ห่างหายจากการเขียนหนังสือครั้งละยาวๆ เป็นเวลาหลายเดือน ตอนนี้เลยอยากกลับมาเขียนความเรียงอีกครั้งก่อนที่จะลืมวิธีการเขียนมันไป นั่งตีกับตัวเองมาตั้งนานว่าจะเขียนอะไรดี ก็ตัดสินใจได้ว่าอยากเขียนรีวิวชีวิตตัวเองว่าผ่านอะไรมาบ้าง ครั้งนี้ ซึ่งเป็นครั้งแรกในการเขียนลงเว็บไซต์ จึงอยากเขียนรีวิวประสบการสอบราชการของตัวเอง ตั้งแต่การสอบภาค ก (คือ กพ) ภาค ข (เป็นการทดสอบความรู้ของหน่วยงาน) และภาค ค (เป็นการสัมภาษณ์) รอบนี้เป็นการสอบนักวิเคราะห์นโยบายและแผน ของสภาพัฒน์ เพราะคิดว่าคนที่อยากสอบของหน่วยงานนี้น่าจะหาอ่านรีวิวการสอบยากพอสมควร หวังว่ารีวิวครั้งนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับคนที่สนใจ
เริ่มแรก ก่อนจะสามารถสอบเข้ารับราชการของสภาพัฒน์ได้จะต้องผ่าน กพ ก่อน ซึ่งการสอบ กพ นี้ (ปี 2562) จะแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนแรกคือ ความรู้ทั่วไป แบ่งเป็นคณิตศาสตร์ จะเน้นเป็นตรรกศาสตร์ คณิตศาสตร์พื้นฐาน ความน่าจะเป็น และภาษาไทย ซึ่งเป็นการถามตอบเหตุผลซะส่วนใหญ่ ส่วนที่สองเป็นภาษาอังกฤษ เป็นการวัดความรู้ภาษาอังกฤษเบื้องต้น การอ่าน การสนทนา แล้วก็แกรมม่าร์ และส่วนสุดท้ายจะเป็นกฎหมายสำหรับข้าราชการ เช่น พ.ร.บ. บริหารบ้านเมือง การเป็นข้าราชการที่ดี และพ.ร.บ. ที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เกณฑ์ผ่านของการสอบ กพ นี้ ปริญญาตรีจะอยู่ที่ 60% ของทุกส่วน ดังนั้นแนะนำให้ทำพอผ่านทุกส่วนแทนที่จะเทคะแนนไปที่ส่วนใดส่วนหนึ่ง
ในการเตรียมตัวการสอบ กพ นี้ เราต้องรู้ตัวเองก่อนว่ามีพื้นฐานส่วนใดบ้าง อย่างตัวเราพอมีความรู้ภาษาอังกฤษมาบ้าง และส่วนของกฎหมายนิดหน่อยจากการเรียนที่คณะ จึงทุ่มเทไปที่ส่วนคณิตศาสตร์และภาษาไทย ซึ่งนับว่ายากสำหรับเรา เพราะห่างหายจากการใช้มันไปนานมาก ๆ อีกอย่างหนึ่ง การสอบของส่วนความรู้ทั่วไปนี้ มีรูปแบบการตอบตายตัว ว่าถามอย่างนี้ ต้องตอบอย่างนี้ หากเราอยากจะตอบตามเซ้นส์ของเราส่วนมากจะผิดกัน แนะนำให้ดูวีดิโอตามยูทูปให้มีพื้นฐานการตอบจะดีกว่า สิ่งที่ยากอีกอย่างหนึ่งของ กพ คือเวลา ซึ่งให้เพียงแค่ 3 ชั่วโมงกับ 3 ส่วนการสอบ จึงต้องจัดการเวลาทำข้อสอบให้ดี ทำส่วนที่มั่นใจก่อน หรือทำส่วนที่ยากก่อน ก็ตามแต่ตัวเราจะถนัด
เมื่อผ่าน กพ แล้ว ต่อไปจะเป็นรอบการสอบภาค ข เราก็มองหาหน่วยงานที่อยากทำ สภาพัฒน์เป็นหนึ่งในนั้น เลยต้องหาข้อมูลของหน่วยงานก่อนสอบ ว่า หน่วยงานนี้จะเปิดรับสมัครเมื่อไหร่ สอบช่วงไหน มีแนวข้อสอบอย่างไร หน่วยงานทำเกี่ยวกับอะไรบ้าง ให้พอรู้ว่าข้อสอบจะออกมาแนวไหน (เป็นการคาดคะเนส่วนตัว) เมื่อถึงวันสอบก็ปฏิบัติตามเอกสารที่ประกาศในเว็บไซต์ เรื่องการพกอุปกรณ์เข้าห้องสอบ การแต่งตัว เวลาสอบ และอื่น ๆ สมควรทำให้ตรงตามประกาศของหน่วยงาน เพราะส่วนใหญ่เขาเคร่งครัดจริง ๆ หลังจากเข้าห้องสอบ ก็ตกใจข้อสอบอยู่เหมือนกัน...
