เราขอชื่นชม Jandy Nelson ในเรื่องการสร้างคาแรคเตอร์ค่ะ สร้างออกมาได้น่าประทับใจมากๆ บางการกระทำของตัวละครในเรื่องเลวร้ายใช้ได้เลย (ฮา) แต่ว่า Nelson เขียนออกมาทำให้เรารู้ว่าจริงๆแล้วมันไม่มีถูกผิดเลย โดยเฉพาะในเรื่องของความรัก เราจะเห็นมุมมองต่อการกระทำของตัวละครแต่ละตัวว่าทำไมถึงทำแบบนี้ ความคิด ความรู้สึกกับสิ่งที่ได้ทำลงไปทั้งก่อนทำและหลังจากทำลงไปแล้ว จนเราไม่มีความรู้สึกโกรธหรือหงุดหงิด แต่เข้าใจมากกว่า แล้วก็คอยเอาใจช่วยตัวละครในเรื่องไปด้วย เป็นเรื่องที่เราชอบตัวละครทุกตัวจริงๆ
การดำเนินเรื่องจะแบ่งเป็นสองช่วงสลับไปมา คือช่วงที่แฝดทั้งสองอายุ 13 ปี บรรยายโดย Noah (The Invisible Museum) และในช่วงอายุ 16 ปี Jude จะเป็นคนบรรยายค่ะ (The History of Luck) เราจะได้เห็นมุมมองของเด็กทั้งสอง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และเรื่องราวที่ Jude และ Noah เก็บเอาไว้โดยไม่ได้เผยให้อีกฝ่ายทราบ รายละเอียดกับปมแต่ละปมจะค่อยๆปรากฏออกมา บางปมเดาได้ บางปมก็ทำเอาตกใจเหมือนกัน โดยรวมแล้วสนุก ไม่มีช่วงไหนที่เรารู้สึกว่าเนือยหรือเบื่อ ตอนแรกไม่ได้คาดหวังมาก คิดว่าอ่านเรื่อยๆ แต่พออ่านไปซักพักก็วางไม่ลงเลย
(Painting: the cherubs from Sistine Madonna — by Raphael)
ส่วนตัวชอบพาร์ทของ Noah มากกว่า รู้สึกว่าเจ้าเด็กนี่บรรยายแสบสันใช้ได้ เหมือนมีทอร์นาโดในใจตลอดเวลา ความคิดระเบิดเหมือนน้ำท่วม สัมผัสได้ถึงความวุ่นวายสติแตกข้างในแต่เก็บอาการและเลือกแสดงออกมาในท่าทีสุขุม ตลกมาก แต่ชอบในจุดนี้นะ รู้สึกได้ว่า Noah ก็คือเด็กวัยรุ่นคนหนึ่งนี่แหละ สับสนแล้วก็ยุ่งเหยิง บางครั้งก็รู้สึกไม่ fit in กับที่ที่ตัวเองอยู่ มีความชอบและเลือกทำอะไรแตกต่างจากคนรอบข้าง (ฉากของเรื่องอยู่ที่แคลิฟอร์เนียค่ะ เด็กๆในเรื่องส่วนใหญ่จะเล่นเซิร์ฟ ว่ายน้ำกัน แต่ Noah เลือกที่จะแยกตัวออกมาเพื่อวาดรูปแทน ทำให้คนอื่นมองว่าเป็นคนแปลกไม่เข้าพวก) นอกจากนี้เขายังตกหลุมรักเด็กหนุ่มข้างบ้านอีกด้วย ด้วยความที่เป็นเพศเดียวกันยิ่งที่ทำให้เกิดความไม่แน่นอนในใจมากขึ้นกว่าเดิม เขาจะคิดยังไง จะรู้สึกแบบเดียวกับที่ Noah รู้สึกมั้ย ถ้าคนอื่นรู้ล่ะ ยิ่งทำให้เอ็นดูแล้วก็เอาใจช่วยไปตลอดเรื่องเลยค่ะ ฉากที่ทั้งคู่อยู่ด้วยกันน่ารักแล้วก็เขินมากๆ
