เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิว โฉมหน้าศักดินาไทย: หนังสือที่ไพร่ควรอ่านSENNELIER
โฉมหน้าศักดินาไทย หนังสือที่ไพร่ทั้งหลายควรอ่าน

  • ผู้เขียน สมสมัย ศรีศูทรพรรณ (จิตร ภูมิศักดิ์)

    สำนักพิมพ์ ศรีปัญญา

             บอกเลยว่าการเริ่มอ่านหนังสือเล่มนี้เริ่มจากเพื่อนคนหนึ่งที่เป็นหนอนหนังสือเหมือนกัน นางก็มาคะยั้นคะยอให้เราอ่าน ตอนแรกก็งงว่ามันดีขนาดนั้นเลยหรอ สำนักพิมพ์ก็ไม่เคยได้ยินมาก่อน เพียงเห็นหน้าปกกับชื่อเรื่องก็พยายามเดาอยู่ว่าเนื้อหาจะเป็นแบบไหน จะเล่าเรื่องแบบน่าเบื่อๆที่หนังสือประวัติศาสตร์มักเป็นกันหรือเปล่า หนังสือที่เล่าการเมืองก็ไม่ใช่ทางของเราสักเท่าไหร่ ถึงแม้จะเคยอ่านพญาอินทรีมาแล้ว(ซึ่งก็ยังอ่านไม่จบ) มันก็ทำให้เราลังเลว่าเล่มนี้จะเข้ากองดองของเรามั้ย แต่ด้วยสงสัยกับคำที่พาดหัวหนังสือว่าเป็น 1 ใน 100 หนังสือดีที่คนไทยควรอ่าน ในใจก็แบบ เหย...มันจะอะไรขนาดนั้นเลยหรอ ก็เลยลองกดสั่งมาอ่านดู ปรากฏว่าอ่านไม่กี่วันจบ




              โฉมหน้าศักดินาไทย แค่เปิดชื่อหนังสือมาก็พอเดาได้ว่าจะเล่าเรื่องถึงใคร โดยเปิดเรื่องมาจะพูดถึงคำว่า “ศักดินา” มาจากไหน ใครบัญญัติ แล้วมันเกี่ยวกับ “ที่นา” ตรงไหน ซึ่งจากในหนังสือจะเล่าย้อนไปสมัยบรรพกาลเลย สมัยที่มนุษย์ทุกคนยังเป็นเสรีชน โยกย้ายถิ่นฐานไปเรื่อย ไม่ได้อยู่เป็นหลักแหล่ง มีการเปรียบเทียบกับชาติอื่นๆ และมีเชิงอรรถประกอบคำอธิบาย ซึ่งสังคมมนุษย์ทางฝั่งตะวันตกกับไทยก็ไม่ต่างกัน การที่เสรีชนต้องย้ายที่บ่อยเพราะบางทีก็โดนคนจากกลุ่มอื่นโจมตีบ้าง ใครๆก็อยากได้ที่ดี ติดแม่น้ำ ทรัพยากรครบ ทำให้เกิดเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนกัน มีการแย่งสิทธิ์ในที่ดิน แย่งกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ต่างๆ เสรีชนที่กำลังอ่อนแอ รบราใครไม่เป็นก็จะไปพึ่งกับการเข้าพวกกับกลุ่มทีมีอิทธิพล ครอบครองที่ดินเป็นจำนวนมากกัน เกิดเป็นคำว่าเจ้าที่ดิน ซึ่งอยู่กระจัดกระจายไปตามทิศต่างๆ สุดท้ายแล้วจะเหลือเพียงแต่พวกเจ้าที่ดินใหญ่ๆที่ต้องมารบรากันเอง โดยจะเหลือเพียงหนึ่งนั่นก็คือที่มาของกษัตริย์ในอดีต การรบราถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแพ้ อีกฝ่ายก็จะเข้ายึดที่ดิน และกำลังคนของอีกฝ่าย พวกนี้จะถูกจับมาเป็นเชลย เป็นทาส ใช้แรงงาน ชีวิตก็จะวนลูป ทำงานเพื่อให้ได้กินและกินเพื่อให้มีแรงทำงาน ส่วนเงินเดือนอะไรนั้นไม่มี การมีชีวิตอยู่ของทาสคือการใช้แรงเพื่อนายเท่านั้น ส่วนพวกคนทั่วไปชาวบ้านธรรมดาจะเรียกว่าไพร่ การเป็นไพร่ที่ว่าเป็นไทนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีชีวิตที่ดี