ต้องบอกก่อนว่า ข้อสอบมี 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นข้อกา ทั้งหมด 50 ข้อ 50 คะแนน ออกเป็นความรู้ทั่วไปเกือบ 100% เช่น ข่าวสารการเมืองและเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ แนวนโยบายที่ไทยมีแผนจะทำในอนาคต ความรู้องค์การระหว่างประเทศ ความรู้เกี่ยวกับหน่วยงาน ความรู้พื้นฐานของการพัฒนาแผนและนโยบาย เรียกได้ว่าต้องมีความรู้รอบโลกและไทยจริง ๆ ถึงจะพอเดาคำตอบได้ (กดติดตามเพจของรัฐบาลและสภาพัฒน์ไว้เลย จะได้ไม่พลาดข่าวสาร)
อีกหนึ่งส่วนเป็นข้อเขียน มีทั้งหมด 3 ข้อ 150 คะแนน ข้อแรกเป็นส่วนเศรษฐศาสตร์ 60 คะแนน อาจจะถามความรู้ทั่วไปของเศรษฐศาสตร์เลย หรือเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจก็ได้ ข้อสองเป็นส่วนสังคม 60 คะแนน อาจเป็นปัญหาสังคมซะส่วนใหญ่ ทั้งสองส่วนนี้นับว่าเป็นส่วนเก็บคะแนนเลย เพราะข้อสอบถามความคิดเห็น ความรู้ที่เรามี และการหาแนวทางจัดนำนโยบายนั้น ๆ ไม่มีส่วนผิดหรือถูกแน่นอน ตอบถามที่เราคิดและรู้สึกก็ได้เลย (ต้องอยู่บนเหตุผลและโน้มน้าวให้ผู้อ่านเชื่อถือด้วยนะ) ส่วนสุดท้ายเป็นการแปลและสรุปอังกฤษเป็นไทย 30 คะแนน ส่วนนี้มาจากบทความของเว็บไซต์ใดเว็บไซต์หนึ่ง แนะนำให้ฝึกอ่านและติดตามเว็บไซต์ข่าวต่างประเทศเอาไว้ เช่น The Conversation, World Bank, IMF, and UN จะทำให้เราคุ้นรูปประโยคและคำศัพท์ ส่วนนี้แนะนำให้อ่านโจทย์ดี ๆ ว่าให้แปลและสรุป หรือแปลอย่างเดียว หรือสรุปอย่างเดียว เพราะบางคนแปลดีมาก แต่แปลไปทั้งบทความก็อาจจะทำให้คะแนนลดลงได้ เพราะลืมสรุปความ ดังนั้นต้องประคองสติไว้ให้มาก
พอสอบภาค ข เสร็จก็ใช้เวลาประมาณ 1 เดือนในการตรวจข้อสอบและประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านเข้ารอบสัมภาษณ์ เราโชคดีที่ได้เป็น 1 ในนั้น เราเตรียมตัวเองในทุกย่างก้าวเลย ทั้งเสื้อผ้าหน้าผม ความรู้องค์กร ลักษณะท่าทาง และเอกสารตามประกาศของหน่วยงาน เพราะรู้สึกว่าเราควบคุมผลสอบไม่ได้ ไม่รู้ว่าเขาจะตัดสินส่วนไหนบ้าง พอถึงวันสัมภาษณ์ ก็ตื่นเต้นมาก เดินไปลงทะเบียนและตรวจสอบเอกสาร แนะนำว่าอะไรที่เป็นสำเนาต้องเซ็นสำเนาถูกต้อง ใบตรวจร่างกายก็ต้องเป็นรูปแบบของปีปัจจุบัน (ซึ่งครั้งนี้เป็นปี 2566) และควรเป็นของโรงพยาบาล ไม่ใช่ของคลินิก
