เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
การวิจารณ์เป็นมิตรกับคนทั่วไปอ่าน-คิด-เขียน
การปะทะกันของวัฒนธรรมทางศาสนาในภาพยนตร์ “กระเบนราหู”
  • “กระเบนราหู” หรือชื่อภาษาอังกฤษ “Manta Ray” เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Film) ประเภท Orizzonti (สุนทรียภาพและการเล่าเรื่อง) จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิส ครั้งที่ 75 (75th Venice International Film Festival) ในปี พ.ศ. 2561  หลังจากนั้นก็ได้เข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์อีกหลายรายการทั่วโลก คว้ารางวัลจากทั้งต่างประเทศและในประเทศอีกร่วมยี่สิบรางวัล ด้วยฝีมือการเขียนบทและกำกับของ “พุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง”

    ภาพยนตร์เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านชายฝั่งทะเลแห่งหนึ่งในประเทศไทย ชายชาวประมงคนหนึ่ง (วัลลภ รุ่งกำจัด) พบชายผู้บาดเจ็บจากกระสุนปืน (อภิสิทธิ์ หะมะ) นอนสลบอยู่ในป่าชายเลน จึงได้ช่วยเหลือและพาไปดูแลที่บ้านของตนเอง แต่เมื่อชายแปลกหน้าเริ่มอาการดีขึ้น ชายชาวประมงก็พบว่าเขาไม่สามารถสื่อสารผ่านคำพูดได้ ภาพยนตร์ไม่ได้บอกเราแน่ชัดว่า แท้ที่จริงแล้วภาวะที่สื่อสารไม่ได้นั้นเกิดจากข้อจำกัดทางภาษาหรือความพิการ ดังนั้น ชายชาวประมงจึงตั้งชื่อใหม่ให้เขาว่า “ธงไชย”

    เมื่อเนื้อเรื่องดำเนินต่อไป ทำให้เราได้ทราบว่าชายชาวประมงคนนี้ เดิมทีอาศัยอยู่กับภรรยาอาชีพพนักงานโรงงาน ชื่อว่า “สายใจ” (รัสมี เวระนะ) ก่อนที่เธอจะทิ้งเขาไปอยู่กับสามีคนใหม่ซึ่งเป็นทหารเรือ

    ชายชาวประมงได้สอนให้ธงไชยใช้ชีวิตแบบที่เขาทำเป็นกิจวัตร สอนขับรถจักรยานยนต์ สอนดำน้ำ รวมทั้งสอนวิธีหา “หินสี” เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็วจนธงไชยหายดี เขาทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ชายชาวประมงสอนได้อย่างคล่องแคล่ว ชายชาวประมงดูมีความสุขกับธงไชย จนเมื่อได้รับสายโทรศัพท์จากเจ้านายไต้ก๋งเรือ (กำจร สันกว้าน) ว่าให้ไปทำงานบางอย่างที่เขา “...ไม่อยากทำแล้ว...” แต่ท้ายที่สุดเขาก็ไม่อาจขัดนายได้

    ถัดจากนั้นไม่นาน เมื่อชายชาวประมงได้ออกเรือไปหาปลากับไต้ก๋งอีกครั้ง เขากลับหายตัวไปอย่างกะทันหันในทะเล เมื่อธงไชยออกมาตามหา ไต้ก๋งให้เหตุผลกับธงไชยว่า ชายชาวประมงถูกอวนดึงลงทะเลไปเพราะคลื่นลมในทะเลสูง การหายไปเป็นเวลาหลายวันครั้งนี้ทำให้ธงไชยก็ค่อย ๆ เข้าครอบครองชีวิตของชายชาวประมงอย่างเสียไม่ได้ เริ่มตั้งแต่บ้าน อาชีพ รวมถึงภรรยาเก่าที่กลับมาขออยู่ที่บ้านหลังนี้