ส่วนพาร์ทของ Jude เราจะได้เห็นสองแฝดในเวอร์ชั่นที่เติบโตมากขึ้น โดยเฉพาะ Jude ที่เปลี่ยนไปจากตอนอายุ 13 มาก เธอกลายเป็นคนเชื่อในโชคลาง แล้วก็คอยพูดคุยกับผีคุณย่าของเธอ (จุดนี้ค่อนข้างแฟนตาซีนิดๆ แต่ Nelson เขียนออกมาได้ธรรมชาติมาก ไม่ได้รู้สึกว่าแปลกเลย) ทำให้เราเห็นจุดที่สลับกันของพี่น้องฝาแฝดคู่นี้ คนที่เคยอยู่ในวงกลับกลายมาเป็นคนที่หลุดวงโคจรบ้าง เราจะได้พบว่า Jude เองก็รู้สึกว่าตัวเองอยู่ผิดที่ผิดทางเช่นเดียวกันกับที่น้องชายของเธอเคยเป็น และจุดนี้เองที่ทำให้เธอเติบโตและเข้าใจความรู้สึกของ Noah มากขึ้น
การบรรยายในส่วนของ Jude จะไม่พรั่งพรูเท่า Noah แต่ก็คงความตลกและน่ารักเอาไว้ ในตอนแรกเราไม่ได้ประทับใจอะไรในตัว Jude มากนัก แต่ยิ่งอ่านเรายิ่งพบว่า Jude เป็นเด็กผู้หญิงที่เข้มแข็งมากคนหนึ่ง แล้วก็มีอะไรอยู่ในตัวเยอะ เธอพยายามแก้ไขในสิ่งที่ผิดพลาดและทำให้ทุกอย่างดีขึ้น จุดนี้เองที่ทำให้เราค่อยๆชอบเธอมากขึ้น แล้วก็รักเธอในท้ายที่สุด (เอาใจช่วยพอๆกับ Noah เลย)
จุดเด่นของการบรรยายในเรื่อง เราว่าอยู่ตรงที่ Nelson ใส่ลูกเล่นให้มีการแทรก
ภาพวาดในหัว ในพาร์ทของ Noah คือไม่ว่าจะเจอเหตุการณ์อะไร เขาจะจินตนาการเป็นภาพวาดในหัวตลอดเวลา เช่น ตอนที่รู้สึกว่าตัวเองช่างจืดจางไร้รัก ภาพในหัวก็จะมาแล้ว เป็นรูปตัวเขาในร่างสีเทานั่งกินแอปเปิ้ลสีเทาอยู่บนหญ้าสีเทา ทุกอย่างไร้สีสันไปหมด จุดนี้เองทำให้เราอ่านไปยิ้มไปตลอด (เฮ้ ไอ้เด็กนี่มันขี้น้อยใจและขี้ประชดอะไรขนาดนี้ (หัวเราะ)) นอกจากนี้ยังแทรก
เคล็ดลับโชคลาง ในพาร์ทของ Jude ซึ่งเป็นทริคเรื่องความเชื่อต่างๆจากคัมภีร์ที่เธอได้รับมาจากคุณย่า ซึ่งเธอเองก็คอยปฏิบัติตามอย่างดี เช่น
หากต้องการหลีกเลีี่ยงสิ่งเลวร้าย พกหัวหอมไว้ในกระเป๋า และเราก็จะพบว่าเธอพกหัวหอมไว้ในกระเป๋าจริงๆ (เรียกได้ว่าไอ้การทำตามเคล็ดโชคลางนี่เป็นมุมน่ารักของ Jude เลยล่ะ)
(Painting: One: Number 31 — By Jackson Pollock)
สุดท้าย จุดที่เราประทับใจในหนังสือเล่มนี้คือความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครทั้งหมด ถึงแม้จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความรัก แต่ก็เต็มไปด้วยความรักทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นความรักระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง ผู้ชายกับผู้ชาย ความรักภายในครอบครัว พ่อกับลูกชาย แม่กับลูกสาว รวมถึงความรักของพี่น้องฝาแฝด Jude และ Noah เองด้วย