เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Into the roomDHaeArin
มายไดอารี่ ตอน ขึ้นรถไฟไปทำงาน
  • ความเดิมจากตอนที่แล้ว เรากำลังจะไปเริ่มงานใหม่ ซึ่งการเดินทางโดยระบบขนส่งมวลชนของที่นี่ก็แบ่งออกเป็น ทางบก (รถบัส, รถไฟ, แท็กซี่ หรืออูเบอร์ และรถราง) และทางน้ำ ง่ายๆ ก็คือการขนส่งทางเรือนั่นเอง วิธีการโดยสารผ่านระบบขนส่งมวลชนของที่นี่ไม่ต้องถือเงินขึ้นไปจ่ายตังค์กับกระเป๋ารถเมล์ หรือว่าต้องไปซื้อตั๋วก่อนที่จะเข้าไปที่ชานชาลา แต่เขาใช้วิธีการเติมเงินลงในบัตรบัตรเดียวเที่ยวทั่วซิดนี่ย์ไปเลย บัตรที่ว่านั้นเราเรียกกันว่าบัตรโอปอล์ วิธีการเติมเงินนั้นก็แค่เดินเข้าเซเว่นฯ บอกพี่คนขายเขาไปว่า Could I please top up my Opal card? เขาก็จะถามว่าเราจะ Top up เท่าไหร่ เราก็บอกจำนวนเขาไปตามกำลังศรัทธา เขาจะเก็บเงินเรา นำบัตรเราไป Top up จากนั้นเขาจะคืนบัตรพร้อมให้ใบเสร็จเรากลับมา แค่นี้ก็เป็นการเสร็จพิธีการเติมเงินในบัตรโอปอล์ค่ะ 

    นอกเรื่องนิดหนึ่งที่นี่มีเซเว่นฯ นะ แต่หน้าตาไม่ค่อยจะเหมือนที่ไทย เพราะมีของให้เลือกซื้อน้อย คือเป็นร้านเล็กๆ และสินค้าจะไม่หลากหลายเท่ากับที่บ้านเรา ไอ้การที่เข้าไปละจะไปหาบาโลน่าหมูพริกอุ่นๆ หรือว่าจะไปชงมาม่ากินในนั้น ถือว่าเป็นความฝันไปสำหรับหมู่เฮาชาวไทย (หร่องไห้) เพราะเขาจะมีแต่กล้วย แอปเปิ้ล แซนวิช เบอร์เกอร์ อะไรแนวๆ นี้ไป ส่วนตัวเราก็เลยไม่ค่อยปลื้มเซเว่นฯที่นี่ เข้าไปทีก็เข้าไปเติมเงินโอปอล์นี่แหละค่ะ คนที่ดูแลร้านเซเว่นที่นี่ส่วนมากเป็นแขก ที่คนไทยที่นี่จะเรียกว่า อ.ด. (อ่านว่า ออ-ดอ ย่อมาจาก อินเดีย แปลว่า คนสัญชาติแขกใดๆ เป็นการเรียกแบบเหมารวมไม่ว่าแขกท่านนั้นจะมาจากประเทศอะไร พี่ไทยเรียก ออ-ดอ หมดค่ะ) แขกอ.ด. นี้จะเป็นแขกประเภทตัวหอม เหมือนรมควันน้ำหอมมา เหมือนที่บ้านผลิตน้ำหอมขายเอง เลยเหลือมากพอที่จะเอามาอาบแทนน้ำได้น่ะค่ะ และก็จะพูดภาษาอังกฤษโอเคในระดับหนึ่ง อาจจะติดสำเนียงแขกบ้างแต่โดยรวมคือพูดรู้เรื่อง เราก็จะมีเซเว่นฯ เจ้าประจำที่เข้าไปบ่อยๆ จนคนขายจำเราได้ มีครั้งหนึ่ง เข้าไปแล้วเขาก็ทักว่าจะมาเติมเงินโอปอล์ใช่ไหม เติม $20 ใช่ไหม เราก็ตกใจว่าเขารู้ได้อย่างไร เขาเลยบอกว่าเขาจำเราได้ ก็เลยได้คุยกันว่าเรามาจากไทยมาเรียนหนังสือที่นี่ หลังจากนั้นก็เลยกลายเป็นสนิทกับคนขายไป