    จุดสรุปของเรื่องเริ่มต้นขึ้น เมื่อชายชาวประมงได้กลับมาที่บ้านของเขาในวันที่ธงไชยและสายใจมีความสัมพันธ์อันลึกซึ้งต่อกันแล้ว เขาจึงออกไปปลิดชีพไต้ก๋งด้วยกระสุนปืนก่อนจะกลับมาที่บ้านเพื่อบอกกับสายใจว่าจะย้ายออกไป แต่สายใจทัดทาน “พี่จะย้ายไปไหน นี่มันบ้านพี่นะ” จนในตอนท้ายกลายเป็นธงไชยที่ต้องออกมาจากบ้านหลังนั้นแทน

    ด้วยสาระสำคัญที่ได้รับจากเรื่อง อาจทำให้เข้าใจได้ว่าภาพยนตร์ต้องการสื่อเรื่องราวของคนต่างถิ่นที่ต้องเข้ามาอยู่ในสถานที่แห่งใหม่ ต้องปรับวิถีการดำเนินชีวิตใหม่ แต่ในตอนสุดท้ายก็มีเหตุทำให้จำต้องออกไปจากที่ซึ่งไม่ใช่ที่ของตน ซึ่งถ้าได้สังเกตในตอนต้นของเรื่องก็จะพบกับคำอุทิศที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “แด่โรฮิงญา For the Rohingyas”  และนั่นคงทำให้ผู้ชมสามารถตั้งค่าความคิดของตนเองว่าจะต้องอ่านเรื่องราวที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้อย่างไร


    แต่สิ่งที่น่าสนใจภายในเรื่องนอกจากประเด็นหลักด้านชาติพันธุ์ก็คือ ภาพยนตร์ได้ซ่อนจุดเล็ก ๆ ที่สะท้อนประเด็นด้านความเชื่อทางศาสนาเอาไว้ด้วย กล่าวคือ ภาพยนตร์ไม่เพียงสะท้อนความเป็น “ชาตินิยม” ผ่านสัญญะการกีดกันทางชนชาติ คือการเสนอตัวละครมาในฐานะ “คนไทย” และคนที่ “ไม่ใช่คนไทย”  แต่ได้สะท้อนค่านิยมเรื่อง “ศาสนาประจำชาติ” ผ่านการเสริมมุมมองด้วยตัวละครที่เป็น “คนพุทธ” และคนที่ “ไม่ใช่คนพุทธ” ด้วย เมื่อนำบทบาทและความสัมพันธ์ของตัวละครหลัก ๆ ภายในเรื่องมาเขียนด้วยแผนผังสี่เหลี่ยมสัญศาสตร์ จะได้ลักษณะดังนี้


    จะเห็นว่า ผังสี่เหลี่ยมสัญศาสตร์แบ่งกลุ่มตัวละครตามอัตลักษณ์ได้ 4 ชุด ดังนี้

    1) คนไทยที่นับถือศาสนาพุทธ ได้แก่ ชายชาวประมง และสายใจ[1]
    2) คนไทยที่นับถือศาสนาอื่น ได้แก่ ไต้ก๋ง
    3) คนชาติอื่นที่นับถือศาสนาพุทธ (ไม่พบตัวละครในกลุ่มนี้)
    4) คนชาติอื่นที่นับถือศาสนาอื่น ได้แก่ ธงไชย

