***เปิดเผยเนื้อหาสำคัญ***
((คำว่าผู้ชาย-ผู้หญิงในบทความนี้ขออนุญาตหมายถึงเพศทางชีวภาพหรือ biological sex))
ทันทีที่ Michael Myers ตกจากระเบียงไปยังพื้นด้านล่างหลังจาก Dr. Sam Loomis เหนี่ยวไกลั่นกระสุนยับยั้งการสังหารของเขา นอนแน่นิ่งราวกับสิ้นลม เพียงคลาดสายตาครู่เดียว ฆาตกรเลือดเย็นผู้นั้นได้อันตรธานหายไปแล้ว... นี่คือฉากจบของ Halloween ภาพยนตร์สยองขวัญทุนต่ำระดับตำนานซึ่งออกฉายในปี 1978 แต่เป็นฉากเริ่มต้นสำคัญของภาพยนตร์สยองขวัญแนวไล่เชือด (slasher) ส่งผลให้เกิดขนบภาพยนตร์สยองขวัญ (horror) ขึ้นมาอีกแขนง จากเดิมความน่ากลัวมักมาจากเหล่าสัตว์ประหลาดหรือผีสาง มาเป็นฆาตกรภายใต้หน้ากากพร้อมอาวุธสำหรับปลิดชีพเหยื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหยื่อสาววัยรุ่น
หากศึกษาภาพยนตร์ไล่เชือดจะพบว่ามีมุมมองทางด้านเพศอันสอดคล้องกับปิตาธิปไตยมากมายสวมทับอยู่ อาทิ เหยื่อมักเป็นผู้หญิงขณะที่ฆาตกรมักมีเพศสภาพเป็นชาย ไม่ว่าอย่างไรฆาตกรจะต้องมีเพศกำเนิดเป็นชาย เช่น Sleepaway Camp มีการหักมุมว่า ความจริงคือฆาตกรเป็นผู้ชายที่แต่งกายข้ามเพศ, การมีเพศสัมพันธ์ทำให้ตกอยู่ในอันตรายและฝ่ายหญิงเมื่อโดนไล่ฆ่าจะใช้เวลานานกว่าฝ่ายชาย, อาวุธสำหรับจ้วงแทงของฆาตกรก็มีลักษณะยาวเรียวมีนัยถึงองคชาต (มีด) ที่สำคัญคือผู้รอดชีวิตคนสุดท้าย (final girl) ตามขนบต้องเป็นสาวพรหมจรรย์ซึ่งสอดคล้องกับมายาคติว่าสาวผู้ไม่เคยผ่านชายใดจะเป็นผู้หญิงที่มี “คุณค่า” เหมาะจะรอดชีวิตหรือมากกว่านั้นคือสามารถสู้กับฆาตกรได้ด้วย ในการสำรวจพบว่าผู้ชมส่วนใหญ่เป็นผู้ชายก็ยิ่งสำทับความเชื่อไปอีกว่าภาพยนตร์แขนงนี้เกี่ยวโยงกับปิตาธิปไตยอย่างเลี่ยงไม่ได้
แม้ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ภาพยนตร์ไล่เชือดจะไม่ได้รับความนิยมเท่าในช่วงปี 1990-2000 แต่ภาพยนตร์สยองขวัญบางเรื่องถึงไม่ใช่แขนงไล่เชือดกลับมีองค์ประกอบการนำเสนอละม้ายกับแขนงดังกล่าว อย่าง The Invisible Man ของ Leigh Whannell ที่ดัดแปลงจากนิยายวิทยาศาสตร์คลาสสิก แต่การดัดแปลงใหม่ครั้งนี้ได้ผสานการเล่าเรื่องที่น่าสนใจหลายอย่างโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการหยิบเอาองค์ประกอบภาพยนตร์ไล่เชือดมาใช้ในคราบนิยายวิทยาศาสตร์ซ้ำยังวิพากษ์ปิตาธิปไตยได้อย่างเข้มข้นด้วย