    หลังจากเติมเงินเสร็จสรรพ เราก็สามารถนำบัตรนั้นไป Tap ลงบนเครื่องสแกนตอนเข้าสถานี หรือตอนขึ้นรถบัสได้ทุกสายทั่วรัฐนิวเซาท์เวลล์เลย ย้ำว่าสำหรับบัตรโอปอล์นี้เราใช้ได้เฉพาะรัฐนิวเซาท์เวลล์เท่านั้น เอาไปใช้ในรัฐอื่นไม่ได้ค่ะ เพราะว่าระบบการปกครองของแต่ละรัฐในประเทศออสเตรเลียนั้นมีความแตกต่างกัน ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ของแต่ละรัฐก็เลยมีความแตกต่างกันไปด้วย ถ้าเราอยู่ที่ซิดนี่ย์ รัฐนิวเซาท์เวลล์ เราใช้บัตรโอปอล์ในการโดยสาร แต่ถ้าเรามาอยู่ที่เมืองเมลเบิร์น รัฐวิกตอเรีย เราจะต้องใช้บัตรไมกิในการโดยสารแทนค่ะ (ซึ่งเรื่องนี้เราก็เพิ่งรู้ตอนที่เราย้ายมาอยู่ที่เมลเบิร์นแล้วเหมือนกัน ก็ต้องเสียเงินซื้อบัตรใหม่กันไป ฮ่า)

    เครื่องมืออีกชิ้นที่เราใช้ในการเดินทาง คือ Application ที่ใช้ในการเช็ครอบ และเวลาการเดินทางของรถ และเรือ โดยเราจะใช้ Application ที่เรียกว่า Trip View (ซึ่งเป็นแอพที่ใช้ได้เฉพาะในซิดนี่ย์เท่านั้น) สำหรับคนที่หลงทิศ หลงทางเป็นประจำ แถมเพิ่งจะมาได้ไม่นาน ภาษาก็ยังไม่ค่อยได้ หูก็ไม่ค่อยแข็งแรงกลัวฟังเขาพูดไม่รู้เรื่อง ก็เลยยิ่งไม่กล้าจะถามทางไปอี๊กกกก วิธีเดียวที่จะรอดได้ คือ ก็ขยันอ่านป้าย ขยันดูแอพนี้เอา ขอบอกเลยว่าเป็นเรื่องราวที่โคตรดีที่ได้ Application นี้มาใช้ ไม่อย่างนั้น มีหลง มีตกรถ ตกเรือ บาดเจ็บลมตายแน่นอน เพราะนอกจากจะมีรอบ และเวลาการเดินทางให้เราใช้ได้คล่องมือแล้ว แอพนี้เขายังขยันอัพเดทตามสถานะการณ์ปัจจุบันตลอดเวลา รถสายไหนมาสาย สถานีไหนปิด (ซึ่งถ้าปิดจริงๆ ทางขนส่งฯ จะมี Bus replacement ที่ใช้ในการโดยสารระหว่างสถานีมาให้ใช้โดยสารแทนฟรีๆ โดยเจ้าหน้าที่ที่สถานีก่อนหน้าจะแจ้งให้ผู้โดยสารลงจากรถ และจะมีเจ้าหน้าที่อีกจำนวนหนึ่งคอยให้บริการบอกทางจอดรถบัส Replacement ว่ารถนั้นจอดอยู่ตรงไหน และแต่ละคันไปลงสถานีไหนได้บ้าง) เรียกได้ว่าถ้านั่งๆ ไปแล้วเกิดรถไฟไปจอดสถานีไหนนานๆ แล้วมีการประกาศโหวกเหวกผ่านลำโพงแตกๆ สำเนียงอ.ด. ฟังย๊ากยาก ออกมาเมื่อไหร่ เรานี่ได้นั่งกำมือถือแน่น คอยเช็คสถานการณ์ผ่านแอพ เพื่ออัพเดทข้อมูลการเดินทาง (ด้วยอาการเหงื่อท่วมกลัวไปโรงเรียนสาย ไปทำงานไม่ทัน)  

