สวัสดีค่าา✨ กลับมาเจอกันอีกแล้ว ในครั้งนี้เรานำเนื้อหาในวิชา App Jp Ling มาฝากกันค่ะ บอกเลยว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เรารู้สึกว่าน่าสนใจมากก พอเลิกคลาสก็ยังเอามานั่งคิดอีกยาว ๆ เลย5555
ถ้าอยากรู้แล้วว่าเป็นเรื่องอะไร ก็มาเริ่มกันเลย โก ๆ~?
?ภาษาก็มีภาพจำนะ?
ทุกคนเคยไปต่างประเทศแล้วเจออะไรแบบนี้ไหมคะ เราขึ้นบันไดเลื่อนชิดขวา แต่ เอ้า! ทำไมคนข้างหน้าชิดซ้าย? พอไปอีกประเทศเข้าห้องน้ำอยู่ก็มีคนมาเคาะประตู??
เราคิดว่าหลายคนอาจจะเคยพบเจอกับเหตุการณ์ culture shock แบบนี้ หรือน่าจะเคยได้ยินเรื่องที่คนอื่นเล่าต่อ ๆ กันมาบ้าง แต่รู้ไหมคะว่า นอกจาก culture ที่ทำให้เรา shock ได้แล้ว “ภาษา” ก็ทำให้ shock ได้เหมือนกันนะ!
บางคนอาจจะคิด shock เพราะยากใช่ไหมคะ เอ่อจริง ๆ อันนั้นก็ใช่ค่ะ55555 แต่สิ่งที่อยากพูดถึงในวันนี้คือ “ภาพจำของภาษา” ที่แตกต่างกันก็ทำให้เกิดความสับสนงุนงง หรือเกิดความเข้าใจผิดได้ค่ะ
แต่เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น เราลองมาทดสอบสกิลภาษากันหน่อยดีกว่า ไปทำควิซกันจ้า
Q: ถ้าเราอยากถามว่า “กินข้าวหรือยัง” เป็นภาษาอังกฤษและญี่ปุ่นเราต้องพูดว่าอะไร?
ภาษาญี่ปุ่น : もうご飯を食べた?/ご飯を食べた?
ภาษาอังกฤษ : Have you eaten yet? / Have you eaten?
แหะ ๆ กินข้าวกันหรือยังคะ55555 พอดีเรากลัวว่าจะเห็นเฉลยเลยเอารูปมาขั้นค่ะ แอบทำใครหิวหรือเปล่าเนี่ย?
.
.
.
เป็นยังไงกันบ้าง ตอบกันถูกไหมคะ แล้วทุกคนรู้ไหมว่าทำไมในภาษาอังกฤษเราไม่ถามว่า Have you eaten rice yet? เหมือนในภาษาไทย?
เพราะในภาษาไทยเราจะถามกันว่า
“กินข้าวหรือยัง” เพื่อให้รู้ว่า
คนที่เราถามได้กินอาหารในมื้อนั้น ๆ แล้วหรือยัง ไม่ได้อยากรู้ว่ามื้อนี้ได้กินอาหารที่มี “ข้าว” แล้วไหม ส่วนในภาษาญี่ปุ่นก็เหมือนกันค่ะ เราสามารถพูดว่า 「ご飯を食べた?」ได้เลย เพราะ
ทั้งที่ไทยและญี่ปุ่นกินข้าวเป็นอาหารหลัก จึงทำให้มี "ภาพจำ" ที่ตรงกันว่าข้าวก็หมายถึงมื้ออาหารนั่นแหละ ดังนั้นถ้าเราพูดด้วยภาษาอังกฤษหรือพูดกับคนชาติอื่นที่ไม่ได้กินข้าวเป็นอาหารหลัก ก็จะกลายเป็นการถามแบบเจาะจงว่าได้กินอาหารที่มี “ข้าว” แล้วหรือยัง ไม่ได้ถามว่ากินอาหารประจำมื้อหรือยังนั่นเองค่า
พอจะเห็นภาพกันแล้วใช่ไหมคะว่าภาพจำเหล่านี้อาจทำให้เกิดความสับสนเมื่อเราใช้ภาษาต่างประเทศหรือไปอยู่ในสังคมที่มีภาพจำของภาษาที่แตกต่างออกไป และทฤษฎีภาษาศาสตร์ที่อธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ก็คือ
ลักษณะเด่น (marked)/ ลักษณะไม่เด่น (unmarked) ค่ะ
เอ้ะ ภาษามีชิงดีชิงเด่นกันด้วยหรอ?! แล้วแบบไหนจะเรียกว่าเด่นล่ะ? (ก่อนจะไปต่อลองเดากันเล่น ๆ ได้น้า)
?marked/unmarked เด่น/ไม่เด่นดูยังไง??
