ผู้เขียน : Rolf Dobelli
ผู้แปล : อรพิน ผลพนิชรัศมี
สำนักพิมพ์ : วีเลิร์น
จำนวนหน้า : 306 หน้า (ไม่รวมประวัติผู้เขียนและหน้าโน้ต)
ราคา : 250 บาท
สวัสดีวัน(ก่อน)สิ้นปีค่ะคุณผู้อ่าน อีกไม่ช้านานเราจะผ่านปีเสือ(ดุ)เข้าสู่ปีกระต่ายกันแล้วนะคะ หวังว่าปีหน้าฟ้าใหม่นี้ ทุกสิ่งอย่างจะดีขึ้น โรคร้ายจะหายไป สงครามจะสงบ กันเสียที
กระนั้นก็ยังมีเรื่องเศร้า การพบศพผู้สูญหายจากเรือหลวงสุโขทัยทีละคนๆ นับเป็นเรื่องชวนหดหู่ใจรับสิ้นปี ขอแสดงความเสียใจกับผู้สูญเสีย และขอให้ผู้เสียชีวิตทุกคนไปสู่สุคติ คุณทำหน้าที่ได้อย่างดีเยี่ยมจริงๆแม้กระทั่งในวาระสุดท้ายของชีวิต
และล่าสุดนักบอลระดับโลกสัญชาติบราซิล เปเล่ ก็ได้ลาโลกนี้ไปเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม ที่ผ่านมา ขอให้คุณเปเล่ไปสู่สุคติ ปีนี้คนมีชื่อเสียงเสียชีวิตหลายคนจริงๆเลย
มาขอพรให้ปีหน้ามีแต่เรื่องดีีดีกันนะคะ
ส่วนวันนี้ เราก็ยังเอาหนังสือที่อ่านจบมาเล่าเช่นเคย และขอเลือกแนวจิตวิทยาที่เรานิยมอีกสักเรื่อง นั่นคือ "52 วิธี ตัดสินใจให้ไม่พลาด"
ต่อแต่นี้เราจะเล่าถึงหนังสือแบบจมดิ่งและคุยกับตัวเองแล้ว เพราะฉะนั้นคำพูดคำจาจะไม่ค่อยมีหางเสียงนะคะ มาเริ่มเล่ากันเลย
ใครบางคนเคยบอกไว้ว่า สิ่งที่ทำให้มนุษย์ต่างจากสัตว์ทั่วไปนั่นคือ มนุษย์มีเหตุผล
มิหนำซ้ำ มนุษย์ยังทะนงตัวเองว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ มีสติปัญญาล้ำเลิศกว่าสิ่งมีชีวิตใดๆบนโลกใบนี้
และเพราะเหตุนั้น ยิ่งคุณประสบความสำเร็จ มีเงินมีทอง มีหน้ามีหน้า และทำอะไรได้ดั่งใจไปเสียทุกเรื่อง คุณก็จะเชื่อว่าตนเองฉลาด และเชื่อว่าตนเองมีความสามารถในการตัดสินในเรื่องราวต่างๆได้อย่างไร้ที่ติ
ว่าแต่....แล้วมันเป็นแบบนั้นเสมอไป จริงๆหรือเปล่า?
คุณรอฟ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้แย้งว่า ไม่จริง...เสมอไป และข้อโต้แย้งที่เขานำมาใช้นั้นก็มี 52 หัวข้อด้วยกัน ซึ่งเจ้าตัวเรียกเองว่ามันคือ "เหตุผลวิบัติ" ต่างๆ ที่อาจชักจูงให้คนเราเสียรู้ได้...อย่างไม่น่าเชื่อ
เสิร์ฟอาหารต้องมีออร์เดิร์ฟฉันใด การจะอ่านหนังสือสักเล่มก็ควรมีโวหารเปิดเรื่องเสียก่อนฉันนั้น และในบทนำก็ได้ยกแนวคิดหนึ่งขึ้นมานำเสนอ
"...เราไม่รู้อย่างแน่ชัดว่าอะไรที่ทำให้เราประสบความสำเร็จหรือมีความสุข แต่รู้อย่างแน่ชัดว่าอะไรที่บ่อนทำลายความสำเร็จหรือความสุขของเรา..."
