่มไทรในเรื่องสั้นของ กล้า สมุทวณิช ไม่ได้ให้ความหมายที่สื่อไปในทางผู้ปกป้องคุ้มครองอย่างที่เราคุ้นเคย แต่คือสัญลักษณ์ของการครอบงำโดยแนวคิดปิตาธิปไตยหรือระบบชายเป็นใหญ่ที่ยากจะโค่นล้มต่างหากเราอาจจะหลีกเลี่ยงจากวัฏจักรและระบบที่ฝังรากลึกนี้ไปไม่พ้น หรือหากทำได้ก็คงใช้เวลานานพอสมควร แต่อย่างน้อย เราทุกคนก็คงจะตระหนักได้ถึงปัญหาที่กำลังดำเนินอยู่นี้ หลังอ่านเรื่องและบทวิจารณ์เรื่องนี้จบลง

    อย่าให้หญิงสาวคนใดต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ภายใต้ ร่มไทร” ร่มนี้อีกต่อไปอีกเลย 


    © สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับเพิ่มเติม) พ.ศ. 2558

    ผู้เขียน:   ธาราทร วรรณลา   
    นิสิตเอกภาษาอิตาเลียน โทประวัติศาสตร์
    บทวิจารณ์นี้เป็นผลงานจากรายวิชา “วรรรกรรมวิจารณ์” ปีการศึกษา 2563  เผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางวิชาการเท่านั้น  ไม่อนุญาตให้ทำซ้ำหรือดัดแปลง 


เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in