เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ด้วยรักและกาแฟ Love at first sipF.
กรุงโซล เมืองกาแฟ
  • ADVERTISEMENT


    ADVERTISEMENT

    ADVERTISEMENT

    เคยอ่านบทความ Korean COFFEE culture 101 ของทางเว็บไซต์ Perfect Daily Grind (PDG) ซึ่งเป็น Digital online coffee media แหล่งรวมข่าวสารเกี่ยวกับวงการกาแฟ Specialty coffee ในทั่วทุกมุมโลก ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับจุดเริ่มต้นของกาแฟในเกาหลีไว้ว่า เมื่อปี 1896 ในรัชสมัยพระเจ้าโกจง (고종 광무제) จักรพรรดิแห่งราชวงศ์โชซอน พระเจ้าโกจงและองค์รัชทายาทได้ลี้ภัยไปยังสถานทูตรัสเซีย หลังจากที่จักพรรดินีมยองซอง (명성황후) ถูกลอบปลงพระชมน์ ที่นั่น Antoinette Sontag ซึ่งเป็นน้องสะใภ้ชาวเยอรมันของกงสุลชาวรัสเซียได้เสนอให้พระเจ้าโกจงลองลิ้มรสกาแฟจนพระองค์ติดใจในรสชาติ และ 6 ปีต่อมา พระเจ้าโกจงได้สนับสนุนให้อองตัวเนตต์เปิดดาบัง (다방 คือร้านกาแฟ) แห่งแรกในเกาหลี เป็นสถานที่ดื่มกาแฟของทูตชาวต่างชาติ เมื่อญี่ปุ่นเข้ายึดครอง (ปีค.ศ. 1910-1945) เลยมีการเปิดดาบังเพิ่มมากขึ้น และเมื่อพระเจ้าโกจงถูกคุมขังให้อยู่ในพระราชวังชางด็อก ( Changdeok-gung) แต่กาแฟก็ยังเป็นเครื่องดื่มที่พระองค์โปรดปราน

    นอกจากนี้กลุ่มคนที่นิยมดื่มกาแฟคือกลุ่มชนชั้นสูงที่ร่ำรวยอย่างเชื้อพระวงศ์ นักธุรกิจ ศิลปิน และปัญญาชนต่างชื่นชอบในรสของกาแฟเป็นอันมาก การดื่มกาแฟเลยกลายเป็นสิ่งสะท้อนสถานะทางสังคมวัฒนธรรมตะวันตกที่มีในเกาหลี พัฒนาการครั้งสำคัญของวัฒนธรรมกาแฟเกาหลีเกิดขึ้นในช่วงสงครามเกาหลี (ค.ศ.1950-1953) ชาวอเมริกันได้นำกาแฟสำเร็จรูปเข้ามา ในช่วงนั้นทางดาบังเองก็ยังวิตกกังวลเกี่ยวกับการเมืองในขณะนั้น เพราะร้านกาแฟกลายเป็นสถานที่นัดพบของคนที่มีอำนาจทางการเมือง

    เมื่อย้อนมาดูไทม์ไลน์ เส้นทางกาแฟในเกาหลีพบว่าในช่วงปี ค.ศ.1960 ทาง Dongsuh Foods ภายใต้การผลิตของ Maxwell Housse ทำกาแฟสำเร็จรูปออกวางขายในท้องตลาด ทำให้ชนชั้นกลางได้ลิ้มรสกาแฟมากขึ้น ช่วงปี 70s  ถึงยุคที่ร้านกาแฟกลายเป็นที่นัดพบหรือสถานที่เดตของคนหนุ่มสาว ทั้งนักเรียน นักศึกษา พวกเขามาที่ดาบังหรือคาเฟ่เพื่อมาฟังการแสดงสดของดีเจ มาพบปะและสังสรรค์กัน ในช่วงนี้เองที่กาแฟเริ่มแพร่หลายจนต้องมีเครื่องชงกาแฟตั้งอยู่ตามออฟฟิศ หรือแม้แต่ในมหาวิทยาลัยเองด้วย ในยุค 80s ชาวเกาหลีเริ่มซื้อชา กาแฟ และเครื่องดื่มโซดาในคาเฟ่กันมากขึ้น มีการใช้เครื่อง Espresso machine เพิ่มมากขึ้น ในยุคนี้โรงคั่วกาแฟก็คึกคัก คนเกาหลีเริ่มหันมาดื่มกาแฟที่ได้คุณภาพ ที่ท้้งคั่ว ทั้งบดและชงในร้าน

