จาก Nocturnal Animals เอมี่ อดัมส์สลัดความหรูหราในชุดดีไซน์เนอร์และงานเจิดจรัสของ Tom Ford มารับบท Dr.Louis Banks นักภาษาศาสตร์ที่ต้องมาทำหน้าที่ไขปริศนาภาษาของผู้มาเยือนจากนอกโลกภายใต้การแต่งกายอันแสนจะธรรมดาสามัญแต่อาศัยความฉลาดในหัวเป็นตัวขับเคลื่อนตัวละครในภาพยนตร์เรื่องArrival จากผลงานการกำกับของ Denis Villeneuve ผู้กำกับฝีมือดีที่ทำหนังดีๆมาหลายเรื่องอย่าง Prisoners หรือ Sicario ที่หลายคนร่ำลือกันนักหนาว่าดีงาม
Arrival ดัดแปลงมาจากเรื่องสั้นขนาดยาวหรือ Novella จากผลงานของ Ted Chiang โดยใช้ชื่อว่า Story of Your Life ซึ่งพอรู้ว่าหนังเรื่องนี้จะเข้า เราเลยลองไปหามาอ่านก่อน พบว่าเรื่องสั้นเรื่องนี้เล่าเรื่องของการมาเยือนของสิ่งทรงปัญญาจากนอกโลกโดยผ่านภาษาและมิติของเวลาที่บอกเล่าผ่านการเล่าเรื่อง (ซึ่งก็เหมาะกับชื่อเรื่อง Story of Your Life เมื่อประสบการณ์ของมนุษย์– หรือเรื่องราวของคุณในฐานะมนุษยชาติ – ถูกบอกเล่าผ่านภาษาเพราะภาษาคือเครื่องมือที่มนุษย์ส่งผ่านอารยธรรมในรูปแบบของประวัติศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นภาษาพูดหรือภาษาเขียน)
จะเห็นได้ว่า Novella จะเน้นไปที่บทบาทของLouis ในฐานะผู้ที่รับและส่ง Story of Your Life แต่ชื่อหนังอย่าง Arrival จะขับเน้นไปที่การมาของมนุษย์ต่างดาวมากกว่า (ก็สมเป็นหนัง Hollywoodดี เพราะถ้าใช้ชื่อเดิมนี่นึกว่าเพลง One Direction 555)
การดู Arrival ถือได้ว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีครั้งหนึ่งของการดูหนังแนวไซไฟ หนังไม่ใช่แนวเอเลี่ยนโฉ่งฉ่างทำลายล้างโลก เอเลี่ยนเรื่องนี้ไม่ได้มาทำลายล้างโลก (มาดีเสียด้วยซ้ำ) แต่หนังเรื่องนี้เป็นหนังแนวไซไฟเล่าเรื่องของมนุษย์โลกที่ได้รับผลกระทบมนุษย์ต่างดาวในด้านอื่นที่ไม่ใช่การทำลายโลกแต่เป็นการจ้องมองเข้าไปที่ตัวตนของมนุษย์ในฐานะผู้ที่เล่าประวัติศาสตร์ผ่านภาษาและกาลเวลาโดยมีเรื่องครอบครัวเป็นพล็อตรองที่เข้ามามีผลกระทบ
(มาดู Arrival ก็เลยทำให้นึกถึง Interstellar ที่ว่าด้วยเรื่องราวของการเดินทางไปในอวกาศเพื่อไปค้นพบอะไรบางอย่างและว่าด้วยมิติของกาลเวลาที่มีผลต่อครอบครัวเช่นกัน)
ชอบ
1. พล็อต – ตัวละครเอกของเรื่องนี้คือนักภาษาศาสตร์ (คนเรียนภาษาอย่างเราปลื้มมาก ในที่สุด อาชีพนี้ได้เป็นฮีโร่กอบกู้โลก 555) ซึ่งต้องอาศัยความรู้ทางภาษามาช่วยทำความเข้าใจว่ามนุษย์ต่างดาวต้องการอะไรแน่ๆจากการอ่านบทสัมภาษณ์ของนักภาษาศาสตร์ก็ถือได้ว่าแนวคิดหลักๆ ของเรื่องนี้ระเบียบวิธีวิจัยและการเก็บข้อมูลค่อนข้างจะตรงตามการทำงานในด้านภาษาศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดภาษาพูดปะทะภาษาเขียนวิธีการเรียนรู้ภาษากันและกันโดยเริ่มจากวิธีการเข้าถึงโดยตรง เรียนรู้คำง่ายๆแล้วประกอบคำให้ยากขึ้น หรือทฤษฎีของ Sapir-Whorf ที่บอกว่า Language shapes worldview ก็ถือว่าเป็นแนวคิดที่มีมานานแล้ว (แต่ไม่ได้ไปถึงขั้น extreme และเป็นทฤษฎีที่ debatable กันไปแล้วว่าภาษากับประสบการณ์มีผลต่อกันและกันหรือไม่) (ว่าแต่ทฤษฎีที่ว่าชนเผ่าเอสกิโมมีคำแทนคำว่าหิมะหลายคำเป็นhoax หรือเรื่องเท็จ!!) ถือได้ว่าเป็นการเรียนรู้ด้านภาษาและภาษาศาสตร์ที่ดีมากเรื่องหนึ่งแต่อย่าเชื่อทุกอย่างก็แล้วกัน หลายอย่างคือเรื่องในหนังครับ...