    เราขึ้นรถไฟไปทำงานครั้งแรกที่สถานี Central station เป็นสถานีใหญ่ใจกลางเมืองซิดนี่ย์ ที่มีชานชาลาเยอะมาก เท่าที่จำได้น่าจะมากกว่า 20 ชานชาลา (ข้อมูลนี้ไม่ชัวร์นะคะ) พี่ที่ทำงานไปส่งเราถึงข้างใน เรียกได้ว่า Tap บัตรโอปอล์เข้าไปด้วยกันเลย เราต้องไปขึ้นชานชาลาที่ 20 หรือ 21 นี่แหละ ตอนเดินหาชานชาลาไม่ค่อยยากนะ แต่ยากตรงที่ต้องคอยเบียดคน เพราะตอนที่ไปเป็นจังหวะที่มีเด็กเลิกเรียน และผู้ใหญ่วัยทำงานก็กำลังจะเดินทางกลับบ้าน บางคนต้องวิ่งจากชานชาลาหนึ่งไปต่อรถไฟอีกสายที่อีกชานชาลาหนึ่ง เราก็ต้องคอยหลบ การที่มาอยู่ที่นี่ก็ทำให้เราได้รู้อีกอย่างว่าเวลาของคนที่นี่ค่อนข้างจะตรงมาก คือพวกสายรถต่างๆ หรือว่ารถไฟ จะค่อนข้างมาตรงเวลา ไม่เลท ถ้าหากว่ารถมาเลทก็จะเลทกันเป็นวินาทีเลยทีเดียว แต่ที่เด็ดกว่านั้น คือ เพื่อนคนญี่ปุ่นเล่าให้ฟังว่าที่ญี่ปุ่น ถ้าหากว่ารถไฟมาเลท ผู้โดยสารสามารไปรับหนังสือยืนยันเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการประกอบการแจ้งหัวหน้าว่าทำไมถึงมาทำงานสายได้ด้วย (ตุดยอด!) 

    จากการเช็คที่อยู่ของร้านที่เราจะไปทำงาน เราต้องไปลงที่สถานี Cronulla (ไปแรกๆ เราอ่านว่า คลอนูล่า แต่เอาจริงๆ เจ้าของร้านที่เราไปทำงานบอกว่ามันอ่านว่า คลอ-นัล-ล่า ล่ะ) ทิวทัศน์ระหว่างทางที่ไปทำงานผ่านแม่น้ำ และทะเล สวยงามมากๆ เราเคยถ่ายรูปเก็บเอาไว้ด้วย เดี๋ยวไว้จะค้นมาแปะไว้ให้ดูกัน แล้วตรงที่ทำงานเราติดกับทะเลเลย มีฝรั่งมาเล่นเซิร์ฟกันเยอะมาก เราก็แอบไปส่องฝรั่งหุ่นแซบๆ ก่อนไปทำงานบ่อย (ฮ่า) แต่ที่เราชอบมากกว่านั้น คือ มีฝูงนก คอกคาทู หรือว่าที่บ้านเราเรียกว่านกกระตั้ว สีขาว-เหลือง มาคอยบินวนหาอาหารที่ริมชายหาด แล้วก็มีคนจูงพวกหมามาวิ่งเล่นด้วย เราชอบมากเลยอยากเล่นด้วยแต่กลัวมันกัดน่ะ พูดถึงนก เคยได้ยินมาด้วยว่ากฏหมายของคนที่นี่แรงมาก เขามีการออกกฏมาว่าห้ามทำร้ายสัตว์ด้วย ก็เลยไม่มีใครกล้ารังแกสัตว์ที่นี่ สัตว์ทุกตัวถูกดูแลเป็นอย่างดี อย่างพวกหมาก็มีการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง มีการพาไปฝึกควบคุมพฤติกรรมไม่ให้ไปเกเรกับคนอื่น หรือสัตว์อื่น ซึ่งอันนี้เลิฟเลย

    นอกเรื่องมาเยอะ ว่าแต่ว่าตอนนี้เราก็ได้เดินทางมาถึงที่ทำงานที่แรกของเราในซิดนี่ย์แล้วนะ ตอนต่อไปเราจะมาเล่าให้ฟังว่า ชีวิตเด็กเสิร์ฟที่นี่ต้องทำอะไรกันบ้าง

    ฝากติดตามด้วยนะคะ :)
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in