    หลังจากปี ค.ศ.1989 เป็นต้นมา เศรษฐกิจเกาหลีเติบโตขึ้น รายได้ของประชากรเพิ่มมากขึ้นจนสามารถใช้จ่ายเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น ประกอบกับที่เกาหลีได้เป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิคในปี 1988 และคนเกาหลีเองก็ได้ออกไปเที่ยวต่างประเทศ ได้สัมผัสกับกาแฟที่หลากหลายมากขึ้น ได้เห็นคาเฟ่ของทางยุโรป วงการกาแฟเกาหลีก็เริ่มมีอะไรใหม่ ๆ จากการที่คนเกาหลีเองได้ไปเรียนรู้และสัมผัสกับกาแฟระดับโลกมากยิ่งขึ้น

    ในยุค 90s จะเห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น มีการขยายสาขาของคาเฟ่ต่าง ๆ คาเฟ่ที่ไม่มีพนักงานเสิร์ฟ แต่สามารถมารับกาแฟได้ที่เคาน์เตอร์ เมื่อทานเสร็จก็เอาแก้วมาเก็บ ร้านที่สามารถซื้อ Take away ได้ง่าย สะดวก และรวดเร็ว คนเกาหลีเริ่มดื่มกาแฟอย่างจริงจัง การชงก็หลากหลายมากขึ้น ไม่ได้มีแค่เอสเพรสโซขม ๆ จากเครื่องชง แต่มีกระบวนการชงที่มากกว่านั้น มีอเมริกาโนหรือลองแบล็ค ซึ่งก็ง่ายและรวดเร็วไม่ต่างกัน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา การเป็นผู้บริโภคกาแฟของชาวเกาหลีใต้ได้เติบโตอย่างรวดเร็ว ในปี 2005 มีร้านกาแฟถึง 800 แห่งในกรุงโซล ในปี 2011 มีถึง 12,381 แห่ง และในปีเดียวกันก็พุ่งขึ้นไปเป็น 15,000 แห่งทั่วกรุงโซล

    ด้วยร้านกาแฟที่ตั้งอยู่ทุก ๆ 50 เมตร ทำให้ธุรกิจร้านกาแฟในโซลค่อนข้างแข่งขันกันอย่างดุเดือด ผู้บริโภคเองก็เพิ่มมากขึ้น คนเกาหลีดื่มกาแฟในคาเฟ่ 12.3 ครั้งต่ออาทิตย์ อาจจะบ่อยเท่า ๆ กับอาหารประจำชาติอย่างกิมจิด้วยซ้ำ ในขณะที่พวกเขาเองก็มีกาแฟสำเร็จรูปไว้ติดบ้าน ตอกย้ำความเป็นชนชาตินักดื่มได้อย่างดี

