หนทางแรกคือต้องรู้ทุกข์ อธิบายไปก็เหมือนนั่งอ่านธรรมะเล่มใหญ่อยู่ แต่เชื่อเถอะว่า ต่อให้คุณจะเรียกมันว่า ธรรมะหรือว่าความจริงก็ตาม สุดท้ายท้ายสุด มันก็แค่ชื่อเรียก สภาวะต่าง ๆ ก็ไม่ได้เปลี่ยนไปตามความคิด หรือเปลี่ยนไปตามอำนาจของใครบางคน เราเพียงแต่ใช้ชื่อเรียกกันไปเอง สมมุติบัญญัติกันขึ้นมาว่า นี่คือธรรมะ นี่คือพระพุทธศาสนา เอาเป็นว่ารู้ทุกข์ คือหนทางแรกของอริยสัจ 4 ตราบใดที่เรายังคงหนีทุกข์ ทุกข์มันก็จะยิ่งมาหาเรา มันก็เลยยิ่งทำให้เราไม่หันหน้ามาเจอทุกข์สักที เพราะมัวแต่หาความสุขอยู่ร่ำไป.
เราหนีทุกข์กันไปทำไม ก็เพราะเรากลัวยังไงล่ะ ความกลัวทำให้เราไม่ยอมมองมันด้วยใจจริง เรามองมันแบบผิวเผิน และตัดสินความทุกข์กันไปเองว่า "มันคือสิ่งที่น่ากลัวนะ เราต้องหาความสุขสิ" แต่หารู้ไม่ว่า ความสุขมันแฝงตนมาอยู่ในรูปแบบความทุกข์ มาถึงตรงนี้อาจจะดูย้อนแย้งกัน.
อธิบายง่าย ๆ ว่า สิ่งใดมีการเกิด ก็ย่อมมีการดับไปเป็นธรรมดา สิ่งนั้นเรียกว่าทุกขสัจจะ นั่นคือสิ่งที่มันเกิดแล้วก็ต้องดับ มันเป็นทุกข์โดยสภาวะของมันอยู่แล้ว แล้วสุดท้ายสุข หรือทุกข์คืออะไรล่ะ สุขก็คือทุกข์ ทุกข์ก็คือสุข มันสลับกัน เราเจอทุกข์ก่อนจึงจะพบบรมสุข ที่เรียกว่าการเข้าใจความทุกข์ทั้งหมดละว่า หนทางเดียวที่จะเข้าใจชีวิตได้ก็คือ รู้ทุกข์ นั่นเอง.
หนทางที่สองคือต้องรู้เหตุแห่งทุกข์ เหตุแห่งทุกข์มีเพียงอย่างเดียว คือความอยาก แล้วเราอยากอะไรล่ะ ก็อยากได้นู้น อยากได้นี่ อยากเป็นนั่น อยากเป็นนี่ แล้วก็ตรงข้ามกับความอยากคือไม่อยาก มันก็จะมีสองด้านเสมอ ถ้าสังเกตเห็นว่าชีวิตไม่ได้เป็นไปอย่างที่เราอยากหรือไม่อยาก แต่เป็นไปตามสิ่งที่ 'กระทำ' ลงไปเสียมากกว่า.
หลายคนเวียนวนอยู่ในวังวนแห่งความไม่รู้ ก็คิดไปว่า "เราอยากได้ทำไมไม่ได้สักที คนอื่นเขาอยากนิดเดียวก็ได้แล้ว" การเปรียบเทียบแบบนี้ไม่ก่อเกิดประโยชน์อะไร แถมยังทำลายคนที่คิดหาทางลัดอีกด้วย ไม่มีทางลัดของความสำเร็จ ทุกคนที่ได้ในวันนี้ก็ล้วนแต่สร้างกันวันนั้นกันทั้งนั้นแหละ ไม่ใช่ว่าเขาบังเอิญ หรือเกิดจากการสุ่ม แต่เป็นเพราะทำเหตุที่ดีแล้วเลยได้สิ่งนั้น ก็เหมือนกับการเวียนว่ายตายเกิด ถ้าเรายังคงสร้างเหตุในการเกิดก็คือความอยากอยู่ตลอดไป แล้วมันจะหยุดการเกิดได้ยังไงล่ะ.
คนในปัจจุบันเลือกที่จะฆ่าตัวตาย ทั้ง ๆ ที่นั่นไม่ใช่ทางออกของปัญหา เพราะหนีทุกข์ก็ไม่ช่วยอะไรอยู่ดี เราก็ต้องดับความอยากได้ อยากมี อยากเป็นให้หมดจดเสียก่อน ซึ่งก็ต้องรู้ความเป็นไปของกระบวนการอย่างถ่องแท้ เช่น ความอยากนี่มันเป็นตัวทำลายและให้เราติดอยู่กับโลกใบนี้เสมอ เพราะโดยสภาวะของจิตจะต้องหาอะไรมาบำรุงบำเรอมันอยู่แล้ว ถ้าเมื่อไหร่ที่จิตมันเริ่มว่าง มันก็ต้องหาอะไรมาใส่ในจิต เพื่อให้มันได้เติมเต็ม.
หนทางที่สามคือต้องรู้แจ้งแห่งทุกข์ เมื่อไหร่ก็ตามที่รู้ว่าสุดท้ายแล้วทุกข์คือความว่างเปล่า สิ่งต่าง ๆ มันว่างของมันมาตั้งแต่แรก แต่เรานี่เองที่ชอบไปเติมอยู่นั่นแหละ เติมแล้วก็พร่ำบ่นเองด้วยนะ ไม่ใช่ใครมาเติมให้เรา มันก็จะวนเวียนแบบนี้ตลอดไป ไม่มีวันจบวันสิ้น พอรู้แจ้งแล้วก็จะรู้ว่ามันไม่มีอะไรเลยนอกจากทุกข์ ทุกข์นี่แหละคือความจริงเพียงหนึ่งเดียวที่มนุษย์ทุกคนได้ตามหามันมาตลอด แต่หารู้ไม่ว่า มันอยู่กับเรามาตั้งแต่แรก ไม่ได้จากเราไปไหนเลย ยิ่งเรามีสติมากก็ยิ่งรู้มาก ว่าการจะดับทุกข์ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเราชอบไปบังคับมัน ยิ่งบังคับให้หายทุกข์ก็จะยิ่งเนิ่นช้ากันไปใหญ่ สุดท้ายแล้วมันก็จะยิ่งบีบรัดให้เรานั้นตายไป เพราะการฝืนโดยใช่เหตุมันก็จะทำให้จิตนั้นไม่เข้าใจตามความเป็นจริง.
การที่จะรู้แจ้งทุกข์ก็ต้องใช้ปัญญามองเห็นตามความเป็นจริงเท่านั้น ไม่ผลักไสและไล่ส่ง มองดูมันอย่างเข้าใจ และรู้ว่าถ้าเข้าไปเล่นกับมันมากมันก็จะทำร้ายเราให้ เราจึงรู้มันอย่างทะลุปรุโปร่ง เห็นกระบวนการของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปของทุกข์นั้น เหมือนเห็นหนังที่ฉายซ้ำไปซ้ำมา วนไปวนมา แต่จิตก็อยากจะเข้าไปหยุดมัน ทั้ง ๆ ที่ความจริงมันหยุดไม่ได้ เราก็แค่หยุดที่ตัวเราเองไม่ต้องไปหยุดที่ใคร.
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in