              เนื่องด้วยสมัยก่อนคนที่มีที่ดินมากที่สุดก็คือคิง รองมาก็จะเป็นพวกราชวงศ์ ถัดมาก็เป็นขุนนาง ราชการ พระ ไพร่หัวหน้า ไพร่เลว ยาจก ขอทาน ทาสและลูกทาส ซึ่งไพร่สามารถมีที่ดินได้ถึง 25 ไร่ ขอทาน ยาจก ทาสและลูกทาสสามารถมีที่ดินได้มากถึงเพียงแค่ 5 ไร่ ซึ่งที่ดินที่กล่าวมาไม่ใช่ที่ดินที่เกิดจากพระราชทาน เป็นเพียงกรรมสิทธิ์ในการหาผลประโยชน์ในพื้นที่นั้นๆ นั่นหมายความว่าเขาไม่สามารถเป็นเจ้าของพื้นที่ตรงนั้นได้อย่างแท้จริงและไม่สามารถยกให้เป็นของทายาทต่อได้ ทำได้เพียงแค่เช่าจากเจ้าที่ดินในบริเวณนั้นๆได้เพียงอย่างเดียว ซึ่งไพร่นั้นก็ต้องจ่ายค่าเช่าให้เจ้าที่ดิน และเสียภาษีอากรให้กับหลวงอีกทอดนึง หนำซ้ำเวลาเจ้าที่ดินจะเรียกใช้อะไร ก็ต้องทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะถือเป็นบุญคุณที่อาศัยที่ดินของเขาทำมาหากิน(ทั้งๆที่เราจ่ายค่าเช่านะ) สิ่งนี้จะเรียกว่าแรงงานเกณฑ์ อีกทั้งในสมัยก่อนไพร่ชายที่ร่างกายครบ 32 อายุ 18-60 มีหน้าที่ที่ต้องเข้าเวร ซึ่งเข้าทีก็ 6 เดือน(เหตุการณ์คุ้นๆ) ถ้าไม่เข้าก็ต้องส่งส่วยแทนแรง ปีๆหนึ่งก็หายไปแล้ว 6 เดือน แล้วไพร่คนๆนึงจะเอาเวลาที่ไหน ไปปลูกข้าว ทำมาหาหากินให้ลืมตาอ้าปากได้กัน




              ทำไมถึงต้องเน้นที่ดินเป็นพิเศษ เพราะที่ดินคือปัจจัยการผลิตอันสำคัญ เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการแบ่งแยกของชนชั้นผู้ขูดรีดและผู้โดนขูดรีด ศักดินา คือนาแห่งศักดิ์ แปลว่า “อำนาจในการครอบครองที่ดิน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการทำไร่ทำนาอันเป็นอาชีพหลักของประชาชนในยุคนั้น” พื้นที่นาจะมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับผู้นั้นต้องพระทัยคิงมากแค่ไหน ยิ่งใกล้ชิดสนิทสนมหรือมีคุณความชอบอะไรก็ยิ่งได้ประทานนามาก แต่คนที่มีคุณมากก็อาจจะแพ้นางสนมน้อยใหญ่ในวังก็เป็นได้



               
              แล้วการเป็นเข้ารับราชการ ชีวิตของไพร่นั้นสามารถดีขึ้นจริงหรือมั้ย? ราชการตำแหน่งสูง สามารถเป็นได้ถึงพระยานาหมื่น มีที่นาหมื่นไร่ นั่นก็ถือว่ามากโขอยู่ แต่การจะได้เข้ารับราชการนั้นก็ดูเป็นเรื่องที่ยากแค้นแสนเข็น เพราะส่วนใหญ่ตำแหน่งหน้าที่เหล่านั้นก็ถูกสงวนไว้ให้ผู้มีการศึกษา ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่พ้นพวกตระกูลขุนนางต่างๆ การที่จะได้รับการศึกษาดีๆ สมัยก่อนก็ต้องบวชเป็นพระ ครั้นจะสึกมาทำงานราชการ ก็ไม่ต้องประสงค์ เพราะคิงในสมัยนั้น ไม่โปรดชาววัดเป็นพระยา และการเป็นไพร่เพศหญิง(อำแดง) ในสมัยนั้นอย่าว่าแต่เรื่องการศึกษาเลย การมีฐานะความเป็นคนเทียบเท่าเพศชายในสมัยนั้นก็เป็นไปได้ยาก ผู้หญิงถูกสั่งสอนให้เรียบร้อยเหมือนผ้าพับไว้ เรียบร้อยเพื่อใคร? เพื่อตัวเอง? หรือเพื่อผัวอย่างงั้นหรอ? การเป็นผู้หญิงเฟียซๆ มั่นหน้า เก่ง ไม่ต้องพึ่งผู้ชาย มันจะทำให้ผ้าที่พับไว้แหกกระเจิงแล้วมันจะเป็นไรล่ะ




               ตอนอ่าน ผู้รีวิวรู้สึกได้ถึงความโกรธ เกลียด เกลียดในระบบที่มันหยั่งรากลึก โกรธที่สมัยนั้นมีผู้เอาเปรียบจากความรู้ไม่เท่าทันของชาวบ้าน และเกลียดความจริงที่ว่า สุดท้ายแล้วไม่ว่าจะกี่ยุคกี่สมัย สิ่งเหล่านี้มันยังเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า แค่เปลี่ยนมือผู้ถืออำนาจไปเรื่อยๆ แต่ผู้ที่ลำบากก็ยังเป็นประชาชนที่รู้ไม่เท่าทันเหมือนเดิม

               หนังสือเล่มนี้ บอกเลยว่าเป็นเล่มที่ทรงคุณค่า ที่ควรถูกบรรจุอยู่ในวิชาประวัติศาสตร์ ควรเป็นหนังสืออ่านนอกเวลา เพราะมันเป็นการบอกกล่าวของผู้ที่มาก่อนกาล “จิตร ภูมิศักดิ์” อีกหนึ่งบุคคลที่ชะตาชีวิตจบลงอย่างน่าอนาถ ชีวิตของเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม คงไม่มีอะไรน่ากลัวไปกว่าการทำผิดที่ถูกกลับทำให้เป็นการกระทำที่ถูกต้องโดยรัฐ หวังว่าหนังสือเล่มนี้จะทำให้ผู้คนมองเห็นอะไรได้กว้างขึ้นและลึกขึ้น และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าประวัติศาสตร์ที่โหดร้ายจะไม่เกิดขึ้นอีกครั้งในอนาคต



    ภาพประกอบทั้งหมดโดยผู้เขียน

    สามารถติดตามบทความอื่นๆของผู้เขียนได้ที่ https://emergencywrite.blogspot.com/







เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in