ความหวาดกลัวจากพื้นที่ส่วนตัวโดนรุกล้ำโดย “ความว่างเปล่า”
“บ้าน” กลายเป็นสถานที่ไร้ความปลอดภัยในโลกสยองขวัญ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ไล่เชือดหรือภาพยนตร์ผีสางก็ตาม จะเห็นได้ว่าสถานที่ที่มักเกิดเรื่องร้ายกลับเป็นสถานที่ที่เรามักเชื่อกันว่าปลอดภัยที่สุด นอกจากบ้านยังรวมถึงพื้นที่ส่วนตัวอย่างห้องน้ำหรือห้องนอนก็ไม่สามารถป้องกันภยันตรายได้เช่นกัน เช่น Rosemary’s Baby ไม่มีเพียงผีห่าซาตานเข้ามากล้ำกรายนางเอกเท่านั้น ยังมีเพื่อนบ้านที่เข้ามาวุ่นวายจนเลยเถิดไปถึงควบคุมคุกคามนางเอกด้วย, Psycho ของ Alfred Hitchcock ก็มีฉากฆาตกรรมในห้องน้ำ และใน Halloween เอง นางเอกก็โดนสะกดรอยตามในพื้นที่โล่งที่ไม่น่าจะโดนคุกคามได้จนกระทั่งเธอโดนไล่ล่าภายในบ้าน เราเรียกว่าภาพยนตร์ไล่เชือดแบบ Halloween นี้ว่า Home Invasion แปลว่า “บ้านโดนรุกราน” เช่นเดียวกับ The Invisible Man ฉบับนี้ แต่สิ่งที่แตกต่างก็คือ ไม่มีใครสามารถมองเห็นอันตรายที่กำลังมาถึงตัวได้เลย
The Invisible Man ว่าด้วยเรื่องของ Cecilia หญิงสาวที่หลบหนีจากสามีนักวิทยาศาสตร์เพราะไม่สามารถทนอยู่ภายใต้การกดขี่ของเขาได้อีกแล้ว วันหนึ่งเธอได้รับข่าวการฆ่าตัวตายของเขา มันดูเหมือนว่าเธอได้รอดพ้นจากบ่วงทุกข์ แต่ในความเป็นจริง บ่วงนั้นล่องหนและรัดตัวเธอแน่นกว่าเดิม
ภายในเรื่องผู้ชมแทบไม่เห็นกายเนื้อของคนร้าย เพราะคนร้ายประสบผลสำเร็จในการล่องหน แต่กลวิธีนำเสนอการคุกคามของ The Invisible Man มาในรูปแบบของ “ความว่างเปล่า” มีการใช้ประโยชน์จากความว่างเปล่าให้ผู้ชมรับรู้ว่ามีบางอย่างดำรงอยู่หรือคอยติดตามสอดส่องตัวละครเสมอ เทคนิคทางภาพที่มักถูกใช้คือภาพมุมกว้าง (long shot) และอยู่ในระดับสายตา (eye level) โดยมีตัวละครไม่เกินสามตัวอยู่ในฉากเพื่อให้เห็นบรรยากาศโดยรอบ และหันเคลื่อนกล้องในแนวนอน (pan) สำรวจไปยังพื้นที่ “ไร้บุคคล” อย่างผิดปรกติให้ผู้ชมคลางแคลงใจว่าอาจ “มีบุคคล” อยู่ ณ ที่นั้นเวลานั้นก็ได้ เพราะโดยธรรมชาติของภาพยนตร์มักให้ความสำคัญกับวัตถุ/บุคคลไม่ใช่พื้นที่ว่าง ทว่า The Invisible Man กระทำในทางตรงกันข้ามจนเกิดประสิทธิผลด้านการสร้างความกดดันมากที่สุดเนื่องจากผู้ชมรวมถึงตัวละครในเรื่องไม่อาจรู้ได้เลยว่าความว่างเปล่านั้นว่างเปล่าจริงหรือไม่