เออ ก็จริงนะ หลายครั้งที่เรามักจะมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อเรื่องเชิงลบมากกว่า อย่างที่หลายคนเคยรู้สึกแบบ 'เออ ก็ไม่รู้หรอกว่าอยากได้อะไร แต่....นี่ ไม่ซื้อแน่ๆ' หรือมีมุมมองในการเลือกคู่ที่ชัดเจนว่า 'ฉันไม่เอาคนสูบบุหรี่, กินเหล้า, เจ้าชู้' บลาๆๆๆ แต่ถามว่า แล้วชอบคนแบบไหนล่ะ
...เดี๋ยวค่อยคิด
เออ...ว่ะ หรือที่เขาเขียนมันจะจริง หรือบางทีเราก็โดนอะไรหลายๆอย่างทำให้เราตัดสินใจเลือกในสิ่งที่เราไม่ต้องการได้จริงๆ
ไหนลองอ่านต่อไป...
แต่ละหัวเรื่องก็จะเป็นเรื่องเชิงจิตวิทยาที่บางเรื่องอ่านไปแล้วก็เถียงในใจว่า ไม่จริงหรอก มันไม่ใช่แบบนั้น บางหัวข้ออ่านแล้วก็ อืมมม เออ และบางหัวข้ออ่านแล้วก็อดพยักหน้าหงึกๆตามไปด้วยไม่ได้
และที่สนุกอีกเรื่อง(อาจจะสนุกอยู่คนเดียวในฐานะที่อ่านหนังสือแนวจิตวิทยามาหลายเล่ม)ก็คือ ในบางตอนของหนังสือจะมีการอ้างถึงหนังสืออีกเรื่องหนึ่งในแนวจิตวิทยาเช่นกัน พอเจอเรื่องที่อ่านแล้วก็จะแบบ "อ๋ออออ ที่ชื่อภาษาไทยคือ ตัดสินใจให้ดีต้องมีอารมณ์ เออๆ"(เดี๋ยวมีโอกาสจะมาเล่าเรื่องนี้ให้อ่านนะ) หรือกับบางเรื่อง "อ่อ black swan ดองไว้เป็นชาติยังอ่านไม่จบ หึหึ" ได้ฟีลแบบเราคุยกับเพื่อนคนนึงแล้วเขาพูดถึงคนอีกคนหนึ่งแล้วเราแบบ เฮ้ย ฉันรู้จัก!!!
สนุกดี
ว่าแล้วก็ยกตัวอย่างหัวข้อในความทรงจำเสียหน่อย
มีตอนหนึ่งที่ชื่อว่า "ทำไมเราถึงควรเรียนรู้แบบลองผิดลองถูก" ซึ่งชี้ให้เห็นการตอบสนองต่อสิ่งที่เป็นขั้วตรงข้ามกัน นั่นคือ ทฤษฎี กับ ปฏิบัติ ว่าคนเรามีแนวโน้มที่จะนับถือพวกนักทฤษฎีทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ นักเขียน ทั้งๆที่หลายครั้ง ความพัฒนาบนโลกใบนี้มันไม่ได้เกิดจากตัวอักษรเป็นพืดในกระดาษ แต่เกิดจากการที่ใครสักคนลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างและลองผิดลองถูกเรื่อยๆจนสามารถคิดค้นสิ่งประดิษฐ์อะไรขึ้นมาได้ คุณรอฟจึงเสนอว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราควรปิดหนังสือแล้วลงมือทำ
พออ่านถึงหัวข้อนี้ปุ๊บ เสียงหนึ่งก็ลอยมาทันที "ใช่เลย กรูก็เรียนรู้จากความship lost (เพื่อความสุภาพขออนุญาตเปลี่ยนภาษาเล็กน้อย) ของตัวเองมาเยอะเหมือนกัน"
จะว่าไปก็จริงนะ เพราะการพัฒนาทักษะต่างๆมักเกิดขึ้นได้โดยการลงมือทำ เช่น ทนายก็ต้องลองไปเถียงกับอีกฝ่ายในห้องพิจารณาจึงจะว่าความเป็น หรือนักบินก็ต้องไปนั่งในห้องควบคุมจริงเพื่อฝึกบิน น้อยมากที่จะมีใครที่เอาแต่หมกตัวอ่านตำราอย่างเดียวแล้วจะเป็นผู้เชี่ยวชาญอะไรขึ้นมาได้ มันต้องลองทำจริงๆอะ