ง่าย ๆ เลยก็คือ สิ่งที่เป็น
พื้นฐาน/ธรรมดาทั่วไปในสังคมหรือภาษา ในทางภาษาศาสตร์จะเรียกว่า
“ลักษณะไม่เด่น (unmarked)” ค่ะ ดังนั้นสิ่งที่
ตรงข้ามกับพื้นฐานหรือความธรรมดาก็จะเรียกว่า
“ลักษณะเด่น (marked)” นั่นเอง หรือถ้าให้ขยายความอีกนิดก็คือ
ลักษณะไม่เด่น (unmarked) - ลักษณะที่มีความธรรมดา
ไม่ต้องเติมหรืออธิบายอะไรให้ยืดยาวคนในสังคมก็เข้าใจตรงกัน
ลักษณะเด่น (marked) - ลักษณะที่ตรงข้ามกับความธรรมดา มีการเพิ่ม
เติมอะไรบางอย่างเข้าไปเพื่อเพิ่มความหมายหรือทำให้ความหมายชัดเจนขึ้น
เช่น คำว่า แพทย์ = unmarked และ แพทย์หญิง = marked
การที่มีการเติมคำว่า “หญิง” แค่กับหมอที่เป็นผู้หญิง แต่ไม่ต้องเติมคำว่า “ชาย” หลังคำว่าแพทย์ก็เข้าใจได้ว่าเป็นผู้ชาย แสดงให้เห็นว่าสังคมมีการรับรู้ร่วมกันว่า “แพทย์” เดี่ยว ๆ หมายถึงหมอผู้ชาย แต่ถ้าจะพูดถึงหมอที่เป็นผู้หญิงต้องเติมคำที่สื่อถึงเพศเข้าไปด้วย ทำให้เมื่อได้ยินคำว่า “แพทย์” แบบธรรมดาไม่เติมอะไร หลายคนก็จะคิดว่าหมายถึงหมอผู้ชายโดยอัตโนมัติ สิ่งนี้แหละค่ะคือ
“ภาพจำของภาษา” ที่เราหมายถึง
ที่สำคัญคือ
ลักษณะเด่น ลักษณะไม่เด่น (marked/unmarked) สามารถเปลี่ยนไปตามสังคมและยุคสมัยได้ด้วย ดังนั้นคนที่อยู่คนละประเทศ พูดคนละภาษา หรือมีช่วงวัยที่ต่างกัน ก็อาจจะเข้าใจคำเดียวกันในแบบที่แตกต่างกันออกไปได้ค่ะ ภาษาจึงทำให้เรางุนงงสับสนได้ไม่ต่างจากวัฒนธรรมนั่นเอง
แล้วลักษณะเด่น/ไม่เด่นที่เปลี่ยนไปตามสังคมและยุคสมัยเนี่ยมันหน้าตาเป็นยังไงล่ะ?
สำหรับความแตกต่างที่เกิดจากสังคมต่างกันก็เช่น คำว่า "ข้าว" ที่เราได้ยกตัวอย่างไปในตอนต้นค่ะ จะเห็นได้ว่าถ้าไม่ได้พูดในประเทศที่มีภาพจำว่าข้าวหมายถึงมื้ออาหารก็จะทำให้เข้าใจผิดได้
ส่วนความแตกต่างที่เกิดจากยุคสมัยนั้นเป็นเรื่องของ "เวลา" ค่ะ แม้จะอยู่ในสังคมเดิมถ้าเวลาผ่านไปภาพจำก็สามารถเปลี่ยนไปได้ ดังนั้นคนที่อยู่คนละช่วงวัยกันหรืออายุต่างกันมาก ๆ ก็อาจจะมีภาพจำที่ต่างกันได้ค่ะ เรียกได้ว่าเป็นความแตกต่างที่เกิดจาก generation gap นั่นเอง มาถึงตรงนี้พอจะคิดตัวอย่างออกกันไหมเอ่ย?
ถ้าใครยังนึกไม่ออกเราจะนำตัวอย่างมาฝากในตอนถัดไปนะคะ ทั้งความแตกต่างที่เกิดจากยุคสมัยและสังคมเลย เพราะนอกจากเรื่องข้าวก็ยังมีเรื่องที่น่าสนใจอีกค่ะ แต่รู้สึกว่าตอนนี้ตัวอักษรเยอะมากแล้ว กว่าจะยกตัวอย่างหมดเดี๋ยวจะยมกันไปซะก่อน55555
ยังไงก็ฝากติดตามกันด้วยน้า>< ขอบคุณที่อ่านจนจบค่า❤️
クマグミ
สรุปคำศัพท์
ご飯 (ごはん) = ข้าว/มื้ออาหาร
もう...(v.た) = (ทำ...) แล้ว
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in