อย่างที่บอกไปตอนต้นว่าเราจะได้เห็นมุมมองของตัวละครแต่ละตัวผ่านการบรรยายในมุมมองของทั้งสองแฝด ทำให้เราเข้าใจเหตุผลของการกระทำนั้นๆ จุดนี้ทำให้เราชอบและรู้สึกว่าบางครั้งการกระทำแย่ๆมันก็มีที่มาที่ไป และบางทีเราก็ไม่รู้หรือไม่เข้าใจในตัวอีกฝ่ายเพราะเขาไม่ได้เล่าถึงสาเหตุนั้นๆ นอกจากนี้จุดที่เราชอบนอกจากเรื่องของความรักแล้วยังมีเรื่องของศิลปะที่แทรกเข้ามาด้วยค่ะ เช่น การวาดภาพหรือการแกะสลัก (แต่ถึงแม้จะไม่อินกับศิลปะก็อ่านได้นะคะ)
ระดับภาษา : แทบจะเป็นภาษาพูดทั้งเรื่องเลยค่ะ โดยรวมแล้วไม่ยากเพราะว่าเป็นนิยาย young adult ด้วย การบรรยายเหมือนเราไปอยู่ในหัวของตัวละคร แล้วก็นั่งอ่านความคิดของ Jude และ Noah ภาษาที่ใช้เลยไม่ทางการเท่าไหร่ มีตัวย่อแล้วก็คำไม่สุภาพ เช่น 24/7, aka, ASAP, OMFG ให้เห็นประปราย ศัพท์ที่ไม่รู้จักมีบ้าง ส่วนใหญ่จะเป็นการเปรียบเทียบสิ่งที่เจออย่างอลังการของสองแฝด ตอนแรกเราไม่ชินภาษาเท่าไหร่ เลยงงๆบ้าง แต่พอชินแล้วก็ชอบมากๆ รู้สึกเหมือนได้เป็นเพื่อนของทั้งคู่ ฟังทั้งคู่ scream ใส่ แต่จะมีการอ้างถึงศิลปะค่อนข้างเยอะ อย่างชื่อศิลปิน/งานศิลปะ ภาพวาดต่างๆ* แต่ถึงไม่รู้จักก็ไม่เป็นไรค่ะ
สรุป : ลงรายละเอียดลึกมากไม่ได้เพราะรู้สึกว่าจะเป็นการสปอยล์ ;-; ดีเทลมันค่อยๆโผล่มาทีละนิดในเรื่อง เหมือนต่อจิ๊กซอว์ อ่านไปเรื่อยๆจะเริ่มเอาจุดนั้นจุดนี้มาประกอบกันได้ เพราะไม่ว่าจะเป็นช่วง 13 ปี หรือ 16 ปี ทุกอย่างโยงมาเชื่อมกันที่เหตุการณ์เดียวกันในอดีต ซึ่งเป็นการเฉลยปมความขัดแย้งของตัวละครค่ะ สำหรับเรา ดีใจมากๆที่ได้อ่านเล่มนี้เป็นเล่มแรกของปี (คิดเอาเองว่าถ้าเริ่มต้นดีก็น่าจะมีอะไรดีๆตามมา (ไม่เกี่ยว)) จากเล่มนี้ทำให้เราประทับใจ Jandy Nelson มากๆ ตัดสินใจว่าจะไปหา The Sky is Everywhere หนังสืออีกเล่มของ Nelson มาอ่านให้ได้เลย
สำหรับใครที่มองหาหนังสือภาษาอังกฤษหรือนิยาย young adult มาอ่าน เราก็อยากแนะนำเรื่องนี้นะคะ คิดว่าเป็นอีกเล่มที่ไม่น่าผิดหวัง แล้วจะได้รู้ว่า ทำไมถึงต้องให้ดวงอาทิตย์ :->
“Maybe some people are just meant to be in the same story.”
*อ้างอิงงานศิลปะในเรื่องสามารถเข้าไปดูได้ที่เว็บของ
Jandy Nelson ได้เลยค่ะ
(ที่มาภาพงานเขียนที่แทรกในโพสต์นำมาจากเว็บของ Nelson เช่นกันค่ะ)
- ภาพ cover จาก
wikiart : Olive Trees with Yellow Sky and Sun— by Vincent van Gogh
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in