การสอบสัมภาษณ์ของสภาพัฒน์ แบ่งออกเป็น 2 ส่วนอีกเช่นเคย คือ ส่วนแรกเป็นการอภิปราบกลุ่ม กลุ่มละ 7 คน ให้ออกแบบแนวทางแก้ปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจต่าง ๆ ในประเทศไทยนี่แหละ เสร็จแล้วก็นำเสนอหน้าห้อง จำกัดกลุ่มละ 10 นาทีสำหรับให้คิดหาแนวทาง และ 10 นาทีสำหรับนำเสนอ กรรมการจะนั่งอยู่หลังห้องคอยสังเกตพฤติกรรม ซึ่งคิดว่าหน่วยงานนี้กรรมการตัดสินเยอะมาก นั่งเรียงกันเกือบ 10 คน แทบจะขนกันมาทั้งหน่วยงาน เมื่อส่วนแรกผ่านไปด้วยดี เราก็เข้าสัมภาษณ์รายบุคคล เขาเรียงลำดับตามประกาศของหน่วยงาน โชคร้ายที่เราไม่ได้เป็นคนแรก ๆ ที่ได้เข้าสัมภาษณ์ทำให้นั่งตื่นเต้นอยู่นาน แนะนำให้ชวนเพื่อนข้าง ๆ คุยลดความตื่นเต้น แถมยังได้ความรู้ใหม่ ๆ ด้วย
พอถึงคิวเราสัมภาษณ์ เขาจะให้เราฝากกระเป๋าไว้หน้าห้อง ห้ามนำของติดตัวเข้าไปเด็ดขาด รวมถึงเรซูเม่ด้วย ดังนั้นอย่าเตรียมไปเลยดีกว่า เขาดูแค่ประวัติเราที่อยู่ในใบสมัครและทรานสคริปเท่านั้นแหละ พอเดินมาถึงจุดที่เขาให้นั่งก็เปิดไมค์เพื่อเตรียมตอบคำถามกรรมการ ย้อนไปด้านบนที่บอกว่ากรรมการตอนอภิปรายเยอะมาก ตอนสัมภาษณ์รายบุคคลเยอะกว่าค่ะ เรียกได้ว่าเกิน 10 คนแน่นอน เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้ว เขาจะให้เราแนะนำตัวคร่าว ๆ แล้วถามต่อว่า ทำไมถึงอยากมาทำงานที่นี่ รู้จักหน่วยงานนี้ได้อย่างไร พวกนี้เป็นคำถามหลักที่เขาจะถามทุกคน หลังจากนั้นก็จะถามประวัติที่แต่ละคนที่เขียนไปเลยว่าอยากให้เขาถามอะไรบ้าง อย่างหนึ่งที่รู้สึกได้คือ เค้าจะกดดันเราแน่นอน แย่งกันถามจนตั้งสติไม่ได้ หาข้อด้อยมาติเรา และอื่น ๆ อีกมากมาย แต่เรารู้สึกว่าบรรยากาศการสัมภาษณ์ไม่ได้เครียดเลย เพียงแค่ต้องคุมสติแล้วตอบคำถามเขาให้ได้แค่นั้น
หน่วยงานนี้สัมภาษณ์รายบุคคลเพียงแค่ 7 นาทีเท่านั้น เราก็เดินออกมาจากห้องประชุม ความรู้สึกตอนนั้นคือ เราคุมสติไม่ได้เลย เป็นตัวเองสุด ๆ คือมีอีโก้เพื่อป้องกันตัวเองจากกรรมการ เถียงเก่ง พูดถึงข้อด้อยของหน่วยงาน แถมยังบอกว่าไม่เคยรู้จักหน่วยงานนี้อีก แต่จะกลับลำก็ไม่ทันแล้ว เลยต้องแล้วแต่กรรมการแล้วที่ต้องเป็นผู้ตัดสิน
เมื่อกลับมาคิดทบทวนกับตัวเองและเพื่อนดูแล้ว บอกได้เลยว่าบรรยากาศการสััมภาษณ์เหมือนเวิร์คช้อปเชิงวิชาการมากกว่าการสัมภาษณ์งาน มีสีสัน ไม่เรื่อยเปื่อยจนน่าเบื่อ สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าผลการสอบจะออกมาเป็นอย่างไร การสอบครั้งนี้นับเป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ที่น่าจดจำ จึงอยากเขียนเอาไว้ให้ตัวเองกลับมาอ่านอีกหลาย ๆ ครั้ง และหวังว่าจะเป็นประโยชน์ให้กับผู้สอบตำแหน่งนี้ของสภาพัฒน์ฯ ที่หาอ่านรีวิวยากจนเราต้องมาเขียนเอง
ขอบคุณค่ะ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in