คำว่า “Essay” เดิมทีแล้วมันคือภาษาอะไรและมีความหมายว่าอะไรกันนะ
“มันมีคำที่ถึงเราจะเข้าใจความหมายคร่าวๆ แต่อธิบายออกมาให้ถูกต้องไม่ได้อยู่เหมือนกัน” ผมคิด ดังนั้นก่อนเขียนคอลัมน์ประจำนี้ครั้งแรก ผมจึงเริ่มต้นจากการหาความหมายของคำๆ นี้ในแบบของตัวเองก่อน
“Essay” ในภาษาญี่ปุ่นใช้คำว่า “随筆” (zuihitsu – ร้อยแก้ว, ความเรียง) หรือ “随想” (zuisou – ความรู้สึกจากการสัมผัสสิ่งต่างๆ) ดูเหมือนจะแปลว่า “ร้อยแก้วที่ร้อยเรียงขึ้นเพื่อบรรยายความรู้สึกจากประสบการณ์ส่วนตัวและสิ่งที่ได้ประสบพบเจอของผู้เขียน” อืม...สรุปคือหมายถึงข้อความที่เขียนขึ้นมาอย่างอิสระโดยไม่มีนิยามอะไรก็ได้งั้นเหรอ? ในคำนำของ “徒然草 (Tsurezuregusa)” หนึ่งในสามหนังสือความเรียงอันทรงคุณค่าด้านวรรณกรรมเขียนไว้ว่า “ระหว่างใช้ชีวิตไปวันๆ อย่างเบื่อหน่าย เผชิญหน้ากับแป้นหมึกเขียนพู่กัน แล้วเขียนทั้งเรื่องดีเรื่องร้ายที่ผ่านเข้ามาในจิตใจไปเรื่อยเปื่อยจนรู้สึกว่าตัวเองแปลกไปจากเดิม” โตเป็นผู้ใหญ่แล้วนี่ละผมถึงเข้าใจว่านี่คงเป็นความหมายของสิ่งที่เรียกว่า “ความเรียง”
แต่ดูเหมือนว่าหนังสือประเภทความเรียง (essay) ในประเทศแถบยุโรปจะต่างไปจากญี่ปุ่นเราเล็กน้อย ภาษาฝรั่งเศสที่เป็นรากศัพท์ของคำว่า essay คือคำว่า “essais” นั้นมีความหมายว่า “試み”(kokoromi - การลองทำ, การทดลอง) ซึ่งคือ “ข้อความที่แสดงความคิดเห็นที่มีต่อสิ่งหนึ่งและทำให้ผู้อ่านคล้อยตาม” สรุปคือมีความหมายที่แตกต่างว่าเป็น “งานเขียนนำเสนอคำตอบที่ได้จากการลองคิดและพินิจพิจารณาซ้ำไปซ้ำมา” ดังนั้นถ้านำความหมายของคำว่า “Essay” ในต่างประเทศมาประกอบกันผมก็พอจะกำหนดจุดยืนของตัวเองก่อนเริ่มต้นเขียนคอลัมน์ประจำนี้ได้ว่า “ผมจะเขียนเรื่องราวหลากหลาย ทั้งส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันธรรมดาๆ ของผม หรือบันทึกความรู้สึกตามจริงที่ได้จากการลองคิดทบทวนสิ่งต่างๆ ก็ได้”
ผมเป็นคนประเภทคิดก่อนลงมือทำแบบนี้ละ
นิสัยถ้าไม่คิดก่อนก็ทำอะไรไม่ได้แบบนี้น่ารำคาญอยู่ผมชื่นชมคนประเภทที่ร่างกายและความรู้สึกไปก่อนความคิดจริงๆ แต่บางครั้งผมก็คิดว่ามันก็ช่วยไม่ได้เพราะตัวเองเป็นคนนิสัยแบบนี้ไปแล้ว สิ่งที่คุณจะได้อ่านกันต่อไปนี้อาจเป็นชิ้นส่วนความคิดไม่ปะติดปะต่อที่ผ่านการลองผิดลองถูกของผมในระยะเวลา 2 ปี ผมนั่งเผชิญหน้ากับ MacBook ไม่ใช่แป้นหมึกเขียนพู่กัน และลองเขียนทั้งเรื่องดีเรื่องร้ายที่ผ่านเข้ามาในจิตใจออกมาให้ซื่อตรงมากที่สุดเท่าที่ทำได้ ผมอยากให้คุณหยิบมาอ่านกันตอนที่คุณนึกขึ้นได้อย่างช่วงที่ว่างหรือก่อนนอน ผมหวังว่าผมคงสามารถเขียนข้อความสักหนึ่งบรรทัดในหนังสือเล่มนี้ให้หลงเหลืออยู่ในความทรงจำของทุกคนได้ ในขณะเดียวกันผมก็จะลองเรียกความทรงจำอันเลือนลางในสมัยเรียนที่ “นี่เราเคยผันกริยากลุ่ม 2 วรรค Ka ด้วยนะ...”* ออกมาดูครับ
ประวัติส่วนตัว
ชื่อ นากามุระ โทโมยะ
วัน/เดือน/ปีเกิด 24 ธันวาคม 1986
อายุ 34
เพศ ชาย
ที่อยู่ปัจจุบัน ที่ไหนสักแห่งในโตเกียว
โทรศัพท์ 03-xxxx-xxxx
ที่อยู่ติดต่อได้ เหมือนข้างบน
ประวัติการทำงาน เมษายน 2003-------ฤดูใบไม้ผลิ ม.ปลายปี 2 เข้าสถาบันฝึกนักแสดง
มีนาคม 2004--------เรียนจบสถาบันฝึกนักแสดง
สิงหาคม 2004-------เปิดกล้องถ่ายทำงานแรก “Shichinin no Tomurai”
……
ทำโน่นทำนี่
ตุลาคม 2018--------เริ่มเขียนคอลัมน์ประจำ “Yangotonaki Zatsudan”
ฤดูใบไม้ผลิ 2021---รวมเล่มคอลัมน์
ประวัติการศึกษา เรียนจบประถม – มัธยมต้น – มัธยมปลาย
ใบอนุญาติ ใบขับขี่รถยนต์ธรรมดา
แรงบันดาลใจ/ความสามารถพิเศษ/วิชาที่ชอบ/สิ่งที่อยากนำเสนอ
ชอบสัตว์, ชอบฟุตบอล, เป็นคนขี้เบื่อที่หมกมุ่น
ช่วงนี้ชอบ DIY เป็นพิเศษและสนใจเรื่องเซรามิก
ไม่ชอบที่ที่สว่างมากๆ กับที่สูง
เวลาตื่นเต้นมักง่วงนอน
คู่สมรส ไม่มี – ในตอนนี้
ความต้องการอื่นๆ แค่มีวันหยุดไปตีกอล์ฟบ้างก็พอ
--------------------------------------------------
*กริยากลุ่ม 2 ของภาษาญี่ปุ่นเป็นคำกริยาที่ลงท้ายด้วย ~iru และ ~eru แต่คำกริยาที่ลงท้ายด้วยวรรค ka คือ ~ku, ~gu จัดเป็นคำกริยากลุ่ม 1 ซึ่งเป็นกริยาคนละกลุ่มและมีวิธีการผันกริยาที่แตกต่างกัน
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in