    การปะทะกันของวัฒนธรรมเหล่านี้ คือสิ่งที่ภาพยนตร์ตั้งใจนำมาเป็น “ชนวน” เพื่อนำไปสู่ “โศกนาฏกรรม” ขนาดย่อมในตอนท้ายของเรื่อง หากพิจารณากลุ่มตัวละครแบบที่ 1 คือกลุ่มตัวละครแบบ “ไทยพุทธ” ได้แก่ “ชายชาวประมง” และ “สายใจ” ซึ่งเป็นภาพแทนของ “คนไทย” ตามนิยาม “ความเป็นไทยกระแสหลัก” คือการนับถือ “ศาสนาพุทธ” ซึ่งเป็น “ศาสนาประจำชาติโดยพฤตินัย[2]” ของประเทศไทย (ซ้ำยังมีการแฝงภาพพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็น 1 ใน 3 สถาบันหลักของชาติไว้ในเรื่องด้วย) เรื่องราวของตัวละครกลุ่มนี้ คือการแสดงให้เห็นอิทธิพลของการเป็น “เจ้าบ้าน” ดังจะเห็นได้จาก “ชายชาวประมง” ที่แม้จะหายไปจากบ้านของเขาด้วยเหตุผลใดก็ตาม ในตอนสุดท้าย บ้านก็จะยังคงเป็นบ้านของเขาตามที่สายใจได้กล่าว รวมถึงในมุมของ “สายใจ” ที่เคยหายไปจากบ้านหลังนี้เพราะมีผู้ชายคนใหม่ ในตอนท้ายเธอก็กลับมาอยู่ที่บ้านของชายชาวประมงได้เช่นเดิม แม้แต่ตอนที่ไปสัมภาษณ์งานโรงงานที่เธอเคยทำ เธอก็ผ่านเข้าทำงานได้อย่างง่ายดาย กล่าวคือ ตัวละครสองตัวนี้ได้ถ่ายทอดประเด็นด้านอัตลักษณ์ของความเป็นชาติที่มีร่วมกัน ทำให้การกลับมาอยู่ด้วยกันและกลับมาอยู่ในที่เดิมที่เดียวกัน (ซึ่งมีความเป็น “บ้าน”) ไม่ใช่สิ่งที่ยากจะเกิดขึ้น


    ส่วนกลุ่มตัวละครแบบที่ 2 จะเห็นได้จากตัวละคร “ไต้ก๋ง” ตัวละครสมทบที่ค่อนข้างมีอิทธิพลต่อการเล่าเรื่องอยู่พอสมควร เพราะไต้ก๋งนั้นเป็นเจ้านายบนเรือหาปลาของชายชาวประมง ซ้ำยังเป็นคนที่ให้ชายชาวประมงนั้นฝัง “ศพ” ซึ่งไม่ทราบที่มาแน่ชัดในป่าที่มีหินสีอยู่มากมาย ศพเหล่านั้นอาจเป็นสัญญะของเหยื่อชาวโรฮิงญาที่ถูกล่าหรือไม่ก็มิอาจอนุมาน แต่ที่น่าสนใจคือ ไต้ก๋งคนนี้นับถือ “ศาสนาอิสลาม” ซึ่งมิใช่ศาสนาในกระแสหลักของชาวไทย ซ้ำยังมีเรื่องเล่าชุดที่สร้างวาทกรรมว่าด้วยความขัดแย้งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยว่า เกิดจากความขัดแย้งระหว่างชาวไทยพุทธและไทยมุสลิม  แม้ความเป็นจริงในประเทศไทยจะมิได้เป็นเช่นนั้น หากแต่มีมิติที่ซับซ้อนกว่าอำนาจแห่งเรื่องเล่าชุดนั้นมากก็ตาม  แต่ในประเทศเมียนมานั้น การปะทะกันของชาวพุทธและชาวมุสลิมนี่เองที่เป็นชนวนให้ชาวโรฮิงญาต้องอพยพออกมาจากประเทศ  ในมิติของการสร้าง ตัวละครไต้ก๋งนี้สะท้อนภาวะ "ความเป็นอื่น"  ในแดนตน เนื่องจากไม่ได้นับถือ “ศาสนาประจำชาติ” ร่วมด้วยใช่หรือไม่?   ส่วนการที่เขามีอำนาจสั่งคนให้ฝังศพนั้น ก็อาจสื่อความว่า ไต้ก๋งเป็นตัวแทนของกลุ่มคนที่มีส่วนร่วมในขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาด้วย