พื้นที่ส่วนตัวอย่างในบ้านจนถึงห้องนอนหรือห้องน้ำไม่อาจป้องกันภัยได้ เช่น ฉาก Cecilia ตื่นขึ้นมากลางดึกและต้องยื้อยุดผ้าห่มกับ “ความว่างเปล่า” หรือฉากต่อสู้ในห้องครัว Cecilia จำต้องถือมีดเพื่อป้องกันตัวแต่เธอก็ไม่มีทางรู้ได้ว่าตำแหน่งของการจู่โจมจะเริ่มจากที่ใด มีดในมือจึงไร้ค่าทันทีตามผลลัพธ์ที่เห็นในเรื่อง
การล่องหนทำให้ไม่สามารถเดาลู่ทางการคุกคามได้ ขณะเดียวกันมันก็ยังทำให้เหยื่อมีสภาพภายนอกไม่ต่างจากคนวิตกจริตกล่าวโทษแต่สิ่งที่มองไม่เห็นจนทำให้ไม่มีใครเชื่อและปัดตกทุกคำอธิบาย ซ้ำร้ายเหยื่อไม่สามารถได้รับการช่วยเหลือจากใครได้เมื่ออันตรายประชิดตัว ต่างจากฆาตกรในภาพยนตร์ไล่เชือดที่มักปรากฏให้เห็นเป็นกายเนื้อซึ่งต่อกรได้ง่ายกว่ามนุษย์ล่องหน
ความสำเร็จอันน่าชมเชยของ The Invisible Man คือทำให้เรารู้สึกประหม่าทุกครั้งเมื่อเห็นความว่างเปล่า ทั้งที่ความว่างเปล่านั้นเป็นดูไม่มีพิษภัยที่สุดในโลกภาพยนตร์สยองขวัญมาโดยตลอด
สยองแต่ก็ยังดูไสแย่นซ์ (Science)
ถึงถูกดัดแปลงจากนิยายวิทยาศาสตร์อายุร่วม 100 ปีมาเป็นภาพยนตร์สยองขวัญเหตุการณ์เกิดในยุคปัจจุบัน กลิ่นอายนิยายวิทยาศาสตร์ยังคงมีผ่านงานภาพและเสียงนอกเหนือจากการใช้เทคโนโลยีล่องหนของคนร้าย ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนกล้องอย่างลื่นไหลไม่เป็น hand-held แต่ก็ทื่อตรงเป็นลำดับขั้น ขณะเดียวกันก็นำเสนอสถานที่ที่มีส่วนประกอบหลักเป็นเส้นตรงมากกว่าเส้นโค้งให้ความรู้สึกเป็นระบบแบบแผนเดียวกันทั้งหมด ยกตัวอย่างภาพยนตร์เรื่อง Playtime ของ Jacques Tati ยุคสมัยในเรื่องคือโลกอนาคต สถาปัตยกรรมจัดวางในแนวเดียวกันและสีที่ชืดไม่มีความละลานตาจนดูกร้านกระด้างไร้ชีวิต
นอกจากนี้ยังมีแสงฟลูออเรสเซนท์ที่ทั้งดูฟุ้งแต่ก็ดูแข็งกระด้าง ที่น่าสนใจอีกอย่างคือการใช้ภาพนำเสนอเมืองใหญ่บ่อยครั้งให้เห็นความศิวิไลซ์ ชวนให้นึกถึงภาพยนตร์นิยายวิทยาศาสตร์ดิสโทเปียน (dystopian) ที่มักฉายภาพความเป็นเมืองหลวง (metropolis) แสดงความโอฬารของโลกสมัยใหม่