2. Amy Adams – This is Amy Adams’ show! เอมี่แบกหนังไว้คนเดียวเล่าเรื่องสีหน้า ท่าทาง น้ำเสียง ลักษณะการพูดที่มาแบบน้อยๆ เบาๆไม่ได้โชว์พลังมากมายอะไร แต่เราสัมผัสได้ว่าด็อกเตอร์แบงส์พยายามจะสื่อสารกับมนุษย์ต่างดาวและพยายามจะทำให้ภารกิจนี้สำเร็จให้ได้ (โดยแฝงไว้โดยแนวคิดอเมริกาคือฮีโร่และผู้กอบกู้โลกในภาวะคับขันเสมือนที่เคยเป็นมาเมื่อคำพูดไม่กี่คำก็สามารถหยุดสงครามที่อาจทำลายมนุษยชาติได้) ช่วงเวลาที่ตัดสลับกันทำให้เราได้เห็นเอมี่ในแบบต่างๆ สุข ทุกข์ สงสัย ใคร่รู้เอมี่เล่นด้วยสายตาที่บ่งบอกอะไรหลายๆ อย่างโดยเฉพาะช่วงใกล้จบที่เธอปล่อยพลังออกมาแบบแผ่ซ่านไม่ได้มาแนวระเบิดลงแต่การเล่นน้อยๆ แบบนี้แหละที่ทำให้เรากินใจเมื่อเดินทางมาถึงตอนจบพร้อมข้อความที่เราได้รับรู้พร้อมๆกันกับด็อกเตอร์แบงส์
บท Susan Morrow (Nocturnal Animals) และ Louis Banks (Arrival) อาจจะมี background ที่ต่างกัน มาในคนและแนวกัน แต่ว่าสองบทนี้ที่เอมี่เล่นเล่นด้วยสีหน้าและสายตามากกว่าที่จะพูดเยอะๆซึ่งเอมี่ทำได้ดีมากในทั้งสองบท ชอบมากทั้งสองบทเลย
3. Score หนัง – ตื่นเต้น เร้าใจ ลึกลับ และงดงาม (มาแบบสั้นๆ กระชับ 55)
4. ตอนจบ – ชอบมาก ชอบจริงจัง ชอบ twist เรื่องของกาลเวลาที่เป็นnon-linear เมื่อเราสามารถรับรู้อดีต ปัจจุบัน และอนาคตเมื่อการรับรู้จากภาษามนุษย์ต่างดาวทำให้รับรู้กาลเวลาของมนุษย์อย่าง Dr.Banks ไม่ได้เป็นเส้นตรงอีกต่อไป จะสังเกตได้ว่าภาษาหลายภาษามีการบ่งบอกเวลาชัดเจน(เช่นภาษาอังกฤษ) โดยการแสดงออกผ่าน Tense เช่น
They arrive. (ปัจจุบัน)
They arrived. (อดีต)
They will arrive. (อนาคต)
เพราะฉะนั้นเราอาจจะบอกได้ว่าการรับรู้ของมนุษย์มีขอบเขตของเวลาชัดเจน เหตุการณ์แม้จะเกิดขึ้นในลักษณะเดียวกัน แต่เมื่อเกิดขึ้นคนละเวลา ก็ถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เกี่ยวเนื่องกัน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นลำดับต่อกันไปเรื่อยๆ แต่การเรียนรู้ภาษามนุษย์ต่างดาวของด็อกเตอร์แบงส์ทำให้เธอได้เรียนรู้ว่ามนุษย์ต่างดาวที่มายังโลกมีการบอกเล่าเรื่องที่ไม่เป็นไปตามลำดับเวลา
เมื่อทุกอย่างสามารถเกิดขึ้นโดยวนไปวงกลมไปโดยไม่สิ้นสุด ดังนั้นด็อกเตอร์แบงส์จึงสามารถรับรู้อนาคตและเหตุการณ์ทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นได้ (แต่งงาน มีลูก หย่ากับสามี และลูกตายด้วยโรคมะเร็งในที่สุด) ณ จุดนั้น เธอสามารถรับรู้ได้ทั้งอดีต (จากความทรงจำที่มนุษย์ทุกคนมี) ปัจจุบัน (ในสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น) และอนาคต (ผ่านการเรียนรู้ภาษามนุษย์ต่างดาวที่ทำให้เธอได้เรียนรู้เวลาในแบบ non-linear)
เมื่อด็อกเตอร์แบงส์สามารถเรียนรู้ทุกอย่างได้และไม่มีกับดักของกาลเวลา สุดท้ายแล้วก็เดินทางมาถึงคำถามสำคัญที่ปรากฏในเรื่องที่ว่า
If you could see your whole life laid out in front of you, would you change things?