    สำหรับกลุ่มตัวละครแบบที่ 3 คือกลุ่มคนชาติอื่นที่นับถือศาสนาพุทธนั้น ไม่ได้มีปรากฏในภาพยนตร์เลย อาจเป็นเพราะไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันทางประวัติศาสตร์ที่ชัดเจน หรืออย่างน้อยที่สุดคือ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเส้นเรื่องของภาพยนตร์นี้ที่พยายามสะท้อนเหตุการณ์การอพยพของชาวโรฮิงญา

    ส่วนกลุ่มตัวละครแบบที่ 4 นั้น ได้สะท้อนผ่านตัวละคร  “ธงไชย” ในฐานะ “คนชาติอื่น” (ชาวโรฮิงญา) ที่ต้องจำยอมออกไปจากพื้นที่ของ “คนไทย” ซึ่งถ่ายทอดผ่านซีเควนซ์ (sequence) การจากไปของธงไชย อันประกอบไปด้วยฉาก (scene) ต่าง ๆ ได้แก่ ฉากการถอดเสื้อผ้า หมายถึงการละทิ้งลักษณะภายนอกที่ “คนไทย” หยิบยื่นหรือยัดเยียดให้ ฉากนำโคลนมาพอกผมที่ถูกย้อม หมายถึงการย้อมคืนแนวคิดและความทรงจำทั้งหลายที่เคยได้รับจาก “คนไทย”  รวมถึงฉากที่กระสุนปืนกลับมาอยู่ที่อกของธงไชยอีกครั้ง นั่นหมายถึงบาดแผลของการถูกทอดทิ้งและขับไล่ซึ่งไม่ต่างจากในตอนต้นเรื่อง  จึงนำไปสู่ฉากการกลับลงผืนน้ำแล้วกลายไปเป็นกระเบนราหู บทบาทของธงไชยนี้เองที่ได้สะท้อนเส้นเรื่องหลักของภาพยนตร์ คือการนำเหตุการณ์การอพยพของชาวโรฮิงญาเมื่อหลายปีก่อนมาเป็นวัตถุดิบหลักของเรื่อง


    เมื่อนำกลุ่มตัวละครแบบที่ 1 คือ “ชายชาวประมง” มาเปรียบเทียบให้เห็นอิทธิพลทางศาสนากับชะตาชีวิตของกลุ่มตัวละครแบบที่ 2 คือ “ไต้ก๋ง” ก็จะพบว่าการที่ชายชาวประมงซึ่งเป็นชาวไทยพุทธ สามารถทำผิดคือการลงมือฆ่าไต้ก๋งซึ่งเป็นชาวไทยมุสลิมได้โดยที่ไม่มีผลใด ๆ ในตอนท้ายเรื่อง กล่าวคือ ชายชาวประมงสามารถกลับไปอยู่ที่บ้านได้อย่างปกติ ต่างจากไต้ก๋งที่ได้ทำผิดโดยการฆ่าหลาย ๆ ชีวิตในตอนต้นเรื่อง (รวมถึงพยายามฆ่าชายชาวประมง) กลับถูกตัดสิน (โดยบทภาพยนตร์) ให้ตายไปด้วยวิธีที่เหี้ยมโหด ไม่ต่างจากลักษณะของกลุ่มตัวละครในแบบที่ 1 อีกคนคือ “สายใจ” (อนุมานว่าเป็นชาวไทยพุทธ) ที่แม้จะทำผิดกับชายชาวประมง ก็ยังได้กลับมาอยู่ที่บ้านของชายชาวประมง ในขณะที่ “ธงไชย” ซึ่งเป็นกลุ่มตัวละครในแบบที่ 4 ที่จริง ๆ ไม่ได้ทำผิดอะไร กลับต้องออกจากบ้านหลังนั้นเพราะไม่ใช่ทั้ง “คนไทย” และ “คนพุทธ”