ดนตรีประกอบยังนิยมใช้ดนตรีสังเคราะห์อิเล็กทรอนิก ส่งผลให้มีมวลแบบภาพยนตร์ techno-thriller มากขึ้นไปอีก เสริมกับงานภาพเชิงนิยายวิทยาศาสตร์ที่กล่าวไปข้างต้น หากย้อนกลับไปดูผลงานก่อนหน้าของผู้กำกับอย่าง Upgrade จะพบว่าดนตรีกับการเคลื่อนกล้องถูกออกแบบมาคล้ายกัน หนำซ้ำยังพูดถึงคนที่ใช้เทคโนโลยีเพื่อผลประโยชน์ชั่วร้ายของตนเหมือนกันอีกด้วย ทว่าทั้งหมดนี้ถูกใช้ได้อย่างเหมาะสมกลมกลืน ทำให้ความสยองขวัญในเรื่องยังดูสมจริง เป็นปัจจุบัน ไม่ดูเป็น “อนาคต” (futuristic) เกินกว่าจะรู้สึกร่วม
Dark City ภาพยนตร์ดิสโทเปียนว่าด้วยผู้ชายที่พบว่าตนและคนในเมืองโดนอำนาจชักใยอยู่ตลอดก็คล้ายคลึงกับ The Invisible Man ในแง่การนำเสนอแบบ ‘Kafkaesque’ ศาสตร์ศิลปะที่ให้ตระหนักถึงสภาวะจำยอมไร้ทางสู้ด้วยอำนาจ การนำเสนอเช่นนี้ชวนให้คนดูและตัวละครตั้งคำถามต่อการมีอยู่ของตัวเองในชีวิตประจำวัน และเราต้องทนอยู่ใต้อำนาจนี้ตลอดไปรึไม่ ดังที่ Cecilia ตระหนักว่ากำลังประสบสภาวะจนตรอกที่คนรอบตัวเธอดูยังไงก็บอกว่าปกติดี แต่เธอต่างหากที่ผิดปกติ ทั้งที่ความเป็นจริงเธอกำลังโดนอำนาจบางอย่างควบคุมอยู่
ชีวอำนาจผสานปิตาธิปไตย
Cecilia หนีจากสามีจอมบงการ (manipulative) ได้สำเร็จ ทว่าความหวาดกลัวยังตามหลอกหลอนเธออยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แม้เธอจะหลบหนีมายังบ้านของเพื่อนสนิทเธอได้แล้ว เธอเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน ไม่สุงสิงกับสังคมภายนอกและหวาดระแวงต่อเสียงใด ๆ ก็ตามที่ทำให้เธอรู้สึกไม่ปลอดภัย
หลังจากทราบข่าวการฆ่าตัวตายของสามี เธอได้เปิดใจกับเพื่อนสนิทและน้องสาวของตนว่าเมื่อเธอใช้ชีวิตร่วมกับเขา เธอถูกบงการมากเพียงใด ไม่ใช่แค่ในด้านการกระทำแต่ยังส่งผลถึงความคิดความอ่าน อำนาจของเขามีอิทธิพลต่อเธอมากเสียจนเธอกลายเป็นหุ่นเชิดไร้ชีวิตซึ่งมีหน้าที่เพียงสนองความต้องการของเขาเท่านั้น
Michele Foucault นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสเคยกล่าวถึงอำนาจที่สามารถแทรกซึมเข้าไปในร่างกายของมนุษย์ด้วยแนวคิดว่าแท้จริงแล้วในความประพฤติ, ความคิดและการตัดสินใจของมนุษย์ล้วนโดนครอบงำด้วยอำนาจที่เรียกว่า “ชีวอำนาจ” จากวาทกรรมผลิตซ้ำที่จะเข้าไปจัดการระบบระเบียบร่างกายผ่านสิ่งที่เรียกว่ากฎเกณฑ์และตารางเวลา เขาได้ยกตัวอย่างขึ้นมาเป็นการฝึกซ้อมของทหาร กล่าวว่าทหารจะเป็นทหารได้ก็ต่อเมื่อฝึกซ้อม การฝึกซ้อมจะช่วยแยกส่วน/ขยายช่องว่างระหว่างจิตกับกาย ยิ่งใช้เวลานานเท่าไรในการฝึกซ้อม ชีวอำนาจยิ่งสามารถเข้าไปกำหนดความประพฤติและความคิดของคน ๆ นั้น เมื่อสิ้นการฝึกซ้อม เขาก็จะกลายมาเป็นทหารตาม “รูปแบบ” ที่ถูกวางไว้
