เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ยChaitawat Marc Seephongsai
โลกของคนไร้บ้าน By บุญเลิศ วิเศษปรีชา
  • รีวิวเว้ย (172) คำถามที่ท้าทายคือ เราจะยอมรับได้หรือไม่ว่า มีเพื่อนร่วมสังคมเดียวกันที่นอนในที่สาธารณะ เขาไม่ได้เป็นมิจฉาชีพ ไม่ได้เป็นคนวิกลจริต ไม่ใช่คนที่เพิ่งเดินทางมาจากต่างจังหวัด แต่เขามีวิถีชีวิตต่างจาก "เรา" ตรงที่ "เขา" ไม่มีบ้าน ถ้าไม่อาจยอมรับ เราจะมีแนวทางสนับสนุนให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างไร (โลกของคนไร้บ้าน น.153)
    หนังสือ :โลกของคนไร้บ้าน
    โดย : บุญเลิศ วิเศษปรีชา
    จำนวน : 208 หน้า
    ราคา : 230 บาท

               เมื่อพูดถึงชื่อของ "คนไร้บ้าน" หลายคนอาจจะตั้งคำถามว่าคืออะไร แต่ถ้าเราเรียกเขาเหล่านั้นด้วยคำเรียกแบบสมัยก่อนอย่าง "คนเร่ร่อน" ละ หลายคนอาจจะร้องอ๋อขึ้นมาทันที แต่ในความเป็นจริง "คนไร้บ้าน" กับ "คนเร่ร่อน" ดูจะมีความแตกต่างกันอยู่ในที ทั้งเรื่องของการให้ความหมาย และการสร้างความรับรู้ของคนทั่วไป

              "โลกของคนไร้บ้าน" เป็นหนังสือที่เปิดพรมแดนความรู้ในเรื่องราวของคนที่เรามองเขาว่าเป็น "คนเร่ร่อน" ผ่านสายตาของนักสังคมวิทยา ที่ใช้วิธีการเก็บข้อมูลด้วยการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคนไร้บ้าน หรือจะพูดให้ดูน่าตื่นเต้นก็คือ "ปลอมตัว" เป็นคนไร้บ้านและเข้าไปใช้ชีวิตร่วมกันกับพวกเขา

              "โลกของคนไร้บ้าน" บอกกับเราว่าแท้จริงแล้วการที่ใครสักคนหนึ่งจะเปลี่ยนตัวเองจาก "คนมีบ้าน" ให้กลายเป็น "คนไร้บ้าน" นั้นมีปัจจัยสนับสนุนอยู่ด้วนกันมากมาย ทั้งเรื่องของปัจจัยภายในตัวของคนไร้บ้านเอง และปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อพวกเขาและผลักให้เจากลายเป็นคนไร้บ้าน

              "โลกของคนไร้บ้าน" เขียนขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปี 2544-2546 โดยพัฒนามาจากวิทยานิพนธ์ของ "ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา" ที่พยายามเข้าไปศึกษา เรียนรู้ และทำความเข้าใจคนไร้บ้าน ในมุมมองที่ต่างออกไปจากสายตาของผู้มีอำนาจในรัฐ

               งานศึกษาชิ้นนี้ทำให้เราเข้าใจว่าอะไรทำให้ใครคนหนึ่งกลายเป็นคนไรบ้าน และอะไรที่เป็นปัจจัยและกลไกในการแก้ไขจัดการในเรื่องของคนไร้บ้าน ได้ดีกว่าการล้อมรั่วสนามหลวง ล้อมรั้วสวนสาธารณะ และกีดกันพวกเขาออกไปจากสังคม ซึ่งแต่เดิมสถานะของคนไร้บ้านก็ถูกกัดกันออกจากสังคมมากพอแล้ว

              การที่เราจะมองว่าใครคนหนึ่ง หรือสิ่ง ๆ หนึ่งเป็นปัญหาของสังคม หลายครั้งเรามองมันด้วยปัญหาและสายตาของผู้มีอำนาจ แต่หลายครั้งทั้งเราและผู้มีอำนาจในการแก้ไขปัญหา ไม่เคยมองมันจากมุมมองที่ต่างออกไป ทำให้หลายครั้งเรามักแก้ปัญหาอะไรหลาย ๆ อย่างที่ปลายเหตุ ซึ่งในท้ายที่สุดปัญหาเหล่านั้นไม่ได้ถูกแก้ไขอย่างแท้จริง เพียงแต่ถูกกวาดเอาไปไว้ใต้พรม ขายผ้าเอาหน้ารอดไปวัน ๆ ตามสไตล์ของรัฐไทยและผู้มีอำนาจในบ้านเมือง

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in