    กล่าวโดยสรุปคือ ภาพยนตร์เรื่องนี้นั้นไม่เพียงสะท้อนให้เห็นภาพ “การปะทะกันของวัฒนธรรม” แบบ “คนต่างชนชาติ” แต่ยังแฝงลักษณะการปะทะกันแบบ “คนต่างศาสนา” เอาไว้อย่างน่าสนใจ ด้วยเรื่องความยึดติดในชาติและศาสนานี้เอง ที่เป็นชนวนทำให้เกิดความรุนแรงในหลาย ๆ พื้นที่ทั่วโลก คงไม่ผิดที่ภาพยนตร์พยายามจะ “พยากรณ์” เหตุการณ์การปะทะกันทางศาสนาที่อาจเกิดขึ้นในสังคมไทยในอนาคต หากคนในชาติยังคงยึดติดกับอัตลักษณ์แบบ “ความเป็นไทยกระแสหลัก” จนไปลิดรอน “สิทธิที่จะมีชีวิตอยู่” ของผู้อื่น สิ่งที่เกิดขึ้นใน “กระเบนราหู” นี้ ก็คงจะเป็น “บทเรียน” ดี ๆ ที่ทำให้ผู้ชมตระหนักรู้และเห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นได้ไม่มากก็น้อย



    [1] อนุมานจากการไปเที่ยวงานวัด เนื่องจากไม่พบฉากที่บอกได้แน่ชัด

    [2] เพราะมีคนไทยส่วนใหญ่นับถือมาตั้งแต่เริ่มสถาปนารัฐไทยในสมัยกรุงสุโขทัย และพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ก็ทรงเป็นพุทธมามกะ แต่เมื่อว่าโดยนิตินัย พระพุทธศาสนายังไม่เป็นศาสนาประจำชาติไทย เพราะยังไม่มีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475

    บทวิจารณ์โดย...แก้วดี (นักเรียนวิจารณ์ย่านปทุมวัน)

    *** สำหรับผู้สนใจ สามารถฟัง Manta Ray podcast​ พอดแคสต์ที่จะพาคุณล่องลอยเข้าสู่โลกแห่งการช่างคิดชวยคุย ในตอนนี้ หงส์ และ กบ นักเรียนวรรณกรรมวิจารณ์ที่อยากลองตีความภาพยนตร์ จะมาชวนคุณคุยถึงภาพยนตร์เรื่อง กระเบนราหู (Manta Ray) ซึ่งตีแผ่ประเด็นเรื่องผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาใน "ว่ายน้ำกับ Manta Ray" ***


    © สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับเพิ่มเติม) พ.ศ. 2558

    บทวิจารณ์นี้เป็นผลงานจากรายวิชา “วรรรกรรมวิจารณ์” ปีการศึกษา 2563 เผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางวิชาการเท่านั้น ไม่อนุญาตให้ทำซ้ำหรือดัดแปลง
  • บรรณานุกรม

    กระเบนราหู (Manta Ray) หนังไทยที่เพิ่งคว้ารางวัลในเวนิส. (10 กันยายน 2561). บีบีซี นิวส์ ไทย. สืบค้นจาก https://www.bbc.com/thai/features-45469513?ocid=socialflow_facebook&fbclid=IwAR21pZK-OXZuDsD-8xnwIPMe-zEqb9WNZF8dz4Ol0TvyQNSgBWLoipxIqTc

    ฉัตรรวี เสนธนิสศักดิ์ (Interviewer). (24 มกราคม 2562). พุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง ผู้กำกับกระเบนราหู กับบทพิสูจน์จากคนต่างมุมโลก [แฟ้มข้อมูลวีดิทัศน์]. สืบค้นจาก https://www.youtube.com/watch?v=gBPzb1EXaRg&feature=youtu.be

    พระธรรมโกศาจารย์. (2558). ศาสนาประจำชาติไทย. สืบค้นจาก https://www.mcu.ac.th/article/detail/14216

    พุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง (Director). (2561). กระเบนราหู: Manta Ray [ภาพยนตร์]. ระยอง, ระนอง, สมุทรสาคร และกรุงเทพมหานคร: Diversion (Thailand) และ Les Films de l’Étranger (France).