Cecilia กำลังโดนอำนาจดังกล่าวจากสามีเข้าเล่นงานเช่นกัน ทว่าชีวอำนาจนั้นยังมีปิตาธิปไตยเข้าร่วมด้วย สภาวะล่องหนอุปมาถึงอำนาจที่มองไม่เห็นเข้ามาจัดการความเป็นอยู่ของเธอจนยากจะหลบหนี ไม่มีใครเชื่อเธอแม้แต่น้องสาวซึ่งเป็นผู้หญิงด้วยกันเอง สิ่งที่เขาทำคือการปลุกปั่น (gaslight) จนทำให้เธอคุ้มคลั่ง ทั้งขโมยและโยกย้ายวัตถุยามเธอหลับ อำนาจนั้นประสบความสำเร็จโดยสมบูรณ์เพราะสามารถเข้ามาทำหน้าที่ของมันได้อย่างเต็มประสิทธิภาพโดยที่ไม่มีใครมองเห็นมันเลย
ยกตัวอย่าง Gaslight ภาพยนตร์ที่ออกฉายในปี 1944 ก็เป็นเรื่องของหญิงสาวที่สติแตกเพราะโดนปั่นหัวโดยสามีของเธอเอง ด้วยการตำหนิว่าเธอขี้ลืมซ้ำถี่จนทำให้เธอหลงคิดว่าตนฟั่นเฟือนและการทำให้เปลวเทียนสว่างวูบวาบเพื่อหลอกว่าเธอเห็นภาพหลอน จนเป็นที่มาของชื่อเรื่อง Gaslight
ทั้งสองเรื่องมีส่วนคล้ายกันคือนางเอกโดนบงการเพื่อให้เป็นไปตามจุดประสงค์ของผู้กุมอำนาจซึ่งเป็นผู้ชาย ชี้ให้เห็นว่ามีพลวัตบางอย่างในความสัมพันธ์เชิงอำนาจซึ่งผู้ชายมักมีอำนาจเหนือกว่าผู้หญิง เนื่องจากสังคมโดนหล่อหลอมให้เชื่อว่าผู้หญิงไม่สามารถมีอำนาจเหนือกว่าผู้ชายได้ ไม่ต่างจาก Cecilia เธอใช้เวลานานกว่าจะตัดสินใจหนีออกมา แสดงให้เห็นว่าเธอติดกับดักอำนาจนั้น วาทกรรมสามีเป็นช้างเท้าหน้า-ภรรยาเป็นช้างเท้าหลังถูกผลิตซ้ำจนเป็นโซ่ล่ามเธอไว้แน่นหนา
ถึงกระนั้นการหลบหนีในรอบแรกของเธอทำให้เราตระหนักว่าไม่มีทางที่จะหนีพ้นจากปิตาธิปไตยได้ ขณะที่เธอหนีการ “เป็นภรรยา” จากสามี เธอยังต้องมาทำหน้าที่ “เสมือนภรรยา” ให้กับเพื่อนสนิทผู้ชายของเธอ ทั้งทำกับข้าว ปรนนิบัติดูแลลูกของเขาไม่พ้นกรอบบทบาททางเพศที่ปิตาธิปไตยมอบให้อยู่ดี และมันจะยังอยู่ด้วยเสมอโดยที่เรามองไม่เห็น
ยอกย้อนล้อเล่นเป็นไล่เชือด
ถ้ามีเด็กหนุ่มเนิร์ด, สาวผมบลอนด์และหนุ่มนักกีฬายืนเรียงหน้ากระดาน คนที่มีแนวโน้มว่าสมควรตายคนแรกในโลกไล่เชือดคงเป็นสาวผมบลอนด์ ด้วยมายาคติว่าสาวผมบลอนด์คือหญิงโง่ (dumb blonde) และเป็นวัตถุทางเพศ (blonde bombshell) สาวผมบลอนด์จึงไม่มีคุณค่าพอจะมีชีวิต สังคมปิตาธิปไตยกำหนดไว้ว่าผู้หญิงที่มีทีท่ายั่วยวนทางเพศคือผู้หญิงมีมลทินสมควรโดนกำจัดออกไปจากเรื่องให้เร็วที่สุด สาวผมบลอนด์โดนกดทับด้วยมายาคตินี้มาโดยตลอด กระทั่งมีภาพยนตร์บางเรื่องได้ยอกย้อนถอนรากมายาคติอันผูกกับปิตาธิปไตยนี้ด้วยการสร้างตัวละครในทางตรงกันข้ามกับที่เคยทำมา เช่น นางเอกใน Happy Death Day ฉลาด มีไหวพริบในการตามหาฆาตกร ใน The Invisible Man ก็เช่นกัน