    ใครที่เดินทางมาเที่ยวเกาหลีช่วงประมาณ 10 กว่าปีมานี้ จะพบว่ามีร้านกาแฟตั้งอยู่ทั่วทุกมุมเมือง พอ ๆ กับร้านหมูย่างหรือบางทีอาจมากกว่าด้วยซ้ำ ฉันนั่งคุยกับเพื่อนที่เป็นบาริสต้าเจ้าของร้านกาแฟในโซล เขาพูดถึงความเป็น Coffee lovers ของชาว Seoulite ได้น่าสนใจดี เขาบอกว่า คนเกาหลีรุ่นใหม่ชอบดื่มกาแฟ บางคนดื่มวันละสามเวลาหลังอาหารก็มี ร้านกาแฟจึงผุดขึ้นมามากมายทั่วทุกหัวระแหง บางแห่งเปิดถึงเที่ยงคืน และบางแห่งเปิดตลอด 24 ชั่วโมง บาริสต้าเกาหลีบางคนผ่านเวทีบาริสต้าระดับโลกมาแล้ว ซึ่งแน่นอนว่าตามร้านกาแฟต่าง ๆ ที่เปิดอยู่ทั่วกรุุงโซลในขณะนี้ มีทั้งบาริสต้าที่มีความรู้ในเรื่องของกาแฟเป็นอย่างดี กับพนักงานที่ชงกาแฟได้ทั่วไป คนเกาหลีโดยเฉพาะชาวโซลดื่มกาแฟกันเก่งมากพอ ๆ กับดื่มโซจู

    ที่เกาหลีก็เหมือนกับญี่ปุ่น คือไม่มีแหล่งปลูกกาแฟเป็นของตัวเอง แต่อิมพอร์ตเมล็ดกาแฟมาจากต่างประเทศ มีโรสเตอร์ (Roaster) อยู่มากมายในเกาหลี บางร้านมี Coffee Cupping กันทุกอาทิตย์ เพื่อพัฒนาคุณภาพและรสชาติของกาแฟให้ได้มาตราฐาน แต่ค่าเช่าร้านในโซลก็แพงแสนแพง มีบ้างที่บางร้านสู้ค่าเช่าไม่ไหว อยู่ไม่ได้ก็ต้องปิดตัวไป ร้านที่เฟื่องฟูบางร้านก็ขยายสาขาเพิ่มขึ้นเรื่ิอย ๆ

    คาเฟ่สัญชาติเกาหลี ไม่ได้มีหลายสาขาแค่ในประเทศตัวเองเท่านั้น แต่เกาหลีใต้ยังได้ตีตลาดทั่วทั้งเอเชีย อเมริกา ออสเตรเลีย ยุโรป รวมถึงในบ้านเราด้วย จากโลคอลแบรนด์กลายเป็นโกลบอลแบรนด์ ถือว่าเป็นความสำเร็จอีกขั้นของวงการกาแฟเกาหลีเลย

    ว่ากันตามตรงตามความรู้สึก กาแฟเกาหลีในร้านทั่วไปมีบอดี้ที่ค่อนข้างเบา รสไม่สตรองเหมือนกาแฟบ้านเรา คนเกาหลีจึงดื่มกาแฟได้เรื่อย ๆ จะเห็นจากคาเฟ่ที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นร้านที่มีสาขาอยู่ทั่วกรุงโซล ในย่านที่คนคึกคัก อย่างฮงแด อิแทวอน และคังนัม บางครั้งก็ออกจากผับแล้วเดินเข้าร้านกาแฟก็มี แต่อยากให้ลองมาดื่มกาแฟร้านเล็ก ๆ ที่ไม่ใช่แฟรนไชส์ดัง ๆ กันบ้าง แล้วคุณอาจจะร้องว่า “เอ๊ะ กาแฟเกาหลีก็อร่อยดีเหมือนกันนะ” แต่นอกเหนือจากความอร่อย เทสต์การตกแต่งร้านของคนเกาหลีก็จัดอยู่ในประเภทดีเยี่ยมเช่นกัน

    มีร้านกาแฟเกาหลีร้านหนึ่งแถวย่านยอนนัมดง เป็นร้านที่ฉันค่อนข้างจะชอบมากเป็นพิเศษ เป็นร้านเล็ก ๆ ที่ดังมาก ๆ ในหมู่คอกาแฟทั้งในเกาหลีและต่างประเทศ ที่ร้านจะเสิร์ฟแต่เมนูร้อนเพียงแค่ไม่กี่เมนูเท่านั้น เอาไว้วันหลังจะมาเล่าให้ฟังนะคะ

    วันนี้อันนยองไปก่อน 

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in