เห็นด้วยกับหัวข้อนี้
อีกหัวข้อหนึ่งที่อ่านแล้วทำให้ฉุกคิดขึ้นมานั่นคือ "สิ่งสำคัญคือคุณเลือกพายเรือลำไหนไม่ใช่พายเรือเก่งแค่ไหน" ซึ่งชี้ให้เห็นว่า บางครั้งความสำเร็จของคนเราก็ไม่ได้มาจากความสามารถเสมอไป บางที มันก็เป็นเพราะโชคชะตาด้วยเหมือนกัน
เวลาดูฟุตบอลด้วยกัน แม่มักจะพูดอยู่บ่อยๆว่า "เก่งมันคู่กับเฮง" ซึ่งมันก็จริงในหลายๆครั้ง ดูอย่างในปีหนึ่งซึ่งประเทศกรีซได้แชมป์ยูโรนั่นปะไร ใครจะไปคิดว่าคู่นัดเปิดสนามกับคู่ชิงชนะเลิศจะเป็นคู่เดียวกัน แสดงว่าในหลายๆอาชีพและหลายๆกรณี แค่เก่งอย่างเดียว มันไม่พอจริงๆ ว่าแต่ แล้วประโยคว่า "ลิขิตฟ้า หรือจะสู้มานะคน" นั่นล่ะ แสดงว่าถ้าคนเราพยายามมากพอ แม้ไม่มีดวงมันก็ต้องสำเร็จได้ซี
เอ๊ะ...หรือว่าที่สำเร็จได้หลังจากพยายามมากพอ นั่นคือโชคชะตาอนุญาตให้สำเร็จได้ตอนนั้นพอดี
โอ๊ย ปวดหัว
เชื่อดีหรือไม่เชื่อดีล่ะเนี่ย หัวข้อเนี้ยะ
นี่คือตัวอย่างของ "วิธี" หรือ "เหตุผลวิบัติ" ที่คุณรอฟนำเสนอมา ซึ่งอ่านแล้วก็คล้ายได้ออกกำลังสมองดีเหมือนกัน
หนังสือเล่มนี้เหมาะกับคนที่ชอบอ่านหนังสือแนวจิตวิทยาค่ะ และเหมาะสำหรับใครก็ตามที่อยากได้ข้อมูลเกี่ยวกับการตัดสินใจ ว่าหากอยากตัดสินใจให้สัมฤทธิ์ผล ให้ได้ดั่งใจ มีหลุมพรางอะไรที่ต้องระวังบ้าง อ่านเล่มนี้น่าจะตอบคำถามข้างต้นได้บ้างไม่มากก็น้อย
หากคุณผู้อ่านท่านใดสนใจก็ไปทดลองอ่านได้ที่ร้านหนังสือใกล้บ้านนะคะ บางที คุณผู้อ่านอาจจะพบหนังสือที่ถูกจริตเพิ่มขึ้นอีก 1 เล่ม ก็ได้น้า
ขอให้คุณผู้อ่านทุกท่านมีความสุขในวันหยุด และขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลกที่คุณผู้อ่านนับถือ ดลบันดาลให้คุณผู้อ่านและครอบครัวประสบแต่ความสุข ความสมหวัง และมีสุขภาพดี ตลอดปีและตลอดไป นะคะ
สวัสดีปีใหม่(ล่วงหน้า)ค่ะ :D
ก่อนจบ ขออนุญาตประชาสัมพันธ์ เนื่องจากตั้งแต่ประมาณ 2 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นมา ทาง minimore เปลี่ยนรูปแบบเว็บใหม่ ผลที่เกิดขึ้นคือ งานเขียนเรา...ไม่มีคนอ่านเลย (คาดว่าหาเจอยาก)ตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป เราจึงตัดสินใจกลับไปเขียนเรื่องราวในบล็อกเดิมของเราแทน คุณผู้อ่านที่ถูกจริตในงานเขียนของเรา สามารถติดตามไปอ่านได้ที่
https://alwaysfay.blogspot.com/2023/02/blog-post.html ขอบพระคุณสำหรับการติดตาม และขอบคุณทาง minimore ที่ให้พื้นที่เราได้ขีดๆเขียนๆเรื่องราวตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้
จนกว่าจะพบกันใหม่
สวัสดีค่ะ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in