เรามักจะเคยเห็นคำถามว่า “ถ้าคุณย้อนเวลากลับไปได้คุณจะเปลี่ยนอะไรไหม” แต่เรื่องนี้มาเหนือกว่าเมื่อนำเสนอว่า “ถ้าคุณรู้อนาคตได้คุณจะเปลี่ยนแปลงอะไรไหม” ซึ่งมันก็เป็นข้อเสนอที่น่าเย้ายวนใจไม่น้อยเพราะเราเปลี่ยนอดีตไม่ได้ แต่เราเปลี่ยนอนาคตได้จากการเปลี่ยนแปลงปัจจุบัน
แต่ลูอิสเลือกที่จะแบกรับชะตากรรมอันโหดร้ายนั้น เพราะเธอเชื่อว่าเธอมีสิ่งที่สำคัญกว่าแม้ว่าเธอจะรู้ตอนจบแต่เธอเลือกที่จะขอมีประสบการณ์แบบนั้น (ที่แม้จะลงเอยด้วยโศกนาฏกรรม แต่ก็ยังมีเรื่องดีๆให้เธอได้จดจำ) ซึ่งการตัดสินใจของเธอทำให้เราอดนึกไปถึงแนวคิดแบบ determinism ว่ามนุษย์เราเกิดมาแล้วเมื่อเป็นอะไรก็เป็นเช่นนั้นไม่มีทางเปลี่ยนแปลงอะไรได้ (ซึ่งก็จะไปพ้องกับทฤษฎี linguistic determinism ที่ว่าภาษากำหนดมุมมองการมองโลกของเราอย่างแท้จริง) ซึ่งก็ทำให้เรานึกไปถึงตัวละครหลักในละครแนวโศกนาฏกรรม ที่แม้พวกเขาจะรู้ว่าตัวเองจะต้องพบกับจุดจบอันโหดร้าย รู้ว่าชะตากรรมตัวเองจะลงเหว แต่พวกเขาก็เลือกที่จะแบกรับชะตากรรมนั้นเพราะรู้ดีว่าไม่มีทางเลี่ยงได้
ไม่ชอบ
1. คนที่คาดหวังว่าจะได้ดูหนังเอเลี่ยนแนวระเบิดภูเขาเผากระท่อมผิดหวังแน่นอน เพราะมนุษย์ต่างดาวเรื่องนี้มาดี ไม่ได้มาร้ายแถมยังพยายามคุยกับเราก่อนคิดจะฆ่าเราด้วย
2. หนังทำให้ตัวละครหลักอย่าง Dr. Banks คลี่คลายปริศนาง่ายไปและเร็วไปมาก (แต่ก็อย่างว่าใครจะอยากนั่งดูวิธีการทำวิจัยทางลิงกวิสติกนานๆ ล่ะ อันนี้บ่นส่วนตัวเพราะว่าเรารู้ว่าขั้นตอนการทำวิจัยอะไรแนวๆนี้มันจะนาน น่าเบื่อ และทำความเข้าใจได้ยากมากกกกกกกกก 555)
3. ฉากกระซิบกับผู้พันจีนนี่ cliché มากๆและดูเชิดชู America มากๆ
สรุป เราชอบเรื่องนี้มาก ดูมาแล้วได้คิดอะไรเยอะ มีอะไรซ่อนไว้เยอะมากเหมาะมากสำหรับคนที่ชอบหนังแนวไซไฟที่ไปไกลกว่าหนังแนวไซไฟปกติ ชอบมว้ากกกกกก
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in