    อุ้ม Manta Ray [แฟ้มข้อมูลวีดิทัศน์]. (1 ตุลาคม 2561). สืบค้นจาก https://www.youtube.com/watch?v=7xE-Xafylw4

    เอกลักษณ์ เชื้อวงษ์ (Director). (24 ตุลาคม 2561). อัตลักษณ์ ชาตินิยมและผู้ลี้ภัย สู่หนังไทยเรื่องแรกคว้ารางวัลจากเวนิส ‘กระเบนราหู’ [แฟ้มข้อมูลวีดิทัศน์]. สืบค้นจาก https://www.youtube.com/watch?app=desktop&feature=youtu.be&v=Rzr22PeJFUM

    Manta Ray กระเบนราหู [เพจ]. (2563). สืบค้นจาก https://www.facebook.com/krabenrahu/

    The Momentum. (10 กันยายน 2561). ‘กระเบนราหู’ หนังไทยเรื่องแรกที่คว้าชัยจากเทศกาลหนังเวนิช [บล็อก]. สืบค้นจาก https://www.facebook.com/1551751431783222/posts/1998582580433436/
  • เบ็ดเตล็ด

    ภาพยนตร์ “กระเบนราหู” ได้เข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์ต่าง ๆ มาแล้วทั่วโลก รวมถึงเข้าร่วมในสายการประกวดมากมาย จนถึงปัจจุบันได้รับรางวัลแล้วทั้งสิ้น 21 รางวัล ดังนี้

    1) Orizzonti Award for Best Film: 75th Venice International Film Festival
    2) Golden Gateway Award for International Competition: 20th Mumbai Film Festival
    3) Special Jury Award “Youth on the March”: 25th Minsk International Film Festival
    4) Bronze Alexander Special Jury Award for Best Director: 59th Thessaloniki International Film Festival
    5) Best Artistic Achievement Cinematography: 59th Thessaloniki International Film Festival
    6) Human Values Award: 59th Thessaloniki International Film Festival
    7) Special Mention Award: 16th Zagreb Film Festival
    8) Silver Pyramid Award: 40th Cairo International Film Festival
    9) 36th Premier Film Festival in Annonay
    10) Grand Jury Prize: 36th Annonay International Film Festival
    11) Special Mention: 33rd Cabourg Film Festival
    12) Special Mention: 22nd Taipei Film Festival
    13) Best ASEAN Film: 5th Bangkok ASEAN Film Festival
    14) ภาพยนตร์ไทยยอดเยี่ยม: คมชัดลึก อวอร์ด ครั้งที่ 16
    15) ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม: Starpics Thai Film Awards ครั้งที่ 17
    16) กำกับภาพยอดเยี่ยม: Starpics Thai Film Awards ครั้งที่ 17
    17) ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม: Starpics Thai Film Awards ครั้งที่ 17
    18) กำกับภาพยอดเยี่ยม: รางวัลภาพยนตร์ไทย ชมรมวิจารณ์บันเทิง ครั้งที่ 28
    19) ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม: รางวัลภาพยนตร์ไทย ชมรมวิจารณ์บันเทิง ครั้งที่ 28
    20) ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม: รางวัลสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ครั้งที่ 10
    21) ผู้กำกับยอดเยี่ยม: รางวัลสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ครั้งที่ 10
    22) กำกับภาพยอดเยี่ยม: รางวัลสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ครั้งที่ 10

    (ที่มา: Facebook page: Manta Ray กระเบนราหู)

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in