อย่างที่เคยบอกไปข้างต้นว่าในภาพยนตร์ไล่เชือดจะอนุญาตให้ผู้รอดชีวิตคนสุดท้ายคือสาวพรหมจรรย์ แต่ไม่ใช่ในกรณีของ Cecilia เธอตั้งครรภ์และใช้ประโยชน์จากสิ่งที่ปิตาธิปไตยบอกว่ามีมลทินนั้นมาเป็นสิ่งต่อรองและต่อสู้กลับผ่านฉากหนึ่งที่เธอแสร้งจะฆ่าตัวตายเพื่อล่อให้สามีล่องหนของเธอออกมาติดกับดักที่เธอวางไว้ เพราะรู้ว่าเขาไม่ยอมเสียลูกไปแน่นอน
ขณะเดียวกัน เพื่อนสนิทของ Cecilia เป็นผู้ชายร่างกายกำยำตัวใหญ่กว่าเธอหลายเท่า กลับเป็นฝ่ายถูกช่วยเหลือจากอันตรายโดยนางเอกแทน เป็นการพลิกกลับจากขนบเดิมที่ผู้ชายต้องเข้ามาช่วยเหลือผู้หญิงซึ่งเรียกว่า damsel in distress
การเลือก Elizabeth Moss นักแสดงหญิงจากซีรีส์วิพากษ์ปิตาธิปไตยที่กวาดรางวัลใหญ่มาไม่ถ้วนอย่าง The Handmaid’s Tale มารับบทหญิงสาวที่ตกเป็นเหยื่อสามีเลือดเย็นดูมีเป้าประสงค์ที่น่าสนใจเพราะทั้งสองเรื่องเธอรับบทเป็นผู้หญิงที่โดนจองจำด้วยอำนาจปิตาธิปไตยและพยายามปลดแอกตนออกมาเพื่ออิสรภาพของตน ต้นฉบับนิยายของซีรีส์ถูกแต่งขึ้นในช่วงที่ขบวนการสตรีนิยมคลื่นลูกที่ 2 กำลังก่อตัว เป็นคลื่นที่ให้ความสนใจกับเรื่องสิทธิการคุมกำเนิดและความรุนแรงในครัวเรือน ทั้งสองตัวละครต่างประสบความรุนแรงดังกล่าวและโดนควบคุมร่างกายไปจนถึงระดับการสืบพันธุ์ คุณค่าของเธอขึ้นอยู่กับมดลูก หากไม่สามารถมอบบุตรให้ได้ คุณค่าของเธอก็แทบเป็นศูนย์
The Invisible Man ได้จุดชนวนการตั้งคำถามถึงการดำรงของปิตาธิปไตยขึ้นมาอีกครั้ง แต่เพราะสภาวะล่องหนของมันทำให้ถูกมองข้ามหลายครั้งและนั่นคือความสยดสยองเพราะสูญเสียการตรวจสอบมองเห็นว่าอำนาจของความว่างเปล่านี้ว่าได้ไปทำร้ายใครบ้าง ที่สำคัญเรากำลังโดนบงการโดยไม่รู้ตัวรึเปล่า ภาพยนตร์สะกิดให้เราหันมาสนใจความว่างเปล่าที่โดนมองข้ามมาโดยตลอดเพียงเพราะดูไม่มีอะไร ตั้งแง่พิจารณาอย่างถ้วนถี่ว่ามันไม่มีอะไรในความว่างเปล่าตามที่เขาว่ามาจริงหรือเพียงเพราะมองไม่เห็นจึงไม่เชื่อว่ามันมีอยู่
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in