#เรื่องเล่าจากรั้วโรงเรียน (เรื่องที่เท่าไร จำไม่ได้)
“ ความสำเร็จที่ต้องไม่ถูกมองเห็น ”
เมื่อวาน ในคาบคณิตศาสตร์ตัวใดสักตัวหนึ่งเรานั่งอยุ่หน้าสุด (ห้องเราจับสลากย้ายที่ทุกเทอม เพื่อความเท่าเทียม) คุณครูคณิตศาสตร์วัยรุ่นคนหนึ่งสอนเรามาหนึ่งเทอม – เข้าเทอมที่สองในเวลานี้ – ตลอดเวลาที่ผ่านมา เราสัมผัสได้ถึงความ “ตรงไปตรงมา”และ “มาตรฐานสูง” จากคุณครูคนนี้ – ไม่แปลก เพราะห้องเราเป็นห้องเรียนพิเศษโดนคาดหวังด้วยมาตรฐานสูงต่ำตามแต่ละบุคคล – การบ้านที่เราได้ก่อนหน้าวันศุกร์ที่ผ่านมาคือให้นักเรียนแต่ละคนจับคู่กัน แล้วไปหาโจทย์คณิตศาสตร์มา 1 ข้อ และต้องอธิบายหน้าชั้นเรียนให้เพื่อนๆ ฟัง มาถึงตรงนี้ก็ยังไม่แปลกใจอะไร ทุกคนก็กลับไปทำงานของตัวเอง จนมาถึงคาบวันศุกร์ที่ผ่านมาอยู่ ๆ ก็มีกติกาใหม่โผล่ขึ้นมาว่า “ในหนึ่งคู่ จะมีคนที่นำเสนอเพียงคนเดียวและถูกชี้ตัวในเวลานั้นเลยจากดุลยพินิจของครูผู้สอน” เราก็ ‘เฮ้ย..ได้หรอวะ’ หน้าเหวอกันไปตามระเบียบ – แต่ก็ทำอะไรไม่ได้อยู่ดีอ่ะนะ – มีเพื่อนหลายคนที่ถูกเลือกออกไป เหมือนคุณครูจะเซ้นส์ดีจิ้มซะถูกตัวไปหมดทุกคู่ ทุกครั้งที่มีคนที่ “น่าเป็นห่วง” ถูกเรียกออกไปและมีอาการประหม่า ตื่นเต้น แบบที่คนที่อยู่ใกล้แบบเราสัมผัสได้บางทีมันก็สะเทือนใจเราบางอย่างนะ เราเห็นมือสั่น ๆของเพื่อนตอนที่ถูกผู้หญิงคนนั้นถามด้วยน้ำเสียงแข็ง ๆ ว่าสิ่งนี้มาได้จากไหน เกิดจากอะไรคำตอบที่ดูวกไปวนมา เสียงสั่น ๆ เหล่านั้นมันทำเราหดหู่ และอยากจะเข้าไปช่วยสุดแรง
ในแง่หนึ่ง เข้าใจวิธีการที่นำมาใช้ในครั้งนี้นับถือคุณครูที่มีความสามารถมากพอจะ “จิ้มถูกคน” ทำให้เด็กหลายคนได้มีโอกาสลองพูดต่อหน้าคนเยอะๆ อธิบายเรื่องยาก ๆ ที่ไม่เคยทำ และมันกลายเป็นข้อบังคับให้ทุกคนต้องทำโจทย์ข้อนึงเป็นถือว่าเป็นกลยุทธิ์การเรียนที่ดีพอสมควร
แต่
ความน่าตลกขบขันบางอย่างที่เราหันไปคุยกับเพื่อนข้างหลังตอนที่มีคนพรีเซ้นท์คือ “เกือบทุกวิชามีการพรีเซ้นท์ แต่ไม่มีวิชาไหนสอนเราพรีเซ้นท์เลย” เออว่ะ อันนี้น่าตลก ในห้อง ในแต่ละกลุ่มเรียกได้ว่าแทบจะมีตัวตายที่หลับตาจิ้มได้ จับกลุ่มแบบนี้ ไอนี่พูดแน่นอน ซึ่งคำถามคือ ทำไมทำไมถึงไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะออกไปพรีเซ้นท์ – ไม่ใช่เรื่องแบบคนนี้ทำอันนี้ไม่ได้ ไม่เข้าใจอันนี้นะ เรื่องแบบนี้มันบรีฟได้ทำมาด้วยกันก็ต้องเก็ทงานอยู่แล้ว – สิ่งที่ทำให้พวกเขาพรีเซ้นท์ไม่ได้คือ “ไม่เคยมีใครสอนพรีเซ้นท์” เราเติบโตและอยู่ในระบบการศึกษามา 12-13 ปี ในสามโรงเรียน ไม่เคยมีครูคนไหนสอนเราพรีเซ้นท์งานจริงๆนะ ไม่เคยมีใครบอกเราว่าสไลด์ไม่ควรมีตัวอักษรเยอะ ๆ ไม่เคยมีใครบอกเราว่าพูดให้ได้ใจความทำยังไง หรือถามจับใจความทำยังไงอะไรคือการพูดเรียงลำดับขั้นตอน ภาษาแบบไหนควรถูกนำมาใช้หรือจะจัดการกับความประหม่าต่อหน้าผู้คนอย่างไร หรือร้ายที่สุด “เราจะเชื่อมั่นในคำตอบและสิ่งที่ตัวเองทำได้อย่างไร”
นั่นสิ...
“ เหมือนครูแม่งเห็นแต่ภาพตอนพวกเรายืนอยู่บนแท่นรับรางวัลอะ ซึ่งภาพนี้มันไม่ควรเป็นเขาที่เห็นป่ะวะ มันควรเป็นพวกเราดิ ภาพที่เขาเห็นมันควรจะเป็นเส้นทางระหว่างนี้ไปถึงแท่นนั้นต่างหาก ข้างหลังแท่นนั้นน่ะ เราจะเดินไปในถนนแบบไหน เขาสิต้องสอนเรา แต่นี่เขาปล่อยเราเดินไปโดยไม่เคยบอกเราเลยว่าแผนที่มันมีอยู่ ไม่เคยเห็นถนนที่เราจะเดินด้วยซ้ำ ” เพื่อนของเราพูดหลังจากที่เรานั่งคุยกันสักพักและถอดความออกมาได้ เหตุการณ์นี้เป็นเพียงตัวอย่างในหลากหลายเรื่องเท่านั้นที่ระบบการศึกษามีช่องโหว่ มันค้ากำไรเกินควร คุณต้องการคนมาตรฐานระดับโลก แต่ทำงานระดับเทศบาลเมือง แล้วเราจะเป็นคนตามมาตรฐานสูงเสียดฟ้าของคุณได้อย่างไรถ้าคุณไม่พาเราไป
ช่างน่าขัน..
มีอีกหลายเรื่องที่ระบบการศึกษาไม่ได้สอน สิ่งนี้จึงทำให้เด็กทุกคนไม่เท่ากัน การทำอะไรบางอย่างถึงดูเป็นความสามารถพิเศษ “ที่ไม่ควรจะพิเศษ” ถ้าหากว่าคุณคาดหวังมันจากทุกคน คุณควรจะทำให้ทุกคนทำได้ มิใช่หรือ
แต่คำถามสำคัญของเราต่อมาคือ แล้วผู้หญิงคนนั้นรับผิดชอบต่อความเฟลที่นักเรียนถูกวิพากย์วิจารย์ด้วยความ “ตรงไปตรงมา” - ในสิ่งที่เขาทำไม่ได้ และไม่มีใครเคยสอน – ได้หรือไม่ เด็กคนนั้นอาจจะกลัวผู้คน มีคำถามซ้ำ ๆ กับตัวเองว่าทำไมเพื่อนทำได้แต่ฉันทำไม่ได้ ตีความไปเองเลยว่าตัวเองไม่เก่งคุณจะรับผิดชอบความเชื่อแบบนั้นที่เกิดจากเหตุการณ์นี้ได้อย่างไรถ้าหากเพื่อนของเราไม่ยอมพรีเซ็นท์งานอีกเลย
คุณทำไม่ได้หรอก คุณยังมองไม่เห็นคำถามนี้ด้วยซ้ำ
ได้คำตอบหรือยังว่าทำไมมันไม่ไปไหน ประเทศไทยน่ะ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in